แตงไทย
นฤมล ชื่อเล่น "แตงไทย" (สำหรับครอบครัว), "แตงอ่อน" (สำหรับเพื่อนๆ), "I tang" (สำหรับพี่ๆ ทั้งหลาย) จันทรศรี

กิจกรรมค่ายหมอเขียว ๒๓-๒๕ มิ.ย.'๕๑ by ครูเล้ง (๒/๒)



เว็บศูนย์รวม "โยคะสารัตถะ


กิจกรรมค่ายหมอเขียว
๒๓-๒๕ มิ.ย.'๕๑
-๒/๒-

เขียนโดย ;
ล.เล้งเสียงกระดิ่งหยก (ไม่ใช่มังกรบิน)

คอลัมน์ ; เล้งเล่าเรื่อง
โยคะสารัตถะ ฉ.; มิ.ย.'๕๑

 

 (กิจกรรมค่ายหมอเขียว ๒๓-๒๕ มิ.ย.'๕๑ -๑/๒-)

ถ้าจะให้เล่าว่าเราเรียนอะไรกันบ้างก็คงไม่สนุกเนอะ....เพราะพวกเราก็รู้กันอยู่แล้วว่า..ต้องเรียนอาสนะ ปราณายามะ มุทรา พันธะ กริยา ทัศนคติเชิงบวก ...อะไรทำนองนี้ ...ก็เลยขอตัดตอน เอาแต่ช่วงฝึก กริยา ที่เราไม่ค่อยได้ทำกันในชั้นเรียนปกติดีกว่า เราเลือกสอนกริยา 3 จากทั้งหมด 6 ชนิด ดังนี้

ตราฏกะ : การเพ่งจ้องไปที่จุดใดจุดหนึ่งโดยไม่กระพริบตา จนกระทั่งน้ำตาไหลออกมา

การฝึกนี้ครูตา เป็นครูประจำชั้น ครูตาแอบมากระซิบว่า นี่เป็นการสอนตราฏกะครั้งแรกในชีวิตเลยนะ แต่ครูตาก็สอนได้ไม่มีติดขัด (ไม่ให้เสียชื่อ Organizer มือหนึ่งของเมืองไทย ผู้รับผิดชอบ จัดงานใหญ่ๆ เปิดตัวสินค้ามาจนเชี่ยวชาญ) ครูตาเริ่มด้วยการสอน บริหารดวงตา ทำ Palming (ถูฝ่ามือให้อุ่นแล้วทำเป็นฝาขนมครก ปิดดวงตา โดยที่ฝ่ามือไม่โดน เปลือกตา) จากนั้น ก็จ้องเทียน โดยไม่กระพริบตา จนกว่าน้ำตาจะไหล หรือตาเครียด

ตราฏกะ นี้ฝึกเพื่อให้น้ำตาไหลออกมาชำระล้างดวงตา ตาจะได้ใสปิ๊ง และยังทำให้ จิตนิ่ง จิตสงบ มีสมาธิ เมื่อจิตนิ่งแล้ว ปัญหาหรือความรู้สึกขัดแย้งที่ซ่อนอยู่ภายในจิตใจ ก็อาจแสดงตัวตนออกมาให้เราได้เห็น เหมือนน้ำในบ่อที่นิ่ง เราก็อาจมองเห็นได้ถึงก้นบ่อ ฉันใดก็ฉันนั้น ... จึงมีผู้นำเทคนิค ตราฏกะนี้ไปใช้เพื่อปรับสมดุลระบบประสาท ลดความเครียด อาการกระวนกระวาย อาการซึมเศร้านอนไม่หลับ

แม้ว่าในการฝึกตราฏกะจะมีอุปสรรคคือ น้องยุงที่ขยันบินมากวน เป็นระยะๆ ทำให้ไม่ค่อยมีสมาธิ แต่ในการฝึกวันที่ 2 เมื่อเริ่มคุ้นชิน เราก็เริ่มจดจ่อได้มากขึ้น บางคนฉลาดก็เอาน้ำมันเขียวมาทากันยุงไว้ก่อน ในวันที่ 2 จำนวนคนที่ต้องหลั่งน้ำตาให้กับกิจกรรม ตราฏกะก็เพิ่มมากขึ้น พอเป็นกำลังใจให้ครูตาสอนตราฏกะต่อไป และคราวหน้าเล้งคิดว่า เราน่าจะฝึก ตราฏกะกันในมุ้ง ..ยุงจะได้ไม่มากวนดีกว่านะ !


ชลเนติ : การชำระล้างโพรงจมูกด้วยน้ำเกลืออุ่นๆ

ถึงแม้จะไม่ใช่ครั้งแรกที่สอนทำเนติ แต่เล้งก็เกร็งทุกครั้งที่ต้องสอนไม่รู้ว่าทำไม .. ตอนแรกเล้งนึกว่าจะเชียร์นักเรียนไม่ขึ้นเสียแล้ว โชคดีได้หมอเขียวมาทดลองทำเป็นคนแรก.... หมอเขียวลองทำไปตั้ง 6 กาแน่ะ...พอท่านผู้นำสนุก...ท่านผู้ตามทั้งหลายก็ขอลองบ้าง นักเรียน 20 กว่าคน แต่กาที่เราเตรียมไปมีแค่ 5-6 ใบ ก็เลยต้องวนกันใช้.... ให้นึกกังวลเรื่องความสะอาด แต่หมอเขียวปลอบใจว่า ช้อนกินข้าวยังใช้ด้วยกันเลย ล้างแล้วก็น่าจะพอใช้ได้ ก็เลยทำตามนั้น โดยมีการตั้งกระติกน้ำร้อนไว้ลวกกาเนติ เพื่อความสบายใจ ... สอนเนติคราวนี้ เล้งไม่ลืมบอกนักเรียน เรื่องข้อห้าม ในการทำเนติ 2 ข้อคือ ไม่ควรทำเนติเมื่อมีเลือดออกจากจมูก และหลังการผ่าตัดไซนัส หรือหูไม่ถึง 1 ปี ส่วนข้อควรระวัง ก็คือ ไม่ควรนอนหงาย หรือเงยหน้าขึ้น เพราะน้ำจะไหลย้อนกลับ หรือไหลออกไม่หมด อาจทำให้เป็นหวัด หรือปวดหัวได้


กปาลภาติ : การหายใจด้วยหน้าท้อง อย่างแรงและเร็ว เพื่อทำความสะอาดช่องทางเดินหายใจ และจะได้กบาลโล่ง เป็นของแถม

งานนี้เราทำคนไข้ของหมอเขียวน๊อคไป 1 รายค่ะ คือว่าผู้โชคดีท่านนี้มีเนื้องอกที่มดลูก แล้วเมื่อเช้าก็ฝึกอาสนะท่างู และตั๊กแตน ซึ่งกดนวดช่องท้อง จากนั้นตกบ่าย ก็มาเจอ กปาลภาติเข้าไป เนื่องจากเธอเป็นนักเรียนดีเด่น พอครูบอกให้ทำอะไร เธอก็พยายามทำตาม ตอนแรกๆ พวกเราก็ไม่ได้คิดว่า เธอจะเป็นอะไรร้ายแรง แต่พอเธอล้มตัวลงไปนอนแผ่ แล้วหมอเขียวต้องเข้าไปช่วย เท่านั้นเอง พวกเราก็รู้ว่า "ผิดท่าแล้ว" และ "ไม่ได้การแล้ว" ใจของพวกเราก็ตกไปอยู่ที่ตาตุ่มกันหมดเลยค่ะ ถ้าผู้ป่วยเกิดเป็นอะไรขึ้นมา พวกเราเหล่าครูโยคะคงต้องคุกเข่าสำนึกผิดกันคนละ 3 ชั่วยามแน่ๆ ... แต่ในที่สุด หมอเขียวก็กู้สถานการณ์กลับคืนมาได้ พวกเราเลยรอดตายไป พวกเราก็เลยได้ประสบการณ์ใหม่ว่า นอกจากห้ามทำกปาลภาติในช่วงมีประจำเดือน หรือช่วงโรคกระเพาะกำเริบแล้ว.... ยังมีข้อห้ามสำหรับคนที่เป็นเนื้องอกในช่องท้อง แถมมาอีก 1 รายการด้วย !

หลังจากทำคนไข้เดี้ยงไป 1 รายแล้ว พวกเราก็เรียนรู้ที่จะระมัดระวังในการแนะนำเทคนิคโยคะ ต่างๆ มากขึ้นถ้าไม่เจอเข้ากับตัวเอง...ได้แต่อ่านเอาจากหนังสือก็คงไม่ซาบซึ้งเท่านี้ ... แต่น้องเค้าก็ยังไม่ถอดใจ (ในขณะที่พวกครูถอดกันไปหมดแล้ว) พอเธอฟื้นขึ้นมา ก็ขอให้สอนทำเนติที่เธอพลาดไป เมื่อวาน หลังจากนั้นเราก็เลยให้เธอนอนพักในท่าจระเข้ หรือทำท่าหมาแลลง เพื่อให้น้ำที่คั่งอยู่ในจมูกไหลออกมา แทนการทำกปาลภาติ พักกันไปครู่ใหญ่ แล้วก็แนะนำให้ทำท่า แอ่นตัวในท่านอนหงาย แทนที่จะทำในท่านอนคว่ำ เพื่อที่น้ำหนักตัว จะได้ไม่กดทับลงไปที่ช่องท้อง... ก็ได้แต่หวังว่า เธอจะไม่เป็นอะไรไปมากกว่านี้ ... นับว่าพวกเราได้ไถ่บาปไปแล้วเล็กน้อย

ขอสรุปซื่อๆ กันเลยนะว่า มาค่ายสุขภาพของหมอเขียวทุกครั้ง เราได้เรียนรู้วิถีชีวิตที่เป็นไป เพื่อการดูแลรักษาสุขภาพทั้งกาย และใจ การเลือกที่จะกิน หรือไม่กินอะไร การเลือกคิดว่าจะเป็นทุกข์ หรือไม่เป็นทุกข์ เมื่อตกอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่น่าจะเป็นสุขอยู่ได้ จนในที่สุดเมื่อเราคิดว่าความรู้วิชาโยคะที่พวกเรามี ....หากได้ถ่ายทอด แบ่งปัน ให้กับชุมชนแห่งนี้... จะก่อเกิดประโยชน์ให้ชาวค่ายได้มีวิชาดูแล กาย-ใจของตนเพิ่มขึ้นอีกหลายกระบวนท่า ในขณะเดียวกันพวกเราทีมครูโยคะก็ได้เรียนรู้ที่จะระมัดระวังในการถ่ายทอดเทคนิคการฝึกโยคะต่างๆ ให้มากขึ้น รวมถึงการศึกษาข้อห้าม และข้อควรระวังต่างๆ

อย่างไรก็ตาม งานของเรา ก็จบลงแบบ Happy Ending ค่ะ เสร็จสิ้นภารกิจ พวกเราต้องรีบจรลีกลับกทม. เพราะถ้าขืนอยู่นาน เจ้าหน้าที่ของหมอเขียว อาจจับตัวไว้...ไม่ยอมปล่อยให้กลับบ้าน เพราะหลงเสียงครู... อยากให้ครูมาบอกให้ทำอาสนะ ทุกเช้า..ทุกเย็น นั่นเอง ขนาดเวลากินข้าว ยังถือจานข้าวมานั่งกินข้างๆ เลยนะ.....จบข่าวจ้า

ปล. 1) ตอนนี้จะไปค่ายหมอเขียว ต้องโทรศัพท์ ไปที่ โรงพยาบาลอำนาจเจริญ 045-511491# 1221

2) เทคนิคการทำกริยา... สามารถหาอ่านเพิ่มเติมได้ที่

- Asana Pranayama Mudrou Bandha by Swami Satyananda Saraswati, Bihar

- Yoga Bharati, Munyer, Bihar, India

- ศาสตร์และศิลป์แห่งโยคะ ดร.เอ็ม.แอล.ฆาโรเต เขียน, วีระพงษ์ ไกรวิทย์ และจิรวรรณ ตั้งจิตเมธี แปล 

 


    
มูลนิธิหมอชาวบ้าน

2220/101 ซอยรามคำแหง 36/1 ถนนรามคำแหง แขวงหัวหมาก เขต บางกะปิ กรุงเทพฯ 10240
โทรศัพท์ 02-732-2016 - 17, โทรสาร 02-732-2811 มือถือ 081-401-7744
E-mail: [email protected] ; www.thaiyogainstitute.com

หมายเลขบันทึก: 430747เขียนเมื่อ 11 มีนาคม 2011 16:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:42 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท