แตงไทย
นฤมล ชื่อเล่น "แตงไทย" (สำหรับครอบครัว), "แตงอ่อน" (สำหรับเพื่อนๆ), "I tang" (สำหรับพี่ๆ ทั้งหลาย) จันทรศรี

โยคศฺจิตตวฺฤตฺตินิโรธะห์ (ตำราโยคะดั้งเดิม)



เว็บศูนย์รวม "โยคะสารัตถะ


โยคศฺจิตตวฺฤตฺตินิโรธะห์

 

วีระพงษ์ ไกรวิทย์ และจิรวรรณ ตั้งจิตเมธี
แปลและเรียบเรียง
คอลัมน์;ตำราโยคะดั้งเดิม
โยคะสารัตถะ ฉ.; มิ.ย.'๕๑ 

 

หัวเรื่องตำราโยคะดั้งเดิมคราวนี้เป็นประโยคที่ปรากฏอยู่ในตำราโยคะสูตร ของมหาฤษีปตัญชลี ในบทที่ ๑ ประโยคที่ ๒ ที่กล่าวว่า โยคศฺจิตตวฺฤตฺตินิโรธะห์ ซึ่งแปลว่า โยคะคือการหยุดอย่างสมบูรณ์ของบรรดาพฤติกรรมหรือการเคลื่อนไหวดำเนินไปของจิต ประโยคนี้เป็นประโยคที่ให้ความหมายของคำว่า "โยคะ" ในฐานะที่เป็นวิธีหรือวิถีในการปฏิบัติ หากมองอย่างกว้างๆ แล้วจะพบว่า ปตัญชลีคิดถึงโยคะว่าเป็นวิถีในการปฏิบัติเพื่อบรรลุเป้าหมาย ส่วนองค์ประกอบของวิถีในการปฏิบัติหรือเทคนิคโยคะทั้ง ๘ นั้น ปตัญชลีได้กล่าวถึงในบทที่ ๒ สาธนา (ผู้เขียนได้เคยนำเสนอไว้แล้วในจุลสารโยคะสารัตถะฉบับก่อนๆ)

คำว่า "จิตตะ" (citta) ในที่นี้ไม่ได้มีความหมายเหมือนคำว่า "จิต" (mind) อย่างที่คนส่วนใหญ่เข้าใจกัน จิตตะมาจากรากศัพท์ซึ่งเป็นคำกริยาว่า "จิต" (cit) หมายถึง กระตุ้น รู้แจ้ง หรือตระหนักรู้ เป็นต้น เมื่อเติมปัจจัย (suffix) "ตะ" (ta) เข้าไปจึงกลายเป็นคำนาม ดังนั้นคำว่า "จิตตะ" จึงมีความหมายตามตัวอักษรว่า สิ่งซึ่งถูกกระตุ้น ถูกทำให้รู้แจ้ง หรือถูกทำให้มีสำนึกรู้ เป็นต้น ตามมุมมองของปรัชญาสางขยะนั้น "จิตตะ" คือ สิ่งที่เกิดขึ้นจากประกฤติ (prakrti) และประกฤติโดยตัวมันเองนั้นไม่สามารถที่จะเป็นผู้กระทำหรือมีสำนึกรู้ได้ แต่ปุรุษะ (purusa) จะนำให้ประกฤติรวมถึงจิตตะเกิดสำนึกรู้ได้ เราจึงควรเข้าใจ "จิตตะ" ว่าเป็นทุกสิ่งที่สำนึกรู้ปรากฏในตัวมนุษย์ มองในมุมนี้ "จิตตะ" จะทำงานจากระดับกายหยาบที่อวัยวะรับความรู้สึกทั้ง ๕ (ตา หู จมูก ลิ้น กาย) ไปจนถึงระดับจิตละเอียด รวมถึงระดับจิตไร้สำนึกและจิตใต้สำนึก และแม้แต่ระดับจิตเหนือสำนึก1 ด้วย ดังนั้น "จิต" (mind) จึงเป็นเพียงส่วนเล็กๆ ของ "จิตตะ" (citta) แต่โดยปกติแล้วคนทั่วไปมักจะคุ้นเคยกับคำว่า "จิต" โดยเฉพาะอย่างยิ่งจิตในส่วนที่ทำงานในภาวะที่มีสำนึกตื่นรู้ (conscious mind)

คำว่า "วฺฤตฺติ" (vrtti) มาจากรากศัพท์คำกริยาว่า "วฺฤตฺ" (vrt) ซึ่งหมายถึง ประพฤติ และ เคลื่อนไหวหรือดำเนินไปเป็นวงจรหรือวัฏจักร ประกอบกับคำปัจจัย "ติ" ซึ่งชี้ถึงกระบวนการหรือการเคลื่อนไหว ดังนั้น คำว่า "วฺฤตฺติ" ในที่นี้จึงหมายถึง รูปแบบการประพฤติหรือการดำเนินไปของจิตตะ อรรถกถาจารย์ที่แปลเป็นภาษาอังกฤษส่วนใหญ่จะใช้คำว่า "การเปลี่ยนแปลง" (modification) ส่วนการแปลที่ดีกว่านี้และสามารถชี้ถึงแนวโน้มทางพฤติกรรมของจิตตะด้วยก็จะใช้คำว่า "การเปลี่ยนแปลงของหน้าที่" (functional modification) วฺฤตฺติ หรือ พฤติกรรมนั้นเกิดขึ้นในจิตตะทีละอย่างเหมือนกับระลอกคลื่นวงกลมที่เกิดขึ้นในน้ำซึ่งถูกรบกวน และลักษณะที่เหมือนกับระลอกคลื่นที่รบกวนความสงบของน้ำนี้จึงได้รับการใช้ในความหมายเดียวกันกับคำว่า "วฺฤตฺติ" ในความจริงแล้วอรรถกถาจารย์บางท่านได้อุปมาที่กักเก็บน้ำว่าเป็น "จิตตะ" และน้ำที่ถูกรบกวนเป็นคลื่นก็คือ วฺฤตฺติ ซึ่งเกิดขึ้นในจิตตะ ดังนั้น จิตตะที่ได้รับการควบคุมหรือทำให้สงบแล้วจึงเปรียบได้กับน้ำในบึงหรือทะเลสาบที่ไม่ได้ถูกรบกวนแล้วนั่นเอง

ส่วนคำว่า "นิโรธะ" มีรากศัพท์มาจากคำกริยาว่า "รุธ" แปลว่า หยุดโดยขัดขวางหรือกีดกัน คำปัจจัย "นิ" เป็นรูปสั้นๆ ของคำว่า "นิห์เศษะ" หมายถึง ปราศจากสิ่งที่เหลือตกค้างอยู่ ดังนั้นคำว่า "นิโรธะ" จึงหมายถึง การหยุดอย่างไม่มีสิ่งใดหลงเหลืออยู่ เป็นการหยุดอย่างสมบูรณ์ คำว่า "รุธ" นั้นมีความหมายในเชิงของการกีดกันขัดขวางกระบวนการหรือการเคลื่อนไหว หน้าที่ (วฺฤตฺติ) ของจิตตะ ในระบบโยคะของปตัญชลีนั้นไม่ได้เกิดขึ้นโดยวิธีการใช้กำลังบีบบังคับใดๆ นิโรธะนี้จะเป็นไปตามธรรมชาติและเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติจากการฝึกทั้งหมดของอัษฏางคโยคะ (มรรคทั้ง ๘ ของโยคะ) ซึ่งเป็นระบบการฝึกปฏิบัติโยคะตามแนวทางของปตัญชลี ในความเป็นจริงแล้ว ไม่ว่าจะเป็นโยคะแบบใดก็ตามก็คือกระบวนการฝึกปฏิบัติที่สงบราบรื่นไม่ใช้ความรุนแรง ดังนั้น เราจึงควรเข้าใจคำว่านิโรธะว่าเป็นการหยุดกระบวนการกระตุ้นเร้าวฺฤตฺติในจิตตะ ซึ่งจะเข้าถึงได้ด้วยกระบวนการที่ราบรื่นและสงบสันติ

เอกสารอ้างอิง :

Karambelkar, P. V., (1986). PATANJALA YOGA SUTRAS Sanskrta Sutras with

Transliteration, Translation & Commentary. Lonavla : Kaivalyadhama.

1 ขยายความเรื่องสภาวะจิตโดยสังเขปกล่าวคือ จิต
แบ่งเป็น 4 สภาวะ ได้แก่
จิตสำนึก จิตใต้สำนึก จิตไร้สำนึก และจิตเหนือสำนึก

จิตสำนึก (Conscious) เป็นจิตปกติธรรมดาของคนเราในขณะตื่นอยู่ มีความรู้สึกนึกคิด และอารมณ์ตลอดเวลาไม่ว่างเว้น ไม่อยู่นิ่ง มีความเป็นอิสระในการคิด และเลือกคิดเฉพาะสิ่งที่ชอบและสนใจ จิตสำนึกอาศัยสมองเป็นเครื่องมือทำการแยกแยะเหตุผล แสดงออกถึงความสงสัย การคาดคะเน การคิดคำนวณ หรือการยอมรับเรื่องราวต่าง ๆ สิ่งที่ไม่สนใจก็ตัดออก แต่ถ้ามีสิ่งสนใจ จะส่งผ่านไปยังจิตใต้สำนึกให้จดจำเก็บเอาไว้

จิตใต้สำนึก (Subconscious) อยู่ลึกกว่าจิตสำนึก แต่อาจจะแสดงออกมาชัดเจนในบางครั้ง เป็นจิตที่ว่างจากอารมณ์และความคิด ขณะที่คนเรากำลังเข้าสู่ภวังค์ เช่น กำลังเคลิ้มหรือครึ่งหลับครึ่งตื่น หรือเข้าสู่สมาธิ จิตใต้สำนึกมีอำนาจสร้างสรรค์ ส่วนจิตสำนึกไม่มีอำนาจการสร้างสรรค์ มีหน้าที่เพียงส่งความคิดเรื่องราวต่าง ๆ ที่ประทับใจ ผ่านไปให้จิตใต้สำนึกเท่านั้น หากจิตสำนึกมิได้พิจารณาเหตุผลหาข้อมูลที่ถูกต้อง จิตใต้สำนึกก็ได้รับข้อมูลไม่ถูกต้อง อำนาจการสร้างสรรค์ก็พลอยผิดพลาดไปด้วย อย่างไรก็ดี จิตใต้สำนึกมีอิสระ ไม่ต้องอาศัยสมองเป็นเครื่องมือทำให้เกิดช่องว่างขึ้นระหว่างจิตและสมอง อาศัยช่องว่างนี้เป็นพื้นฐานทำให้เราสามารถกำหนดสติให้จิตตั้งมั่นจดจ่อที่อารมณ์ใด อารมณ์หนึ่งเป็นจุดเดียว คือการทำสมาธิซึ่งสามารถเป็นปัจจัยนำไปสู่การค้นพบ ตลอดจนการสร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ และการแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้อย่างน่าทึ่ง

จิตไร้สำนึก (Unconscious) อยู่ลึกกว่าจิตใต้สำนึก เป็นจิตขณะนอนหลับสนิท ไม่รู้สึกตัว สมองพักผ่อน จิตมีสภาพเป็นภวังค์ เรียกภวังคจิต ไม่รู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นจิตที่บริสุทธิ์ชั่วขณะ ไม่รู้สึกชอบ ไม่รู้สึกชัง ไม่ริษยา ไม่ตระหนี่ ไม่สำคัญตน และไม่เมตตากรุณา อย่างไรก็ตาม ข้อมูลเกี่ยวกับการกระทำและความรู้สึกนึกคิดของเราที่ผ่านมา ส่วนใหญ่จะถูกเก็บสะสมไว้ในจิตไร้สำนึก เมื่อใดที่มีเหตุปัจจัยเหมาะสม ข้อมูลจากจิตไร้สำนึกจะถูกนำมาใช้

จิตเหนือสำนึก (Supra-conscious) คือสภาพจิตใต้สำนึกที่มีสติควบคุมสม่ำเสมอจนเป็นมหาสติ พบได้ในการนั่งสมาธิ

(ที่มา http://wiki.most.go.th/index.php/
 


    
มูลนิธิหมอชาวบ้าน

2220/101 ซอยรามคำแหง 36/1 ถนนรามคำแหง แขวงหัวหมาก เขต บางกะปิ กรุงเทพฯ 10240
โทรศัพท์ 02-732-2016 - 17, โทรสาร 02-732-2811 มือถือ 081-401-7744
E-mail: [email protected] ; www.thaiyogainstitute.com

หมายเลขบันทึก: 428720เขียนเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2011 17:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:41 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท