การสั่งสมความเชี่ยวชาญในงานอาชีพ (Expertise – EXP)


การสั่งสมความเชี่ยวชาญในงานอาชีพ (Expertise – EXP)

การสั่งสมความเชี่ยวชาญในงานอาชีพ (Expertise – EXP)

เป็นสมรรถนะตัวที่ 3 ของสมรรถนะหลัก สำหรับคำจำกัดความของ การสั่งสมความเชี่ยวชาญในงานอาชีพ” หมายถึง ความสนใจใฝ่รู้ สั่งสม ความรู้ความสามารถของตนในการปฏิบัติราชการด้วยการศึกษา ค้นคว้าและพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง จนสามารถประยุกต์ใช้ความรู้เชิงวิชาการและเทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ากับการปฏิบัติราชการให้เกิดผลสัมฤทธิ์

การสั่งสมความเชี่ยวชาญในงานอาชีพ เป็นสมรรถนะในกลุ่มกระบวนการคิด (Cognitive) หรือความฉลาด อย่างไรก็ดีสมรรถนะนี้ไม่ได้วัดความฉลาด (IQ) โดยตรง แต่เป็นการวัดแนวโน้มของการที่ผู้ดำรงตำแหน่งจะใช้ความฉลาดของตนให้มีประโยชน์ต่อการทำงานให้ประสบความสำเร็จกล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ เป็นการวัดทั้งความสามารถและแรงจูงใจ โดยทั่วไปสมรรถนะ การคิดวิเคราะห์และการมองภาพองค์รวมจะสัมพันธ์โดยตรงกับความฉลาดมากกว่าสมรรถนะการสั่งสมความเชี่ยวชาญในงานอาชีพ แต่จากงานวิจัยสนับสนุนว่า ความฉลาดมีความสัมพันธ์กับความรู้ในงาน เพราะบุคคลที่มีความฉลาดจะสามารถเรียนรู้และเก็บข้อมูลเกี่ยวกับความรู้ในงานได้ดี

การสั่งสมความเชี่ยวชาญในงานอาชีพ รวมองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับงาน ได้แก่

1. ความรู้เชิงเทคนิค วิชาการ หรือการจัดการ

2. แรงจูงใจที่จะเรียนรู้เพิ่มขึ้น

3. ใช้ความรู้นั้นในงาน

4. สอนความรู้นั้น ๆ ให้กับบุคคลอื่น ๆ ด้วย

การสั่งสมความเชี่ยวชาญในงานอาชีพ (Expertise) อาจเรียกในชื่ออื่น ๆ ได้แก่ การตระหนักด้านกฎหมาย (Legal Awareness) ความรู้ด้านผลิตภัณฑ์ (Product Knowledge) ภาพลักษณ์ของผู้ช่วยเหลือที่เชี่ยวชาญ (Expert – Helper Image) ทักษะการวินิจฉัย (Diagnostic Skill) และการยึดมั่นต่อการเรียนรู้ (Commitment to Learning) อีกชื่อหนึ่งที่มักได้ยินกันบ่อย คือ การเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง (Continuous Learning)

สมรรถนะการสั่งสมความเชี่ยวชาญในงานอาชีพ มี 4 มิติ ได้แก่

1. อธิบายในรูปของระดับวุฒิการศึกษา

2. ระดับของการบริหารจัดการความรู้ เช่น ระดับบุคคล กลุ่มงาน หรือหน่วยงาน เป็นต้น

3. ความพยายามที่จะคงไว้และมาซึ่งความรู้ความเชี่ยวชาญในงาน และ

4. ขอบเขตของการเผยแพร่ให้ความรู้กับผู้อื่น เช่น ตอบคำถาม การให้คำปรึกษา เสนอแนะความรู้ให้กับหน่วยงาน หรือตีพิมพ์ผลงานวิชาการ เป็นต้น

การแสดงถึงพฤติกรรมของสมรรถนะการสั่งความเชี่ยวชาญในงานอาชีพ ได้แก่

1. การทำให้ตนเองมีทักษะและความรู้

2. แสดงความสนใจใคร่รู้ความรู้ที่นอกเหนือจากอาชีพโดยตรง

3. อาสาให้ความช่วยเหลือผู้อื่นแก้ไขปัญหาเชิงเทคนิค

4. เข้าอบรม/เรียน หรือเรียนรู้ด้วยตนเองเกี่ยวกับความรู้ใหม่ที่เกี่ยวข้องกับงาน

สมรรถนะอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการสั่งสมความเชี่ยวชาญในงานอาชีพ การสั่งสมความเชี่ยวชาญในงานอาชีพเป็นรูปแบบพิเศษของการสืบเสาะหาข้อมูล เพราะต้องค้นหา ติดตามความรู้เสมอ ๆ นอกจากนี้ การสั่งสมความเชี่ยวชาญในงานอาชีพยังเกี่ยวข้องกับการคิดวิเคราะห์ที่เกี่ยวข้องกับปัญหาทางด้านเทคนิค การคิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ (การมุ่งผลสัมฤทธิ์ระดับที่ 4) ที่เกี่ยวข้องกับการสั่งสมความเชี่ยวชาญในงานอาชีพ และแม้แต่สมรรถนะศิลปะการสื่อสารจูงใจเอง ก็อาจมีการสั่งสมความเชี่ยวชาญในงานอาชีพ ถ้าเป็นกรณีของการนำความเชี่ยวชาญในงานอาชีพไปใช้ในการจูงใจคน

ระดับที่ 0 ไม่แสดงสมรรถนะด้านนี้หรือแสดงอย่างไม่ชัดเจน

ระดับที่ 0 หมายถึง การที่ผู้ดำรงตำแหน่งไม่ได้แสดงถึงพฤติกรรมบ่งชี้ของการสั่งสมความเชี่ยวชาญในงานอาชีพเลย หรือว่าแสดงบ้างแต่ไม่ชัดเจนพอที่จะทำให้ผู้ประเมินรับรู้ได้ว่าบุคคลนั้นเป็นผู้ที่มีการสั่งสมความเชี่ยวชาญในงานอาชีพ

ระดับที่ 1 แสดงความสนใจและติดตามความรู้ใหม่ ๆ ในสาขาอาชีพของตนหรือที่เกี่ยวข้อง เช่น

* ศึกษาหาความรู้ สนใจเทคโนโลยีและองค์ความรู้ใหม่ ๆ ในสาขาอาชีพของตน

* พัฒนาความรู้ความสามารถของตนให้ดียิ่งขึ้น

* ติดตามเทคโนโลยีและความรู้ใหม่ ๆ อยู่เสมอด้วยการสืบค้นข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติราชการ

ระดับที่ 1 ของการสั่งสมความเชี่ยวชาญในงานอาชีพเป็นระดับที่ปฏิบัติได้ง่าย คือ การแสดงความสนใจและติดตามความรู้ใหม่ ๆ ในสาขาอาชีพของตนหรือที่เกี่ยวข้อง ดังนั้น เพียงแค่การแสดงความสนใจ ไม่ว่าจะเป็นการเข้าอบรม การประชุมวิชาการ การอ่านเอกสารวิชาการ การสืบค้นข้อมูลจากห้องสมุดหรือ Internet ก็อาจเป็นพฤติกรรมบ่งชี้ของการแสดงความสนใจ และติดตามความรู้ใหม่ ๆ ในสาขาอาชีพของตนได้

ระดับที่ 2 แสดงสมรรถนะระดับที่ 1 และมีความรู้ในวิชาการและเทคโนโลยีใหม่ ๆ ในสาขาอาชีพของตน เช่น

* รอบรู้ในเทคโนโลยีหรือองค์ความรู้ใหม่ ๆ ในสาขาอาชีพของตนหรือที่เกี่ยวข้อง ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ราชการของตน

* รับรู้ถึงแนวโน้มวิทยาการที่ทันสมัยและเกี่ยวข้องกับงานของตนอย่างต่อเนื่อง

ระดับที่ 2 นอกจากการแสดงความสนใจและมีพฤติกรรมติดตามความรู้ใหม่ ๆ ในสาขาอาชีพของตนเท่านั้นยังไม่เพียงพอ ยังต้องแสดงให้เห็นว่าผู้ดำรงตำแหน่ง (ที่ติดตามความรู้ใหม่ ๆ มีความรู้ในวิชาการและเทคโนโลยีใหม่ ๆ ในสาขาอาชีพของตนอีกด้วย ส่วนการจะแสดงออกอย่างไรเป็นเรื่องที่ควรกำหนดไว้ เช่น ให้อธิบายหรือสอนเพื่อนร่วมงาน (ซึ่งสอดคล้องกับระดับความรู้ความสามารถของตำแหน่งประเภทวิชาการ ระดับที่ 2 “มีความรู้ความเข้าใจในหลักการ แนวคิด ทฤษฎีของงานในสายอาชีพที่ปฏิบัติอยู่ รวมทั้งสามารถถ่ายทอดได้”) เป็นต้น

ระดับที่ 3 แสดงสมรรถนะระดับที่ 2 และสามารถนำความรู้ วิทยาการหรือเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาปรับใช้กับการปฏิบัติหน้าที่ราชการ เช่น

* เป็นระดับที่ยากกว่าระดับที่ 2 เพราะผู้ดำรงตำแหน่งต้องสามารถนำความรู้ วิทยาการหรือเทคโนโลยีใหม่ ๆ (ที่มีในระดับที่ 2) มาปรับใช้กับการปฏิบัติหน้าที่ราชการได้ด้วย

ดังนั้น จึงอาจจะเห็นสมรรถนะการมุ่งผลสัมฤทธิ์ ระดับที่ 3 คือ สามารถปรับปรุงวิธีการทำงานเพื่อให้ได้ผลงานที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยการนำความรู้ วิทยาการ หรือเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาปรับใช้ก็ได้ ซึ่งหากเป็นกรณีเช่นนี้ ก็อาจประเมินพฤติกรรมเดียวกันได้ทั้งการมุ่งผลสัมฤทธิ์และการสั่งสมความเชี่ยวชาญในงานอาชีพด้วย หรือในอีกกรณีหนึ่งก็อาจเป็นการนำความรู้ วิทยาการหรือเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้ในการแก้ปัญหาในงาน ซึ่งก็อาจเป็นสมรรถนะการคิดวิเคราะห์ หรือการมองภาพองค์รวมได้ ซึ่งต้องพิจารณาจากรายละเอียดของพฤติกรรมและบริบทของงานที่แสดงประกอบด้วย

ระดับที่ 4 แสดงสมรรถนะระดับที่ 3 และศึกษา พัฒนาตนเองให้มีความรู้และความเชี่ยวชาญในงานมากขึ้น ทั้งในเชิงลึกและเชิงกว้างอย่างต่อเนื่อง เช่น

* มีความรู้ความเชี่ยวชาญในเรื่องที่มีลักษณะเป็นสหวิทยาการและสามารถนำความรู้ไปปรับใช้ได้อย่างกว้างขวาง

* สามารถนำความรู้เชิงบูรณาการของตนไปใช้ในการสร้างวิสัยทัศน์เพื่อการปฏิบัติงานในอนาคต

ในระดับที่ 4 เป็นระดับที่ยากขึ้นกว่าระดับที่ 3 โดยเน้นที่การศึกษา พัฒนาตนเองให้มีความรู้และความเชี่ยวชาญทั้งในเชิงลึก (ถ้าหากลักษณะงานที่ปฏิบัติเป็นความเชี่ยวชาญด้านใดด้านหนึ่งโดยเฉพาะ) หรือในเชิงกว้าง (กรณีที่ลักษณะงานที่ปฏิบัติเป็นงานที่ต้องการความเชี่ยวชาญหลาย ๆ ด้าน (สหวิทยาการ)) และการศึกษาพัฒนาตนเองนี้ต้องกระทำอย่างต่อเนื่องในลักษณะของการสั่งสมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

อาจมีบางกรณีที่ผู้ดำรงตำแหน่งสนใจติดตามความรู้เพียงอย่างเดียว โดยไม่นำความรู้นั้น ๆ มาใช้ให้เป็นประโยชน์กับงานในราชการเลย กรณีของการทำความเข้าใจต้องเน้นให้ผู้ดำรงตำแหน่งต้องผ่านระดับที่ 3 ก่อนจึงจะสามารถมีสมรรถนะในระดับที่ 4 ได้ ทั้งนี้ เพราะเป้าหมายของการบริหารบุคคล คือ ให้บุคคลแสดงผลงานที่โดดเด่นด้วย

ระดับที่ 5 แสดงสมรรถนะระดับที่ 4 และสนับสนุนการทำงานของคนในส่วนราชการที่เน้นความเชี่ยวชาญในวิทยาการด้านต่าง ๆ เช่น

* สนับสนุนให้เกิดบรรยากาศแห่งการพัฒนาความเชี่ยวชาญในองค์กรด้วยการจัดสรรทรัพยากร เครื่องมือ อุปกรณ์ที่เอื้อต่อการพัฒนา

* บริหารจัดการให้ส่วนราชการนำเทคโนโลยี ความรู้ หรือวิทยาการใหม่ ๆ มาใช้ในการปฏิบัติหน้าที่ราชการในงานอย่างต่อเนื่อง

ระดับที่ 5 เป็นระดับสูงสุด ซึ่งกำหนดสำหรับตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิและผู้บริหาร ซึ่งงานในระดับนี้จะเป็นงานเชิงนโยบาย

ดังนั้น เพื่อให้ส่วนราชการเป็นองค์การแห่งความรู้ จึงกำหนดให้ผู้ทรงคุณวุฒิและผู้บริหารสนับสนุนการทำงานของข้าราชการที่เน้นความเชี่ยวชาญในวิทยาการด้านต่าง ๆ กล่าวคือ การนำองค์การไปสู่การเป็นองค์การแห่งความรู้

สรุป :

การสั่งสมความเชี่ยวชาญในงานอาชีพ อาจหมายถึง การแสดงความสนใจ การติดตามความรู้ใหม่ ๆ ในสาขาอาชีพของตนหรือที่เกี่ยวข้อง การมีความรู้ในวิชาการและเทคโนโลยีใหม่ ๆ ในสาขาอาชีพของตน สามารถนำความรู้ วิทยาการหรือเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาปรับใช้กับการปฏิบัติหน้าที่ราชการ การศึกษา พัฒนาตนเองให้มีความรู้และความเชี่ยวชาญในงานมากขึ้น ทั้งในเชิงลึกและเชิงกว้างอย่างต่อเนื่องและการสนับสนุนการทำงานของคนในส่วนราชการที่เน้นความเชี่ยวชาญในวิทยาการด้านต่าง ๆ

หมายเลขบันทึก: 437581เขียนเมื่อ 29 เมษายน 2011 22:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 เมษายน 2016 14:59 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอบพระคุณครับ ดีมากมากครับท่าน

สวัสดีค่ะ...อาจารย์ JJ...Ico48...

  • เป็นการแบ่งปันประสบการณ์ค่ะอาจารย์...
  • ขอบคุณอาจารย์ที่แวะมาเยี่ยมค่ะ...
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท