จับความจากยอดครูฝรั่งนำมาฝากครูเพื่อศิษย์ : ๕. ถ้อยคำที่ก้องอยู่ในหูเด็ก


เหตุการณ์นี้ประทับใจครู เลาแอนน์ ไม่รู้ลืม และสอนว่า คำพูดเชิงบวกต่อเด็กแต่ละคนมีผลต่อการสร้างพลังในชีวิตของเด็กมากแค่ไหน และในทางตรงกันข้าม คำพูดเชิงลบเหยียดหยันเด็ก จะทำลายชีวิตเด็กได้มากเช่นกัน

          จับความจาก Teaching Outside the Box : How to Grab Your Students by Their Brains เขียนโดย LouAnne Johnson

 

ถ้อยคำที่ก้องอยู่ในหูศิษย์

 

          ที่จริงบันทึกนี้ผมถอดความมาจากหัวข้อในหนังสือว่า There is No Such Thing as A Casual Remark to A Child    ซึ่งหมายความว่าอย่าคิดว่าคำพูดที่ครูพูดแบบไม่ตั้งใจ จะเป็นเรื่องเล็กสำหรับศิษย์  เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องเล่าเช่นเดียวกันกับเรื่องเล่าในตอนที่แล้ว

          ครูเลาแอนน์ เป็นนักสังเกต นักเก็บเอาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตการเป็นครู ในปฏิสัมพันธ์ระหว่างตนกับศิษย์ เอามาตีความหาความหมาย เพื่อการเรียนรู้ของตน  แล้วรวบรวมเอามาเล่าในหนังสือเล่มนี้

          วันหนึ่งหลังจากการแข่งขันกีฬา ดารานักกีฬาคุยโม้กันโขมงในกลุ่มตนและสาวๆ ในช่วงเวลาก่อนเริ่มชั้นเรียน   นักกีฬาเหล่านี้คือดาวดวงเด่น  และข้างๆ กลุ่มดารา มีนักเรียนรูปร่างผอมแห้ง เงียบขรึมไร้ความเด่นดังชื่อ ซีน นั่งฟังอย่างเงื่องหงอย  ครู เลาแอนน์ เดินไปข้างๆ โต๊ะที่ ซีน นั่ง และเอ่ยกับ พอล ผู้เป็นดารานักกีฬา ว่า “ครูภูมิใจในความสามารถของเธอ พอล”  และครูเชื่อว่าเธอจะออกไปประสบความสำเร็จหลังออกจากโรงเรียนด้วย   ครูไม่อยากเห็นลูกศิษย์ที่ชีวิตขึ้นสู่จุดสูงสุดตอนอายุ ๑๖  แล้วหลังจากนั้นชีวิตก็ตกต่ำหลังออกจากโรงเรียนมัธยม

          พอลตอบว่า “สบายมากครับ แมวมองหานักกีฬากำลังมาติดต่อผมแล้วครับ”   ครู เลาแอนน์ พูดเบาๆ กับ ซีน ผู้กำลังจ้องไปที่พอลว่า   “ครูเชื่อว่าเธอจะเป็นคนที่ชีวิตขึ้นสู่จุดสูงสุดในช่วงเวลาหลังๆ ของชีวิต”  ซีน มีใบหน้าแช่มชื่นขึ้นทันที ขยับตัวนั่งตรง และตอบว่า “ผมก็คิดว่าอย่างนั้นครับ”  

          ครูเลาแอนน์ รู้สึกภูมิใจที่ได้ช่วยยกระดับความมั่นใจตนเองให้แก่ ซีน   แล้วเดินไปอีกทางหนึ่งของห้อง   และผ่านโต๊ะของเด็กหญิงขี้อายที่สุดในชั้น ชื่อ มาร์ซี่   ครู เลาแอนน์ หยุดมองหน้า มาร์ซี่ และพูดว่า “เธอก็เหมือนกัน เธอจะเป็น late bloomer  แต่เธอจะเป็นดอกไม้ดอกโต ที่งดงามมาก”   มีผลให้ มาร์ซี่ อายม้วนต้วน

          แล้วครู เลาแอนน์ ก็ลืมเหตุการณ์นั้น

          จนวันหนึ่งหลังจากนั้นหลายเดือน ในงาน open house  ในตอนจะจบงาน  แม่ของ ซีน มาหาครู เลาแอนน์ ที่ห้อง  เมื่อครูยื่นมือให้จับ แม่ของ ซีน จับมือของครู เลาแอนน์ ด้วยมือทั้งสองและบีบแน่น พร้อมทั้งกล่าวว่า “ขอขอบคุณ ต่อคำพูดที่ครูพูดกับ ซีน   ซีนเล่าให้ฟังว่า ครูพูดว่า ตัวเขาจะประสบความสำเร็จในช่วงหลังของชีวิต   เขาไม่ควรกังวลว่าไม่เป็นดาวกีฬา หรือเด่นดังในโรงเรียนในเวลานี้   ครูน่าจะได้เห็นเขายิ้มตอนที่เขาเล่าให้แม่ฟัง  ตอนนี้ชีวิตของเขาเปลี่ยนไป   ครูได้ช่วยเปลี่ยนชีวิตของเขา   ฉันไม่รู้ว่าจะขอบคุณครูได้อย่างไร จึงจะสมกับที่ครูได้ช่วย ซีน”

          ครู เลาแอนน์ ได้แต่ตลึง จนแม่ของ ซีน ลาไป  ไม่นึกว่าคำพูดประโยคเดียวจะมีพลังถึงขนาดนั้น  และเหตุการณ์นั้นจะเป็นพลังใจให้คนเป็นครูได้หลายเดือน  แต่ยังไม่หมด   ก่อนที่ครู เลาแอนน์ จะออกจากห้อง   แม่ของ มาร์ซี่ก็มา มองผ่านบานประตู   เมื่อเห็นแม่ของ มาร์ซี่ เต็มตา ก็รู้ว่าแม่ลูกคู่นี้เป็นพิมพ์เดียวกันในความขี้อาย 

          “ฉันเพียงต้องการมาขอบคุณที่ครูพูดกับ มาร์ซี่ ว่าเธอเป็นคนชนิด ‘บานช้า’  แต่จะเป็น ‘ดอกไม้’ ที่งดงามมากในวันหนึ่ง   มาร์ซี่ ร้องไห้ เมื่อเธอเล่าให้แม่ฟัง  และฉันก็ร้องไห้ด้วย  เพราะเรากังวลว่าต่อไปเมื่อเธอโตขึ้นเธอจะมีชีวิตที่ดีได้อย่างไร   ตอนนี้เราไม่กังวลแล้ว  เพราะเธอได้กลายเป็นเด็กที่มีความสุข”

          ครู เลาแอนน์ ไม่กล้าเอ่ยคำพูด เพราะเกรงว่าหากพูดออกไป ครูก็จะร้องไห้ด้วย   จนแม่ของ มาร์ซี่ ลากลับไป

          เหตุการณ์นี้ประทับใจครู เลาแอนน์ ไม่รู้ลืม  และสอนว่า คำพูดเชิงบวกต่อเด็กแต่ละคนมีผลต่อการสร้างพลังในชีวิตของเด็กมากแค่ไหน  และในทางตรงกันข้าม คำพูดเชิงลบเหยียดหยันเด็ก จะทำลายชีวิตเด็กได้มากเช่นกัน
 
          ครู เลาแอนน์ รีบบันทึกไว้ว่า “จงระมัดระวังคำพูด  คำพูดของครูอาจก้องอยู่ในหูเด็กไปชั่วชีวิต”

 

          ถ้อยคำของครูคนหนึ่งที่ยังก้องอยู่ในหูทั้งสองของผม  คือคำของครูใหญ่ โรงเรียนชุมพร “ศรียาภัย” (ชื่อในตอนนั้น) ในปี พ.ศ. ๒๔๙๗ ในชั้นเรียนวิชาศีลธรรม ชั้น ม. ๓  ครูคล่อง บุญเอี่ยม เฉลยข้อสอบ  และยกคำตอบของผม ซึ่งตอบไม่ตรงกับคำเฉลย  แต่ครูบอกว่าคำตอบของผมแสดงว่าผมเข้าใจลึกไปอีกชั้นหนึ่ง   เป็นคำชมที่ก้องอยู่ในหูของผมมาตลอดชีวิต  โดยผมไม่เชื่อที่ครูบอก  และคิดว่าครูมีฉันทาคติว่าผมเป็นหลานของเพื่อนของท่านที่ได้ชื่อว่าเป็นอัจฉริยะในหมู่เพื่อนและครู  คือนายยี่เก้ย หรือนายธรรมทาส พานิช  ท่านคงเชื่อว่าเมื่อลุงมีสมองดี หลานจะต้องมีสมองดีด้วย  ซึ่งผมไม่เชื่อ  แต่คำชมนี้ก็ให้ความชุ่มชื่นแก่ใจผมอย่างยิ่ง  และกลับไปเล่าให้พ่อแม่ฟังเหมือนศิษย์ทั้งสองของครู เลาแอนน์     
 

 

วิจารณ์ พานิช
๒๐ มี.ค. ๕๔
       

หมายเลขบันทึก: 437049เขียนเมื่อ 26 เมษายน 2011 09:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 เมษายน 2014 12:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ขอบคุณค่ะ..มีคำก้องหูอยู่ที่บันทึกนี้ค่ะ..

http://gotoknow.org/blog/nongnarts/436503

I do agree and hope this article will go to all teachers in this country.

เห็นด้วยอย่างยิ่งค่ะ

คำพูดของครู มีผลต่อชีวิตภายหน้าของเด็ก มันมีอิทธิพลพอ ๆ กับคำพูดของพ่อแม่ทีเดียว

แต่ต้องมาจากจิตใจบริสุทธิ์ของครูนะคะ ถึงจะมีพลัง...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท