การสอนเพศศึกษา ตามพัฒนาการทางเพศของแต่ละช่วงอายุ


นายวชิรวิทย์       สุดสายเขียว

รหัส 500210171

 

 

การสอนเพศศึกษา  ตามพัฒนาการทางเพศของแต่ละช่วงอายุ 

ผศ.นพ.  พนม  เกตุมาน

หัวหน้าสาขาวิชาจิตเวชเด็กและวัยรุ่น  ภาควิชาจิตเวชศาสตร์  คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

 

 การสอนเรื่องเพศแก่เด็กและวัยรุ่น  เป็นกระบวนการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับชีวิตมนุษย์  ตั้งแต่เกิดจนตาย  เป็นการศึกษาทั้งในระบบโรงเรียน  และนอกระบบโรงเรียน  ที่จะให้บุคคลได้เรียนรู้ธรรมชาติความเป็นจริงของชีวิตและสังคม  เพื่อให้บุคคลมีความรู้  มีทัศนคติ  และมีพฤติกรรมถูกต้องในเรื่องเพศ  ตลอดจนสามารถปรับตัวตามพัฒนาการของชีวิตอย่างเหมาะสม(1)  การสอนดังกล่าวมีเนื้อหาที่ครอบคลุมกว้างขวาง  เกิดขึ้นต่อเนื่องตามพัฒนาการเด็กตั้งแต่เกิด และต่อเนื่องไปตามวัยจนถึงวัยรุ่น  เด็กเรียนรู้จากการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย  และจากตัวอย่างและการสอนโดยพ่อแม่  ครอบครัว  และสังคมสิ่งแวดล้อม  ไปตามระดับสติปัญญา  และการเปลี่ยนแปลงของตนเองและสิ่งแวดล้อม  พัฒนาเป็นเอกลักษณ์ทางเพศ  บทบาททางเพศที่เหมาะสม  ปรับตัวเอง และควบคุมตัวเองในเรื่องเพศได้  การสอนเรื่องเพศจำเป็นให้สอดคล้องตามพัฒนาการทางเพศปกติ  ผู้สอนเรื่องเพศจึงต้องศึกษาเรื่องพัฒนาการทางเพศตั้งแต่เด็กจนถึงวัยรุ่น  เพื่อให้จัดการเรียนรู้ได้อย่างถูกต้อง

 

วัตถุประสงค์การสอนเพศ

การสอนเรื่องเพศสามารถสอนได้ตั้งแต่เด็กยังเล็ก สอดแทรกไปกับการส่งเสริมพัฒนาการด้านอื่นๆ  พ่อแม่ควรเป็นผู้สอนเบื้องต้น  เมื่อเข้าสู่โรงเรียน  ครูจะช่วยสอนให้สอดคล้องไปกับที่บ้าน  เมื่อเด็กเริ่มเข้าสู่วัยรุ่น  ควรส่งเสริมให้เด็กเรียนรู้ด้วยตัวเอง  แต่มีแนวทางที่ถูกต้อง

การสอนเพศศึกษาในโรงเรียนนั้น กระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมกันกำหนดหลักสูตรการเรียนรู้เรื่อง “เพศศึกษา” ในนักเรียน(2)  โดยแบ่งการเรียนรู้ตามวัตถุประสงค์  6   ด้าน  ซึ่งสามารถใช้เป็นหลักในการสอนที่บ้านได้ด้วยเช่นกัน  ดังนี้

1.       พัฒนาการทางเพศ(Human sexual development) ความรู้ความเข้าใจในเรื่องการเจริญเติบโต  พัฒนาการทางเพศตามวัย  ทางร่างกาย  จิตใจ  อารมณ์  และสังคม

2.       สัมพันธภาพ (Interpersonal relation) การสร้างและรักษาความสัมพันธ์กับบุคคลในสังคม  การสร้างและรักษาสัมพันธภาพกับเพื่อนเพศเดียวกัน และต่างเพศ  การเลือกคู่  การเตรียมตัวก่อนสมรส และการสร้างครอบครัว  ความสัมพันธ์ระหว่างสามี-ภรรยา  พ่อ-แม่-ลูก

3.       ทักษะส่วนบุคคล (Personal and communication skills)  ความสามารถในการจัดการสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเพศ เช่น ทักษะการสื่อสาร การสร้างความสัมพันธ์  และควบคุมความสัมพันธ์ให้อยู่ในความถูกต้องเหมาะสม ทักษะการปฏิเสธ ทักษะการขอความช่วยเหลือ  ทักษะการจัดการกับอารมณ์  ทักษะการตัดสินใจและแก้ปัญหาที่เกี่ยวกับเรื่องเพศ

4.       พฤติกรรมทางเพศ (Sexual behaviors) การแสดงออกถึงพฤติกรรมทางเพศหรือบทบาททางเพศ (Gender role) ที่เหมาะสมกับบทบาททางเพศและวัย เป็นที่ยอมรับของสังคม ไม่เกิดความเสี่ยงทางเพศ(เช่น  เพศสัมพันธ์ในวัยรุ่น  เพศสัมพันธ์ที่ปราศจากการป้องการตั้งครรภ์หรือการติดเชื้อ) การสร้างเอกลักษณ์ทางเพศที่เหมาะสม ความเสมอภาคทางเพศ  และบทบาททางเพศที่ช่วยเหลือเกื้อกูลกันในสังคมอย่างสมดุล

5.       สุขอนามัยทางเพศ (Sexual health) ความรู้ความเข้าใจและสามารถดูแลสุขภาพอนามัยทางเพศได้ตามวัย เช่น การดูแลรักษาอวัยวะในระบบสืบพันธุ์ อนามัยการเจริญพันธุ์ สังเกตการเปลี่ยนแปลงต่างๆและความผิดปกติในลักษณะและหน้าที่ของอวัยวะเพศ การหลีกเลี่ยงอันตรายจากการชอกช้ำ บาดเจ็บ  อักเสบ  และติดเชื้อ  รวมถึงการถูกล่วงเกินทางเพศ 

6.       สังคมและวัฒนธรรม (Society and culture)   ค่านิยมในเรื่องเพศที่เหมาะสมสอดคล้องกับสังคมและวัฒนธรรมไทย การให้เกียรติเพศตรงข้าม การรักนวลสงวนตัว ไม่ปล่อยใจให้เกิดเพศสัมพันธ์โดยง่าย การปรับตัวต่อกระแสการเปลี่ยนแปลงของสังคม โดยเฉพาะจากสื่อที่ยั่วยุทางเพศต่างๆ  และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเพศ

 

ในการสอนเพศศึกษาในนักเรียนดังกล่าว  ยังได้กำหนดช่วงชั้นที่สอนออกเป็น  4  ระดับ  ช่วงชั้นแรกตั้งแต่ ป1-3(2)  ช่วงชั้นที่2  ตั้งแต่  ป4-6 (3)    ช่วงชั้นที่3  ตั้งแต่  ม1-3 (4)   ช่วงชั้นที่ 4  ตั้งแต่  ม4-6(5)โดยออกแบบให้เนื้อหาสอดคล้องกับการเรียนรู้  และแทรกลงไปในการเรียนของเด็ก  ตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาตอนต้น ไปจนถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย

 

 

 

 

 

หลักการสอน

หลักการสอนมีดังต่อไปนี้

1.       สอนให้เด็กรับรู้ไปตามพัฒนาการทางเพศ  และพัฒนาการทางจิตใจ เริ่มตั้งแต่เกิด แบ่งสอนตามวัยและความสามารถในการรับรู้ของเด็ก  ผู้สอนต้องมีความรู้ว่าวัยใดควรให้ความสนใจเรื่องใด  เช่น  วัยอนุบาลควรให้ความสนใจกับการถ่ายทอดแบบอย่างทางเพศ  พ่อแม่มีความสำคัญที่เด็กจะพัฒนาบทบาททางเพศตามเพศของตนเองอย่างถูกต้อง

2.       ผู้สอนควรมีความรู้ทางเพศอย่างถูกต้อง  ควรสนใจ  หาความรู้หรือสอบถามจากผู้รู้  หนังสือ  หรือสื่อที่มีคุณภาพดี  การหาความรู้เรื่องนี้ทำให้พ่อแม่มีทัศนคติที่เป็นกลางกับเรื่องเพศ  และรู้จักสื่อที่เหมาะสม ควรเลือกสื่อที่ง่าย   ให้ความรู้ถูกต้อง เหมาะกับวัย   ไม่กระตุ้นความรู้สึกทางเพศ  พ่อแม่สามารถหาความรู้จากหนังสือ  วีดิโอ   ซีดี   ฯลฯ ควรอ่านให้เข้าใจก่อน   ถ้าจะนำไปสอน  ควรวางแผนในใจว่าจะสอนอย่างไร  ใช้คำพูดแบบใดจึงจะเหมาะสม  คิดล่วงหน้าไว้ก่อนว่าเด็กอาจสงสัยเรื่องใด  เพื่อเตรียมตอบคำถามง่ายๆของเด็กอยากรู้   บางครั้งอาจแนะนำให้เด็กเอาหนังสือไปอ่านก่อนล่วงหน้า   แล้วค่อยมาพูดคุยกันตอนหลัง  ให้เด็กเตรียมคำถามที่สงสัยมาคุยกัน  คำถามใดที่ตอบไม่ได้  ให้บอกตรงๆว่าไม่รู้  แต่จะไปถามใครที่รู้มาบอกภายหลัง  หรือให้เด็กลองค้นหาคำตอบด้วยตัวเองไปก่อนจากสื่อที่มีอยู่

3.       การสอนเรื่องเพศควร  สอดแทรกไปตามการเรียนรู้ปกติ   ตามจังหวะ  เวลา  และสถานการณ์ที่เหมาะสม  รู้จักใช้เหตุการณ์ที่เกิดในชีวิตประจำวันเป็นตัวอย่างในการเรียนรู้  หรือกระตุ้นให้เด็กเรียนรู้   เช่นเหตุการณ์สุนัขที่บ้านคลอดลูก 

4.       สอนให้เหมาะกับความสนใจ  ความอยากรู้  และความสามารถทางสติปัญญา  ที่เด็กจะรับได้และเข้าใจได้  เด็กเล็กต้องมีวิธีบอก ใช้คำพูดง่ายๆ  ให้สั้นๆ  เข้าใจง่าย  เป็นรูปธรรม มีตัวอย่างประกอบ  ไม่ควรอธิบายยืดยาวจนเด็กสับสน  เด็กโตสามารถอธิบายมากขึ้น  ให้ความรู้ที่ซับซ้อนได้   พี่น้องอายุต่างกัน  การอธิบายย่อมไม่เหมือนกัน  เวลาสอนต้องสังเกตด้วยว่าเขาเข้าใจหรือไม่  ถ้าสงสัยให้มีโอกาสถามทันที 

5.       สอนก่อนที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลง  หรือปัญหาที่คาดว่าจะเกิดขึ้น  เช่น   สอนเรื่องประจำเดือนก่อนวัยมีประจำเดือน  สอนการป้องกันตัวเองทางเพศก่อนจะเกิดปัญหาการถูกละเมิดทางเพศ 

6.       ผู้สอนมีท่าทีและทัศนคติเป็นกลาง  ผู้สอนไม่ควรรังเกียจหรืออายเวลาสอนเรื่องเพศ  พยายามพูดด้วยท่าทีสงบ  เป็นกลาง  เตรียมคำพูดล่วงหน้า และฝึกฝนให้คล่องด้วยตนเอง  ไม่แสดงความรู้สึกด้านลบ  เมื่อเด็กแสดงความสนใจเรื่องเพศ   ควรเปิดใจกว้าง  คิดเสมอว่าถ้าเขาอยากรู้  เป็นเรื่องปกติธรรมดา  การให้เขารู้อย่างถูกต้องไม่มีผลเสีย  ดีกว่าให้เขารู้จากแหล่งอื่นซึ่งมีโอกาสเรียนรู้แบบผิดๆได้

 

7.       ควรให้ความรู้อย่างถูกต้อง   ไม่ควรบ่ายเบี่ยง  หลอกเด็ก  หรือพูดให้เด็กเข้าใจผิด  ถ้ารู้ว่าเขาเข้าใจผิดควรรีบแก้ไขทันที  เด็กอาจงงถ้าได้ข้อมูลไม่ถูกต้อง  ไม่ครบ  หรือข้อมูลขัดแย้งกัน

8.       พ่อแม่  และ ครูช่วยกันสอนให้สอดคล้องกัน เมื่อไม่ทราบหรือไม่เข้าใจ  ควรปรึกษาแพทย์

 เป้าหมายของพัฒนาการทางเพศ

 พัฒนาการทางเพศ  เป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาการบุคลิกภาพ  ที่จะเกิดขึ้นตั้งแต่เด็ก  มีความต่อเนื่องไปจนพัฒนาการเต็มที่ในวัยรุ่น  หลังจากนั้น  จะเป็นส่วนหนึ่งของบุคลิกภาพที่ติดตัวตลอดชีวิต  เมื่อสิ้นสุดวัยรุ่น  จะเกิดการเปลี่ยนแปลงให้เกิดสิ่งต่อไปนี้

1.       มีความรู้เรื่องเพศ  ตามวัย  และพัฒนาการทางเพศ  ตั้งแต่ร่างกาย  การเปลี่ยนแปลงไปตามวัย  และจิตใจสังคม  ของทั้งตนเอง  และผู้อื่น  ทั้งของเพศตรงกันข้าม  ความแตกต่างกันระหว่างเพศ 

2.       มีเอกลักษณ์ทางเพศของตนเอง ได้แก่  การรับรู้เพศตนเอง(core  gender)   บทบาททางเพศและพฤติกรรมทางเพศ(gender  role)   มีความพึงพอใจทางเพศหรือความรู้สึกทางเพศต่อเพศตรงข้ามหรือต่อเพศเดียวกัน(sexual  orientation)

3.       มีพฤติกรรมการรักษาสุขภาพทางเพศ(sexual  health)  การรู้จักร่างกายและอวัยวะเพศของตนเอง  ดูแลรักษาทำความสะอาด  ป้องกันการบาดเจ็บ  การติดเชื้อ  การถูกล่วงเกินละเมิดทางเพศ  การป้องกันพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศ 

4.       ทักษะในการสร้างความสัมพันธ์กับผู้ที่จะร่วมเป็นคู่ครอง  การเลือกคู่ครอง  การรักษาความสัมพันธ์นี้ให้ยาวนาน  แก้ไขปัญหาต่างๆในชีวิตร่วมกัน  การสื่อสาร  การมีความสัมพันธ์ทางเพศกับคู่ครองอย่างมีความสุข  มี การวางแผนชีวิตและครอบครัว

5.       บทบาทในครอบครัว บทบาทและหน้าที่สำหรับการเป็นลูก  การเป็นพี่-น้อง และสมาชิกคนหนึ่งในครอบครัว หน้าที่และความรับผิดชอบชอบการเป็นพ่อแม่   ที่ถูกต้องตามกฎหมาย  และขนบธรรมเนียมประเพณีและศีลธรรมของสังคมที่อยู่

6.       ทัศนคติทางเพศที่ถูกต้อง  ภูมิใจพอใจในเพศของตนเอง ไม่รังเกียจหรือปิดบัง ปิดกั้นการเรียนรู้ทางเพศที่เหมาะสม  รู้จักควบคุมพฤติกรรมทางเพศให้แสดงออกถูกต้อง   ให้เกียรติผู้อื่น   ไม่ล่วงละเมิดทางเพศต่อผู้อื่น  ยับยั้งใจตนเองไม่ให้มีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร 

 

 

 

พัฒนาการทางเพศในวัยต่างๆ

การเข้าใจพื้นฐานพัฒนาการทางเพศในเด็กวัยต่างๆ  จะช่วยให้ผู้สอน  มีแนวทาง  และกำหนดวัตถุประสงค์การสอน  ให้สอดคล้องกับพัฒนาการทางเพศปกติ  ดังนี้(

 

วัยแรกเกิด 1  ปี 

เมื่อเด็กคลอดจากครรภ์มารดา  เอกลักษณ์ทางกายจะถูกกำหนดโดยแพทย์  ว่าเป็นเพศชายหรือเพศหญิง  การกำหนดเพศนี้มีความสำคัญที่จะทำให้พ่อแม่และครอบครัว  ยอมรับและเลี้ยงดูเด็กไปตามเพศนั้น  เด็กที่มีอวัยวะเพศกำกวม  อาจถูกกำหนดเพศผิด  ถูกเลี้ยงดูผิดเพศไปจนโต

วัยนี้เด็กยังเล็กมาก  พัฒนาการทางจิตใจที่สำคัญคือ  การแยกแยะตนเองจากสิ่งแวดล้อม  ซึ่งจะเกิดในระยะ  6  เดือนแรกของชีวิต  หลังจากนั้นเด็กจะเรียนรู้การเชื่อใจในพ่อแม่ที่จะให้ความมั่นใจในชีวิตว่าเมื่อเด็กรู้สึกไม่สบายกายจากความหิว  จะได้รับอาหาร  เมื่อขับถ่ายจะมีคนมาช่วยทำความสะอาด  ความรู้สึกมั่นใจในผู้อื่นนี้จะทำให้เด็กเกิดความไว้วางใจในความสัมพันธ์กับผู้อื่น  ความรู้สึกที่ดีต่อผู้อื่นและต่อโลก  เป็นพื้นฐานสำคัญต่อมนุษยสัมพันธ์ในเวลาต่อมา  วัยนี้เด็กต้องการการสัมผัสกอดรัด  และการอยู่ใกล้ชิดของพ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดูอย่างมาก  เด็กที่ถูกทอดทิ้งจะขาดความมั่นคงทางอารมณ์   เมื่อโตขึ้นจะขาดความเห็นอกเห็นใจคนอื่น  ไม่สามารถสร้างความสัมพันธ์กับใคร  ไม่ไว้วางใจคนอื่น  มองโลกในแง่ร้าย  เห็นแก่ตัว  เรียกร้องความรักจากผู้อื่น  แต่ไม่มีความรักความเสียสละให้ใคร

 

วัย1-3 ปี 

วัยนี้เด็กจะเริ่มเคลื่อนไหวได้มากขึ้น  เดินได้  เริ่มซนและสำรวจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น  เด็กจะเริ่มเข้าใจว่าตนเองเป็นเพศใด  โดยเรียนรู้จากการที่พ่อแม่เรียก  และกำหนดบทบาทให้ตามเพศ  ได้แก่  การแต่งกาย  การเล่น  ของเล่น  การเรียกชื่อ  สรรพนาม  เมื่อเด็กอายุ  3  ปีจะบอกผู้อื่นได้ว่าตนเองเป็นเพศใด  ตรงตามที่พ่อแม่และครอบครัวกำหนด  แยกแยะความแตกต่างของอวัยวะเพศได้ บอกผู้อื่นได้ว่าตนเองเป็นเพศใด  เด็กจะสำรวจอวัยวะเพศตนเอง  และอาจเพลิดเพลินกับการเล่นอวัยวะเพศถ้าเหงา  หรืออยู่คนเดียว  เด็กยังไม่มีความรู้สึกทางเพศ  แต่การกระตุ้นอวัยวะเพศทำให้รู้สึกเสียวเพลินจนติดเป็นนิสัยได้ 

ผู้ใหญ่ไม่ควรล้อเลียนให้เด็กอายในเพศของตนเอง  หรือให้เห็นว่าเพศใดดีกว่ากัน  ไม่ควรหลอกหรือขู่เด็กว่าจะตั[คำไม่พึงประสงค์]วัยวะเพศเพราะจะทำให้เด็กกลัวจริงๆ  และเกิดทัศนคติทางลบต่อเรื่องเพศไปจนโต

วัยนี้เด็กต้องการการฝึกการควบคุมตนเอง  ซึงจะเป็นพื้นฐานของระเบียบวินัย  และระบบจริยธรรมในชีวิต  พ่อแม่ต้องฝึกให้เด็กอยู่ในกฎเกณฑ์กติกา  ไม่ตามใจเกิน  แต่ก็ให้เด็กสำรวจเรียนรู้  จากการเล่น  ทำให้เด็กมีเหตุผล  เข้าใจความเป็นไปของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  สามารถสื่อสารด้วยคำพูดได้มากขึ้น 

 

วัย3-6  ปี 

เด็กมีความสนใจเรื่องเพศมาก  อยากรู้อยากเห็น  สำรวจตนเองและผู้อื่นเรื่องเพศ  อาจมีพฤติกรรมกระตุ้นตนเองทางเพศ  เด็กชายจะเลียนแบบพฤติกรรมทางเพศจากพ่อหรือผู้ชายอื่นที่ใกล้ชิด  เด็กหญิงจะเลียนแบบพฤติกรรมทางเพศจากแม่หรือผู้หญิงอื่นที่ใกล้ชิด  การถ่ายทอดแบบอย่างทางเพศนี้จะกำหนดให้เด็กมีบทบาททางเพศอย่างถูกต้อง  เด็กจะเรียนรู้จากครอบครัวเป็นหลัก  และจะเรียนรู้เสริมจากโรงเรียนอนุบาล  การเล่นในวัยนี้อาจยังไม่มีการแยกเพศ (เด็กผู้ชายอาจเล่นตุ๊กตา  เด็กผู้หญิงอาจเตะฟุตบอล)  การเล่นของเล่นไม่ตรงเพศนี้จะน้อยลงเมื่อเข้าสู่วัยเรียน  โดยค่อยๆเปลี่ยนเป็นการเล่นที่ตรงกับเพศตนเองมากขึ้น

วัยนี้เด็กจะเริ่มมีเหตุผล  และควบคุมตัวเองได้ดีขึ้น  ต้องการทำตัวดีเพื่อให้เป็นที่ยอมรับ  ต้องการอยู่ในกลุ่ม  หลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่จะทำให้ถูกลงโทษ หรือไม่ยอมรับจากผู้ใหญ่  วัยนี้สามารถอธิบายเหตุผลได้สั้นๆ  ง่ายๆ  จะเข้าใจดีเมื่อมีตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมประกอบ

 วัยนี้เด็กอยากรู้อยากเห็นเรื่องเพศมาก  อาจมีคำถามเกี่ยวกับเพศบ่อยๆ  ผู้ใหญ่ควรตอบให้เด็กเข้าใจสั้นๆ  ไม่ควรบ่ายเบี่ยงหรือตอบไม่ตรงความจริง  เพราะจะทำให้เด็กสับสน  และยังอยากรู้อยากเห็นต่อไปอีกเด็กอาจมีพฤติกรรมไม่เหมาะสมทางเพศ  เช่นแอบดูเด็กอื่นในห้องน้ำ  เปิดกระโปรงแม่หรือเด็กอื่น  ผู้ใหญ่ควรเอาจริงแต่นุ่มนวล  ห้ามมิให้เด็กทำอย่างสงบ        อธิบายสั้นให้เด็กเข้าใจว่าพฤติกรรมบางอย่างไม่เป็นที่ยอมรับ

 บางครั้งเด็กแสดงพฤติกรรมทางเพศตามแบบอย่างที่เด็กเห็นมาจากบ้าน  เช่น  ทำท่าทางร่วมเพศกับเด็กอื่น  ผู้ใหญ่ควรจัดการให้เด็กหยุด  ห้ามด้วยท่าทางจริงจัง  และเบนความสนใจไปที่กิจกรรมอื่น  ให้เด็กอยู่ในสายตาจนไม่มีพฤติกรรมนี้  แนะนำพ่อแม่ให้เด็กแยกห้องนอน  และระมัดระวังอย่าให้เด็กเห็นพ่อแม่มีเพศสัมพันธ์กัน 

 

 

 

 

วัย 6-12  ปี 

วัยนี้ยังไม่มีอารมณ์เพศหรือความรู้สึกทางเพศ เด็กเล่นเป็นกลุ่มเฉพาะเพศเดียวกัน  เด็กเรียนรู้บทบาททางเพศ  จากการสังเกตและเลียนแบบพ่อแม่ญาติพี่น้อง ในครอบครัว เพื่อน ครู เพื่อนบ้านและคนอื่นๆในสังคม  เด็กผู้ชายที่มีลักษณะค่อนข้างไปทางหญิง  เช่น  เรียบร้อย  ไม่เล่นซน  มักถูกกีดกันจากกลุ่มเด็กผู้ชาย  จะหันไปสนิทสนมกับเด็กผู้หญิง  และอาจมีพฤติกรรมเป็นหญิงมากขึ้น  ยิ่งทำให้ถูกกีดกันจากเด็กผู้ชายมากขึ้น  ในวัยนี้ตอนปลายเด็กบางคนจะเข้าสู่วัยรุ่นเร็วกว่าเด็กอื่นๆ  การเรียนรู้เรื่องการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่วัยรุ่นจึงควรมีให้ทันเด็กเหล่านี้เพื่อมิให้เด็กตกใจต่อสิ่งที่จะเกิดขึ้น  เช่น  การมีประจำเดือน

เด็กที่มีพฤติกรรมผิดเพศ  ควรแก้ไขตั้งแต่ต้น  โดยการให้เด็กอยู่ในกลุ่มเพศเดียวกันเอง  ให้พ่อแม่เพศเดียวกันใกล้ชิดเด็กมากขึ้น  พ่อแม่ต่างเพศให้ห่างออกไปไม่ควรใกล้ชิดมากเหมือนเดิม  จัดกิจกรรม หรือส่งเสริมกิจกรรมตามวัย

 

วัย  12-18  ปี  

เด็กเริ่มเข้าสู่วัยรุ่น  มีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและจิตใจสังคมทางเพศอย่างมาก 

พัฒนาการทางร่างกาย ( Physical development ) มีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายทั่วไป  และการเปลี่ยนแปลงทางเพศ   เนื่องจากวัยนี้ มีการสร้างและหลั่งฮอร์โมนเพศและฮอร์โมนของการเจริญเติบโตอย่างมากและรวดเร็ว  ร่างกายจะเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว แขนขาจะยาวขึ้นก่อนการเปลี่ยนแปลงอื่นประมาณ 2 ปี เพศหญิงมีไขมันมากกว่าชาย   ชายมีกล้ามเนื้อมากกว่าทำให้เพศชายแข็งแรงกว่า

การเปลี่ยนแปลงทางเพศ(sexual  changes)ที่เห็นได้ชัดเจน  คือวัยรุ่นชายจะเกิด  นมขึ้นพาน(หัวนมโตขึ้นเล็กน้อย  กดเจ็บ)  เสียงแตก  หนวดเคราขึ้น  และเริ่มมีฝันเปียก ( nocturnal ejaculation – การหลั่งน้ำอสุจิในขณะหลับ  มักสัมพันธ์กับความฝันเรื่องเพศ)  การเกิดฝันเปียกครั้งแรกเป็นสัญญาณวัยรุ่นของเพศชาย  ส่วนวัยรุ่นหญิงจะเป็นสาวขึ้น  คือ เต้านมมีขนาดโตขึ้น  ไขมันที่เพิ่มขึ้นทำให้มีรูปร่างทรวดทรง  สะโพกผายออก  และเริ่มมีประจำเดือนครั้งแรก ( menarche)  การมีประจำเดือนครั้งแรก เป็นสัญญาณเข้าสู่วัยรุ่นในหญิง   ทั้งสองเพศมีการเปลี่ยนแปลงของอวัยวะเพศ  ขนาดโตขึ้น และเปลี่ยนเป็นแบบผู้ใหญ่  มีขนขึ้นบริเวณอวัยวะเพศ  มีกลิ่นตัว  มีสิวขึ้น 

พัฒนาการทางจิตใจ  (Psychological Development) วัยนี้สติปัญญาจะพัฒนาสูงขึ้น  จนมีความคิดเป็นแบบรูปธรรม  หมายถึงความสามารถเรียนรู้  เข้าใจเหตุการณ์ต่างๆ  ได้ลึกซึ้งขึ้นแบบ  มีความสามารถในการคิด  วิเคราะห์  และสังเคราะห์  สิ่งต่างๆได้มากขึ้นตามลำดับ  สามารถคิดได้ดี  คิดเป็น  คิดหลายด้าน  ทำให้สามารถตัดสินใจได้  ความสามารถทางสติปัญญาจะเพิ่มมากขึ้นจนเหมือนผู้ใหญ่  แต่ในช่วงระหว่างวัยรุ่นนี้  ยังขาดประสบการณ์  ขาดความรอบคอบ  มีความหุนหันพลันแล่น  ขาดการยั้งคิดหรือไตร่ตรอง  ทำอะไรวู่วามหรือทำด้วยความอยากตามสัญชาติญาณ หรือตามความต้องการทางเพศที่มีมากขึ้น  พัฒนาการทางจิตใจจะช่วยให้วัยรุ่น มีการยั้งคิด  ควบคุม  และปรับตัว (adjustment) ต่อสิ่งแวดล้อมได้ดีในเวลาต่อมา

เอกลักษณ์ (identity) วัยรุ่นเริ่มแสดงออกถึงสิ่งตนเองชอบ  สิ่งที่ตนเองถนัด  ซึ่งแสดงถึงความเป็นตัวตนของเขาที่โดดเด่น  ได้แก่  วิชาที่เขาชอบเรียน  กีฬาที่ชอบเล่น  งานอดิเรก  การใช้เวลาว่างให้เกิดความเพลิดเพลิน   กลุ่มเพื่อนที่ชอบและสนิทสนมด้วย  โดยเขาจะเลือกคบคนที่มีส่วนคล้ายคลึงกัน  หรือเข้ากันได้   และเกิดการเรียนรู้และถ่ายทอดแบบอย่างจากกลุ่มเพื่อนนี้เอง  ทั้งแนวคิด  ค่านิยม  ระบบจริยธรรม  การแสดงออกและการแก้ปัญหาในชีวิต  จนสิ่งเหล่านี้กลายเป็นเอกลักษณ์ของตน  และกลายเป็นบุคลิกภาพนั่นเอง    วัยนี้จะมีเอกลักษณ์ทางเพศ(sexual  identity)ชัดเจนขึ้น  ประกอบด้วย  การรับรู้ว่าตนเองเป็นเพศใด(core  gender  identity)ซึ่งติดตัวเด็กมาตั้งแต่อายุ  3  ปีแล้ว  พฤติกรรมที่แสดงออกทางเพศ(gender  role)คือพฤติกรรมซึ่งเด็กแสดงออกให้ผู้อื่นเห็นได้แก่  กิริยาท่าทาง  คำพูด  การแต่งกาย  เหมาะสมและตรงกับเพศตนเอง  และ ความรู้สึกพึงพอใจทางเพศ(sexual  orientation) คือความรู้สึกทางเพศกับเพศใด  ทำให้วัยรุ่นบอกได้ว่าตนเองชอบทางเพศกับเพศเดียวกัน(homosexualism)   กับเพศตรงข้าม(heterosexualism)  หรือได้กับทั้งสองเพศ(bisexualism)

ความพึงพอใจทางเพศนี้  เมื่อเกิดขึ้นแล้วจะชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ  การแก้ไขเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้ทำได้ยาก  วัยรุ่นจะรู้ด้วยตัวเองว่า  ความพึงพอใจทางเพศของตนแบบนี้ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้   จะเปลี่ยนแปลงได้เฉพาะการแสดงออกภายนอก  ไม่ให้ผิดเพศมากจนเป็นที่ล้อเลียนกลั่นแกล้งของเพื่อนๆ

การได้รับการยอมรับจากผู้อื่น (acceptance)  วัยนี้ต้องการการยอมรับจากกลุ่มเพื่อนอย่างมาก  การได้รับการยอมรับช่วยให้เกิดความรู้สึกมั่นคง  ปลอดภัย  เห็นคุณค่าของตนเอง  มั่นใจตนเอง  วัยนี้จึงมักอยากเด่นอยากดัง อยากให้มีคนรู้จักมากๆ     อยากมีความสามารถพิเศษ  อยากเป็นที่ชื่นชม ชื่นชอบของคนอื่นๆ  บางครั้งวัยรุ่นต้องการเป็นที่ยอมรับชื่นชมจากผู้อื่นมากๆ  อาจแสดงออกเป็นพฤติกรรมทางเพศไม่เหมาะสม  เช่น  การแต่งกายยั่วยวนทางเพศ  เพื่อให้เป็นที่สนใจของเพศตรงข้าม  วัยรุ่นที่เป็นรักร่วมเพศอาจแสดงออกผิดเพศมากขึ้น  เพื่อให้เป็นที่สนใจและยอมรับ  หรือเมื่อถูกกีดกันจากเพศเดียวกัน  ก็อาจจับกลุ่มพวกที่แสดงออกผิดเพศเหมือนกัน  เป็นการแสวงหากลุ่มที่ยอมรับ  แต่ทำให้การแสดงออกผิดเพศมากขึ้น 

ความภาคภูมิใจตนเอง (self esteem) เกิดจากการที่ตนเองเป็นที่ยอมรับของเพื่อนและคนอื่นๆได้  รู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า  เป็นคนดีและมีประโยชน์แก่ผู้อื่นได้  ทำอะไรได้สำเร็จ เกิดความรู้สึกพอใจตนเอง  ภูมิใจตนเอง  เมื่อถึงขั้นนี้  เวลาทำอะไรสำเร็จ  จะไม่จำเป็นต้องการการชื่นชมจากภายนอก  เพราะสามารถชื่นชมตนเองได้  การเปลี่ยนแปลงทางเพศในวัยนี้อาจทำให้เด็กรู้สึกภูมิใจในตนเอง  จากการมีการเปลี่ยนแปลงทางเพศที่ทำให้เป็นที่สนใจของผู้อื่น  ในทางตรงข้ามเด็กที่เปลี่ยนแปลงช้า  หรือไม่มีลักษณะเด่นทางเพศอาจเสียความภูมิใจในตนเอง  เสียความมั่นใจตนเอง (self confidence)   วัยรุ่นบางคนไม่มีข้อดีข้อเด่นด้านใดเลย  อาจแสดงออกทางเพศมากขึ้นเพื่อให้ตนเองรู้สึกภูมิใจในตนเอง  หรือบางคนมีแฟนเร็วหรือมีเพศสัมพันธ์เร็วเพราะเป็นวิธีที่ทำให้รู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า  มีคนต้องการ  มีคนทำดีด้วย  วัยรุ่นที่มีปัญหาครอบครัวจึงมักมีพฤติกรรมทางเพศเร็ว  เช่นมีแฟน  มีเพศสัมพันธ์    เพื่อชดเชยหรือทดแทนความรู้สึกเบื่อ  เหงา  ไร้ค่า  เมื่อมีเพศสัมพันธ์แล้ว  ก็ยิ่งรู้สึกตนเองไม่มีคุณค่ามากขึ้น  บางคนใช้เรื่องเพศเป็นสะพานสู่ความต้องการทางวัตถุ ได้เงินตอบแทน  หรือโอ้อวดเพื่อนๆว่ามีพลังทางเพศมาก

ความเป็นตัวของตัวเอง  (independent  :  autonomy)  วัยนี้รักอิสระ  เสรีภาพ ไม่ค่อยชอบอยู่ในกฎเกณฑ์กติกาใดๆ  ชอบคิดเอง  ทำเอง  พึ่งตัวเอง  เชื่อความคิดตนเอง   มีปฏิกิริยาตอบโต้ผู้ใหญ่ที่บีบบังคับสูง    ความอยากรู้อยากเห็นอยากลองมีสูงสุดในวัยนี้  ทำให้อาจเกิดพฤติกรรมเสี่ยงได้ง่าย  ถ้าวัยรุ่นขาดการยั้งคิดที่ดี  เมื่อมีความสนใจทางเพศ  อาจมีพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศ  เช่น  แต่งกาย  การเที่ยวกลางคืน  ดื่มเหล้าหรือเสพยาเสพติด  ทำให้เกิดเพศสัมพันธ์ตามมา  การจัดขอบเขตในวัยรุ่นจึงต้องให้พอดี  ถ้าห้ามมากเกินไป  วัยรุ่นอาจแอบทำนอกสายตาผู้ใหญ่  แต่ถ้าปล่อยปละละเลยเกินไป  วัยรุ่นจะขาดกรอบที่ใช้เป็นหลักในการควบคุมตนเอง  การสอนการควบคุมตัวเองเรื่องเพศจึงต้องอาศัยความสัมพันธ์ที่ดี  ฝึกให้คิดด้วยตัวเอง  เปิดโอกาสให้วัยรุ่นเรียนรู้  แต่อยู่ในขอบเขต

การควบคุมตนเอง (self control) วัยนี้เรียนรู้ที่จะควบคุมความคิด  การรู้จักยั้งคิด การคิดให้เป็นระบบ  เพื่อให้สามารถใช้ความคิดได้อย่างมีประสิทธิภาพ  และ อยู่ร่วมกับผู้อื่นได้  แต่วัยรุ่นบางคนอาจขาดการควบคุมตนเอง เมื่อเกิดความรู้สึกทางเพศหรือความต้องการทางเพศ อาจนำมาซึ่งพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศได้  วัยนี้ควรสอนให้ควบคุมตนเองโดยอยากควบคุมจากใจตนเอง  ให้รู้ว่า  ถ้าไม่ควบคุม  จะเกิดข้อเสียอะไรบ้าง  ถ้าควบคุมจะมีข้อดีอย่างไร  การฝึกให้วัยรุ่นใช้สมองส่วนคิดมากขึ้นนี้  จะทำให้เกิดการคิดก่อนทำ  ไตร่ตรองอย่างรอบคอบ  สมอง “ส่วนคิด” จะมาควบคุมสมอง “ส่วนอยาก”  หรือควบคุมด้านอารมณ์ได้มากขึ้น  อารมณ์เพศสามารถควบคุมได้ด้วยตัวเองเช่นกัน

อารมณ์ (mood)   อารมณ์จะปั่นป่วน  เปลี่ยนแปลง  หงุดหงิด  เครียด  โกรธ   กังวล ง่าย   อาจมีอารมณ์ซึมเศร้าโดยไม่มีสาเหตุ  อารมณ์ไม่ดีเหล่านี้อาจทำให้เกิดพฤติกรรมเกเร  ก้าวร้าว   มีผลต่อการเรียนและการดำเนินชีวิต  ในวัยรุ่นตอนต้น  การควบคุมอารมณ์ยังไม่ค่อยดีนัก  บางครั้งยังทำอะไรตามอารมณ์ตัวเอง  แต่จะค่อยๆดีขึ้นเมื่อโตขึ้น  วัยรุ่นจะสามารถจัดการกับความวิตกกังวล  และอารมณ์ซึมเศร้าได้  ด้วยการเข้าใจ  รู้อารมณ์ตัวเอง  สงบอารมณ์ได้ด้วยวิธีการต่างๆ  เช่น ปรึกษาหารือ  กิจกรรมเบนความรู้สึก  ฝึกสติสมาธิ หรือกิจกรรมผ่อนคลายตนเอง  ฝึกปรับเปลี่ยนความคิด  การแก้ปัญหา  

วัยรุ่นบางคนอาจหันไปใช้กิจกรรมที่ช่วยลดความเครียดหรือเพิ่มความสนุกสนานแต่เกิดปัญหาตามมา  ได้แก่  การมีแฟน  มีเพศสัมพันธ์  การใช้เหล้าและยาเสพติด  แต่เป็นการแก้ปัญหาชั่วคราว  และทำให้เกิดปัญหาแทรกทับซ้อนมากขึ้น  จึงควรช่วยฝึกให้วัยรุ่นใช้วิธีแก้ไขปัญหาอารมณ์อย่างถูกต้อง

 

                อารมณ์เพศเกิดขึ้นวัยนี้มาก  ทำให้มีความสนใจเรื่องทางเพศ  หรือมีพฤติกรรมทางเพศ  เช่นการมีเพื่อนต่างเพศ  การดูสื่อยั่วยุทางเพศรูปแบบต่าง  การสำเร็จความใคร่ด้วยตนเอง   ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องปกติในวัยนี้   แต่ควรให้มีแต่พอควร  ไม่หมกมุ่นหรือปล่อยให้มีสิ่งแวดล้อมกระตุ้นทางเพศมากเกินไป วัยนี้อาจแสดงพฤติกรรมทางเพศบางอย่างอาจเป็นปัญหา  เช่น  เบี่ยงเบนทางเพศ   กามวิปริต หรือการมีเพศสัมพันธ์ในวัยรุ่น  การฝึกให้วัยรุ่นเข้าใจ  ยอมรับ  และจัดการอารมณ์เพศอย่างถูกต้องดีกว่าปล่อยให้วัยรุ่นเรียนรู้เอง

จริยธรรม (moral development) วัยนี้สามารถพัฒนาให้มีจริยธรรม  แยกแยะความผิดชอบชั่วดีได้  เริ่มมีระบบมโนธรรมของตนเอง   ต้องการความถูกต้อง  ความชอบธรรมในสังคม  ชอบช่วยเหลือผู้อื่น   ต้องการเป็นคนดี  เป็นที่ชื่นชอบของคนอื่น    และบางคนอาจรู้สึกอึ[คำไม่พึงประสงค์]ัดคับข้องใจกับความไม่ถูกต้องในสังคม  หรือในบ้าน  แม้แต่พ่อแม่ของตนเองเขาก็เริ่มรู้สึกว่าไม่ได้ดีสมบูรณ์แบบเหมือนเมื่อก่อนอีกต่อไป  เมื่อรู้ว่าอะไรผิดถูก  วัยรุ่นตอนต้นจะเริ่มมีการควบคุมตนเอง   ในระยะแรกอาจยังไม่ดีนัก  แต่เมื่อเข้าสู่วัยรุ่นตอนปลาย  การควบคุมตนเองจะดีขึ้น  จนเป็นระบบจริยธรรมที่สมบูรณ์เหมือนผู้ใหญ่  คือรู้ว่าอะไรไม่ควรทำ  และสามารถควบคุมตนเองได้ด้วย  จริยธรรมวัยนี้เกิดจากการเรียนรู้ที่สัมพันธ์กับคนใกล้ชิด  คือพ่อแม่ ครู และเพื่อน  การมีแบบอย่างที่ดี จะช่วยให้วัยรุ่นมีจริยธรรมที่ดีด้วย  เพื่อนมีอิทธิพลสูงในการสร้างทัศนคติค่านิยมและจริยธรรม  ถ้าเพื่อนไม่ดี  อาจชักจูงให้เด็กขาดระบบจริยธรรมที่ถูกต้อง  โดยเฉพาะจริยธรรมทางเพศ  วัยรุ่นที่อยู่ในกลุ่มที่เห็นว่า  การมีเพศสัมพันธ์ในวัยรุ่นเป็นเรื่องปกติ  จะมีเพศสัมพันธ์สูงกว่าวัยรุ่นทั่วไปอื่นๆ 

จริยธรรมทางเพศในวัยรุ่นนี้  ควรให้เกิดความเข้าใจต่อเพศตรงข้าม  ให้เกียรติ  และยับยั้งใจทางเพศ  ไม่ละเมิดทางเพศหรือล่วงเกินผู้อื่น 

พัฒนาการทางสังคม (Social Development) วัยนี้จะเริ่มห่างจากทางบ้าน  ไม่ค่อยสนิทสนมคลุกคลีกับพ่อแม่พี่น้องเหมือนเดิม  แต่สนใจเพื่อนมากกว่า  ใช้เวลากับเพื่อนนานๆ     มีกิจกรรมนอกบ้านมาก   ไม่อยากไปไหนกับทางบ้าน  และเริ่มมีความสนใจเพศตรงข้าม  สนใจสังคมสิ่งแวดล้อม  ปรับตัวเองให้เข้ากับกฎเกณฑ์กติกาของกลุ่ม  ของสังคมได้ดีขึ้น   มีความสามารถในทักษะสังคม(social skills and life skills)  การสื่อสารเจรจา  การแก้ปัญหา  การประนีประนอม  การยืดหยุ่นโอนอ่อนผ่อนตามกัน  และการทำงานร่วมกับผู้อื่น  พัฒนาการทางสังคมที่ดีจะเป็นพื้

หมายเลขบันทึก: 426561เขียนเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2011 17:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 19:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท