เบาหวานเพิ่มเสี่ยงเสียชีวิตโรคตับ


สำนักข่าว BBC ตีพิมพ์เรื่อง Liver disease deaths 'higher among diabetics' = โอกาสเสียชีวิต (จาก) โรคตับเพิ่มในคนไข้เบาหวาน" , ผู้เขียนขอนำมาเล่าสู่กันฟังครับ
.
เป็นที่ทราบกันดีว่า เบาหวานเพิ่มเสี่ยงโอกาสเสียชีวิตจากสาเหตุหลายอย่าง โดยเฉพาะ สโตรค (stroke = กลุ่มโรคหลอดเลือดสมองแตก-ตีบตัน อัมพฤกษ์ อัมพาต), โรคหัวใจ โรคไต
.
การศึกษาใหม่ศึกษาข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างคนไข้เบาหวาน 1,267 คน และกลุ่มควบคุม (ไม่เป็นเบาหวาน) 10,100 คน อายุ 35-84 ปี ติดตามไป 6 ปี
 
ผลการศึกษาพบว่า คนไข้เบาหวานเพิ่มเสี่ยงโอกาสเสียชีวิตจากโรคตับ 70% เมื่อเทียบกับคนที่ไม่เป็น (เบาหวาน)
.
คนไข้ที่ควบคุมน้ำตาลในเลือดได้ไม่ดี (น้ำตาลในเลือดสูงมาก) จะเสี่ยงมากกว่าคนไข้ที่ควบคุมน้ำตาลในเลือดได้ดี (ไม่สูงมาก)
.
ระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงเพิ่มเสี่ยงโรคไขมันเกาะตับ (non-alcoholic fatty liver disease), เพิ่มเสี่ยงตับอักเสบเรื้อรัง มีแผลเป็นขนาดเล็กในเนื้อตับ ตับแข็ง และมะเร็งตับ
.
ปัจจัยเสี่ยงของโรคไขมันเกาะตับที่พบบ่อยได้แก่ น้ำหนักเกิน แอลกอฮอล์ (เหล้า เบียร์ ไวน์ ฯลฯ), อาหารไขมันสูง โดยเฉพาะอาหารทอด, ออกแรง-ออกกำลังน้อย, ใช้ชีวิตแบบนั่งๆ นอนๆ โดยเฉพาะคนที่นั่งคราวละนานๆ ไม่ว่าจะนั่งทำงานหรือนั่งเล่น
.
วิธีป้องกันไขมันเกาะตับสำหรับคนทั่วไปได้แก่ [ usnews ]; [ mayoclinic ]; [ ajpgi ]
.
(1). ลดน้ำหนัก-ลดความอ้วน
.
(2). ลดธัญพืชขัดสี (ข้าวขาว-แป้งขาว-อาหารทำจากแป้ง-น้ำตาล), เปลี่ยนข้าวขาวเป็นข้าวกล้อง ขนมปังขาวเป็นขนมปังโฮลวีท (เติมรำ)
.
เพิ่มอาหารที่มีเส้นใย (ไฟเบอร์) สูง เช่น กินผัก ผลไม้ที่ไม่หวานจัดทั้งผล (ไม่ใช่น้ำผลไม้กรองกากทิ้ง ชนิดปั่นรวมกากดีกว่า), กินถั่ว-นัท (nut = เมล็ดพืชเปลือกแข็ง เช่น อัลมอนด์ ฯลฯ) ที่ไม่ผ่านการทอดพอประมาณ และไม่กิน "ข้าว-แป้ง-น้ำตาล" (ปริมาณ) มากเกิน
.
(3). กินอาหารไขมันต่ำ และใช้น้ำมันชนิดดี เช่น น้ำมันรำข้าว ถั่วลิสง คาโนลา มะกอก (น้ำมันมะกอกไม่เหมาะกับการทอด เหมาะกับการทำสลัด หรือผัดความร้อนไม่สูง) ฯลฯ
.
อาหารที่ควรงดหรือลดให้มาก คือ อาหารทอด, และควรเพิ่มอาหารสด เช่น ผัก-น้ำพริก, สลัด ฯลฯ เท่าที่จะทำได้
.
(4). ตรวจเช็คความดันเลือด-น้ำตาลในเลือด-ไขมันในเลือด (โคเลสเตอรอล) > ถ้าสูงต้องควบคุมรักษาให้ต่อเนื่อง และปรับเปลี่ยนแบบแผนการใช้ชีวิต (lifestyle) ให้ดีกับสุขภาพด้วย
.
(5). ออกแรง-ออกกำลังเป็นประจำ เช่น เดินเร็ว 80-120 ก้าว/นาที เร็วขนาดพูด 3-4 คำจะเหนื่อยพอดี, จะสะสมเวลาคราวละ 5-10 นาที นำเวลามารวมกันให้ได้ 30-40 นาที/วันขึ้นไปก็ได้, ขึ้นลงบันไดตามโอกาส สะสมเวลาให้ได้ 4 นาที/วัน ฯลฯ
.
พยายามออกแรง-ออกกำลังเป็นระยะๆ แทนการนั่งเฉยๆ นานๆ เช่น หลีกเลี่ยงการนั่งพื้นดู TV, ให้ดูไปถีบจักรยานออกกำลังอยู่กับที่ เดินบนสายพานไฟฟ้า (ลู่วิ่ง-เดินไฟฟ้า), หรือเหยียดขาไปข้างหน้า เตะขาขึ้นลงทีละข้าง (ซ้ายขึ้น-ขวาลง, ซ้ายลง-ขวาขึ้น สลับกัน) ฯลฯ
.
ถึงตรงนี้... ขอให้ท่านผู้อ่านมีสุขภาพดีไปนานๆ ครับ
.

 > [ Twitter ]                             

  • นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์ รพ.ห้างฉัตร ลำปาง. 2 เมษายน 2554.
  • ข้อมูลทั้งหมดเป็นไปเพื่อการส่งเสริมสุขภาพ ไม่ใช่วินิจฉัยหรือรักษาโรค; ท่านที่มีโรคประจำตัวหรือความเสี่ยงต่อโรคสูงจำเป็นต้องปรึกษาหมอที่ดูแลท่านก่อนนำข้อมูลไปใช้.
หมายเลขบันทึก: 433828เขียนเมื่อ 2 เมษายน 2011 16:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 18:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท