การเปลี่ยนแปลงหลักสูตรคือการเรียนรู้ของครู (curriculum changing as teacher learning)


ขณะที่กำลังเปลี่ยนแปลงหลักสูตร ครูย่อมเกิดการเรียนรู้


เฉลิมลาภ ทองอาจ

 

            ในการประชุมนานาชาติว่าด้วยการปฏิรูปหลักสูตรและการนำไปใช้ในศตวรรษที่ 21 ณ กรุงอิสตันบูล ประเทศตรุกี ในปี 2005 ได้มีการนำเสนอบทความที่น่าสนใจเรื่องหนึ่งคือ  บทความเรื่อง  “การเปลี่ยนแปลงหลักสูตรคือการเรียนรู้: การแสวงหาแนวทางที่ดีกว่าในการนำหลักสูตรไปใช้” Curriculum change  as  learning: In search  of  better  implementation  ซึ่งเรียบเรียงโดย Pasi  Sahlberg  เจ้าหน้าที่ด้านนโยบายการศึกษาของธนาคารโลก บทความเรื่องนี้ ได้เสนอมุมมองที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงหลักสูตร ซึ่งโดยผิวเผินแล้วอาจมองว่าเป็นเรื่องยากหรือซับซ้อนว่า แท้ที่จริงการเปลี่ยนแปลงหลักสูตรก็คือการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการสอน และการเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เราได้เคยปฏิบััติกันมาอย่างชาชินนั้นก็คือ "การเรียนรู้"  ซึ่งก็ไม่ผิดนักว่า การเปลี่ยนแปลงหลักสูตรจะเพิ่มอัตราการเรียนรู้ทั้งของผู้เรียนและครู  สำหรับสาระสำคัญในบทความ Sahlberg  ได้กล่าวถึงประเด็นที่สำคัญในการนำนวัตกรรมหลักสูตรไปใช้ว่า โดยทั่วไปมักจะเกิดช่องว่างระหว่างหลักสูตรที่พึงประสงค์กับหลักสูตรที่นำไปปฏิบัติจริง ทั้งนี้เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงหลักสูตรเป็นเรื่องของการเปลี่ยนแปลงในเรื่องต่างๆ  โดยนัยนี้ ผู้เรียนบทความจึงให้ความสำคัญกับการนำหลักสูตรไปใช้ว่าเป็นการเรียนรู้เช่นเดียวกันกับการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของบุคคล  ทั้งนี้สามารถสรุปสาระสำคัญของบทความได้ใน 3 ประเด็นดังนี้

                   1.  การพัฒนาหลักสูตรให้ประสบความสำเร็จ  บุคลากรที่เกี่ยวข้องจำเป็นจะต้องอาศัยความรู้เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลง  (change knowledge)  ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้การเปลี่ยนแปลงในระดับต่างๆ ของสถานศึกษาเกิดขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติ  ผู้ตัดสินใจเกี่ยวกับนโยบาย  ผู้นำการศึกษาและครูต้องมีความรู้เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงในฐานะที่เป็นการเรียนรู้  เมื่อพิจารณาการเรียนรู้ในมุมพฤติกรรมนิยม  การเปลี่ยนแปลงหรือการเรียนรู้ในบุคคลจะเกิดขึ้นจากการที่อินทรีย์ตอบสนองต่อสิ่งเร้า  เมื่อเทียบกับการเปลี่ยนแปลงด้านหลักสูตร สิ่งเร้าหรือปัจจัยนำเข้าจึงได้แก่นวัตกรรมหลักสูตร ซึ่งจะเข้าไปมีอิทธิพลต่อโครงสร้างของโรงเรียน และผลที่เกิดขึ้นคือการตอบสนองของผู้ใช้หลักสูตรในระดับต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งครูในระดับปฏิบัติการ  อย่างไรก็ตามแนวคิดพฤติกรรมนิยมมุ่งมองพฤติกรรมการเปลี่ยนแปลงที่สามารถสังเกตได้  แต่ในการนำหลักสูตรไปใช้   ควรที่จะพิจารณาการเปลี่ยนแปลงในระดับค่านิยม  พฤติกรรมของครูที่แสดงออกมา เช่น การเข้าอบรมเกี่ยวกับการจัดทำและพัฒนาหลักสูตร จึงยังไม่อาจรับประกันได้ว่า การนำหลักสูตรไปใช้จะประสบความสำเร็จ เหตุเพราะมิได้พิจารณาถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นภายในบุคคลอย่างแท้จริง  ผู้เขียนบทความจึงให้ความสำคัญต่อการสร้างความเข้าใจพฤติกรรมการเปลี่ยนแปลงในระดับค่านิยม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับครูผู้สอน

                   2.  การเปลี่ยนแปลงมโนทัศน์เกี่ยวกับด้านหลักสูตร  การเปลี่ยนแปลงหลักสูตร     ส่วนใหญ่เป็นการเปลี่ยนแปลงในด้านเนื้อหาของหลักสูตร  ทำให้หลักสูตรส่วนใหญ่เป็นหลักสูตรที่เน้นเนื้อหา  และมุ่งเน้นในด้านการกำหนดผลผลิตที่ควรจะเกิดขึ้นต่อผู้เรียน  หลักสูตรจึงมีฐานะเป็นหลักสูตรผลผลิต  (curriculum as product)  ผู้เขียนบทความเห็นว่าหลักสูตรที่เน้นผลผลิตเป็นหลักสูตรที่ค่อนข้างมีความตายตัว หรือเป็นหลักสูตรเชิงเทคนิค  และมุ่งประเมินผู้เรียนตามวัตถุประสงค์โดยเฉพาะต้องเป็นพฤติกรรมที่สามารถสังเกตได้ หลักสูตรกลุ่มนี้เช่น  หลักสูตรเนื้อหา (content-rich curriculum) หลักสูตรอิงมาตรฐาน  (standards-based curriculum)  ผู้เขียนบทความเห็นว่าจำเป็นจะต้องให้ความสำคัญกับหลักสูตรเชิงกระบวนการ (curriculum as process) และในการนำไปใช้จะต้องใช้วิธีการต่างๆ ได้แก่  1)  ทำให้บุคลากรเกิดความตระหนักว่าหลักสูตรใหม่มีความสำคัญและมีความจำเป็น  2)  สร้างความเข้าใจกระบวนการการเปลี่ยนแปลงว่าจะต้องเกิดขึ้นเป็นธรรมดา  3) การสร้างเสริมศักยภาพด้านการนำหลักสูตรไปใช้แก่บุคลากร  4) พัฒนาวัฒนธรรมในการประเมิน  5)  ใช้วิธีการบริหารจัดการความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น     

                   3.  การเปลี่ยนแปลงวิธีการเรียนการสอนและวิธีการเรียนรู้ของผู้เรียนจำเป็นจะต้องใช้วิธีการเฉพาะ  การฝึกอบรมครูประจำการให้มีความรู้เกี่ยวกับหลักสูตรจึงยังไม่เพียงพอ  เพราะแท้ที่จริงการเปลี่ยนแปลงหลักสูตรหรือการนำหลักสูตรไปใช้ มีเป้าหมายเพื่อเปลี่ยนแปลงหรือปฏิรูป      การสอนและวิธีการเรียนรู้ของผู้เรียน  ผู้เขียนบทความจึงให้ความสำคัญกับการสร้างชุมชนแห่ง      การเรียนรู้  (learning  communities)  เพื่อเปิดโอกาสให้ครูได้เรียนรู้จากการสังเกตจากเพื่อนครูและผู้เชี่ยวชาญต่างๆ 

          จะเห็นได้ว่าแนวคิด “การเปลี่ยนแปลงหลักสูตรคือการเรียนรู้"  ของ Pasi  Sahlberg  นั้นได้สร้างความเข้าใจที่ชัดเจนว่า แท้ที่จริงแล้วการเปลี่ยนแปลงหลักสูตรคือการเรียนรู้ การเรียนรู้ที่กล่าวนี้ เป็นการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นในตัวของครู การเรียนรู้ของผู้เรียน การเรียนรู้ของผู้บริหารตลอดจนการเรียนรู้ของบุคลากรที่เกี่ยวข้องทุกๆ ฝ่าย และการเรียนรู้จะเกิดขึ้นได้ ทุกๆ ฝ่ายที่กล่าวมาจะต้องเข้าใจเรื่องการเปลี่ยนแปลง  จากการอ่านบทความดังกล่าวจึงทำให้เห็นพื้นฐานสำคัญในการที่จะนำหลักสูตรไปใช้ว่า จะต้องเริ่มต้นจากการทำความเข้าใจเกี่ยวกับบุคคลากรฝ่ายต่างๆ ว่า  เมื่อมีการใช้หลักสูตร จะเกิดการเปลี่ยนแปลงต่อระบบโครงสร้างบริหาร โครงสร้างเวลาเรียน เนื้อหาและวิธีการเรียนการสอน  ตลอดจนวิธีการเรียนรู้ของผู้เรียน แต่การเปลี่ยนแปลงนั้นมิได้ทำให้เกิดผลกระทบเสียหาย แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงซึ่งนำไปสู่การพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาการเรียนรู้ของผู้เรียน

          ผลการนำหลักสูตรไปใช้แต่เดิมมักพิจารณาจากผลที่สามารถสังเกตได้ เช่น การจัดทำเอกสารหลักสูตร ผลสัมฤทธิ์และระดับคะแนนของผู้เรียน แต่มิได้คำนึงว่าหลักสูตรนั้นจะส่งผลกระทบในด้านจิตใจของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างไรบ้าง  ผู้เขียนบทความให้ความสำคัญต่อการศึกษาผลกระทบเพราะเป็นการเรียนรู้ในระดับจิตพิสัย คือ การเห็นคุณค่าของนวัตกรรมหลักสูตร ความรู้สึก ความคิดเห็นที่มีต่อหลักสูตร  ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของรูปแบบการนำหลักสูตรไปใช้โดยใช้ความสนใจเป็นฐาน  (concerns-based adoption)  อันเป็นรูปแบบที่อธิบายระยะในการยอมรับนวัตกรรมของครู  ซึ่งระดับสูงสุดคือ การให้ความสนใจต่อนวัตกรรมหลักสูตรในฐานะที่นวัตกรรมนั้นจะส่งผลต่อผู้เรียนอย่างไรบ้าง  ด้วยเหตุนี้  การจะวัดประเมินจึงเข้ามามีบทบาทสำคัญเพราะการประเมินด้านจิตพิสัย ดังที่ผู้เขียนกล่าวว่า จำเป็นจะต้องสร้างวัฒนธรรมในการประเมิน เพราะครูและบุคลกรที่เกี่ยวข้องจะต้องเข้าใจและตระหนักถึงบทบาทของการประเมินการเรียนรู้ของผู้เรียนที่ครอบคลุมพฤติกรรมการเรียนรู้ทั้ง 3 ด้าน ซึ่งด้านที่ผู้เขียนบทความเห็นว่า ควรให้ความสำคัญคือด้านจิตพิสัย  ซึ่งจะต้องอาศัยการเก็บรวบรวมข้อมูลเชิงคุณภาพ  อันเป็นวิธีที่จะต้องใช้วิธีการที่หลากหลาย การนำหลักสูตรไปใช้จึงมิได้มุ่งมองผลลัพธ์ด้านผลสัมฤทธิ์ที่เกิดขึ้นต่อผู้เรียนอย่างเดียว  แต่จะต้องพิจารณาผลกระทบของหลักสูตรต่อความรู้สึกของผู้เรียนด้วย 

          ประเด็นการสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้  เป็นอีกประเด็นที่น่าสนใจและเป็นแนวคิดที่จะช่วยให้การนำหลักสูตรไปใช้มีประสิทธิภาพ  สถานศึกษาควรที่จะมีเครือข่ายเพื่อเปลี่ยนความรู้ที่ได้จากกระบวนการพัฒนาหลักสูตร เริ่มตั้งแต่การศึกษาข้อมูลพื้นฐาน  การร่างหลักสูตร และการออกแบบหลักสูตรว่า สถานศึกษาอื่นๆ นั้นมีวิธีการดำเนินการอย่างไร ขณะที่นำหลักสูตรไปใช้เกิดปัญหาอย่างไรหรือไม่ และโรงเรียนแห่งอื่นๆ มีวิธีการจัดการหรือแก้ไขปัญหานั้นอย่างไร การสร้างเครือข่ายร่วมพัฒนาและร่วมนิเทศ จะทำให้การนำหลักสูตรไปใช้ประสบความสำเร็จ 

          อย่างไรก็ตามผู้เขียนเห็นว่า นอกจาการทำให้ครูตระหนักและเห็นคุณค่าและความสำคัญของนวัตกรรมหลักสูตรแล้ว  การให้การสนับสนุนในด้านการฝึกอบรมและพัฒนาครู จากหน่วยงานของรัฐจะต้องมีการดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพ  หากเปรียบเทียบกับในประเทศไทยก็จะพบปัญหาคือ การฝึกอบรมบุคลากรเกี่ยวกับหลักสูตรจะดำเนินการในลักษณะที่แตกต่างกัน ทำให้เกิดมาตรฐานต่อประเด็นต่างๆ ในหลักสูตรที่แตกต่างกันออกไป กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ในประเด็นหัวข้อเดียวกัน             แต่ผู้จัดทำหลักสูตรในระดับปฏิบัติการของสถานศึกษาแต่ละแห่ง ตีความหัวเรื่องและกำหนดเกณฑ์  การประเมินแตกต่างกัน  ทำให้เกิดปัญหาว่าจะใช้มาตรฐานใด เป็นต้น  หน่วยงานภาครัฐจึงความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างมาตรฐานในด้านคุณภาพของการตรวจสอบการฝึกอบรมบุคลากร  ทั้งนี้จะต้องปรับเปลี่ยนความคิดของผู้เข้ารับการอบรมด้วยว่า นวัตกรรมหลักสูตรนั้นมีจุดหมายเพื่อเปลี่ยนแปลงการสอนและวิธีการเรียนของผู้เรียน เพราะสิ่งที่ปฏิบัติกันมาแต่เดิม ได้มีการวิจัยหรือพิสูจน์แล้วว่า ไม่สามารถทำให้ผู้เรียนมีคุณภาพบรรลุตามเจตนารมณ์หรือเป้าหมายของหลักสูตรได้  การทดลองและวิจัยวิธีการใหม่ๆ ที่นำเสนอในนวัตกรรมหลักสูตรในรูปของการวิจัยเชิงปฏิบัติการ     จะเป็นวิธีการสำคัญที่ทำให้บุคลากรเกิดการยอมรับ และค่อยๆ ปรับเปลี่ยนทัศนคติ ความเชื่อและค่านิยมที่มีต่อนวัตกรรมหลักสูตร  กระทั่งสามารถนำหลักสูตรไปใช้ได้อย่างไม่รู้สึกขัดแย้ง  ซึ่งผลจากการปฏิบัติด้วยความรู้สึกดังกล่าว  จะทำให้การเรียนการสอนของครูมีการเปลี่ยนแปลงไปโดยธรรมชาติ  ผู้วิพากษ์จึงมีความเห็นด้วยกับผู้เขียนบทความว่าการสร้างค่านิยมและการสร้างความตระหนักของบุคลากรทุกฝ่าย เป็นพื้นฐานก้าวแรกที่นำมาซึ่งความสำเร็จในการใช้นวัตกรรมทางการศึกษาทั้งปวง 

_____________________________

ที่มา

Selected conference paper: Curriculum  reform  and  implementation  in  the  21st  century  (International  Conference  on Curriculum  Reform  and  Implementation  in  the  21st  century: Policies, Perspectives and  Implementation) June 8-10, 2005 Istanbul, Turkey

หมายเลขบันทึก: 427639เขียนเมื่อ 21 กุมภาพันธ์ 2011 23:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 21:20 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

การเรียนเพิ่มขึ้นหากมีการปรับปรุงและพัฒนา

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท