ศุภัชณัฏฐ์ หลักเมือง
นาย ศุภัชณัฏฐ์ หลักเมือง (เอ) หลักเมือง

โลกกำลังขาดแคลนน้ำจืด


น้ำจืดกำลังจะหมดจากโลก

โลกกำลังขาดแคลนน้ำจืด : สิ่งที่มนุษย์ต้องตระหนักและแก้ไขพฤติกรรมการใช้น้ำของตนเอง

                                                                                                                                ศุภัชณัฏฐ์  หลักเมือง

ผู้อำนวยการ กศน.อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์

เครือข่ายประชาสังคมจังหวัดประจวบคีรีขันธ์

E-mail : [email protected]

----------------------------------------

                คงไม่มีใครคาดคิดว่าสภาวะภัยแล้งของประเทศไทยจะมาเร็วกว่าที่คาดการณ์กันเอาไว้   โดยเฉพาะจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ได้ประกาศเป็นจังหวัดที่มีพื้นที่ประสบภัยแล้งเป็นลำดับแรก ๆ 1 ใน 2 จังหวัดของภาคกลางพร้อมกับจังหวัดเพชรบุรี “ภัยแล้ง” คือ ภัยที่เกิดจากการขาดแคลนน้ำในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งเป็นเวลานาน จนก่อให้เกิดความแห้งแล้ง และส่งผลกระทบต่อชุมชนโดยสาเหตุของการเกิดภัยแล้ง อาจเกิดโดยธรรมชาติ  ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิโลก  การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ  การเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำทะเล  และภัยธรรมชาติ เช่น วาตภัย แผ่นดินไหว  โดยการกระทำของมนุษย์ ได้แก่ การทำลายชั้นโอโซน  ผลกระทบของภาวะเรือนกระจก  การพัฒนาด้านอุตสาหกรรม  และการตัดไม้ทำลายป่า  สำหรับภัยแล้งในประเทศไทยส่วนใหญ่เกิดจากฝนแล้งและทิ้งช่วง ซึ่งฝนแล้งเป็นภาวะปริมาณฝนตกน้อยกว่าปกติหรือฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล

                จากสภาวะภัยแล้งดังกล่าวส่งผลกระทบต่อกิจกรรมในชีวิตประจำวันของมนุษย์ที่ใช้น้ำทั้งเพื่อการบริโภค และอุปโภค  องค์การสหประชาชาติได้ยกตัวอย่างพฤติกรรมการใช้น้ำของมนุษย์ว่าในแต่ละวันมนุษย์ต้องดื่มน้ำอย่างน้อย 2 - 5 ลิตร ใช้ชักโครกโถส้วม 5 - 15 ลิตร ใช้น้ำอาบ 50-200 ลิตร ขณะที่ใช้น้ำเพื่อการชลประทานและการเกษตร ราวร้อยละ 70 ของน้ำทั้งหมด แต่ครึ่งหนึ่งต้องสูญเปล่าเพราะซึมลงไปในดินหรือไม่ก็ระเหยขึ้นสู่อากาศหมด และกรุงเทพมหานคร ได้ชื่อว่าเป็นพื้นที่เมืองที่ผลาญทรัพยากรน้ำมากที่สุดในโลก เฉลี่ยแล้วใช้น้ำราว 265 ลิตรต่อคนต่อวัน ขณะที่ชาวฮ่องกงใช้น้ำเปลืองน้อยที่สุดในโลก เพียง 112 ลิตร ต่อคนต่อวัน

แม้ว่าพื้นผิวโลก 2 ใน 3 จะปกคลุมด้วยน้ำแต่เป็น " น้ำเค็ม " จากทะเลและมหาสมุทรทั้งหมด ส่วน "น้ำจืด" ซึ่งจำเป็นต่อการยังชีพของมนุษย์นั้น ครอบคลุมเพียงร้อยละ 1 ของผิวโลกเท่านั้น แต่ "แหล่งน้ำจืด" ส่วนใหญ่จะอยู่บริเวณขั้วโลกเหนือ, ใต้และธารน้ำแข็ง หรือซึมอยู่ใต้ผิวดินลึก จนมนุษย์ไม่สามารถนำมาใช้ได้ ส่วนแหล่งน้ำจืดที่ใช้ได้จริงๆมีเพียงร้อยละ 0.25 เท่านั้น ซึ่งส่วนใหญ่หาได้จากแม่น้ำ ทะเลสาบ และแหล่งน้ำใต้ดิน แหล่งน้ำจืดเพียงน้อยนิดนี้เองที่เป็นตัวหล่อเลี้ยงชีวิตพลโลกกว่า 6,000ล้านคน ซึ่งแน่นนอนว่าย่อมไม่เพียงพอ ในขณะที่ความต้องการใช้น้ำของมนุษย์กลับมีมากขึ้นทุกวัน

            

จากการที่น้ำจืดของโลกขาดแคลนมากขึ้น ในปี พ.ศ.2535 สมัชชาสหประชาชาติ จึงได้ประกาศให้วันที่ 22 มีนาคม ของทุกปีเป็น “วันน้ำของโลก” หรือ “World Day for Water” โดยเริ่มต้นในปี 2536 เป็นปีแรกและชักชวนให้ประเทศต่างรับเป็นวันสิ่งแวดล้อมของชาติ เพื่อระลึกถึงความสำคัญของน้ำ     ซึ่งเป็นความต้องการขั้นพื้นฐาน ของสิ่งมีชีวิตทุกชนิดในโลก อีกทั้งกระตุ้นให้เกิดการตื่นตัวในหมู่มวลมนุษยชาติในเรื่องการอนุรักษ์น้ำ ช่วยกันดูแล บำรุงรักษา การพัฒนาแหล่งน้ำ และจัดการทรัพยากรน้ำจืดอย่างยั่งยืนสำหรับอนาคต ตลอดจน ดำเนินการตามข้อเสนอแนะของที่ประชุมสหประชาชาติ ปี 2535 ว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา หรือที่เรียกกันว่า Agenda 21 มีการจัดกิจกรรมการประชุมระหว่างประเทศว่าด้วยเรื่องน้ำของโลกขึ้น โดยในครั้งที่ 1 เมื่อปี      พ.ศ. 2540 ณ ประเทศโมร็อกโก  ผู้เข้าประชุมได้ร่วมกำหนด “หลักจริยธรรม ในการใช้น้ำครั้งใหม่”เพื่อต่อสู้กับปัญหาการขาดแคลนน้ำโลกดังนั้น การประชุมน้ำโลก  ในครั้งที่ 2  ในปี พ.ศ. 2543 ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์  เป็นการสานต่องานที่ทำค้างไว้ โดยมีการผลักดัน " แผนปฏิบัติการ " สำหรับน้ำในอีก  25 ปีข้างหน้า  เพื่อทำให้ชาวโลกมีน้ำสะอาดไว้ดื่มกิน ชำระร่างกาย และทำการเกษตรอย่างทั่วถึงในปี พ.ศ. 2568 ผู้รับหน้าที่ทำงาน คือ"คณะกรรมาธิการโลกว่าด้วยน้ำสำหรับศตวรรษที่ 21 "ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในกรุงปารีส ฝรั่งเศส คณะกรรมาธิการชุดนี้ตั้งเป้าหมายว่า จะเพิ่มการลงทุนในการจัดหาน้ำทั่วโลกขึ้นเป็นปีละ 180,000 ล้านดอลลาร์ โดยมีภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมด้วย นายโคฟี อันนาน (เลขาธิการสหประชาชาติในช่วงนั้น) ได้มีสารเนื่องในวันน้ำโลก โดยย้ำว่า "น้ำสะอาดเป็นสิ่งพิเศษ ในศตวรรษใหม่นี้ยังไม่มีเทคโนโลยีใดที่สามารถผลิตน้ำได้ น้ำจึงไม่มีสิ่งใด มาแทนที่ หรือทดแทนได้ ดังนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเห็นคุณค่าของน้ำและรักษาทรัพยากรนี้ไว้" และได้เรียกร้องให้ประชาคมโลกใช้น้ำอย่างรับผิดชอบ เพื่อให้คนจนและคนรวยได้รับน้ำอย่างเท่าเทียมกัน  ในราคาที่หาซื้อได้ และว่าสิ่งท้าทายของมนุษยชาติก็คือ การจัดกิจกรรม      เพื่อการอนุรักษ์น้ำ คุณภาพของน้ำ และปริมาณน้ำ

                ในการประชุมครั้งที่ 3  เมื่อปี พ.ศ. 2546 ณ ประเทศญี่ปุ่น  ซึ่งในครั้งนี้ประเทศไทยได้เป็นส่วนหนึ่งที่จะเข้าร่วมการประชุมดังกล่าวร่วมกับประเทศอื่น ๆ อีกประมาณ 200 ประเทศ โดยรัฐบาลไทย จะมีส่วนร่วมที่สำคัญในการประชุม 3 ประการ ได้แก่ 1) การเสนอรายงานโครงการประเมินสถานการณ์น้ำของโลกในส่วนของประเทศไทยกรณี ศึกษาการพัฒนาและการบริหารลุ่มน้ำ      เจ้าพระยา 2) การเสนอแผนปฏิบัติการทรัพยากรน้ำ ของประเทศไทย และ          3) การประชุมและจัดทำแถลงการณ์ร่วมระดับรัฐมนตรี

โดยสรุป “วันน้ำของโลก” หรือ “World Day for Waterมีวัตถุประสงค์        1) เพื่อแสดงให้เห็นถึงความสำคัญและปัญหาการขาดแคลนน้ำที่ใช้ในการอุปโภคบริโภค 2) เพื่อเพิ่มพื้นที่อนุรักษ์น้ำในรูปแบบต่างๆ และ 3) เพื่อกระตุ้น ให้รัฐบาลของแต่ละประเทศและหน่วยงานเอกชนได้ตระหนักและมีส่วนร่วมในการดำเนินงานเพื่ออนุรักษ์น้ำให้มากขึ้น  เห็นหรือยังครับว่าหากเราใช้ทรัพยากรน้ำ     อย่างไม่บันยะบันยัง ทำให้เกิดส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศของน้ำจืด มนุษย์ทุกคนจะตกอยู่ในสถานการณ์ที่อันตรายอย่างยิ่งในระยะเวลาอันใกล้นี้.   

หมายเลขบันทึก: 430758เขียนเมื่อ 11 มีนาคม 2011 17:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ช่วยกันคนะละไม้คนละมือ

ช่วยกันรักษาความสะอาดของชายหาดและท้องทะเล

เพื่อว่าบ้านเมืองเราจะได้สะอาดอย่างยั่งยืน

ขอบคุณครับคุณยาย และอาจารย์โสภณ เปียสนิท

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท