ชีวิตนักศึกษาสถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชน (๒) : ชาญวิทย์ โชติไชยฤทธิ์


จากลูกเรือ สู่ช่างเครื่อง นายท้าย ไต้ก๋ง และเจ้าของกองเรือประมงทะเลลึกที่อวดธงไตรรงค์อยู่ในอ่าวไทย

มีคำกล่าวสำหรับนักเดินทางทางทะเลว่า "คืบก็ทะเล ศอกก็ทะเล" อันหมายถึงอันตรายอาจเกิดขึ้นได้ทุกเวลา วันศุกร์ที่ ๘ เมษายน ๒๕๕๔ ผมได้มีโอกาสไปเยี่ยมบ้านและสำนักงานของนักศึกษาที่ผมรู้สึกว่าเขาเป็นผู้รู้จักทะเลดีที่สุดคนหนึ่ง เขาเป็นนักศึกษาในหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาสหวิทยาการเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ที่ผมได้รับมอบหมายให้เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ชื่อ ชาญวิทย์ โชติไชยฤทธิ์ โดยมีภรรยาที่ทำสวนลิ้นจี่อยู่ที่อำเภออัมพวา จ.สมุทรสงคราม มานั่งร่วมพูดคุยด้วย ทั้งสองมีลูกที่กำลังอยู่ในวัยเรียน ๒ คน

http://gotoknow.org/file/surachetv/CharnwitAndWife20110408a.jpg
คุณชาญวิทย์กับภรรยาที่บ้านพัก ชุมชนบางจะเกร็ง ๑

หลังจากคุยที่บ้านแล้วก็ไปดูสำนักงาน ไปดูตลาดปลาสหกรณ์ประมงสมุทรสงคราม ไปดูเรือของเขาที่กำลังนำกลับมาซ่อม ๒ ลำ จากนั้นเขาก็พาผมไปกินปลาทูที่ร้านเจ้เก็กฮวยเชิงสะพานยาวข้ามแม่น้ำแม่กลองของอดีตไต้ก๋งเรือคนหนึ่ง เป็นปลาทูโป๊ะที่เหลืออยู่เพียงไม่กี่เจ้า ที่จับขึ้นมาส่งร้านนี้สดๆ ไม่เหมือนปลาทูที่ถูกอวนลากที่อาจมีรอยช้ำบ้าง ที่สำคัญคือเป็นปลาทูที่ "หน้ายังไม่งอ คอยังไม่หัก" หางปลายังเป็นสีเหลืองอ่อนๆ ขณะที่กินนั้นผมคิดถึงครอบครัวและเพื่อนอาจารย์ วันหนึ่งจะพาพวกเขาไปกิน

http://gotoknow.org/file/surachetv/CharnwitPlaTuMeal20110408e.jpg
ปลาทูสดจากโป๊ะที่ร้านเจ้เก็กฮวย เชิงสะพานยาวข้ามแม่น้ำแม่กลอง

ในวันที่มีการเรียนการสอน คุณชาญวิทย์มักนำอาหารทะเลทั้งปลาและปลาหมึกมาร่วมรับประทานอาหารเที่ยงด้วยกันที่สถาบัน นักศึกษาที่นี่จะรับประทานอาหารเที่ยงด้วยกันทุกวันที่มีการเรียนการสอน โดยแต่ละคนเตรียมมาจากบ้านแล้วเอามารวมกัน อาจารย์จะได้รับเชิญไปร่วมรับประทานด้วยทุกวัน 

คุณชาญวิทย์เคยดำรงตำแหน่งรองประธานกรรมการสหกรณ์ประมงแม่กลองด้วย ๑ สมัย ปัจจุบันเป็นประธานชุมชนบางจะเกร็ง ๑ ในเขตเทศบาลเมืองสมุทรสงคราม อันเป็นที่ตั้งของ “บ้านเรือ ช.โชคชาญชัย” ที่มีสำนักงานของ ช.โชคชาญชัย อยู่ติดกัน

http://gotoknow.org/file/surachetv/CharnwitHouse20110408c.jpg
บ้านเรือ ช.โชคชาญชัย ของคุณชาญวิทย์ที่ชุมชนบางจะเกร็ง ๑

คุณชาญวิทย์มีเรืออวนลาก ๖ ลำ แบบลากคู่ ลำหนึ่งมีมูลค่าทั้งตัวเรือและอุปกรณ์หลายสิบล้านบาท ปัจจุบันไปลากอยู่แถวปัตตานี คุณชาญวิทย์เคยเป็นคนทำงานในเรือมาก่อนตั้งแต่อายุ ๑๒ - ๑๓ ขวบ จากนั้นก็เรียนรู้เรื่องเครื่องยนต์เรือ จนได้เป็น “อินเนีย” (ภาษาชาวเรืออวนลากหมายถึงช่างเครื่อง มาจากคำ เอนจิเนีย) ต่อมาได้เรียนรู้การเป็น “นายท้ายเรือ” ผู้ถือหางเสือ (คนขับเรือ) และไต่เต้าขึ้นเป็น “ไต้ก๋ง” ผู้เป็นผู้ควบคุมทุกสิ่งทุกอย่างในเรือ

เมื่อก่อร่างสร้างตัวจนเป็นเจ้าของเรืออวนลากคู่ ๖ ลำแล้ว คุณชาญวิทย์จึงไม่ต้องลงเรือเองอีกแล้ว เรืออวนลากคู่ทั้ง ๖ ลำของเขาออกทะเลจับปลาด้วยกันเสมอ เป็นกองเรือประมงที่อวดธงไตรรงค์อยู่ในอ่าวไทย

 http://gotoknow.org/file/surachetv/CharnwitWarehouse20110408b.jpg
สำนักงาน ช.โชคชาญชัย ของคุณชาญวิทย์

คุณชาญวิทย์มีโอกาสได้เรียนในโรงเรียนพออ่านออกเขียนได้เท่านั้น แล้วก็ลงเรือประมงเหมือนกับเพื่อนวัยเดียวกันอีกหลายคน เรือลำแรกที่เขาลงไปทำงานด้วยนั้นไปจับปลาในทะเลแถวประเทศมาเลเซีย และขายที่ประเทศสิงคโปร์ สมัยนั้นมาเลเซียยังไม่เข้มงวดเหมือนสมัยนี้ แต่เขาไม่เคยได้ขึ้นฝั่งประเทศใดๆ เพราะไม่มีพาสปอร์ต ตลอดชีวิตการเป็นคนทำงานในเรืออวนลากเขาได้ไปมาแล้วในเกือบทุกน่านน้ำของอ่าวไทย รวมทั้งเวียดนาม

มีช่วงหนึ่งที่เกิดความรู้สึกเบื่อกับความจำเจในทะเล จึงลองขึ้นมาทำอาชีพอื่นบนบกบ้าง อาชีพที่ว่านั้นคือขับรถสามล้อตุ๊กๆ ทำอยู่ได้ปีครึ่งสรุปได้ว่า ไม่มีเงินเหลือเก็บเลย เป็นอาชีพที่หาเช้ากินค่ำจริงๆ สังเกตว่าไม่มีใครร่ำรวยขึ้นมาจากอาชีพนี้เลยด้วย

คุณชาญวิทย์จึงกลับลงสู่เรือทะเลอีกครั้งหนึ่ง ด้วยความมุ่งมั่นว่าวันหนึ่งจะเป็นเจ้าของเรืออวนลากคู่อย่างที่เขาทำงานมาตลอด

จนกระทั่งวันที่ความฝันเป็นความจริงมาถึง “ไต้ก๋งชาญวิทย์” เก็บออมรายได้จากการเป็นไต้ก๋งซื้อเรืออวนลากลำแรกได้สำเร็จ แต่ด้วยความที่ชอบอวนลากคู่ จึงเช่าเรืออีกลำหนึ่งมาเป็นคู่ จนกระทั่งสามารถซื้ออีกลำเป็นของตนเอง และพัฒนาเรื่อยมาจนมี ๖ ลำในวันนี้

http://gotoknow.org/file/surachetv/CharnwitShips20110408d.jpg
เรืออวนลาก ๒ ใน ๖ ลำ ที่กำลังนำกลับขึ้นฝั่งเพื่อซ่อมที่สมุทรสงคราม

วันที่ผมไปเยี่ยมนั้น คุณชาญวิทย์กำลังนำเรือ ๒ ลำกลับมาซ่อมอยู่ที่อู่ซ่อมเรือเชิงสะพานยาวข้ามแม่น้ำแม่กลอง ใกล้ๆ ตลาดปลาสหกรณ์ประมงแม่กลอง หากเป็นซ่อมเล็กๆ ก็ทำที่กำลังจับปลาอยู่ แต่หากเป็นซ่อมใหญ่ก็ต้องนำกลับมาที่สมุทรสงคราม ครั้งนี้เป็นการซ่อมใหญ่ ยกเรือขึ้นบก ซ่อมทั้งเครื่องยนต์และตัวเรือ

คุณชาญวิทย์ที่อายุย่าง ๔๘ ปีในวันนี้มีประวัติที่น่าสนใจ (เช่นเดียวกับผู้มีอาชีพไต้ก๋งเรือประมงทะเลลึกทั่วไป) เขาเป็นคนบางจะเกร็งโดยกำเนิด เกิดในครอบครัวคนจีนที่ไม่มีทรัพย์สมบัติอะไร ลูกทั้ง ๕ คนของครอบครัวนี้ต้องช่วยตนเองตั้งแต่ยังเด็ก คุณชาญวิทย์ตัดสินใจออกจากโรงเรียนตั้งแต่อายุได้ ๑๒ – ๑๓ ขวบ หลังเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ โดยการสนับสนุนของแม่ เพื่อออกทะเลไปกับเรือจับปลา โดยเชื่อว่าการทำงานเป็นการเรียนรู้ เป็นโอกาสของการฝึกฝนตนเองในชีวิตจริง

คุณชาญวิทย์เรียนรู้ทุกสิ่งทุกอย่างที่จำเป็นสำหรับการเติบโตขึ้นในสายอาชีพเรืออวนลาก จากการทำงานสั่งสมประสบการณ์ ที่ไม่มีสถาบันการศึกษาใดในเมืองไทยมีหลักสูตรเช่นนี้ เป็นสิ่งที่ผู้เรียนต้องเรียนรู้ทุกสิ่งทุกอย่างด้วยตนเองผ่านการปฏิบัติ โดยความกรุณาของผู้ที่เคยเดินทางในสายอาชีพนี้มาก่อนให้การชี้แนะสั่งสอน

จากการพูดคุยกับคุณชาญวิทย์ และได้สังเกตการณ์พูดคุยระหว่างคุณชาญวิทย์กับผู้มาสมัครเป็นผู้ช่วยช่างเครื่องยนต์ในเรือ และกับลูกเรือ ผมรู้สึกว่าสิ่งที่คุณชาญวิทย์ได้เรียนรู้ไม่เพียงเฉพาะด้านเทคนิคการเดินเรือและการจับสัตว์น้ำในทะเลเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงวัฒนธรรมของชาวเรือประมงทะเลด้วย ซึ่งผมเชื่อว่าไม่มีในสถาบันการศึกษาไหนมีหลักสูตรเช่นนี้

การสืบทอดวิชาชีพนี้ผ่านการลงมือปฏิบัติและถ่ายทอดสืบต่อกันเองเท่านั้น ใครก็ตามที่ตัดสินใจเดินตามระบบการศึกษาแบบปกติของชาติ ยากที่จะ “กลายเป็น” ชาวเรือประมงทะเลอาชีพไม่ว่าตำแหน่งไหนในเรือเช่นนี้ได้

คุณชาญวิทย์ได้ทำให้ผมเห็นว่า กว่าแต่ละคนจะไต่เต้าถึงตำแหน่งไต้ก๋งเรือนั้น ต้องมีความรู้อะไรและต้องสามารถทำอะไรได้เจนจบแค่ไหน ต้องรู้จักกระแสน้ำและคลื่นลมในทะเลในทุกฤดูกาล ต้องรู้แหล่งที่จะจับสัตว์ทะเล รู้ว่าฤดูกาลไหนจะจับสัตว์ไหนที่ใดบ้าง ต้องมีความสามารถในการสื่อสาร สั่งการ บังคับบัญชาลูกเรือทุกคน (เพราะตนเคยผ่านงานมาแล้วทุกตำแหน่ง) รวมทั้งการนำปลาขึ้นขายในตลาดปลา

ทุกวันนี้แม้คุณชาญวิทย์จะไม่ได้ลงเรืออีกแล้ว แต่ก็ยังสื่อสารผ่านทางช่องทางสื่อสารต่างๆ กับไต้ก๋งเรือทุกลำของเขาทุกวัน โดยเขาสามารถจินตนาการสถานการณ์ในทะเลและสั่งการเรือทุกลำจากบนบกได้

ฟังคุณชาญวิทย์เล่าถึงการเรียนรู้ของเขาแล้ว ผมอดคิดถึงคำพูดของไอน์สไตน์ที่บอกว่า “สิ่งเดียวเท่านั้นที่ก่อกวนการเรียนรู้ของผมคือการศึกษาของผม” ("The only thing that interferes with my learning is my education.)

เปาโล แฟร์ นักการศึกษาที่ยิ่งใหญ่คนหนึ่ง (ที่ต้องลี้ภัยการเมืองออกนอกประเทศ ไปสอนหนังสืออยู่ในมหาวิทยาลัยต่างประเทศ และได้เป็นที่ปรึกษาองค์การยูเนสโก) กล่าวไว้ในหนังสือชื่อ ครูในฐานะผู้ทำงานวัฒนธรรม ว่า”ไม่มีใครที่ไม่รู้อะไรเลย แต่ก็ไม่มีใครที่รู้ทุกอย่าง เราทุกคนรู้บางอย่าง และไม่รู้บางอย่าง” คำพูดนี้เตือนใจผมและเพื่อนอาจารย์ในสถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชน (มหาวิทยาลัยชีวิต) ให้เคารพในความรู้ความสามารถและประสบการณ์ของนักศึกษาผู้ใหญ่ทุกคน การปฏิบัติต่อกันด้วยท่าทีเคารพกันและกันนี้เป็น คุณค่าร่วม (shared value) อันหนึ่งของพวกเรา

คุณชาญวิทย์มีเป้าหมายอันหนึ่งในชีวิต นั่นคือการอุทิศตนเพื่อท้องถิ่นอันเป็นบ้านเกิด นั่นคือการทำงานในตำแหน่งบริหารของเทศบาลแม่กลอง ซึ่งกำหนดให้ต้องใช้คุณวุฒิการศึกษาระดับปริญญาตรี คุณชาญวิทย์จึงไปสมัครเรียน กศน.ตั้งแต่ระดับประถมศึกษา จนกระทั่งจบระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย และอาศัยโอกาสที่สถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชนมาเปิดที่จังหวัดสมุทรสงคราม สมัครเข้าเป็นนักศึกษารุ่นแรก คุณชาญวิทย์บริหารจัดการตนเองได้ดี เขาเล่าว่า ตอนเรียนที่ กศน.ไม่เคยขาดเรียนเลย

คุณชาญวิทย์เองก็รู้สึกทึ่งกับระบบการเรียนการสอนสำหรับผู้ใหญ่ของสถาบันฯ เช่นกัน เพราะแตกต่างกับสถาบันอุดมศึกษาอื่นๆ และเหมาะกับคนอย่างเขาที่มีอาชีพแล้ว เขาไม่ได้มาเรียนเพื่อฝึกอาชีพอีก

ผมก็หวังว่าคุณชาญวิทย์จะได้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ชีวิตและอาชีพการงานของเขากับเพื่อนนักศึกษาคนอื่นๆ จนกระทั่งสำเร็จการศึกษาระดับอุดมศึกษา และได้ทำงานเพื่อสังคมที่เขาตั้งใจต่อไป.

สุรเชษฐ เวชชพิทักษ์
๑๔ เมษายน ๒๕๕๔
 

 

หมายเลขบันทึก: 435349เขียนเมื่อ 14 เมษายน 2011 13:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

“ไต้ก๋งชาญวิทย์” มีชีวิตที่น่าสนใจ และน่าทึ่ง

นักศึกษาชาญวิทย์ เป็นนักศึกษาที่จัดระเบียบเวลาได้ดี

เป็นกำลังใจให้เป้าหมายชีวิตของคุณชาญวิทย์เป็นจริง

และได้ทำงานเพื่อสังคมตามที่ตั้งใจไว้ค่ะ

**ชอบใจที่คุณชาญวิทย์บอกว่า**

"เขาไม่ได้มาเรียนเพื่อฝึกอาชีพ"

ชาลี

นับว่าเป็นต้นแบบนักศึกษา ม.ชีวิตได้ดีเลยทีเดียว

ทรงกฏ.

ผมอยู่ในวงการศึกษาตลอดชีวิต และเน้นเรื่องการศึกษาตลอดชีวิตให้กับตนเองและกับทุกคน

ชื่นชมที่มีการจัดตั้งสถาบันการศึกษาหลากหลายเพื่อเปิดโอกาสให้กับผู้คน เมื่อผมเกษีษณจากงานที่เชียงใหม่

มาอยูกทม.เพื่อมาส่งเสริมการตั้งสถาบันการศึกษาเรื่องสหกรณ์ -เป็นลักษณะสรรพศาสตร์/สหวิทยาการจัดการ

แต่ลักษณะการจัดการไม่จูงใจผู้คน เพราะต้องมีองค์ประกอบหลากหลาย เมื่อทราบเรื่อง ม.ชีวิตแล้วอยากเห็นผู้คนได้มีโอกาส

เรียนแนวใหม่ ชีวิตผู้คนในกทม.คงไม่สนใจการเรียนแนวนี้ประกอบกับใน กทม.มีสถาบันอุดมศึกษามากมาย ผู้คนคงไม่สนใจ

การศึกษาแนว ม.ชีวิต แต่เมื่อได้อ่านชีวิตของคุณชาญวิทย์ ทำให้ผมมีกำลังใจที่จะทำงานต่อไปครับ

วีระ คำวิเศษณ์ - ศรป.กทม. โทร. 080-793-4841

เรื่องของคุณชาญวิทย์ ทำให้ผมนึกถึงสุภาษิตจีนบทหนึ่งที่ว่า 'เดินทางไกลหมื่นลี้ ดีกว่านอนกอดตำราหมื่นเล่ม'

แต่ที่น่าชื่นชมยิ่งกว่าคงไม่ใช่เพียงประสบการณ์ หากแต่เป็นการที่คุณชาญวิทย์ได้อดออมและแปรรูปประสบการณ์

ทั้งหลายเหล่านั้นให้กลายมาเป็นความมั่นคงในชีวิตและครอบครัวตนเองได้

ขอให้วันหนึ่งข้างหน้าคุณชาญวิทย์ได้รับโอกาสนำประสบการณ์ของตนเองมาแปรรูปให้เป็นประโยชน์ของชุมชน

และสังคมสมดังความตั้งใจนะครับ

  • ผมก็เห็นว่าเป็นเรื่องราวของชีวิตที่เป็นแรงบันดาลใจ
  • ถูกใจภาษิต 'เดินทางไกลหมื่นลี้ ดีกว่านอนกอดตำราหมื่นเล่ม'
  • ผมลืมคำว่า "ปริญญาชีวิต" ในบันทึกไปได้อย่างไร?

ภูมิใจที่ได้เป็นลูกพ่อค่ะ :)

เคยได้ยินเรื่องราวของ มหาวิทยาลัยชีวิต มานานพอสมควรแล้ว แต่ไม่ได้ติดตาม วันนี้ได้ทราบว่าได้พัฒนามาเป็น "สถาบันการเรียนรู้เพื่อชุมชน" ที่จะขยายเครือข่ายก้าวหน้าต่อไป

ขอแสดงความชื่นชมกับ วิสัยทัศน์ ของสถาบัน ที่ตั้งใจให้

"เป็นสถาบันอุดมศึกษาทางเลือกเพื่อชุมชน ที่จัดกระบวนการเรียนรู้เพื่อให้ชุมชนเรียนรู้ ชุมชนเข้มแข็ง และให้ผู้เรียนสามารถอยู่อย่างมีศักดิ์ศรีและมีกินในท้องถิ่นของตนเองได้" ครับ

พรินทร์ เพ็งสุวรรณ

การเดินทางเป็นการเรียนรู้อย่างดี เช่นเดียวกับการเรียนรู้จากการทำจริงอย่างคุณชาญวิทย์

บางทีอ่านหนังสือแค่รู้ (ยิ่งอ่านไม่แตกรู้ไม่จริงอีก) ไม่ต้องพูดว่าจะทำได้หรือไม่จากการอ่านหนังสือ เป็นบางความรู้สึกของตัวผมเอง

รู้สึกชื่นชมและทึ่งคุณชาญวิทย์ ที่คุณเรียนเพื่อให้สิ่งดีๆกับชุมชนของคุณ

ขอให้คุณสมหวังและเป็นต้นแบบที่ดีของอนาคตนะคะ

รู้สึกชื่นชมความพยายามของคุณชาญวิทย์มาก ที่พัฒนาขีดความสามรถของตนเองทุกเรื่อง และนำมาให้ทุกคนและรุ่นน้องได้ศึกษา ขอชื่นชมด้วยความจริงใจ และขอให้ก้าวหน้าต่อไป

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท