ความสุขใจของครู


 

จากประสบการณ์ตอนสอน ชั้น ๓ ทำให้คุณครูแคท - คัทลียา รัตนวงศ์ พบว่า เด็กจะมีอาการเหมือนครูผู้สอนตรงที่ถ้าเราเข้าใจเรื่องใดแบบไม่ลึกซึ้ง เด็กก็จะเรียนรู้ได้แบบผิวเผิน จนกระทั่งตัวเราเข้าใจถ่องแท้เด็กจึงจะเข้าใจเรื่องนั้นได้กระจ่าง

 

เรื่องนี้เล่าต่อไปนี้ เป็นเรื่องที่ทำให้ครูแคท “รู้สึกตัวลอย ๆ เมื่อได้ฟัง และรู้สึกเขิน ๆ เมื่อจะเริ่มเขียน”

 

“วันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์  เดือนแห่งความรัก เห็นครูญาวุ่นอยู่กับการเตรียมงาน Math day ในวันรุ่งขึ้น จึงอาสาไปยืนเวรที่หน้าประตูแทน แม้ว่าอากาศตอนนั้นจะร้อน แต่ก็มีเรื่องให้ต้องปลื้มใจจนลืมความร้อนไป นั่นคือ มีผู้ปกครองท่านหนึ่งมารับลูกสาว ครูแคทจึงกล่าวทักทาย คุณแม่ยิ้มแล้วก็หยุดคุยด้วย

 

คุณแม่บอกว่า “คิดถึง อยากเจอครูแคทนานแล้ว”ครูแคทก็เลยถามว่า “คุณแม่มีอะไรให้หนูช่วยหรือเปล่าคะ” แอบคิดในใจว่า “ตายล่ะ ... เด็กเรียนไม่รู้เรื่องหรือเปล่านะ” แล้วคุณแม่ก็เริ่มเล่าด้วยสีหน้าที่ทำให้ครูแคทเริ่มคลายกังวล “คุณแม่มีความสุขมากเลยค่ะครูแคท  ลูกสาวคุณแม่ชอบเรียนวิชาครูแคทมากเลย ไม่ว่าจะเรียนอะไรไป  น้องจะไปเล่าให้คุณแม่ฟังตลอด  บางครั้งอยู่ๆ ก็พูดถึงเรื่องบางเรื่องขึ้นมาที่คุณแม่มั่นใจว่าคุณแม่ไม่ได้สอน  พอคุณแม่ถามว่ารู้ได้ยังไง น้องก็ตอบว่า ครูแคทบอกค่ะ 

 

วันหนึ่งน้องเฟลอร์มาบอกคุณแม่ว่า จะเป็นอะไรไหมถ้าน้องเฟลอร์ไม่เรียนแพทย์แล้ว เพราะน้องเฟลอร์อยากเป็นนักวิทยาศาสตร์... แล้วอย่างไหนเรียนยากกว่ากันคะ คุณแม่ตอบว่า ก็ยากเหมือนกันแหละค่ะ  แต่หมอจะต้องละเอียดรอบคอบมากกว่า เพราะมันคือชีวิตคน”  ฟังไปก็อดยิ้มไม่ได้ 

 

แล้วคุณแม่ก็เล่าต่อว่า “น้องเฟลอร์มาถามด้วยนะคะ ว่าคัทลียาแปลว่าอะไร  คุณแม่ก็อธิบายพร้อมกับหารูปมาให้ดู  แล้วน้องก็เอาไปเขียนเรียงความในวิชาภาษาไทยได้คะแนนเต็มด้วยนะคะ” ยิ่งฟังก็ยิ่งรู้สึกเขิน แล้วก็บอกคุณแม่ไปว่า “อย่างนี้หนูค่อยสบายใจหน่อย  เพราะกลัวว่าเด็กจะเรียนไม่เข้าใจแล้วเลยจะทำให้เขาไม่ชอบวิทยาศาสตร์”

 

คุณแม่ตอบมาว่า “ครูแคทสบายใจได้เลยค่ะ   เด็กๆ ชอบเรียนกับครูแคทมาก นี่คุณแม่คุยกับหลายครอบครัวแล้ว  นี่ๆ ชี้ไปที่คุณแม่ท่านหนึ่งที่เดินผ่านไปบอกว่า ลูกสาวเค้าก็ชอบเรียนวิทยาศาสตร์เหมือนกันค่ะ” 

 

หลังจากที่ลอย ๆ อยู่สองสามชั่วโมง  กลับถึงห้องก็เลยไปนั่งทบทวนว่า เราทำอะไรลงไปบ้าง...ลองพยายามหาปัจจัยความสำเร็จในครั้งนี้  เพราะถ้าจะเอาแค่ความสุขที่เกิดจากคำชมครั้งนี้ก็น่าเสียดาย 

 

เริ่มจากเมื่อรู้ว่าต้องสอนวิชามานุษกับโลกวิชาว่าด้วยความสัมพันธ์ของมนุษกับโลกตามชื่อ ซึ่งบูรณาการวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์เข้าไว้ด้วยกัน   ตอนที่ตัดสินใจรับวิชานี้ ก็มองว่า เราที่เรียนปรัชญามาน่าจะสอนได้ไม่ยากเพราะความสัมพันธ์ของมนุษย์กับโลกมันออกจะเอียงมาทางศาสตร์ที่เราถนัด  แต่พอจะเริ่มสอนจริง ๆ เนื้อหาวิทยาศาสตร์ที่จำได้แม่นยำเพราะเคยเรียนและท่องมาแล้ว  กลับไม่ได้ช่วยทำให้มั่นใจเลยว่าจะทำให้เด็กชอบวิชานี้ และ รักการเรียนรู้แบบวิทยาศาสตร์ เพราะมันช่างเป็นศาสตร์ที่แห้งแล้งและไร้ชีวิตชีวาจริง ๆ

 

แต่หน้าที่ค้ำคอ จึงถอยไม่ได้แล้ว... เรื่องที่ต้องเตรียมตัวจึงมีมากกว่าคนอื่น ไม่ว่าจะเป็นการหาข้อมูล  การอ่าน  หรือการถามครูวิทยาศาสตร์ที่จบสายนั้นมาโดยตรง  เราก็ถามเพื่อให้เราได้กระจ่าง  จนทำให้ครูหลายท่านก็เริ่มเบื่อ ราวกับว่าเรื่องแค่นี้ไม่เข้าใจได้ยังไง  เพราะเรามักจะถามทวนไปถึงเหตุของเรื่องนั้นเสมอ  จนบางครั้งก็รู้สึกว่าคำถามของเราเป็นคำถามเด็กๆ ไปไหม แต่ก็คิดว่าเด็กอาจถามแบบนี้นะ  ถ้ายังไม่เข้าใจจากที่ฟังคำอธิบายก็หาอ่านเพิ่ม เอาให้ตัวเองหมดคำถามก่อนเป็นสำคัญ

 

 

เมื่อคลายใจในเนื้อหาก็เริ่มที่จะหากระบวนการเพื่อจะทำให้เด็กเข้าใจในเรื่องนั้นๆ โชคดีที่ไม่ต้องทำคนเดียว เพราะ มีหัวหน้าสายวิชาคือครูโอ่ง – นฤนาท คอยช่วยคิดกันทุกสัปดาห์ รู้สึกว่าการพูดคุยเรื่องการออกแบบกระบวนการเรียนรู้ของเราช่างลงตัว แม้ว่าจะเข้าใจกันยากนิดหน่อยเพราะเราใช้สมองกันคนละซีก  แต่เมื่อแผนการเรียนรู้ออกมา ก็ทำให้เราภูมิใจในผลงานที่เป็นส่วนผสมที่ลงตัวของศาสตร์ทั้งวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์ 

 

เมื่อถึงเวลาที่จะเข้าห้องก็มักรู้สึกตื่นเต้นนิดๆ ทุกครั้ง  พร้อมกับรู้สึกว่าตอนที่ทำกิจกรรมอยู่กับเด็กๆ เวลาจะหมดไปเร็วมากๆ  อีกความรู้สึกหนึ่งที่เกิดขึ้นในใจคือ เมื่อไหร่เราจะได้เจอกันอีก (จนบางครั้งรู้สึกเหมือนกับว่ากำลังมีความรักอีกครั้ง !)  เมื่อเช้ายืนเวรอยู่ใต้ตึก ปู้อู๋ ป.๒/๑ เข้ามาสวัสดีและก็เดินจากไปพร้อมกับเสียงรำพึงเบาๆ ว่า อยากให้วันนี้มีวิชาครูแคทจัง

 

เฟลอร์ก็เป็นอีกคนหนึ่งที่รักที่จะเรียนวิชานี้ทั้งๆ ที่เด็กหญิงเฟลอร์ไม่เคยเข้ามาคลุกคลี หรือหยอกล้อเล่นกับครูแคทเหมือนเด็กผู้หญิงคนอื่นๆ ทำให้ครูแคทนึกไม่ถึงเลยว่า การเรียนรู้ที่เกิดขึ้นในห้องจะทำให้เฟลอร์เกิดความรักในวิชานี้ได้

 

การที่เฟลอร์ได้เรียนรู้ผ่านกระบวนการแบบ Active Learning ที่ครูจัดให้ในทุกครั้ง น่าจะเป็นสาเหตุสำคัญที่นำพาให้เฟลอร์ได้รับรู้ถึงรสชาติของความรู้ความเข้าใจที่ตัวเองเป็นคนสร้างขึ้น และรสชาติของความรู้ที่เป็นของตัวเองนี่เอง ที่พาให้เฟลอร์ได้เข้าไปสัมผัสกับการเรียนรู้ที่แท้จริง

 

การเปลี่ยนเจตจำนงจากที่เคยคิดอยากจะเรียนแพทย์  มาเป็นนักวิทยาศาสตร์ ทั้งๆ ที่เมื่อก่อนเฟลอร์ไม่เคยพูดถึงวิชานี้เลย คงเป็นเพราะเฟลอร์ได้ไปค้นพบความรู้จากการประมวลความเข้าใจของตัวเอง เป็นครั้งแรก จึงทำให้เฟลอร์เกิดความรักในความรู้เข้า เหมือนที่มักมีคนพูดว่าไม่มีใครลืมรักแรกได้ลง

 

ทั้งหมดคงเป็นเรื่องเล่าของเด็กหญิงคนหนึ่งที่เริ่มรู้จักกับความรักในความรู้  (Love of wisdom) ซึ่งเป็นความหมายของ Philosophy ที่ไม่ได้แยกว่านั่นวิทยาศาสตร์ นี่สังคมศาสตร์ แต่ทั้งหมด คือ ความรู้ และหน้าที่ของคนที่เป็นครูคือ ต้องทำให้ผู้เรียนเกิดความรักในความรู้  

 

ดังนั้น ในความเข้าใจที่เกิดขึ้นกับตัวเองในตอนนี้ การสร้างให้เด็กเป็นนักวิทยาศาสตร์ นั้นก็คือหนทางสายเดียวกันกับการสร้างเด็กให้เป็น Philosopher ผู้รักในความรู้ นั่นเอง”

 

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 428006เขียนเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2011 17:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

อ่านเรื่องราวของการจัดกระบวนการเรียนรู้ในชั้นเรียนนี้เพิ่มเติมได้ที่

http://gotoknow.org/blog/krumaimai/424860 ค่ะ

แวะมาหาประสบการณ์ดีๆ ค่ะ ขอบคุณมากค่ะ

ขอบคุณครูนายที่แวะมาทักทายกันค่ะ :)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท