ประวัติพุทธศาสนา


ประวัติพุทธ

๑.๒ ลัทธิความเชื่อก่อนพุทธกาล

 

                   เมื่อพวกอารยันเข้ามาและได้รุกไล่พวกดราวิเดียน  ซึ่งได้อยู่มาก่อนให้ถอยร่นลงไปทางใต้  บริเวณภาคเหนือ  ภาคกลาง จึงถูกพวกอารยันเข้าครองครองเสียเป็นส่วนใหญ่  ขณะเดียวกันก็เกิดมีการผสมทางสายสัมพันธ์   ระหว่างอารยันกับดราวิเดียน  ได้มีการสังสรรค์ (Aspiration) ทางวัฒนธรรมขึ้น   เช่น การแต่งงาน  ผสมผสานขนบธรรมเนียม  ความเชื่อทางศาสนา (พิธีบูชายัญ) เป็นต้น

 

   ๑.๒.๑   สมัยพระเวท (๘๐๐๓๐๐ ปี ก่อน พ.ศ.)

                         พระเวทเป็นคัมภีร์ทางศาสนา  ที่พวกพราหมณ์ได้รวบรวมขึ้นจากบทเพลงสวดในเวลาทำศึกและการสังเวย  เรียกว่า ฤคเวท  ซึ่งได้พูดถึงสภาพสังคมของชาวอารยัน พึ่งมาจารึกเป็นตัวอักษรหลังการปรินิพพานของพระพุทธเจ้าร่วมพันปีแล้ว  จากฤคเวทพวกพราหมณ์ได้ขยายเป็น ๔ เรียกว่า จตุเพทางคศาสตร์ คือ

                         ฤคเวท                      บทสวดสรรเสริญเทพเจ้า

                         สามเวท                    บทสวดอ้อนวอนในพิธีบูชายัญต่างๆ

                         ยชุรเวท                    บทเพลงขับสำหรับสวดหรือร้องเป็นทำนองบูชายัญ

                         อาถรรพเวท            ว่าด้วยอาคมทางไสยศาสตร์

                         สมัยพระเวทนี้  พวกอารยันได้นับถือพระอินทร์เป็นเทพเจ้าสูงสุด  พระอินทร์ทำหน้าที่คล้ายตัวพระราชา  มีความเป็นอยู่อย่างสมบูรณ์  แต่ก็มีศัตรูมารุกรานเป็นประจำ  มีการรบรากันอยู่เรื่อย  แต่เนื่องจากพระอินทร์ได้แพ้สงครามบ่อยครั้ง  จึงทำให้ฐานะตกต่ำลง  พราหมณ์จึงให้พระเจ้าองค์อื่นมีฐานะสูงกว่าพระอินทร์ในเวลาต่อมา

                         ในสมัยพระเวทนี้  ผู้คนได้ทำพลีบูชาและสวดขับกล่อมสรรเสริญพระเจ้าด้วยน้ำโสม  เพื่อจะให้เทพเหล่านั้นโปรดปรานช่วยเหลือตน  เป็นการอ้อนวอนขอความเห็นใจจากพระเจ้า

   ๑.๒.๒ สมัยพราหมณ์ (๓๐๐๑๐๐ ปี ก่อน พ.ศ.)

                         ในสมัยนี้พราหมณ์มีบทบาทและอำนาจมาก หรือพวกพราหมณ์เจ้าพระยศ  คนทั่วไปเคารพนับถือพราหมณ์ให้ความศักดิ์สิทธิ์  เพราะถือว่าพราหมณ์เป็นตัวแทนของพระเจ้า  เป็นตัวกลางติดต่อระหว่างพระเจ้ากับประชาชน  เป็นผู้ถ่ายบาปให้แก่ประชาชน  ตามอุดมคติ  ความเชื่อ  ด้วยความเมตตาปรานี  ไม่คิดค่าตอบแทน  มุ่งมั่นเพียรเพ่งเคร่งครัดในพิธีกรรม ตามแนวความเชื่อที่ว่า ความเป็นพราหมณ์ประกอบด้วย    ต้องมีความสัตย์      มีความเพียรเพ่ง  มีความเคร่งครัดปฏิบัติพรหมจรรย์  มีความขยันศึกษาคัมภีร์พระเวทและมีความเสียสละ ถ้าพิจารณาตามข้อความเหล่านี้ พวกพราหมณ์ก็น่าจะมีบทบาทในการกระทำความดีให้แก่ประชาชน อย่างมากมาย เช่นเป็นผู้นำทางจิตใจ และประสิทธิประสาทวิชาการต่างๆ ให้แก่ประชาชน  พราหมณ์เป็นผู้มีความมักน้อยสันโดษ  มีความเป็นอยู่ด้วยการบิณฑบาต  รับประทานอาหารที่ประชาชนนำมาถวาย ไม่เข้าไปตั้งจิตมุ่งร้ายหรือแทรกแซงกิจกรรมของคนอื่น  มีหน้าที่ในการประพฤติปฏิบัติพรหมจรรย์  ทำตนให้เป็นที่พึ่งของประชาชนทางจิตใจ

                   ต่อมาพวกพราหมณ์ได้หลงบทบาทหน้าที่ของตัวเอง  เมื่อได้รับความนับถือมากขึ้นจึงสำคัญตนผิดว่า  เป็นหมู่เทวดา  ผู้วิเศษ  มีความหยิ่งในเพศและวรรณะของตน  ติดในลาภสักการะ  เรียกร้องค่าตอบแทนจากการประกอบทางพิธีกรรมด้วยวิธีต่างๆ เช่น หลอกลวง  ขู่เข็ญว่า  พระเจ้าจะลงโทษเมื่อไม่ทำตามคำที่พวกพราหมณ์แนะนำ  พราหมณ์ได้เปลี่ยนอุดมการณ์มาลุ่มหลงในลาภสักการะ ละทิ้งการศึกษาเล่าเรียน หันมาประกอบพิธีกรรมหลักใหญ่ ไม่ตั้งอยู่ในความสัตย์  ปฏิบัติเห็นแก่ได้ด้วยคติที่ว่า  โลกนี้จะดำรงอย่างเป็นปกติถ้ามีหลักประพฤติ  ๓  ประการ คือ  ประพฤติตามคำแนะนำของพราหมณ์  ประพฤติตามคำสอนของพระเวท และประพฤติตามระบบของวรรณะ

                   ในสมัยพราหมณ์นี้  มีการประกอบพิธีกรรม  ทำการบวงสรวงไหว้วอนอย่างหนัก  เพื่อให้พระเจ้าโปรดปราน  มีการฆ่าวัว  แพะ  แกะ  ม้า(อัศวเมธ) สูงสุดคือมนุษย์(บุรุษเมธ)  เพื่อสังเวยพระเจ้า  ด้วยความประสงค์ที่จะเข้าร่วมอยู่กับพระพรหม  การประกอบพิธีบูชายัญนี้ได้แพร่กระจายไปทั่วทุกหนทุกแห่ง  ตามเทวาลัยและสถานที่อันศักดิ์สิทธิ์เต็มไปด้วยเลือดอันแดงฉาน  มีควันไฟแห่งยัญญกรรมลุกโขมงขึ้นทุกหนแห่ง

                   ในทางสังคม  พวกพราหมณ์ได้แบ่งคนในสังคมเป็น ๓ พวก เรียกว่า วรรณะ  ต่อมาเพื่อความเหมาะสมต่อฐานะ  หน้าที่  และการงาน จึงได้เพิ่มเป็น ๔ วรรณะ คือ

   กษัตริย์                        มีหน้าที่ในการรบและปกครองประเทศ

   พราหมณ์                   มีหน้าที่ในการศึกษาพระคัมภีร์  ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา

                                        มีการบูชายัญ  เป็นต้น

   แพศย์                          มีหน้าที่ในการค้าขาย

   ศูทร                             มีหน้าที่ในทางรับใช้  ทำงานเป็นกรรมกร

                   เดิมทีนั้น  พวกพราหมณ์ได้ยกเอาวรรณะของตนขึ้นเป็นอันดับแรก  เพราะถือว่าวรรณะพราหมณ์เป็นวรรณะบริสุทธิ์และสูงสุดยิ่งกว่าวรรณะอื่นๆ

                   คนทั้ง ๔ วรรณะนี้แยกกันโดยภาระหน้าที่ แต่เมื่อนานเข้าก็กลายเป็นแยกกันโดยสายโลหิตและถือศักดิ์ในวรรณะของตน คบหาสมาคมและสมสู่กันเฉพาะในวรรณะเดียวกันเท่านั้น มีความเชื่อตามคติพราหมณ์ คือถือว่าโลกธาตุทั้งปวงมีเทวดาเป็นผู้สร้าง เป็นผู้ดูแลรักษา ผู้คนทั้งหลายทั้งปวงจึงอ้อนวอนเซ่นสรวงด้วยสิ่งของต่างๆ เพื่อให้ตนประสบผลสำเร็จตามตนปรารถนา จึงมีคติกระทำการทรมานตนต่างๆให้เทวดาพอใจ จะได้ดลบันดาลผลดีให้เกิดแก่ตน[1]

           ความเชื่อในเรื่องความตาย มีคติเชื่ออยู่ ๒ พวกใหญ่ คือ พวกหนึ่ง เห็นว่าตายแล้วเกิดอีกและยังแตกเป็นอีกสองแนว คือ เห็นว่า เกิดเหมือนเดิม และเกิดเป็นอย่างไรก็ได้ อีกพวกหนึ่ง เห็นว่าตายแล้วสูญ ซึ่งแตกเป็นสองเช่นเดียวกัน คือเห็นว่าสูญทั้งหมด กับสูญเพียงบางส่วน

                   ในเรื่องเกี่ยวกับความสุขความทุกข์ มีคติความเชื่อเป็น ๒ ทาง คือ พวกหนึ่งเชื่อว่า ทุกข์สุขเป็นเรื่องเป็นไปเอง คือไม่มีเหตุ อีกพวกหนึ่งเชื่อว่าทุกข์หรือสุขเป็นเรื่องเกิดจากเหตุ อาจเป็นเหตุภายในหรือเหตุภายนอกก็ได้ เหตุภายในคือกรรม คนเชื่อเหตุภายในจึงประกอบกรรมบางอย่าง ละเว้นกรรมบางอย่างตามที่คิดว่ากรรมนั้นจะบันดาลให้เกิดสุขหรือทุกข์ ส่วนกรรมภายนอกเชื่อกันว่าอาจเป็นเทวดาหรือผีสาง คนเชื่อเหตุภายนอกจึงเซ่นสรวงบูชาให้เทวดาหรือผีพอใจ จะได้บันดาลให้เกิดสุขและป้องงกันไม่ให้เกิดทุกข์ เหล่านี้คือความเชื่อของชาวชมพูทวีปสมัยก่อนพุทธกาล[2]

   ๑.๒.๓ สมัยอุปนิษัท (๑๕๐๕๐ ปี ก่อน พ.ศ.)

                         อุปนิษัทเป็นคัมภีร์หนึ่งในศาสนาพราหมณ์ หมายถึงปลายแห่งยุคพระเวท  หรือเวทานตะ  เป็นยุคที่บุคคลแสวงหาความหลุดพ้นจากทุกข์  ด้วยวิธีการต่างๆ ด้วยความรู้ ความคิดที่เป็นปรัชญาหลังจากที่ยุ่งยากสับสนอยู่กับยุคของพราหมณ์มาเป็นเวลานาน ในยุคอุปนิษัทนี้ได้แก้ไขอธิบายวางหลักเกณฑ์ของศาสนาพราหมณ์เสียใหม่  โดยได้อธิบายการเข้าถึงพระพรหมและความเชื่อถือในเรื่องอาตมัน  ซึ่งได้กล่าวไว้อย่างกว้างๆ ว่า สรรพสิ่งทั้งหลายมาจากพระพรหมและรวมอยู่ในพระพรหม  พระพรหมเป็นวิญญาณของโลก  มีอยู่ทั่วไปในทุกสิ่งทุกอย่าง  พระพรหมไม่มีรูปปรากฏ  จึงรู้ไม่ได้ว่าพระพรหมมีรูปลักษณะอย่างไร   ดังนั้น พระพรหมจึงมีรูปไปตามเนรมิตรที่บุคคลคิดสร้างขึ้น  แนวปฏิบัติในยุคอุปนิษัท  ที่มีมาถึงในปัจจุบัน คือ  

         ๑) การปฏิบัติพิธีกรรมทางศาสนา การบวงสรวง  การสวดเวทมนต์ คาถาอาคม  การบูชายัญ เป็นต้น

         ๒) การบำเพ็ญพรต  ได้แก่การบำเพ็ญตบะ  การทรมานร่างกาย เป็นต้น

         ๓) การแสวงหาความหลุดพ้นด้วยปัญญา

         ลัทธิฮินดู เพื่อปรับปรุงหลักการของศาสนาพราหมณ์ขึ้นใหม่  ให้เหมาะสมกับเหตุการณ์  รวมทั้งความต้องการของคนสมัยใหม่  เพื่อไม่ให้เป็นปฏิปักษ์ต่อความเชื่อของประชาชน  คือเป็นประชาธิปไตย โดยนำคำสอนเข้าหาคน ที่ผ่านมานั้นศาสนาพราหมณ์เป็นเผด็จการ  โดยดึงคนเข้าหาคำสอน  คำสอนว่าไว้อย่างไรก็ต้องปฏิบัติตามนั้นอย่างเคร่งครัด  ประชาชนจะวิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้เลย  ลัทธิฮินดูเปรียบเสมือนไม้ใหญ่  มีต้นไม้หลายชนิดขึ้นปนกัน  เป็นต้นไม้ใหญ่บ้างเล็กบ้าง  ที่เป็นเครือเถาวัลย์เกี่ยวพันปกคลุมไม้ใหญ่ก็มี  บางแห่งมีพันธ์ไม้ขึ้นหนาแน่นจนแหวกเข้าไปไม่ได้  ไม่ทราบว่ามีต้นไม้ชนิดใดอยู่ในนั้นบ้าง นอกจากจะเห็นรูปนอกป่าใหญ่  อุปมาฉันใดลัทธิฮินดูก็ฉันนั้น  ศาสนาพราหมณ์จึงเป็นบ่อเกิดของลัทธิฮินดู  ซึ่งได้รับการปรับปรุงแก้ไขตามเหตุปัจจัยภายนอก คือความต้องการของสังคมในเวลานั้น คำสอนของศาสนาฮินดู  บางตำราก็สอนให้นับถือพระเจ้า   บางตำราก็ไม่ได้สอนให้นับถือ  พระเจ้ามีหลายนิกาย  และมีจำนวนพระเจ้ามาก  จนทำให้สับสน  ผู้ที่นับถือต้องเลือกนับถือให้เข้ากับนิสัยของตน   ในสมัยฮินดูนี้เกิดลัทธิ ๓  อย่าง คือ

         ๑)  เกิดลัทธิบูชายัญ  ซึ่งมีมาตั้งแต่อารยันเข้าสู่อินเดีย  เป็นลัทธิผสมผสานของเจ้าของถิ่นเดิม  แต่ในยุคฮินดูได้มีการบูชายัญพิสดารไปกว่าครั้งแรกๆ เช่น เดิมทีบูชายัญ ด้วย แพะ  แกะ  ม้า  แต่เมื่อหาแพะ  แกะ  ม้า ไม่ได้  ก็ปั้นรูปสัตว์เหล่านั้นแทน ถ้าหาเลือดสัตว์ที่บูชายัญไม่ได้  ก็ใช้สีแดงแทนเลือด

         ๒) ลัทธิจารวาก (วัตถุนิยม) เป็นลัทธิที่มีความเชื่อว่า  กามารมณ์และวัตถุน่าใคร่เท่านั้นเป็นสิ่งสูงสุดในชีวิต  ปฏิเสธผลการทำดี  ทำชั่ว   ปฏิเสธนรก  สวรรค์ และนิพพาน โดยเห็นว่าคนเรานั้นเกิดครั้งเดียวตายครั้งเดียว  ลัทธินี้เรียกอีกอย่างว่า กามสุขัลลิกานุโยค

         ๓) ลัทธิทรมานตน  ลัทธินี้มีความเชื่อว่า ร่างกายเป็นบ่อเกิดของกิเลสตัณหา  การบำรุงร่างกายให้มีความแข็งแรงสมบูรณ์  เป็นเหตุให้กิเลสเฟื่องฟูหนาขึ้น  จึงได้คิดหาทางทรมานตนด้วยวิธีการต่างๆ  เพื่อเผาย่างกิเลสตัณหาให้เหือดแห้งไป  เรียกว่าการบำเพ็ญตบะ  ซึ่งแต่แรกคือการบูชายัญ ได้แก่ การอ้อนวอน บวงสรวงพระเจ้า ต่อมาเปลี่ยนไปเป็นการทรมานกาย ดังกล่าว

         นอกจากลัทธิที่กล่าว  ยังมีลัทธิโยคะ คือการบริหารร่างกายและฝึกหัดดวงจิตให้อยู่ในขอบเขตหรืออยู่ในอำนาจ  มีวินัยที่ดีงาม  ฝึกจิตให้เข้มแข็งและบริสุทธิ์  ลัทธิทรมานตนหรือบำเพ็ญตบะ ตลอดการปฏิบัติโยคะ แม้จะมีการปฏิบัติที่แตกต่างกันบ้าง แต่ก็มีจุดมุ่งหมายสูงสุดอย่างเดียวกัน  คือการเข้าไปรวมอยู่กับพระพรหม  ในสมัยอุปนิษัทนี้  มีทฤษฎีแนวคิดเกิดขึ้นเกี่ยวกับเรื่องต่างๆ คือ

                         ๑) เกี่ยวกับความตาย  ซึ่งมี  ๒ แนวทาง คือ (๑) เชื่อว่าตายแล้วเกิดอีก  มีสิ้นสุดก็มี  ไม่มีสิ้นสุดก็มี (๒) เชื่อว่าตายแล้วสูญ

                         ๒) เกี่ยวกับความสุขและความทุกข์ มี  ๒  แนวทาง  (๑) เชื่อว่าความสุขความทุกข์ ไม่มีเหตุปัจจัย  เกิดขึ้นมาเฉยๆ เป็น แนวคิดที่เรียกว่า  อเหตุกทิฏฐิ (๒) เชื่อว่าความสุขความทุกข์  มีเหตุปัจจัย  ไม่ได้เกิดขึ้นมาเฉยๆ  มีผู้สร้างขึ้นมา

                         ๓) เกี่ยวกับความเที่ยง มี ๒ แนวทาง  (๑) เชื่อว่าโลกนี้เที่ยง  ร่างกายวิญญาณเป็นของเที่ยง  ไม่แปรเปลี่ยนเป็นอย่างอื่น (๒) เชื่อว่าโลกนี้มีเที่ยงเป็นบางอย่าง  พระเจ้าเที่ยงแท้เป็นบางองค์ ส่วนมนุษย์ สัตว์ทั้งหลายไม่เที่ยง

                         ๔) เกี่ยวกับที่สุดมี ๔ แนวทาง (๑) เชื่อว่าโลกนี้มีขอบเขต  มีที่สุดแห่งความดับสูญ  (๒) เชื่อว่าโลกนี้ไม่มีขอบเขต ไม่มีที่สิ้นสุดแห่งความดับสูญ (๓) เชื่อว่าโลกนี้มีที่สิ้นสุดเป็นบางอย่าง ยังไม่ตัดสินชี้ขาดว่าสิ้นสุดหรือไม่สิ้นสุด  (๔) ไม่เชื่อทั้งสองแนวทางคือ โลกมีที่สิ้นสุด หรือโลกนี้ไม่มีที่สิ้นสุด

           ๕)  เกี่ยวกับสัญญามี  ๓  แนวคิด  (๑) เชื่อว่าสัตว์ที่ตายแล้วมีสัญญาอยู่ครบถ้วน ทั้งร่างกายและวิญญาณ (๒) เชื่อว่าสัตว์ที่ตายแล้วไม่มีวิญญาณ  มีแต่ร่างกาย  (๓) ปฏิเสธทั้งสองแนวคิด  ที่กล่าวมาก่อนแล้ว เรียกว่าเนวสัญญานาสัญญีสัตว์  (๔) คือจะว่ามีสัญญาก็ไม่ใช่  ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่

                         ๖)  แนวคิดเกี่ยวกับนิพพาน มี ๒  แนวคิด  (๑) เชื่อว่ากามสูตรเป็นนิพพาน  คือกามคุณเป็นความสุขอันยอดเยี่ยม (๒) ความสุขในฌานเป็นนิพพาน  คือความสุขที่ไม่เจือปนด้วยกาม  เป็นดวงจิตที่เป็นวิมุติ  ว่าง  สงบ  เป็นนิพพาน

                         ๗) เกี่ยวกับการสมมติ หรือบัญญัติขึ้น  แนวคิดนี้มีความเชื่อว่าไม่ควรสมมติหรือบัญญัติอะไรขึ้นมาทั้งสิ้น  เพราะโลกนี้ไม่มีอะไรแน่นอน

         การศึกษา     การศึกษาในสมัยพราหมณ์ มีสถานที่การศึกษาอยู่ทั่วไปยังไม่มีกฎระเบียบอะไรมากนักสำนักที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคือ  ที่เมืองตักสิลา (ปัจจุบันอยู่ในปากีสถาน) วิชาที่สอนศึกษาตามธรรมชาติ  กฎเกณฑ์ความเป็นไปของชีวิต ความเป็นไปตามกฎธรรมชาตินี้ให้  ผู้เรียนไปศึกษาค้นคว้าสังเกตเอาเอง  อาจารย์เพียงแต่ให้คำแนะนำ การศึกษาที่เป็นหลักสูตร  เป็นทฤษฎีโดยอาจารย์วางกฎเกณฑ์ไว้  นักศึกษาต้องมารับคำแนะนำจากอาจารย์อยู่สม่ำเสมอ  การศึกษาแบบนี้ไม่เป็นที่นิยมเหมือนแบบแรก

                         การศึกษานั้นพวกพราหมณ์ถือเป็นสำคัญมาก  ผู้ที่ยังไม่สำเร็จการศึกษาจะเข้าพิธีแต่งงานไม่ได้    ส่วนผู้ที่สำเร็จการศึกษาแล้วถือว่า  ได้เกิดสองครั้ง  การเลือกเรียนมีการจัดให้เหมาะสมกับสภาวการณ์ของผู้เรียน   คือผู้เรียนอยู่ในวรรณะพราหมณ์ก็ศึกษาคัมภีร์พระเวท  และคัมภีร์อื่นๆ ที่เกี่ยวกับศาสนา  ผู้ที่เกิดในวรรณะกษัตริย์  ศึกษาเกี่ยวกับการรบ   ยุทธวิธี  การประดิษฐ์อาวุธ  การตั้งรับ   การจู่โจมข้าศึกศัตรู และกลอุบายต่างๆ   ผู้ที่อยู่ในวรรณะแพศย์ศึกษาการค้าขาย  เนื่องจากวรรณะนี้ มักจะวุ่นวายอยู่กับการค้ามาก   จึงให้ความสำคัญกับการศึกษาไม่มากนัก  ส่วนวรรณะศูทร  ไม่มีโอกาสได้รับการศึกษาเลย

         การปกครอง ในสมัยก่อนพุทธกาลส่วนมากจะปกครองกันด้วยสามัคคีธรรม  ประชาชนมีสิทธิในการปกครองด้วย  เมื่อผู้ปกครองประพฤติผิดธรรม  ประชาชนจึงมีสิทธิ์ให้พ้นจากราชสมบัติ  กษัตริย์ในสมัยนั้นยังไม่มีอำนาจมากนัก  ยังเป็นหัวหน้ากลุ่ม  ครั้นต่อมาในสมัยอุปนิษัท และสมัยพุทธกาล  จึงมีการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราช  กษัตริย์มีอำนาจมากขึ้น 

                         การปกครองสมัยก่อนพุทธกาล  ยังไม่มีการกำหนดเขตปกครองเป็นที่แน่นอน  พอมาถึงสมัยพุทธกาล ได้มีการแบ่งเขตการปกครองออกเป็น ๑๖ แคว้น  ดังนี้ แคว้นอังคะ  มีจำปาเป็นเมืองหลวง, แคว้นมคธ           มีราชคฤห์เป็นเมืองหลวง, แคว้นกาสี มีพาราณสีเป็นเมืองหลวง,  แคว้นโกศล มีสาวัตถีเป็นเมืองหลวง, แคว้นวัชชี มีเวสาลีเป็นเมืองหลวง, แคว้นมัลละมีปาวากุสินาราเป็นเมืองหลวง,  แคว้นเจติยะ มีโสตถิวดีเป็นเมืองหลวง, แคว้นกุรุ มีอินทปัตถ์เป็นเมืองหลวง,  แคว้นปัญจาละ มีกัมปิลละเป็นเมืองหลวง,  แคว้นมัจฉะ มีสาถละเป็นเมืองหลวง, แคว้นสุรเสนะ มีมถุราเป็นเมืองหลวง, แคว้นอัสสกะ                มีโปตลิเป็นเมืองหลวง, แคว้นอวันตี มีอุชเชนีเป็นเมืองหลวง,  แคว้นคันธาระ มีตักสิลาเป็นเมืองหลวง, แคว้นกัมโพช            มีทวารกะเป็นเมืองหลวง, แคว้นวังสะ มีโกสัมพีเป็นเมืองหลวง, ยังมีแคว้นเล็กแคว้นน้อยอีก ๕ คือ  สักกะ  โกลิยะ  ภัคคะ  วิเทหะและอังคุตตราปะ รวมเป็น ๒๑ แคว้น โดยมีแคว้น มคธ โกศล วังสะ และอวันตี เป็นมหาอำนาจครั้งพุทธกาล

         ครูทั้ง ๖  ลัทธิทั้ง ๖ นี้   ได้มีมาก่อนพุทธกาลเล็กน้อย  บางคนร่วมสมัยกับพระพุทธเจ้า และเจ้าลัทธิเหล่านี้ได้หายสาปสูญไปแล้ว  เหลือสืบต่อมาถึงปัจจุบันเพียงลัทธินิครนถ์นาฏบุตร หรือศาสนามหาวีระของศาสนาเชน  ลัทธิทั้ง ๖  คือ

                         ๑) ลัทธิปูรณะกัสสปะ  มีคำสอนว่า  วิญญาณนิ่งอยู่เฉยๆ ไม่ทำงานอะไร  ร่างกายต่างหากทำงาน  วิญญาณจึงไม่ต้องรับผิดชอบต่อผลบุญและบาปที่ร่างกายทำไว้  และกล่าวว่าบุญไม่มี บาปไม่มี  ทำดีไม่ได้ดี  ทำชั่วไม่ได้ชั่ว  ทำเองก็ดี ให้ผู้อื่นทำก็ดีย่อมไม่มีผล  สิ่งใดก็ตามที่ทำลงไปแล้ว  ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม เท่ากับว่าไม่ได้ทำ  ไม่มีบุญหรือบาปเกิดขึ้น  ความเห็นนี้พุทธศาสนาเรียกว่า อกิริยทิฏฐิ

                         ๒) ลัทธิมักขลิโคสาล  มีความเห็นว่า สัตว์ทั้งหลายต้องฟื้นคืนชีพมาอีก  ไม่สูญหายไปจากโลกนี้ และมีภพที่ไม่แน่นอน  เปลี่ยนแปลงไม่ว่าภพชั้นต่ำหรือสูง  สัตว์ทั้งหลายไม่มีเหตุไม่มีปัจจัย  การกระทำไม่มี  ผลของการกระทำไม่มี  การกระทำที่เป็นเหตุเศร้าหมองทุกสิ่งทุกอย่างขึ้นอยู่กับความบังเอิญ และโชควาสนา  และอำนาจของดวงดาว  การกระทำทุกอย่างอยู่ภายใต้ชะตากรรม  อำนาจดวงดาวมีอำนาจเหนือสิ่งใดในภิภพ  แม้แต่พระเจ้ายังตกอยู่ภายใต้อำนาจโชคชะตา  คำสอนของลัทธินี้  พระพุทธศาสนาเรียกว่า อเหตุกทิฏฐิ

                         ๓) ลัทธิอชิตเกสกัมพล  ลัทธินี้นุ่งห่มผ้าที่ทำด้วยเส้นผม  เป็นลัทธิหยาบคายน่าเกลียด  มีความคิดรุนแรงคัดค้านลัทธิอื่น  มีคำสอนว่า ทุกสิ่งทุกอย่างไม่มีคนไม่มีสัตว์  ไม่มีมารดา ไม่มีบิดา  ทำอะไรก็สักว่าแต่ทำเท่านั้น  การบูชาบวงสรวงก็ไร้ผล  การเคารพนับถือผู้ควรเคารพก็ไร้ผล  โลกนี้ไม่มี  โลกหน้าไม่มี  สัตว์ตายแล้วสาบสูญ  ไม่มีการเวียนว่ายตายเกิด  เมื่อตายแล้วก็จบที่ป่าช้า  ไม่มีอะไรเกิดอีก  บาปบุญ คุณโทษไม่มี  การทำบุญคือคนโง่  การแสวงหาความสุขจึงเป็นสิ่งที่ควรทำ  ความสุขที่ได้มาจากการปล้นสะดมภ์  ย่องเบา  เผาบ้านสังหารชีวิต ก็ควรทำ  ลัทธินี้  พระพุทธศาสนาเรียกว่า  อุทเฉททิฏฐิ

                         ๔) ลัทธิปกุชกัจจายนะ  มีคำสอนว่าสภาวะที่แยก หรือทำให้แปรเปลี่ยนไป ไม่ได้อีกแล้ว  มี ๗ อย่างคือ  ดิน  น้ำ   ลม  ไฟ  สุข  ทุกข์   วิญญาณ  ไม่ได้เกิดขึ้นจากใครทำหรือใครเนรมิตร  เป็นสภาพที่ยั่งยืน  ตั้งมั่นไม่หวั่นไหว  ไม่แปรปรวน  ไม่อาจให้สุขทุกข์  ผู้ฆ่าผู้ถูกฆ่า  บาปกรรมจาการฆ่าจึงไม่มี  เป็นแต่เพียงสภาวะซึ่งแทรกเข้าไปในวัตถุทั้ง ๗ เท่านั้น  คำสอนของลัทธินี้  ทางพระพุทธศาสนาเรียกว่า  สัสสตทิฏฐิ

                         ๕) ลัทธิสัญชัยเวลัฏฐบุตร มีสัญชัยเวสัฎฐบุตรเป็นเจ้าลัทธิ มีประวัติเกี่ยวข้องกับ พระพุทธศาสนาอยู่บ้าง ในฐานะที่พระอัครสาวกทั้งสอง คือ พระสารีบุตร และพระโมคคัลลานะเคยเป็นสาวกในสำนักนี้มาก่อน แต่ต่อมาได้ไปพบกับพระพุทธเจ้าจนได้เป็นพระอัครสาวกเบื้องขวาและซ้าย จนทำให้สัญชัยปริพพาชกผิดหวังตรอมใจตาย  ลัทธินี้มีแนวคำสอนว่า  ผลของกรรมดี กรรมชั่วไม่มี  จะว่าไม่มีก็ไม่ใช่  มีก็ไม่ใช่  ไม่ใช่ทั้งสองอย่าง  โลกนี้โลกหน้าไม่มี  จะว่าไม่มีก็ไม่ใช่ จะว่ามีก็ไม่ใช่ ไม่มีทั้งสองอย่าง วิญญาณไม่มี จะว่าไม่มีก็ไม่ใช่  จะว่ามีก็ไม่ใช่  ไม่ใช่ทั้งสองอย่าง  ลัทธินี้พูดฟังยาก  เอาแน่นอนอะไรไม่ได้  พูดส่ายไปส่ายมาเหมือนปลาไหล คือพูดซัดไปซัดมา  พูดอย่างคนตาบอด  ไม่สามารถนำตนและผู้อื่นให้เข้าถึงความจริงได้  มีปัญญาทราม โง่เขลา  ไม่กล้าตัดสินใจใดๆ ได้อย่างเด็ดขาด  เพราะไม่รู้จริงตามสภาวะนั้น

                         ๖) นิครนถ์นาฎบุตรหรือศาสดามหาวีระ  แห่งศาสนาเชน  ได้เกิดขึ้นก่อนพุทธศาสนาประมาณ ๔๓  ปี  หลังจากออกบวชและแสวงหาโมกขธรรมอยู่ ๑๒ ปี  จึงได้สำเร็จโมกษะ  รวมเวลาสั่งสอนได้ ๓๐ ปี จึงนิพพาน  เชนมีหลักธรรมที่สำคัญคือความไม่เบียดเบียน(อหิงสา) มีความเชื่อใกล้เคียงกับพระพุทธศาสนา มีจุดประสงค์เพื่อความหลุดพ้นจากสังสารวัฎเหมือนกัน  ลัทธินี้มีแนวคิดว่า สิ่งที่จะนำไปสู่โมกษะได้นั้นคือแก้ว ๓ ดวง ได้แก่ มีความเห็นชอบ  มีความรู้ชอบ  มีความประพฤติชอบ  เท่านั้น  พระเจ้าเป็นเรื่องเหลวไหล  พระเจ้าไม่สามารถบันดาลทุกข์สุขให้ใครได้ ทุกข์สุขสืบเนื่องมาจากกรรม  การอ้อนวอนก็เป็นสิ่งไร้สาระ  ไม่มีประโยชน์  ศาสนาเชนถือว่า  การบำเพ็ญตนให้ลำบาก หรืออัตตกิลมถานุโยค เป็นทางนำไปสู่การบรรลุธรรมคือโมกษะ  ผู้ใดฝึกฝนตนดีแล้วย่อมไม่หวั่นไหวต่อทุกสิ่งทุกอย่าง ที่เกิดขึ้นกับตัวเองทั้งทางกาย  วาจา  และใจ  ตัวท่านศาสดา  คือมหาวีระเองได้บำเพ็ญขันติธรรมนาน  ไม่ขยับเขยื้อนจากที่จนเถาวัลย์เลื้อยขึ้นพันรอบกายตนเอง  นักบวชเชนต้องปฏิบัติตามศีล  ๕  ข้อ คือ   ๑. เว้นจากการฆ่าสิ่งที่มีชีวิตรวมทั้งพืช  ๒. เว้นจากการพูดเท็จ   ๓. เว้นจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้ ๔. เว้นจากการประพฤติผิดในกาม ๕. ไม่ยินดีในกามวัตถุ 

                         ส่วนศาสนิกมีข้อปฏิบัติอยู่  ๑๒  ข้อ (๑) เว้นจากการทำลายสิ่งที่มีชีวิต       (๒)เว้นจากการพูดมุสา (๓) เว้นจาการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้             (๔)เว้นจากการประพฤติผิดในกาม  (๕) มีความพอใจ ปรารถนาในสิ่งที่ตนมีอยู่ (๖) เว้นจากอารมณ์ที่ทำให้เกิดความชั่ว  (๗) จักประมาณในการใช้สอยเครื่องอุปโภคบริโภค            (๘) เว้นจากทางที่ก่อให้เกิดอาชญาให้ร้าย (๙) ไม่ออกพ้นเขตไม่ว่าทิศใดทิศหนึ่งยามบำเพ็ญพรต (๑๐) บำเพ็ญพรตทุกเทศกาล (๑๑) อยู่จำอุโบสถศีล  (๑๒) ให้ทานแก่พระและต้อนรับแขกผู้มาเยือนหลังพุทธปรินิพพานได้ ๒๔๐ ปี  ศาสนาเชนก็แตกแยกเป็น ๒ นิกาย คือ

         ๑) นิกายนิฆัมพร  เป็นนิกายเดิมไม่เปลี่ยนแปลง  คือไม่นุ่งผ้า  เปลือยกายเหมือนเดิมอยู่  ปลีกวิเวก

         ๒) นิกายเสวตัมพร เป็นนิกายที่นุ่งขาวห่มขาว ไว้ผมยาวแต่งตัวสะอาด  คบหาสมาคมกับผู้คนมากขึ้น [3]

 


[1] ล้อม  เพ็งแก้ว,คู่มือพุทธประวัติ,กรุงเทพมหานคร:โรงพิมพ์เดือนตุลา ๒๕๕๐ หน้า๒๕

[2] เรื่องเดียวกัน อ้างแล้วในหน้า ๒๕

          [3] ดาวสยาม,  พระมหา,    ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาในอินเดีย,  กรุงเทพมหานคร : บริษัทเคล็ดไทย จำกัด,  ๒๕๔๖.หน้า ๑๕.

คำสำคัญ (Tags): #มหาจุฬาฯ
หมายเลขบันทึก: 437576เขียนเมื่อ 29 เมษายน 2011 21:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:42 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

Thank you for this very detailed description.

I am waiting for the next chapter/blog ;-)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท