ปรัชญาการศึกษา: ต้นธารแห่งหลักสูตรและการสอน


อะไรและอย่างไรคือการสอนภาษาไทยที่แท้

มาช่วยสร้างประชาคมการสอนภาษาไทย ให้มีหลักการ มีทฤษฎีและมีชีวิต 

 

เฉลิมลาภ ทองอาจ

 

            หากจะถามว่า อะไรเป็นเหตุให้เกิดหลักสูตร อะไรเป็นเหตุให้เกิดการสอน ดังที่ถามว่าอะไรเป็นเหตุให้เกิดลำธารและมหาสมุทรนั้น  ก็ตอบได้ว่า ต้นธารแห่งหลักสูตรนั้นก็คือปรัชญาและปรัชญาการศึกษา  โดยส่วนตัวผู้เขียนเห็นว่า ปรัชญาคือต้นธารและคือหลักคิดที่สำคัญที่จะทำให้การเรียน  การสอนของเรามีหลักการและมีเป้าหมายที่ชัดเจนขึ้น  ในฐานะที่ท่านเป็นครูภาษาไทย  นักสอนภาษาไทยและนักหลักสูตรและการสอน ท่านได้เคยตั้งคำถามเชิงปรัชญาเหล่านี้เพื่อเป็นสิ่งท้าทายและเป็นหลักคิดให้กับตนเองบ้างหรือไม่ 

                   1.  อะไรคือเป้าหมายที่ท่านต้องการให้นักเรียนของท่านเป็น

                   2.  เป้าหมายของการสอนภาษาไทยที่แท้จริงแล้วคืออะไร เราจะไม่สอนภาษาให้บุคคลได้หรือไม่ 

                   3.  การสอนให้ใช้ภาษาได้กับใช้ภาษาเป็นสิ่งสำคัญกับบุคคลจริงหรือไม่   

                   4.  ภาษาเป็นเครื่องมือสืบทอดมรดกวัฒนธรรม ถ้าเช่นนั้น  ภาษาเป็นแต่เครื่องมือจริงหรือ

                   5.  สอนภาษาไทยเพื่ออาชีพ สอนภาษาเพื่ออนาคต สอนภาษาเพื่อมรดก สอนภาษาเพื่อให้ซาบซึ้ง  แล้วจริงๆ แล้วสอนภาษาไทยเพื่ออะไร

          หากท่านเป็นผู้ที่เกี่ยวข้องกับหลักสูตรและการสอนภาษาไทย แล้วไม่ใคร่ครวญคำถามข้างต้นในที่สุดแล้ว หลักสูตรและการสอนภาษาไทยที่ท่านดำเนินการพัฒนาขึ้นนั้น ย่อมไม่ต่างอะไรจาก      การสืบทอดภาษาในฐานะที่เป็นอารยธรรมโบราณ แต่อารยะธรรมนั้นในที่สุดก็จะถึงคราวหายนะ       ทุกวันนี้ เรายังแสวงหาคำตอบเกี่ยวกับปัญหาข้างต้น  แต่ดูเหมือนว่าการสอนภาษาไทยในโลกปัจจุบัน จะเต็มใจละทิ้งคำตอบและแกล้งลืมคำถาม  เพราะหากท่านสอนเพียงเพื่อให้ผู้เรียนสอบได้สอบผ่านแล้วไซร้ก็เป็นอันว่าต้องยุติกัน  และไม่จำเป็นต้องมีการศึกษาค้นคว้าในด้านของหลักสูตรและการสอนภาษาไทยกันอีก  บทความนี้จึงพยายามที่จะกระตุ้นให้ครูภาษาไทย นักสอนภาษาไทยและนักหลักสูตรและการสอนหันมาพิจารณาปรัชญาที่ตนเองยึดถือ แสวงหาคำตอบของปลายทางการสอนที่ปัจจุบันมืดมน และช่วยกันเรียกร้องว่า อะไรคือเป้าหมาย คือหลักการ คือทฤษฎี และคือการสอนภาษาไทยที่แท้ 

          แนวคิดและความเชื่อที่แตกต่างกันของนักปรัชญาและนักปรัชญาการศึกษากลุ่มต่างๆ เป็นผลให้แนวคิดเกี่ยวกับรูปแบบและเนื้อหาของหลักสูตรการศึกษาแตกต่างกันไปด้วย  นักปรัชญากลุ่มที่เชื่อว่าการศึกษาคือชีวิต จะให้ความสำคัญกับการสร้างประสบการณ์ ณ ปัจจุบัน มากกว่านักปรัชญากลุ่มที่เชื่อว่าการศึกษาคือการเตรียมตัวเพื่อชีวิตอนาคต ที่จะให้ความสำคัญกับการศึกษาเนื้อหาวิชาการต่างๆ ที่อาจจะยังไม่เป็นประโยชน์ ณ ขณะนั้น  ตัวอย่างดังกล่าวย่อมแสดงว่า ปรัชญาการศึกษามีอิทธิพลต่อการจัดประสบการณ์และการจัดการกิจกรรมต่างๆ ภายในสถานศึกษา ประเด็นที่ควรพิจารณาต่อมาคือ นักหลักสูตรจำเป็นจะต้องพิจารณาและวิพากษ์ให้เกิดความเข้าใจเกี่ยวกับหลักสูตรที่กำหนดขึ้นตามปรัชญาการศึกษากลุ่มต่างๆ เพื่อให้เห็นข้อดีและข้อจำกัด ตลอดจนสิ่งที่ควรพัฒนาต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นที่เกี่ยวข้องกับรูปแบบและเนื้อหาของหลักสูตรดังต่อไปนี้ 

          รูปแบบหรือลักษณะหลักสูตรในแต่ละปรัชญาการศึกษาดังที่ได้เสนอสามารถแบ่งได้เป็น       3 กลุ่ม ได้แก่ 1)  หลักสูตรกลุ่มที่มีรูปแบบเน้นเนื้อหาวิชาเป็นศูนย์กลาง (subject-centered design) ได้แก่  หลักสูตรของปรัชญานิรันตรนิยมและปรัชญาสารัตถนิยม 2) หลักสูตรกลุ่มที่มีรูปแบบเน้นผู้เรียนหรือประสบการณ์เป็นศูนย์กลาง (child-centered design/ experience-centered design) ได้แก่ หลักสูตรของปรัชญาพิพัฒนนิยมและอัตถิภาวนิยม  และ 3) หลักสูตรที่มีรูปแบบเน้นสังคมเป็นศูนย์กลาง (social-centered design) ได้แก่ หลักสูตรของปรัชญาปฎิรูปนิยม รูปแบบของหลักสูตรดังที่กล่าวมาเมื่อนำมาเปรียบเทียบในด้านเป้าหมายการพัฒนาเยาวชนจะพบว่า หลักสูตรของปรัชญา  พิพัฒนิยม ซึ่งเป็นหลักสูตรที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลางนั้น มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาบุคคลอย่างสมดุล กล่าวคือ มุ่งพัฒนาค่านิยม ทัศนคติ อารมณ์และกระบวนการทางสังคมของผู้เรียนควบคู่กันไป  มิได้มุ่งเน้นแต่เฉพาะการพัฒนาสติปัญญาหรือการให้เหตุผล ดังเช่นในหลักสูตรของปรัชญานิรันตรนิยมและสารัตนิยม ดังที่  Ornstein และ Hunkins (2009: 197-198) และ Aggarwal  (1985: 50)  ได้กล่าวไว้สอดคล้องกันสรุปได้ว่า หลักสูตรรูปแบบที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลางมีลักษณะให้ผู้เรียนได้สร้างประสบการณ์ทั้งในด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม  ผ่านกิจกรรมในชีวิต ความสนใจและความต้องการของผู้เรียนเอง  เนื้อหาหรือสาระความรู้ต่างๆ จะต้องเป็นสิ่งที่ไม่แยกจากชีวิต แต่จะต้องเกิดจากการนำมาสัมพันธ์และบูรณาการกับกิจกรรมต่างๆ รอบตัวผู้เรียน เพื่อใช้ในการแก้ปัญหาทั้งส่วนบุคคลและสังคม นอกจากนี้หากเป็นแนวคิดของปรัชญาอัตถิภาวนิยม หลักสูตรก็จะยิ่งไม่มีรูปแบบที่ชัดเจน ทั้งนี้เนื่องจากปรัชญานี้ให้สิทธ์แก่ผู้เรียนอย่างเต็มที่ ในการเลือกเรียนในสิ่งที่ตนเองต้องการหรือมี       ความถนัด ซึ่งกล่าวได้ว่าเป็นแนวทางที่ค่อนข้างให้ความสำคัญกับผู้เรียนแบบ “สุดโต่ง” 

          อย่างไรก็ตาม ในประเทศที่เน้นการแข่งขันด้านความรู้หรือใช้กระบวนทัศน์เศรษฐกิจฐานความรู้ (knowledge-based economy) ความรู้เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการเสริมสร้างศักยภาพใน   การแข่งขัน ทั้งในด้านสังคมและเศรษฐกิจ  ผู้ที่มีความรู้หรือใช้ความรู้ในการสร้างสรรค์และดำเนินกิจกรรมต่างๆ จะกุมความ “ได้เปรียบ” เหนือกลุ่มอื่นๆ ที่อาจจะมีความรู้น้อยกว่า ด้วยเหตุนี้ ความรู้จึงกลายเป็นสิ่งที่จะต้องแข่งขันกันเพื่อให้ได้มา มิใช่เป็นแต่เพียงอัธยาศัยแห่งความสนใจใคร่รู้ (curiosity) อีกต่อไป สังคมที่ถูกอิทธิพลของกระบวนทัศน์ดังกล่าวครอบงำ จำเป็นที่จะต้องพัฒนาสมาชิก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเยาวชนในชาติให้มีความรู้พื้นฐานที่จำเป็นสำหรับการแข่งขัน และการเข้าสู่ความเป็นพลเมืองแห่งยุคสมัยนั้นๆ หากหลักสูตรมีจุดเน้นเพียงการทำตามความสนใจและความต้องการของผู้เรียน แต่มิได้คำนึงถึงบริบทสังคมที่เปลี่ยนแปลง ดังเช่นในกรณีของหลักสูตรผู้เรียนเป็นศูนย์กลางตามแนวคิดของปรัชญาพิพัฒนิยม ปัญหาก็ย่อมเกิดขึ้นในที่สุด เพราะเท่ากับเป็นการลดศักยภาพในการแข่งขันในระดับสากลของตนเองลง  เพราสิ่งที่ผู้เรียนสนใจและต้องการเรียนนั้น อาจไม่ใช่สิ่งที่มีความสำคัญสำหรับการเข้าสู่การแข่งขันและการพัฒนาก็ได้  ดังที่ Oliva (2009: 169)  ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับหลักสูตรของปรัชญาพิพัฒนนิยมไว้สรุปได้ว่า  สังคมเกิดกระแสความรู้สึกอย่างหนึ่งต่อผู้ที่สำเร็จการศึกษาจากหลักสูตรพิพัฒนนิยมว่า พวกเขาอาจจะไม่ได้เรียนรู้ทักษะพื้นฐานที่จำเป็น       หรือมีความรู้เกี่ยวกับมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ  และในขณะเดียวกันนักการศึกษาก็ไม่สามารถยอมรับการจัดการเรียนการสอน  ที่อาจะต้องรอให้ผู้เรียนเป็นฝ่ายเริ่มสนใจหรือต้องการที่จะเรียนก่อน ด้วยเหตุนี้ กระแสความนิยมในหลักสูตรรูปแบบที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลางจึงลดลง  คงเหลือเฉพาะแต่หลักการและเทคนิควิธีการเรียนการสอน  และหลักสูตรรูปแบบที่เน้นเนื้อหาเป็นศูนย์กลาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลักสูตรของปรัชญาสารัตถนิยมก็ได้รับความสนใจและยอมรับกันมากยิ่งขึ้นทั้งในประเทศสหรัฐอเมริกา แล้วขยายอิทธิพลต่อมาในประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะประเทศในกลุ่มกำลังพัฒนา 

          คุณค่าที่สำคัญที่สุดของหลักสูตรรูปแบบที่เน้นเนื้อหาเป็นศูนย์กลาง โดยเฉพาะหลักสูตรของปรัชญาสารัตถนิยม ซึ่งเป็นที่มาของหลักสูตรแกน (core curriculum)  หรือหลักสูตรการศึกษา        ขั้นพื้นฐาน (basic curriculum) คือการพยายามที่จะ “รับประกัน” ความรู้สึกของของประชาชน  ซึ่งเป็นผู้เสียภาษีแก่รัฐว่า  ผู้ปกครองจะมั่นใจได้ว่าผู้เรียนซึ่งก็คือบุตรหลานของตนนั้น  จะมีความรู้และทักษะพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับการดำเนินชีวิตในปัจจุบันและในการประกอบอาชีพในอนาคต  ดังนั้นหลักสูตรของปรัชญาสารัตถนิยม จึงเป็นหลักสูตรที่จะเริ่มต้นจากคำถามสำคัญที่ว่า  “อะไรเป็นสิ่งที่ผู้เรียนควรรู้และพึงปฏิบัติได้” (what student should know and be able to do ?)  แนวคิดเกี่ยวกับการใช้คำถามดังกล่าวเป็นที่มาของการศึกษาอิงผลลัพธ์  (outcome-based education)  หลักสูตรอิงผลลัพธ์ (outcome-based curriculum) และหลักสูตรอิงมาตรฐาน (standard-based curriculum)  ที่เป็นทิศทาง (trend)  ของการพัฒนาหลักสูตรที่ได้รับความนิยมอย่างยิ่งในปัจจุบัน  ทั้งนี้จะเห็นได้ว่า หลักสูตรกลุ่มนี้จะให้ความสำคัญกับ “ผลผลิต” ในด้านความรู้  ทักษะและคุณลักษณะอันควรจะต้องเกิดขึ้นในผู้เรียนหลังจากจบหลักสูตร ซึ่งในฐานะพลเมืองของประเทศ  อย่างน้อยก็ควรมีความสามารถในการสื่อสาร    การอ่านออกเขียนได้และการคิดคำนวณ ดังที่  Ornstein และ Levine (1985: 196) ได้อธิบายในประเด็นนี้สรุปได้ว่า  หลักสูตรของปรัชญาสารัตถนิยมจะบรรจุวิชากลุ่ม  “three Rs”  ได้แก่ การอ่าน (reading)  การเขียน (writing)  และเลขคณิต (arithmetic) ไว้ในหลักสูตรระดับประถมศึกษาเสมอ   ทั้งนี้เพื่อให้ผู้เรียนมีความรู้และความสามารถในการใช้ภาษาและการคิดคำนวณ  และในระดับมัธยมศึกษาจะบรรจุวิชาภาษา  วิทยาศาสตร์  คณิตศาสตร์  ประวัติศาสตร์ ภาษาอังกฤษและภาษาต่างประเทศ เพื่อให้เป็นผู้รอบรู้ในด้านวิชาการสำหรับการทำงานและประกอบอาชีพ ตัวอย่างหลักสูตรในประเทศสหรัฐอเมริกา เช่น  หลักสูตรแกนกลางมลรัฐ New Jersey  ได้กำหนดว่าในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานของรัฐ ผู้เรียนจะต้องศึกษาเรื่องการอ่าน  การเขียนและการคิด และแบ่งเนื้อหาเป็นกลุ่มสาระความรู้ที่เป็นพื้นฐานสำหรับผู้เรียนในมลรัฐนี้ไว้  9  กลุ่ม ได้แก่  1)  กลุ่มทัศนศิลป์และนาฏศิลป์  2)  สุขศึกษาและพลศึกษา  3)  ภาษาและการรู้หนังสือ  4)  คณิตศาสตร์ 5)  วิทยาศาสตร์  6)  สังคมศึกษา  7) ภาษาต่างประเทศ  8)  ความเข้าใจและความสามารถในการใช้เทคโนโลยี        และ  9) งานอาชีพ  ทักษะชีวิตและครอบครัว  แต่ละกลุ่มสาระความรู้มีการกำหนดมาตรฐาน ตัวชี้วัดและคำอธิบาย ซึ่งเป็นรูปแบบของหลักสูตรอิงมาตรฐานโดยทั่วไป (New Jersey Department of Education, 2004: 3) 

          สำหรับในกรณีของประเทศกำลังพัฒนาซึ่งรวมประเทศไทย ต่างก็ได้รับรูปแบบของหลักสูตรของปรัชญาสารัตถนิยม  ในลักษณะของหลักสูตรแกนกลางข้างต้นมาใช้พัฒนาเยาวชนเช่นกัน  ดังจะเห็นได้จากจุดมุ่งหมายของหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551  ได้กำหนดวัตถุประสงค์ของหลักสูตรไว้ว่า  “เพื่อให้มีความรู้อันเป็นสากลและมีความสามารถในการสื่อสาร      การคิด การแก้ปัญหา การใช้เทคโนโลยีและมีทักษะชีวิต” โดยได้กำหนดเนื้อหาวิชาที่เยาวชนไทยจะต้องศึกษา  8 กลุ่มสาระการเรียนรู้  ซึ่งแต่ละกลุ่มสาระการเรียนรู้มีการกำหนดมาตรฐานการเรียนรู้  ที่ระบุสิ่งที่ผู้เรียนพึงรู้และปฏิบัติได้เป็นเป้าหมายสำคัญของการพัฒนาผู้เรียน (กระทรวงศึกษาธิการ, สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, 2551: 5,8)  การจัดหลักสูตรในรูปแบบของการกำหนดเนื้อหาสาระพื้นฐานที่จำเป็นดังกล่าวย่อมแสดงให้เห็นว่า ปรัชญาสารัตถนิยม ได้รับการยอมรับมากกว่าหลักสูตรตามปรัชญาพิพัฒนนิยมรวมทั้งหลักสูตรของปรัชญาอื่นๆ ซึ่งถูกลดสภาพเป็นหลักสูตรทางเลือก (alternative curricum) และอยู่ใช้อยู่ในสถานศึกษาทางเลือกเท่านั้น ตัวอย่างเช่น การจัดการศึกษาของโรงเรียนหมู่บ้านเด็ก จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งก่อตั้งโดยมูลนิธิเด็ก โรงเรียนแห่งนี้เป็นสถานศึกษาทางเลือกที่ให้อิสระและเสรีภาพแก่เด็กในการเลือกเรียน  และเข้าร่วมกิจกรรม       การเรียนการสอนตามความสนใจของตนเอง จึงกล่าวได้ว่าหลักสูตรของโรงเรียนเป็นหลักสูตรที่เน้นผู้เรียนและประสบการณ์เป็นศูนย์กลาง ทั้งแนวคิดของผู้บริหารโรงเรียนก็มีความสอดคล้องกับแนวคิดของนักปรัชญาในกลุ่มนี้  ที่ให้ความสำคัญกับการจัดสภาพแวดล้อมและการจัดการเรียนการสอนที่สัมพันธ์กับชีวิต ดังที่  รัชนี ธงไชย ผู้บริหารโรงเรียน  (2551 อ้างถึงใน มูลนิธิสยามกัมมาจล, 2551: online)  กล่าวไว้ว่า

        “ห้องเรียนถือเป็นกิจกรรมหนึ่งของการเรียนในโรงเรียนหมู่บ้านเด็ก โดยเด็กจะมีอิสระในการเลือกว่าจะเข้าห้องเรียนหรือไม่ ดังนั้นเราจึงต้องให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมอื่นๆ  ในโรงเรียนพอๆ กับห้องเรียน เช่น ห้องสมุด ห้องกิจกรรมเสริมทักษาอาชีพ แปลงเกษตร       ปลอดสาร สภาพแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติ วิถีชีวิตภายในบ้าน เป็นต้น ทั้งนี้สิ่งที่สำคัญที่สุดในการสร้างการเรียนรู้ให้เด็กคือ การเล่น เพราะการเล่นจะทำให้เด็กได้เรียนรู้สิ่งที่อยู่รอบตัวหลายๆ อย่าง โดยครูจะทำหน้าที่เชื่อมโยงสิ่งที่เด็กเล่นไปสู่การค้นคว้าหาความรู้ เป็นความรู้นอกห้องเรียนที่เด็กสามารถซึมซับได้อย่างลึกซึ้ง และสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับความรู้ในส่วนต่างๆ ได้ง่าย”

          การลดคุณค่าของหลักสูตรกลุ่มที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญลงไปเป็นหลักสูตรทางเลือก           หรือหลักสูตรที่ไม่ใช่หลักสูตรกระแสหลักมิได้หมายความว่า การให้ความสำคัญกับความสนใจและความต้องการของผู้เรียนจะถูกตัดจากความคิดในการออกแบบหลักสูตรการศึกษาเสียทีเดียว ทั้งนี้เนื่องจากได้มีความพยายามเชื่อมโยงประสบการณ์และความสนใจของผู้เรียน ผ่านรูปแบบหลักสูตรที่เน้นเนื้อในลักษณะหลักสูตรบูรณาการ ที่ใช้ปัญหาหรือประสบการณ์ที่ผู้เรียนประสบในชีวิตประจำวันมาเป็นแนวคิดหลักหรือหัวเรื่อง (theme) สำหรับการจัดการเรียนรู้ แสดงให้เห็นว่า แม้รูปแบบของหลักสูตรตามปรัชญาพิพัฒนนิยมแบบดั้งเดิมจะหายไป แต่แนวคิดและหลักการเกี่ยวกับการสอนที่จะต้องเชื่อมโยงผู้เรียนกับโลกแห่งความเป็นจริง หรือสิ่งที่ผู้เรียนกำลังเผชิญอยู่นั้นยังคงดำรงอยู่ 

          สำหรับหลักสูตรที่เน้นสังคมเป็นศูนย์กลาง ซึ่งมีพื้นฐานแนวคิดจากปรัชญาปฏิรูปนิยมนั้น ค่อนข้างนำมาใช้ในการปฏิบัติค่อนข้างน้อย เมื่อเทียบกับหลักสูตรของปรัชญากลุ่มอื่นๆ เนื่องจากเป้าหมายที่สำคัญของหลักสูตรกลุ่มนี้คือ การเปลี่ยนแปลงสังคมที่มีอยู่เดิม และการเปลี่ยนแปลงนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเปลี่ยนแปลงในระดับโครงสร้างของสังคม ซึ่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวอาจส่งผลกระทบที่ทำให้เกิดการสั่นคลอนความเชื่อ ค่านิยม ทัศนคติหรือกรอบแนวคิดที่สังคมนั้นพยายามจะธำรงไว้  ดังที่ Kneller (1971: 62) ได้อธิบายในหลักการของปรัชญาปฏิรูปนิยมสรุปได้ว่า          การจัดการศึกษาจะต้องมีพันธกิจในการสร้างวัฒนธรรมและสังคมใหม่ ที่สอดรับปรัชญาประชาธิปไตยอย่างแท้จริง  คือทุกคนมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นต่อสิ่งที่ตนเองเห็นต่าง  ด้วยเหตุนี้จึงมีแนวโน้มว่าอาจเกิดการต่อต้านมากกว่าการยอมรับจากสังคมบางแห่ง ซึ่งอาจจะยังไม่เข้าใจความหมายและปรัชญาประชาธิปไตย 

           คำกล่าวที่มักจะพบเสมอในการพัฒนาหลักสูตรปัจจุบันคือ ไม่มีหลักสูตรใดที่สร้างขึ้นโดยอาศัยข้อมูลพื้นฐานด้านปรัชญาการศึกษาเพียงปรัชญาเดียว แต่เกิดจากการผสมผสานข้อดีหรือลักษณะเด่นของแต่ละปรัชญา แต่คำถามที่ควรพิจารณาคือ หากหลักสูตรที่สร้างขึ้นเป็นหลักสูตร “ลูกผสม” เป็นไปได้หรือไม่ว่า ผลที่เกิดจากหลักสูตร ซึ่งในที่นี้ได้แก่คุณภาพของเยาวชนจะไม่เป็นไปตามเป้าหมายของปรัชญา ซึ่งแต่ละกลุ่มกำหนดเป้าหมายการพัฒนาบุคคลแตกต่างกันไป และต่างกันอย่างที่เรียกว่า “ขาด” กันเสียด้วย ผลก็คือเยาวชนที่สร้างขึ้นจากปรัชญาผสม จะได้ส่วนดีจากการผสมนั้นจริงหรือไม่ ประเด็นนี้นับว่าเป็นประเด็นที่นักหลักสูตรควรขบคิดต่อไป  ทั้งนี้จะต้องไม่ลืมว่าทฤษฎีหลักสูตรและปรัชญามิได้สิ้นสุดลงแล้วในอดีต  แต่เป็นสิ่งที่จะต้องศึกษาและสร้างสรรค์ต่อไปสู่อนาคต

 

__________________________________________________________

รายการอ้างอิง

กระทรวงศึกษาธิการ, สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน. 2551. หลักสูตรแกนกลาง        การศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่ง       ประเทศไทย.

มูลนิธิสยามกัมมาจล.  2551. โรงเรียนหมู่บ้านเด็ก...ชุมชนเล็กๆ ที่เปี่ยมสุข [Online].  แหล่งที่มา:           http://www.scbfoundation.com/news_info_detail_th.php?cat_id=1&nid=103 [29 ตุลาคม       2553] 

New Jersey Department of Education. 2004.  New Jersey core curriculum content standards.

          New Jersey Department of Education, Division of Educational Programs and        Assessment.

 การนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความไปเผยแพร่หรือดำเนินการด้วยวิธีการใดๆ ควรอยู่บนหลักของวิชาการ จรรยาบรรณและความเป็นมนุษย์

หมายเลขบันทึก: 429662เขียนเมื่อ 5 มีนาคม 2011 16:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:38 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท