ศุภัชณัฏฐ์ หลักเมือง
นาย ศุภัชณัฏฐ์ หลักเมือง (เอ) หลักเมือง

การบูรณาการการศึกษาและการเรียนรู้ในวิถีชีวิต


วิถีชีวิต คือ การบูรณาการการเรียนรู้ในวิถีชีวิตกับการศึกษา

การบูรณาการการศึกษา และการเรียนรู้ในวิถีชีวิต

นายศุภัชณัฏฐ์ หลักเมือง

ผู้อำนวยการ (เชี่ยวชาญ) กศน.อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์

--------------------------

 

                พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ  พ.ศ.  2542   มาตรา 22  กำหนดแนวทางในการจัดการศึกษาไว้ว่า การจัดการศึกษาต้องยึดหลักว่าผู้เรียนทุกคนมีความสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้ และถือว่าผู้เรียน มีความสำคัญที่สุด เนื่องจากประเทศไทยและประเทศต่าง ๆ ในโลกกำลังประสบปัญหาทางด้านสังคมเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเรื่องของการขัดแย้งทั้งความคิด และการกระทำของตัวบุคคล องค์กร และสังคม ฉะนั้น สถานศึกษาจะต้องมุ่งเน้นการเรียนรู้เพื่อให้เข้าใจในสถานการณ์ หาทางแก้ไข โดยเฉพาะ  ส่วนที่เกี่ยวกับศาสนา และวัฒนธรรมเป็นกรณีพิเศษ การเรียนรู้ในสาระการเรียนรู้ต่าง ๆ มีกระบวนการและวิธีการที่หลากหลาย ผู้สอนต้องคำนึงถึงพัฒนาการทางด้านร่างกาย และสติปัญญา วิธีการเรียนรู้ ความสนใจ และความสามารถ ของผู้เรียนเป็นระยะ ๆ อย่างต่อเนื่อง ดังนั้นการจัดการเรียนรู้ ควรใช้รูปแบบวิธีการที่หลากหลายเน้นการเรียนการสอนตามสภาพจริง มีทั้งการเรียนรู้ด้วยตนเอง การเรียนรู้ร่วมกัน การเรียนรู้ จากธรรมชาติ การเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง และการเรียนรู้แบบบูรณาการ

ความหมายของบูรณาการ

            บูรณาการ หมายถึงการทำให้สมบูรณ์ ซึ่งอาจจะขยายความเพิ่มเติมได้อีกว่าหมายถึงการทำให้หน่วยย่อย ๆ ที่สัมพันธ์อิงอาศัยกันเข้ามาร่วมทำหน้าที่อย่างประสานกลมกลืนเป็นองค์รวมหนึ่งเดียว ที่มีความครบถ้วนสมบูรณ์ในตัวเอง หรือการนำเอาศาสตร์สาขาวิชาต่าง ๆที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันมาผสมผสานเข้าด้วยกัน เพื่อประโยชน์ในการจัดหลักสูตรแบบบูรณาการ ( Integrated Curriculum ) คือหลักสูตรที่นำเอาเนื้อหาของวิชาต่าง ๆ มาหลอมรวมเข้าด้วยกันทำให้เอกลักษณ์ของแต่ละรายวิชาหมดไป เช่นเดียวกัน การเรียนการสอนที่ดำเนินการด้วยวิธีบูรณาการเราเรียกว่า การจัดการเรียนการสอนแบบบูรณาการ( Integrated  Instruction ) คือ เน้นที่องค์รวมของเนื้อหามากกว่าองค์ความรู้ของแต่ละรายวิชา  และเน้นที่การเรียนของผู้เรียนเป็นสำคัญยิ่งกว่าการบอกเนื้อหาของครู

               การจัดการเรียนการสอนแบบหน่วยเป็นการบูรณาการหลักสูตรประเภทหนึ่งที่เรียกว่าสหวิทยาการ (Interdisciplinary) วิธีการจัดการเรียนการสอนแบบหน่วยมีคุณลักษณะสำคัญคือการตั้งหัวเรื่องที่น่าสนใจขึ้นมา แล้วนำความรู้จากวิชาการต่าง ๆ มาโยงสัมพันธ์กับหัวเรื่องนั้นเพื่อประโยชน์ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน ความแตกต่างที่สำคัญที่จำแนกการจัดการเรียนการสอนออกจากหลักสูตรก็คือ การเรียนการสอนเน้นบูรณาการที่ระดับเนื้อหาวิชาเฉพาะส่วนที่เกี่ยวพันกัน แต่หลักสูตรเน้นบูรณาการที่รายวิชาโดยตรงก่อนที่จะไปแยกกำหนดเป็นเรื่องที่จะจัดการเรียนการสอนต่อไป

     นอกจากนั้น ยังมีความหมายอื่นอีก ว่า “ การเชื่อมโยงความรู้และประสบการณ์ทุกชนิดที่บรรจุอยู่ในแผนของหลักสูตร  เป็นการเชื่อมโยงแนวนอนระหว่างหัวข้อและเนื้อหาต่างๆที่เป็นความรู้ทั้ง 3 ด้าน  ได้แก่  พุทธิพิสัย  ทักษะพิสัย  และจิตพิสัย  การบูรณาการทำให้ผู้เรียนได้รับความรู้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน  และรู้ในเรื่องนั้นอย่างลึกซึ้ง  การบูรณาการความรู้เป็นสิ่งจำเป็นโดยเฉพาะในยุคที่มีความรู้  ข้อมูลข่าวสารมาก  จึงเกิดเป็นหลักสูตรที่เรียกว่า  หลักสูตรบูรณาการ  (Integrated  curricula)  ซึ่งพยายามสร้างหัวเรื่อง  (Themes)  ในโปรแกรมวิชาโดยนำความคิดหลักในวิชา มาสัมพันธ์กันและสัมพันธ์กับวิชาอื่นด้วย”

ลักษณะสำคัญของการบูรณาการ

                  ผลการจัดหลักสูตรและการจัดการเรียนการสอนแบบบูรณาการ ถ้าสามารถดำเนินได้อย่างสมบูรณ์แล้วก็ควรจะมีลักษณะโดยรวม ดังต่อไปนี้

            1.  เป็นการบูรณาการระหว่างความรู้และกระบวนการเรียนรู้  เพราะในปัจจุบันนี้ปริมาณของความรู้มีมากขึ้นเป็นทวีคูณ  รวมทั้งมีความสลับซับซ้อนมากขึ้นเป็นลำดับ  การเรียนการสอนด้วยวิธีการเดิม  อาทิ  การบอกเล่า  การบรรยายและการท่องจำ  อาจจะไม่เพียงพอที่จะก่อให้เกิดการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพได้  ผู้เรียนควรจะเป็นผู้สำรวจความสนใจของตนเองว่าในองค์ความรู้หลายหลากนั้น  อะไรคือสิ่งที่ตนเองสนใจอย่างแท้จริง  ตนควรแสวงหาความรู้เพื่อตอบสนองความสนใจเหล่านั้นได้อย่างไร  เพียงใด  ด้วยกระบวนการเช่นไร  ซึ่งแน่นอนว่า กระบวนการเรียนการสอนลักษณะนี้ย่อมขึ้นอยู่กับความแตกต่างระหว่างบุคคล  (Individual  Differences)ไม่ใช่น้อย

            2.  เป็นการบูรณาการระหว่างพัฒนาการความรู้และพัฒนาการทางจิตใจ  นั่นคือให้ความสำคัญแก่จิตพิสัย คือ เจตคติ ค่านิยม ความสนใจและสุนทรียภาพแก่ผู้เรียนในการแสวงหาความรู้ด้วย ไม่ใช่เน้นแต่เพียงองค์ความรู้หรือพุทธิพิสัยแต่เพียงอย่างเดียว  อันที่จริงการทำให้ผู้เรียนเกิดความซาบซึ้งขึ้นเสียก่อนที่จะได้ลงมือศึกษานั้น นับได้ว่าเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญยิ่งสำหรับจูงใจให้เกิดการเรียนรู้ขึ้นทั้งแก่ผู้สอนและผู้เรียน

            3. บูรณาการระหว่างความรู้และการกระทำในข้อนี้ก็มีนัยแห่งความสำคัญและความสัมพันธ์เช่นเดียวกับที่ได้กล่าวไว้แล้วในข้อสอง  เพียงแต่เปลี่ยน  จิตพิสัยเป็นทักษะพิสัยเท่านั้น

            4.  บูรณาการระหว่างสิ่งที่เรียนในโรงเรียนกับสิ่งที่เป็นอยู่ในชีวิตประจำวันของผู้เรียน  คือ การตระหนักถึงความสำคัญแห่งคุณภาพชีวิตของผู้เรียนว่าเมื่อได้ผ่านกระบวนการเรียนการสอนตามหลักสูตรแล้ว  สิ่งที่เรียนที่สอนในห้องเรียนจะต้องมีความหมายและมีคุณค่าต่อชีวิตของผู้เรียนอย่างแท้จริง

            5. บูรณาการระหว่างวิชาต่างๆ  เพื่อให้เกิด  ความรู้  เจตคติและการกระทำที่เหมาะสมกับความต้องการและความสนใจของผู้เรียนอย่างแท้จริง  ตอบสนองต่อคุณค่าในการดำรงชีวิตของผู้เรียนแต่ละคน การบูรณาการความรู้ของวิชาต่างๆเข้าด้วยกันเพื่อตอบสนองความต้องการหรือเพื่อตอบปัญหาที่ผู้เรียนสนใจจึงเป็นขั้นตอนสำคัญที่ควรจะกระทำในขั้นตอนของบูรณาการหลักสูตรและการเรียนการสอนเป็นอย่างยิ่ง

ทำไมต้องบูรณาการหลักสูตรและการเรียนการสอน

 เหตุผลสนับสนุนการบูรณาการ

  1. การขยายตัวของความรู้  มีเรื่องที่จำเป็นต้องเพิ่มเข้ามาในหลักสูตรมากมาย  เช่นเอดส์ เพศศึกษา  สิ่งแวดล้อม  จึงจำเป็นต้องหาทางเลือกสาระให้ผู้เรียนเรียนในเวลาที่เท่าเดิม

  2. หลักสูตรปัจจุบันไม่เหมือนชีวิตจริงเพราะเรียนเป็นช่วง  โรงเรียนต้องแสดงให้เห็นว่าแต่ละวิชา อิทธิพลต่อผู้เรียนอย่างไร  เขาควรต้องเห็นความสำคัญของทุกวิชาที่ถูกจัดเชื่อมโยงกันไว้

  3. ปัจจุบันเราไม่อาจฝึกคนให้เป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะไม่ได้ จะต้องฝึกให้ผู้เรียนสามารถ

บูรณาการสิ่งที่เรียนกับชีวิตในโลกกว้างได้ 

         นอกจากนี้ยังมีเหตุผลสนับสนุนการบูรณาการอย่างน้อยอีก 2 ประการคือ

  1. ไม่มีหลักสูตรวิชาใดเพียงวิชาเดียวที่สำเร็จรูปและสามารถนำไปแก้ปัญหาทุกอย่างที่เกิดขึ้นในชีวิตจริง

  2. วิชาการหรือแนวคิดต่างๆที่ใกล้เคียงกันหรือเกี่ยวข้องกันควรนำมาเชื่อมโยงกันเพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ที่มีความหมาย 

          เนื่องจากวิถีชีวิตจริงของคนเรามีเรื่องราวต่าง ๆ ที่มีความหมายสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน ไม่ได้แยกออกจากกันเป็นเรื่อง ๆ ดังนั้น

  1. ผู้เรียนจะเรียนรู้ได้ดีขึ้นและเรียนรู้อย่างมีความหมายเมื่อมีการบูรณาการเข้ากับชีวิตจริงโดยการเรียนรู้ในสิ่งที่ใกล้ตัวแล้วขยายกว้างไกลตัวออกไป

  2. การขยายตัวของความรู้ในปัจจุบัน ขยายไปอย่างรวดเร็วมากมีเรื่องใหม่ ๆ เพิ่มขึ้มากมายจึงจำเป็นที่จะต้องเลือกสาระที่สำคัญและจำเป็นให้ผู้เรียนในเวลาที่มีเท่าเดิม

  3. ไม่มีหลักสูตรวิชาใดเพียงวิชาเดียวที่สำเร็จรูป และสามารถนำไปใช้แก้ปัญหาทุกอย่างที่เกิดขึ้นในชีวิตจริงได้

  4. เนื้อหาวิชาต่าง ๆ ที่ใกล้เคียงกันหรือเกี่ยวข้องกันควรนำมาเชื่อมโยงกันเพื่อให้ผู้เรียนรู้อย่างมีความหมาย ลดความซ้ำซ้อนเชิงเนื้อหาวิชา ลดเวลา แบ่งเบาภาระของครูผู้สอน

  5. เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ใช้ความรู้ ความคิด ความสามารถและทักษะที่หลากหลาย

ข้อดีของการสอนแบบบูรณาการ

1.  ช่วยให้เกิดการถ่ายโยงการเรียน (Transfer of Learning) ทำให้ผู้เรียนเข้าใจเนื้อหาในลักษณะองค์ประกอบรวม/ภาพรวมมองเห็นความสัมพันธ์ระหว่างวิชาและลดความซ้ำซ้อนของเนื้อหาในแต่ละวิชา

2.  ผู้เรียนได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง  โดยผสมผสานสาระความรู้ต่าง ๆ คุณธรรม ค่านิยม และลักษณะอันพึงประสงค์  เป็นการเพิ่มศักยภาพของผู้เรียนอย่างไม่จำกัด  เพราะผู้เรียนได้เรียนรู้วิธีการเรียนรู้ตลอดชีวิต และสามารถนำความรู้ที่ได้ ไปใช้ในชีวิตจริงได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ

3.  ส่งเสริมให้เกิดกิจกรรมการเรียนรู้หลากหลายรูปแบบ  เป็นการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่มุ่งเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลางโดยส่งเสริมกระบวนการคิด  การจัดการ  การเผชิญสถานการณ์และการประยุกต์ความรู้มาใช้ เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหา

4.  ส่งเสริมการเรียนรู้สำหรับการปกครองแบบประชาธิปไตย  รู้จักการเคารพสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น  โดยคำนึงถึงความคิดเห็นและผลประโยชน์ของส่วนรวมเป็นหลัก

      ปัจจุบัน รัฐบาลได้มีนโยบายด้านการศึกษา  เรื่องสถานศึกษา 3 D ที่สถานศึกษาต้องบูรณราการนโยนบายดังกล่าวเข้ากับการเรียนการสอน  การเรียนรู้และ ในหลักสูตรของสถานศึกษาที่สามารถบูรณาการเป็นเรื่องวิถีชีวิตของทุกคน โดยมีกรอบแนวคิดและตัวอย่างกิจกรรม ดังนี้

กรอบแนวคิด ตามนโยบายสถานศึกษา 3 D

การจัดการศึกษามีความสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพของผู้เรียน กระบวนการจัดการศึกษาที่สมบูรณ์จึงเปรียบเสมือนเหรียญสองด้านคือ ด้านหนึ่งเป็นการจัดการเรียนการสอนและจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนตามหลักสูตรการศึกษาแต่ละช่วงชั้น เพื่อสร้างองค์ความรู้ กระบวนการคิดวิเคราะห์เพื่อให้ผู้เรียนมีความรู้ ความสามารถและประสบการณ์มีทักษะการดำรงชีวิตที่เกิดจากการฝึกหัด สามารถใช้ความรู้ให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาตนเองและประกอบอาชีพ อีกด้านหนึ่งคือเป็นการบ่มเพาะ กล่อมเกลา ปลูกฝังและปลุกจิตสำนึก เพื่อให้ผู้เรียนมีคุณธรรม จริยธรรม มีความรับผิดชอบต่อตนเอง สังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม เกิดความตระหนักในบทบาทหน้าที่ขึ้นในจิตใจ เพื่อให้ผู้เรียนสามารถดำรงตนอยู่ในสังคมร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข สถานศึกษาทุกระดับ ทุกสังกัด และหน่วยงานต่างๆ ที่มีหน้าที่ส่งเสริม สนับสนุนและร่วมจัดการศึกษา จึงมีส่วนสำคัญในการจัดการเรียนการสอน และจัดกิจกรรมที่จะส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาผู้เรียนอย่างเหมาะสม โดยการประสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วนจัดกิจกรรมที่มุ่งเน้นภารกิจทั้ง     3 ด้าน (3D) ได้แก่ ด้านประชาธิปไตย (Democracy) ด้านคุณธรรมจริยธรรม และความเป็นไทย (Decency) และด้านภูมิคุ้มกันภัยจากยาเสพติด (Drug - Free)

คุณลักษณะที่พึงประสงค์ของผู้เรียน

1. ด้านประชาธิปไตย (Democracy) มีความตระหนัก เห็นความสำคัญ ศรัทธา และเชื่อมั่นการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รวมทั้งรังเกียจการทุจริต และต่อต้านการซื้อสิทธิขายเสียง

2. ด้านคุณธรรมจริยธรรมและความเป็นไทย (Decency) มีคุณธรรม จริยธรรม ความดีงาม

รู้ผิดชอบชั่วดีมีความภาคภูมิใจในความเป็นไทย และยึดถือปฏิบัติอยู่ในวิถีชีวิต

3. ด้านภูมิคุ้มกันภัยจากยาเสพติด (Drug - Free) รู้จักหลีกเลี่ยงห่างไกลยาเสพติด

ตัวอย่างกิจกรรม

1. กิจกรรมส่งเสริมประชาธิปไตย

     1) กิจกรรมที่สอดคล้องกับบริบทของสถานศึกษาและชุมชน เช่น เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้กิจกรรม อบต.น้อย/ เทศบาลน้อย จัดให้สถานศึกษาเป็นแหล่งเรียนรู้

     2) การดำเนินงานสภานักเรียนนักศึกษา กรรมการนักเรียนนักศึกษา

     3) การจัดค่ายประชาธิปไตย/ กิจกรรมประชาธิปไตยลงสู่ชุมชน

     4) การส่งเสริมกิจกรรมสร้างสำนึกความรักชาติ

     5) นำหลักธรรมาภิบาลมาใช้ในการบริหารจัดการสถานศึกษา

2. กิจกรรมส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความเป็นไทย

     1) กิจกรรมพัฒนาคุณธรรมที่สอดคล้องกับบริบทของสถานศึกษา วัด ศาสนสถาน และชุมชน เช่น ส่งเสริมครูพระสอนศีลธรรมในสถานศึกษา จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ กิจกรรมจิตอาสา ค่ายพุทธบุตร พุทธธรรม ค่ายคุณธรรมจริยธรรม จัดให้สถานศึกษาเป็นแหล่งเรียนรู้ทางศาสนา

     2) กิจกรรมที่ส่งเสริมการนิยมไทย ประวัติศาสตร์ชาติไทย หรือความภูมิใจในความเป็นไทย

     3) มีการบริหารจัดการสถานศึกษาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

3. กิจกรรมป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด

1) มีระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน เช่น การคัดกรองกลุ่มเสี่ยง การช่วยเหลือแบบเพื่อนช่วยเพื่อน ทำให้จำนวนนักเรียน นักศึกษา ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงลดลง

2) ส่งเสริมกิจกรรมที่เหมาะสม เช่น กิจกรรมนักเรียนแกนนำ ครูแกนนำ กิจกรรมรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ (สถานศึกษาปลอดบุหรี่) กิจกรรม/ชมรม TO BE NUMBER ONE การประกวดดนตรี แข่งขันกีฬา เปิดเวทีให้แสดงออก การจัดนิทรรศการความรู้

3) การบริหารจัดการด้านสวัสดิศึกษา เช่น การขจัดมุมอับลับตา

4) มีแหล่งเรียนรู้ด้านยาเสพติด

5) มีการประสานความร่วมมือการดำเนินงานร่วมกับชุมชน ท้องถิ่น

การบูรณาการการเรียนรู้ในวิถีชีวิตเพื่อการพัฒนาชุมชนและท้องถิ่น

เนื่องจากการบูรณาการการเรียนรู้ เป็นเรื่องที่สอดอยู่กับวิถีชีวิตของทุกคน ประกอบกับ โลกในยุคปัจจุบันมีการขยายตัวของความรู้  มีเรื่องที่จำเป็นต้องเพิ่มเข้ามาในชีวิตของคนเราอย่างมากมาย และไม่มีหลักสูตรวิชาใดเพียงวิชาเดียว หรือความรู้ที่สำเร็จรูป ที่จะสามารถนำมาแก้ปัญหาทุกอย่างที่เกิดขึ้นในชีวิตจริงได้ ดังนั้น กระบวนการเรียนรู้ในวิถีชีวิตและการทำงานจึงต้องมีควบคู่กันไป และเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งกับทุกคน โดยเฉพาะ บุคคลระดับแกนนำที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาชุมชนและท้องถิ่น และสำหรับเรื่องนโยบาย 3 D จึงมิใช่เพียงสถานศึกษา หรือโรงเรียนเท่านั้นที่สามารถบูรณาการและการเรียนรู้ในเรื่องทั้ง 3 เรื่องนี้ได้  ผู้นำชุมชน ผู้นำท้องถิ่น และผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน จะต้องมีส่วนร่วมในกิจกรรมดังกล่าวอย่างดียิ่งอีกด้วย.  

หมายเลขบันทึก: 432608เขียนเมื่อ 24 มีนาคม 2011 17:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 11:23 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เป็นมากกว่า "บันทึก" นะครับนี่ แต่เป็น "บทความ" ที่น่าสนใจ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท