จากวารสาร"อยู่ในบุญ" ถึงหนังสือ "กรณีธรรมกาย"


วันหนึ่งไปนั่งรอรับลูกสาวในร้านกาแฟสด เห็นวารสาร อยู่ในบุญ ของวัดพระธรรมกายวางอยู่ จึงหยิบมาอ่าน อ่านแล้วเห็นว่าการอธิบายหลักธรรมในวารสารแปลกไปจากที่เคยอ่านพบมาไม่ว่าจะจากหนังสือที่พระคุณเจ้าท่านใดรจนา หรือในพระไตรปิฎก

ขอยกมาเล่าต่อนะคะ ว่าข้อความที่อ่านพบเป็นอย่างไร

สัมมาทิฏฐิ = เข้าใจถูก คือมีความเข้าใจในหลักธรรม เช่น กฎแห่งกรรม

สัมมาสังกัปปะ = มีความคิดดี คิดจะออกจากกาม ไม่คิดพยาบาทหรือเบียดเบียน

สัมมาวาจา = เจรจาชอบ เว้นวจีทุจริต ๔ ได้แก่พูดปด ส่อเสียด คำหยาบ เพ้อเจ้อ

สัมมากัมมันตะ = มีการกระทำที่ถูกต้อง เว้นจากการฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม

สัมมาวายามะ = พยายามชอบ เพียรที่จะแก้นิสัยตน ละชั่ว ทำดี ตามรักษาความดีที่ได้ทำ

สัมมาสติ = มีสติดี ไม่ประมาทเผลอไผล เก็บใจมาอยู่กับตัวได้

สัมมาสมาธิ = ใจตั้งมั่นในตำแหน่งที่ถูกต้อง ปักดิ่งลงไปในสติ หากสติสมบูรณ์ สมาธิจึงจะเกิดขึ้น

วัดพระธรรมกาย วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๖๙ ประจำเดือน กรกฎาคม ๒๕๕๑

ที่ว่าแปลกใจเพราะเท่าที่เรียนรู้มา ไม่พบการอธิบายสัมมาสมาธิในลักษณะนี้ พบแต่ว่าสัมมาสมาธิคือสมาธิที่เป็นบาทฐานของปัญญา หมายเอาฌาน ๔มีสติบริสุทธิ์อยู่ด้วยอุเบกขา

คุณแปลกใจเหมือนกันไหมคะ

แต่ถ้าได้อ่านบทความของพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) เกี่ยวกับเรื่องนี้แล้ว อาจจะไม่แปลกใจก็ได้ค่ะ

เพราะอะไร .........................

ขอยกข้อเขียนของท่านมาแสดงไว้ในที่นี้

ตัวอย่างขณะนี้ ก็คือ กรณีสำนักธรรมกาย ซึ่งต้องขออภัยอีกที่จะพูดว่า ได้เผยแพร่คำสอนแปลกปลอมด้วยวิธีการทุกรูปแบบ เช่น

-ยกเอาคำบาลีในพระไตรปิฎก และในอรรถกถาเป็นต้นขึ้นมาใช้ แต่ใส่ความหมายตามลัทธิตนเองเข้าไปแทน

-อ้างพระไตรปิฎก และอรรถกถาเป็นต้น อย่างสับสนปนเปกับลัทธิของตนบ้าง แปลยักเยื้องให้เข้ากับหรือสนับสนุนลัทธิของตนบ้าง

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) กรณีธรรมกาย หน้า ๑๖๑

หรือ

วัดพระธรรมกาย เผยแพร่คำสอนคลาดเคลื่อนไปจากหลักพระพุทธศาสนาหลายประการ เช่น

๑สอนว่านิพพานเป็นอัตตา

๒สอนเรื่องธรรมกายอย่างเป็นภาพนิมิต และให้มีธรรมกายที่เป็นตัวตน เป็นอัตตาของพระพุทธเจ้ามากมายหลายพระองค์ ไปรวมกันอยู่ในอายตนนิพพาน

๓สอนเรื่องอายตนนิพพาน ที่ปรุงถ้อยคำขึ้นมาเองใหม่ ให้เป็นดินแดนที่จะเข้าสมาธิไปเฝ้าพระพุทธเจ้าได้ ถึงกับมีพิธีถวายข้าวพระ ที่จะนำข้าวบูชาไปถวายแด่พระพุทธเจ้าในอายตนนิพพานนั้น

คำสอนเหล่านี้ ทางสำนักพระธรรมกายสอนขึ้นใหม่ ผิดเพี้ยนออกไปจากธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า...................

................ นอกจากนั้น ยังนำคำว่า บุญ มาใช้ในลักษณะที่ชักจูงประชาชนให้วนเวียนอยู่กับการบริจาคทรัพย์ เพื่อวัตถุประสงค์ต่างๆชนิดที่ส่งเสริมความยึดติดถือมั่นในตัวตนและในตัวบุคคล อันอาจกลายเป็นแนวโน้มที่บั่นรอนสังคมไทยในระยะยาว พร้อมทั้งทำพระธรรมวินัยให้ลางเลือนไปด้วย

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) กรณีธรรมกาย หน้า ๑๑ ๑๒

เชิญพิจารณาด้วยตัวเองนะคะ หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สามารถขอรับหนังสือ กรณีธรรมกาย มาอ่านได้ฟรีที่วัดญาณเวศกวัน ถนนพุทธมณฑลสาย ๔ ค่ะ (เล่มล่าสุด พิมพ์ครั้งที่ ๒๕ เมื่อมกราคม ๒๕๕๓)

หมายเลขบันทึก: 428301เขียนเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2011 06:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 ตุลาคม 2013 21:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)
  • สวัสดีครับ
  • น่าแปลกนะครับ ที่มีบางคนศรัทธาขนาดเสียเงินทองในการทำบุญมากมาย เพื่อได้บุญมากๆ
  • แสงสว่างของปัญญาที่แท้ จะแก้ปัญหาอวิชชามากมาย คนไทยควรจะต้องได้รับการสร้างปัญญาให้เกิดขึ้นมากกว่านี้ครับ

บันทึกนี้โดนใจที่สุดเลยค่ะ

เพราะสังเกตและติดตามข่าวของสำนักนี้มาตลอด  ยังนึกแปลกใจอยู่เลยว่าผู้คนที่

หลั่งไหลไปร่วมทำบุญนั้นคิดอะไรอยู่  ส่วนใหญ่จะไปเพราะอยากได้รับผลตอบแทน

จากการทำบุญทั้งนั้น เช่น ทำมากได้บุญมาก  ซึ่งผิดจากคำสอนที่เคยได้รับมา

โดยสิ้นเชิง 

คนเราทำบุญต้องไม่หวังสิ่งใด หวังเพื่อให้เราได้ระลึกถึงตัวของเราและมีความสุขใจ

กับการทำเท่านั้นไม่ใช่หรือ.....

จากข้อความในหนังสือ กรณีธรรมกาย ที่ยกอ้าง

“ตัวอย่างขณะนี้ ก็คือ กรณีสำนักธรรมกาย ซึ่งต้องขออภัยอีกที่จะพูดว่า ได้เผยแพร่คำสอนแปลกปลอมด้วยวิธีการทุกรูปแบบ เช่น

-ยกเอาคำบาลีในพระไตรปิฎก และในอรรถกถาเป็นต้นขึ้นมาใช้ แต่ใส่ความหมายตามลัทธิตนเองเข้าไปแทน

-อ้างพระไตรปิฎก และอรรถกถาเป็นต้น อย่างสับสนปนเปกับลัทธิของตนบ้าง แปลยักเยื้องให้เข้ากับหรือสนับสนุนลัทธิของตนบ้าง”

จะเห็นเลยว่ากรณีนี้ไม่เกิดขึ้นเฉพาะธรรมกายเท่านั้น แต่เกิดขึ้นกับนักวิชาการทั้งหลายแหล่ที่ชอบอ่านหนังสือคนอื่นแล้วแปลงให้เป็นของตัวเอง เห็นอยู่มากมาย

สำหรับธรรมกายนั้นผมรับรู้ตั้งแต่สมัยเป็นสามเณรตัวน้อย ๆ แล้วครับ อาจารย์ที่โรงเรียนให้เข้ากิจกรรม วันที่ 1-5 ธันวาคม ที่จังหวัดน่าน ลองคิดดูนะครับว่าสนามหญ้าโล่ง ๆ อากาศหนาวขนาดไหนที่พวกเราไปนอนเพื่อปฏิบัติธรรมเป็นสิ่งที่ฝึกเรื่องเวทนาได้เป็นอย่างดี แต่ที่ได้รับในตอนนั้นไม่รู้หรอกว่าเวทนาเป็นอย่างไร แต่สิ่งที่ได้รับคือ ห้ามใช้ผ้าคลุมไหล่ ให้ห่มครองผ้าเปิดไหล่เพื่อความสวยงามขณะถ่ายรูปและวีดีโอ แต่ขอโทษเถอะเจ้าหน้าที่และทีมงานใส่หมวกไหมพรมเสื้อแขนยาว พระทีมงานบางรูปที่ซ่อนอยู่หลังฉากใส่หมวกไหมพรมสีเหลือง ผ้าขนหนูหนา ๆ คลุมไหล่กันถ้วนหน้า...

สำหรับวัดญานเวศนั้นเป็นแหล่งเรียนรู้ธรรมะของผมเลยครับ และอยากส่งเสริมให้พุทธศาสนิกชนสนใจอ่านหนังสือของพระเดชพระคุณพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) เยอะ ๆ ท่านคือปราชญ์แห่งยุคนี้รูปหนึ่งครับ และเริ่งส่งเสริมพระเพื่อมาทดแทนในวันข้างหน้าด้วยนะครับ ขณะนี้ท่านอายุมากโข...

สำหรับผมนะเจอมากับตัวเอง ผมมีแฟนคบกันมา4ปีกว่าๆ

เมื่อต้นปีแฟนผมบอกให้พาพ่อแม่ผมไปคุยเรื่องแต่งาน ก้ไปคุยกัน ตกลงอันเป็นเรียบร้อย

หลังจากที่ผมกลับมา3-4วันแฟนโทรมาบอกไม่อยากแต่งซะแล้ว เพราะอะไรหรือคับแฟนผมบอกว่าตอนนี้กำลังเจอสิ่งที่อยากทำอยู่ นั้นคือเขาไปเข้าวัดธรรมกายมาคับ ผมก็พยายามให้เขาคิดซักนิดนะแต่เขากะพูดว่า ชอบทางนี้ซะแล้วถึงขนาดเป็นคนไปหาคนบวชเข้าธรรมกายเลย และก็พยายามชวนผมไปวัดธรรมกายด้วยกัน โดยใช้คำพูดออกทางชี้นำซะมากมาย ทำบุณเยอะๆจะด้ขึ้นสวรรค์

ผมอึ้งกับคำพูดเหล่านี้ ชี้นำให้คนมาบวช กับคนๆนั้น กับคนมีใจที่จะมาบวชเองด้วยใจบริสุทธ์ อันไหนมันได้บุญหรืออันไหนมันบาปคับ

ขอบคุณทุกท่านที่แวะมานะคะ

.......................................

คุณ rewshin คะ

ได้เขียนแสดงความเห็นต่อเรื่องนี้ไว้ในบันทึกนี้ค่ะ http://gotoknow.org/blog/nadrda/437598

 

อ่านหนังสือพระอาจารย์ พระพรหมคุณาภรณ์(ป.อ.ปยุตโต) มาพอสมควร มีศรัทธาอยากได้พบและฟังคำสอน เมื่อทราบว่าพระคุณเจ้ามีปัญหาเรื่องสุขภาพ จึงได้แต่ตามอ่าน ศึกษาและภาวนา ระลึกถึงความเพียรและเมตตาของพระอาจารย์

พระอาจารย์เป็นปราชญ์ที่ไม่หยุดทำงานเลยค่ะ

ที่วัดญาณเวศกวัน เมื่อไปครั้งไหนจะพบผลงานใหม่ของพระอาจารย์ หรือเก่าชำระปรับปรุงเสมอ ขอชี้ชวนให้ไปเยี่ยมเยือนวัดญาณเวศกวันสักครั้งในชีวิตนะคะ

 

กรณีธรรมกาย ขอปรบมือให้คุณณัฐรดา ที่นำมาเขียนบันทึกค่ะ

ขอบคุณค่ะ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท