ภาษาเขมรในภาษาไทย


การศึกษาภาษาเขมรจะช่วยทำให้เข้าใจคำศัพท์ในภาษาไทยมากยิ่งขึ้น

มาร่วมสร้างประชาคมการสอนภาษาไทยให้มีหลักการ มีทฤษฎีและมีชีวิต

                                                                                                                                เฉลิมลาภ  ทองอาจ[*]

           “จุมเรียบ    ซัวรฺ     โลก”  สวัสดีครับท่านผู้สนใจภาษาและวัฒนธรรมไทยทุกคน นักหลักสูตรและการสอนภาษาไทยที่ได้อ่านงานของผมคงจะเห็นว่า  โดยส่วนมากผมให้ความสนใจเกี่ยวกับการพัฒนาหลักสูตรและการสอนภาษาไทยในระดับปรัชญาและในระดับของทฤษฎี แต่เนื่องจากการที่ตนเองมีประสบการณ์การอบรมในหลายที่  จึงมักจะมีครูภาษาไทยที่สอบถามเกร็ดความรู้ด้านภาษาและวัฒนธรรมอยู่เสมอ ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว เกร็ดความรู้พวกนี้ไม่สำคัญเท่ากับวิธีการจัดการเรียนการสอน  แต่เนื่องจากการสอนของเรายังไม่พ้นไปจากกรอบแนวคิดที่เน้นเนื้อหา  ผมจึงปลงใจว่าจะนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับเกร็ดความรู้ในภาษาและวัฒนธรรมตามที่ตนเองค้นคว้ามา เพื่อหวังว่าจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้สนใจก็แล้วกันนะครับ  ซึ่งประเด็นในวันนี้ได้แก่    “ภาษาเขมรในภาษาไทย”

          เขมร หรือ  “คแม” นอกจากจะเป็นชื่อชนชาติที่ตั้งรกรากอยู่ในประเทศกัมพูชาปัจจุบันแล้ว  ยังเป็นชื่อภาษาหนึ่ง  ซึ่งอยู่ในตระกูลภาษาคำโดดเช่นเดียวกับภาษาไทย  เฉพาะในประเทศไทยนั้น  พบว่ามีคนไทยเชื้อสายเขมรพูดภาษานี้กว่า  ๕ แสนคน  กระจายอยู่ในจังหวัดบุรีรัมย์  สุรินทร์  ศรีสะเกษ  รวมทั้งจันทบุรีและตราดด้วย  (ประยูร  ทรงศิลป์, ๒๕๔๒: ๓)  ลักษณะที่สำคัญของภาษาคำโดดคือ  ไม่มีการเปลี่ยนแปลงรูปคำเมื่อนำคำศัพท์ไปเรียงเข้าประโยค และมักเรียงลำดับบทของประโยคเป็น ประธาน กริยา  กรรม   ด้วยเหตุนี้หากกล่าวในภาษาไทยว่า 

                                              ผม     จะ        ไป         กับ         คุณ    ครับ          

                ภาษาเขมรก็ว่า                      คฺญฺม    นึง         ตึว     เจีย-มวย   โลก    บาต

          อย่างไรก็ตาม  สิ่งที่ภาษาเขมรแตกต่างจากภาษาไทยคือ  ภาษาไทยจะสร้างคำใหม่ด้วยการนำคำมาประกอบกัน  เรียกว่า “คำประสม”  เช่น  ปากกา   ห้องครัว    คนนอก  ส่วนในภาษาเขมร  เราสามารถสร้างศัพท์ขึ้นใหม่ด้วยการนำพยางค์หรือคำไปเติมหน้ารากศัพท์  เรียกว่า การลงอุปสรรค  หรือ  เติมกลางรากศัพท์  เรียกว่า  ลงอาคม  (อนันต์  อารีย์พงศ์,  ๒๕๔๘: ๗๑)   ตัวอย่างเช่น 

๑.  การลงอุปสรรค

รากศัพท์ว่า  /เกีต/  (เกิด)                    ลงอุปสรรคเป็น  /กเณีต/  (การเกิด) 

      /เวียน/  (ขด)  ลงอุปสรรคเป็น  /กงฺเวียน/   (ม้วนขึ้น)

      /เลง/  (เล่น)                    ลงอุปสรรคเป็น  /เภฺลง/  (ดนตรี, เครื่องดนตรี)   

                  /เกียบ/  (คีบ, หนีบ)           ลงอุปสรรคเป็น /ตงฺเกียบ/  (สิ่งที่ใช้คีบ, ไม้สอย)

                ๒.  การลงอาคม

                รากศัพท์ว่า  /ธฺลาย/  (แตก, หัก)        ลงอาคมเป็น    /ธมฺลาย/  (ทำให้แตก, ทำให้หัก)

                                      /เกีย/  (หนุน)                  ลงอาคมเป็น   /เกฺนีย/  หรือ  /เขฺนีย/  (หมอนหนุน)

                                     /แจก/  (แบ่ง)                   ลงอาคมเป็น   /จแก/   (ส่วนแบ่ง, ส่วน, หน่วย)

                                    /แตง/  (แต่ง)                     ลงอาคมเป็น  /ตแง/    (ตำแหน่ง, การแปลงกาย)

                                /ตฺรง่/   (ตรง)                        ลงอาคมเป็น  /ฏํรง่/ หรือ /ตมฺรง่/  (ทำให้ตรง)

                                   /แสฺฏง/  (แสดง)               ลงอาคมเป็น  /สมฺแฏง/  (สำแดง, การอธิบาย)

                                /เรียน/  (เรียน)     ลงอาคมเป็น  /รเบียน/  (ความรู้ที่ได้จากการเรียน)

                                   /เรียบ/  (จัด, ตกแต่ง)        ลงอาคมเป็น  /รเบียบ/  (ระเบียบ, แบบแผน, แบบอย่าง)

                                   /รำ/   (รำ)                           ลงอาคมเป็น  /รบำ/       (การเล่นฟ้อนรำ)

           วิธีการสร้างคำทั้ง ๒ วิธีนั้น  คือการเปลี่ยนแปลงรูปลักษณ์ของคำซึ่งนักเรียนจะเห็นว่าส่งผลต่อความหมายและชนิดของคำด้วย   เช่น  คำว่า  “แต่ง”  เป็นคำกริยา  แต่เมื่อลงอาคมเป็นคำว่า  “ตำแหน่ง” ก็จะกลายเป็นคำนาม  เป็นต้น  สำหรับภาษาไทยได้รับคำและนำวิธีการสร้างคำของภาษาเขมรดังกล่าวมาด้วย  โดยจัดเป็นวิธีหนึ่งของ  “การแผลงคำ”   และเรียกคำลักษณะนี้ว่า       “คำแผลง”  กำชัย  ทองหล่อ (๒๕๔๕: ๙๗)  ผู้ทรงคุณวุฒิด้านภาษาไทยอธิบายว่า  การแผลงคำในภาษาไทยได้รับอิทธิพลจากเขมรและอินเดีย  โดยได้ยกตัวอย่างการลงอุปสรรค  “บ” (บ็อม)          ลงหน้ารากศัพท์คำอื่นๆ   ซึ่งในภาษาไทยนำมาใช้โดยเปลี่ยนเสียง  บ็อม  ในภาษาเขมร  เป็น  “บัง   บัน  และบำ”  ดังมีหลักเกณฑ์ดังนี้ 

                   ๑.  ออกเสียง  “บัง”  เมื่อนำหน้าพยัญชนะวรรค  ก  และเศษวรรค  เช่น  บังเกิด  บังควร  บังคับ  บังอาจ 

                   ๒.  ออกเสียง  “บัน”  เมื่อนำหน้าพยัญชนะวรรค  จ  และวรรค  ต  เช่น  บรรเจิด   บันดาล 

                   ๓.  ออกเสียง  “บำ”  เมื่อนำหน้าพยัญชนะวรรค  บ   เช่น  บำบวง  บำบัด   บำเพ็ญ   

          จากลักษณะของการสร้างคำด้วยการแผลงหรือเปลี่ยนแปลงรูปพยัญชนะข้างต้น  ทำให้เราได้หลักการสังเกตคำภาษาเขมรในภาษาไทยเป็นเบื้องต้น  ดังนี้

                    ๑.  คำเขมรในภาษาไทยมักเป็นคำสองพยางค์  ซึ่งเกิดขึ้นจากคำพยางค์เดียวที่เติมหรือเพิ่มเสียงพยัญชนะอื่นๆ เข้าไปกลางคำได้   เช่น  เกิด  แทรกเสียง  /น/  เป็น  กำเนิด,   กด   แทรกเสียง  /น/  เป็น  กำหนด,  ตรวจ  แทรกเสียง    / ำ/  เป็น  ตำรวจ,  รำ  แทรกเสียง  /บ/  เป็นระบำ  เป็นต้น 

                    ๒. คำเขมรสองพยางค์ที่เกิดจากการลงอุปสรรค  พยางค์หน้ามักประสมเสียงสระ / ำ/   ที่พบมากคือ  บัง   บัน  บำ   บรร    เช่น   บังเกิด  (ทำให้เกิด)  บำเพ็ญ  (ทำให้เต็ม, เติมให้เต็ม)  บรรจบ  (ทำให้จบ)  บรรจุ  (ทำให้ลงไป)  บรรเลง  (ทำให้สบายใจ, สนุกสนาน)  นักเรียนจะเห็นว่าความหมายของคำเหล่านี้จะอยู่ที่พยางค์หลังเป็นสำคัญ 

          การศึกษาเรื่องภาษาเขมรในภาษาไทยจะทำให้นักเรียนเข้าใจที่มาและความหมายของคำที่ใช้ในภาษาไทยบางคำ  และสามารถใช้คำเหล่านั้นสื่อสารได้อย่างถูกต้อง  

          ดังที่ได้ค้นคว้ามา ก็หวังใจให้ทุกท่านเข้าใจและใช้ภาษาไทยได้อย่างถูกต้อง   สมกับที่เป็นกุลบุตรและกุลธิดาผู้ได้รับการศึกษาอันสูง

                        เพีย-ซา    แคฺม   อ็อต   ปิ-บาอ      เต

                         ภาษา      เขมร   ไม่     ยาก      หรอก

                                                                สวัสดีครับ 

____________________________________________

รายการอ้างอิง

กำชัย  ทองหล่อ.  ๒๕๔๕.  หลักภาษาไทย.  กรุงเทพฯ: รวมสาส์น.

ประยูร  ทรงศิลป์.  ๒๕๔๒.  ภาษาเขมร  ๑.  กรุงเทพฯ: สถาบันราชภัฏธนบุรี. 

อนันต์  อารีย์พงศ์.  ๒๕๔๘.  ภาษาเขมรที่สัมพันธ์กับภาษาไทย.  : มหาวิทยาลัยทักษิณ. 

 



[*] อาจารย์ประจำกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย  โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม 

    คณะครุศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

หมายเลขบันทึก: 434498เขียนเมื่อ 7 เมษายน 2011 19:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 16:09 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)
  • สวัสดีครับ อาจารย์
  • มารับเรื่องราวดีๆ ครับ
  • ผมพูดเขมรได้ครับ แต่เขียนไม่เป็น
พระกฤษภูมิ ปิยธมฺโม(ชื่อชูแพง)

เจริญพรโยมอาจารย์

คือว่าตอนนี้อยากรู้เรื่อง

เกี่ยวกับการเปลี่ยนภาษาเขมรในภาษาไทยนะครับ

โครงงาน เขมร เรียกว่าอะไรค่ะ  

เขาเรียกว่า โกรง กา ​

ผมมีจิตเป็นกุศลที่จะสอนพี่น้องชาวไทยที่ต้องการเรียนภาษากัมพูชาด้วยใจจริงเพราะผมมีความรู้คุณว่าการที่ผมได้ดีทุกวันนี้ก็เพราะประเทศไทยที่ให้ผมได้เรียนได้ทำงาน ถ้าพี่น้องอยาเรียนเชิญติดต่อได้เลยครับผม [email protected] Tell. 0832912080 ขอบคุณประเทศไทยมากๆที่ให้ชีวิตผมใหม่

เคเรีอวใสโทรศัทัทุกยัาง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท