ชีวิตที่พอเพียง : ๑๒๒๕. ฝึกสมองกรองความทุกข์ทิ้งไป


 

          บทความเรื่อง Healing the Hurt. Finding new ways to treat pain. โดย Alice Park  และเรื่อง Beyond Drugs : How alternative treatments can ease pain โดย John Cloud ในนิตยสารไทม์  ฉบับวันที่ ๒๑ มี.ค. ๕๔ บอกว่า ความปวดเรื้อรังนอกจากเป็นอาการแล้ว ยังอาจมองเป็นตัวโรคเองได้ด้วย   เพราะเขาตรวจพบว่าสมองของคนที่มีความเจ็บปวดเรื้อรัง แตกต่างจากสมองของคนปกติ ทั้งทางกายภาพและทางพฤติกรรมภายในสมอง

           นี่คือความรู้ใหม่ สำหรับจัดการกับความเจ็บปวดเรื้อรัง   คือแทนที่จะมองความเจ็บปวด เป็นเพียงอาการ และแก้ไขโดยบรรเทาอาการ   ก็มองใหม่ว่าความเจ็บปวดเรื้อรังเป็นโรค และแก้ไขโดยการป้องกันไม่ให้เกิดโรคนั้น

          มองใหม่ได้ว่า ความเจ็บปวดเรื้อรัง เป็นโรคของระบบประสาทกลาง   คือสมองทำงานผิดปกติ

          กลไกการรับรู้และตอบสนองความเจ็บปวด เป็นกลไกเพื่อความอยู่รอดของชีวิต   วิวัฒนาการมาตั้งแต่สิ่งมีชีวิตชั้นต่ำ   แต่ในคน มีกลไกที่ผิดพลาด ทำให้สมองรับรู้ความเจ็บปวดผิด  แทนที่จะเป็นประโยชน์เพื่อการอยู่รอดของชีวิต  กลับทำให้มีชีวิตด้วยความทุกข์ทรมานจากความรู้สึกเจ็บปวดนั้น  

          ตัวเลขบอกว่า คนอเมริกันร้อยละ ๑๐ มีความเจ็บปวดเรื้อรัง

          ผลการวิจัยบอกว่าคนเหล่านี้มีสภาพที่เครือข่ายใยประสาทรับรู้ความเจ็บปวดไวเกิน   และเมื่อสมองรับรู้ความเจ็บปวด  จะส่งสัญญาณไปยังไขสันหลัง   ซึ่งจะส่งสัญญาณไปยังจุดที่ปวด   เช่นที่ข้อ และก่อความเสียหายที่ข้อเพิ่มขึ้น   เกิดเป็นวงจรชั่วร้าย (vicious cycle)   ยิ่งปวดข้อยิ่งเสื่อม ทำให้ยิ่งปวดมากขึ้น

          วิธีรักษาโรคปวดเรื้อรังจึงต้องแก้ที่ต้นเหตุ ไม่ใช่มัวให้ยาแก้ปวดเพื่อแก้ปลายเหตุ   เมื่อโรคนี้เกิดจากระบบประสาทกลาง คือสมอง ทำงานผิดปกติ เราก็แก้โดยฝึกให้สมองทำงานปกติ   มีผลการวิจัยยืนยันด้วย brain imaging ว่า การคิดเรื่องราวที่ให้ความรู้สึกดี ช่วยลดความรู้สึกเจ็บปวดได้จริง

          แน่นอนว่า คนที่มีความเจ็บปวดเรื้อรัง มีทั้งสาเหตุของความปวด  ในกรณีนี้ความปวดเป็นสัญญาณให้เราแก้ไขสาเหตุนั้นเสีย   ซึ่งบางกรณีจะเป็นสัญญาณที่ช่วยชีวิตทีเดียว   ดังกรณีของเพื่อนผมคนหนึ่ง เป็นมะเร็งที่ตับอ่อนก้อนเล็กนิดเดียว   แต่มันก่อความเจ็บปวดและไม่สบายอย่างรุนแรง   ช่วยให้หมอตรวจพบมะเร็ง จัดการผ่าตัดออก ช่วยให้ชีวิตยืนยาว และทำประโยชน์ต่อสังคม ได้อีกนาน   ถ้าก้อนมะเร็งนั้นมันอยู่เงียบๆ ไม่ก่อความเจ็บปวดและเจ็บป่วย   กว่าจะรู้ว่ามีมะเร็งก็ลุกลามไปมาก ชีวิตของเพื่อนผมก็จะสั้นมาก

          แต่ความรู้สมัยใหม่บอกเราว่า คนที่มีความเจ็บปวดเรื้อรังจำนวนมากปวดเกินสาเหตุ   เพราะสมองรับรู้สัญญาณความเจ็บปวดแบบขยายสัญญาณ  คือเกิดจากความผิดปกติในการทำงานของสมอง   จึงต้องหาทางฝึกสมองให้เลิกทำงานผิดปกติในเรื่องวงจรสัญญาณความเจ็บปวด   เขามีวิธีการได้ ๒ แบบ

 

          แบบแรกเป็นการรักษาแบบที่เรียกว่าตามสมัย (conventional)   คือแก้สาเหตุที่ตรวจพบ และใช้ยาแก้ปวด  ทำให้บริษัทยารวยไปตามๆ กัน

 

          แบบที่ ๒ เรียกว่าทางเลือก (alternative) ซึ่งแบ่งออกเป็น ๕ กลุ่มย่อย คือ

(๑) การนวด ที่เป็นการนวดให้มีแรงกดลึกๆ  มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ว่า การนวดแบบนี้แม้เพียงครั้งเดียว ก็ช่วยลดฮอร์โมนเครียด  และช่วยลดอาการปวดจากมะเร็ง
(๒) โยคะ ช่วยการหลั่งเอ็นดอร์ฟิน ซึ่งมีฤทธิ์ลดปวด
(๓) ฝังเข็ม ช่วยลดปวดได้จริง
(๔) ยาสมุนไพรหลายชนิดมีฤทธิ์ลดปวดได้จริง
(๕) การรักษาแบบ biofield  คือทางจิตวิญญาณ ได้แก่ ชี่กง โจไร (johrei)

 

          ปัญหาของการรักษาแบบทางเลือกคือ ยังไม่มีการควบคุมคุณภาพ  ส่วนใหญ่ไม่ได้ผล โฆษณาเกินจริง หรือหลอกลวง   แต่ที่ได้ผลมีแน่ๆ

          วิธีลดความปวด นอกจากวิธีเบนความสนใจ หันไปทำหรือคิดเรื่องดีๆ   ยังมีวิธีง่ายๆ คือการสัมผัสเบาๆ  จะช่วยลดความปวดได้มาก  มีคำอธิบายทางวิทยาศาสตร์ และผลการวิจัยยืนยัน

          วิธี “หลอกสมอง” อีกวิธีหนึ่งคือ วิธีที่เรียกว่า mirror therapy  หรือดูภาพในกระจก  ใช้กับคนที่ปวดแขนหรือขาที่ถูกตัดไปแล้ว   แต่ยังรู้สึกปวดทรมานตรงแขนหรือขาข้างนั้น ทั้งๆ ที่ไม่มีแขนหรือขาข้างนั้นแล้ว ที่เรียกว่า phantom limb (แขนขาผี)  เขาอธิบายว่า เพราะสมองคุ้นกับการเห็นแขนหรือขานั้น จากการมีแผนที่ส่วนของร่างกายอยู่ในสมอง   เมื่อไม่เห็นแขนหรือขาข้างนั้น สมองก็จะส่งสัญญาณให้เอาใจใส่ สัญญาณนั้นรับรู้ได้ด้วยความรู้สึกปวด  เมื่อไม่มีแขนหรือขาข้างนั้นให้เห็น สมองก็ยิ่งส่งสัญญาณเตือน   กลายเป็นวงจรขยายสัญญาณ เกิดความปวดทรมาน 

          Mirror therapy ทำโดยเอากระจกมาส่องแขนหรือขาข้างดี   ให้อยู่ภาพในกระจกต่อกับแขนหรือขาข้างที่ขาด  แล้วมองนานๆ เพื่อลดสัญญาณเรียกร้องความสนใจในสมอง   และเพื่อฝึกให้สมองคุ้นเคยกับการไม่มีแขนหรือขาข้างนั้น   phantom limb รู้จักกันในสหรัฐอเมริกาตั้งแต่สมัยสงครามกลางเมือง (ค.ศ. 1870s)   แต่ Mirror therapy ซึ่งคิดขึ้นโดย Ramachandran ก็ไม่ได้รับความเชื่อถือ   จนช่วงสงครามอัฟกานิสถานและอิรัก ที่ทหารอเมริกันจำนวนหนึ่งมีอาการนี้ และพบว่ารักษาโดยกระจกได้ผลในผู้มีอาการจำนวนหนึ่ง   Ramachandran ได้เขียนหนังสือ The Tell-Tale Brain : A Neuroscientist’s Quest for What Makes Us Human

 

          สมองมนุษย์เรียนรู้ได้หลากหลายมิติ   การเรียนรู้โดยการฝึกสมองนี้น่าสนุกสนานจริงๆ

 

 

วิจารณ์ พานิช
๒๑ มี.ค. ๕๔

              

หมายเลขบันทึก: 435087เขียนเมื่อ 12 เมษายน 2011 12:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
สุรีพันธุ์ เสนานุช

ขออนุญาตเอาไปให้เพื่อนอ่านด้วยนะคะ เพราะเพื่อนคนหนึ่งมีคุณแม่ป่วยตลอดเวลา รักษามาทุกโรคเลยค่ะ

เรียนอาจารย์ที่เคารพ

หนูอ่านจากคำสอนท่านพุทธทาส เรื่องการเจริญสติด้วย อาณาปาณสติ

ฝึกและปฏิบัติตาม ได้ผล ลดpain ได้เช่นกันค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท