Teesanat
ทัศนีย์ ก่อเกียรติไพศาล

การหมิ่นประมาททางระบบอินเตอร์เน็ต


ปัจจุบันการสื่อสารมีความสะดวกสบายและเข้าถึงได้ง่าย เพียงปลายนิ้วสัมผัส ไม่ว่าจะเป็นการค้นหาข้อมูล ข่าวสาร การติดต่อสื่อสารระหว่างบุคคลก็เป็นเรื่องง่ายมากขึ้น คงไม่มีใครปฏิเสธว่าคุณไม่ได้ใช้อินเทอร์เน็ตไม่ว่าจะเป็นการหาข้อมูล Chat MSN , Facebook หรือ Twitter ที่กำลังเป็นที่นิยมอยู่ในขณะนี้

บทความเป็นนี้ได้เขียนเรื่องราวเกี่ยวกับการหมิ่นประมาท แต่ได้ลงลึกในส่วนการหมิ่นประมาททางอินเตอร์เน็ต  เรามารู้ความหมายกันก่อน การหมิ่นประมาทนั้น มีความผิดทางกฎหมายทั้งทางอาญาและทางแพ่ง โดยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 423 บัญญัติว่า ผู้ใดกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริงเป็นที่เสีย หายแก่ชื่อเสียงหรือเกียรติคุณของบุคคลอื่นก็ดี หรือเป็นที่เสียหายแก่ทางทำมาหาได้หรือทางเจริญของเขาโดยประการอื่นก็ดี ท่านว่าผู้นั้นจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ความเสียหายอย่างใด ๆ อันเกิดแก่การนั้นแม้ทั้งเมื่อ ตนมิได้รู้ว่าข้อความนั้นไม่จริง แต่หากควรจะรู้ได้  และส่วนความผิดตามกฎหมายอาญา โดยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 ซึ่งลักษณะการกระทำคือ ผู้กระทำความผิดได้ใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง การพิจารณาข้อความที่เป็นการหมิ่นประมาทในทางอาญานั้น อาจเป็นความจริง หรือเท็จก็ได้ดังที่เคยมีคำกล่าวว่า "ยิ่งจริงยิ่งผิด" เพราะกฎหมาย มุ่งพิจารณาแต่เพียงว่าถ้ามีการกล่าวถึงบุคคลอื่น ในด้านที่ไม่ดีแล้ว ย่อมจะทำให้สังคมไม่สงบสุข ไม่ว่าข้อความนั้นจะเป็นจริงหรือไม่

ข้อสังเกตเกี่ยวกับการรับผิดหาก ข้อความที่กล่าวเป็นเรื่องเท็จ ผู้กระทำจะมีความผิดทางอาญา และต้องชดใช้ค่าเสียหายทางแพ่ง แต่ถ้าข้อความที่กล่าวเป็นจริง ผู้กระทำจะมีความผิดทางอาญา แต่ไม่ต้องชดใช้ค่าเสียหายทางแพ่ง

 ความผิดนั้นจะถือว่าสำเร็จในความผิดฐานหมิ่นประมาททางอินเตอร์เน็ตนั้น จะต้องพิจารณาถ้อยคำที่ว่า "โดยประการที่ทำให้ผู้นั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมื่น หรือถูกเกลียดชัง" ที่บัญญัติไว้ในมาตรา 326 นั้นไม่ใช่ผลของการกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทที่ต้องถือว่าเป็นความผิดสำเร็จแล้ว แต่จะต้องพิจารณาว่าผิดสำเร็จ หรือไม่จากทั่วไป ว่าเมื่อได้รับรู้ถึงข้อความนั้นเห็นว่าน่าจะเกิดความเสียหายแต่ผู้อื่นหรือไม่ ถ้าเห็นว่าน่าจะเสียหาย ผู้กระทำก็จะมีความผิดแล้ว แต่ถ้าบุคคลทั่วไปเห็นว่าไม่น่าจะเสียหายแต่ผู้อื่น ผู้กระทำก็ไม่มีความผิด และต้องได้ข้อเท็จจริงว่า บุคคลที่สามรับทราบข้อความนั้นแล้ว จึงจะถือว่าเป็นความผิดสำเร็จ (คือมีความผิดแล้วนั่นเอง)

กรณีเมื่อได้รับ E-mail ที่มีข้อความหมิ่นประมาท และได้ forward ต่อไป จะมีความผิดฐานหมิ่นประมาทหรือไม่ ประเด็นนี้เกิดขึ้นได้บ่อยมากในปัจจุบัน เพราะสามารถทำการส่งข้อความหรือภาพ ที่เราได้รับมาไปให้เพื่อนหรือบุคคลอื่นได้อีก เมื่อนำคำพิพากษาศาลฎีกาที 2822/2515 ซึ่งมีข้อเท็จจริงคือ จำเลยแสดงข้อความในจดหมายที่ได้รับจากผู้อื่น โดยรู้อยู่ว่าจดหมายนั่นมีข้อความหมิ่นประมาท ถือได้ว่าจำเลยมีความผิดฐานหมิ่นประมาท  เหตุผลที่ว่าการ Forward-mail ไปให้ผู้อื่นถือเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท เพราะผู้กระทำนั้นเมื่อได้รับทราบข้อความแล้วได้ทำการเผยแพร่ต่อไป ถือว่าเป็นการใส่ความผู้เสียหายต่อไปซึ่งเป็นการกระจายความเสียหายออกไป และถ้าหากการ Forward-mail ต่อไปให้บุคคลอื่นอีกหลายคน (บุคคลที่สาม) จะถือว่าเป็นการหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณาที่ต้องรับโทษหนักขึ้น ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 328 นั้น จะต้องพิจารณาจากการกระทำเป็นหลัก โดยไม่คำนึงถึงจำนวนบุคคลผู้รับข้อความ

ดังนั้นการกระทำที่ดีสุด คือไม่เผยแพร่ข้อมูลผู้อื่นในทางเสียหาย (ไม่ว่าจะเป็นความจริงหรือไม่ก็ตาม)  และเมื่อได้รับ E-mail ที่มีข้อความหมิ่นประมาทผู้อื่น สิ่งที่ควรกระทำคือไม่ส่งต่อ E-mail นั้น และลบมันทิ้งไป จะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด เพราะถ้าเรา Forward ต่อไป คุณอาจเป็นผู้ที่กระทำผิดกฎหมายหมิ่นประมาทได้โดยไม่รู้ตัว 

 

 

หมายเลขบันทึก: 428398เขียนเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2011 16:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 10:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอบคุณ Mr_Jod ที่แวะเข้ามาเยี่ยมชมบล็อคค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท