Rjaantick
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ชมพูนุท เมฆเมืองทอง

กระบวนการคัดกรอง Concept งานวิจัยทางการพัฒนาหลักสูตร (ตอน 1)


มุมมองที่มีต่อดุษฎีนิพนธ์

เมื่อกล่าวถึงคำว่า “ดุษฎีนิพนธ์” หรือ Dissertation หลายคนสงสัยว่าคืออะไร และแตกต่างจากวิทยานิพนธ์หรือปริญญานิพนธ์อย่างไร หากมองไปที่เพียงนิยาม ดุษฎีนิพนธ์อาจแตกต่างที่ระดับของชั้นปริญญาที่ว่า ดุษฎีนิพนธ์เป็นวิทยานิพนธ์เฉพาะระดับปริญญาเอก แต่นัยที่ลึกซึ้งกว่านิยามคือ ความแตกต่างที่ระดับชั้นขององค์ความรู้และความน่าเชื่อขององค์ความรู้ที่ได้รับ นั่นก็คือ การใช้กระบวนการวิจัยที่รัดกุมและสกัดจุดอ่อน (ตัวแปรแทรกซ้อน) ที่อาจจะเกิดขึ้นทุกขั้นตอน เอกสารฉบับนี้ผู้เขียนจึงนำเสนอในส่วนการคิดและเสนอ concept เพื่อที่จะได้มาซึ่งดุษฎีนิพนธ์ว่าต้องมีกระบวนการอย่างไรบ้าง เพื่อเป็นแนวทางสำหรับผู้เริ่มต้นและกำลังมองหาแผนที่สักฉบับที่จะเดินทางไปสู่จุดหมายที่กำหนดไว้

 

อะไรคือ Concept การวิจัย

 

         คำว่า Concept อาจคล้ายกับคำว่า thought, idea, notion, opinion, view etc. et cetera 

-                   ซึ่งผู้เขียนพยายามคิดว่าจะใช้ศัพท์ภาษาไทยคำว่า ความคิด มโนคติ มโนภาพ หรือแปลตามตัว

ว่าความคิดเห็นหรือข้อคิดเห็น แต่ก็ยังไม่ประทับใจกับคำภาษาไทยคำใดที่จะบัญญัติว่าเป็น Concept ในความรู้สึกและความยิ่งใหญ่ในนิยามที่ผู้เขียนกำหนด (เหมือนพยายามหาศัพท์คำว่ากตัญญูกตเวที ในภาษาอังกฤษ) แต่เอาเป็นว่า Concept ในงานวิจัยก็คือ การที่คุณสามารถตอบและเล่าให้ผู้อื่นฟังได้ว่าหากคุณจะทำวิจัยสักเรื่อง theme ของเรื่องคืออะไร มีเหตุผลหรือจำเป็นขนาดไหน  พระเอกของคุณมีลักษณะเด่นกว่าคนอื่นอย่างไร แบะคุณมั่นใจได้อย่างไรว่ามันจะใช้ได้ คุณมีวิธีดำเนินการให้ไปถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้อย่างไร ดังเช่น Concept ในงานวิจัยของ..................คุณ ก (นามสมมติ)........................

-                        หากคุณจะทำวิจัยสักเรื่อง theme ของเรื่องคืออะไร คือการเรียนแบบรอบรู้เป็นวิธีการที่จะทำให้เกิดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาหลักภาษาไทย

-                        มีเหตุผลหรือจำเป็นขนาดไหน  วิชาหลักภาษาไทยเป็นวิชาที่เข้าใจยาก เด็กนักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำมาก และส่วนใหญ่จะสอบผ่านในระดับคะแนนที่ค่อนข้างต่ำ (50-60 %) นอกจากนี้ทัศนคติของผู้เรียนต่อวิชาหลักภาษาไทยอยู่ในระดับต่ำ ทำให้ผู้เรียนไม่มีแรงจูงใจในการเรียน เมื่อเรียนผ่านไปก็ไม่มีความคงทนต่อการเรียนทำให้เมื่อขึ้นเนื้อหาใหม่ที่ยากกว่าเดิมหรือซับซ้อนกว่าเดิมก็ไม่สามารถทำได้เพราะไม่เข้าใจเนื้อหาในส่วนแรก เป็นผลกระทบต่อการใช้ภาษาที่ผิดหลักภาษาอย่างต่อเนื่อง มีความพยายามในการคิดวิธีการสอนหลักภาษาไทยให้ผู้เรียนเข้าใจอย่างลึกซึ้งและมีความคงทนในการจดจำแต่ก็เป็นเพียงวิธีการท่องจำ และใช้บทเรียนสำเร็จรูปซึ่งไม่ได้สร้างความกระจ่างแจ้งแก่ผู้เรียนอย่างแท้จริง ดังนั้นหากผู้สอนสามารถนำแนวทางการเรียนรอบรู้ไปใช้ในการจัดการเรียนการสอนวิชาภาษาไทยแล้วจะทำให้ ผู้เรียนจะมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนภาษาไทยได้ดีขึ้นเพราะการเรียนแบบรอบรู้จะทำให้ผู้เรียนสามารถประเมินผลตนเองได้ และเกิดการฝึกฝนให้จิตใจสงบ เป็นผู้รู้เท่าทันสภาพที่เป็นจริง และยอมรับ ตามหลักการของการเรียนรอบรู้ที่ว่า “รู้ธรรมชาติของสิ่งนั้นแล้วยอมรับ”

-                        พระเอกของคุณมีลักษณะเด่นกว่าคนอื่นอย่างไร การเรียนแบบรอบรู้ (Mastery learning) เป็นวิธีการที่แบ่งบทเรียนออกเป็นหน่วยย่อยๆ ภายใต้วัตถุประสงค์และความคาดหวังที่คมชัด โดยผู้เรียนต้องผ่านการเรียนรู้ความเข้าใจถึงแก่นแท้ของบทเรียนในแต่ละหน่วยด้วยคะแนนแบบอิงเกณฑ์ ก่อนก้าวขึ้นสู่บทเรียนอื่นต่อไป ผู้เรียนที่ไม่สามารถผ่านเกณฑ์การทดสอบ จะต้องผ่านการติวเข้ม หรือการเข้ากลุ่มย่อย หรือการทำกิจกรรมพิเศษเพิ่มเติม จนกว่าจะบรรลุจุดมุ่งหมายของบทเรียน 

-                        คุณมั่นใจได้อย่างไรว่ามันจะใช้ได้ Kulik และ Downs (1990) ได้ทำการศึกษางานวิจัยเกี่ยวกับการเรียนแบบรอบรู้ จำนวน 108 เรื่อง โดยพิจารณาจากผลการประเมิน เจตคติเกี่ยวกับการสอนและเนื้อหาวิชา ผลการประเมินพบว่าผู้เรียนมีผลสัมฤทธ์ทางการเรียนในระดับโรงเรียนดีกว่าในการสอบมาตรฐานระดับชาติ ผู้เรียนมีเจตคติที่ดีกับบทเรียนและวิธีการเรียนการสอน งานวิจัยจำนวน 9 ฉบับอ้างว่า การเรียนแบบรอบรู้ใช้เวลาในการดำเนินงานจนสิ้นสุดโครงการสั้นกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับวิธีการเรียนรู้แบบดั้งเดิมแต่ประโยชน์ที่ได้จริงๆ คือความคงทนในเนื้อหาภายหลัง 8 สัปดาห์ ผู้เรียนยังมีความทรงจำในเนื้อหาวิชาได้ดี แต่ไม่ใช่กับผู้เรียนทุกคนในชั้นโดยพบว่าผู้เรียนที่มีคะแนนเริ่มต้นต่ำจะมีการพัฒนาการที่ดีกว่า และพบว่าเวลาที่ใช้ไปในการเรียนรู้ไม่ได้มากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ สามารถนำไปใช้ได้ดีในบทเรียนทางสังคมศาสตร์ มากกว่าคณิตศาสตร์ หรือวิทยาศาสตร์ บางวิจัยรายงานว่าสามารถเพิ่มสมรรถนะของผู้เรียนจาก 5 เป็น 95%

-                   คุณมีวิธีดำเนินการให้ไปถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้อย่างไร

  • จะพัฒนาครูให้สามารถจัดการการเรียนแบบการเรียนรอบรู้ในวิชาหลักภาษาไทย
  • จะดำเนินการวิจัยใน 3 ระยะ
    • ระยะที่หนึ่งจะหาวิธีการยืนยันได้ในทางวิจัยว่า “การจัดการการเรียนแบบรอบรู้ในวิชาหลักภาษาไทยผู้สอนต้องมีสมรรถนะในเรื่องใดบ้าง ต้องรู้อะไรและต้องทำอย่างไร” แล้วนำสิ่งที่ได้มากำหนดหัวข้อเรื่องที่จะนำไปฝึกอบรมครูให้สามารถจัดการให้ผู้เรียนสามารถเรียนแบบรอบรู้
    • ระยะที่ 2 เมื่อได้หัวข้อเรื่องมาแล้วจะพัฒนาหลักสูตรเพื่อนำไปฝึกอบรมครูให้สามารถจัดการการเรียนแบบการเรียนรอบรู้ในวิชาหลักภาษาไทย โดยหลักสูตรต้องผ่านการประเมินจากผู้เชี่ยวชาญว่าสามารถนำไปใช้ได้ และต้องนำไปทดลองใช้เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าเป็นหลักสูตรที่มีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลกับผู้เรียน
    • ระยะที่ 3 จะนำไปทดลองใช้ฝึกอบรมกับครูที่สอนวิชาหลักภาษาไทย จำนวน 10 คน โดยไม่จำกัดว่าต้องสอนในระดับช่วงชั้นใด ดำเนินการฝึกอบรมตามหลักสูตรและคู่มือที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น หลังจากนั้นให้ครูนำไปใช้กับนักเรียนและติดตามผล ด้านผลสัมฤทธิ์ด้านความรู้ ความคงทนของความรู้ และเจตคติที่มีต่อวิชาหลักภาษาไทยของผู้เรียนหลังการเรียน รวมถึงเจตคติของผู้เรียนต่อการจัดการเรียนแบบการเรียนแบบรอบรู้

      สาขาภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม
หมายเลขบันทึก: 430896เขียนเมื่อ 12 มีนาคม 2011 22:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 พฤษภาคม 2019 13:12 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท