แรงบันดาลใจ (เป็นเสมือนการให้คำสัญญาเล็กๆ กับตัวเอง !)


ผมมีความสุขที่เห็นใครๆ เข้าร่วมกระบวนการที่เราจัดขึ้นแล้วเกิด “พลังใจ” หรือ “แรงบันดาลใจ” ที่จะลุกขึ้นมาทำในสิ่งดีๆ ให้กับตัวเองและสังคม

(๑)

เมื่อวาน (๒๗ มีนาคม ๒๕๕๔
ผมได้รับเชิญให้เป็นวิทยากรจัดกระบวนการเรียนรู้แก่คณะกรรมการนิสิตหอพักและเจ้าหน้าที่หอพักเนื่องในโครงการ “พัฒนาบุคลิกภาพ” ที่จัดขึ้น ณ โรงแรมพูลแมน ราชา ออคิด จังหวัดขอนแก่น

 

อันที่จริงจะเรียกว่าเป็นวิทยากรอย่างเต็มสถานะก็คงไม่ถูกนัก  เพราะในเนื้อแท้นั้น  ผมเองก็มีหน้าที่ต้องกำกับดูแลในเรื่องเหล่านี้อยู่แล้ว แต่ก็พยายามจะไม่ลงลึกในรายละเอียดอะไรมาก  โดยปล่อยให้ทีมงานได้คิดรูปแบบและประสานงานกันเอง 

ก่อนหน้านี้หลายวัน  ผมเกริ่นแบบสบายๆ แกมหยิกแกมหยอกกับแกนนำโครงการนี้ในทำนองว่า “ผมจะไปในนามวิทยากร ไม่ใช่ไปในนามหัวหน้าฯ”   


ผมพูดเช่นนั้น เพราะมีเหตุผลหลักอยู่สองประการ นั่นคือ (๑) ต้องการให้ทีมงานได้ออกแบบกิจกรรมด้วยตนเอง เน้นกระบวนการเป็นทีมในระดับ “คนหน้างาน” ให้มากที่สุด รวมถึงต้องการให้พวกเขาฝึกทักษะการติดต่อกับหน่วยงานภายนอกด้วยตนเอง (๒) ต้องการให้ทีมงานฝึกทักษะการติดต่อวิทยากรและดูแลวิทยากร โดยมีผมเป็น”แบบเรียน” เล่มเล็กๆ ให้ฝึกปรือวิทยายุทธ 

กรณีประเด็นที่สองนั้น  เกิดจากแรงบันดาลใจที่ผมไปมาหลายที่แล้วเห็น "ทักษะ" การประสานงาน รวมถึงทักษะในการต้อนรับวิทยากรที่หลากรูปลักษณ์  ซึ่งมีทั้งจุดเด่นและจุดด้อยที่ผมสัมผัสได้ชัดแจ้ง  จึงอยากนำข้อมูลเหล่านั้นมาสอนลูกทีมไปในตัว แต่จะไม่พยายาม “สอนตรง”  เพราะเกรงว่าจะเป็นการ “สั่ง” มากจนเกินไป  จึงพยายามสร้าง “เวที”  ให้เรียนรู้ผ่านการปฏิบัติจริงไปแบบ “เนียนๆ”

 

 

การงานในครั้งนี้  นิสิตที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับการอบรมเชิงปฏิบัติการในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับบุคลิกภาพเป็นหลักสำคัญ  เช่น  การพูด  การแต่งกาย มารยาทการรับประทานอาหาร   จรรยาบรรณในวิชาชีพ  และการสมัครงาน  ฯลฯ  ซึ่งล้วนแต่เป็นจุดอ่อนของนิสิตเราทั้งสิ้น  ดังนั้นกิจกรรมในครั้งนี้จึงพาพวกเขามาเรียนรู้แบบ “เร่งรัด” และ “รวบยอด” เพื่อก่อให้เกิด “องค์ความรู้เล็กๆ มีทักษะและแรงบันดาลใจ”  เมื่อกลับไปยังมหาวิทยาลัย  เราก็มีโครงการฯ รองรับให้พวกเขาได้ต่อยอดความคิด (ทั้งในฐานะผู้จัดเองและผู้เข้าร่วม ฯ)

 

เรียกได้ว่า เรียนแล้วต้องนำไปใช้จริง
และเรียนแล้ว ต้องกลับไปเป็นแกนนำในการขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าว  
ซึ่งผมและทีมงานได้จัดเตรียมงบประมาณให้พวกเขาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว  ด้วยหวังว่าพวกเขาจะเกิดแรงทะยานในการ “คิดที่จะลงมือทำในสิ่งที่อยากจะทำ”

 

 

(๒)

  

ช่วงเย็นของวันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๕๔
ผมนัดทีมงานมานั่งพบปะพูดคุยกันสั้นๆ  เป็นกระบวนการ AAR  เล็กๆ เน้นการพูดคุยและเล่าเรื่องในสิ่งที่ทำ และย้ำในสิ่งที่เรา “ค้นพบ”  เพื่อนำไปแก้ไขและต่อยอดในสิ่งที่ดีอยู่แล้ว

 

หลักๆ ผมไม่ได้ก้าวล้ำอะไรเลยก็ว่าได้  ตรงกันข้ามกลับเน้นการให้อิสระในสิ่งที่ลูกทีมได้คิดและวางแผนไว้  เพียงแต่เสริมพลังในเรื่องของการมอบหมายงานของแต่ละคนให้ชัดเจน  เพราะไม่อยากให้กระจุกอยู่กับใครเพียงคนเดียวมากจนเกินไป  ดังนั้นจึงเห็นภาพชัดเจนว่า  งานพรุ่งนี้เช้าจะเปิดเวทีด้วยอะไรใครคือผู้รับผิดชอบ ?  และกิจกรรมนั้นๆ มุ่งเน้นให้เกิดผลลัพธ์อะไรบ้าง ?

 

 



(ขั้นตอน : เปิดเปลือยความรู้สึกของนิสิต)

 

เป็นที่น่ายินดีอย่างมาก  ข้อเสนอแนะเล็กๆ ของผมเดินทางมาทันเวลา  พวกเขาฉุกคิดได้ทันและสามารถนำไปเสริมพลังในส่วนที่เหลือได้เป็นอย่างดี  ยกตัวอย่างเช่น  การเปิดเวทีด้วยวีดีทัศน์เป็นการเรียกสมาธิและกระตุ้นพลังในตัวของนิสิต  จากนั้นก็สะท้อนความคาดหวัง  ผูกโยงไปสู่การให้นิสิตสะท้อนบทเรียนที่ได้เรียนรู้จากวิทยากร และปิดท้ายด้วยการสะท้อนผลการเรียนรู้ตามอัธยาศัย ซึ่งนิสิตได้ลงพื้นที่ไปเรียนรู้ด้วยตนเอง  เป็นการฝึกการสังเกต, เก็บข้อมูล ขบคิด สังเคราะห์ ตีความ  ระดมความคิดเพื่อถ่ายทอด หรือสื่อสารต่อสาธารณะ  อันเป็นการดำเนินงานภายใต้แนวคิดของการ “เรียนรู้ด้วยตนเอง” และตอกย้ำวาทกรรมที่ผมพูดบ่อยๆ ว่า “ไม่มีที่ใดปราศจากเรื่องเล่า....” 

 

แน่นอนครับ  ผมไม่ได้ปล่อยให้ลูกทีมทำงานอย่างเดียวดาย  แต่บอกกับพวกเขาว่าผมมีสื่อหลายเรื่องเลยแหละ  และพร้อมที่จะส่งมอบให้พวกเขาได้นำไปเปิดให้นิสิตได้เรียนรู้  พร้อมๆ กับการย้ำทีเล่นทีจริงแบบเก๋ๆ อีกรอบว่า “ลุยกันเองเลยนะ” (ผมมาในฐานะวิทยากร...!”

 

ก่อนแยกย้าย ณ ที่ตรงนั้น  ผมถามกลับไปอีกรอบว่า “อยากให้ผมทำอะไรบ้าง ?”

ผมถามเช่นนั้น เพราะต้องการถามซ้ำให้แน่ใจว่า พวกเขาอยากให้ผมบรรยาย หรือจัดกระบวนการเรียนรู้ใน “หัวข้อ” อะไร..หรือผู้ฟังอยากฟังเรื่องอะไร นั่นเอง  และนั่นก็เป็นกระบวนการเล็กๆ ที่ผมพยายามสอนงานลูกทีมได้เห็นความสำคัญของการ “ประเมินความคาดหวัง”  ล่วงหน้าไปในตัว

  

และพวกเขาก็ยังตอบแบบเป็นกันเองว่า “อะไรก็ได้ (มันเป็นธรรมเนียมที่มักตอบกันแบบนี้เสมอ) ...และอยากให้สร้าง “แรงบันดาลใจ” (Inspiration) ให้กับนิสิตในการเรียนรู้ทั้งการเรียนและการใช้ชีวิต”


พอได้ฟังเช่นนั้น  ผมก็เลยถือโอกาสตอบกลับไปว่า “งั้นเอาแบบสนุกๆ เน้นทิ้งประเด็นให้คิดกันเอง สอนความเป็นทีมผ่านสื่อและวาทกรรมต่างๆ เน้นเชิงปฏิบัติแบบให้คิดเอง แก้สถานการณ์เอง ผูกโยงไปสู่การร้อยเรียงความคิดเป็นเรื่องราวร่วมกัน...”

 

ซึ่งทุกคนก็เห็นคล้อยตามนั้น

 

เสร็จจากนั้น พวกเราก็แยกย้ายกันไปพักผ่อนตามอัธยาศัย  ก่อนแยกย้ายกันไปนั้น  พวกเขาก็ยืนยันว่า  จะวกกลับไปคุยกันอีกรอบ เพื่อมอบหมายภารกิจให้ชัดเจนยิ่งกว่าเดิม  ซึ่งผมก็ได้แต่ยิ้ม และยิ้ม ...(ก็จริงไม่ใช่เหรอ มันคือความสุขเล็กๆ ที่ค้นพบได้จากตรงนั้น)

 

 

 
(ขั้นตอน : เรื่องเล่าคนละบรรทัด สกัดจากสถานการณ์เฉพาะกิจ)

 

(๓)

 

เช้าวันที่ ๒๗ มีนาคม ๒๔๔๕
ทีมงานเปิดเวทีด้วยกิจกรรมนันทนาการในแบบที่พวกเขาถนัด  แถมด้วยวีดีทัศน์ในบางชุดที่ผมมอบไว้ให้   เรียกเสียงฮาและการฝึกสมาธิก่อนเข้าสู่กระบวนการได้เป็นอย่างดี

 

ถัดจากนั้นก็เป็นกิจกรรมสะท้อนความคาดหวังโดยเจ้าหน้าที่และยึดโยงเวทีให้นิสิตได้ลุกขึ้นมาสะท้อนผลการเรียนรู้ในรอบวันที่ผ่านมาด้วยตัวเอง  โดยเห็นได้ชัดว่าพวกเขามีทักษะการเรียนรู้ที่ดี  มีการฟังและจับประเด็นได้อย่างครอบคลุม มีการวิเคราะห์ทั้งองค์รวมและแยกส่วนได้ค่อนข้างดี  และที่สำคัญคือมีทักษะการนำเสนอได้อย่างมีขั้นตอน แถมพกพาอารมณ์ขั้นมาอย่างเต็มสูบ (ซึ่งสองประเด็นหลังนั้น ผมแพ้เขาอย่างสิ้นเชิง)

 

กระทั่งเวลาประมาณเกือบๆ จะ ๑๐.๓๐ นาฬิกาโน่นแหละ  ผมถึงสบโอกาสได้นำเข้าสู่กระบวนการเรียนรู้ที่ตัวเองได้เตรียมมา

 

ครั้งนี้ผมก็เดินเรื่องเข้าสู่บทเรียนของตัวเองเหมือนทุกๆ ครั้ง  กล่าวคือเปิดเวทีด้วยสื่ออันเป็นวีดีทัศน์สั้นๆ เพื่อฝึกการฟัง ฝึกการดู ฝึกการจับประเด็น ฝึกการคิดรวบยอดแบบวิเคราะห์สังเคราะห์  รวมถึงการแฝงแนวคิดเรื่องการเรียกสมาธิของผู้เรียนไปแบบเนียนๆ  ครั้นพอฉายฯ จบ ผมก็เริ่มต้นขยับเข้า“ทักทายและโยนคำถามไปกลางวงประมาณว่า ...ดูแล้วรู้สึกอย่างไร”  ซึ่งก็เป็นที่น่ายินดีว่า นิสิตมีปฏิกิริยาตอนกลับมาค่อนข้างดี  ไม่มีการนิ่งเงียบ ตรงกันข้ามกลับยกมือตอบแบบไม่ต้องมี “รางวัล” มาล่อ..

 

เรียกได้ว่าไม่มีอาการ “จักแหล่ว แล้วแต่หมู่ กูว่าแล้ว..”  

 

 

เสร็จจากนั้น  ผมก็รวบรวมพลังในตัวเอง (เพราะจริงๆ แล้วผมเป็นไข้)  นำนิสิตและเจ้าหน้าที่เข้าสู่บทเรียนร่วมกัน  เน้นการบรรยายและชวนเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันเป็นระยะๆ  โดยเนื้อหาก็เกี่ยวโยงกับสิ่งที่เขาควรจะรู้เช่น ทิศทางของการผลิตและพัฒนาบัณฑิตทั้งในระดับชาติและระดับสถาบัน  พร้อมๆ กับการสอดแทรกสาระความคิดในโลกแห่งข่าวสารไปเป็นระยะๆ เพื่อประเมินผลึกความคิดของพวกเขาว่าตกขอบการรับรู้ข่าวสารต่างๆ ไปหรือยัง

 

กระบวนการที่เกิดขึ้น  เป็นการเรียกสติการเรียนรู้ร่วมกันได้เป็นอย่างดี ไม่ใช่การสื่อสารทางเดียว และชวนให้ผู้ฟังได้เป็นส่วนร่วมในการคิดและหาคำตอบในโจทย์ หรือเรื่องราวที่เราหยิบมาเป็น “ประเด็น”

 

อย่างน้อยก็สะท้อนให้เห็นได้ว่าพวกเขามี “ทุนอะไรอยู่ในตัวเองบ้าง ?  และอย่างน้อยก็บอกให้สะกิดให้เขาได้คิดและทบทวนถึง “หมุดหมายของการเรียนและการใช้ชีวิตของตนเองอีกครั้งว่าเป็นอย่างไร ?  ...

 

และท้ายที่สุดผมก็นำเข้าสู่กิจกรรมปฏิบัติการร่วมกันอีกรอบ ด้วยการแบ่งกลุ่มเล็กๆ เพื่อเข้าร่วมกิจกรรม “เรื่องเล่าคนละบรรทัด”   

 

 

 

เรื่องเล่าคนละบรรทัด เป็นการฝึกทักษะการเล่าเรื่องของแต่ละคน เป็นการเล่าเรื่องผ่านตัวอักษรและภาพ  โดยเริ่มต้นจากใครสักคนเขียนเรื่องราวลงบนกระดาษเพียงหนึ่งบรรทัด  เสร็จแล้วให้คนถัดไปมาเขียนต่อ และทำเช่นนั้นไปจนถึงคนสุดท้าย แล้วปิดเรื่องด้วยคนแรกอีกรอบ  ซึ่งแต่ละขั้นตอนห้ามมิให้มีการปรึกษากัน โดยเด็ดขาด  แต่เน้นให้เรียนรู้ผ่านเรื่องเล่าในบรรทัดที่ถูกเขียนทิ้งไว้ก่อนหน้านั้น


ขณะที่พวกเขากำลังเล่าเรื่องผ่านตัวอักษรในเวลาอันจำกัดนั้น เราก็เปิดเพลงคลอไปด้วย เป็นการเสริมพลังให้กับพวกเขาไปในตัว  และที่สำคัญก็คือโครงเรื่องทั้งหมดนั้น เกี่ยวโยงกับความเป็นนิสิตที่พักอาศัยในหอพักของมหาวิทยาลัยฯ นั่นเอง (เป็นการเล่าเรื่อง หรือเขียนเรื่องในระยะสุดสายตา)

 

 

เมื่อเสร็จสิ้นแล้ว ให้มานั่งล้อมวงพูดคุยกัน เปิดโอกาสให้ซักถามกันและกันว่า “ทำไมถึงเล่าเรื่องออกมาในทำนองนั้น”   เป็นการเชื่อมโยงให้แต่ละคนได้เห็นความสำคัญของเจตนารมณ์ของกันและกัน 

 

ถัดจากนั้น ก็ให้ช่วยกันเล่าประมวลเรื่องราวทั้งปวงอีกรอบ  โดยร้อยเรียงเป็นเรื่องเล่าที่เป็นรูปธรรมและสละสลวยมากกว่าเดิม  พร้อมๆ กับการนำเรื่องราวทั้งหมดนั้นเขียนออกมาเป็น “ภาพวาด” ...และนำเข้าสู่การนำเสนอให้เพื่อนทุกคนได้ร่วมรับรู้

กิจกรรมนี้  ผมไม่จำเป็นต้องสรุปว่า “สอนอะไรบ้าง”  แต่เห็นได้ชัดว่า  มันเป็นกิจกรรมที่สนุก ตื่นเต้น เฮฮา...ฯลฯ...(บันเทิง เริงปัญญา)

 

จนสุดท้ายก็ปิดเวทีด้วยคลิปอีกเรื่อง  เน้นเรื่องราวอันเป็นพลังใจของการทำอะไรสักอย่างที่ใช้  “ใจนำพา...ศรัทธานำทาง”  ซึ่งทำเอาใครหลายคนนิ่งงัน สะเทือนใจเป็นอย่างมาก

 



(ขั้นตอน : เปิดเปลือยเจตนารมณ์ของแต่ละคนจากแต่ละบรรทัด)

 

เมื่อคลิปสั้นๆ นั้นยุติลง  ผมก็ก้าวเข้าไปถามทักสั้นๆ ว่า ...”ได้อะไรกับการเรียนรู้ในครั้งนี้บ้าง.. รวมถึง ได้แรงบันดาลใจจากกระบวนการที่ผมนำมาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้บ้างมั๊ย...?

 

และนี่คือส่วนหนึ่งที่พวกเขาเขียนสื่อสารกลับมายังผม-

 

  • เกิดความตระหนักในโอกาสที่ได้มาเรียนรู้ ในขณะที่คนอื่นไม่ได้มา โดยสัญญาว่ากลับไปจะทำกิจกรรมให้ออกมาดีที่สุด  เพื่อพัฒนาตนเองและคนรอบข้าง
  • เกิดแรงบันดาลใจที่จะทำงานให้บรรลุเป้าหมาย  โดยไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค
  • เกิดกระบวนการคิดในเรื่องการวางแผนเรื่องการเรียนและการใช้ชีวิต
  • เกิดความสะเทือนใจ จนอดที่จะคิดถึง “คำสอนของพ่อแม่ไม่ได้”
  • เกิดสติและย้ำเตือนตัวเองว่า “เราไม่ได้อยู่คนเดียวในโลกใบนี้”
  • เกิดแรงบันดาลใจว่า “ตัวเองควรต้องทำตัวให้มีประโยชน์ต่อสังคมให้มากกว่าที่ผ่านมา” 
  • พลังบวกในการมองโลกในแง่ดี เช่น “มุ่งมั่น อดทน ไม่จำนนต่อโชคชะตาและอุปสรรคใดๆ”
  • เกิดแรงบันดาลใจว่า “การเดินทางของชีวิต ต้องมีจุดมุ่งหมาย รู้ว่าตนเองกำลังทำอะไร และต้องทำให้ดีที่สุด”
  • เกิดแรงบันดาลใจในการที่จะปรับปรุงแก้ไขอดีตที่ล้มเหลว เพื่อปัจจุบันและอนาคตที่ดีของตนเองและครอบครัว
  • เกิดความตระหนักที่ต้องเตือนตัวเองว่า “ผู้นำที่ดีต้องเป็นแบบอย่างที่ดี”
  • เกิดความรู้สึกที่มั่นคงกว่าเดิมว่า “อย่ากลัวการเปลี่ยนแปลง”
  • ศรัทธาว่า “แรงบันดาลใจ” คือพลังของการขับเคลื่อนชีวิต  และการหยั่งคิดว่า “อยากทำ ต้องมาก่อนคำว่าอยากได้”
  • ตระหนักว่า “เราต้องปรับตัวเข้าหาสังคม”
  • เกิดแรงบันดาลใจเรื่องการทำงานอย่างเป็นทีม

 

แน่นอนครับ,  ฟังดูอุดมคติเอามากๆ  เพราะมองเป็นรูปธรรมค่อนข้างอยาก มันไม่ใช่ทักษะที่วัดกันให้เห็นได้ในทันท่วงที  แต่ต้องไม่ลืมว่า นั่นคือทักษะทางความคิดอันดียิ่งเลยทีเดียว  เพราะวิธีคิดเช่นนี้ เป็นวิธีคิดเชิงบวก เป็นพลังบวกที่มาจากแรงบันดาลใจอันยิ่งใหญ่  ซึ่งวิธีคิดเช่นนี้แหละ คือตัวกำหนดพฤติกรรมการกระทำ, มันคือ ต้นทุนอันสำคัญในการกำหนดพฤติกรรม หรือบุคลิกภาพที่เราเองก็ปฏิเสธไม่ได้

 

(ขั้นตอน : จากเจตนารมณ์ของแต่ละบรรทัดสู่การร้อยเรียงเรื่องราว)



แต่สำหรับผมแล้ว  ผมมีความสุขที่เห็นใครๆ เข้าร่วมกระบวนการที่เราจัดขึ้นแล้วเกิด “พลังใจ” หรือ “แรงบันดาลใจ”  ที่จะลุกขึ้นมาทำในสิ่งดีๆ ให้กับตัวเองและสังคม 

 

สิ่งเหล่านั้นคือ “พลังบวก” ที่เขาได้ค้นพบในตัวเอง
สิ่งเหล่านั้น คือ หมุดหมาย หรือเข็มทิศ หรือแม้แต่ธงที่เขาปักลงเพื่อไปให้ถึง
สิ่งเหล่านั้น คือการชวนให้พวกเขาทบทวนตัวเองอีกครั้งว่าเป็นมาอย่างไร ยืนอยู่ตรงจุดไหน และจะเดินทางต่อในทิศทางใด
และที่สำคัญเลยก็คือ "แรงบันดาลใจ" ก็มีสถานะของการเป็นเสมือน “คำสัญญาเล็กๆ”  ที่เขาได้ให้ไว้กับตัวเองนั่นเอง

 

ครับ, ในฐานะผู้จัดกระบวนการเรียนรู้ในครั้งนี้ 

“ถึงแม้พวกเขาอาจจะไม่ได้ “ความรู้” อะไรมากมายจากกระบวนการของผม  แต่ก็ดีใจแบบสุดๆ  ดีใจที่ได้เห็นพวกเขาเกือบทั้งหมดมี “ความสุข” กับกระบวนการเรียนรู้ที่นำมาเสนอ  และดีใจที่กระบวนการของตัวเองเสริมพลังให้พวกเขาเกิด “แรงบันดาลใจ”  ขึ้นมาได้...”

 

ขอบคุณ และขอบคุณจริงๆ ...

 

 

หมายเลขบันทึก: 433108เขียนเมื่อ 28 มีนาคม 2011 13:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:42 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

ดูเหมือน "ความสำเร็จ" จะอยู่ที่ "หัวใจ" ของผู้รับร่วมทุกคนนะครับ ไม่เว้นแม้กระทั่งตัว "วิทยากร" เอง ;)...

ขอแสดงความยินดีด้วยครับ ;)...

เรียนท่านอาจารย์

  • คุณยายมาส่งกำลังใจค่ะ

มาศึกษาเรียนรู้แรงบันดาลใจคะ

รออ่านตอนต่อไปคะ

สวัสดีครับ อ.วัสฯ Wasawat Deemarn

กระบวนการในแต่ละครั้ง  ผมมองเป็นความท้าทายเสมอ โดยเฉพาะการท้าทายที่จะเสริมแรงให้ผู้เข้าร่วมได้ "เปิดใจ" ที่จะเรียนรู้กับผม หรือแม้แต่เปิดใจที่จะเรียนรู้กับเพื่อนที่อยู่รายรอบกายและเนื้อหาต่างๆ ที่เรานำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้

ครั้งนี้ก็เช่นเดียวกัน  ก็ยังต้องวิเคราะห์ก่อนว่า พวกเขาต้องการอะไร, และจะสื่อสารไปยังพวกเราอย่างไร เพื่อมิให้เกิดภาวะสื่อสารทางเดียว

ดีใจที่ประเมินแล้ว คนเข้าร่วมมีความสุข ได้ผลตอบรับที่ดีมากๆ   วันนี้เลยสรุปงานกับทีมงาน เป็นการตีเหล้กขณะร้อนๆ เพื่อผูกโยงไปสู่โครงการฯ ถัดไปทันที

ขอบคุณครับ

สวัสดีครับ พี่คุณยาย

ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยมนะครับ
การงานครั้งนี้ สุขภาพผมไม่ค่อยแข็งแรงนัก แต่ยังดีที่เรียกพลังกลับมาได้ทันท่วงที...พลอยให้อะไรๆ ผ่านไปได้อย่างที่หวัง

การประเมินผลวันนี้  ทีมงานมีความสุขมากครับกับสิ่งที่ได้ลงมือทำ พร้อมๆ กับการชวนให้เขาวิเคราะห์ร่วมกันว่าอะไรคือสิ่งที่ทำให้พวกเขามีความสุข (ปัจจัยที่นำไปสู่ความสำเร็จ) และผลที่ค้นพบนั้น ผมเองก็ย้ำให้มีการต่อยอดต่อไปในทันที  ซึ่งเป็นกิจกรรมบริการวิชาการสู่ชุมชนนั่นเอง

 

สวัสดีครับ อ.ศศิธร อุบลชาติ

ทุกครั้งที่เวทีของการจัดกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้สิ้นสุดลง  ผมจะประเมินผลในภาพกว้างๆ ว่าได้ "แรงบันดาลใจ" อะไรบ้างหรือเปล่า และจะพยายามหลีกเลี่ยงการถามทักในทำนองว่า "ได้ความรู้อะไร" 

หรือไม่ก็จะพยายามถามในทำนองว่า "มีอะไรที่จะนำไปใช้ประโยชน์กับชีวิตและการงานได้บ้าง..."

ขอบคุณครับ

  • แรงบันดาลใจไม่เกิดง่ายนัก
  • แต่เมื่อเกิดกับใคร จะทำให้ฝังอยู่ในส่วนลึกของจิตใจ
  • และนำไปใช้กับตัวเอง กับงาน กับสังคม
  • ทำงานมีความสุขนะคะ

สวัสดีครับ อ.ลำดวน

ผมเห็นด้วยอย่างยิ่งครับว่าแรงบันดาลใจไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ เพราะมันเป็นเรื่องลึกเร้นในตัวตนของแต่ละคน  แต่หากได้รับการเสริมพลัง กระตุ้นทั้งจากตัวเองและปัจจัยบวกจากภายนอกอย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอและมีความสมดุลกับกาละต่างๆ ก็ยิ่งช่วยให้เกิดได้เร็วและมีประสิทธิภาพ

การจัดกระบวนการในแต่ละครั้ง วิทยากรใช้พลังมากมายเหลือเกินกับการกระตุ้นให้ผู้เข้าร่วมเกิดพลังและจินตนาการที่จะเรียนรู้ร่วมกัน และมีแรงใจในการที่จะกลับไปสร้างสรรค์ชีวิตและการงานของพวกเขา

สื่อต่างๆ ประเด็นต่างๆ ลีลาท่วงท่า, และกลยุทธ คือสิ่งที่วิทยากรต้องจัดหาและจัดเตรียมให้พร้อมที่สุด

และทุกครั้ง ผมก็เรียนรู้ในเรื่องเหล่านี้มาโดยตลอด  พยายามเรียนรู้อย่างมีความสุข เพื่อให้งานออกมาอย่างเป็นสุขด้วยเช่นกัน

ขอบพระคุณครับ

  • ชื่นชมกับกิจกรรมที่เสริมพลังบวกแบบนี้ค่ะ
  • คุณแผ่นดินเล่าได้เห็นภาพตามไปด้วยดีจัง
  • เท่าที่อ่านข้อความที่เด็กๆเขียนออกมา เค้าได้อะไรกลับไปมากมาย จริงๆค่ะ

สวัสดีครับ พี่ใบบุญ

งานครั้งนี้ ก็ชัดเจนตั้งแต่แรกว่า เป็นกระบวนการกระตุ้นความคิดมากกว่าจะไปสอน หรือชี้นำ ดังนั้นประเด็นการสร้างแรงบันดาลใจจึงสำคัญ พร้อมๆ กับการจัดวางให้นิสิตได้คิดทบทวนตัวเองไปพร้อมๆ กัน โดยไม่ลืมที่จะชวนให้เขามองย้อนกลับไปยังอดีต ปัจจุบันและสำคัญคือมองไปยัง "อนาคต" ของเขาเอง..

ขอบคุณครับ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท