โคเลสเตอรอล(ไขมันในเลือด)อย่างเดียวไม่พอ


สำนักข่าว BBC รายงานเรื่อง 'cholesterol 'does not predict stroke in women' = "โคเลสเตอรอล "ไม่ได้พยากรณ์สโตรค (stroke = สโตรค / กลุ่มโรคหลอดเลือดสมองแตก-ตีบตัน" ในผู้หญิง", ผู้เขียนขอนำมาเล่าสู่กันฟังครับ
.
การศึกษาที่ผ่านมาพบว่า ค่าโคเลสเตอรอลหรือไขมันในเลือดบอกความเสี่ยงสโตรคในผู้ชายได้ดีเมื่อมีค่าสูงกว่าเฉลี่ยเกือบ 2 เท่า 
.
การศึกษาใหม่ (ตีพิมพ์ใน Annals of Neurology) แนะนำให้ตรวจหาไขมันในเลือดชนิดไตรกลีเซอไรด์โดยไม่อดอาหารก่อนตรวจ (non-fasting triglycerides) เพื่อตรวจหาความเสี่ยง
.
คนอังกฤษ (UK) ซึ่งมีประชากรใกล้เคียงกับไทยเป็นสโตรคใหม่ 150,000 ราย/ปี, ส่วนใหญ่เป็นชนิดหลอดเลือดสมองตีบตัน ทำให้สมองขาดเลือด (ischemic strokes), ส่วนน้อยเป็นชนิดหลอดเลือดสมองแตก (เลือดออกในสมอง)
.
การศึกษาใหม่ทำจากข้อมูลในกลุ่มตัวอย่างชาวเมืองโคเปนเฮเกน เดนมาร์ก 13,951 คน ติดตามไป 33 ปี
.
โคเลสเตอรอลหรือไขมันในเลือดแบ่งเป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่
.
(1). โคเลสเตอรอลฝ่ายร้าย (LDL) > ทิ้งขยะคราบไขไว้ตามผนังหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดตีบตัน
.
(2). โคเลสเตอรอลฝ่ายดี (HDL) > เก็บขยะคราบไขตามผนังหลอดเลือดกลับตับ ขับออกทางน้ำดี
.
ถ้ากินเส้นใย (ไฟเบอร์) ชนิดละลายน้ำ, ร่างกายจะขับโคเลสเตอรอลหรือคราบไขส่วนหนึ่งออกทางอุจจาระ, ถ้าไม่กินเส้นใยหรือไฟเบอร์, โคเลสเตอรอลนี้จะถูกดูดกลับไปหมุนเวียนใหม่ (recycled)
.
(3). ผู้ช่วยฝ่ายร้าย หรือไตรกลีเซอไรด์ (triglycerides / TG) > ทำให้โคเลสเตอรอลฝ่ายร้าย (LDL) มีขนาดเล็กลง และซึมผ่านผนังหลอดเลือดออกไปจับเป็นคราบไขได้มากขึ้น (ตำแหน่งที่จับเป็นคราบไขมากจริงๆ อยู่ด้านนอกผนังหลอดเลือดชั้นใน)
.
ธรรมดาของโลกเราก็เป็นแบบนี้ คือ ฝ่ายดีโดดเดี่ยว, ฝ่ายร้ายมักจะมีผู้ช่วย เพราะฉะนั้นถ้าใครทำดีแล้วรู้สึกโดดเดี่ยวก็ไม่ต้องตกใจ เพราะในเลือดของเราก็มีปรากฏการณ์แบบนี้เช่นกัน
.
อ.ดร.ปีเตอร์ โคลแมน รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย สมาคมสโตรคกล่าวว่า ที่อังกฤษ (UK) เน้นตรวจโคเลสเตอรอลรวมกับฝ่ายร้าย (LDL), ไม่ค่อยได้ตรวจผู้ช่วยฝ่ายร้ายหรือไตรกลีเซอไรด์ (TG)
.
สโตรคหรือโรคหลอดเลือดสมองในซีกโลกตะวันออก (เอเชีย) มีลักษณะต่างจากโลกตะวันตก (ฝรั่ง) คือ ความดันเลือดสูงเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญ ซึ่งถ้ามีการตรวจวัดความดันฯ และรักษาให้ต่อเนื่องจะลดความเสี่ยงอัมพฤกษ์-อัมพาตได้มาก
.
โคเลสเตอรอลในร่างกายได้มาจากอาหารประมาณ 20%, ได้จากการสร้างใหม่ภายในร่างกาย 80% (สร้างที่ตับ)
.
การป้องกันโคเลสเตอรอลชนิดร้าย (LDL) ในสูงทำได้ โดยการลดไขมันอิ่มตัว เช่น อาหารทอด, ไขมันปาล์ม กะทิ น้ำมันมะพร้าว ไขมันสัตว์ ฯลฯ และลดไขมันทรานส์ หรือไขมันแปรรูป เช่น ขนมกรุบกรอบ เค้ก คุกกี้ เนยเทียม เนยขาว ครีมเทียม ฯลฯ
.
การลดไขมันไตรกลีเซอไรด์ (TG) ทำได้ โดยการลดอาหารทอด, ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ (เหล้า เบียร์ ไวน์ ฯลฯ) หนัก, ไม่กิน "ข้าว-แป้ง-น้ำตาล" มากเกิน, และไม่นั่งคราวละนานๆ โดยเฉพาะถ้าดู TV หรือใช้อินเตอร์เน็ต, ควรลุกเดินไปมาทุกๆ 1-2 ชั่วโมง
.
การออกแรง-ออกกำลังให้หนักขึ้น นานขึ้น หรือบ่อยขึ้น เช่น เดินเช้า 30 นาที, ตอนเย็นเดินเพิ่มอีก 10 นาที ฯลฯ มีส่วนช่วยลดระดับไขมันไตรกลีเซอไรด์ได้
.
ถึงตรงนี้... ขอให้ท่านผู้อ่านมีสุขภาพดีไปนานๆ ครับ
.
 
 > [ Twitter ]        
  • Thank BBC.
  • นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์ รพ.ห้างฉัตร ลำปาง. 21 กุมภาพันธ์ 2554.
  • ข้อมูล ทั้งหมดเป็นไปเพื่อ การส่งเสริมสุขภาพ ไม่ใช่วินิจฉัยหรือรักษาโรค ท่านที่มีโรคประจำตัวหรือความเสี่ยงต่อโรคสูงจำเป็นต้องปรึกษาหมอที่ดูแล ท่านก่อนนำข้อมูลไปใช้.
หมายเลขบันทึก: 428294เขียนเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2011 04:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท