ธรรมหรรษา
รศ.ดร. พระมหา หรรษา นิธิบุณยากร

ความตาย: พระพุทธเจ้าสอน สตีฟ จอบส์ปฏิบัติ


     ในขณะที่กลุ่มคนจำนวนมากในโลกนี้  กำลังประหวั่นพรั่นพรึง หรือหวาดกลัวต่อ “ความตาย” จากมหันตภัยทางธรรมชาติ หรือวิกฤติการณ์อื่นๆ เพราะอาจจะไม่ประจักษ์ชัดว่า “ความตายคืออะไร”  "จะตายเมื่อใด" และ “ตายแล้วจะไปที่ไหน”  อย่างไรก็ตาม  กลุ่มคนบางกลุ่มมิได้ใส่ใจต่อคำถามเหล่านี้  ในทางกลับกัน ได้นำเอา “ความตาย” มาเป็นเครื่องมือในการสร้างแรงจูงใจ (Motivation)  และแรงบันดาลใจ (Inspiration) ที่สำคัญในต่อการ “เปลี่ยนแปลงโลก” ไม่ว่าจะเป็น “โลกภายใน” และ  “โลกเทคโนโลยี”   บุคคลที่สามารถนำความความตายมาสร้างแรงบันดาลใจเพื่อเปลี่ยนโลกภายในคือ “พระพุทธเจ้า” ส่วนบุคคลที่นำความตายมาสร้างความก้าวหน้าให้แก่ “โลกเทคโนโลยี” คือ “สตีเฟน พอล จอบส์” (Steven Paul Jobs)

พระพุทธเจ้ากับความตาย 

     เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะทรงอยู่ในวัยเยาว์ พระเจ้าสุทโธทนะพระราชบิดาได้ทรงพยายามทุกวิถีทางให้เจ้าชายสิทธัตถะ อยู่ครองราชย์สืบต่อจากพระองค์โดยการผูกมัดด้วยความสุขในทางโลกเป็นสำคัญ มุ่งให้เจ้าชายสิทธัตถะพบเห็นแต่สิ่งสวยงาม เช่น การสร้างปราสาทให้ประทับทั้ง 3 ฤดู จัดให้ทรงอภิเษกสมรสแต่ด้วยเหตุที่เจ้าชายสิทธัตถะทรงเป็นนักคิดมาตั้งแต่วัยเยาว์  จึงไม่อาจปิดกั้นความคิดของพระองค์ได้  วันหนึ่งเจ้าชายสิทธัตถะได้เสด็จประพาสนคร พระองค์ได้ทรงทอดพระเนตรเห็น คนแก่ คนเจ็บ คนตาย และสมณะ (นักบวช) เรียกว่า เทวทูต 4 ก็ทรงรู้สึกสลดหดหู่ในพระทัยยิ่งนัก  จนทำให้พระองค์ตั้งคำถามต่อประเด็นดังกล่าว

     “แรงจูงใจ และแรงบันดาลใจ” ได้เกิดขึ้นแก่เจ้าชายสิทธัตถะ เมื่อทรงทอดพระเนตรเห็นเทวทูต 4 ดังกล่าวนั้น ถือได้ว่าเป็นคำเตือนหรือสัญญาณเตือนมาจากธรรมชาติที่เป็นลักษณะความเปลี่ยนแปลงของชีวิตตามกฎไตรลักษณ์ กล่าวคือ สรรพสิ่งไม่เที่ยงแท้แน่นอน (อนิจจัง)  ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ (ทุกขัง) และไม่สามารถบังคับให้เป็นไปตามความต้องการของเรา (อนัตตา)   จนทำให้พระองค์ตัดสินพระทัยออกผนวชเพื่อแสวงหาความจริงสูงสุดคือ “โมกขธรรม หรือพระนิพพาน” อันภาวะที่ไม่มีการเกิด  การแก่ การเจ็บ และการตาย และสุดท้ายแล้ว พระองค์ก็ทรงค้นพบความจริงดังกล่าว

สตีเฟน จอบส์กับความตาย 

     สตีพ จอบส์ ได้กล่าวปาฐกถาในพิธีสำเร็จการศึกษาของบัณฑิตมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ปี ค.ศ. 2005   และได้กล่าวถึงประสบการณ์ชีวิตที่เข้าใกล้กับความตายว่า “เมื่อปีที่แล้ว (2004)  ผมตรวจสุขภาพพบว่าเป็นมะเร็ง ผมเข้ารับการตรวจประมาณ  7 โมงครึ่ง และผลออกมาชัดเจนว่ามีเนื้อร้ายที่ตับอ่อนของผม ผมไม่รู้แม้กระทั่งว่าตับอ่อนคืออะไร คุณหมอบอกกับผมว่ามะเร็งชนิดนี้รักษาไม่หาย และผมจะอยู่ได้ไม่เกินสามถึงหกเดือน คุณหมอแนะนำว่าให้กลับบ้านแล้วสะสางเรื่องส่วนตัวให้เรียบร้อย เหมือนเป็นสัญญาณให้ผมเตรียมตัวตาย มันดูเหมือนจะให้ผมเล่าเรื่องราวต่างๆ ที่ผมคิดไว้สำหรับ 10 ปีจากนี้ไปให้เด็กๆ ฟังให้หมดภายในสองสามเดือน มันเหมือนว่าให้เตรียมทุกอย่างให้พร้อมสำหรับครอบครัวของคุณ มันเหมือนให้เตรียมที่จะลาจากไป"

     “ผมครุ่นคิดแต่เรื่องผลการตรวจตลอดทั้งวัน ในช่วงเย็นวันนั้น ผมต้องตัดชิ้นเนื้อไปตรวจ โดยการสอดกล้องเข้าทางปาก ผ่านคอไปยังกระเพาะและลำไส้ จากนั้นก็ใช้เข็มเจาะเข้าที่ตับอ่อนเพื่อเอาตัวอย่างเนื้อเยื่อจากเนื้อร้าย นั้น ผมรู้สึกสงบนิ่ง แต่ภรรยาของผมที่อยู่ด้วยเล่าให้ฟังว่าเมื่อคุณหมอส่องกล้องตรวจดูเนื้อ เยื่อนั้นแล้วก็เริ่มวิตกกังวล เพราะมันเป็นมะเร็งตับอ่อนที่ไม่แน่ใจว่าจะรักษาได้ด้วยการผ่าตัด ในที่สุดผมก็เข้ารับการผ่าตัด และตอนนี้ผมก็สบายดี

     จากประสบการณ์ดังกล่าว เขาได้สรุปว่า “มันเป็นช่วงเวลาที่ผมเข้าใกล้ความตายที่สุด และผมก็หวังว่าจะไม่ใกล้ไปกว่านี้อีกสำหรับอีกสิบยี่สิบปีข้างหน้า เมื่อผ่านช่วงนั้นมาได้ ผมก็นำมาเล่าให้คุณฟังได้เต็มปาก มันไม่เพียงเป็นประโยชน์ มันเป็นเรื่องของหลักคิดดีๆ อีกด้วยว่า ไม่มีใครอยากตาย แม้กระทั่งคนที่อยากไปสวรรค์ก็ยังไม่อยากตายเพื่อจะไปที่นั่น อย่างไรก็ดี ความตายเป็นจุดหมายปลายทางที่เรามีร่วมกัน ไม่มีใครหลีกเลี่ยงไปได้ มันเป็นเรื่องของธรรมชาติ เพราะความตายนั้นเรียกได้ว่าเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่วิเศษสุดของชีวิต มันเป็นเหมือนเครื่องมือเปลี่ยนชีวิต มันสะสางคนรุ่นเก่าเพื่อเปิดทางให้คนรุ่นใหม่ ขณะนี้พวกคุณนั่นเองคือคนรุ่นใหม่ แต่วันหนึ่งไม่นานจากนี้ไป คุณก็จะค่อยๆ กลายเป็นคนรุ่นเก่าที่จะต้องถูกสะสาง ขออภัยถ้ามันดูเหมือนหนังชีวิตไปหน่อย แต่มันก็เป็นเรื่องจริง

มรณานุสติ: จากพระพุทธเจ้าสู่สตีพ จอบส์

     รายงานจากหนังสือพิมพ์แทบลอยด์ National Enquirer ได้เผยแพร่ภาพถ่ายล่าสุดของ Steve Jobs อัจฉริยบุรุษผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของ iMac, iPod, iPhone และiPad พร้อมทั้งข่าวที่ทำให้หลายคนทั่วโลกต้องรู้สึกช็อค โดยเฉพาะพนักงานในบริษัท Apple นั่นก็คือ อาการป่วยมะเร็งที่ตับอ่อนอาจจะทำให้จอบส์มีชีวิตอยู่ได้แค่ 6 สัปดาห์เท่านั้น (http://www.siampod.com/2011/02/23/lastest-vdo-steve-jobs/) ถึงกระนั้น ความตายที่สตีพ จอบส์กำลังเผชิญหน้าอยู่อาจจะไม่ใช่เรื่องที่สร้างความทุกข์ทรมานให้แก่การดำรงชีวิตของเขามากมายนัก เพราะครั้งหนึ่ง สตีพ จอบส์ได้เคยเรียนรู้บทเรียนดังกล่าว และรับอิทธิพลเรื่อง “ความตาย” จากพระพุทธศาสนานิกายเซ็นในประเทศสหรัฐอเมริกา

     ในช่วงเรียนมหาวิทยาลัย จอบส์เริ่มหันมาศึกษาพุทธศาสนานิกายเซน เขาสนใจอ่านวรรณกรรมทางพุทธศาสนาหลายเล่ม และหนังสือที่มีอิทธิพล สูงสุดกับเขาคือ Zen Mind, Beginner’s Mind  ซึ่งเขียนโดยชุนริว ซูซุกิ กล่าวกันว่า หลังการศึกษาหลักธรรมของเซน จอบส์เริ่มมีความเชื่อว่า การหยั่งรู้โดยสัญชาตญาณนั้น ก่อให้เกิดปัญญา จึงเริ่มฝึกสมาธิในห้องนอนแคบๆ ที่แชร์ร่วมกับ “แดเนียล คอตคี” เพื่อนสนิท ท่ามกลางกลิ่นธูป    และเริ่มต้นศึกษาพุทธศาสนานิกายเซนอย่างจริงจังกับ “โกบุน ชิโนะ โอโตโกวะ” พระอาจารย์ชาวญี่ปุ่นที่ศูนย์เซน ลอส อัลทอส (ซึ่งภายหลัง เมื่อจอบส์เข้าพิธีแต่งงานแบบเซน กับ “ลอรีน เพาเวล”  ในวันที่ 18 มีนาคม 1991 พระอาจารย์โอโตโกวะได้มาเป็นประธานในพิธี)

     การที่สตีพ จอบส์ได้อ่านหนังสือและเรียนรู้เรื่องราวเหล่านี้จากหนังสือเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา รวมไปถึงการนำหลักการพระพุทธศาสนามาประยุกต์ใช้การใช้ชีวิตในโลกธุรกิจอย่างจริงจังนั้น ทำให้วิธีคิดและการแสดงออกของเขาสอดรับกับแงุ่มุมทางพระพุทธศาสนา  ดังจะเห็นได้จากการที่เขาได้กล่าวถึงประสบการณ์เกี่ยวกับ "ความตาย" ในพิธีพิธีสำเร็จการศึกษาของบัณฑิตมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ปี ค.ศ. 2005 ว่า เมื่อผมอายุราว 17 ผมได้อ่านประโยคเด็ดในทำนองว่า ‘ถ้าคุณใช้ชีวิต ราวกับว่าแต่ละวันนั้นเป็นวันสุดท้ายของชีวิต วันหนึ่งคุณจะสมหวัง’  ผมประทับใจมาตลอด 33 ปี ทุกเช้าผมจะมองกระจกและถามตัวองว่า “ถ้าวันนี้เป็นวันสุดท้าย ผมอยากทำอะไร และวันนี้ผมจะทำอะไร ?” และเมื่อใดที่คำตอบกลับมาว่า ไม่อยากทำอะไร หลายๆ วันเข้า คุณต้องรู้แล้วว่าคุณต้องเปลี่ยนแปลงบางอย่างในชีวิตแล้ว”

     ในพิธีเดียวกันนี้ เขาได้ชี้ให้เห็นถึงคุณูปการของความตายเอาไว้อย่างน่าสนใจว่า “การใช้มรณานุสติเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยให้ผมตัดสินใจเรื่อง ใหญ่ของชีวิต เพราะสิ่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นความคาดหวังจากผู้คนทั้งหลาย เกียรติยศชื่อเสียงทั้งปวง ความกลัวที่จะเสียหน้าหรือกลัวที่จะล้มเหลว มันก็จะหายไปเมื่อเราตาย เหลือไว้เพียงเรื่องที่สำคัญจริงๆ มรณานุสตินี่เองที่จะช่วยให้คุณหลบหลีกกับดักทางความคิดที่ว่าคุณไม่อยากจะ สูญเสียอะไร จริงแล้วคุณไม่มีอะไรติดตัวเลย จึงไม่มีเหตุผลอะไรที่คุณจะไม่ทำอะไรตามที่ใจคุณต้องการ

ความตายคือจุดเปลี่ยนของเจ้าชายสิทธัตถะ และสตีพ จอบส์

     จะเห็นว่า การเห็นหนึ่งในเทวทูตคือ “ความตาย” ซึ่งเป็นกฎธรรมชาติที่เดินทางมาทักทายและให้สติแก่เจ้าชายสิทธัตถะนั้นเป็นจุดเปลี่ยนในชีวิตของเจ้าชายได้พบกับคำว่า “พุทธะ”  อันนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงโลกภายในจนได้รับการเรียนขานพระนามว่า “พระพุทธเจ้า”  ในที่สุด

     การมีสติตระหนักรู้ “ความตาย” ทุกเวลาและนาทีของสตีพ จอบส์ ทำให้เขาเข้าใจความจริงว่า “ชีวิตกำลังเดินหน้าไปสู่ปากประตูของความตายอยู่ทุกวินาที”  ฉะนั้นการถาม และเตือนตัวเองอยู่เนืองๆ ทำชาวโลกได้รู้จักกับยี่ห้อ (Brand) สินค้าชื่อ  “Apple”  ซึ่งเป็นที่มา  “iMac iPod iPhone และiPad”

     การตระหนักรู้ “ความตาย” นำไปสู่การค้นพบความสว่างไสวทางจิตวิญญาณ  และนำไปสู่การค้นพบ “โลกเทคโนโลยี” ที่ยิ่งใหญ่   การเข้าใจสัจธรรมความตายของสตีพ จอบส์ นำไปสู่การค้นพบนวัตกรรมใหม่ๆ  แล้วนำวัฒนธรรมใหม่ๆ มาตอบสนองความต้องการขั้นพื้นฐานของเพื่อนมนุษย์  หากมองในส่วนดี มีสิ่งดีๆ มากมายที่สตีพ จอบส์มอบให้แก่โลกใบนี้ แต่มนุษย์มักจะเลือกเสพในสิ่งที่บำรุงบำเรอกิเลสทางอารมณ์  (Emotion) มากกว่า  การใช้ได้จริง หรือคุณค่าแท้ของสิ่งที่ได้สร้างมา (Function)

ความตายคือพลังทะยานแห่งชีวิต

     ถ้าบริษัทหรือองค์กรของเรากำลังจะตาย หรือล่มสลาย  ถ้ามหาวิทยาลัยของเราของเรากำลังจะตายเพราะขาดความน่าเชื่อถือ  และถ้าเรากำลังจะตายจากโลกนี้ หรือเรากำลังเผชิญหน้ากับความตายทุกวินาที คำถามแรกที่เราจะต้องตอบตัวเองคือ “สิ่งแรกที่เราอยากจะทำมากที่สุดคืออะไร”  ขอเพียงแค่การตอบแค่คำถามแรกให้ชัดเท่านั้น คำตอบที่สอง คำตอบที่สามจะตามมาหลังจากที่เราสามารถตอบสิ่งแรกให้ชัดเจนได้

     การอัดฉีดพลังแห่งความตายเข้าไปในจิตใจนั้นจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเซลล์ประสาทให้ตื่นตัว  และมุมมองต่อชีวิต การทำงาน การทำธุรกิจจะเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง  ดังจะเห็นได้จากบทสรุปของบุคคลต้นแบบที่ได้นำเสนอในเบื้องต้นว่า การค้นพบความตาย  การเข้าใจและตระหนักรู้ในความตายทุกวินาทีนั้น ทำให้เจ้าชายสิทธัตถะเปลี่ยนแปลง “โลกทางจิต” ไปสู่ความเป็น “พระพุทธเจ้า  และเมื่อสตีพ จอบส์ได้เรียนรู้ และนำหลักการนี้มาปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้เขาได้ค้นพบสัจธรรมเกี่ยวกับความตาย  ซึ่งการค้นพบสัจธรรมของความตายดังกล่าว ทำให้เขาค้นพบ “iMac iPod  iPhone และ iPad” ในที่สุด 


     ถึงกระนั้น พระพุทธเจ้าได้ตรัสเตือนมนุษยชาติก่อนปรินิพพาน (ตาย) ว่า “สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมสูญไปเป็นธรรมดา ขอท่านทั้งหลายจงดำเนินชีวิตด้วยความไม่ประมาทเถิด”   ความจริงคือ เราเองก็ไม่ทราบว่า เมื่อใดเราจะเดินทางไปสู่ความเสื่อม หรือจุดจบของชีวิต  ด้วยเหตุนี้ เราจึงควรนำ "จุดจบของชีวิต" มาพัฒนาให้เป็น "จุดเริ่มต้นของชีวิต" โดยการเตือนตัวเองตามที่พระองค์จึงเตือนเราไว้ในภัทเทกรัตตคาถาว่า "ความเพียรเป็นสิ่งที่ต้องรีบทำตั้งแต่วันนี้ (หรือแม้กระทั่งในทุกวินาทีของลมหายใจ), ใครเล่าจะรู้ว่า เราอาจจะตายในวันพรุ่งนี้ก็ได้"

     คำเตือนดังกล่าวได้ส่งต่อมาถึงสตีพ จอบส์จนทำให้เขาได้ตกผลึก และรับรู้บทเรียนที่ทรงคุณค่าเกี่ยวกับ “ความตาย” จนเป็นที่มาของประโยคทองที่ว่า “คุณมีเวลาจำกัด ดังนั้นอย่าเสียเวลาไปกับการใช้ชีวิตแบบคนอื่น อย่าตกหลุมลัทธิความเชื่อที่ว่าต้องใช้ชีวิตอย่างที่ผู้คนเขาคิดกันว่าควรจะ เป็น อย่าปล่อยให้ความคิดของคนอื่นเข้ามารบกวนเสียงจากใจของคุณ (Inner Voice) และที่สำคัญที่สุด คุณต้องมีความกล้าที่จะทำตามหัวใจและการหยั่งรู้ (Intuition) ของคุณ ที่จะช่วยให้คุณบรรลุสิ่งที่คุณต้องการจะเป็นจริงๆ แล้วก็ปล่อยให้เรื่องอื่นๆ นั้นเป็นเรื่องรองไป” และเพื่อให้บรรลุความฝันและแรงบันดาลใจดังกล่าว "จงกระหายที่จะเรียนรู้ และจงทำตนเหมือนคนโง่" (Stay Hungry, Stay Foolish )

     จะเห็นว่า การมีสติระลึกถึงความตายทุกวินาทีแห่งลมหายใจนั้น จะทำให้มนุษย์ตื่นรู้ ใส่ใจ และเพียรสร้างสิ่งต่างๆ ทำสิ่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นความดี ความงาม และความสุข รวมไปถึงนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ เอาไว้เป็น "ธรรมเจดีย์" แก่ชีวิตและโลกของเรา

 

พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส
24 เมษายน 2554

หมายเลขบันทึก: 436840เขียนเมื่อ 24 เมษายน 2011 19:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (31)

กราบนมัสการเจ้าค่ะ

อ่านบันทึกนี้แล้วเพิ่งรู้สึกว่า บางที "ความตาย" ก็ทำให้เกิดพลังในการสร้างสรรค์ได้เหมือนกัน

สิ่งที่หลายคนมองว่าเป็นจุดจบ กลับกลายเป็นจุดเริ่มต้นได้อย่างไม่น่าเชื่อนะเจ้าคะ

หรือบางที จุดเริ่มต้นและจุดจบอาจจะเป็นจุดจุดเดียวกัน

กราบขอบพระคุณสำหรับบันทึกดีๆ ที่ช่วยเตือนสติเจ้าค่ะ ^^

การค้นพบ “iPod iPad และ iPhone” คงไม่ค่อยเกี่ยวเท่าไรนะครับ

ถ้าบอกว่า เขาสามารถสัมผัสกับปากประตูความตายได้อย่างมีสติ รู้เท่าทัน จากการใช้มรณานุสสติ หรือ กายคตาสติ

แล้วทำให้กลับรอด และมีพลังมาสร้างสรรงาน จนทำให้เกิด iMac, iPod, iPhone และล่าสุดคือ iPad น่าจะดีกว่า

เท่าที่ได้รู้มา สตีพ จอบส์ ทำงานตามหลักอิทธิบาท ๔ (เขารู้รึเปล่าไม่ทราบ แต่ผมสรุปเอาเองว่ามันเข้ากัน)

คือ เขาสร้าง Apple มาด้วยความรัก หรือทำในสิ่งที่รัก (ฉันทะ) ฝึกทักษะให้เชี่ยวชาญ (วิริยะ) ฝักใฝ่เพื่อพัฒนาการ (จิตตะ)

แบ่งปันสิ่งดีสู่สังคม (วิมังสา)

อีกอย่าง เวลาที่เขานำเสนองานต่างๆ นอกจากยึดหลัก กฏแห่ง ๓ แล้ว ยังมีหลักการที่ใกล้เคียงกับหลักอริยสัจ ๔ กล่าวคือ

การเปิดตัวผู้ร้าย หรือปัญหาต่างๆ (ทุกข์) บอกว่าสิ่งนั้นเป็นปัญหาเพราะอะไร (สมุทัย) เปิดตัวพระเอกหรือผลิตภัณฑ์ที่มาแก้ปัญหา (นิโรธ) แสดงวิถีทางของพระเอกผู้มาแก้ปัญหา โดยการสาธิต หรือโชว์สมรรถนะการใช้งาน (มรรค)

ขอร่วมแสดงความคิดเห็น เพิ่มเติม เพื่อจะเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านท่านทุกท่านครับ

กราบนมัสการค่ะ

เคยอ่านมาจากสักที่หนึ่งบอกว่า สตีพ จอบส์ เขาใช้คำถามนี้ที่ว่า "หากวันนี้เป็นวันสุดท้ายในชีวิต เขาจะทำอะไร" ในการตัดสินใจในชีวิตเสมอ แม้ในเรื่องส่วนตัว ว่ากันว่าในงานปาฐกถาในพิธีสำเร็จการศึกษาของบัณฑิตมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง เขาได้พบหญิงสาวสวยที่นั่งอยู่แถวหน้าของงาน เขารู้สึกชอบเธอขึ้นมาในทันใด พองานจบเขาเดินไปาหญิงสาวเพื่อสนทนาแลละขอเบอร์โทรศัพท์ เขาอยากชวนเธอไปทานข้าวในค่ำวันนั้น แต่บังเอิญมีงานที่ต้องไปร่วม ในระหว่างที่เดินไปที่ที่จอดรถ เขาถามตัวเองว่า "หากวันนี้เป็นวันสุดท้ายในชีวิต เขาจะทำอะไร" คำตอบก็คือเขาวิ่งกลับเข้าไปในงานและที่เหลือก็เป็นเพียงเรื่องราวในอดีต เพราะะหญิงคนนั้นคือภรรยาของเขาจวบจนทุกวันนี้ค่ะ

โยมบลูสตาร์

  • ขอบใจมากสำหรับการเข้ามาเยี่ยมชมและแลกเปลี่ยน
  • ชอบใจมุมมองดีๆ ที่ฝากให้พวกเราได้คิดต่อ
  • ความตายเป็นได้ทั้งจุดจบและจดเริ่มต้นของชีวิต
  • บางคน ความตายเป็นที่มาของความเศร้าสร้อย หงอยเหงา และสิ้นหวัง
  • บางคน ความตายจุดเริ่มต้นของสิ่งดีๆ ของชีวิต
  • อนุโมทนาด้วยสาราณียธรรม

ท่าน xman of MCU

  • เห็นคำว่า MCU น่าจะหมายถึง "มหาจุฬาฯ" มหาวิทยาลัยสงฆ์ของเรา
  • ความเป็นมหาวิทยาลัยสงฆ์ จุดเด่นคือ การนำหลักการต่างๆ มาอธิบายด้วยกรอบธรรม
  • สมดังวิสัยทัศน์ของมหาลัยมจร. ที่ว่า บูรณาการกับศาสตร์สมัยใหม่ พัฒนาจิตใจและสังคม
  • xman พยายามจะนำหลัก "อิทธิบาท ๔" และ "อริยสัจ ๔" มาช่วยอธิบายวิธีคิดและการทำงานของสตีพ จอบส์  และเห็นด้วยว่า เข้ากันอย่างดียิ่งกับการแนวทางในการค้นหาความสำเร็จ
  • อยากเห็น xman ได้เข้ามาเป็นหนึ่งในสมาชิกโกทูโนของเรา แล้วนำสิ่งดีๆ มาฝากพวกเรา ไม่ว่าวันนี้ หรือวันหน้า ผมก็จะรออ่านงาน และองค์ความรู้ดีๆ ที่จะนำมาฝากพวกเราต่อไป
  • ขอบคุณท่าน  xman ที่มาเยี่ยม และฝากสิ่งดีๆ ให้พวกเราได้คิดต่อ
  • ด้วยสาราณียธรรม

คุณปริม

  • หากวันนี้เป็นวันสุดท้ายในชีวิต เขาจะทำอะไร
  • นี่เป็นประโยคเด็ดของจอบส์ และให้หลายๆ คนจำเขาได้อย่างแม่นยำ
  • เป็นบทที่เตือนใจตัวอาตมาเอง
  • พุทธเจ้าได้ตรัสในประเด็นนี้เช่นกันว่า "ควรรีบทำสิ่งที่ควรทำเสียแต่วันนี้ ใครจะไปรู้ได้ว่า ความตายจะมีแก่เราในวันพรุ่งนี้"
  • ฉะนั้น อย่าเพียงแค่คิด จงลงมือปฏิบัติ แล้วจะสามารถไขว่คว้าหาความฝันของเราพบ

การบนมัสการค่ะ

การเตรียมตัวก่อนตาย มีความหมายแตกต่างจากการเตรียมตัวเพื่อการ เกิด/ไม่เกิด หรือไม่คะ

กราบขอบพระคุณค่ะ

โยมน้ำเกลือเกลือหวาน

  • ขออนุโมทนาที่แวะมาแสดงความเห็นไว้
  • หลายคนกลัวความตาย แต่น้อยคนที่จะกลัวการเกิด
  • น่าสนใจมาก

นมัสการพระคุณเจ้า

เป็นบทความร่วมสมัยมากๆครับ..

นมัสการพระคุณเจ้า

เมื่ออ่านบทความนี้แล้วได้ความรู้สึก ๓ ประเด็น

๑. ชื่นชมการบูรณาการพระพุทธศาสนากับศาสตร์สมัยใหม่กับของพระอาจารย์

๒. ได้ “สติ” และทำให้หวลระลึกประโยคนี้ที่ ได้ยินมานานประมาณ ๕ ปีที่แล้ว “ทำวันนี้ราวกับเป็นวันสุดท้ายของชีวิต”

แต่ก็มักประมาทกับชีวิต จนลืมไปว่า “วันนี้อาจจะเป็นวันตายของเราก็ได้”

๓. ได้คำถาม “ถ้าหากจะต้องตาย จะมีการเตรียมตัวตายอย่างสงบอย่างไรในทางพระพุทธศาสนา ?” หวังว่าคงได้แลกเปลี่ยนและรออ่านเรื่องการเตรียมตัวตายจากพระอาจารย์ค่ะ

ครูเดียร์^^

ดร. ภิญโญ และครูเดียร์

  • อนุโมทนาขอบใจมากที่แวะมาเยี่ยม
  • พระพุทธศาสนาคือ วิถีชีวิต ควรนำไปประยุกต์ใช้ให้สอดรับกับชีวิตของแต่ละคน
  • ทำวันนี้ราวกับวันสุดท้ายของชีวิต เป็นคำเตือนใจที่ดีสำหรับทุกคน
  • แต่ปัญหาคือ มนุษย์หลายคนทำวันนี้ราวกับว่า ตัวเองเป็นอมตะและจะไม่ตายจากโลกนี้
  • เจริญพร

ท่านครับ รออ่านประชาสัมพันธ์เรื่อง วิสาขบูชาใน blog

เรื่องการมรณุสติน่าสนใจมากครับ...

อ. ดร. ขจิต

ขอบใจอาจารย์ที่กรุณาเข้ามาเตือน อาตมากำลังหาลู่ทางอยู่

เจริญพร

นมัสการเจ้าค่ะ

อ่านด้วยความอิ่มเอม

ตอนนี้กำลังไปเรียนบาลีที่วัด(ใหญ่อินทาราม) มีเรียนวันจันทร์ - ศุกร์ สนุกดีเจ้าค่ะ

นมัสการลา

อ่านแร้วก็งงและงง มึนและมึน ท่านกำลังจะพูดถึงอะไรกันหนอ วัยรุ่่น เซ็งมาก

โยมณัฐรดา และโยมสมบัติ

  • ขอบใจโยมณัฐรดาที่แวะเวียนมาเยี่ยมเยียน
  • การเรียนภาษาบาลีถือได้ว่าเรียนศัพท์ที่เป็นรากฐานของพระพุทธศาสนา
  • จะทำให้ง่ายต่อการเข้าใจหลักการสำคัญที่เป็นแก่เนื้อหาของพุทธได้ดี
  • สำหรับโยมสมบัติ พระต้องขออภัยที่ทำให้วัยร่นเซ็ง อันนี้มิได้มีเจตนา
  • อาจจะเป็นเพราะภาษาของผู้เขียนเป็นไปในแนววิชาการมากเกินไป
  • ถือว่า "จริต" ของผู้เขียนเอง ที่เป็น "พระสายวิชาการ"
  • ภาษาอาจจะเข้าใจยาก ทำให้วัยรุ่นอาจจะสับสนและงุนงง
  • ถึงกระนั้น ขอบใจโยมสมบัติที่กรุณาเข้ามาทักทาย
  • อาตมาจะไปหามุมเขียนภาษาวัยรุ่นๆ ใน Learners อาจจะทำให้วัยรุ่นไม่วุ่นเมื่อได้อ่านงาน
  • ขออนุโมทนาทั้งสองท่าน
  • เจริญพรลา

ธรรมชาติมนุษย์ : "สะดุ้ง - สะดวก" "สติ - ประมาท" "ไม่เห็นโลงศพ ไม่หลังน้ำตา"

http://www.84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=21&A=3127&Z=3192

http://www.watrampoeng.com/index.php?option=com_fireboard&Itemid=20&func=view&catid=13&id=80

*เพิ่มเติม จากเรื่องเหล่านี้ ชัดเจนมาก ในกรณีนายสตีฟ

เมื่อเรายังเป็นปุถุชนอยู่ เรื่องความตายอาจยังคิดว่าไกลตัว ไม่ได้คิดถึง

บางครั้งเมื่อได้อ่านบทความเกี่ยวกับความตายก็จะคิดขึ้นมาได้ครั้งนึง

แต่เวาผ่านไปก็ลืมอีก เหมือนเราอ่านหนังสือสอบ พอสอบเสร็จแล้ว เวลาผ่านไป

หลายๆเดือนเข้า ข้อมูลก็ลางเลือน แต่ถ้าใครเคยประสบกับความตาย(เฉียดตาย)

จริงๆ ก็คงจำได้ ไม่ลืมแน่นอน และคิดได้ว่าความตายอยู่กับเราตลอดเวลา ก็เกิดปัญญาขึ้นมา

ว่าควรเลือกใช้ชีวิตแบบใหน เพื่อเวาที่เราเหลืออยู่ ถ้าพรุ่งนี้ความตายมาถึง

ผมคิดว่า คนเราต้องเกิดปัญญาก่อน ถึงจะรู้ความหมายในเรื่องต่างๆ ถึงจะมองเห็นหนทาง

ถึงจะรู้ว่าชีวิตเราควรทำอะไร แต่การจะเกิดปัญญาได้ ก็คงต้องศึกษากันอีก

นมัสการครับ

เป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจและเตือนสติได้ดีครับ

หลังความตาย มีต่ออีกแน่นอนครับ ไม่ว่าจะรูปแบบใด

ผมเองเคยรู้สึกว่าเกือยตายหรือตายไปแล้วหลายครั้ง ทั้งไม่ตั้งใจและตั้งใจ

ทุกวันนี้ นึกถึงความตายแทบจะตลอดเวลาครับ และนึกเสมอว่า พรุ่งนี้อาจไม่มีสำหรับเรา

แต่บางที ก็ไม่ได้ทำวันนี้ให้ดีที่สุด การเตือนสติจึงจำเป็นมากครับ

เรื่องนี้เตือนสติได้ดีครับ

 

กราบนมัสการเจ้าค่ะพระอาจารย์....พระอาจารย์สบายดีนะคะรักษาสุขภาพด้วยค่ะจะได้มีบทความดีๆอย่างนี้ออกเผยแผ่ไห้ได้อ่านกันค่ะ....

ทราบข่าวการเสียชีวิตของผู้ก่อตั้ง บริษัทAple ของ Steve job มีชีวิตที่น่าสนใจได้ถูกกล่าวถึงมากในฐานะนักสร้างสรรค์เทคโนโลยีที่มีอิทธิพลต่อการดำรงชีวิตของรุ่นใหม่ หรือไม่ใหม่ก็ตาม ทำให้อยากย้อนกลับมาอ่านบทความ "ความตาย: พระพุทธเจ้าสอน สตีฟ จอบส์ปฏิบัติ" นี้อีกครั้ง ยิ่งอ่านก็ได้เห็นสิ่งใหม่ๆ ในความคิดเรา อาจไม่ใช้เรื่องใหม่ที่ไม่เคยรู้ เพียงแต่เราไม่พยายามยอมเข้าใจให้ลึกซึ้งเท่านั้นเอง

ด้วยความเคารพครับ

เมื่อเจอปัญหาชีวิต เมื่อจิตตก ทางเดียวที่คิดออกคือ ต้องหาธรรมะช่วยเยียวยาจิตใจ ให้ลดกิเลส ลดอัตตาลง แล้วก็ทำให้ได้แง่คิดดีๆ ไปปรับใช้ในชีวิต ขอบคุณค่ะ

ท่านกอบชัย และโยมภาวรีย์

  • อนุโมทนาขอบใจทั้งสองท่านที่แวะเีวียนมาเยี่ยมเีวียน
  • หวังว่าจะเกิดประโยชน์แก่ทุกท่านที่พยายามจะถอดบทเรียนไปใช้
  • ด้วยสาราณียธรรม

นมัสการท่าน

เข้าดูเว็บมหาจุฬาเพราะข่าวนำ้ท่วมหนัก....ว่ามหาลัยโดนรึเปล่า และเจอบทความดีๆอ่านแล้วได้สติกลับมาเยอะ

อีกอย่างครั้งแรกที่หยิบมรดกของสตีฟมาจิ้มๆ พลางดูบอลไปพลาง แม้ไม่ถนัดในการพิมพ์แต่สะดวกในการใช้เหลือเกิน ข่าวการจากไปของสตีฟ

และบังเอิญเจอบทความของท่าน อ่านแล้วรู้สึกดีคิดถึงตนเองมากขึ้น. ที่จริงงานเกษียณที่วิศวะ มก.ที่ผ่านมามีหลายท่าน

พูดถึงสมาธิความตายและอะไรต่อมิอะไรที่น่าสนใจมาก วันนั้นผมเป็นพิธีกรในงาน ถ้าผมเจอบทความนี้ก่อนน่าจะดี น่าจะเสริมได้ดีทีเดียว.

ผมมหาจุฬารุ่น41ครับ

เจริญพร โยมนรณฤต (ศิษย์พี่)

  • นับเป็นบุญ/กุศลอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสพบปะรุ่นพี่ในกระดานแห่งนี้
  • อาตมาเป็นรุ่นน้องรุ่น 43
  • ดีใจที่งานนี้ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ศิษย์พี่
  • ด้วยสาราณียธรรม

กราบนมัสการคะ

เป็นบทความที่ทรงคุณค่า ทั้งข้อมูลและบทวิเคราะห์เปรียบเทียบได้อย่างน่าคิดยิ่งคะ

"การนำความตาย มาเป็นแรงจูงใจ ให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ทั้งภายใน และเทคโนโลยี'

เชื่อคะว่าอิทธิพลของ เซน มีผลต่อการออกแบบผลิตภัณฑ์ของ apple

ตั้งแต่รูปทรงภายนอก ที่ไม่เน้นสีสัน แต่เน้นเรียบง่าย

ระบบการทำงาน ที่ลดความซับซ้อน สะสมปัญหา ของ registry แบบใน window

เจริญพรคุณหมอ ป.

  • อนุโมทนาขอบใจหมอมากที่แวะแวะมาเยี่ยมเยียน พร้อมทั้งความเห็นเพิ่มเติมที่มีคุณููปการต่อการเสริมต่อ
  • ชีวิตของมนุษย์หลายคนที่ประสบปัญหาและทุกข์ทรมานอยู่ขณะนี้ เพราะเกิดจากความไม่ใส่ใจต่อประโยคที่ว่า "หากวันนี้เป็นวันสุดท้ายที่เราจะมีชีวิตอยู่ เราปรารถนาจะสร้างธรรมเจดีย์ใดไว้ให้เป็นอนุเสาวรีย์แห่งชีวิต"
  • "การใส่ใจ" (Awareness) จะนำไปสู่การมีสติ และรู้เท่าทันต่อทันสรรพสิ่งในทุกลมหายใจ  ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์แก่ตัวเอง ครอบครัว และสังคมอย่างยั้งยืนต่อไป
  • ด้วยสาราณียธรรม

กราบนมัสการครับ

บันทึกของท่านพระอาจารย์เตือนสติของคนเราได้น่าสนใจ และทำให้รู้ว่า "ความตายกับความสุขอยู่ใกล้กัน" และ "เทคโนโลยีและศาสนาจุดประกายความคิดได้เชื่อมโยงกัน"

ขอบพระคุณมากครับ

นมัสการครับท่านอาจารย์

ผมเป็นศิษย์เก่า พธ.ม. ของ มจร. รุ่น ๑๙ ครับ ตอนนี้กำลังมองหาแรงบันดาลใจที่จะพัฒนาตัวเองให้มากขึ้น ก็คิดถึงมหาลัยของเรา เลยตั้งใจเข้ามาดูข่าวสารการรับสมัครนักศึกษาระดับ ป.เอก ก็ได้มา่อ่านบทความของพระอาจารย์ด้วย เลยทำให้เกิดแรงจูงใจและแรงบันดาลใจ..ได้แง่คิดดีๆที่อยู่ใกล้ตัวแต่เรามองข้ามไปหมด ตอนนี้ก็เริ่มถามตัวเองอย่างคุณสตีพ จอบส์แล้วเหมือนกัน

ขอบพระคุณบทความดีๆของท่านอาจารย์และข้อคิดดีๆของทุกท่านเข้ามาแสดงไว้..ผมก็อยากแสดงความคิดเห็นร่วมด้วยสักหน่้อยว่า

ผมไม่แน่ใจว่า คุณสตีฟ จอบส์นับถือศาสนาใดนะครับ..แต่จากเรื่องราวของคุณสตีฟ จอบส์ที่ผมได้รู้มา ผมสรุปว่า เขาเป็นพุทธะ เขาอาจไม่ได้เป็นพุทธะด้วยการกล่าวปฏิญาณตน แต่เขาเป็นพุทธะที่่คุณสมบัติ(พุทธคุณ)ภายในของเขาเอง คือ เขามีความสนใจใฝ่ศึกษาพัฒนาความรู้อยู่เสมอ(ปัญญาคุณ) และเพราะเหตุนี้เองทำให้เขาได้รับการชื่นชมและยอมรับว่าเป็นคนเก่ง(บริสุทธิคุณ) แล้วเขาก็ได้กระจายหรือเผื่อแผ่ความเก่งความดี(ผลงาน,ประสบการณ์)ของเขาส่งผ่านไปยังผู้อื่นๆด้วย(กรุณาคุณ) จากคุณสมบัติทั้ง ๓ ข้อนี้ จึงทำให้สตีฟ จอบส์ไม่ว่าตอนยังมีชีวิตอยู่หรือไม่มีชีวิตอยู่แล้วก็ตาม มีคุณค่าเสมอและมีผู้คนมากมายได้ประโยชน์และคุณค่าจากชีวิตของเขา นั่นเพราะเขาทำชีวิตให้มีคุณค่าตามแนวพุทธะ......ผมขอแสดงความคิดเห็นเพียงเท่านี้นะครับ..

กราบนมัสการพระอาจารย์ครับ


ขอบคุณสำหรับบทความดีๆของอาจารย์ครับ

ผศ.ดร.แหวนทอง บุญคำ

นิพพาน คือ การดับกิเลศและกองทุกข์

 

 

 

นิพพาน ๒  อย่าง

 

            สอุปาทิเสสนิพพาน  ดับกิเลสยังมีเบญจขันธ์เหลือ หมายถึง พระอริยะผู้ละกิเลสได้สิ้นเชิงด้วยการบรรลุอรหัตตผล  เป็นพระอรหันต์ ที่ยังมีชีพอยู่

 

          อนุปาทิเสสนิพพาน ดับกิเลสไม่มีเบญจขันธ์เหลือ(ขันธปรินิพพานหมายถึงพระอรหันต์ที่สิ้นชีพแล้วกิเลสาสวะไม่มีแล้ว กรรมที่ท่านทำมาก่อนจะบรรลุก็ตามให้ผลไม่ได้แล้ว

 

          นิพพานนี้  เป็นโลกุตรธรรม  และเป็นจุดหมายสูงสุดในพระพุทธศาสนา

หมายเหตุ

นิพพาน ไม่ใช่ความตาย ถ้านิพพานหมายถึงความตาย ก็ไม่มีความจำเป็นอันใดที่จะต้องแสวงหาโมกขธรรมใดๆ นั่งๆ นอนๆ อยู่เฉยๆ มันก็ได้นิพพานแล้ว

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท