ข้อค้นพบจากงานวิจัยมิติด้านสถานการณ์/ตัวยา


ข้อค้นพบจากงานวิจัยมิติด้านสถานการณ์/ตัวยา

สถานการณ์/ตัวยาเสพติด 

 

ประเด็น

ข้อค้นพบ

มูลค่าการค้ายาเสพติด

ของโลกและประเทศไทย [1]

-มูลค่าการค้ายาเสพติด (ตามราคาตัวยา) ในตลาดโลก รวม ๔๑๑.๔๔ พันล้านเหรียญสหรัฐ แยกตามรายตัวยาพบว่ากัญชาเป็นอันดับ ๑ (๑๔๑.๘๐ พันล้านเหรียญฯ) รองลงมาคือโคเคน (๘๘ พันล้านเหรียญฯ) ยาตามใบสั่งแพทย์ (prescription drugs) (๗๒.๕ พันล้านเหรียญฯ) เฮโรอีน (๖๕ พันล้านเหรียญฯ) แอมเฟตามีน (๒๘.๒๕ พันล้านเหรียญฯ) และเอ็กซ์ตาซี (๑๖.๐๗ พันล้านเหรียญฯ) ตามลำดับ  เมื่อดูมูลค่าการค้ารายประเทศพบว่าประเทศที่มีมูลค่าการค้ายาเสพติดสูงสุด ๕ อันดับแรกคือ สหรัฐอเมริกา (๒๑๕ พันล้านเหรียญฯ)  สเปน (๙๕ พันล้านเหรียญฯ) อิตาลี (๘๓ พันล้านเหรียญฯ) แคนาดา (๔๔.๕  พันล้านเหรียญฯ) และเม็กซิโก  (๔๐ พันล้านเหรียญฯ) ตามลำดับ สำหรับประเทศไทยถูกจัดในลำดับที่ ๑๙ จากทั้งหมด ๓๗ ประเทศที่ปรากฏในรายงาน โดยมีมูลค่า ๒.๙ พันล้านเหรียญฯ เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศในเอเชีย ไทยมีมูลค่าการค้ายาเสพติดสูงกว่าลาว (๕๒๕ ร้อยล้านเหรียญฯ) และพม่า (๑๐๔ ร้อยล้านเหรียญฯ)  แต่มีมูลค่าการค้าต่ำกว่าจีน (๑๗ พันล้านเหรียญฯ)  ญี่ปุ่น (๙.๓ พันล้านเหรียญฯ) ฟิลิปินส์ (๘.๔ พันล้านเหรียญฯ) และอินโดนีเซีย (๔ พันล้านเหรียญฯ) ตามลำดับ อย่างไรก็ตามข้อมูลเหล่านี้มีความแตกต่าง หลากหลายในการประเมินราคา แต่สามารถเปรียบเทียบให้เป็นพื้นฐานในขั้นต้นได้

-ข้อมูลราคายาเสพติดในประเทศไทย แยกรายตัวยา พบว่า โคเคน ๘๖.๙ เหรียญฯ/กรัม เอ็กซ์ตาซี ๔๐.๕ เหรียญฯ/เม็ด เฮโรอีน ๑๐๕ เหรียญฯ/กรัม กัญชา ๑.๔ เหรียญฯ/กรัม และไอซ์ (Meth) ๘๓.๓ เหรียญฯ/กรัม

 

 

 

ประเด็น

ข้อค้นพบ

สถานการณ์ภาพรวม

-สถานการณ์ยาเสพติดของประเทศระหว่างปี ๒๕๔๘ – ๒๕๕๒ มีปัญหาการผลิต การค้า/ลำเลียง และการแพร่ระบาด โดยตัวยาหลักคือ ฝิ่น เฮโรอีน กัญชา ยาบ้า สารระเหย โคเคน เอ๊กซ์ตาซี่ และสารเสพติดประเภทวัตถุออกฤทธิ์บางชนิด ปัจจุบันปัญหาที่ยังรุนแรงคือยาบ้า ซึ่งแพร่ระบาดในวงกว้างโดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชน นักเรียน นักศึกษา สำหรับโคเคน เอ๊กซ์ตาซี และยาเค การแพร่ระบาดในกลุ่มเยาวชน ผู้ใช้ในสถานบันเทิง และกลุ่มวัยรุ่นที่มีฐานะดี สารระเหยแพร่ระบาดในกลุ่มเด็กนอกสถานศึกษา ส่วนใหญ่อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ[2]

ตัวยาที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษไอซ์

-ตัวยาที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษคือ ไอซ์ มีการนำเข้าจากต่างประเทศในปี ๒๕๓๐ จนถึงปัจจุบันมีการจับกุมลักลอบผลิตโดยการใช้วัตถุดิบในประเทศในลักษณะห้องทดลองขนาดเล็ก ในระยะแรกไม่บริสุทธิ์มีสารเจือปนอยู่มาก เช่น สารส้ม ผงชูรส เป็นต้น มีการจัดเกรดของไอซ์เป็นเอ บี และซี ตามคุณภาพ สถิติการจับกุมคดีไอซ์เพิ่มสูงขึ้นจาก ๗๐ คดี ในปี ๒๕๔๖ เป็น ๑,๕๓๘ คดี ในปี ๒๕๕๑ สาเหตุหนึ่งที่คนนิยมเสพไอซ์เนื่องจากพกพาง่าย ไม่มีกลิ่น และออกฤทธิ์แรงกว่ายาบ้า เมื่อจัดกลุ่มช่วงอายุแล้วพบว่ากลุ่มที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษคืออายุ ๑๕ – ๑๗ ปี กลุ่มผู้มีประสบการณ์เสพไอซ์จากการศึกษานี้ ส่วนใหญ่เป็นเยาวชนนอกระบบการศึกษา มีอาชีพอิสระ[3]

-ไอซ์ที่ถูกจับกุมได้ในประเทศส่วนใหญ่มาจากประเทศเพื่อนบ้าน (พม่า) เนื่องจากเป็นแหล่งผลิตขนาดใหญ่ นำเข้าผ่านทางชายแดนไทย รวมถึงพบการผลิตแบบ kitchen lab ในประเทศโดยการหาสูตรทางอินเทอร์เน็ต  พบการลักลอบนำเข้าทางสนามบินสุวรรณภูมิโดยชาวต่างชาติ พบไอซ์ในรูปผลึกใสไม่มีสี  มีสีเหลือง และผสมแอลกอฮอล์เพื่อหลบหนีการตรวจสอบ และพบการจับกุมยาแก้หวัดที่มีส่วนผสมของซูโดอีฟรีดรีน (ใช้เป็นสารตั้งต้นผลิตยาบ้าและไอซ์) จำนวน ๒ ล้านเม็ด   ขึ้นไปซึ่งเป็นยาแก้หวัดที่ลักลอบนำเข้าจากเกาหลีใต้ ชนิดยาเสพติดที่ผู้เข้าบำบัดรักษาใช้มากที่สุด ยังคงเป็นยาบ้า ร้อยละ ๘๓ รองลงมา คือกัญชา สารระเหย ไอซ์ และฝิ่น ร้อยละ ๔.๗, ๔ , ๒.๕  และ ๒ ตามลำดับ ขณะที่สัดส่วนของตัวยาที่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา คือ ไอซ์ และฝิ่น กัญชา มีการกระจายในทุกภาค ผู้เข้ารับการบำบัดไอซ์ มาจาก ๔๖ จังหวัด จำนวน ๓๓๔ คน โดยพื้นที่ส่วนใหญ่ที่พบผู้เข้าบำบัดรักษาไอซ์มากที่สุด คือ กทม. รองลงมา คือ     

 

ประเด็น

ข้อค้นพบ

 

จ.ชลบุรี สุราษฎร์ธานี สงขลา  นครศรีธรรมราช นนทบุรี และปทุมธานี[4]

-จากการสัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่างในการวิจัย[5] เกือบทั้งหมดมีความเชื่อว่าไอซ์เป็นยาเสพติดของคนมีระดับเพราะราคาแพงและหายาก ดูไฮโซ โดยสถานที่เสพ      เสพที่บ้านเพื่อน (ร้อยละ ๕๙.๕) บ้านตนเอง (ร้อยละ ๒๐.๓) หอพัก บ้านเช่า  (ร้อยละ ๘.๑) จัดปาร์ตี้ในโรงแรม บังกะโล (ร้อยละ ๘.๑) อื่นๆ เช่น บ้านญาติ  สถานบันเทิง โต๊ะสนุ๊กเกอร์ เป็นต้น (ร้อยละ ๔) เนื่องจากไอซ์มีราคาแพง กลุ่มตัวอย่างจึงใช้ยาเสพติดอื่นร่วมกับไอซ์ ได้แก่ ยาบ้า (ร้อยละ ๙๗.๓) กัญชา (ร้อยละ ๗๑.๐) สารระเหย (๑๗.๖) ยาอี (ร้อยละ๘.๑) กระท่อม (ร้อยละ ๘.๑) ยาเค (ร้อยละ ๒.๗) ฝิ่น (ร้อยละ ๑.๔) เฮโรอีน (ร้อยละ ๑.๔)

-ข้อมูลการเปรียบเทียบราคา ไอซ์ (Meth) พบว่าราคาไอซ์ในประเทศไทยประมาณ ๘๓.๓ เหรียญสหรัฐ/กรัม ในขณะที่เปรียบเทียบกับประเทศอื่นพบว่าสูงกว่าราคาไอซ์ในลาว  พม่า และจีนอยู่มาก โดยในลาวราคา ๑ เหรียญฯ/กรัม พม่าราคา ๓.๙ เหรียญ/กรัม และจีน ๖ เหรียญ/กรัม แต่เมื่อเทียบกับประเทศอินโดนีเซีย (๙๓.๖ เหรียญฯ/กรัม) ฟิลิปินส์ (๑๑๙.๓ เหรียญฯ/กรัม) สหรัฐอเมริกา (๑๒๗.๕ เหรียญฯ/กรัม) และญี่ปุ่น (๕๐๐ เหรียญฯ/กรัม) ราคาไอซ์ในประเทศไทยยังคงต่ำกว่ามาก[6] ดังนั้นแนวโน้มคาดว่านักค้าจะใช้ประเทศไทยเป็นทางผ่านเพื่อส่งไอซ์ไปยังประเทศปลายทางที่ราคาสูงกว่ามากขึ้น นอกจากการมีประเทศไทยเป็นตลาดโดยตรง

พืชกระท่อม/กระท่อมผสม

-สี่คูณร้อยเป็นสิ่งเสพติดที่เกิดจากการผสมของสารหลายชนิด ที่เป็นส่วนผสมหลักคือ น้ำต้มใบกระท่อม ยาแก้ไอ โค้ก และ วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทหรือ ยากันยุง แต่เดิมสารเสพติดชนิดนี้มีการระบาดมากในกลุ่มเยาวชนในพื้นที่ภาคใต้เพียงพื้นที่เดียว แต่ตั้งแต่ปี ๒๕๕๑ เป็นต้นมา ปรากฎการจับกุมและบำบัดรักษาในพื้นที่ กทม. จ.ชลบุรี บุรีรัมย์ หนองคาย นครปฐม และปทุมธานี แสดงให้เห็นว่าการแพร่ระบาด สี่คูณร้อย ได้กระจายจากภาคใต้สู่ภาคอื่นๆแล้ว ดังนั้นการให้ข้อมูลเรื่องโทษพิษภัย ควรจะต้องดำเนินการในทุกพื้นที่เพื่อป้องกันมิให้ปัญหาการแพร่ระบาดทั้งในเรื่องของการปลูกพืชกระท่อม และการเสพสี่คูณร้อย ขยายตัวไปมากกว่านี้[7] นอกจากนี้จากการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อจัดหาสถานที่รองรับผู้ติดยาเสพติดพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อวันที่ ๒๒ ธันวาคม ๒๕๕๓ ณ

 

ประเด็น

ข้อค้นพบ

 

สำนักงาน ป.ป.ส. ผู้ร่วมประชุมจากพื้นที่ได้ให้ข้อมูลว่าปัญหาผู้เสพยาเสพติดที่เป็นปัญหาหลักในพื้นที่คือการเสพน้ำต้มใบกระท่อมผสม ซึ่งกระบวนการให้การบำบัดยังใช้รูปแบบค่ายปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และพบว่าเยาวชนจะกลับไปเสพซ้ำเมื่อพ้นการบำบัดกลับสู่สภาพแวดล้อมเดิม

 

 

 

 



[1] www.havocscope.com/black-market/drug-trafficing/grobal-drug-trade.,  เข้าถึงเมื่อวันที่ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔

 

[2] ศึกษานโยบายการแก้ไขปัญหายาเสพติด โดย เครือข่ายพัฒนาวิชาการและข้อมูลสารเสพติดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ, ๒๕๕๓

[3] รายงานสถานการณ์ปัญหาการเสพและการค้าไอซ์ในกลุ่มเยาวชนและสถานบันเทิงในพื้นที่จังหวัดนครปฐม ราชบุรี และเพชรบุรี   โดย หน่วยวิจัย  สารเสพติดและผลกระทบทางสังคม สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กันยายน ๒๕๕๒

[4] สถานการณ์ปัญหายาเสพติดช่วงเดือนตุลาคม - พฤศจิกายน ๒๕๕๓ โดย สำนักยุทธศาสตร์ สำนักงาน ป.ป.ส.,๒๕๕๓

[5] สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๕๒, อ้างแล้ว

[6] www.havocscope.com/black-market/drug-trafficing/grobal-drug-trade.,  เข้าถึงเมื่อวันที่ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ ,อ้างแล้ว

[7] สำนักยุทธศาสตร์ สำนักงาน ป.ป.ส.,๒๕๕๓,อ้างแล้ว 

หมายเลขบันทึก: 431395เขียนเมื่อ 16 มีนาคม 2011 15:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 02:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท