๑๘.มหาสีหนาทสูตร : สูตรว่าด้วยการบริหารจัดการองค์กร


เมื่อจะศึกษาเปรียบเทียบรัฐประศาสนศาสตร์ หรือ การบริหารรัฐกิจ กับพระสูตร มีความหมายที่ไม่ตรงประเด็นเลยทีเดียวเพราะการบริหารและการจัดองค์กรนั้นจะมองดูรูปแบบในพระพุทธศาสนาที่กว้างกว่าความหมายในหลักวิชาการทางตะวันตกเป็นอย่างมาก หากแต่การศึกษาเปรียบเทียบเพื่อให้เกิดการบูรณาการด้วยกรอบความคิดที่กว้างกว่าก็จะเป็นประโยชน์อยู่มิใช่น้อย

.๑. มหาสีหนาทสูตร  :  สูตรว่าด้วยการบริหารจัดองค์กร [1]

            สมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้าทรงประทับ  ณ  ราวป่าด้านทิศตะวันตกภายนอกพระนคร  เขตกรุงเวสาลี  สมัยนั้น โอรสของเจ้าลิจฉวี  พระนามว่าสุนักขัตตะ  ลาสิกขาจากพระธรรมวินัยได้ไม่นาน ได้กล่าวท่ามกลางที่ชุมชน  ณ  กรุงเวสาลี โดยตำหนิพระพุทธเจ้าว่า  ไม่มีญาณทัสสนะที่ประเสริฐสามารถ  วิเศษยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์  สมณโคดมแสดงธรรมที่ประมวลมาด้วยความตรึก  ที่ไตร่ตรองด้วยการคิดค้น  แจ่มแจ้งได้เอง  ธรรมที่สมณะโคดมแสดงธรรมเพื่อประโยชน์แก่บุคคล  ย่อมนำไปเพื่อความสิ้นทุกข์  โดยชอบสำหรับบุคคลผู้ปฏิบัติตามธรรมนั้น

                พระสารีบุตรเถระ เข้าไปบิณฑบาต  ได้สดับคำเช่นนั้น  จึงกราบทูลพระพุทธเจ้า ๆ จึงตรัสว่า  สารีบุตร  โอรสเจ้าลิจฉวีพระนามว่าสุนักขัตตะ เป็นโมฆบุรุษ  มักโกรธ  คิดว่าจักกล่าวติเตียน  แต่กลับกล่าวสรรเสริญคุณของตถาคตอยู่นั้นแล

                ลำดับนั้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสถึงคุณและองค์ธรรมที่เจ้าลิจฉวีพระนามว่าสุนักขัตตะ  จะไม่มีโอกาสได้ทราบ  เช่น  ทรงเป็นพระอรหันต์, ทรงสามารถแสดงอิทธิฤทธิ์ได้, ทรงสดับเสียงทิพย์ได้, ทรงรู้ใจสัตว์ได้

                หลังจากนั้นพระพุทธเจ้าจึงตรัสกำลังแห่งพระตถาคต  ๑๐  ประการ, เวสารัชชญาณ (ญาณเป็นเหตุให้แกล้วกล้า)  ๔  ประการ, บริษัท  ๘,  กำเนิด  ๔, คติ  ๕  ,ทรงรู้เห็นการไปทุคติและสุคติของบุคคล, พรหมจรรย์มีองค์  ๔, การบำเพ็ญตบะ, การประพฤติถือสิ่งเศร้าหมอง, การประพฤติรังเกียจ, ความประพฤติเป็นผู้สงัด, ลัทธิที่ว่าความบริสุทธิ์มีได้เพราะอาหาร, ลัทธิที่ว่าความบริสุทธิ์มีได้เพราะสังสารวัฏ  , สัตว์ผู้ไม่หลง  เป็นต้น

.๒.ภาวะผู้นำของพระพุทธเจ้า

            คำว่า   “ ภาวะผู้นำ ”   (Leadership)  คือการเข้าไปสร้าง หรือส่งเสริมกิจกรรมที่ไปมีอิทธิพลเหนือผู้อื่นเพื่อให้บุคคลเหล่านั้นปฏิบัติงานอย่างเต็มใจและบรรลุวัตถุประสงค์ร่วมกัน [2]พระพุทธเจ้าแม้จะถูกตำหนิก็ไม่ทรงย่อท้อพระทัย  แต่กลับสร้างภาวะความเป็นผู้นำออกมาตอบโต้  ดังนี้

.๒.๑. ทรงเปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาส

                โอรสเจ้าลิจฉวีพระนามว่าสุนักขัตตะ  ได้แสดงความไม่เห็นด้วยโดยการตั้งกระทู้เพื่อคัดค้านความชอบธรรมของพระพุทธเจ้าในท่ามกลางชุมชน  ณ  เมืองเวสาลีว่าพระพุทธเจ้ามิได้ทรงมีความรู้ความสามารถจริงอะไร แต่เมื่อแสดงความคิดเห็นออกไป กลับเป็นการสรรเสริญรับรองและสนับสนุนพระพุทธเจ้าซึ่งเป็นคำตรงกันข้าม

                “  สมณโคดม  ไม่มีญาณทัสสนะที่ประเสริฐอันสามารถวิเศษยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์  สมณโคดมแสดงธรรมที่ประมวลมาด้วยความตรึกที่ไตร่ตรองด้วยการค้นคิด แจ่มแจ้งได้เอง  ธรรมที่สมณะโคดมแสดงเพื่อประโยชน์แก่บุคคลย่อมนำไปเพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบ สำหรับบุคคลผู้ปฏิบัติตามธรรมนั้น  ”  [3]

                เมื่อพระมหาเถระอย่างพระสารีบุตร ไปบิณฑบาตจึงได้สดับมาจึงเข้าไปเฝ้าพระพุทธองค์ พระพุทธองค์จึงทรงตรัสว่าสารีบุตรโอรสเจ้าลิจฉวีนามว่าสุนักขัตตะ  เป็นโมฆบุรุษมักโกรธกล่าวด้วยความโกรธ โดยคิดจะกล่าวติเตียน  แต่กลับกล่าวสรรเสริญคุณของพระตถาคต  อยู่อย่างนั้น

.๒.๒. ทรงแสดงกำลังของพระตถาคตเจ้า 

กำลังของพระตถาคตเจ้า

ภาวะผู้นำ

     ๑.ตถาคตรู้ชัดฐานะโดยเป็นฐานะและ

อฐานะโดยเป็นอฐานะในโลกนี้ตามความเป็นจริง

     ๒.ตถาคตรู้ชัดวิบากแห่งการยึดถือกรรมที่เป็นทั้งอดีต  อนาคต  และปัจจุบัน

     ๓.ตถาคตรู้ชัดปฏิปทาที่ให้ถึงภูมิทั้งปวง

     ๔.ตถาคตรู้ชัดโลกที่มีธาตุหลายชนิดที่แตกต่างกัน

     ๕.ตถาคตรู้ชัดว่าหมู่สัตว์เป็นผู้มีอัธยาศัยต่างกัน

     ๖.ตถาคตรู้ชัดว่าสัตว์เหล่าอื่นและบุคคลอื่นมีอินทรีย์แก่กล้าและอ่อน

     ๗.ตถาคตรู้ชัดความเศร้าหมองความผ่องแผ้วแห่งฌาน  วิโมกข์  สมาธิ  และสมบัติ  การออกจากฌาน  วิโมกข์  สมาธิ  สมาบัติ

     ๘.ตถาคตระลึกถึงชาติก่อนได้หลายชาติตั้งแต่   ๑,๒,๓,๔,๕,๖,๗....๑๐๐,๐๐๐  ตลอดสังวัฏฏกัป

     ๙.ตถาคตเห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติกำลังเกิด  ทั้งชั้นต่ำและชั้นสูง  รูปงามและไม่งาม  เกิดดีและไม่ดีด้วยตาทิพย์

     ๑๐.ตถาคตทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ  ปัญญาวิมุตติ อันไม่มีอาสวะ

      ๑.ต้องมีฐานเสียงสนับสนุนว่าจะเป็นผู้นำต้องรู้ว่าทีมงานฐานเสียงมากน้อยแค่ไหน

     ๒.ต้องรู้ผลของนโยบายดี: วิบาก  คือผลแห่งการปฏิบัติ  เช่น  วางนโยบายออกมา  วิบากกรรม คือผลกรรม

     ๓.ต้องมีวิสัยทัศน์ คือทิศทางที่จะไปและงดเว้นภูมิคือภพภูมิ

    ๔.ต้องรู้ถึงความแตกต่างระหว่างฝ่ายต่าง ๆ ทางด้านเชื้อชาติ  ศาสนา  และวัฒนธรรม

     ๕.ต้องรู้ความต้องการแต่ละกลุ่ม หรือชุมชน หรือกลุ่มผลประโยชน์

     ๖.ต้องวิเคราะห์เป็นว่าแต่ละกลุ่มมีจุดด้อยเด่นอย่างไรบ้าง

     ๗.ต้องรู้คะแนนนิยมว่าคงอยู่  ลดลง  อย่างไร  เท่าไหร่

     ๘.ต้องสำรวจความคิดเห็นโดยการทำโพล  หรือประชามติ

     ๙.ต้องเป็นนักสังเกต  เมื่อเห็นนักการเมืองรุ่นน้องแสดงความคิดเห็น หรือแสดงพฤติกรรมต่าง ๆ ย่อมอาศัยประสบการณ์มาทำนาย หรือบอกสอนได้

     ๑๐.ต้องหมั่นศึกษาหาความรู้จนสร้างตนให้เป็นองค์แห่งความรู้ 

               

                เวสารัชชญาณ  ญาณเป็นเหตุให้แกล้วกล้า  ๔  ประการที่พระพุทธองค์ทรงมีแล้วทำให้มีฐานะองอาจ บันลือสีหนาทประกาศพรหมจักรในบริษัท  คือ

                ๑. สัมมาสัมพุทธะ                              คือรู้ชอบเอง

                ๒. เป็นพระขีณาสพ                          คือปฏิบัติแล้วบรรลุตามได้แล้ว

                ๓.ไม่เป็นอันตรายิกรรม                    คือบริสุทธิ์และตรวจสอบได้

                ๔. ธรรมที่แสดงมีประโยชน์            คือมีเป้าหมายชัดเจน

 

.๓. องค์กร  (Organization)

                ในมหาสีหนาทสูตรนี้  หากจะเทียบเคียงแนวคิดเรื่องของการจัดองค์กรแล้ว  จะเห็นถึงความคล้ายคลึงกันอยู่ไม่น้อย  คำว่า  “องค์กร”  หรือ “องค์การ”   คือกลุ่มสังคมที่มีคนตั้งแต่สองคนขึ้นไปมาร่วมกระทำกิจกรรม เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่ง  หรือหลายอย่างร่วมกัน โดยจะต้องมีการจัดรูปแบบหรือโครงสร้างความสัมพันธ์ของในการกระทำกิจกรรมร่วมกันอย่างน้อยรูปแบบของความสัมพันธ์จะต้องปรากฏขึ้นชั่วระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งนานพอที่จะสังเกตเห็นได้ [4]

                คำว่า  “บริษัท”  คือ กลุ่ม, หมู่, คณะ หรือการรวมกันของหมู่ชน  ดังพระดำรัสว่า

                                สารีบุตร  กำลังของตถาคต  ๑๐  ประการนี้ ที่ตถาคตมีแล้ว เป็นเหตุให้ปฏิญญาฐานะที่องอาจบันลือสีหนาท  ประกาศ

พรหมจักรในบริษัท  [5]  และคำว่าบริษัทในพระสูตรนี้ก็ไม่เป็นอะไรไปมากกว่ากลุ่มชนที่มีกรรม-พฤติกรรม-วิบากกรรม ที่แตกต่างกันไป  ซึ่งไม่ใช่องค์การในลักษณะของระบบที่ถือว่า  องค์การเป็นระบบสังคมที่ประกอบไปด้วยระบบย่อย ๆ หรือส่วนประกอบต่าง เช่น มีวัตถุประสงค์, กิจกรรมหรืองานที่ต้องทำในองค์กร, โครงสร้าง, คนที่ทำงาน, ทรัพยากร, เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม  เช่น  อิทธิพลทางการเมือง  เป็นต้น [6]  แต่ก็พอจะสงเคราะห์ได้กับหลักการบริหารงานที่มีประสิทธิภาพที่ประกอบไปด้วยคำว่า POSDCoRB  ดังนี้ [7]

            P  =  Planning                          หมายถึง การวางแผน

            O  =  Organizing                      หมายถึง การจัดองค์การ

            S  =  Staffing                           หมายถึง คณะผู้ร่วมงาน

            D  =  Directing                         หมายถึง การสั่งการ

            CO  =  Coordinating                หมายถึง การประสานงาน

            R  =  Reporting                       หมายถึงการทำรายงาน

            B  =  Budgeting                       หมายถึงการทำงบประมาณ

 

            ๖.๓.๑. รัฐประศาสนศาสตร์ในพระสูตร [ POSDCoRB]

                เมื่อจะศึกษาเปรียบเทียบรัฐประศาสนศาสตร์ หรือ การบริหารรัฐกิจ กับพระสูตร มีความหมายที่ไม่ตรงประเด็นเลยทีเดียวเพราะการบริหารและการจัดองค์กรนั้นจะมองดูรูปแบบในพระพุทธศาสนาที่กว้างกว่าความหมายในหลักวิชาการทางตะวันตกเป็นอย่างมาก  หากแต่การศึกษาเปรียบเทียบเพื่อให้เกิดการบูรณาการด้วยกรอบความคิดที่กว้างกว่าก็จะเป็นประโยชน์อยู่มิใช่น้อย  ดังจะอธิบายต่อไป

                P  =  Planning                                หมายถึง การวางแผน คือเมื่อลงมือทำอะไรต้องรู้ผลของกรรมหรือนโยบายนั้นด้วย  เช่น  เมื่อกรรมดี  วิบากกรรม หรือผลแห่งการปฏิบัติก็จะดีไปด้วยตถาคตรู้ชัดวิบากแห่งการยึดถือกรรมที่เป็นทั้งอดีต  อนาคตและปัจจุบันโดยฐานะ  โดยเหตุตามความเป็นจริง [8]  หรือทรงตรัสว่า   ตถาคต รู้ชัดปฏิปทาที่ให้ถึงภูมิทั้งปวงตามความเป็นจริง   นั้นแสดงถึงวิสัยทัศน์ของนักบริหารที่มองปัญหาอุปสรรค์และวิธีการแก้ไขเพื่อให้บรรลุถึงจุดมุ่งหมายขององค์การได้ด้วยเหตุนี้เองพระพุทธเจ้าจึงได้ทรงใคร่ครวญวางแผนก่อนที่จะตรัสพระสูตรนี้

                O  =  Organizing                          หมายถึง การจัดองค์การ ในพระพุทธศาสนามีพุทธบริษัท  ๔  อันประกอบไปด้วยภิกษุบริษัท  ภิกษุณีบริษัท  อุบาสกบริษัท  และอุบาสิกาบริษัท  การที่พระองค์เสด็จไปโปรดไวไนยสัตว์ต่าง ๆ ก็ได้บริษัทมากขึ้น จึงได้จัดองค์การที่เรียกว่า  “พุทธศาสนา” ขึ้นมา  แม้แต่องค์การสงฆ์ที่เป็นองค์กรย่อยที่พระพุทธองค์ทรงใช้บริหารเพื่อเป็น แบบจำลอง ก็ทรงบริหารจัดการที่ดีเลิศ

                S  =  Staffing                  หมายถึง คณะผู้ร่วมงาน รวมไปถึงการจัดวางสายงานด้วย ซึ่งในพุทธประวัติพระองค์ได้ส่งพระภิกษุออกไปประกาศพระศาสนาไม่ให้ไปพร้อมกัน  ๒  รูปในทางเดียว และพระองค์ทรงเข้าใจถึงความแตกต่างระหว่างบุคคลด้วย ว่าจะ  put  the  right-man  in  the  rigth  job  อย่างไร เช่นใครถนัดงานด้านไหน ก็ทรงยกย่องเชิดชูเป็นเอตทัคคะในด้านนั้น ๆ  เช่น  พระสารีบุตรเถระ  เป็นผู้เลิศทางด้านปัญญา, พระมหาโมคคัลลานเถระ  เป็นผู้เลิศทางด้านมีฤทธิ์  เป็นต้น

            D  =  Directing                            หมายถึง การสั่งการ  พระพุทธเจ้าทรงทราบถึงความพร้อมและไม่พร้อมของบุคคลว่าใครควรจะตรัสสอนเรื่องอะไรก่อนหลัง  เช่น สามเณรเสฏฐะและภารทวาชะ  เถียงกันในเรื่องต่าง ๆ พระองค์จะวินิจฉัยสั่งการ  หรือแม้แต่พระจุลทะที่พี่ชายให้ท่องคาถาไม่ได้ คิดที่จะสึก พระพุทธองค์ก็ทรงให้นั่งบริกรรมลูบผ้าขาว  หรืออย่างพระจักขุบาลที่เหยียบสัตว์ตายเพราะตาบอด  เป็นต้น จึงทรงตรัสว่า

                “  ตถาคตรู้ชัดว่าสัตว์เหล่าอื่น  และบุคคลเหล่าอื่นมีอินทรีย์แก่กล้า และอินทรีอ่อนตามความเป็นจริง  ”  [9]

                Co  =  Coordinating   หมายถึง การประสานงาน  หรือการสร้างความสามัคคี  เช่นพระองค์ทรงประสานความร่วมมือระหว่างคณะพระวินัยธร  กับพระธรรมธรที่พิพาทกันเรื่องวินัยเล็ก ๆ น้อย ๆ หรือ การพิพาทเรื่องการแบ่งน้ำจากแม่นำโรหินีระหว่างพระประยูรญาติทั้งสองฝ่าย  เป็นต้น

                R  =  Reporting                          หมายถึงการทำรายงาน  เมื่อเกิดเหตุในสังคมและองค์กร  พระองค์จะทรงเรียกประชุมเพื่อแจ้งรายงานแก่คณะสงฆ์  เช่น กรณีวัสสการพราหมณ์ทูลถามเรื่องความมั่นคง  พระองค์ก็ทรงตรัสเรียกประชุมสงฆ์ในเขตเมืองมาตรัสอปริหานิยธรรมโดยทรงเน้นเรื่องความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน  หรือพระอานนท์ขอพร  ๘  ประการมีข้อหนึ่งถ้าพระอานนท์ไม่ได้ตามเสด็จไป  พระองค์ก็ทรงกลับมาตรัสธรรมเรื่องนั้น ๆ ให้กับพระอานนท์  หรือภิกษุละเมิดศีล  ก็สืบสวน ลงโทษปรับอาบัติแล้วแจ้งให้สงฆ์ทราบ  เป็นต้น

                B  =  Budgeting                             หมายถึงการทำงบประมาณ  งบประมาณ หรือว่าต้นทุน พระพุทธเจ้าไม่ได้ใช้งบประมาณในรูปของเงินงบประมาณ  แต่พระองค์มีต้นทุนทางสังคมสูงมากคือเรื่องของศีล-สมาธิ-ปัญญา  อันเป็นอริยทรัพย์  ก็สามารถบริหารจัดการได้  แต่ถ้าจะเทียบเคียงแหล่งทุนของพระพุทธศาสนาในสมัยนั้นก็มีมากมาย    เช่น  กษัตริย์ผู้นำ  อย่างพระเจ้าพิมพิสาร, พระเจ้าประเสนทิโกศล, พระเจ้าอชาตศัตรู   ฯลฯ   พราหมณ์มหาศาล  อย่างอนาถบิณฑกเศรษฐี, นางวิสาขา  เป็นต้น

                เพื่อความเข้าใจยิ่งขึ้น  จึงขอจัดองค์กรตามพระสูตร  ดังนี้

            ๖.๓.๒.การจัดองค์กรทางสังคม (Communalism)

                ในพระสูตรนี้  เราจะเห็นพระพุทธองค์จัดระบบองค์กร หรือกลุ่มผลประโยชน์ ไว้ในหลากหลายรูปแบบ  จัดโดยอาศัยอาชีพบ้าง   กำเนิดบ้าง  หรือคติที่ไปบ้าง   ก็ได้เพื่อให้สามารถปรับใช้  ยืดหยุ่นต่อระบบกลุ่มองค์กรนั้น ๆ  เช่น

. การจัดระบบองค์การโดยอาศัยกลุ่มชน  หรืออาชีพ  ๘  ประการ คือ

                กลุ่มขัติยบริษัท                 พวกผู้ปกครอง   นักการเมือง

                กลุ่มพราหมณ์บริษัท           พวกครูอาจารย์  มีอาชีพทางการศึกษา

                กลุ่มคหบดีบริษัท พวกพ่อค้าทำงานทางด้านเศรษฐกิจ

                กลุ่มสมณะบริษัท                พวกนักบวช 

                กลุ่มจาตุมหาราชบริษัท      พวกเทพ

                กลุ่มดาวดึงสบริษัท            พวกเทพที่มีพระอินทร์เป็นผู้นำ

                กลุ่มมารบริษัท                     กลุ่มผู้เป็นมิจฉาทิฏฐิ

                กลุ่มพรหมบริษัท                กลุ่มของพระพรหม

 

. การจัดระบบองค์การโดยอาศัยกำเนิด  หรือที่มา

                ๑. กำเนิดอัณฑชะ               เกิดในไข่

                ๒. กำเนิดชลาพุชะ             เกิดในครรภ์

                ๓. กำเนิดสังเสทชะ           เกิดในเถ้าไคลหรือที่ชื้นแฉะ

                ๔. กำเนิดโอปปาติกะ         เกิดผุดขึ้น

 

. การจัดระบบองค์การโดยอาศัยคติ  หรือทางไป (เป้าหมาย)

๑. นรก                  ทุคติ        ภพภูมิที่ไม่เจริญ

๒. ดิรัจฉาน          ทุคติ        ภพภูมิที่ไปทางขวาง

๓. เปรตวิสัย         ทุคติ        ภพภูมิผู้ละไปแล้ว

๔. มนุษย์              สุคติ        ภพภูมิผู้มีจิตใจสูง

๕. เทวดา              สุคติ        ภพภูมิแห่งเทพ

                นอกจากนั้นแล้วยังมีแผนพัฒนาสังคมโดยถือเอาพฤติกรรมที่มนุษย์แสดงออกมาเป็นตัวชี้วัดว่าทำอย่างนี้จะมีวิถีชีวิตไปสู่สิ่งนี้เหมือนกับกำหนดวิสัยทัศน์เอาไว้  เช่น

                “  เรากำหนดรู้ใจของบุคคลบางคนในโลกนี้ด้วยใจอย่างนี้ว่า  “บุคคลผู้ปฏิบัติอย่างนั้น  เป็นไปอย่างนั้นและดำเนินทางนั้นแล้ว  หลังจากตายแล้วจักไปเกิดในอบาย  ทุคติ  วินิบาต  นรก ”  ต่อมาเราเห็นเขา

หลังจากตายแล้วไปเกิดในอบายทุคติ  วินิบาต  นรก  เสวยทุกขเวทนา

โดยส่วนเดียวอันแรงกล้า  เผ็ดร้อนด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์  ”  [10]นอกจากนั้นยังมีการเปรียบเทียบลงลึกให้เห็นภาพในหนทางไปของสัตว์ต่าง ๆ ว่าถ้ากลุ่มชน หรือองค์กรใดมีแนวคิดอย่างนี้จะได้รับผล และเป้าหมายอย่างนี้ เป็นต้นว่า 

“  หลุมถ่านเพลิงลึกมากกว่าช่วงตัวบุรุษเต็มไปด้วยถ่านเพลิง

ที่ปราศจากเปลวและควัน  ลำดับนั้นบุรุษผู้มีร่างกายถูกความร้อนแผดเผา

 ครอบงำเหน็ดเหนื่อยสะทกสะท้าน  หิวกระหาย  เดินมุ่งมายังหลุ่มถ่านเพลิงนั้นโดยหนทางสายเดียวบุรุษผู้มีตาดีเห็นเขาแล้วจะพึงกล่าวอย่างนี้ว่า บุรุษผู้เจริญนี้ปฏิบัติอย่างนี้เป็นไปอย่างนั้น  และดำเนินทางนั้นจักมาถึงหลุมถ่านเพลิงนี้นั่นแล”

 ต่อมาบุรุษผู้มีตาดีนั้นจะพึงเห็นเขาผู้ตกลงในหลุมถ่านเพลิงนั้นเสวยทุกขเวทนาโดยส่วนเดียวอันแรงกล้า เผ็ดร้อน  แม้ฉันใด เราก็ฉันนั้นเหมือนกัน กำหนดรู้ใจของบุคคลบางคนในโลกนี้ด้วยใจอย่างนี้ว่า  “บุคคลนี้ปฏิบัติอย่างนั้น เป็นไปอย่างนั้นและดำเนินทางนั้นแล้วหลังจากตายแล้วจักไปเกิดในอบาย  ทุคติ  วินิบาต  นรก 

ต่อมาเราเห็นเขาหลังจากตายแล้วไปเกิดในอบาย  ทุคติ  วินิตบาต  นรก 

เสวยทุกขเวทนา  โดยส่วนเดียวอันแรงกล้า  เผ็ดร้อน  ด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์  ”  [11]

                และยังได้เปรียบเปรย หรือชี้ให้เห็นถึงแนวทางปฏิบัติเหมือนมีแผนที่ไว้ในมือ หรือสูตรสำเร็จอื่น ๆ อีก เช่น บุคคลปฏิบัติย่างนี้ต้องดำเนินไปสู่ดิรัจฉาน....เปรตวิสัย, มนุษย์ภูมิ, โลกสวรรค์เป็นลำดับ

 

.๔. แนวนโยบายที่ทรงใช้การสร้างศรัทธา

                นอกจากนั้น พระพุทธองค์ยังชี้ให้เห็นว่าทฤษฎีต่าง ๆ ก็ดีแนวทางต่าง ๆ ก็ดี มิใช่ว่าพระองค์จะปฏิเสธหรือมีอคติว่าผิดแต่ที่พระองค์ทรงรู้,ทราบและเข้าใจเพราะพระองค์ทรงทดสอบทดลองมาด้วยตัวของพระองค์เอง  เช่น

                พระพุทธองค์เคยเป็นอเจลก  คือประพฤติเปลื่อยกายทำตัวเป็นผู้ไม่มีมารยาท  เลียมือ  เขาเชิญให้ไปรับอาหารก็ไม่ไปเขาเชิญให้หยุดรับอาหารก็ไม่หยุด  ฯลฯ  ไม่กินปลา  ไม่กินเนื้อ  ไม่ดื่มสุราเมรัย  รับอาหารในเรือนหลังเดียว  ยังชีพด้วยข้าวคำเดียว  รับอาหารบนเรือน  ๒  หลัง  ยังชีพด้วยข้าง  ๒  คำ  ฯลฯ  รับอาหารในเรือน  ๗  หลัง  ยังชีพด้วยข้าว  ๗  คำ  เป็นต้น ก็ไม่สามารถบรรลุธรรมด้วยการบำเพ็ญตบะหรือจะทรงทำการทดลองทฤษฎี  ประพฤติถือสิ่งเศร้าหมอง , การทดลองทฤษฎี  ประพฤติรังเกียจ , การทดลองทฤษฎีประพฤติเป็นผู้สงัด, การทดลองทฤษฎีความบริสุทธิ์ได้ด้วยอาหาร  , การทดลองทฤษฎีความบริสุทธิ์มีได้ด้วยสังสารวัฏฏ์  เป็นต้นพระองค์ก็ไม่ทรงค้นพบเป้าหมายของชีวิต  จึงทรงเลิกการทดลองในทฤษฎีเหล่านั้นเสียแล้วพระองค์ทรงใช้นโยบายใหม่ คืออริยมรรคคือ  องค์  ๘  นั้นเอง

                พระสูตรนี้  เมื่อศึกษาแล้ว  ทำให้เห็นแนวคิดการจัดองค์กรแนวพุทธได้อย่างชัดเจน  เช่น  จัดองค์กรโดยยึดอาชีพ, กำเนิด, คติ เป็นหลักก็เพื่อทรงสอนให้คนอินเดียในยุคพุทธกาลได้รู้ว่า  วรรณะ  ๔  ของพราหมณ์นั้นเมื่อเทียบรายละเอียดแล้ว  พระพุทธองค์ทรงวิเคราะห์เจาะลึกมากกว่า

                แม้องค์กรทางโลกจะใช้  POSDCoRB  ในการบริหารจัดการ  แต่แนวคิดของพระพุทธเจ้าก็เหมาะสมกับสถานการณ์และเหตุการณ์ในยุคสมัยนั้น ๆ ที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ  การแสดงภาวะผู้นำของพระพุทธเจ้า และการแก้ปัญหาสังคมด้านต่าง ๆ ด้วยพุทธวิธี

 


[1] ม.ม.  ๑๒ /  ๑๔๖–๑๖๒  /  ๑๔๑–๑๖๕.

[2] ติน  ปรัชญพฤทธิ์. ศัพท์รัฐประศาสนศาสตร์. พิมพ์ครั้งที่  ๓.  (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๓๘), หน้า  ๒๒๖.

[3] ม.ม. ๑๒ / ๑๔๖ /  ๑๔๑.

[4] มานพ  สวามิชัย. หลักการจัดการ. (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์  ก. วิวรรธน์, ๒๕๓๓). หน้า  ๑.

[5] ม.ม.  ๑๒ / ๑๔๘ / ๑๔๔.

[6] มานพ  สวามิชัย. อ้างแล้ว  หน้า  ๒.

[7]  จิรโชค (บรรพต)  วีระสัย และคณะ. รัฐศาสตร์ทั่วไป.  (กรุงเทพฯ : หจก. โรงพิมพ์ชวนพิมพ์, ๒๕๔๐).  หน้า  ๕๓๔.

[8]  ม. ม.  ๑๒ / ๑๔๘ / ๑๔๕.

[9]  เรื่องเดียวกัน  หน้าเดียวกัน.

[10] ม.ม. ๑๒ / ๑๕๔ /  ๑๕๓.

[11] ม.ม. ๑๒ / ๑๕๔ /  ๑๕๓ - ๑๕๔.

หมายเลขบันทึก: 438555เขียนเมื่อ 8 พฤษภาคม 2011 16:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 ตุลาคม 2012 16:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เป็นข้อมูลสาระอันเป็นประโยชน์อย่างยิ่งครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท