ธรรมหรรษา
รศ.ดร. พระมหา หรรษา นิธิบุณยากร

รถติดที่มิตรภาพ: เกิดจากถนนแคบ หรือโครงสร้างทางสังคมที่คับแคบ


 

    ผู้เขียนได้อ่านบทความ เรื่อง "การเมืองเรื่องถนนสู่ภาคอีสาน"ของ ผศ.ดร. ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ที่ตั้งคำถามว่า การที่ถนนในภาคอีสานประสบกับการติดขัด "อย่างแสนสาหัส" เกิดจากประเด็นปัญหา "ถนน" ซึ่งที่มาถนนนั้นไปสัมพันธ์กับระบบการเมืองโดยมีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฏร เป็นตัวสะท้อน

     "การ เดินทางสู่อีสานในช่วงเทศกาลปีใหม่และสงกรานต์นั้น ทำไมรถราต้องติดแง็กกับจุดสร้างสะพานลอยกลับถนนตรงเลยแยกบางปะอินมาทาง สระบุรีไม่ไกลนัก หรือทำไมต้องติดแง็กเพื่อคืบคลานรถตนเองให้ผ่านขึ้นภูเขาตรงแก่งคอยและหมวก เหล็ก-กลางดง และตรงเขื่อนลำตะคอง ซึ่งก็ดูท่าภูนั้นจะไม่สูงเท่ากับการไต่ภูเขาจากลำปางสู่เชียงใหม่ หรือลำปางสู่เชียงราย ภาวะรถราติดแง็กเหล่านี้จะไม่มีวิธีการแก้ไขปัญหาในแบบอื่นๆ หรือ? หรือควรถือว่าเป็นชะตากรรมของคนอีสาน?
     "คำถามต่างๆ เหล่านี้ เป็นประสบการณ์ที่เกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า ปีแล้วปีเล่า แต่ปัญหาก็ดูจะหนักหนากว่าเดิมมากขึ้น เมื่อเราตระหนักว่าเทคโนโลยีได้พัฒนาไปอย่างมากแล้ว (เช่น เกาหลีใต้ใช้วิธีเจาะภูเขาเป็นอุโมงค์ และระดับถนนค่อนข้างอยู่ในระดับเดียวกัน กล่าวคือ ภูเขาขวางทางก็เจาะทะลุ)

     "หรือว่าอีสานมีประชากรมากเกินไป? ดังนั้น จึงต้องรับทุกข์ของการคมนาคมมากกว่าคนภาคอื่น?"  
     เนื้อหาข้างต้นนั้น เป็นประเด็นที่ผู้ท่าน ดร.ธำรงศักดิ์ ได้ตั้งคำถามต่อสาเหตุของจราจรที่ติดขัดเอาไว้อย่างน่าสนใจ  สุดท้ายแล้ว ท่านได้กล่าวถึงประเด็นนี้ว่า เกี่ยวข้องกับการเมืองจนนำไปสู่การพัฒนาระบบโลจิสติคส์
       "แต่หากพิจารณาในแง่มุมทางการเมือง การที่มีประชากรมากก็มีความหมายว่าก็ต้องมีผู้แทนราษฎรของเหล่าจังหวัดภาค อีสานจำนวนมากตามไปด้วย ซึ่งก็หมายถึงการมีพลังทางการเมืองในการที่จะเข้าไปกำหนดนโยบายและดำเนินงาน เชิงรูปธรรมในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ให้กับคนอีสานได้เป็นอย่างดี

แต่กาลกลับหาเป็นเช่นนั้นไม่ กลับเหมือนว่าการมีประชากร การมี ส.ส. จำนวนมาก แต่ก็ดูจะ "ไร้น้ำยา" ทางการเมือง เมื่อพิจารณาจากการเดินทางที่ต้อง "ติดแง็ก" กับ "ประตู" สู่ภาคอีสาน"  (อ่านเพิ่มเติมใน http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1303304799&grpid=&catid=02&subcatid=0207)

     ตัวหนังสือ "สีเขียว" ข้างบนคือข้อสังเกตต่อประเด็น "การเมืองเรื่องถนนสู่ภาคอีสาน" ของท่านเจ้าของบทความในมติชนรายวัน (๒๐ มกราคม ๒๕๕๔)  จากความเข้าใจของผู้เขียน โดยสรุป ท่านเจ้าของบทความได้ตั้งข้อสังเกตต่อประเด็นปัญหาจราจรติดขัดที่เกิดสาเหตุต่างๆ กล่าวคือ (๑) ปัญหาด้านประชากรศาสตร์ (๒) ปัญหาด้านการเมือง (๓) ปัญหาด้านระบบโลจิสติคส์  ตามความเข้าใจของท่านเจ้าของบทความ ทั้งสามประเด็นนั้น ล้วนสัมพันธ์กันอย่างแยกไม่ออก

     คำถามคือ "การตั้งข้อสังเกตดังกล่าวของท่านเจ้าของบทความได้สะท้อนแง่มุมต่างๆ เกี่ยวกับประเด็นปัญหารถติดที่มิตรภาพได้อย่างเพียงพอหรือครอบคลุมหรือไม่"  หรืือในความเป็นจริงแล้ว ยังมีแงุ่มุมอื่นๆ ที่ "ซ่อนตัว" ให้เราได้วิเคราะห์ และศึกษาเพิ่มเติมได้อีก

     ในแต่ละปีของช่วงเทศกาลสำคัญต่างๆ เช่น สงกรานต์ ปีใหม่ เข้าพรรษา ออกพรรษา และลอยกระทง  ได้มีประชาชนจำนวนมากที่ต้องสังเวยชีวิตให้แก่ชื่อถนนมิตรภาพที่ดูประหนึ่ง "อาจจะไร้มิตรภาพ" เพราะทำให้หลายๆ ชีวิตไร้มิตรภาพในขณะสัญจรในช่วงเทศกาลสำคัญ   อีกทั้งทำให้หน่วยงานรัฐพยายามที่จะออกมาตรการเพื่อป้องกันการสูญเสียในเทศกาลสำคัญ คำถามคือ การดำเนินการในลักษณะนี้เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุหรือไม่

     จริงหรือไม่ว่า ปัญหาที่แท้ัจริงนั้น ไม่ได้อยู่ที่ "ถนนมิตรภาพที่คับแคบ หากแต่อยู่ที่โครงสร้างทางสังคมไทยที่สุดแสนจะคับแคบ   ทำไมคนเหล่านี้ต้องทิ้งบ้านเรื่องมาเสี่ยงโชคในเมืองใหญ่ ทำไมโอกาสในเมืองใหญ่ จึงมีมากกว่าเมืองเล็กๆ ทำไมเราจึงไม่กระจาย "โอกาส" ไปสู่เมืองเล็กๆ ทำไมเราไม่พัฒนาเมืองเล็กๆ ให้สามารถเข้าถึงโอกาสต่างๆ ดังที่เมืองใหญ่ๆ มี

     หรือว่าในความเป็นจริงแล้ว ถนนไปสู่อีสานอาจจะไม่คับแคบหากเปรียบเทียบกับถนนเพชรเกษม ถนนสายเอเซีย หากแต่ที่คับแคบคือ "โอกาส และโครงสร้างทางสังคมที่สุดแสนจะคับแคบ"  จึงทำให้คนเหล่านี้ ต้องทิ้งบ้านเรือน ทิ้งพ่อแม่ และอาจจะนำชีวิตของตัวเองไปทิ้งในเมืองใหญ่ๆ ที่มีโอกาส และเข้าถึงโอกาสได้ดีกว่าเมืองเล็กๆ ของเขา

    ใครจะช่วยตอบปัญหาเหล่านี้ได้อย่างแจ่มชัด  การตอบปัญหาไม่ได้หมายถึง "การทำให้โอกาสของกลุ่มคนต่างๆ ชัดไปด้วย" หากแต่จะำให้กลุ่มคนต่างๆ ในสัีงคมไทยสามารถอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข และมีศักดิ์ศรีในความเป็นคนมากยิ่งขึ้น

 

พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส
๒๑ เมษายน ๒๕๕๔

 

 

หมายเลขบันทึก: 436151เขียนเมื่อ 21 เมษายน 2011 08:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

มากราบขอพรปีใหม่ท่านอาจารย์ครับ

กราบนมัสการสวัสดีปีใหม่ไทยเจ้าค่ะ

ช่วงสงกรานต์ปีที่แล้วเคยติดที่มิตรภาพตั้งแต่เช้าจรดบ่าย เลยเข็ดขยาดเส้นทางสู่อิสานช่วงวันหยุดค่ะ เห็นด้วยว่าถนนมิตรภาพคุณภาพดีที่สุดค่ะ

จำนวนประชากร เพิ่มปริมาณสส. โอกาสกำหนดนโยบาย สนับสนุนงบฯ โครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ครบครัน แปรผัน กับปัญหา มากมาย

... เป็นบันทึกที่ทำให้ได้ขบคิด และติดตามเกาะกระแส การเปลี่ยนแปลง ความหวังใหม่ๆ พลิกผันการเมืองไทย และอะไรๆ ก็คงขึ้นอยู่กับ สิทธิ เสียง ในกำมือของคนอิสานบ้านเฮา เด้อค่า

นมัสการครับ เป็นปัญหาที่แก้ไม่ตก เลยครับ เอหรือไม่จริงใจแก้ปัญหา เอามาฝากครับ

http://gotoknow.org/blog/yahoo/436216

นมัสการครับ ผมเคยมองเรื่องนี้ และเขียนข้อสังเกตไว้ใน กลิ่นสุภาพ (เพี้ยนแต่ง แกล้งวรรณกรรม):http://gotoknow.org/blog/lookouts/434406

 

  • ขอบคุณอาจารย์ ดร.หมอ เจเจที่กรุณามาเยี่ยมเยียน หวังว่าท่านคงสบายดี
  • โยมปูเป็นหนึ่งของกลุ่มคนที่มีประสบการณ์ตรงกับถนนมิตรภาพที่ดูประหนึ่งว่าไร้มิตรภาพ และได้นำเสนอแงุ่มุมให้พวกเราได้คิดเพิ่มเติม
  • คุณ SR อาตมาได้อ่านงานของโยมแล้ว เป็นบทกล่อนที่อุดมไปด้วยความหมายและคุณค่าทางวรรณกรรม  โดยเฉพาะการถอดบทเรียนออกมาจากสภาพทางสังคมไทยที่เกิดขึ้นและดำรงอยู่ในสถานการณ์ปัจจุบัน

การรวมศูนย์อำนาจคือหายนะของประเทศ พรรคการเมืองใดจริงใจ กระจายอำนาจสู่ชุมชนท้องถิ่นบ้าง!

มติชนรายวัน

http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1303200869&grpid=01&catid=&subcatid=

โดย ศ.นพ.ประเวศ วะสี

1. หายนะของประเทศเกิดจากการรวมศูนย์อำนาจ

แม้วิกฤตการณ์ของประเทศจะเกิดจากสาเหตุหลายอย่าง แต่แก่นของมันคือการรวมศูนย์อำนาจของประเทศ ซึ่งนำไปสู่ปัญหาใหญ่ ๆ อย่างน้อย 5 ประการ คือ

(1) ชุมชนท้องถิ่นอ่อนแอ หากชุมชนท้องถิ่นเข็มแข็งจัดการตัวเองได้ จะจัดการปัญหาต่าง ๆ ไปได้ 80-90 เปอร์เซ็นต์ ไม่ต้องมาแก้กันที่ส่วนกลาง ทุกวันนี้ปัญหาจากทั่วประเทศพุ่งเข้ามาที่นายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นจุดรวมศูนย์ อำนาจ นายกรัฐมนตรีทุกคนจะถูกปัญหาท่วมทับจนหมดสภาพ ปัญหาต่างๆ แก้ไม่ได้จริง บ้านเมืองวิกฤตมากขึ้นๆ

(2) ทำให้เกิดสภาพรัฐล้มเหลว ระบบราชการที่รวมศูนย์อำนาจมีสมรรถนะต่ำคอรัปชั่นสูง จึงไม่สามารถแก้ปัญหาความยากจน ไม่สามารถอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและทรัพยากร รวมทั้ง ไม่สามารถจัดการการใช้อย่างเป็นธรรมและยั่งยืน ไม่สามารถอำนวยความยุติธรรมแก่สังคม ไม่สามารถแก้ปัญหาความรุนแรง เช่น ปัญหาชายแดนใต้ ฯลฯ เข้าข่ายรัฐล้มเหลว ทำให้เกิดความระส่ำระส่าย โกลาหล และวิกฤต

(3) ทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างอำนาจรัฐรวมศูนย์กับวัฒนธรรมท้องถิ่น วัฒนธรรม คือวิถีชีวิตร่วมกันของกลุ่มชนที่สอดคล้องกับสิ่งแวดล้อมหนึ่ง ๆ สิ่งแวดล้อมแต่ละแห่งไม่ เหมือนกัน วัฒนธรรมจึงหลากหลายไปตามท้องถิ่นต่าง ๆ อำนาจรัฐรวมศูนย์ขัดแย้งกับ ความหลากหลายทางวัฒนธรรมของท้องถิ่น มีผลทำลายระบบการอยู่ร่วมกัน ระหว่าง คนกับคน และคนกับสิ่งแวดล้อม เกิดวิกฤตการณ์ทางสังคมเศรษฐกิจสิ่งแวดล้อมทั่วประเทศ และนำไปสู่ความรุนแรง เช่น ความรุนแรงที่จังหวัดชายแดนใต้ ไฟใต้จะดับไม่ได้ตราบใดที่ ยังไม่กระจายอำนาจไปสู่ชุมชนท้องถิ่น

(4) ทำให้ระบบการเมืองไร้คุณภาพ เพราะอำนาจรัฐรวมศูนย์ดึงดูดให้นักธุรกิจการเมืองทุ่มทุนขนาดใหญ่เพื่อเข้า มากินรวบอำนาจ ทำให้เกิดระบบธนาธิปไตย และความไร้คุณภาพของระบบการเมืองไทย ที่สมรรถนะต่ำคอร์รัปชั่นสูง แก้ปัญหาบ้านเมืองไม่ได้ การแย่งอำนาจรวมศูนย์ทำให้เกิดการต่อสู้ทางการเมืองรุนแรงนำไปสู่ความแตกแยก

(5) ทำให้ทำรัฐประหารง่าย อำนาจรัฐรวมศูนย์ทำรัฐประหารง่าย แต่ถ้ากระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่นโดยทั่วถึงจะทำรัฐประหารไม่ได้ เพราะไม่รู้จะยึดอำนาจตรงไหน

ปัญหาใหญ่ๆ ที่เกิดจากการรวมศูนย์อำนาจรัฐทั้ง 5 ประการนี้นำประเทศไปสู่หายนะ

2. ป้องกันหายนะโดยการกระจายอำนาจให้ชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง

คนข้างบนที่ไม่เคยสัมผัสความเป็นจริงข้างล่าง ไม่รู้ดอกว่าคนข้างล่างนั้น “ตื่น” ขึ้นมาจัดการตัวเองแล้ว คนข้างบนคุ้นเคยกับมายาคติและความเลวร้ายต่างๆ ข้างบน ไม่รู้หรอกว่าข้างล่างมีสิ่งดีๆ เยอะ

ในระดับชุมชน กำลังมีการรวมตัวของผู้นำชุมชนเป็นสภาผู้นำชุมชน ทำการสำรวจชุมชน ทำแผนชุมชน เสนอให้สภาประชาชนคือที่ประชุมของคนทั้งหมู่บ้านรับรองแผน คนทั้งชุมชนช่วยกันขับเคลื่อนการพัฒนาตามแผน ทำให้การพัฒนาอย่างบูรณาการทั้ง 8 เรื่องพร้อมกันไป คือ เศรษฐกิจ-จิตใจ-สังคม-วัฒนธรรม-สิ่งแวดล้อม-สุขภาพ-การศึกษา-ประชาธิปไตย ควรสังเกตว่ากระบวนการนี้เป็นประชาธิปไตยทางตรงที่คนทั้งหมู่บ้านมีส่วนร่วม โดยตรง ประชาธิปไตยชุมชนเป็นประชาธิปไตยสมานฉันท์และสร้างสรรค์ที่สุด

ในระดับท้องถิ่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั้ง 3 ประเภท คือ อบต. เทศบาล และอบจ. ซึ่งมีเกือบ 8,000 องค์กร กำลังทำอะไรดีๆ มากขึ้นเรื่อยๆ และเรียนรู้จากกันทำให้ก้าวหน้าและเข้มแข็งขึ้นเป็นลำดับ ประชาธิปไตยท้องถิ่น (Local democracy) เป็นฐานของประชาธิปไตยระดับชาติ ที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ร. ทรงปรารถนาจะให้เกิดขึ้น

ชุมชนท้องถิ่น ปกคลุมทุกตารางนิ้วของประเทศ ถ้าเข้มแข็งและจัดการตัวเองได้ ก็จะทำให้ฐานของประเทศมั่นคง สามารถรองรับประเทศทั้งหมดให้สมดุลและยั่งยืน

ชุมชนท้องถิ่นจัดการตัวเองจึงเป็นหนทางสู่การอภิวัฒน์ประเทศไทย

3. สมัชชาชุมชนกับการปฏิรูป สมัชชาท้องถิ่นกับการปฏิรูป

คณะกรรมการสมัชชาปฏิรูปได้จัดตั้งคณะกรรมการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อการปฏิรูป และคณะกรรมการเครือข่ายองค์กรชุมชนเพื่อการปฏิรูป คณะกรรมการทั้งสองได้ทำงานเครือข่ายองค์กรท้องถิ่นและองค์กรชุมชนทั่วประเทศ และจัดประชุมสมัชชาชุมชนท้องถิ่นจัดการตัวเองสู่การอภิวัฒน์ประเทศไทยและ สมัชชาองค์กรชุมชนเพื่อการปฏิรูป สมัชชาทั้ง 2 มีข้อเสนอนโยบายซึ่งขอดูได้จากสำนักงานปฏิรูป และมีองค์กรที่ทำหน้าที่เลขานุการของคณะกรรมการทั้ง 2 คือ พอช. (สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน) และ สสส. (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ)

ควรมีการออกพรบ.ชุมชนท้องถิ่นจัดการตัวเอง เพื่อปลดล็อคกฎหมายและกฎระเบียบต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการกำหนดอนาคตและการจัดการตัวเองของชุมชนท้องถิ่น ต้องปฏิรูปการเงินการคลังเพื่อท้องถิ่น เพื่อให้ท้องถิ่นมีกำลังทำภารกิจได้อย่างทั่วถึง ต้องปฏิรูปบทบาทองค์กรภาครัฐจากการลงไปทำเอง มาเป็นสนับสนุนชุมชนท้องถิ่นเชิงนโยบายและเชิงวิชาการ รวมทั้งสร้างกลไกทางนโยบายที่จะนำข้อเสนอทางนโยบายของชุมชนท้องถิ่นไปเป็น นโยบายระดับชาติ เช่น มีสภาชุมชนท้องถิ่นระดับชาติที่บัญญัติให้คณะรัฐมนตรีต้องเข้าร่วมประชุม เพื่อรับข้อเสนอเชิงนโยบายที่มาจากชุมชนท้องถิ่น

4. เครือข่ายสภาประชาชน เครือข่ายสภาองค์กรท้องถิ่น

ประชาธิปไตยฐานกว้างทั้งแผ่นดิน

เรามักบ่นกันว่าเรามีนักการเมืองที่มีคุณภาพน้อย เล่นกันอยู่ไม่กี่คน ถึงต้องเอาพ่อแม่ลูกเมียพี่น้องเป็นตัวแทน เพราะเป็นระบอบประชาธิปไตยที่มีฐานแคบ ชุมชนท้องถิ่นคือฐานกว้าง มีผู้นำตามธรรมชาติที่เป็นทั้งคนเก่งและคนดีจำนวนมากในชุมชนท้องถิ่น ถ้าเราตั้งระบอบประชาธิปไตยให้มีฐานกว้าง จะเกิดพลังประชาธิปไตยมหาศาลทั้งแผ่นดิน

สภาประชาชน และสภาผู้นำชุมชน 80,000 หมู่บ้าน

ประชาธิปไตยชุมชน

ประชาธิปไตยท้องถิ่น

ประชาธิปไตยระดับชาติ

รัฐสภา สมาชิก 500 -150 คน

สภาองค์กรท้องถิ่น เกือบ 8,000 องค์กร

ประชาธิปไตย 3 ระดับควรเชื่อมโยงกัน

สภาประชาชนคือที่ประชุมของคนทั้งหมู่บ้าน มีประมาณ 80,000 หมู่บ้าน แต่ละหมู่บ้านมีสภาผู้นำชุมชน หมู่บ้านละ 40-50 คน ผู้นำชุมชนทั้ง 80 ,000 หมู่บ้านจึงมีประมาณ 4 ล้านคน ถ้าสภาผู้นำชุมชนและสภาประชาชนทั้ง 80,000 หมู่บ้าน เชื่อมโยงกันเป็นเครือข่าย จะเป็นเครือข่ายประชาธิปไตยชุมชนอันไพศาล

ท้องถิ่นเกือบ 8,000 แห่ง ทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น มีนักการเมืองท้องถิ่นกว่า 100,000 คน เครือข่าย อปท.และสภาท้องถิ่น ถ้าเชื่อมโยงกันทั้งหมดจะเป็นเครือข่ายประชาธิปไตยท้องถิ่นอันไพศาล

ถ้าประชาธิปไตย 3 ระดับทำงานเชื่อมโยงกัน คือ ประชาธิปไตยชุมชน ประชาธิปไตยท้องถิ่น ประชาธิปไตยระดับชาติ จะเป็นระบอบประชาธิปไตยฐานกว้าง เป็นประชาธิไตยที่จะแก้ปัญหาและพัฒนาประเทศให้ออกจากความทุกข์ยากได้จริง

5. ระบบการศึกษาควรส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น

ระบบการศึกษาเป็นระบบที่ใหญ่และมีศักยภาพในตัวมาก มีครูบาอาจารย์ มีนักวิชาการ นิสิตนักศึกษา นักเรียนจำนวนมาก ที่แล้วมาระบบการสึกษาเหมือนผู้ยืนดู ดูบ้านเมืองวิกฤตและหายนะมากขึ้นเรื่อยๆ โดยไม่รู้จะทำอะไร เพราะมองแต่ข้างบน เห็นแต่การเมืองระดับชาติที่ตนเองไม่รู้จะทำอะไรได้ ถ้าระบบการศึกษามองไปที่ข้างล่าง ที่ชุมชนท้องถิ่น ระบบการศึกษาจะสามารถร่วมทำงานกับชุมชนท้องถิ่นในการจัดการตัวเอง เมื่อชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็งจัดการตนเองได้ ประเทศก็จะพ้นวิกฤต เพราะมีฐานที่แข็งแรงทั้งเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม และประชาธิปไตย

นโยบายหนึ่งมหาวิทยาลัยต่อหนึ่งจังหวัด เพื่อให้มีอย่างน้อยหนึ่งมหาวิทยาลัยทำงานกับหนึ่งจังหวัด เป็นการที่ให้มหาวิทยาลัยทำงานโดยเอาพื้นที่เป็นตัวตั้ง ในพื้นที่มีชุมชนท้องถิ่น ในการจัดการตนเองของชุมชนท้องถิ่นนั้นต้องการวิชาการเป็นอันมาก ถ้ามหาวิทยาลัยทำงานร่วมกับชุมชนท้องถิ่น มหาวิทยาลัยจะเข้าไปเชื่อมกับพลังประชาธิปไตยอันไพศาลดังกล่าวในข้อ 4 การทำงานกับชุมชนท้องถิ่นจะทำให้มหาวิทยาลัยเข้าใจประเด็นทางนโยบาย ที่แล้วมามหาวิทยาลัยเกือบไม่มีบทบาททางนโยบายเลย เพราะไม่ได้เอาความเป็นจริงของสังคมไทยเป็นตัวตั้ง ถ้ามหาวิทยาลัยเป็นพลังทางนโยบายจะเป็นปัจจัยขับเคลื่อนประเทศไปสู่จุดลงตัว ใหม่ ประเด็นนโยบายใหญ่ที่สุดขณะนี้คือการกระจายอำนาจให้ชุมชนท้องถิ่นจัดการตน เอง

6. สมาคม อบต. – สมาคมสันนิบาตเทศบาล – สมาคม อบจ.

พร้อมแล้วสำหรับการปฏิรูปประเทศ

ทั้ง 3 สมาคมองค์กรท้องถิ่นร่วมกับคณะกรรมการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อการ ปฏิรูปของคณะกรรมการสมัชชาปฎิรูป ได้จัดสมัชชาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อการปฏิรูปในทุกภาคและระดับชาติ เพื่อเตรียมความพร้อมในการจัดการตัวเองของท้องถิ่น และมีข้อเสนอเชิงนโยบายที่ชัดเจนที่เขาจะร่วมกันขับเคลื่อนไปสู่การกระจาย อำนาจไปสู่ท้องถิ่นโดยแท้จริง ผู้นำท้องถิ่นที่มีประสบการณ์สูงในการบริหารจัดการเรื่องของท้องถิ่น ในวันข้างหน้าจะขึ้นมาเป็นผู้นำระดับชาติ ที่จะแก้ความตีบตันทางการเมือง ในการขาดแคลนผู้นำที่มีความสามารถและความสุจริตสูง

ผู้นำระดับชาติของสหรัฐอเมริกาและของจีนจำนวนมากมาจากผู้นำท้องถิ่นที่ ผ่านการพิสูจน์ด้วยการทำงานมาแล้ว คาร์เตอร์ เรแกน บุช คลินตัน ล้วนเคยเป็นผู้บริหารท้องถิ่นมาก่อน เจียงเจ๋อหลิน และหูจินเทา ล้วนพิสูจน์ตัวเองมาก่อนด้วยการบริหารท้องถิ่น ของเราเรียนลัดปุ๊บปั๊บมาเป็นรัฐมนตรี โดยไม่ได้พิสูจน์ตัวเองว่ามีความสามารถและความสุจริตแต่อย่างใด การกระจายอำนาจไปสู่ชุมชนท้องถิ่นจึงมีสำคัญมากต่อคุณภาพของประชาธิปไตยของ เรา

7. พรรคการเมืองใดจริงใจต่อการกระจายอำนาจบ้าง

ในการเลือกตั้ง 2554 ที่กำลังจะมาถึงในอนาคตอันใกล้ ขอให้สื่อมวลชนทุกแขนงช่วยกันตั้งคำถามดัง ๆ ว่า “พรรคการเมืองใดจริงใจต่อการกระจายอำนาจบ้าง” ผมเชื่อว่าลึกๆ แล้วพรรคการเมืองก็ต้องการทำเรื่องดีๆ เพราะนอกจากเกิดผลดีต่อประเทศชาติบ้านเมืองแล้ว ตัวเองก็ยังได้คะแนนด้วย แต่เรื่องดีๆ มักคิดไม่ออกหรือทำยาก

แต่บัดนี้ไม่จริงแล้ว คณะกรรมการปฏิรูปทั้ง 2 คณะได้ระดมคนมาคิดประเด็นนโยบายดี ๆ ที่พรรคการเมืองสามารถเลือกไปใช้ได้

เรื่องกระจายอำนาจก็ง่ายนิดเดียว พรรคการเมืองใดสนใจเรื่องนี้ก็ไปทำงานร่วมกับ 3 สมาคมองค์กรท้องถิ่น คือ สมาคม อบต. สมาคมสันนิบาตเทศบาล และสมาคม อบจ. หรือคณะกรรมการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อการปฏิรูป เครือข่ายเหล่านี้เขาทำงานกันมาจนชัดเจนแล้วว่าประเด็นนโยบายของการกระจาย อำนาจมีอะไรบ้าง พรคคการเมืองเพียงแต่ไปต่อเชื่อมกับเขาเท่านั้น

นอกจากได้ทำเรื่องดีๆ แล้ว ยังได้คะแนนเสียงอีกด้วย

--------------------------------

ดูเพิ่มเติมใน อาจารย์วิจารณ์ พาณิช

http://gotoknow.org/blog/thai-politics/436154

แถลงการณ์คณะกรรมการปฏิรูป

ว่าด้วยแนวทางปฏิรูปโครงสร้างอำนาจ

เรียนพี่น้องประชาชนไทยที่รักทุกท่าน

ท่ามกลางความวิปริตแปรปรวนของดินฟ้าอากาศ ภัยพิบัติทางธรรมชาติ ภาวะข้าวของแพง และความไม่แน่นอนของบรรยากาศทางการเมือง พวกเราทุกคนคงรู้สึกคล้ายกันคือ ชีวิตในประเทศไทยเวลานี้หาความเป็นปกติสุขมิได้

อันที่จริงการเผชิญกับความยากลำบากของชีวิตนั้น นับเป็นเรื่องธรรมดาของมนุษย์ แต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้คนเราต่างกันมากในโอกาสเอาชนะอุปสรรค คือการมีอำนาจจัดการตัวเองไม่เท่ากัน

ในสภาพที่เป็นอยู่ คนไทยจำนวนมากล้วนต้องขึ้นต่ออำนาจของผู้อื่น ขณะที่คนหยิบ มือเดียวไม่เพียงกำหนดตัวเองได้ หากยังมีฐานะครอบงำคนที่เหลือ ความเหลื่อมล้ำในความสัมพันธ์ทางอำนาจเช่นนี้ ไม่เพียงเป็นปัญหาใหญ่ที่สุดอย่างหนึ่ง หากยังเป็นต้นตอบ่อเกิดของปัญหาสำคัญอีกหลายเรื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือปัญหาความไม่เป็นธรรมในสังคม

ความสัมพันธ์ทางอำนาจนั้นมีหลายแบบ และถูกค้ำจุนไว้ด้วยโครงสร้างทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ แต่เมื่อกล่าวอย่างถึงที่สุดแล้ว โครงสร้างอำนาจที่มีพลังสูงสุดและส่งผลกำหนดต่อโครงสร้างอำนาจอื่นทั้งปวง คือโครงสร้างอำนาจรัฐ ซึ่งรวมศูนย์อยู่ที่ส่วนกลาง

แน่ละ เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าระบอบการปกครองแบบรวมศูนย์ดังกล่าวเคยมีคุณูปการใหญ่ หลวงในการปกป้องแผ่นดินไทยให้รอดพ้นจากลัทธิล่าอาณานิคม อีกทั้งมีบทบาทสำคัญในการสร้างความเป็นปึกแผ่นของประเทศชาติช่วงระยะผ่านจาก สังคมจารีตสู่สมัยใหม่

อย่างไรก็ดี เราคงต้องยอมรับด้วยเช่นกันว่าเมื่อเวลาผ่านไปนานนับศตวรรษ การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ การเมืองและสังคมได้ทำให้การบริหารจัดการประเทศแบบรวมศูนย์กลับกลายเป็น เรื่องไร้ประสิทธิภาพ ในบางกรณีก็นำไปสู่การฉ้อฉล อีกทั้งไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงที่สลับซับซ้อนขึ้น

ที่สำคัญคือการกระจุกตัวของอำนาจรัฐได้ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ อย่างสุดขั้วระหว่างเมืองหลวงกับเมืองอื่นๆ ขณะเดียวกันก็ทำให้ไม่สามารถเปิดพื้นที่ทางการเมืองได้เพียงพอสำหรับประชาชน ที่นับวันยิ่งมีความหลากหลายกระจายกลุ่ม

การควบคุมบ้านเมืองโดยศูนย์อำนาจที่เมืองหลวงทำให้ท้องถิ่นอ่อนแอ ประชาชนอ่อนแอ กระทั่งดูแลตัวเองไม่ได้ในบางด้าน อำนาจรัฐที่รวมศูนย์มีส่วนทำลายอัตลักษณ์ของท้องถิ่นในหลายที่หลายแห่ง ยังไม่ต้องเอ่ยถึงว่าการดำเนินแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมด้วยวิธีกำหนดนโยบาย จากส่วนกลางนั้น ยิ่งส่งผลให้ท้องถิ่นไร้อำนาจในการจัดการเรื่องปากท้องของตน

ยิ่งไปกว่านั้น สถานการณ์ดังกล่าวยังถูกซ้ำเติมให้เลวลงด้วยเงื่อนไขของยุคโลกาภิวัตน์ ซึ่งมีระบบเศรษฐกิจแบบไร้พรมแดนเป็นพลังขับเคลื่อนสำคัญ

การที่รัฐไทยยังคงรวมศูนย์อำนาจบังคับบัญชาสังคมไว้อย่างเต็มเปี่ยม แต่กลับมีอำนาจน้อยลงในการปกป้องสังคมไทยจากอิทธิพลข้ามชาตินั้น นับเป็นภาวะวิกฤตที่คุกคามชุมชนท้องถิ่นต่างๆเป็นอย่างยิ่ง เพราะทำให้ประชาชนในท้องถิ่นแทบจะป้องกันตนเองไม่ได้เลย เมื่อต้องเผชิญกับผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีทุนมากกว่า

เมื่อสังคมถูกทำให้อ่อนแอ ท้องถิ่นถูกทำให้อ่อนแอ และประชาชนจำนวนมากถูกทำให้อ่อนแอ ปัญหาที่ป้อนกลับมายังศูนย์อำนาจจึงมีปริมาณท่วมท้น ทำให้รัฐบาลทุกรัฐบาล ล้วนต้องเผชิญกับสภาวะข้อเรียกร้องที่ล้นเกิน ครั้นแก้ไขไม่สำเร็จทุกปัญหาก็กลายเป็นประเด็นการเมือง

ด้วยเหตุผลทั้งหลายทั้งปวงนี้ คณะกรรมการปฏิรูปจึงขอเสนอให้มีการปฏิรูปโครงสร้างอำนาจของประเทศ ซึ่งจำเป็นต้องดำเนินการถึงระดับถอดสายบัญชาการของส่วนกลางที่มีต่อท้องถิ่น ออกในหลายๆด้าน และเพิ่มอำนาจบริหารจัดการตนเองให้ท้องถิ่นในทุกมิติที่สำคัญ

อย่างไรก็ตาม การกระจายอำนาจจากส่วนกลางสู่ท้องถิ่นจะต้องไม่ใช่การสร้างระบบรวมศูนย์ อำนาจขึ้นมาในท้องถิ่นต่างๆ แทนการรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ศูนย์กลาง หากจะต้องเป็นเนื้อเดียวกับการลดอำนาจรัฐ และเพิ่มอำนาจประชาชนโดยรวม

กล่าวอีกแบบหนึ่งก็คือ การปฏิรูปโครงสร้างอำนาจมีเจตจำนงอยู่ที่การปลดปล่อยพลังสร้างสรรค์ของ ประชาชนในท้องถิ่นต่างๆ ซึ่งประกอบส่วนขึ้นเป็นองค์รวมของประชาชนทั้งประเทศ และด้วยเหตุนี้เราจึงจำเป็นต้องประสานประชาธิปไตยทางตรงเข้ากับประชาธิปไตย แบบตัวแทน มากขึ้น การเพิ่มอำนาจให้ชุมชนเพื่อบริหารจัดการตนเองต้องเป็นส่วนสำคัญของการปฏิรูป โครงสร้างอำนาจตั้งแต่ต้น และอำนาจขององค์กรปกครองท้องถิ่นที่เพิ่มขึ้นก็จะต้องถูกกำกับและตรวจสอบโดย ประชาชนในชุมชนหรือภาคประชาสังคมในท้องถิ่นได้ในทุกขั้นตอน

ส่วนอำนาจหน้าที่ของรัฐบาลนั้น แม้จะลดน้อยลงในด้านการบริหารจัดการสังคม แต่ก็ยังคงมีอยู่อย่างครบถ้วนในเรื่องการป้องกันประเทศและการต่างประเทศ นอกจากนี้รัฐบาลยังคงมีบทบาทสำคัญในการประสานงานและอำนวยการเรื่องอื่นๆใน ระดับชาติ ดังที่ชี้แจงไว้ในข้อเสนอฉบับสมบูรณ์

คณะกรรมการปฏิรูปขอยืนยันว่าการปฏิรูปโครงสร้างอำนาจในทิศทางดังกล่าวมิใช่ การ รื้อถอนอำนาจรัฐ และการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นก็จะไม่มีผลต่อฐานะความเป็นรัฐเดี่ยวของประเทศ ไทย หากยังจะเสริมความเข้มแข็งให้กับรัฐไทย และช่วยลดแรงกดดันที่มีต่อรัฐไปด้วยพร้อมๆกัน

นอกจากนี้ เรายังเชื่อว่าการกระจายอำนาจลงสู่ชุมชนท้องถิ่นก็ดี และการกระจายอำนาจจากรัฐสู่ภาคประชาสังคมโดยรวมก็ดี ไม่เพียงจะช่วยลดความเหลือมล้ำในสังคม แต่ยังจะส่งผลอย่างสูงต่อความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในระดับชาติ ทั้งนี้เพราะมันจะทำให้อำนาจสั่งการและผลประโยชน์ที่ได้จากการกุมอำนาจใน ส่วนกลางมีปริมาณลดลง ผู้ชนะบนเวทีแข่งขันชิงอำนาจไม่จำเป็นต้องได้ทุกอย่างไปหมด และความขัดแย้งก็ไม่จำเป็นต้องมีลักษณะเอาเป็นเอาตาย กระทั่งอาจกล่าวได้ว่าการปฏิรูปโครงสร้างอำนาจ แท้จริงแล้วคือการปฏิรูปการเมืองอีกวิธีหนึ่ง

ในด้านความอยู่รอดมั่นคงของสังคม การปฏิรูปโครงสร้างอำนาจยังนับเป็นยุทธศาสตร์สำคัญที่จะทำให้ประเทศไทยมี ความพร้อมมากขึ้นในการอยู่ร่วมกับกระแสโลกาภิวัตน์ ทั้งนี้เนื่องเพราะการปล่อยให้ประชาชนในท้องถิ่นที่อ่อนแอตกอยู่ภายใต้อำนาจ ของตลาดเสรี โดยไม่มีกลไกป้องกันตัวใดๆ ย่อมนำไปสู่หายนะของคนส่วนใหญ่อย่างเลี่ยงไม่พ้น

คณะกรรมการปฏิรูปตระหนักดีว่าการปฏิรูปโครงสร้างอำนาจในระดับลึกซึ้งถึงราก ไม่ใช่เรื่องง่าย และอาจจะส่งผลกระทบต่อหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง แต่เราก็เชื่อว่าการปรับปรุงประเทศชาติในทิศทางข้างต้นมีความเป็นไปได้ ถ้าหากประชาชนส่วนใหญ่มีฉันทานุมัติว่าสิ่งนี้คือกุญแจดอกใหญ่ที่จะนำไปสู่ ความเจริญรุ่งโรจน์ของบ้านเมือง

ดังนั้น เราจึงใคร่ขอเรียนเชิญประชาชนคนไทยทุกหมู่เหล่า สื่อมวลชนทุกแขนง ตลอดจนพรรคการเมืองทุกพรรคและกลุ่มการเมืองทุกกลุ่มมาช่วยกันพิจารณาข้อเสนอ ชุดนี้อย่างจริงจังตั้งใจ เพื่อจะได้นำบรรยากาศสังคมไปสู่การวางจังหวะก้าวขับเคลื่อนผลักดันให้การ ปฏิรูปโครงสร้างอำนาจปรากฏเป็นจริง

ด้วยมิตรภาพ

คณะกรรมการปฏิรูป

๑๘ เมษายน ๒๕๕๔

นมัสการค่ะ พระอาจารย์ วันนี้ได้ไปที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เป็นผู้ช่วย ดร.ขจิต ฝอยทอง ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท