ความหมายของคำว่า "ภิกษุ"


ความหมายของคำว่าภิกษุ

คำว่าภิกษุ มีความหมายเป็นหลายนัย  ดังนี้

    

     ๑.     ภิกษุ แปลว่า  ผู้เห็นภัยในสงสาร  หมายความว่า  ภัย  คือความเกิด  แก่  เจ็บ  ตาย  นั้นมีอยู่ในสงสารทั้ง  ๓ คือ  สงสารเบื้องต่ำ ได้แก่ อบายภูมิ  ๔  สงสารเบื้องกลางได้แก่  มนุษย์กับเทวดา  สงสารเบื้องบนได้แก่  พรหมโลก  ผู้ที่พิจารณาเห็นว่า สงสารทั้งสามนี้  เต็มไปด้วยภัยดังกล่าวมานั้น  จึงพยายามหาทางหลุดพ้น  เพราะฉะนั้นจึงได้ชื่อว่า  “ภิกษุ”  ดังหลักฐานว่า  “สงฺสาเร  ภยํ  อิกฺขตีติ  ภิกฺขุ"  ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นภิกษุเพราะเห็นภัยในวัฏฏสงสาร

    

     ๒.   ภิกษุ  แปลว่า  ผู้ทำลายอกุศลธรรมอันลามก  ดังหลักฐานว่า “ปาปเก   อกุสเล  ธมฺเม   ภินฺทตีติ  ภิกฺขุ”   ชื่อว่า ภิกษุ เพราะทำลายอกุศลธรรม อันลามก

     หมายความว่า อกุศลธรรมอันลามกนั้น ได้แก่ ความประพฤติชั่วทางกาย วาจา ใจ ถ้าเป็นภิกษุจริงแล้ว ความประพฤติชั่ว ความประพฤติเลว ประพฤติต่ำ ประพฤติทุจจริตดังกล่าวจะไม่มี เพราะฉะนั้นท่านจึงได้ชื่อว่า “ภิกษุ”

    

     ๓.    ภิกษุ แปลว่า ผู้ละกิเลสทั้งหลาย โดยเจาะจง หลักฐานว่า “โอธิโส  กิเลสานํ  ปหานา  ภิกฺขุ” ชื่อว่าภิกษุ เพราะละกิเลสโดยเจาะจง

     หมายความว่า  ถ้าเป็นภิกษุแล้ว มีหน้าที่อยู่โดยเฉพาะเจาะจงลงไปทีเดียวว่า ต้องศึกษาปฏิบัติกำจัดกิเลส คือ ความโลภ ความโกรธ ความหลง ความริษยากันและกัน ความตระหนี่ ความไม่ละอายบาป ความไม่กลัวบาป อวิชชา วิจิกิจฉา เป็นต้น

    

     ๔.    ภิกษุ แปลว่า ผู้กำจัดธรรมที่เป็นอกุศลอันลามก ดังหลักฐานว่า  “ภินฺนตา ปาปกานํ อกุสลานํ ธมฺมานํ ภิกฺขุ”  ชื่อว่า “ภิกษุ”  เพราะกำจัดอกุศลธรรมอันลามก

      หมายความว่ากำจัดอกุศลจิต ๑๒ ได้แก่ โลภมูลจิต ๑๒ โทสมูลจิต ๘ โมหมูลจิต ๒ กับเจตสิกฝ่ายอกุศลที่เกิดร่วมกับจิตนั้นอีก ๒๗

    

     ๕.  ภิกษุ แปลว่า ผู้ยังต้องศึกษาอยู่ ดังหลักฐานว่า “เสกฺโข ภิกฺขุ” ผู้ที่ยังต้องศึกษาอยู่ชื่อว่า “ภิกษุ”

     หมายความว่า ผู้ที่กำลังศึกษาเพื่อได้บรรลุโสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล สกิทาคามิมรรค สกิทาคามิผล อนาคามิมรรค อนาคามิผล อรหันตมรรค ทั้ง ๗ จำพวกนี้ เรียกว่า เสกขะ แปลว่าผู้ยังต้องศึกษาอยู่

    

     ๖.  ภิกษุ แปลว่า ผู้ไม่ต้องศึกษา ดังหลักฐานว่า “อโสกฺโข ภิกฺขุ” ผู้ที่ไม่ต้องศึกษา ชื่อว่า “ภิกษุ”

     หมายความว่า ผู้เจริญวิปัสสนาจนได้บรรลุพระอรหัตตผลแล้ว เรียก อเสกขะ เพราะไม่จำเป็นต้องศึกษาเพื่อ มรรค ผล นิพพาน ต่อไปอีกแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว เสร็จกิจแล้ว กิเลสนี้สิ้นไปหมดแล้ว ภพชาติสิ้นแล้ว บุญบาปละได้หมดแล้ว

    

     ๗.    ภิกษุ แปลว่า ผู้เลิศ ดังหลักฐานว่า “อคฺโค ภิกฺขุ”  ชื่อว่า “ภิกษุ” เพราะเป็นผู้เลิศ

     หมายความว่า ผู้ที่เลิศด้วยอธิศีล อธิจิต อธิปัญญา ชื่อว่า “ภิกษุ”

    

     ๘.    ภิกษุ แปลว่า ผู้เจริญ ดังหลักฐานว่า “ภทฺโร ภิกฺขุ”  ชื่อว่าเป็นภิกษุ เพราะเป็นผู้เจริญ

     หมายความว่า ผู้ใดเจริญด้วยคุณธรรม คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ผู้นั้น ชื่อว่า ภิกษุ

    

     ๙.     ภิกษุ แปลว่า ผู้ผ่องใส ดังหลักฐานว่า “มณฺโฑ  ภิกฺขุ” ชื่อว่า “ภิกษุ”  เพราะเป็นผู้ผ่องใส

     หมายความว่า กาย วาจา ใจ  ของท่านไม่มีกิเลสอย่างหยาบ ไม่มีกิเลสอย่างกลาง ไม่มีกิเลสละเอียด คืออนุสัยเข้ามานอนดองอยู่ ถูกกำจัดออกไป ด้วยศีล สมาธิ ปัญญาแล้ว ไม่มีอวิชชามาห่อหุ้ม เพราะฉะนั้นท่านจึงเป็นผู้ผ่องใส

    

     ๑๐.  ภิกษุ แปลว่า ผู้มีสารธรรม  หลักฐานว่า “สาโร ภิกฺขุ”  ชื่อว่า “ภิกษุ” เพราะเป็นผู้มีสารธรรม

     หมายความว่า สารธรรม แปลว่า ธรรมที่เป็นแก่นสาร มีอยู่ ๖ ประการ คือ สีลสาระ สาระคือศีล ๑ สมาธิสาระ สาระ คือ สมาธิ ๑ ปัญญาสาระ สาระ คือ ปัญญา ๑ วิมุติสาระ สาระคือ วิมุติ ๑ วิมุติญาณทัสสนสาระ สาระ คือ วิมุติญาณทัสสนะ ๑ ปรมัตถสาระ สาระ คือ ธรรมที่เป็นประโยชน์อย่างยอดเยี่ยม ได้แก่ พระนิพพาน ๑

    

     ๑๑.  ภิกษุ แปลว่า ผู้อุปสมบทแล้วจากสงฆ์ผู้พร้อมเพรียงกัน ดังหลักฐานว่า “สมคฺเคน สงฺเฆน ญตฺติจตุตฺเถน กมฺเมน ฐานารเหน อุปสมฺปนฺโนติ ภิกฺขุ”  ชื่อว่า “ภิกษุ” เพราะได้อุปสมบทมาดีแล้ว แต่สงฆ์ผู้พร้อมเพรียงกัน ด้วยญัตติจตุตถกรรม อันไม่กำเริบแก่ฐานะ

     หมายความว่า อันกุลบุตรที่จะได้นามว่า เป็นภิกษุนั้น ต้องอุปสมบท คือบวชในกลางสงฆ์ตั้งแต่ ๑๐ รูปขึ้นไป เว้นไว้แต่ปัจจันตประเทศ คือ ประเทศที่หาพระยาก ๕ รูปก็ใช้ได้ และสงฆ์เหล่านั้นต้องพร้อมเพรียงกัน ปรองดองกัน จะมีผู้ใดผู้หนึ่งคัดค้านขึ้นในท่ามกลางสงฆ์ก็ไม่ได้ และต้องสวดญัตติจตุตตถกรรมจึงจะเป็นภิกษุได้

    

     ๑๒.   ภิกษุ แปลว่า ผู้ทำลายกิเลส ดังหลักฐานว่า “กิเลเส ภินฺทตีติ ภิกฺขุ”  ชื่อว่าภิกษุ เพราะอรรถว่า ทำลายกิเลสทั้งหลาย

     หมายความว่า กิเลสนั้นมีมาก เช่น กิเลส ๓ กิเลส ๑๐ กิเลส ๑๕๐๐ ถ้าผู้ใดปฏิบัติเพื่อทำลายกิเลสดังกล่าว ผู้นั้นชื่อว่าเป็นภิกษุ

 

     ความหมายของคำว่า “ภิกษุ” ที่ยกมาอ้างในที่นี้ อ้างอิงจากคำบรรยายเรื่อง วิปัสสนากรรมฐาน (มหาสติปัฏฐาน) รจนาโดย พระเทพสิทธิมุนี (โชดก ญาณสิทฺธิ ป.ธ. ๙)  อดีตพระอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนาธุระ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎ์ กรุงเทพมหานคร พิมพ์โดยเสด็จพราะราชกุศล ในงานออกพระเมรุพระราชทานเพลิงศพ พระสุเมธาธิบดี (บุญเลิศ ทตฺตสุทฺธิ ป.ธ.๘)  อดีตอธิบดีสงฆ์ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์  วัดเทพศิรินทราวาศ วันจันทร์ที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๔๘

หมายเลขบันทึก: 430750เขียนเมื่อ 11 มีนาคม 2011 17:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 มิถุนายน 2013 16:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

นมัสการพระคุณเจ้าค่ะ

  • คำว่าภิกษุมีความหมายมากมายจังนะคะ
  • ไม่เคยได้ศึกษา หรือได้รับความรู้ถึงความหมายของพระภิกษุอย่างจริงจัง
  • ขอบพระคุณ พระคุณเจ้าที่ให้ความกระจ่างชัดในเรื่องนี้ค่ะ
  • "สนฺทิฏฺฐิโก แปลว่า เป็นสิ่งที่ผู้ศึกษาและปฏิบัติจะพึงเห็นเอง"
  • เป็นข้อคิดที่ดีมากค่ะ  ศึกษา จนมีความรู้ แต่ไม่ปฏิบัติ บางครั้งก็ไม่เกิดประโยชน์อันใด

ขอบคุณคุณครูที่แวะมาอ่าน เรื่องบทกลอนเวสสันตรชาดกตอนที่กัณหาชาลีตอนถอยหลังลงสระบัวก็ลงไว้แล้ว

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท