นิทานคุณธรรม สำหรับนักบริหาร


อ่านแล้วสติมา ปัญญาเกิด เห็นภาพชัดเจน นำมาฝากด้วยความปรารถนาดีจากใจจริง เราควรเปิดใจยอมรับความจริง ยอมรับความผิดพลาดในการใช้ชีวิตตามวิถีอันยาวนานกันได้แล้ว วิถีแห่งความเจริญงอกงามจะได้มีโอกาสเกิดขึ้นในสังคมไทยเราเสียที จริงอยู่ว่าเงินทอง วัตถุ สำหรับผู้ที่ยังต้องใช้ชีวิตพัวพันอยู่กับสิ่งยั่วยุต่างๆใครๆก็อยากได้กันทั้งนั้น แต่ความอยากได้นั้นมันคงไม่ได้สำคัญอะไรมากไปกว่า ความสง่างามในการกระทำของเราที่จะได้มาซึ่งเงินทอง วัตถุนั้นๆ ใช่ไหมครับ?

นิทานคุณธรรม[๑]

          สวนสัตว์แห่งหนึ่งได้เสือโคร่งใหม่มาหนึ่งตัว ทางผู้บริหารระดับสูงของสวนสัตว์ตั้งงบประมาณอาหารเสือตัวนั้นเป็นเงิน ๑ บาทต่อวัน ตามค่าเงินในสมัยนั้น เมื่อคนเลี้ยงเสือได้เบิกเงิน ๑ บาทไปซื้อเนื้อมาเลี้ยงเสือแต่ละวัน เขาได้ยักยอกเงินค่าอาหารเสือไป ๑ สลึง เท่ากับเสือได้กินเนื้อในราคา ๓ สลึงต่อวัน เสือไม่อ้วน ผู้คนมาชมสวนสัตว์เห็นเสือไม่อ้วน จึงไปร้องเรียนต่อผู้อำนวยการสวนสัตว์ว่า เป็นเพราะตั้งงบประมาณค่าอาหารเสือน้อยเกินไปไม่เหมาะสม ผู้อำนวยการจึงได้ส่งผู้ตรวจการลงไปตรวจสอบข้อเท็จจริง ครั้นผู้ตรวจการลงไปตรวจสอบสภาพความเป็นจริงก็พบว่า มีการยักยอกเงินค่าอาหารเสือไป ๑ สลึง เขาจึงขอค่าปิดปากอีก ๑ สลึง จากค่าอาหารเสือต่อวัน จึงทำให้สถานการณ์ยิ่งเลวร้ายลงไปกว่าเดิม เพราะคน ๒ คน ยักยอกกันไปรวม ๒ สลึง คงเหลือค่าอาหารเพียงวันละ ๒ สลึงเท่านั้น เสือก็ผ่ายผอมลงหนักเข้าไปอีก ต่อมามีผู้รายงานให้ผู้อำนวยการทราบว่าเสือผอมลงๆ ผู้อำนวยการจึงส่งผู้ตรวจการระดับสูง ลงมาตรวจสอบข้อเท็จจริง ผู้ตรวจการระดับสูงตรวจสอบอยู่เพียง ๓ วัน ก็พบความจริงว่า มีการทุจริตยักยอกค่าอาหารเสือ เขาจึงขอค่าปิดปากอีก ๑ สลึง จะเห็นว่า คน ๓ คน ยักยอกกันไป ๓ สลึง เจ้าเสือคงเหลือค่าอาหารเพียงวันละ ๑ สลึง มันจึงผอมเหลือแต่หนังหุ้มกระดูก นอนหายใจรวยระริน มีคนไปรายงานผู้อำนวยการสวนสัตว์อีกว่าทำไมยิ่งตรวจสอบ เจ้าเสือยิ่งผอมลง ยิ่งย่ำแย่ลง ผู้อำนวยการจึงตัดสินใจส่งผู้ตรวจการระดับสูงสุดไปตรวจสอบข้อเท็จจริง เพื่อหวังจะได้ทราบความจริงว่ามันเกิดอะไรขึ้นกันแน่กับเจ้าเสือ ผู้ตรวจการระดับสูงสุดลงไปตรวจสอบข้อเท็จจริงได้ ๓ วัน เสือตาย เพราะ.....เขาขอแบ่งสลึงสุดท้ายเป็นค่าปิดปาก ดังโคลงโลกนิติ (๒๙๘) ที่ว่า.....

                             “เบิกทรัพย์วันละบาทซื้อ        มังสา

                              นายหนึ่งเลี้ยงพยัคฆา          ไป่อ้วน

                              สองสามสี่นายมา                กำกับ กันแฮ

                              บังทรัพย์สี่ส่วนถ้วน             บาทสิ้นเสือตาย”

            โคลงโลกนิติบทนี้แสดงว่า ปัญหาเรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่น เป็นเรื่องเก่ามีมานานในสังคมไทย นักบริหารที่ดีต้องใช้หลักการใดจึงจะแก้ปัญหานี้ได้?

            ยิ่งไปกว่านั้นการทำงานร่วมกันของคนหมู่มากก็มักมีความขัดแย้งกันในองค์กร คนเก่งทั้งหลายตั้งหน้าตั้งตาขัดขากันเอง นักบริหารที่ดีต้องสามารถจูงใจคนเก่งให้ปรองดองกัน และพร้อมใจกันทำงานให้บรรลุตามเป้าหมาย เข้าทำนองที่ว่า “ผลัดกันดี ดีทุกคน ชิงกันดี ไม่ดีสักคน” คนไทยจะทำงานเป็นทีมได้ดีขึ้น ถ้ามีนักบริหารที่ดีคอยกำกับดูแล

เรียบเรียงโดย : ธนากรณ์  ใจสมานมิตร , ๘ เมษายน ๒๕๕๔


[๑] พระราชวรมุนี (ประยูร  ธมฺมจิตฺโต) “คุณธรรมสำหรับนักบริหาร” , พิมพ์ครั้งที่๔ / ๒๕๔๑ : ๖-๗

หมายเลขบันทึก: 434688เขียนเมื่อ 9 เมษายน 2011 09:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่าน


ความเห็น

เป็นคนดีจริง ๆ ไม่คด ไม่โกง เขาก็ว่าโง่ ครับ

สวัสดีครับ คุณเออ เนอะ

ยินดีมากครับที่ได้เข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน

ผมเคยนั่งนิยามคำว่า "โง่" ครับว่า มันหมายถึงอะไรกันแน่ และมันเป็นคำที่ตรงข้ามกับคำว่า "ฉลาด" จริงๆหรือเปล่า ตอนเด็กๆเวลาใครมาว่าผมโง่ ผมจะรู้สึกไม่ดี โกรธเขามากๆเลย จนเติบโตมาผมจะไม่พยายามใช้คำนี้กับใคร โดยเฉพาะกับคนด้วยกัน นับวันผมก็ยิ่งมั่นใจครับว่า มนุษย์เราทุกคนมีศักยภาพในตัวเองพอที่จะทำให้ตนเองนั้นหลุดพ้นจากความ "โง่" ไปได้ แล้วผมก็พบความจริงว่าแท้จริงแล้วผิดชอบชั่วดี คนเราทุกคนรู้หมดครับ แต่หากเรายังยอมทำตามสัญชาติญาณดิบที่มันมาคอยกระตุ้นอยู่ทุกขณะจิต คนเราก็จะตกในสภาวะที่ด้อยปัญญาได้ทุกขณะจิตเช่นกัน

วิธีเอาชนะความด้อยปัญญาอย่างหนึ่งก็คือ การใช้กลยุทธ์หนามยอก ก็ต้องเอาหนามนั้นแหละบ่งออก ลองดูนะครับวิธีการของผมเองไม่สงวนลิขสิทธิ์ ผมเรียกมันว่า "การโง่แบบรู้เท่าทันความโง่ของตัวเอง" อย่าให้มันรู้ทันเราอย่างเดียว เราต้องรู้ทันมันด้วย แกล้งโง่แบบสุดๆหลุดๆไปเลย แล้ววันหนึ่งความฉลาดและรู้เท่าทันจะเข้ามาแทนที่ เรื่องนี้เป็นเหตุการณ์จริงที่ผมได้กับตัวเองครับ เรื่องมีอยู่ว่าผมจะเป็นคนชอบทำอะไรเป็นแบบแผน และเป็นรูปแบบเดิมๆเสมอ เวลาขับรถผมก็จะใช้เส้นทางเดิมๆ ไป-กลับทุกวัน เพราะคิดไปเองว่ามันเป็นเส้นทางที่ใกล้ที่สุดแล้ว ไม่ต้องอ้อม ดูเหมือนผมจะมีเหตุผลที่ฉลาดนะครับ แต่วันหนึ่งบังเอิญผมหลุดออกนอกเส้นทางขับไปขับมาก็ไปไม่เป็นเลยครับไม่รู้จะกลับอย่างไร ก็สุ่มๆไปตามป้ายบอกทางคิดว่าไม่เป็นไรนะคงไม่หลงหรอก ขับไปขับมามาโผล่ออกถนนเส้นหลักที่กลับทุกวัน มีความรู้สึกงงเล็กน้อยว่ามันมาโผล่ที่นี่ได้ไงเนี่ย แต่ผมมีความรู้สึกว่ามันเร็วและไวกว่าเส้นทางประจำที่ผมเคยใช้ วันต่อมาลองจับเวลา และระยะทางดูปรากฎว่า ระยะทางลดลงไป ๕ กิโลเมตร (มันเป็นเส้นทางลัดที่ไม่ค่อยมีใครเขาใช้กัน)

บางที่การที่เราคิดว่าเราฉลาดที่สุด มันอาจกลายเป็นความโง่ที่สุด และขณะเดียวกันการที่เรารู้สึกว่าเรากำลังทำอะไรโง่มากๆ มันอาจกลายเป็นความฉลาดที่สุดได้เช่นกันครับผม ผมเรียกเหตุการณ์แบบนี้ว่า การดีดกลับไปกลับมาของสิ่งที่สุดโต่ง แต่หากจะให้ดีที่สุดตามแนวทางที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนไว้ ก็คือ การค้นหาทางสายกลางให้พบ แล้วทราบไหมครับว่า ตรงกลางระหว่างความโง่ และ ความฉลาด คืออะไร?

ขอบคุณสำหรับการเข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันนะครับผม

  • สวัสดีค่ะ
  • นักบริหารที่ดีควรต้องติดตามกำกับงานได้ด้วยตนเอง
  • นักบริหารที่ได้แต่รับฟังรายงาน อ่านแต่รายงาน โดยไม่มีระบบติดตามตรวจสอบ มักไม่ได้ข้อมูลที่แท้จริง
  • กว่าจะรู้ว่าเป็นเรื่องเท็จ ก็มักจะสายเกินไป...
  • ขอบคุณบทเรียนจากเรื่องนี้ค่ะ
  • ขอบคุณที่ไปแลกเปลียนเรียนรู้ค่ะ

ปราบทุจริตคงต้องจากบนลงล่าง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท