HA Forum 2011 (4) กายก็ภาวนา จิตก็ภาวนา ปัญญาก็ภาวนา


กายก็ภาวนา จิตก็ภาวนา ปัญญาก็ภาวนา

การจัดการเรียนรู้ในระยะหลัง เราทำในรูปแบบของงานอบรมเชิงปฏิบัติ หรือที่เรียกกันเริ่มคุ้นปากว่า workshop มากขึ้นเรื่อยๆ เพราะสาเหตุสำคัญหลายประการ ได้แก่ เวลาเพียงพอ ผสมผสานหมดทั้งฐานกาย ฐานใจ และฐานความคิด การมีส่วนร่วมของผู้เข้าร่วม (รวมทั้งการให้ความหมาย การ share ความหมาย) และทักษะการแสดงออกรวมไปถึงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างบุคคล ซึ่งสิ่งเหล่านี้ยากที่จะจัดการให้มีครบในลักษณะการเรียนรู้อื่นๆที่เวลาน้อยๆ และโอกาส interactive หรือปฏิสัมพันธ์มีจำกัด

งาน workshop ของเราก็มีการปรับ เปลี่ยน เรียกว่าตลอดเวลาก็ว่าได้ ไม่เพียงเพราะแก้เบื่อ แต่เป็นเพราะยิ่งทำ ยิ่งร่วม เราก็ยิ่งได้เรียนรู้และนำสิ่งที่เรียนรู้นำมาดัดแปลงเพื่อเพิ่มคุณค่าในกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน (เน้น! "ร่วมกัน" นี้สำคัญมาก คือกระบวนกร (facilitator) จะต้องพิจารณาการทำ workshop เป็นการเรียนรู้ร่วมกันตลอดเวลา) จากทุกๆฝ่าย และเปิดพื้นที่การเรียนไม่เพียงเฉพาะผู้เข้าร่วมกิจกรรม แต่รวมไปถึงผู้ที่ชอบสังเกต ผู้ที่ไม่ชอบพูดแต่มีดวงตาและหัวใจที่เปิิดกว้างอีกด้วย

การเรียนรู้สมัยก่อน เราคุ้นชินกับการเรียนแยกเป็นรายวิชา อาทิ สังคม วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ฯลฯ เรียนกันเป็นท่อนๆ เรียนกันเป็นส่วนๆ หวังว่าเข้าไปผสมกันเองในตัวคนเรียน หารู้ไม่ว่ามันฝึกทักษะมืดประการหนึ่งคือ การปิดตาข้างหนึ่งเพื่อมองอะไรเพียงจุดๆเดียว และการทดสอบก็เอื้อ เพราะสอบก็สอบแยกวิชา ไม่ได้เอามารวมกันอยู่ดี พอมาเป็นครู ตอนเรียนศึกษาศาสตร์ (ฉบับย่อ) ก่อนจะได้เริ่มสอนนักเรียนแพทย์ เราก็เรียน OLE คือการตั้งวัตถุประสงค์การเรียน (Objectives) ตั้งเสร็จก็คิดหาวิธีการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ (Learning experiences) เสร็จแล้วก็หาการประเมินวัดผล (Evaluation) ตอนได้วัตถุประสงค์การเรียนก็แยกแยะว่ามันเป็น cognitive domain (ปัญญาพิสัย) หรือ psychomotor domain (จลนพิสัย) หรือว่าจะต้องได้ attitude domain (เจตคติ) เราจะได้จัดประสบการณ์ให้ตรง จะให้ได้เนื้อหา ก็มีแบบง่ายๆ เช่นการบรรยาย (กระบวนการป้อนความรู้) จะให้ได้ทักษะ ก็ต้องลงมือกระทำ ส่วนเรื่องทัศนคติ เจตคติ นี่ยากกว่า เพราะจัดแล้วประเมินยาก เป็นหัวข้อไม้เบื่อไม้เมาทั้งในการจัดการเรียนและการประเมินมาแต่ไหนแต่ไร

สำหรับเรื่องการประเมิน คนจะชอบความ "ชัดเจน" เพราะสบายใจคนตรวจ แสดงความยุติธรรมได้กระจ่างสำหรับการตรวจสอบว่าไม่ลำเอียง ฉะนั้นการสอบประเภทถูกผิดชัดเจนก็จะง่ายและตรงไปตรงมา จะเริ่มยากตรงมิติของทักษะ และยากที่สุดก็มิติของเจตคติ ที่ต้องอาศัย "อัตตวิสัย (subjective)" ของผู้วัดมาเกี่ยวข้องด้วย มากหรือน้อย เพราะการใช้ความรู้สึกมาจับ มันจับต้องไม่ได้ ความแน่นอนต่ำ (กว่า) เมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว การเรียนรู้ที่จะทดสอบเรื่องเนื้อหา (cognitive) ทดสอบทักษะ (ที่ไปเน้นผลลัพธ์ หรือ key performance) ก็จะง่ายกว่าการจะทดสอบระดับเจตนคติของผู้เรียน

การทำ workshop จะเป็นเรื่องนี้ค่อนข้างเยอะ

เราใช้ "กระบวนกร" หรือผู้จัดการกระบวนการเรียนรู้ ทำงานเป็นทีม ซึ่งเป็นสิ่งที่ละเอียดอ่อน ตั้งแต่การ "เผื่อจิตตก" ของกระบวนกรเองที่จะต้องมีคนมา "ช้อน" การนำเสนอมุมมองที่มากกว่าหนึ่งมุมในหนึ่งเรื่อง (จำเป็นอย่างยิ่งในความรู้ภาคปฏิบัติ) และการประคองฐานการเรียนรู้ที่ไปด้วยกันทั้งหมด ทั้งกาย ใจ และปัญญา

อ.แอ๊ด (พัฒนา แสงเรียง) และนพ.วรวุฒิ โฆวัชรกุล

ตะก่อนใน workshop คนมาร่วมมักจะคอยแยกแยะว่า "ตอนนี้กำลังเรียนอะไร? ฐานกาย ฐานใจ หรือฐานความคิด" นัยว่าจะได้ปรับสมอง ทำใจ (ทำไงไม่รู้ แต่คิดว่ารู้แล้วสบายใจ!!) อ้อตอนนี้กำลังโยคะแปลว่าเน้นฐานกาย ตอนนี้กำลังดูหนังแสดงว่าเน้นฐานใจ ตอนนี้กำลังอภิปรายสะท้อนกันแสดงว่าเน้นฐานความคิด ฯลฯ ว่ากันไป เหมือนกับจะได้เปิดลิ้นชักสมองได้ถูกช่อง

ไปๆมาๆ เราก็เลยสามารถทำอะไรด้วยสิ่งหนึ่ง โดยปิดอีกสองส่วนได้อย่างมีประสิทธิภาพไม่น่าเชื่อ!!

ล่าสุด อ.แอ๊ด (พัฒนา แสงเรียง) ได้ลองนำเอา "สลัดสะบัดสี" เป็นกิจกรรมกระบวนการ แปะป้ายเอาไว้เป็น "ศิลปบำบัด" แต่ในกระบวนการเป็นการผสมผสานการภาวนาในทุกๆส่วนของการเรียนรู้ คือ กาย ใจ และปัญญา

คนเราไม่จำเป็นต้อง "ตอนนี้กำลังออกกำลังกาย" แต่เพียงอย่างเดียว แต่การเรียนรู้นั้น เราเรียนรู้ทั้งตัวเกือบตลอดเวลา ขณะที่กำลัง "ทำ" ถ้าใจไม่ชอบ หรือมีจิตที่วอกแวกคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ไม่มีสมาธิ เราก็จะไม่ได้ฟัง "เสียงร่างกาย" ของเรา เมื่อเราไม่ได้ฟังเสียงตัวเอง เราจะบอกว่าเราสามารถฟังเสียงคนอื่นได้นั้น มันก็กระไรอยู่

ขณะที่คนกำลัง "คิดวิเคราะห์" ก็ไม่ได้ถอดอารมณ์ความรู้สึกออกไปอย่างสิ้นเชิง (อาจจะน่ากลัวมาก ถ้าหากถอดออกไปหมดอย่างสิ้นเชิง!!!) ผมเคย quote คำของท่านมหาตมาคานธีที่ว่า "When what you think, what you say, what you do, are in harmony, that is a real happiness." เมื่อสิ่งที่ท่านคิด พูด และกระทำ สอดคล้องประสานกันนั่นคือความสุขที่แท้" ก็มีปราชญ์บางท่านแย้งว่า แค่พูดกับทำก็พอ ไม่ต้องตรงกับที่เราคิดก็ได้ ใครจะไปรู้ว่าเราคิดอะไร ผมก็ถึงกับอึ้งกิมกี่ เพราะในนิยามของผมนั่นคือ fake และพอเรา fake เราก็จะไม่มีความเชื่อในสิ่งที่เราสอน ในสิ่งที่เราพูด หรือแม้กระทั่งการกระทำของเราก็เป็นเพียง acting ไม่ได้ออกมาจากหัวใจของเราโดยแท้จริง

workshops ส่วนใหญ่ designed on spot คิดขึ้นเดี๋ยวนั้น ยกเว้นพวกอุปกรณ์

ผู้เข้าร่วมทำอะไร รู้สึกอะไร กระบวนกรทำอย่างนั้น รู้สึกอย่างนั้น

แต่ปัญญาที่ก่อเกิด มาจากหลากหลายมุม เพราะคนทุกคนเป็นขุมปัญญา

ต่อเมื่อเราทราบว่าทุกๆอย่างที่เราเรียนนั้น จะต้องประกอบด้วยกาย ใจ และปัญญา ขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งไม่ได้ เราจึงจะสามารถจัดประสบการณ์การเรียนรู้ที่ optimal หรือสมบูรณ์/ใกล้เคียงสมบูรณ์ ที่สุดได้

ทุกวันนี้ เราบริโภคแต่คิด/วิเคราะห์ ไม่น่าประหลาดใจที่ใจเราแคบลงๆ เพราะคิดเกิดขึ้นในหัวเรา ความคิดคนอื่น ความรู้สึกของคนอื่น ไม่ได้มีโอกาสกรายกล้ำเข้ามา เราเก่งก็เก่งแต่ในหัวเรา หรืออย่างมากก็ท่องบ่นพูดพร่ำออกมาเท่านั้น ไม่ได้ออกเป็นการกระทำ ฐานการเรียนรู้ที่ไม่สมบูรณ์ก็จะได้เป็นความรู้ที่กระพร่องกระแพร่ง เชื่อมต่อไม่ได้ และจะไม่มีทางเข้าใจประโยคที่ว่า "True success is not in the learning, but in its application to the benefit of mankind" ของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ได้เลย เราเรียนๆไปก็เพื่อความสวยงาม เก่งกล้าของตัวเราเองเท่านั้น เพื่อให้เรารู้ เราเก่ง เราชำนาญ เท่านั้น

เป็นระบบการศึกษาที่น่าเศร้า และเป็นอันตรายอย่างยิ่ง

หมายเลขบันทึก: 434904เขียนเมื่อ 11 เมษายน 2011 09:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

สวัสดีครับอาจารย์ หมอสกล

ผมเอาภาพมาคืนครับ

หึ หึ เอาไปตั้งแต่เมื่อไร ขอบคุณครับผม ท่านวอญ่า

ก่อนเเลกเปลี่ยนกับท่านอาจารย์ ขอชมชุดเเต่งกายท่านก่อนครับ อลังการ มากๆครับ :)

จริงๆอลังการกว่านี้ รูปนั่งมันมองไม่ชัดอะ

ดีจังเลยครับ ได้ทั้งกายและใจ ภาวนาทั้งคุ่เลย มีสองอย่างนี้แหละให้ดูแล


ดอกไม้สวยจัง ขอบคุณครับ

หนูกำลังก้าวเดินตามรอยอย่างช้าๆแม้ว่าพละกำลังหนูจะน้อย

แต่หนูก็หวังว่าจะสืบสานงานSHAดั่งเช่นที่อาจารย์ สกล

เคยพูดว่า เธอเท่านั้นที่จะรู้ว่าเธอได้ทำอะไรและทำอะไรได้

..........สาวกคันฉ่องนกไฟ...........................

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท