ข้อจำกัดบางอย่างของ Multi Slice CT Scan


ข้อจำกัดที่พบของเครื่องตรวจวินิจฉัยชนิดนี้ คือ ไม่สามารถเอียงแกนตรีได้ รวมถึงต้องกำหนดพื้นที่ในการสแกนกว้างมากขึ้น

สวัสดีครับ

วันนี้ผมขอนำเสนอเรื่องราวข้อจำกัดที่พบจากการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง (CT Scan brain) เมื่อใช้ Multi Slice CT Scan 128 slices ณ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

 

 

  

1. แกนตรี (Gantry) เอียงไม่ได้

เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์รุ่นนี้ เอียงแกนตรี ไม่ได้ ดังนั้นในการตรวจสมอง จึงต้องพยายามให้ผู้รับบริการก้มหน้าให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อต้องการให้บริเวณดวงตาของผู้รับบริการ พ้นจากพื้นที่การสแกน (scan) ซึ่งเป็นเทคนิคหนึ่งที่ใช้ เพื่อลดความเสี่ยงภัยต่อดวงตาที่จะได้รับรังสีให้กับผู้รับบริการ

 

 

ภาพการตรวจสมอง (โดยใช้หุ่นจำลอง) ที่มีการใช้เทคนิคการเอียงแกนตรี จะเห็นเส้นปะที่เอียง เพื่อไม่ต้องการให้รังสีเอกซ์ผ่านบริเวณดวงตา  

 

 

 

ภาพการตรวจสมอง (โดยใช้หุ่นจำลอง) แสดงการสแกน เมื่อไม่เอียงแกนตรี จะเห็นเส้นปะ คือ แนวลำรังสีเอกซ์ที่ผ่านบริเวณดวงตา และส่วนอื่นๆ

 

คลิก เพื่อศึกษาเอกสารเพิ่มเติมเกี่ยวกับ การศึกษาการวัดปริมาณรังสีกระเจิงที่เลนส์ตาฯ

 

 

 

 

2. ใช้พื้นที่ในการสแกน (Scan range) กว้างขึ้น

เนื่องจากข้อมูลที่เกิดขึ้นจากการสแกน นำมาสร้างและแสดงออกมาเป็นภาพจะขาดข้อมูลบางส่วนของภาพแรกๆ และหรือ ภาพใกล้ๆสุดท้าย (สัญญาณหรือข้อมูลไม่สมบูรณ์ ขาดหายไป)

 

 

 

การทดสอบ โดยกำหนดพื้นที่ในการสแกนให้ครอบคลุมเฉพาะที่สนใจ เริ่มต้นจากฐานกะโหลกไปถึงส่วนบนสุดของกะโหลก (บริเวณที่สนใจกรอบสีเขียว) 

  

 

ภาพที่ 1

 

ผลที่เกิดขึ้น คือ ภาพบริเวณส่วนล่าง (Base of skull) และส่วนบน (Vertex) ของกะโหลกศีรษะที่ภาพไม่สมบูรณ์ บางส่วนของอวัยวะที่สนใจขาดหายไป 

 

 

ภาพซ้าย ฐานกะโหลกส่วนล่างขาดไป

 

 

ภาพขวา เนื้อเยื่อด้านหน้า ด้านบนขาดหายไป

 

 

  

 

ชุดภาพตัดขวาง แสดงให้เห็นว่า มีพื้นที่ขาดหาย(ฐานกะโหลก) จากการสแกน และภาพสมบูรณ์ค่อยๆเพิ่มขึ้นมาตามลำดับ

 

  

  

สมมุติฐานของผม คือ ข้อมูลใน กรอบสามเหลี่ยม (สีฟ้า) ที่ผมแสดงไว้ในภาพ น่าจะเป็นจุดอับสัญญาณ ทำให้มีข้อมูลบางส่วนที่ขาดหายไป ซึ่งจะเกิดบริเวณส่วนปลายของหัววัดรังสี (ส่วนพื้นที่ในกรอบสีส้ม เป็นข้อมูลที่สมบูรณ์ 

  

 

 

ดังนั้น เมื่อต้องการสร้างภาพให้ครอบคลุมอวัยวะหรือพื้นที่การตรวจ ควรจะต้องกำหนดพื้นที่ในการสแกนให้ กว้างขึ้นกว่าเดิม ประมาณ 1 เซนติเมตร

 

ตัวอย่าง การกำหนดให้พื้นที่ในการสแกนกว้างมากกว่าสมอง

 

 

 

 

ภาพที่ 2  

 

 

ภาพมีความสมบูรณ์ครอบคลุมอวัยวะที่สนใจ

 

 

 

 

เมื่อเพิ่มพื้นที่การสแกนมากขึ้น จะทำให้ปริมาณรังสีที่เกิดขึ้นตามไปด้วย สามารถศึกษาเพิ่มเติม ปริมาณรังสีในซีที

 

 

 

 

ในภาพ NON CONTRAST (ภาพที่ 1) เปิดพื้นที่สแกนครอบคลุมเฉพาะศีรษะ ปริมาณรังสีที่เกิดขึ้น เท่ากับ 1027.3 mGy*cm ส่วน BRAIN2 LOWER (ภาพที่ 2) เปิดพื้นที่สแกนกว้างมากกว่า NON CONTRAST ซึ่งปริมาณรังสีที่เกิดขึ้น เท่ากับ 1057.4 mGy*cm

 

จะเห็นได้ว่า... เมื่อใช้พื้นที่ในการสแกนมากขึ้น ปริมาณรังสีที่เกิดจะมากขึ้นตามไปด้วย นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นๆที่เกี่ยวข้องที่ทำให้ปริมาณรังสีที่ใช้ในการตรวจสามารถเปลี่ยนแปลงได้  

 

 

ในปัจจุบันเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์แต่ละบริษัท แต่ละรุ่นได้พยายามออกแบบมา เพื่อใช้ในการตรวจวินิจฉัยที่แตกต่างกัน ตรวจอวัยวะที่แตกต่างกัน ซึ่งจะมีข้อเด่น ข้อด้อย หรือข้อจำกัดที่แตกต่างกันได้

 

 

ดังนั้น... ผู้ปฎิบัติงานรังสีเทคนิค ควรศึกษาและทำความเข้าใจในเครื่องตรวจวินิจฉัยที่ตนเองใช้งาน เพื่อให้มีความรู้ ความเข้าใจ พัฒนาทักษะในการควบคุม ใช้งานเครื่องตรวจวินิจฉัยดังกล่าว ให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด ช่วยลดความเสี่ยงภัยต่อผู้รับบริการ ต่อผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานวิชาชีพ คุณภาพ และ คุณธรรมต่อไป

 

 

หมายเลขบันทึก: 435952เขียนเมื่อ 19 เมษายน 2011 16:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 มีนาคม 2014 11:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

ขอบคุณครับอาจารย์ ผมว่ามันแปลกเหมือนกัน ที่ภาพบางส่วนจะขาดหายไปได้ แต่ถ้าเอกซเรย์ธรรมดาถ้าเปิดแสงไม่คลุมอวัยวะที่ต้องการภาพแบบนี้ก็น่าจะเกิดขึ้นได้ แต่นี้เป็นซีที ทำไมถึงเป็นแบบนี้ได้ครับ ผมว่าต้องมีอะไรไปปิดบังลำแสงบางช่วงทำให้ภาพออกมาขาดหายไป ( เพราะมีภาพที่ขาดหายไปถึง5-6 ภาพ)

สวัสดีครับ คุณอนุสรณ์

เนื่องจากหัววัดรังสีที่มีความโค้ง รวมถึงลักษณะการหมุนที่เป็นเกลียว ทำให้ขบวนการสร้างภาพจากการกวาดข้อมูลบริเวณส่วนปลายของหัววัดรังสีแคบ เป็นจุดอับสัญญาณได้ครับ คล้ายกับเงามัวบริเวณขอบของการถ่ายภาพรังสีทั่วไป ครับ

ทำไมจึงเอียงแกนตรีไม่ได้ครับ อาจารย์

สวัสดีครับ คุณปรีชา ผมขอนำภาพหัววัดรังสีมาใช้ชม ครับ

ภาพที่ 1 เป็นหัววัดรังสีชนิดแบบบรรจุซีนอนก๊าซ เป็นช่องเล็กๆเรียงติดต่อกัน ความกว้างแต่ละช่องประมาณ 1 มม. ความยาว ประมาณ 1 นิ้ว รุ่นนี้เอียงแกนตรีได้

 

 

ภาพที่ 2 เป็นหัววัดรังสี Multi Slice CT 128 slices (ลูกศรชี้) หัววัดชิ้นเล็กทั้งหมดที่เรียงติดต่อกัน ยาวประมาณ 6 นิ้ว 

 

ภาพที่ 3 แสดงภาพเมื่อหลอดเอกซเรย์และหัววัดรังสีหมุนรอบผู้ป่วย จะมีบางส่วนของรังสีซ้อนทับ (ภาพล่างสีฟ้า) และ ไม่ซ้อนทับกัน (สีส้ม) ทำให้ระบบประมวลผล เก็บข้อมูลได้ไม่สมบูรณ์ในบางส่วน หากต้องการข้อมูลที่สมบูรณ์ จึงต้องสแกนโดยใช้พื้นที่การสแกนกว้างมากขึ้น

เนื่องจากหัววัดรังสีมีขนาดใหญ่ ใช้การหมุนแบบเป็นเกลียว และ ข้อมูลมีการซ้อนทับกัน จากสาเหตุเหล่านี้ คงทำให้ผู้ออกแบบ ต้องออกแบบให้แกนตรีตั้งตรงเพียงอย่างเดียว ครับ

วราภรณ์ ศิลาวิเศษ (อ้อย)

วันว่างนั่งอ่านข้อมูลแล้ว สะดุด สรุปปิดท้ายที่ อ.ต้อมเขียนไว้

ในการทำงานกับเครื่องนี้การจัดท่าโดยให้ผู้ป่วยก้มหน้าให้เส้นที่ลากจากหางตา (OMBL)ตั้งฉากกับรูหูเพื่อให้ Base of skull ได้ระนาบเดียวกันกับ Gantry ที่เอียงไม่ได้ พื้นที่ scan เริ่มที่ขอบบนของ C2 จนหมดหัว จะได้ข้อมูลมาทำ Reconstuction Axial view ได้คุณภาพที่ดี ซึ่งเป็นศิลปะการทำงานรังสีส่วนหนึ่งเราต้องให้ผู้ป่วยได้รับรังสีเท่าที่จำเป็น จึงได้แนวคิดทำโครงการขึ้นมา ชื่อ ของพังทำเป็นของดี แนวคิค นำเสื้อตะกั่วที่ชำรุดมาตรวจสอบเลือกเอาแผ่นตะกั่วส่วนที่ดี มาทำ Hard shield Thyloid grand ออกแบบวัดขนาดตัดตกแต่งให้ปิดต่อมไทรอยด์ได้หมดและคลุมรอบคอ ให้แผ่นตะกั่วอยู่ต่ำกว่า C2 ดังนั้นจึงไม่เข้าไปรบกวนการสร้างภาพ และป้องกันรังสีกระเจิงให้ต่อมไทรอยด์ ที่เกิดจากการ ทำ CT scan Brain /

คิดและทำเสร็จแล้วค่ะ ตามที่อาจารย์สอนไว้ >ททท (ทำทันที่)

ตามดูงานอ้อยด้วยนะค่ะ

/ ขอบคุณ ค่ะ

สวัสดีจ๊ะ อ้อย

รับทราบและรอติดตามผลงาน ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท