๑๗.การเลือกตั้งในลาว : ดอกไม้งามกลางทะเลทราย ความหมายที่อยากให้คนไทยเห็น !


แต่ผู้เขียนเห็นว่า การเลือกตั้งครั้งนี้หลายเรื่องเป็นดอกไม้งาม ที่เกิดขึ้นกลางทะเลทรายทางประชาธิปไตย ที่สะท้อนให้คนไทยหลายคนได้คิด บางประเด็นน่าจะนำมาใช้ในเมืองไทยของเราบ้าง เช่น สส. สว. สท. รัฐมนตรี รัฐมนตรีช่วย ปลัดกระทรวง อธิบดี ฯลฯ เมื่อเข้าดำรงตำแหน่งครึ่งเทอม น่าจะโชว์ผลงาน แล้วให้ประชาชนคนไทย มีสิทธิ์กาออกบ้างนะ ดูสิประเทศชาติจะพัฒนาขึ้นไปกว่านี้ไหม?

 

            ระหว่างวันที่ ๓-๗ พฤษภาคม  ๒๕๕๔ ที่ผ่านมา ผู้เขียนมีโอกาสได้ไปเก็บข้อมูลทางด้านพระพุทธศาสนาและวัฒนธรรมในเมืองหลวงพระบาง ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว แม้การเลือกตั้งปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมาจะผ่านไปแล้ว แต่แนวคิดทางการเมืองการปกครองของคนลาวมีความน่ารักและแฝงไปด้วยข้อคิดที่คนไทย  ประเทศที่เรียกตัวเองว่าประชาธิปไตยแท้นั้นควรคำนึงอยู่มิใช่น้อย?

 

          ผู้เขียนถามถึงจำนวนสมาชิกสภาแห่งชาติลาว ในแขวงหลวงพระบางสามารถมีผู้แทนได้จำนวน ๙ คน จากพรรคคอมมิวนิสต์ (พรรคประชาชนปฏิวัติลาว) ที่ส่งมาให้เลือกจำนวน  ๑๓  คน ซึ่งขึ้นอยู่กับจำนวนประชากรเป็นหลัก เช่น ที่แขวงอุดมไชย ก็มีได้เพียง ๘ คนจากผู้ที่ทางพรรคส่งมา ๑๑ คน

            ผู้มีสิทธิ์ไปลงคะแนนเสียงในการเลือกตั้งครั้งนี้มีมากกว่า ๓ ล้านคน โดยกำหนดอายุ ๑๘ ปีขึ้นไป หากไม่ไปเลือกตั้งมีสิทธิ์ติดคุกฟรี นักบวชในพุทธศาสนาไม่มีสิทธิ์ในการลงคะแนนเลือกตั้ง แต่เมื่อมีนโยบายทางการเมืองการปกครองพระลาวต้องมีส่วนร่วม เรียกง่าย ๆ ว่าพุทธศาสนานำหน้า-การเมืองตามหลัง (ประกบติดและควบคุม) เนื่องจากความเชื่อความศรัทธาพระสูงมาก

            เมื่อผู้เขียนถามว่า มีการหาเสียงหรือไม่? คำตอบที่เป็นเสียงเดียวกันคือ ไม่ เนื่องจากรัฐห้ามประชาชนวิพากษ์วิจารณ์การเมืองการปกครอง หากจะมีการพูดคุยกันในระดับครอบครัวเท่านั้น แต่หากจะมีการหาเสียงกันจริง ๆ แล้วผู้สมัครต้องไปพร้อมกันทั้งหมดเพราะอยู่พรรคเดียวกัน (พรรคประชาชนปฏิวัติลาว)โดยทางการคือรัฐบาล หรือพรรคคอมมิวนิสต์ลาวจะส่งคนมาให้เลือก แม้จะมีคนสมัครลงเลือกตั้งในนามอิสระ แต่เมื่อได้รับการเลือกตั้งแล้วก็มักจะเข้าสู่ระบบพรรคหรือเข้าเป็นสมาชิกพรรครัฐบาลอยู่ดี เมื่อจะเลือกประชาชนก็ไปดูป้ายประกาศหน้าคูหาว่าใครเป็นใคร ชอบเบอร์ไหน? แต่ที่แปลกในระบบของประเทศลาวก็คือ ไม่ชอบเบอร์ไหนให้กาเบอร์นั้นออกไป

            เมื่อผู้เขียนถามว่า ปัจจุบันคนลาวเลือกคนแบบไหน? คำตอบคืออดีตจะเลือกคนที่หน้าที่การงาน  ประสบการณ์และตำแหน่งหน้าเป็นหลัก ปัจจุบันคนหลวงพระบางจะให้วิธีการใหม่เปลี่ยนไปจากเดิม ซึ่งผู้เขียนเรียกว่าเลือกด้วยระบบไตรภาคี คือ

     ๑เลือกคนท้องถิ่นให้มากที่สุด กล่าวคือคนที่พรรคส่งมา ใครที่เป็นคนต่างถิ่นจะถูกตัดชื่อออกไปก่อนเหลือไว้แต่คนหลวงพระบางหรือถ้าจำเป็นจริง ๆ จะเลือกลาวภาคเหนือด้วยกัน เหตุผลเพราะอย่างน้อยคนพวกนี้ย่อมรู้จักรักพี่รักน้องและสามารถตอบสนองความต้องการของคนท้องถิ่นได้มากกว่า

     ๒.คนหนุ่มสาว ที่มีการศึกษาสูง หมายถึง คนอายุมาก มักเป็นพวกหัวเก่า ส่วนหนึ่งประชาชนจะกาให้ออกไป เนื่องจากคนหลวงพระบางรุ่นใหม่ต้องการเปลี่ยนแปลงให้ทันกับกระแสโลกาภิวัตน์ โดยการพัฒนาบ้านเมืองให้เจริญก้าวหน้า คนรุ่นใหม่ความคิดใหม่ และมีพลังในการสร้างสรรค์มากกว่า

     ๓.คนที่มีตำแหน่งมาก หน้าที่ภาระมาก โดยประชาชนจะสังเกตจากดาวห้อยหน้าออกเยอะ ๆ คนพวกนี้มีประสบการณ์มากก็จริง มักทำงานในห้องแอร์ และไม่ลงพื้นที่จริง อดีตที่ผ่านมาเลือกเข้าไปแล้วไม่มีเวลาคิดพัฒนา

     แม้ผลการเลือกตั้งจะเป็นอย่างที่ผู้เขียนได้พบปะพูดคุยมาหรือไม่ ไม่ใช่ประเด็น

 

     แต่ผู้เขียนเห็นว่า การเลือกตั้งครั้งนี้หลายเรื่องเป็นดอกไม้งาม ที่เกิดขึ้นกลางทะเลทรายทางประชาธิปไตย ที่สะท้อนให้คนไทยหลายคนได้คิด

     บางประเด็นน่าจะนำมาใช้ในเมืองไทยของเราบ้าง เช่น สส. สว. สท. รัฐมนตรี รัฐมนตรีช่วย ปลัดกระทรวง อธิบดี กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แม้แต่ตำแหน่งทางการปกครองสงฆ์ ฯลฯ เมื่อเข้าดำรงตำแหน่งครึ่งเทอม น่าจะโชว์ผลงาน แล้วให้ประชาชนคนไทย มีสิทธิ์กาออกบ้างนะ  ดูสิประเทศชาติจะพัฒนาขึ้นไปกว่านี้ไหม?

     หรือผู้อ่านให้ทัศนะประเด็นนี้ว่าอย่างไร?.......กรุณาแจ้งแถลงไข ประเด็นนี้ด้วยกัน .....

                                                                

หมายเลขบันทึก: 438525เขียนเมื่อ 8 พฤษภาคม 2011 11:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 พฤษภาคม 2012 19:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท