อิงจันทร์ บ้านกลอนไฉไล
ครู รัชดาวัลย์ วงษ์ชื่น น้ำตาล จันทวงศ์

คำกลอนสอนใจไม่จำเพาะคน : จงอย่าเป็นเช่นนายพราน


 

หมาล่าเนื้อตัวหนึ่งในยามหนุ่ม

ยังกระชุ่มมีเรี่ยวแรงก็แข็งขยัน

เก่งไล่ต้อนฝูงเนื้อตามเขาชัน

ได้แบ่งปันให้เจ้านายเสมอมา

 

  •  

กาลล่วงผ่านพลังหมาคราถดถอย

เจ้านายน้อยไม่ค่อยปลื้มลืมเรียกหา

แต่...วันหนึ่งพาหมาไปในพนา

หวังไล่ล่าสัตว์ป่ามิช้าการ

 

  •  

เจอหมูป่าเจ้าหมาฉวยคอกัด

หมูสะบัด...จนเขี้ยวหักน่าสงสาร

ได้แต่มองหมูหนีห่างอย่างร้าวราน

สั่นสะท้านรันทดหมดกำลัง

 

  •  

เจ้านายน้อยมาถึงก็บึ้งโกรธ

ฉวยไม้ได้ลงโทษอย่างบ้าคลั่ง

เอาไม้พลองทุบตี...ด่าเสียงดัง

เจ้าหมานั่ง...แหงนมองร้องออกไป

 

  •  

ที่หมูป่าหนีไปได้ใช่ข้าแกล้ง

แต่ข้าน้อยไร้เรี่ยวแรงต้านทานไหว

ด้วยชราขาแข้งพร่องความว่องไว

ท่านตรึกในความหลังบ้างทางปรานี

 

  •  

เจ้านายน้อยเป็นผู้ใหญ่ถึงคราวโกรธ

จะลงโทษข้าผู้น้อยด้อยศักดิ์ศรี

ควรแล้วหรือ เพียงตาเห็นเป็นคัมภีร์

สมควรมีเหตุผลบ้างสร้างชอบธรรม

ขอบพระคุณแรงบันดาลใจจากนิทานอีสป

ขอบพระคุณครูกลอนเคยสอนสั่ง

และขอบพระคุณผู้เยี่ยมชมทุกท่านค่ะ

  •   อิงจันทร์ 

  • ๒๔ มีนาคม ๒๕๕๔
หมายเลขบันทึก: 432623เขียนเมื่อ 24 มีนาคม 2011 20:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

พรานป่าผู้หนึ่งเลี้ยงสุนัขไล่เนื้อวัยหนุ่มไว้ตัวหนึ่งมันเป็นสุนัขที่แข็งแรงและวิ่งเร็วมาก ไม่ว่านายพรานจะใช้ให้มันจับสัตว์ไม่ว่าชนิดไหน ตัวใหญ่แค่ไหน หรือวิ่งเร็วเพียงใด มันไม่เคยทำงานพลาดวันเวลาผ่านไป สุนัขไล่เนื้อตัวนี้เริ่มแก่ตัวลง ตาเริ่มฝ่ามัว กำลังถดถอย ไม่คล่องแคล่วเหมือนก่อน แต่มันก็ยังติดตามนายไปล่าสัตว์ทุกวัน วันหนึ่งขณะที่มันกำลังไล่ต้อนหมูป่าตัวหนึ่งอยู่ มันพยายามฝังเขี้ยวลงที่คอของหมูป่า แต่ฟันของมันหักเสียก่อนหมูป่าจึงหนีรอดไปได้ นายพรานโกรธมาก เขาใช้ไม้ไล่ทุบตีมันอย่างรุนแรง ก่อนสิ้นสติ สุนัขไล่เนื้อได้แต่พูดตัดท้อว่า “ข้าไม่ได้ตั้งใจจะทำให้หมูป่าหนีรอดไปได้ แต่ด้วยสังขารที่ร่วงโรยทำให้ข้าอ่อนกำลังลง เมื่อท่านไม่ต้องการข้าแล้วก็อย่าถึงกับฆ่าข้าเลย ขอให้ท่านนึกถึงความดีต่าง ๆ แต่หนหลังที่ข้าเคยทำให้ท่านมาสมัยหนุ่ม ๆ ว่าข้าจงรักภักดีต่อท่านเพียงใด

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า ยามดีก็ใช้ ยามไข้ต้องรักษา

ที่มา : ชุลีพร . นิทานอีสป เล่ม 5 กรุงเทพฯ : ทิพยวิสุทธิ์ , 2544.

เกิดเป็นหมาน่าสงสาร            ถูกนายพรานขยันใช้

นายพรานสั่งต้องดั่งใจ           หากไม่ได้ไล่ทุบตี

นายพรานนั้นแสนชั่ว              เห็นแก่ตัวในหัวนี้

ทำร้ายเหยื่อไม่เหลือดี            ซ้ำกดขี่มิสนใจ

หมาน้อยแรงถอยร่น              ต้องดิ้นรนเพื่อเจ้านาย

ตัวเองก็เสี่ยงภัย                    เหยื่ออาจไล่ทำร้ายคืน

เกิดเป็นหมาน่าสงสารอย่างท่านว่า   ยามชราก็ค่าด้อยน้อยศักดิ์ศรี

เปรียบลูกน้องตลอดกาลทำงานดี    อาจบางทีพลาดพลั้งควรยั้งมือ

เจ้านายหลงแต่ชมชื่นคลื่นลูกใหม่   ลืมใส่ใจ คนเก่าช้ำทำได้หรือ

ยามดีใช้ยามป่วยขื่นไม่ยื่นมือ         แถมยังยื้อตอกย้ำให้ช้ำทรวง     

อรุณสวัสดิ์ค่ะพี่อิง

                

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท