บันทึก สรส. หนุน KM ท้องถิ่น : 4. เกษตรแฟร์ อบต. ท่าเรือ นครศรีฯ


ตอนที่ 1   ตอนที่ 2   ตอนที่ 3

         ต่อไปนี้เป็นบันทึกที่ทีมงาน สรส. (โครงการส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข) ส่งมาให้ สคส. เพื่อให้ สคส. ได้เรียนรู้ร่วมไปด้วย ว่าในท้องถิ่นเขามีการจัดการความรู้กันไปถึงไหนแล้ว       ผมจึงเอามาเผยแพร่ต่อ      เข้าใจว่าบันทึกนี้จะเป็นของคุณสมโภชน์ นาคกล่อม (ปาน)     หวังว่าเมื่อคุณปานเห็นผมขโมยบันทึกนี้มาลง     วันหลังคุณปานจะได้เอาบันทึกลง บล็อก เอง

เยี่ยมงานเกษตรแฟร์
อบต.ท่าเรือ อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช
วันที่ ๗-๘ กรกฎาคม ๒๕๔๙

         หลังจากร่วมสังเกตการณ์การประชุมกลุ่มสัจจะวันละบาทของอบต.ท่าข้าม จ.สงขลา เมื่อตอนหัวค่ำวานนี้แล้ว  วันนี้ถึงเวลาไปเยี่ยมอบต.ท่าเรือ จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งสนใจจะพัฒนาการเกษตรของตำบล ได้จัดงานเกษตรแฟร์ครั้งแรกบ้าง
        ตื่นเช้าตั้งแต่ก่อนหกโมงเช้า ต่อมือถือเข้ากับคอมพิวเตอร์โน้ตบุค เพื่อเช็คเมล์ดูว่ามีใครสื่อสาร ติดต่ออะไรมาบ้าง ไม่ผิดหวัง เพราะได้รับแผนงานของพรและพี่อัฒ (ผู้ประสานงานภาคกลางของสรส.)  ตั้งแต่ค้นข้อมูลในอินเตอร์เน็ตว่ามือถือเครื่องเก่าของเราสามารถต่ออินเตอร์เน็ตผ่าน GPRSได้ ทำให้เดี๋ยวนี้เวลาไปต่างจังหวัดและต้องติดต่อหรือส่งข้อมูลทางอีเมล์สามารถทำได้ทุกเวลาที่มีสัญญาณมือถือ 
         นั่งรถมอเตอร์ไซด์ไปท่ารถตู้นครศรีธรรมราช รอไม่นานก็ออกเดินทางไปนครศรีธรรมราช ใช้เวลาประมาณ ๒ ชั่วโมงกว่า ลงที่สี่แยกหัวถนน (ก่อนเข้าตัวเมือง) แล้วใช้บริการมอร์เตอร์ไซด์รับจ้างมาส่งที่อบต. นั่งกันหัวฟูเลย เนื่องจากไกลประมาณเกือบ ๑๐ กิโลเมตร
         ถึงแม้เรามาถึงอบต.เกือบจะ ๑๐ โมงเช้าแล้ว แต่ก็ยังทันพิธีเปิดอยู่ โดยกำหนดการของงานคือวันนี้ช่วงเช้าเป็นการสัมมนารับความรู้และพูดคุยกันเรื่องการเลี้ยงโคและก๊าซชีวภาพ โดยอาจารย์จากราชมงคล  ช่วงบ่ายบริษัทปาล์มมาพูดคุยเรื่องการปลูกปาล์มเพื่อผลิตไบโอดีเซล ช่วงกลางคืนเป็นการเปิดงานโดยผู้ว่าราชการจังหวัด และตกดึกมีรำวงเวียนครกซึ่งทางวิทยาลัยนาฏศิลป์ได้รื้อฟื้นขึ้นมาด้วย   ส่วนพรุ่งนี้ช่วงเช้าเป็นการพูดคุยเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงโดยทีมอาจารย์ราชมงคลและลุงประยงค์ ปราชญ์เรื่องเกษตรคนสำคัญของนครศรีธรรมราชและของประเทศไทย  ปิดท้ายด้วยเรื่องเกษตรอินทรีย์ และเลิกงานตอนบ่ายวันพรุ่งนี้
 
         หลังจากนายกฯเปิดงานแล้ว อาจารย์จิรวิทย์เป็นพิธีกรในช่วงการเลี้ยงโคและก๊าซชีวภาพ โดยเป็นคนเปิดประเด็น ชวนคุย ส่งลูกต่อให้ทีมอาจารย์จากราชมงคลบนเวที กระตุ้นชวนคิด ชวนคุย และสรุปประเด็นด้วย ได้เห็น “ลีลาคุณอำนวยพาชาวบ้านเรียนรู้” ในเวทีของอาจารย์ชัดเจนก็ครั้งนี้
         ทีมอาจารย์จากราชมงคลได้ใช้การนำเสนอโดย power point ปูพื้นและเล่าถึงความรู้และประสบการณ์จากการเลี้ยงโคของราชมงคลที่มีวัตถุประสงค์เพื่อให้นักศึกษาได้เรียน และความรู้ซึ่งโยงกับปัญหาที่ชาวบ้านส่วนมากมักจะพบ เรื่องการเลี้ยงโคพูดจบแล้วค่อยให้ชาวบ้านพูดคุย ซักถาม ส่วนเรื่องก๊าซชีวภาพ บรรยายไปมีการซักถามไปด้วย  มีแกนนำสนใจซักถามกันมากพอสมควร โดยเฉพาะปัญหาบางอย่างที่พบ ก็มีโอกาสได้ซักถามในเวทีนี้ด้วย
         ช่วงบ่าย มีชาวบ้านมาฟังประมาณ ๑๕ คน มีทีมงานจากบริษัทที่ส่งเสริมการปลูกปาล์มมาเป็นวิทยากรประมาณเกือบ ๑๐ คนเช่นกัน รู้สึกว่าการจัดงานครั้งนี้ในช่วงของความรู้ ชาวบ้านมากันค่อนข้างน้อย แต่เป็นครั้งแรกของอบต.ที่มีความคิดจัดการเรียนรู้ผ่านงานมหกรรมแบบนี้ ก็เป็นสิ่งที่น่าชื่นชมอยู่ไม่น้อย

         เห็นภาพการจัดการครั้งนี้แล้ว ทำให้เกิดความคิดดีๆ ที่จะส่งเสริมการทำเกษตรโดยใช้ความรู้ (จัดการความรู้ด้านเกษตรของตำบล) ดังต่อไปนี้
๑) การจัดงานในลักษณะนี้ครั้งต่อไป หากมีการปรึกษาหารือออกแบบกระบวนการร่วมกันระหว่างอบต. ราชมงคล และสรส. ก็คิดว่าจะดีไม่น้อย โดยเฉพาะตอนท้ายที่ผู้เล่าเรื่อง (สมโภชน์) เองได้มีโอกาสทักทายกับผู้นำและชาวบ้านในเวทีเรียนรู้ด้วย ซึ่งความคิดตรงกับเจ้าภาพว่า น่าจะทำเป็น “ตลาดนัดความรู้” ให้มีการคุยกันตามประเด็นต่างๆ แต่ละคนที่มามีจุดประสงค์ร่วมกันในปัญหาการเกษตรของตนที่เหมือนๆกัน  แต่ครั้งนี้เป็นการเปิดตัวราชมงคล อบต. และสรส. กับชาวบ้านก่อน
๒) ที่นี่เป็นตัวแบบที่ดีของการมีศิษย์เก่าและอบต.เป็นตัวเชื่อมโยงอาจารย์มหาวิทยาลัย (ความรู้ในสถาบันการศึกษา) มาสู่ชาวบ้าน ในขณะเดียวกัน ก็เป็นคนรวมกลุ่มชาวบ้าน ช่วงไหนชาวบ้านมีปัญหาอะไร ก็เชื่อมโยงความรู้ด้านนั้นจากภายนอก โดยเฉพาะเรื่องการเกษตรนี้คิดว่าทางราชมงคลสามารถ “รับได้หมด” ทุกเรื่องทั้งพืชและสัตว์ที่ชาวบ้านยึดเป็นอาชีพหลักและอาชีพเสริมอยู่
๓) ได้เห็น “สัญญาประชาคม” ที่อาจารย์จิรวิทย์บอกว่าจะลงมาทุกเดือนแล้ว คิดว่า “ความต่อเนื่อง” ที่นำความรู้ลงมาช่วยชาวบ้านจนเห็นผล วัวชาวบ้านขายได้ กระท้อนมีรสชาติดี ผลใหญ่ เป็นต้น
๔) น่าจะพาชาวบ้านไป “เปิดกรุ” ราชมงคลในเรื่องเกษตรดูสักครั้ง ลองเลือกกลุ่มเป้าหมายดูว่ามีกลุ่มไหนบ้าง แต่ละกลุ่มรวมกันตามความสนใจ ไปดูกัน แล้วมีคนที่สนใจจริง (แกนนำ) กลับมาลองทำ “เป็นตัวอย่าง” เพื่อให้เพื่อนบ้านได้เรียนรู้
๕) ลองดูว่าเรื่องเกษตรในตำบลมีเรื่องอะไรบ้าง เลี้ยงวัว ปุ๋ยชีวภาพ ปลูกผัก ปลูกผลไม้ ผลิตก๊าซ  ระบุกลุ่มเป้าหมายเหล่านี้ให้ชัด ให้เขาไปเรียนรู้ข้างนอก กลับมาทำ เจอปัญหาก็กลับไปหาครูบาอาจารย์ เป็นคนต่อเชื่อมกับภายนอก ทำจนประสบผลสำเร็จ เป็นตัวอย่าง เป็นผู้รู้ในเรื่องนั้นๆของตำบล เช่น เรื่องหมูในตำบลใครรู้ดี เรื่องปาล์มใครรู้ดี เรื่องกระท้อนใครรู้ดี  และมีอบต.หรือศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีเป็นศูนย์กลางที่รวบรวมคนและความรู้ด้านการเกษตรของตำบล คอยจัดการประสานชาวบ้านให้เรียนรู้จากแกนนำแต่ละคนในตำบลเหล่านี้  วางเป้าหมายว่า ต่อไปสามารถมาเรียนรู้ที่อบต.หรือที่ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีได้
๖) มหาวิทยาลัยน่าจะดูว่าตัวเองมีแหล่งความรู้ วิชาการ และอาจารย์ด้านใดบ้าง  ความรู้แต่ละสาขาจะช่วยเกษตรกรได้อย่างไรบ้าง เช่น เทคโนโลยีการยางก็ช่วยชาวสวนยาง เป็นต้น ก็จะเป็นการ “บริการวิชาการ” แก่ชุมชนอย่างแท้จริง ตามโจทย์ที่เราเคยคุยร่วมกันว่า มองพื้นที่เป็นตัวตั้งแล้วดูว่ามีโจทย์อะไรที่สาขาวิชาต่างๆจะเข้ามาเกี่ยวข้องและทำงานของตัวเองขนานไปกับชุมชนได้
๗) การเริ่ม “จัดการความรู้” แล้วนี้ น่าจะมีนักศึกษาหรือทีมงานสักคน ทำหน้าที่ในเชิง วิชาการเป็น “คุณบันทึก” คอยเก็บเรื่องราวต่างๆที่เกิดขึ้น ทั้งการขยับปรับเปลี่ยน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน ของอาจารย์ในมหาวิทยาลัยเอง  การเชื่อมโยงอบต. ชุมชน ศิษย์เก่า และเครือข่ายพันธมิตรของราชมงคล
๘) การต่อยอดการเรียนรู้จากสิ่งใกล้ตัวของชาวบ้าน เช่น มีคนเลี้ยงสัตว์ก็นำความรู้และอาจารย์ด้านสัตว์มา และนำเรื่องก๊าซชีวภาพอันเป็นพลังงานทดแทน ซึ่งเชื่อมโยงกับการเลี้ยงสัตว์มาด้วย
๙) เป็นตัวอย่างที่ดีว่าอาจารย์ภาควิชาสัตวศาสตร์ และเทคโนโลยีชีวภาพ ได้ลงมาใช้ความรู้ให้เป็นประโยชน์แก่ชุมชน ในภาพรวมของคณะเกษตรและคณะอื่นๆของราชมงคลที่จะเน้น “การจัดการความรู้เพื่อเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง” ของทุกฝ่าย คือ
     - ฝ่ายอาจารย์ จะได้ประสบการณ์ ความรอบรู้ จากการทดลองจริงในราชมงคล และการทดลองจริงในพื้นที่ มาใช้ในการสอนนักศึกษา และได้ใช้ความรู้ประสบการณ์ที่หลากหลาย ในฐานะที่ตนเองเป็น “เจ้าแห่งความรู้ด้านนั้นๆ” มาถ่ายเทแลกเปลี่ยนให้กับชาวบ้านด้วย 
     - นักศึกษา  ได้เรียนจากของจริง เห็นว่าความรู้ที่เรียนในชั้นเรียน ในมหาวิทยาลัย จะสามารถนำไปใช้จริงในไร่นาได้อย่างไร หากตัวเองจบการศึกษาจะไปเป็นเจ้าของฟาร์ม เจ้าของสวนเอง จะได้ทำถูก ทำเป็น และมีความมั่นใจ เห็นว่าความรู้ที่เรียนมาจะ “สามารถใช้ได้ กินได้” อย่างไร
      - ชาวบ้าน  สามารถผลิตสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพ มีระบบการรวมกลุ่ม ช่วยเหลือกันทางความรู้ ความคิด คุณภาพชีวิตดีขึ้น ไม่ได้เป็นการทำและเรียนรู้กันเองไปตามยถากรรม  จะเห็นได้ว่าเจ้าของฟาร์มหมูก็ไม่ได้ลงมือทำเองโดยไม่มีความรู้ ไม่มีประสบการณ์เลย แต่กลับกันคือมีความรู้จากการทำงานบริษัทฟาร์มมาก่อนและนำมาใช้ในฟาร์มของตัวเอง

สิ่งที่ต้องตามต่อ
๑) แผนงานส่งเสริมเกษตรของอบต. เช่น การเรียนรู้ดูงานของชาวบ้าน
๒) กลุ่มแกนนำในประเด็นต่างๆ เช่น เลี้ยงวัว  สวนผลไม้ ฯลฯ เพื่อพัฒนาเป็น “คุณอำนวยในชุมชน” พาคนในกลุ่มเรียนรู้
๓) การลองมองภาพการพัฒนาด้านเกษตรของตำบลร่วมกัน
๔) งานอื่นๆของอบต.ที่เชื่อมโยงและอยู่ในความสนใจ เช่น การศึกษา ศิลปวัฒนธรรม การพัฒนาสมาชิกและกลุ่มผู้นำระดับตำบล

หมายเลขบันทึก: 43311เขียนเมื่อ 8 สิงหาคม 2006 10:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 พฤษภาคม 2012 14:20 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท