คำถามที่สำคัญสำหรับการเรียนในระดับอุดมศึกษา อาจารย์มหาวิทยาลัยได้โปรดอ่าน!


เมื่อไม่นานมานี้ คุณวิภว์ พี่ชายผม (link) ได้รับเชิญไปพูดในงานปัฉฉิมนิเทศให้น้องๆ นักศึกษาที่มหาวิทยาลัยรังสิตฟังครับ และผู้บรรยายอีกท่านหนึ่งที่ได้รับชวนไปคือคุณ ศุ บุญเลี้ยง (link) ศิลปินนอนเปลที่มีส่วนอย่างมากในการหล่อหลอมความคิดนิสิตนักศึกษาในทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งก็คือรุ่นของผมนั่นเอง มาถึงวันนี้ความคิดของคุณศุ บุญเลี้ยงตกผลึกและกลมกล่อมขึ้น เขาเลยมาเล่าเรื่องที่เขาได้เรียนรู้จากชีวิตที่ผ่านมาให้น้องๆ นักศึกษา ม. รังสิตฟัง

เรื่องราวอะไรที่เราไปประสบพบเจอในชีวิตประจำวัน ผมและคุณวิภว์ก็มักจะมาเล่าสู่กันฟังเสมอครับ และในงานปัจจิมนิเทศครั้งนี้ พี่ก็มาเล่าเรื่องที่คุณศุ บุญเลี้ยงพูดให้น้องๆ ม.รังสิตฟัง ประเด็นหนึ่งที่ติดใจผมมากคือเรื่องการเลือกที่จะ “ทำงานหนัก หรือทำงานที่มีน้ำหนัก” พอดิบพอดีกับที่ผมกำลังพัฒนาหลักสูตรใหม่ให้กับวิชาในชั้นปีสอง คือวิชาการเขียนโปรแกรมและอัลกอริทึม ก็เลยได้มีโอกาสนั่งคุยกับตัวเองว่าเราจะทำอย่างไรกับวิชานี้

แน่นอนครับว่าผมอยากให้นักศึกษาเรียนหนักเพื่อจะได้เรียนรู้อะไรเยอะๆ จากวิชานี้ แต่คำถามที่น่าจะสำคัญกว่านั้นคือ “เรียนอะไรให้หนัก?” ตรงนี้คล้ายๆ กับความคิดของคุณแรนดี้ แกริสัน (link) กับผู้ร่วมงานที่ถามไว้ในหนังสือคู่มือ Blended Learning in Higher Education : Framework, Principles, and Guidelines ว่าการจะดีไซน์หลักสูตรใหม่นั้นมีคำถามที่สำคัญคำถามเดียวที่จะต้องตอบให้ได้คือ “อยากให้ผู้เรียนจำอะไรได้ในอีกห้าปีข้างหน้า?”

ถึงแม้ว่าคู่มือเล่มนี้จะเน้นที่การดีไซน์หลักสูตรผสมแบบออนไลน์และในห้องเรียน (blended learning, hybrid learning) แต่ผมคิดว่าคำถามนี้ครอบคลุมไปในทุกระบบนิเวศน์ของการศึกษา การที่ผู้สอนหวังว่าจะยัดอะไรลงไปให้มากมายในหลักสูตรเพื่อให้เด็กรู้เยอะๆ นั้น มันเหมือนการให้เขาทำงานหนัก (แต่อาจจะไม่สำคัญ?) ให้เขาจำโน่นจำนี่โดยที่มันอาจจะไม่เกี่ยวกับชีวิตเขาในเวลานี้ (เช่นในวิชาที่ผมกำลังจะสอนนั้น จะรู้ไปทำไมว่าอะเรย์ชั้นสูงทำงานอย่างไร หรือจะเขียนโปรแกรมติดต่อกับฐานข้อมูลอย่างไร) จะดีกว่าไหมที่เราเลือกเอาแค่ส่วนที่สำคัญจริงๆ คือเรียนให้หนักและเรียนเอาแต่สิ่งที่สำคัญที่จะติดตัวไปใช้ได้ในภายภาคหน้าจริงๆ

การมองแบบนี้เป็นการมองย้อนศรวิธีคิดของอาจารย์มหาวิทยาลัยเลยก็ว่าได้ครับ เพราะทุกครั้งที่เรา (ตัวผมด้วย) ได้รู้ได้เห็นอะไรใหม่ๆ ก็อยากจะถ่ายทอดให้ผู้เรียนรู้มากเหมือนเรา แต่ถามจริงๆ เถอะครับว่าในหนึ่งภาคการศึกษา พวกเขาต้องเรียนสักกี่วิชา และอาจารย์แต่ละคนก็คิดแต่จะยัดๆ ๆ ๆ ๆ อะไรเข้าไปให้มันมากมาย ผลสุดท้ายเราก็ได้แต่ท่องจำอะไรที่มันไม่ค่อยจะมีความหมาย ผู้เรียนก็กลัวว่าจะจำไม่ได้ ผู้สอนก็กลัวว่าจะสอนไม่ทัน

too much 03   too much 04

ยอมรับกันได้หรือยังครับว่าไอ้ที่เรายัดๆ ให้ผู้เรียนน่ะ เขารับกันไม่ไหวและสะอิดสะเอียนกับการเข้าห้องกันไปหมดแล้ว (กรุณาดูภาพประกอบเพื่อเพิ่มอรรถรส) และมันเป็นบั่นทอนจิตวิญญาณการใฝ่รู้ของพวกเขาลงไปจนหมดสิ้น เรามุ่งแต่จะใส่เนื้อหาที่น่าเบื่อเข้าไปมากๆ โดยลืมไปว่าสิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือการกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดความ “กระหาย” ที่จะเรียนต่อไปด้วยตัวเอง

การจะตอบคำถาม “อยากให้ผู้เรียนจำอะไรได้ในอีกห้าปีข้างหน้า?” ได้นั้น ต้องอาศัยประสบการณ์ของผู้สอน และผู้ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการของการเรียนรู้ในวิชานั้น ๆ ผมเองไม่ได้เป็นโปรแกรมเมอร์มืออาชีพ ก็อาศัยว่าไปคุยกับเพื่อนๆ ที่คร่ำหวอดในวงการ ว่าทักษะที่สำคัญของวิชาชีพนี้มีอะไรบ้าง และการเป็นโปรแกรมเมอร์นั้น มีชีวิตอย่างไร จริยธรรมอะไรที่ต้องมีติดตัว ผมไปสัมภาษณ์เพื่อนๆ มาสามสี่คน ก็กะว่าจะให้ผู้เรียนได้ดูวิดีโอเหล่านี้ และเอามาพูดคุยกันว่าเขาคิดอย่างไรกับวิชาชีพนี้ ชอบหรือไม่ชอบ และถ้าชอบ จะต้องพัฒนาตัวเองอย่างไรถึงจะไปถึงจุดนั้นได้ ผมยังถามอาจารย์ท่านอื่นที่สอนวิชาที่เกี่ยวข้องด้วย ไม่ว่าจะเป็นวิชาการเขียนโปรแกรมเชิงวัตถุ หรือวิชาฐานข้อมูลคอมพิวเตอร์ ก็พอจะได้แนวคิดมาปรับเปลี่ยนวิชาของผม ว่าจะทำอย่างไรให้มันกลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกับวิชาเหล่านี้

ผมคิดว่าประสบการณ์ในชั้นเรียนของนักศึกษาคงจะดีขึ้นกว่านี้มากถ้าเรา, อาจารย์มหาวิทยาลัย, สามารถตอบสองคำถามที่ว่า “งานอะไรที่มีน้ำหนัก?” และ “อะไรที่อยากให้ผู้เรียนจำได้ในอีกห้าปีข้างหน้า?” ได้

คุณล่ะครับ มีคำตอบนี้หรือยัง?

อ้างอิง Randy Garrison & Norman D. Vaugham (2008) Blended Learning in Higher Education : Framework, Principles, and Guidelines. Jossey-Bass

ภาพประกอบ http://www.flickr.com/photos/bmitd67/4311655497/, http://www.flickr.com/photos/beautyofafrica/3189965108/

(กรุณาดูภาพประกอบเพื่อเพิ่มอรรถรส)
หมายเลขบันทึก: 437748เขียนเมื่อ 1 พฤษภาคม 2011 20:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 กันยายน 2013 19:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้าจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

อ. แว๊บครับ ขอแสดงความเห็นที่ อ. แว๊บ ตั้้งคำถามขึ้นมานะครับ บางอย่างอาจคลาดเคลื่อนกับสิ่งที่ อ. แว๊บตั้งใจจะถามก็ขออภัย

ผมว่ามันชัดเจนอยู่แล้ว ที่เราจะไม่เห็นอนาคตว่าจะเกิดอะไรขึ้น สิ่งที่พวกเราเห็นกันอยู่ในปัจจุบันนี้ มันดูเกินจินตนาการ เมื่อมองย้อนกลับไปตอนสมัยเราเด็กๆ ดังนั้นผมว่าคำถามที่ว่า งานอะไรที่มีน้ำหนัก ถ้าต้องการคำตอบระยะใกล้ น่าจะพอหาคำตอบได้ แต่ถ้ามองไปในอนาคตอีก 10 ปีขึ้นไป คงยากที่จะตอบ

ผมจะยกตัวอย่าง ลองนึกย้อนกลับไปสมัยตอนพวกเราจบใหม่ๆ ใครที่มีทักษะเขียนเว็บด้วยภาษา html (บน text editor) จะได้ค่าตอบแทนสูง แต่พอมาดูในยุคปัจจุบัน การเขียนภาษา html กลายเป็นเรื่องที่ไม่จำเป็นอีกต่อไป คนธรรมดาที่ไม่มีความรู้ด้านคอมพิวเตอร์ ก็สามารถมีเว็บ มีบล๊อก ฯลฯ ของตัวเอง และความรู้เกี่ยวกับเว็บจะเป็นความรู้พื้นฐานของคนรุ่นลูกเรา ทุกคนต้องเป็นหมด อาจจะตั้งแต่ประถมศึกษาด้วยซ้ำ และเมื่อนึกถึงคำพูดที่ผมเคยฟังมาจาก อ. ท่านหนึ่ง (ไม่กล้าเอ่ยนาม เพราะกลัวจำผิด) ท่านบอกว่าต่อไป user จะเป็นผู้สร้างโปรแกรมของตนเอง ส่วน programmer นั้นจะเป็นคนสร้างชิ้นส่วนต่างๆ เพื่อให้ user เอาไปประกอบ นึกภาพก็คงคล้ายๆ Lego แล้วแต่ว่าใครจะเอาไปประกอบเป็นรูปร่างอะไร เอาไปใช้งานอะไร

ผมเคยอ่านงานวิจัยฉบับนึงของต่างประเทศ (จำไม่ได้ แต่ถ้าจะให้ค้นจริงๆ น่าจะเจอ) พบว่าอาจารย์ในสังคมไทย มีบทบาทมากกว่าเป็นเพียงผู้สอน เป็นบทบาทในการชี้นำ และมีบทบาทเหมือนบุพการีดูแลบุตร นศ. ไทยเคยชินกับการถูกป้อนและการเดินตาม มีความเคารพ ยำเกรงต่อบทบาทความเป็นอาจารย์ นั่นอาจเป็นเหตุผลที่ อ. แว๊บ ตั้งคำถาม ข้อที่ 1 ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเอื้ออาธร ความปรารถนาดีต่อศิษย์ ตามแบบครูที่ดี เสียอย่างเดียว คำถามนี้ดูเหมือนจะไม่ได้รับการช่วยคิดจากคนที่อยู่ในฟาก นักเรียน นักศึกษา ซึ่งเราก็รู้ๆอยู่ว่า หลายๆคนที่เข้ามาสู่ระบบมหาวิทยาลัย ตอนสมัครเข้าเรียนยังไม่รู้เลยว่าสาขาที่เรียน จบมาจะทำอะไรได้บ้าง ตัวเองเหมาะ หรือไม่เหมาะกับสาขาที่สมัครเข้าเรียนนั้น อีกหลายคนก็เรียนตามเพื่อน เรียนตามสังคมว่าดี เรียนตามความเท่ห์ (ตัวผมเองก็เคยเป็นหนึ่งในคนกลุ่มนี้) ดังนั้น คำถามนี้ นร. นักศึกษา ต้องเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยตอบครับ เพื่อเป็นการตรวจสอบตัวเองในระดับต้น ไม่ใช่จะมัวเดินตามทางที่พ่อ แม่ หรือ อาจารย์ชี้ให้แบบไร้สติ

หลายๆวิชาที่ดูเหมือนจะไม่จำเป็น ที่เราต้องเรียนก็เพื่อให้เข้าใจหลักการพื้นฐาน หรือวิวัฒนาการก่อนที่จะมาเป็นสิ่งที่เราเห็นทุกวันนี้ แล้วความรู้เหล่านี้ได้ใช้รึปล่าว คนทั่วๆไปคงไม่ได้ใช้ ยกเว้นจะมาเป็น อ. มหาวิทยาลัย ก็คงจำเป็นต้องรู้ หลักสูตร เราก็หวังดี อยากให้มีความรู้กว้าง และรู้ลึกเลยยัดๆๆกันมากหน่อย แต่แนวโน้มก็เปลี่ยนไปมากจากยุคที่เราเรียนนะครับ จะเห็นว่าจำนวนหน่วยกิตลดลงจากเดิมพอสมควร ถ้าจะวางการสอนโดยดูตลาดงานเป็นหลัก ก็ถือว่าเป็นการสร้าง นศ. ให้จบไปสามารถทำงาน(ให้คนอื่น)ได้จริง แต่ก็ไม่ได้เป็นการสอนให้ นศ. สร้างสรรค์งานจากสิ่งที่เป็นตัวเองเหมือนคนดังระดับโลกอย่าง Zuckerberg หรือ Gates (ผมไม่ได้บ้านะ ผมแค่ฝันอยากเห็นคนไทยไปถึงระดับนั้น) ดังนั้น ถ้าต้องการให้ นศ. สามารถจบไปทำงานได้ แต่ละวิชาก็ต้องใช้เคสที่ใกล้เคียงความจริงมาสอนและสั่งงาน แต่ถ้าอยากให้ นศ. ไปไกลกว่านั้น ก็อาจจะต้องสอนหรือให้งาน นศ. ในลักษณะฝันๆ ล้ำๆ เวอร์ๆ หน่อย

ผู้สร้าง scratch programming เองก็ได้กล่าวถึงการเรียนรู้ของเด็กน้อยในชั้นอนุบาล และได้นำมาใช้ประโยชน์ การศึกษาในระดับอนุบาลเองก็ไม่ได้สอนโดยดูว่าจะสร้างเด็กเพื่อเรียนไปทางวิทย์ หรือศิลป์ หรือจบมาเป็นอะไร แต่ก็ได้วางรากฐานสำคัญมากมายสำหรับการใช้ชีวิตในวัยผู้ใหญ่ (ซึ่งในท้ายที่สุดแต่ละคนก็เดินต่างเส้นทางกัน) โดยเป็นการพัฒนาจากตัวผู้เรียนเองเป็นหลัก

กลับมาตอบข้อที่ 2 อะไรที่อยากให้ผู้เรียนได้ไป อีก 5 ปีข้างหน้า ผมก็จะตอบว่า อยากให้ผู้เรียนได้ทักษะที่จะใช้ชีวิตในอนาคตได้อย่างไม่ลำบาก สามารถปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นได้ อยากให้ผู้เรียนมีทักษะที่จะพัฒนาตนเอง และเรียนรู้ได้ด้วยตนเองจนตลอดชีวิต (เพราะถ้าไม่รู้จักเรียนรู้การปรับตัว ก็คงสูญพันธุ์เหมือนไดโนเสาร์) ในต่างประเทศ หลายๆประเทศได้มองเรื่องนี้ และได้ประกาศทักษะที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตในศตวรรษที่ 21 ออกมาแล้ว (แต่ละประเทศไม่เหมือนกัน) ถือเป็นนโยบายระดับชาติที่จะผลิตบุคลากรที่จะสร้างประเทศ และสามารถแข่งขันกับนานาชาติต่อไป ส่วนประเทศไทยเรายังไม่เห็นตัวนี้ครับ (หรืออาจประกาศมาแล้ว แต่ผมตกข่าว) สำหรับระดับอุดมศึกษา ว่ากันจริงๆแล้ว เราคงต้องการบัณฑิตที่มีทักษะคิดดีๆ มีความสามารถในเชิงออกแบบ หรือสร้างสรรค์ มากกว่าเพียงตอบสนองต่อตลาดงานที่มักเป็นงาน routine สำหรับผมมีบางครั้งที่ไม่สามารถสอนเนื้อหาวิชาได้ครบถ้วนตามแผนการสอนในวิชา แต่มีทักษะหนึ่งที่ผมพยายามแทรกให้ นศ. เสมอ คือทักษะการเดา การมั่ว อย่างมีหลักการ เพราะถ้าเราจะต้องเผชิญกับปัญหา หรือสถานการณ์ที่ไม่เคยพบ เคยเจอมาก่อน เราก็น่าจะเสี่ยงเลือกหนทางที่ใกล้เคียงกับคำตอบมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และอีกเรื่องที่สำคัญที่พยายามปลูกฝัง คือจริยธรรมขั้นพื้นฐานครับ (โค๊ชอาจไม่ได้เป็นคนที่เตะฟุตบอลเก่ง, ผมไม่ได้เป็นคนดีอะไรมากมาย แต่พอรู้ว่าอะไรดี อะไรไม่ดี และอยากให้สังคมนี้ดี น่าอยู่ครับ)

ผมชอบที่ อ. แว๊บเขียนไว้ว่า เรามุ่งแต่จะใส่เนื้อหาที่น่าเบื่อเข้าไปมากๆ โดยลืมไปว่าสิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือการกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดความ “กระหาย” ที่จะเรียนต่อไปด้วยตัวเอง

ขอบคุณสำหรับความคิดเห็นเน้นๆ ที่นานๆ ทีจะมีนะครับอาจารย์จีรัง

เรื่องของอนาคตนี่เราคงคาดเดาไม่ได้แน่ๆ อันนี้ผมเห็นด้วย ทุกวันนี้มีงานประหลาดหลายอย่างที่เราคาดคิดไม่ถึงว่าจะมี งานเป็นผู้ดูแลในเกมออนไลน์ (คือคอยเดินไปเดินมาในเกม แต่ทำหน้าที่ผู้ดูแล ไม่ใช่ผู้เล่น) งานการเขียนบล็อกอาชีพ ขายของออนไลน์ อีกทั้งขอบเขตการทำงานยังกว้างไกลออกไปกว่าเดิม เครือข่ายสังคมยังเปิดโอกาสให้มีงานแปลกๆ เพิ่มขึ้นอีกมาก อย่างเช่นการ tag รูปขายของ หรือขายบริการต่างๆ นานา

เรื่องการที่โปรแกรมเมอร์หรือนักพัฒนาในอนาคต (หรือในปัจจุบัน) จะหันมาสร้างชิ้นงานแบบเป็นส่วนประกอบให้ผู้ใช้นำไปต่อยอดนั้น เราก็เห็นกัน ผมเพิ่งจะเจอกับตัวเองก็ตอนใช้ wordpress นี่ละครับ อะไรมันจะง่ายขนาดนั้น แค่กดๆ เลือกโน่นนี่ เราก็ได้เว็บแล้ว แต่ผมก็คิดว่าการปูพื้นฐานที่สำคัญสำหรับวิชาชีพนั้นยังจำเป็นอยู่ครับ งานด้านพัฒนาเว็บ ความรู้พื้นฐาน HTML หรือ CSS ก็ยังสำคัญอยู่มาก อันนี้สำหรับคนที่จะเข้าสู่สายอาชีพนี้นะครับ ถ้าเป็นผู้ใช้ธรรมดาก็ไม่จำเป็น หรืองานด้านฐานข้อมูล การมีพื้นฐานด้านภาษา SQL ก็มีความจำเป็น ถึงแม้เทคโนโลยีฐานข้อมูลจะไปถึงไหนต่อไหนแล้วก็ตาม ว่าไหมครับ?

หลายอาชีพในปัจจุบันนั้นเป็นแค่การเปลี่ยนสถานที่การทำงาน และการเปลี่ยนวิธีการสื่อสารเท่านั้นเอง การเขียนบล็อกอาชีพก็คล้ายๆ กับการยึดอาชีพเป็นนักเขียน แน่นอนว่าสื่ออินเตอร์เน็ต วิธีการเขียนก็ต้องแตกต่าง ทั้งด้านภาษาและความยาวของเนื้อหา เพราะหน้าเว็บไม่เหมือนหน้ากระดาษ หรืออย่างการเป็นผู้ดูแลเกมออนไลน์นั้นก็ไม่ต่างจากการเป็นพี่เลี้ยงที่ดี ต้องมีทักษะการสื่อสาร มีวิธีการจูงใจ และรู้กฎระเบียบในพื้นที่นั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นโลกออนไลน์หรือที่ไหนก็ตาม เราทั้งสองคนเคยผ่านประสบการณ์การเป็นพี่เลี้ยงมาเหมือนกัน ก็คงพอจะจินตนาการได้ว่า วิธีการรับมือกับเด็กวัยรุ่นนั้นมันต้องมีเทคนิควิธี และที่สำคัญที่สุดคือเราต้องเข้าใจกลุ่มคนที่เรากำลังดูแลอยู่ สิ่งที่ผู้ดูแลเกมออนไลน์ต้องมีนั้น นอกจากทักษะความรู้ด้านเทคโนโลยีแล้ว ไหวพริบ มีลูกล่อลูกชนก็สำคัญ เห็นผู้เล่นทำผิดแล้วจะจัดการอย่างไร จะตักเตือนหรือลงโทษ

เรื่องที่สองที่คุณจีรังพูดถึง, บทบาทอาจารย์ไทย, นั้นผมก็เห็นด้วยครับ แต่ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องไม่ดีเท่าไหร่ที่สังคมไทยเป็นสังคมอำนาจนิยม คนที่อยู่หน้าห้องต้องถูกเสมอ ถามว่าทำไมนักเรียนนักศึกษาถึงไม่ค่อยอยากมีปากมีเสียง หรือไม่ค่อยจะรู้ว่าตัวเองอยากจะเป็นอะไร จะโทษใครฝ่ายเดียวคงไม่ได้ครับ มันเป็นปัญหาทั้งระบบ ซึ่งคงต้องพูดกันยาว ไม่รู้จะเริ่มแก้ที่ตรงไหนดี แต่ถ้าถามผม ผมว่าเราไม่ควรรอผู้กำหนดนโยบาย เห็นอะไรไม่ดีก็แก้เลยครับ เปลี่ยนที่ตัวเรา เราเป็นอาจารย์ เราสามารถเปลี่ยนได้ เริ่มกันที่ห้องเรานี่แหละ เพิ่มความโปร่งใส เพิ่มการประเมินผลระหว่างการสอน (formative evaluation) ให้มากๆ เพื่อเป็นการปรับกระบวนการสอนให้ตรงตามความต้องการและความสามารถของผู้เรียน ผลักดันให้เขาคิด ให้เขากล้าพูดกล้าเถียง (แบบสุภาพ)

เรื่องที่สาม, วิชาพื้นฐานในมหาวิทยาลัย, ที่คุณจีรังเห็นว่าดูเหมือนจะไม่จำเป็น อันนี้ผมเห็นต่างครับ ผมว่าวิชาอย่างอารยธรรมไทย ปรัชญาและตรรกะ ภูมิหลังประวัติศาสตร์โลก วิชาพวกนี้โคตรจะสำคัญสำหรับคนที่อยากจะให้คนอื่นเขาเรียกว่า “ปัญญาชน” เพราะปัญญาชน ในทัศนะปราชญ์ชาวบ้านอย่าง อาจารย์ นิธิ เอียวศรีวงศ์ ที่ผมเห็นด้วยมากๆ คือต้องสามารถชี้นำสังคมได้ ทั้งในทางความคิดและการปฏิบัติจริง คือต้องมองสังคมให้ทะลุ แต่ก็ต้องอยู่ติดดิน ปัญหาคือมหาวิทยาลัยในปัจจุบันไม่ได้มุ่งผลิตปัญญาชน แต่มุ่งผลิต “คนชั้นกลาง” คือคนที่อยากจะตะเกียดตะกายให้หลุดพ้นความยากจน ด้วยวุฒิการศึกษาที่สูงขึ้น เพื่อเงินเดือนที่มากขึ้น แต่ไม่ได้สร้างให้คนมีความคิด หรือมีทัศนคติต่อสังคมมากขึ้น เหมือนที่คุณจีรังว่าเราสร้างคน “ให้จบไปสามารถทำงาน(ให้คนอื่น)ได้” นั่นแหละครับ

มาถึงคำถามข้อสอง ผมว่าคุณตอบได้ถูกต้องตรงใจผมจริงๆ ครับ เพราะไอ้ทักษะในศตวรรษที่ 21 ที่กำลังเห่อกันนักหนาเนี่ย มันก็สรุปได้ข้อเดียวคือเรียนรู้ที่จะรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว มีความคล่องตัว แต่ต้องมีคุณธรรม ถ้าอยากเรียนกะล่อนปลิ้นปล้อนน่ะ เรามีให้เห็นกันเยอะแล้ว (ฮา!) เรื่องที่คุณว่าฝึกการเดาอย่างมีหลักการนี่น่าสนใจครับ ภาษาฝรั่งเขาว่า educated guess คือการเดาโดยใช้ข้อมูลที่มีในมือ บางครั้งเราหาได้ไม่ครบถ้วน แต่ก็ต้องตัดสินใจ ถ้ามีตัวอย่างบทเรียน รบกวนช่วยแบ่งปันด้วยนะครับ ส่วนตัวผมเองมองเรื่องนี้ว่าเป็นเรื่องของการถ่ายโอนความรู้ ซึ่งมีแบบระยะใกล้และระยะไกล (near vs. far transfer) การเรียนต้องมีการต่อยอดความรู้ขึ้นไปเรื่อยๆ สอนเรื่องใหม่ก็ต้องโยงให้เข้ากับเรื่องเก่า คล้ายการต่อนั่งร้าน (scaffold) เราปูพื้นฐานให้เขาแล้วก็ค่อยๆ แตกหน่อออกผลต่อไปในกรณีศึกษาที่มันแปลกขึ้น ยากขึ้น และต้องระลึกเสมอว่าบางครั้ง ชีวิตมันไม่ได้มีคำตอบที่ถูกต้องเพียงข้อเดียว

ปล. อ่านความเห็นคุณแล้วเพิ่งทราบว่าสมัยเรานี่ วิศวะไฟฟ้า เขาว่าเท่ห์นะเนี่ย...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท