กลยุทธ์การทำวิทยานิพนธ์/ดุษฎีนิพนธ์ (ดีเด่น)


เก็บเป็นกลยุทธ์ที่ควรทำตามอย่างที่สุดค่ะ ^^

ที่บ้าน

ในวันสงกรานต์

วันนี้ แอมมี่เกิดอารมณ์ขยันขึ้นมาจิ๊ดนึง  จึงตั้งใจว่าจะอ่านงานวิจัยเพิ่มเติมเพื่อเขียนดุษฎีนิพนธ์ของตัวเองให้จบในเร็ววัน  อ่านไปอ่านมาก็ไปเจองานวิจัยชิ้นนี้เข้า พบว่าน่าสนใจอย่างยิ่่ง

งานวิจัยมีชื่อว่า "การศึกษากลยุทธ์การทำวิทยานิพนธ์ครุศาสตร์มหาบัณฑิตระดับดีมากของบัณฑิตวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย"  โดยคุณดุจเดือน อิ่มโพธิ์ ซึ่งเป็นวิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต คณะครุศาสตร์ (อุดมศึกษา) ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี 2538

ถึงงานวิจัยชิ้นนี้จะเก่าไปแล้วใช้อ้างอิงไม่ได้  แต่กลยุทธ์ก็น่าสนใจและยังถือว่าทันสมัย ใช้การได้ดีอยู่ (จริงๆนะคะ)  และแอมมี่ก็เชื่อว่า หากท่านผู้ใดทำตามกลยุทธ์ (คลาสสิค) ดังกล่าว ก็น่าจะสามารถจะทำ ไม่ว่าวิทยานิพนธ์มหาบัณฑิตหรือดุษฎีนิพนธ์ระดับปริญญาเอก ได้อย่างรวดเร็ว และอาจจะได้ระดับดีมาก หรือดีเด่นไปเลยค่ะ

นี่คือ ผลการวิจัยค่ะ

ภาพรวมของกลยุทธ์การทำวิทยานิพนธ์ครุศาสตร์มหาบัณฑิตระดับดีมาก มีประเด็นที่สำคัญเสนอได้ดังนี้

   1. การวางแผนการทำวิทยานิพนธ์ กลยุทธ์ที่สำคัญคือ มีการวางแผนที่รัดกุมแล้วปฏิบัติจริงตามกำหนดที่วางไว้ มีการวางแผนโดยเตรียมข้อมูลที่ตั้งใจจะศึกษาตั้งแต่เรียนรายวิชาปีที่ 1 โดยเตรียมงานในแต่ละขั้นตอนอย่างละเอียด และสิ่งที่สำคัญคือจะต้องปรึกษาอาจารย์ที่ปรึกษาอย่างสม่ำเสมอ

   2. การดำเนินการทำวิทยานิพนธ์ มีกลยุทธ์ที่สำคัญคือ ขั้นการเสนอโครงร่างวิทยานิพนธ์ (บ 18) พิจารณาหาหัวข้อวิทยานิพนธ์เรื่องที่น่าสนใจมีความสำคัญและเป็นประโยชน์ ในการหาอาจารย์ที่ปรึกษาควรพิจารณาหาอาจารย์ที่ปรึกษาที่มีความเข้าใจและ สนใจหัวข้อที่ผู้วิจัยสนใจ และมีเวลาให้กับผู้วิจัย สำหรับขั้นดำเนินการทำวิทยานิพนธ์ เริ่มจาการศึกษาค้นคว้าเอกสาร ต้องอ่านเอกสารที่น่าสนใจที่เกี่ยวข้องกับวิทยานิพนธ์ที่ทำและเก็บรวบรวมให้ได้มากที่สุด แล้วจึงตัดออกภายหลัง การสร้างเครื่องมือรวบรวมความคิดเห็นจากผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญหลายคน ในการสรุปการวิเคราะห์ข้อมูลจะสรุปโดยยึดวัตถุประสงค์ของการวิจัยเป็นหลัก และสรุปให้ตรงประเด็น/ชัดเจนตามความเป็นจริง ในการอภิปรายผลให้อภิปรายตามข้อค้นพบที่ได้และการเขียนรายงานต้องสรุป ประเด็นสำคัญและใช้คำให้กระชับเข้าใจง่ายและตรงประเด็นสำหรับการสอบป้องกัน วิทยานิพนธ์นั้นต้องการการศึกษาของตนเองให้เข้าใจชัดเจนตลอดตั้งแต่เริ่มต้นทำ จนแล้วเสร็จ

   3. การบริหารเวลาการทำวิทยานิพนธ์ มีกลยุทธ์ที่สำคัญคือ มีการร่วมกันกับอาจารย์ที่ปรึกษาวางแผนตารางเวลานัดหมาย มีการค้นคว้าเอกสารตลอดเวลาที่ว่าง โดยค้นคว้าเอกสารในห้องสมุดทุกวันแล้วจดบันทึกสรุปรายละเอียด มีการจัดสรรเวลาในการเขียนวิทยานิพนธ์อย่างต่อเนื่อง มีการอุทิศเวลาในการทำวิทยานิพนธ์อย่างจริงจัง ตลอดจนการลาเรียนเต็มเวลาจนกระทั่งทำวิทยานิพนธ์แล้วเสร็จ

   4. การเขียนวิทยานิพนธ์ มีกลยุทธ์ที่สำคัญคือ มีการเขียนให้กระชับชัดเจน รัดกุม ถูกต้องตามหลักภาษาและอย่าเขียนให้เกิดข้อสงสัยมีการเชื่อมโยงต่อเนื่องกัน ทุกบท สำหรับการเขียน

     บทที่ 1 เขียนชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของปัญหาที่จะศึกษาโดยใช้ข้อมูลประกอบและเขียน โน้มน้าวถึงประเด็นปัญหาให้เป็นรูปธรรม

     บทที่ 2 เลือกประเด็นที่เกี่ยวข้องจริง ๆและแต่ละหัวข้อต้องเชื่อมโยงต่อเนื่องกัน

     บทที่ 3 เขียนตามขั้นตอนการปฏิบัติจริงอย่างละเอียดและให้เข้าใจง่ายที่สุด

     บทที่ 4 มีการออกแบบตารางการวิเคราะห์ข้อมูลให้ง่ายแก่ผู้อ่านมากที่สุด และ

     บทที่ 5 ต้องเขียนตามจุดประสงค์ของการวิจัยและหาเหตุผลมาสนับสนุนการอภิปราย

   5. การปรับตัวของนิสิตที่เอื้ออำนวยในการทำวิทยานิพนธ์ให้ได้ระดับดีมาก  มีการฝึกฝนตนเองให้มีความอดทนสูงในการทำงาน ปรับปรุงการทำงานให้มีความละเอียดรอบคอบและมีความเชื่อมั่นในตนเอง สร้างนิสัยรักที่จะค้นคว้าแสวงหาความรู้ใฝ่รู้ ใฝ่เรียนในเรื่องที่วิจัย และฝึกให้มีการทำงานที่เป็นระบบ

ท่านที่อยากอ่านเพิ่มเติม เข้าดูได้ที่ http://www.thaithesis.org/detail.php?id=1082538000284

 

เป็นยังไงบ้างคะ??? 

หลายๆท่านคงจะบอกว่า แหม ก็รู้ๆ กันอยู่แล้วแหละน่า .... แต่เจ้าสิ่งที่รู้อยู่ กับการลงมือทำจริง มันไม่เหมือนกันจริงๆ ใช่มั๊ยคะ 

ปีใหม่สงกรานต์นี้ แอมมี่เองก็คิดว่าคงจะกลับมาเพิ่มวินัยให้กับตัวเองอย่างแรง (แอบโดนผลักดันมานิดๆ จากท่านอาจารย์ที่ปรึกษา ซึ่งเป็นถึงผู้อำนวยการหลักสูตรฯ เลยต้องกลับมาตั้งใจ ให้สมกับที่ท่านไว้ใจและให้กำลังใจเสมอมา ...ขอบพระคุณค่าท่านอาจารย์ ^^)

มาค่ะ  มาลงมือทำ Thesis / DS กันดีกว่า 

แอมมี่จะลงมือทำเป็นเพื่อนนะคะ  (งานแอมมี่ชื่อ ผู้นำกับการสร้างองค์การอัจฉริยะ ค่ะ)

ใครอยากเป็นเพื่อนกับแอมมี่บ้าง ยกมือขึ้น ^^

สุขสันต์วันสงกรานต์ 2554 ค่ะ

 

แอมมี่ - อิศราวดี ชำนาญกิจ

13 เมษายน 2554

หมายเลขบันทึก: 435306เขียนเมื่อ 13 เมษายน 2011 22:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:41 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

คุณแอมมี่คะ ถึงแม้ว่าฉันจะเพิ่งอ่านบันทึกของคุณในวันนี้ มันก็ยังมีค่าตอนการทำวอทยานิพนธ์ของฉันค่ะ ฉันกำลังทำบทที่ 4-5 แต่ทำไม่ถูก ฉันเก็บข้อมูลแล้ว แต่ลงในบทที่ 4-5 ไม่ได้ กำลังเครียดเลย คุณคงจะจบแล้วนะคะ ฉันไม่รู้จะพยายามยังไง ครูเดียร์

ขอบคุณครับผมกำลังจะเริ่มทำวิทยานิพนธ์ในเร็วๆนี้ ตอนนี้กำลังหาข้อมูลว่าควรจะทำอย่างไรดี ได้ประโยชน์จากบทความนี้มากๆครับ

แนะนำให้นะครับ จริงๆแล้วไม่ว่าจะเป็นวิทยานิพนธ์แผน ก. หรือ ไอเอส แผน ข. จริงแล้วมันก็คือการทำวิจัยนั่นเอง วิทยานิพนธ์ก็คือการเขียนรายงานการวิจัยนั้นๆอย่างเป็นระบบมีระเบียบแบบแผน จากประสบการณ์สอนที่ผ่านมา นักศึกษาส่วนใหญ่ยังสับสนส่วนใหญ่คิดว่าการทบทวนวรรณกรรมคือขั้นตอนที่ 2 จริงๆแล้วมันคือขั้นตอนแรกของการทำวิจัยเพราะเราต้องทบทวนเพื่อหารประเด็นหาตัวแปร เพียงแต่มันไปอยู่ในลำดับที่ 2 ของการเขียนรายงานเท่านั้นเอง วิทยานิพนธ์จะเกิดขึ้นได้ก็ตอเมื่องานวิจัยของเราเสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว วิทยานิพนธ์ มาจากคำ 2 คำ คือ วิทยา + นิพนธ์ วิทยา แปลว่าความรู็ นิพนธ์ แปลว่าการเขียนหนังสือการเขียนรายงาน ดังนั้นวิทยานิพนธ์จึงแปลว่าการเขียนหนังสือที่เกี่ยวข้องกับความรู้ที่เราทำการศึกษาค้นคว้าของเรานั่นเอง

อาจารย์พี่อั๋น (0934292058)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท