การสอนเพศศึกษาแต่ละระดับชั้น


การสอนเพศศึกษาแต่ละระดับชั้น

การสอนเพศศึกษาในแต่ละช่วงอายุ
 
กุมารแพทย์ควรจะมีบทบาทในการสอนเพศศึกษาแก่พ่อแม่ และเด็กตั้งแต่เล็กในคลินิกตรวจสุขภาพซึ่งควรจะขยายเป็นทุกอายุจนถึงวัยรุ่น เนื้อหาที่จะสอนหรือให้ความรู้ในแต่ละด้าน ควรให้เหมาะสมกับพัฒนาการของเด็กแต่ละวัย จำแนกออก เป็นช่วงเด็กเล็กหรืออนุบาล (3-5 ขวบ), ประถมตอนต้น (6-8 ขวบ), ประถมตอนปลาย (9-11 ขวบ), มัธยมต้น (12-14 ปี) และมัธยมปลาย รวม ปวช. (15-17 ปี)

เมื่อลูกอายุ 0-3 ขวบ : เลี้ยงลูกอย่างไรไม่ให้ผิดเพศ
 
พัฒนาการของเด็กวัยนี้เรียนรู้ที่จะรู้จักความ รัก ความผูกพัน และสร้างความไว้วางใจแม่ ผ่านพฤติกรรมแม่ (การมอง พูด คุย อุ้ม สัมผัส สีหน้าแววตา) ที่คอยตอบสนองอย่างพอเหมาะต่อความต้องการพื้นฐานของเด็ก เริ่มเรียนรู้ที่จะดุว่าใครรักหรือไม่รัก และเด็กเริ่มที่จะต้องการช่วยตัวเองใน เรื่องกิจวัตรประจำวัน เช่น การรับประทานอาหารด้วยตนเอง อยากช่วยพ่อแม่ทำกิจกรรมงานบ้าน แต่ ไม่สามารถทำได้ เป็นการเพิ่มภาระให้แม่มากกว่า
 
บทบาทพ่อแม่ในการเลี้ยงลูกวัยนี้ควรให้ความรักและตอบสนองลูกอย่างพอเหมาะและสม่ำเสมอ เพื่อให้ลูกไว้วางใจพ่อแม่ และสนับสนุนให้ เด็กได้ช่วยตัวเอง เรื่องการรับประทานอาหารและงานที่ลูกอยากทำ แม้ว่าจะทำได้ไม่ดีนักก็ตาม ตลอด จนการเลี้ยงลูกให้ตรงตามเพศของเด็ก เพื่อให้เด็กสามารถแยกเพศได้โดยเรียนรู้เพื่อรู้จักเพศของตนเอง และรู้จักเพศตรงข้าม เพราะถ้าเลยอายุนี้ เด็กยังไม่รู้ว่าตนเป็นเพศใด อาจทำให้เด็กมีพฤติกรรมเบี่ยงเบนทางเพศได้เมื่อเข้าสู่วัยรุ่น

การสอนเด็กวัยอนุบาล (3-5 ขวบ)
 
พัฒนาการทางเพศ
 
เด็กจะเริ่มเรียนรู้ความแตกต่างทางสรีระภายนอกระหว่างเด็กหญิงและเด็กชาย สำหรับพ่อแม่การตอบคำถามลูก ควรใช้วิธีคุยมากกว่าตอบ อย่างเดียว โดยมีหลัก 4 ประการ ในการพูดคุยกับลูกดังนี้
 
1. ไม่ดุว่าลูกเมื่อลูกถามเรื่องเพศ เพื่อให้ลูกรู้สึกว่าเรื่องเพศเป็นเรื่องปกติที่สามารถถามและพูดคุยกับพ่อแม่ได้
 
2. ตอบคำถามของเขาด้วยกิริยาท่าทางปกติ เหมือนอธิบายเรื่องทั่ว ๆ ไป
 
3. ใช้คำพูดและเหตุผลง่าย ๆ ตามความเป็นจริง ไม่หลอกหรือขู่
 
4. ตั้งใจฟังและให้เวลาแก่ลูก
 
5. ใช้การพูดคุยมากกว่าตอบคำถามอย่างเดียวและการตอบควรตอบตรงไปตรงมา ใช้คำพูดง่าย ๆ สั้น ๆ เช่น

ถาม ทำไมนมหนูเล็ก นมคุณแม่ใหญ่

ตอบ ตอนนี้หนูยังเล็ก มือก็เล็ก เท้าก็เล็ก นมก็เล็ก เล็กไปทุก ๆ ส่วน เมื่อหนูโตขึ้น อวัยวะทุก อย่างก็ค่อย ๆ โตตามด้วย ดังนั้น เมื่อหนูโตเท่าแม่ นมหนูก็จะโตเหมือนแม่

ถาม หนูเกิดมาจากไหน

ตอบ หนูเกิดจากท้องแม่

ถาม แล้วหนูออกมาได้อย่างไร

ตอบ เป็นคำถามที่ยากขึ้นแต่เด็กไม่ได้สนใจว่า เขาออกมาจากช่องไหน ดังนั้น ควรใช้คำตอบกลาง ๆ ว่า “หมอช่วยลูกออกมา ลูกถึงได้แข็งแรงและน่ารัก แบบนี้”

 

การสอนเด็กปฐมวัย 6-8 ขวบ  
 
1. พัฒนาการทางเพศ เด็กจะเริ่มเรียนรู้ความแตกต่างระหว่างหญิงและชายในด้านบทบาททางสังคม
 
เด็กวัย 6-8 ขวบ ร่างกายกำลังเจริญเติบโต มีความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ด้วยตนเอง ชอบซักถาม ชอบลองทำในสิ่งที่ท้าทายความ สามารถ ต้องการเพื่อน ชอบแข่งขัน ชอบเล่นเป็นกลุ่ม ชอบแสดงออกในรูปแบบต่าง ๆ ต้องการให้คนสนใจ ชอบคนยกย่องชมเชย และต้องการการยอมรับจากครูและเพื่อน แต่ยังต้องการความสนับสนุนจากพ่อแม่ ทั้งด้านการเรียน การเล่น การเข้าสังคม การปรับตัว การควบคุมอารมณ์ และการสร้าง จริยธรรม
 
เด็กจะมีการเล่นโดยแยกเพศ เด็กจะรวมกลุ่มในเพศเดียวกัน ความสัมพันธ์กับเพศเดียวกันนี้ ช่วยเน้นเอกลักษณ์ทางเพศของเด็ก เด็กผู้ชายสนใจการเล่นที่ใช้แรง ให้ความสนใจในการเข้าสังคม น้อยกว่าเด็กผู้หญิงซึ่งชอบอยู่รวมกลุ่มกัน ชอบเล่นเกมที่ใช้แรงน้อย และให้ความสนใจในการเข้าสังคม การที่แยกกลุ่มจะทำให้เด็กแต่ละเพศเริ่มเรียนรู้พฤติกรรมเฉพาะเพศจากเพื่อน ๆ
 
เมื่อผ่านวัยที่แล้วมาเด็กจะมีความรู้สึกว่าตนเป็นเพศใด และเริ่มบทบาทที่เหมาะสมกับเพศของตน และรู้จักพัฒนาตนเองให้เข้ากับเพื่อนเพศเดียวกัน โดยสามารถสนใจ มีกิจกรรมรวมทั้งมีความ คิดฝันทางเพศร่วมกับเพื่อนได้ กิจกรรมทางเพศของเด็กในวัยนี้คือ เขาจะมีการเล่นสมมุติ โดยแสดง เป็นพ่อแม่หรือสามีภรรยาในหมู่เพื่อน
 
เด็กวัยนี้ถูกแนะนำเข้ามาในโลกทางเพศของผู้ใหญ่โดยหนังสือนวนิยาย ภาพยนตร์ โทรทัศน์ และการสังเกตสิ่งแวดล้อมประจำวันรอบ ๆ ตัว ความสนใจเกี่ยวกับเรื่องเพศจะค่อยเกิดขึ้นภายในจิตใจ เด็กจะเรียนรู้ว่าอะไรดี อะไรไม่ดี อะไรถูก อะไรผิด มีการใช้ dirty word dirty action เพิ่มมากขึ้น ความรู้ที่ได้มาคล้ายกับการต่อภาพจิ๊กซอว์ คือ เด็กจะค้นพบความเป็นจริงไปทีละเล็กทีละน้อย
 
เป็นช่วงที่มีความสำคัญในการสอนทักษะ การใช้ชีวิต 12 องค์ประกอบ คือ มีความคิดวิเคราะห์ วิจารณ์ สำรวจความคิดสร้างสรรค์ สร้างสัมพันธภาพ กับผู้อื่นได้ มีการสื่อสารที่ดี ตัดสินใจด้วยเหตุผลมากกว่าใช้อารมณ์แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า มีความสามารถจัดการกับอารมณ์และความเครียด ประกอบกับรู้จักตนเอง ภูมิใจในตนเอง มีวินัยและมีความรับผิดชอบ มีความเห็นใจผู้อื่น และรู้จักรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมาจะเป็นภูมิคุ้มกันให้เด็กเข้มแข็ง ดูแลตนเอง พอใจในเพศของตนเอง ปรับตัวและพึ่งพาตนเองได้ในที่สุด
 
การเลี้ยงลูกในวัยนี้ จะเหมือนกับช่วงวัย 3-5 ขวบ แต่ควรเน้นเรื่องวินัยและความรับผิดชอบ มอบหมายให้ทำ ฝึกในการเล่น เพื่อเพิ่มทักษะ และความสำเร็จ เน้นคุณภาพในการสื่อสารระหว่างพ่อแม่ลูก ฝึกให้เด็กหัดตัดสินใจด้วยเหตุผล และแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นเอง ตั้งแต่งานง่าย ๆ ไปสู่งานที่ยาก ฝึกทักษะด้านต่าง ๆ ให้ลูก เพื่อให้เด็กมีความรับผิดชอบ เป็นตัวของตัวเอง มีความนับถือตนเอง เชื่อมั่นในตนเอง ในขอบเขตที่เหมาะสม รับรู้คุณค่าของตนเองและผู้อื่น มีความสุขและมีสังคมเพิ่มขึ้น
 
2.  สุขอนามัยทางเพศ การดูแลรักษาความสะอาด, การทำความสะอาดหลังการขับถ่าย, การสังเกตความผิดปกติของอวัยวะเพศ/อุบัติเหตุจากการเล่น
 
3.  พฤติกรรมทางเพศ เรื่องเพศเป็นเรื่องส่วนตัว (การปกปิดร่างกาย, การพูดคำหยาบ, การเคารพสิทธิในร่างกายของผู้อื่น, การแต่งกายให้เหมาะสมกับเพศ)

วัย  12-18  ปี  

มัธยมศึกษาตอนต้น และมัธยมศึกษาตอนปลาย

เด็กเริ่มเข้าสู่วัยรุ่น  มีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและจิตใจสังคมทางเพศอย่างมาก 

พัฒนาการทางร่างกาย ( Physical development ) มีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายทั่วไป  และการเปลี่ยนแปลงทางเพศ   เนื่องจากวัยนี้ มีการสร้างและหลั่งฮอร์โมนเพศและฮอร์โมนของการเจริญเติบโตอย่างมากและรวดเร็ว  ร่างกายจะเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว แขนขาจะยาวขึ้นก่อนการเปลี่ยนแปลงอื่นประมาณ 2 ปี เพศหญิงมีไขมันมากกว่าชาย   ชายมีกล้ามเนื้อมากกว่าทำให้เพศชายแข็งแรงกว่า

 การเปลี่ยนแปลงทางเพศ(sexual  changes)ที่เห็นได้ชัดเจน  คือวัยรุ่นชายจะเกิด  นมขึ้นพาน(หัวนมโตขึ้นเล็กน้อย  กดเจ็บ)  เสียงแตก  หนวดเคราขึ้น  และเริ่มมีฝันเปียก ( nocturnal ejaculation – การหลั่งน้ำอสุจิในขณะหลับ  มักสัมพันธ์กับความฝันเรื่องเพศ)  การเกิดฝันเปียกครั้งแรกเป็นสัญญาณวัยรุ่นของเพศชาย  ส่วนวัยรุ่นหญิงจะเป็นสาวขึ้น  คือ เต้านมมีขนาดโตขึ้น  ไขมันที่เพิ่มขึ้นทำให้มีรูปร่างทรวดทรง  สะโพกผายออก  และเริ่มมีประจำเดือนครั้งแรก ( menarche)  การมีประจำเดือนครั้งแรก เป็นสัญญาณเข้าสู่วัยรุ่นในหญิง   ทั้งสองเพศมีการเปลี่ยนแปลงของอวัยวะเพศ  ขนาดโตขึ้น และเปลี่ยนเป็นแบบผู้ใหญ่  มีขนขึ้นบริเวณอวัยวะเพศ  มีกลิ่นตัว  มีสิวขึ้น 

พัฒนาการทางจิตใจ  (Psychological Development) วัยนี้สติปัญญาจะพัฒนาสูงขึ้น  จนมีความคิดเป็นแบบรูปธรรม  หมายถึงความสามารถเรียนรู้  เข้าใจเหตุการณ์ต่างๆ  ได้ลึกซึ้งขึ้นแบบ  มีความสามารถในการคิด  วิเคราะห์  และสังเคราะห์  สิ่งต่างๆได้มากขึ้นตามลำดับ  สามารถคิดได้ดี  คิดเป็น  คิดหลายด้าน  ทำให้สามารถตัดสินใจได้  ความสามารถทางสติปัญญาจะเพิ่มมากขึ้นจนเหมือนผู้ใหญ่  แต่ในช่วงระหว่างวัยรุ่นนี้  ยังขาดประสบการณ์  ขาดความรอบคอบ  มีความหุนหันพลันแล่น  ขาดการยั้งคิดหรือไตร่ตรอง  ทำอะไรวู่วามหรือทำด้วยความอยากตามสัญชาติญาณ หรือตามความต้องการทางเพศที่มีมากขึ้น  พัฒนาการทางจิตใจจะช่วยให้วัยรุ่น มีการยั้งคิด  ควบคุม  และปรับตัว (adjustment) ต่อสิ่งแวดล้อมได้ดีในเวลาต่อมา

เอกลักษณ์ (identity) วัยรุ่นเริ่มแสดงออกถึงสิ่งตนเองชอบ  สิ่งที่ตนเองถนัด  ซึ่งแสดงถึงความเป็นตัวตนของเขาที่โดดเด่น  ได้แก่  วิชาที่เขาชอบเรียน  กีฬาที่ชอบเล่น  งานอดิเรก  การใช้เวลาว่างให้เกิดความเพลิดเพลิน   กลุ่มเพื่อนที่ชอบและสนิทสนมด้วย  โดยเขาจะเลือกคบคนที่มีส่วนคล้ายคลึงกัน  หรือเข้ากันได้   และเกิดการเรียนรู้และถ่ายทอดแบบอย่างจากกลุ่มเพื่อนนี้เอง  ทั้งแนวคิด  ค่านิยม  ระบบจริยธรรม  การแสดงออกและการแก้ปัญหาในชีวิต  จนสิ่งเหล่านี้กลายเป็นเอกลักษณ์ของตน  และกลายเป็นบุคลิกภาพนั่นเอง    วัยนี้จะมีเอกลักษณ์ทางเพศ(sexual  identity)ชัดเจนขึ้น  ประกอบด้วย  การรับรู้ว่าตนเองเป็นเพศใด(core  gender  identity)ซึ่งติดตัวเด็กมาตั้งแต่อายุ  3  ปีแล้ว  พฤติกรรมที่แสดงออกทางเพศ(gender  role)คือพฤติกรรมซึ่งเด็กแสดงออกให้ผู้อื่นเห็นได้แก่  กิริยาท่าทาง  คำพูด  การแต่งกาย  เหมาะสมและตรงกับเพศตนเอง  และ ความรู้สึกพึงพอใจทางเพศ(sexual  orientation) คือความรู้สึกทางเพศกับเพศใด  ทำให้วัยรุ่นบอกได้ว่าตนเองชอบทางเพศกับเพศเดียวกัน(homosexualism)   กับเพศตรงข้าม(heterosexualism)  หรือได้กับทั้งสองเพศ(bisexualism)

ความพึงพอใจทางเพศนี้  เมื่อเกิดขึ้นแล้วจะชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ  การแก้ไขเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้ทำได้ยาก  วัยรุ่นจะรู้ด้วยตัวเองว่า  ความพึงพอใจทางเพศของตนแบบนี้ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้   จะเปลี่ยนแปลงได้เฉพาะการแสดงออกภายนอก  ไม่ให้ผิดเพศมากจนเป็นที่ล้อเลียนกลั่นแกล้งของเพื่อนๆ

การได้รับการยอมรับจากผู้อื่น (acceptance)  วัยนี้ต้องการการยอมรับจากกลุ่มเพื่อนอย่างมาก  การได้รับการยอมรับช่วยให้เกิดความรู้สึกมั่นคง  ปลอดภัย  เห็นคุณค่าของตนเอง  มั่นใจตนเอง  วัยนี้จึงมักอยากเด่นอยากดัง อยากให้มีคนรู้จักมากๆ     อยากมีความสามารถพิเศษ  อยากเป็นที่ชื่นชม ชื่นชอบของคนอื่นๆ  บางครั้งวัยรุ่นต้องการเป็นที่ยอมรับชื่นชมจากผู้อื่นมากๆ  อาจแสดงออกเป็นพฤติกรรมทางเพศไม่เหมาะสม  เช่น  การแต่งกายยั่วยวนทางเพศ  เพื่อให้เป็นที่สนใจของเพศตรงข้าม  วัยรุ่นที่เป็นรักร่วมเพศอาจแสดงออกผิดเพศมากขึ้น  เพื่อให้เป็นที่สนใจและยอมรับ  หรือเมื่อถูกกีดกันจากเพศเดียวกัน  ก็อาจจับกลุ่มพวกที่แสดงออกผิดเพศเหมือนกัน  เป็นการแสวงหากลุ่มที่ยอมรับ  แต่ทำให้การแสดงออกผิดเพศมากขึ้น 

ความภาคภูมิใจตนเอง (self esteem) เกิดจากการที่ตนเองเป็นที่ยอมรับของเพื่อนและคนอื่นๆได้  รู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า  เป็นคนดีและมีประโยชน์แก่ผู้อื่นได้  ทำอะไรได้สำเร็จ เกิดความรู้สึกพอใจตนเอง  ภูมิใจตนเอง  เมื่อถึงขั้นนี้  เวลาทำอะไรสำเร็จ  จะไม่จำเป็นต้องการการชื่นชมจากภายนอก  เพราะสามารถชื่นชมตนเองได้  การเปลี่ยนแปลงทางเพศในวัยนี้อาจทำให้เด็กรู้สึกภูมิใจในตนเอง  จากการมีการเปลี่ยนแปลงทางเพศที่ทำให้เป็นที่สนใจของผู้อื่น  ในทางตรงข้ามเด็กที่เปลี่ยนแปลงช้า  หรือไม่มีลักษณะเด่นทางเพศอาจเสียความภูมิใจในตนเอง  เสียความมั่นใจตนเอง (self confidence)   วัยรุ่นบางคนไม่มีข้อดีข้อเด่นด้านใดเลย  อาจแสดงออกทางเพศมากขึ้นเพื่อให้ตนเองรู้สึกภูมิใจในตนเอง  หรือบางคนมีแฟนเร็วหรือมีเพศสัมพันธ์เร็วเพราะเป็นวิธีที่ทำให้รู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า  มีคนต้องการ  มีคนทำดีด้วย  วัยรุ่นที่มีปัญหาครอบครัวจึงมักมีพฤติกรรมทางเพศเร็ว  เช่นมีแฟน  มีเพศสัมพันธ์    เพื่อชดเชยหรือทดแทนความรู้สึกเบื่อ  เหงา  ไร้ค่า  เมื่อมีเพศสัมพันธ์แล้ว  ก็ยิ่งรู้สึกตนเองไม่มีคุณค่ามากขึ้น  บางคนใช้เรื่องเพศเป็นสะพานสู่ความต้องการทางวัตถุ ได้เงินตอบแทน  หรือโอ้อวดเพื่อนๆว่ามีพลังทางเพศมาก

ความเป็นตัวของตัวเอง  (independent  :  autonomy)  วัยนี้รักอิสระ  เสรีภาพ ไม่ค่อยชอบอยู่ในกฎเกณฑ์กติกาใดๆ  ชอบคิดเอง  ทำเอง  พึ่งตัวเอง  เชื่อความคิดตนเอง   มีปฏิกิริยาตอบโต้ผู้ใหญ่ที่บีบบังคับสูง    ความอยากรู้อยากเห็นอยากลองมีสูงสุดในวัยนี้  ทำให้อาจเกิดพฤติกรรมเสี่ยงได้ง่าย  ถ้าวัยรุ่นขาดการยั้งคิดที่ดี  เมื่อมีความสนใจทางเพศ  อาจมีพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศ  เช่น  แต่งกาย  การเที่ยวกลางคืน  ดื่มเหล้าหรือเสพยาเสพติด  ทำให้เกิดเพศสัมพันธ์ตามมา  การจัดขอบเขตในวัยรุ่นจึงต้องให้พอดี  ถ้าห้ามมากเกินไป  วัยรุ่นอาจแอบทำนอกสายตาผู้ใหญ่  แต่ถ้าปล่อยปละละเลยเกินไป  วัยรุ่นจะขาดกรอบที่ใช้เป็นหลักในการควบคุมตนเอง  การสอนการควบคุมตัวเองเรื่องเพศจึงต้องอาศัยความสัมพันธ์ที่ดี  ฝึกให้คิดด้วยตัวเอง  เปิดโอกาสให้วัยรุ่นเรียนรู้  แต่อยู่ในขอบเขต

การควบคุมตนเอง (self control) วัยนี้เรียนรู้ที่จะควบคุมความคิด  การรู้จักยั้งคิด การคิดให้เป็นระบบ  เพื่อให้สามารถใช้ความคิดได้อย่างมีประสิทธิภาพ  และ อยู่ร่วมกับผู้อื่นได้  แต่วัยรุ่นบางคนอาจขาดการควบคุมตนเอง เมื่อเกิดความรู้สึกทางเพศหรือความต้องการทางเพศ อาจนำมาซึ่งพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศได้  วัยนี้ควรสอนให้ควบคุมตนเองโดยอยากควบคุมจากใจตนเอง  ให้รู้ว่า  ถ้าไม่ควบคุม  จะเกิดข้อเสียอะไรบ้าง  ถ้าควบคุมจะมีข้อดีอย่างไร  การฝึกให้วัยรุ่นใช้สมองส่วนคิดมากขึ้นนี้  จะทำให้เกิดการคิดก่อนทำ  ไตร่ตรองอย่างรอบคอบ  สมอง “ส่วนคิด” จะมาควบคุมสมอง “ส่วนอยาก”  หรือควบคุมด้านอารมณ์ได้มากขึ้น  อารมณ์เพศสามารถควบคุมได้ด้วยตัวเองเช่นกัน

อารมณ์ (mood)   อารมณ์จะปั่นป่วน  เปลี่ยนแปลง  หงุดหงิด  เครียด  โกรธ   กังวล ง่าย   อาจมีอารมณ์ซึมเศร้าโดยไม่มีสาเหตุ  อารมณ์ไม่ดีเหล่านี้อาจทำให้เกิดพฤติกรรมเกเร  ก้าวร้าว   มีผลต่อการเรียนและการดำเนินชีวิต  ในวัยรุ่นตอนต้น  การควบคุมอารมณ์ยังไม่ค่อยดีนัก  บางครั้งยังทำอะไรตามอารมณ์ตัวเอง  แต่จะค่อยๆดีขึ้นเมื่อโตขึ้น  วัยรุ่นจะสามารถจัดการกับความวิตกกังวล  และอารมณ์ซึมเศร้าได้  ด้วยการเข้าใจ  รู้อารมณ์ตัวเอง  สงบอารมณ์ได้ด้วยวิธีการต่างๆ  เช่น ปรึกษาหารือ  กิจกรรมเบนความรู้สึก  ฝึกสติสมาธิ หรือกิจกรรมผ่อนคลายตนเอง  ฝึกปรับเปลี่ยนความคิด  การแก้ปัญหา 

วัยรุ่นบางคนอาจหันไปใช้กิจกรรมที่ช่วยลดความเครียดหรือเพิ่มความสนุกสนานแต่เกิดปัญหาตามมา  ได้แก่  การมีแฟน  มีเพศสัมพันธ์  การใช้เหล้าและยาเสพติด  แต่เป็นการแก้ปัญหาชั่วคราว  และทำให้เกิดปัญหาแทรกทับซ้อนมากขึ้น  จึงควรช่วยฝึกให้วัยรุ่นใช้วิธีแก้ไขปัญหาอารมณ์อย่างถูกต้อง

                อารมณ์เพศเกิดขึ้นวัยนี้มาก  ทำให้มีความสนใจเรื่องทางเพศ  หรือมีพฤติกรรมทางเพศ  เช่นการมีเพื่อนต่างเพศ  การดูสื่อยั่วยุทางเพศรูปแบบต่าง  การสำเร็จความใคร่ด้วยตนเอง   ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องปกติในวัยนี้   แต่ควรให้มีแต่พอควร  ไม่หมกมุ่นหรือปล่อยให้มีสิ่งแวดล้อมกระตุ้นทางเพศมากเกินไป วัยนี้อาจแสดงพฤติกรรมทางเพศบางอย่างอาจเป็นปัญหา  เช่น  เบี่ยงเบนทางเพศ   กามวิปริต หรือการมีเพศสัมพันธ์ในวัยรุ่น  การฝึกให้วัยรุ่นเข้าใจ  ยอมรับ  และจัดการอารมณ์เพศอย่างถูกต้องดีกว่าปล่อยให้วัยรุ่นเรียนรู้เอง

จริยธรรม (moral development) วัยนี้สามารถพัฒนาให้มีจริยธรรม  แยกแยะความผิดชอบชั่วดีได้  เริ่มมีระบบมโนธรรมของตนเอง   ต้องการความถูกต้อง  ความชอบธรรมในสังคม  ชอบช่วยเหลือผู้อื่น   ต้องการเป็นคนดี  เป็นที่ชื่นชอบของคนอื่น    และบางคนอาจรู้สึกอึ[คำไม่พึงประสงค์]ัดคับข้องใจกับความไม่ถูกต้องในสังคม  หรือในบ้าน  แม้แต่พ่อแม่ของตนเองเขาก็เริ่มรู้สึกว่าไม่ได้ดีสมบูรณ์แบบเหมือนเมื่อก่อนอีกต่อไป  เมื่อรู้ว่าอะไรผิดถูก  วัยรุ่นตอนต้นจะเริ่มมีการควบคุมตนเอง   ในระยะแรกอาจยังไม่ดีนัก  แต่เมื่อเข้าสู่วัยรุ่นตอนปลาย  การควบคุมตนเองจะดีขึ้น  จนเป็นระบบจริยธรรมที่สมบูรณ์เหมือนผู้ใหญ่  คือรู้ว่าอะไรไม่ควรทำ  และสามารถควบคุมตนเองได้ด้วย  จริยธรรมวัยนี้เกิดจากการเรียนรู้ที่สัมพันธ์กับคนใกล้ชิด  คือพ่อแม่ ครู และเพื่อน  การมีแบบอย่างที่ดี จะช่วยให้วัยรุ่นมีจริยธรรมที่ดีด้วย  เพื่อนมีอิทธิพลสูงในการสร้างทัศนคติค่านิยมและจริยธรรม  ถ้าเพื่อนไม่ดี  อาจชักจูงให้เด็กขาดระบบจริยธรรมที่ถูกต้อง  โดยเฉพาะจริยธรรมทางเพศ  วัยรุ่นที่อยู่ในกลุ่มที่เห็นว่า  การมีเพศสัมพันธ์ในวัยรุ่นเป็นเรื่องปกติ  จะมีเพศสัมพันธ์สูงกว่าวัยรุ่นทั่วไปอื่นๆ 

จริยธรรมทางเพศในวัยรุ่นนี้  ควรให้เกิดความเข้าใจต่อเพศตรงข้าม  ให้เกียรติ  และยับยั้งใจทางเพศ  ไม่ละเมิดทางเพศหรือล่วงเกินผู้อื่น 

พัฒนาการทางสังคม (Social Development) วัยนี้จะเริ่มห่างจากทางบ้าน  ไม่ค่อยสนิทสนมคลุกคลีกับพ่อแม่พี่น้องเหมือนเดิม  แต่สนใจเพื่อนมากกว่า  ใช้เวลากับเพื่อนนานๆ     มีกิจกรรมนอกบ้านมาก   ไม่อยากไปไหนกับทางบ้าน  และเริ่มมีความสนใจเพศตรงข้าม  สนใจสังคมสิ่งแวดล้อม  ปรับตัวเองให้เข้ากับกฎเกณฑ์กติกาของกลุ่ม  ของสังคมได้ดีขึ้น   มีความสามารถในทักษะสังคม(social skills and life skills)  การสื่อสารเจรจา  การแก้ปัญหา  การประนีประนอม  การยืดหยุ่นโอนอ่อนผ่อนตามกัน  และการทำงานร่วมกับผู้อื่น  พัฒนาการทางสังคมที่ดีจะเป็นพื้นฐานมนุษยสัมพันธ์ที่ดี  และบุคลิกภาพที่ดี  สร้างความสัมพันธ์กับคนที่พึงพอใจทางเพศ  และรักษาความสัมพันธ์ให้ยืนยาวจนตกลงร่วมเป็นคู่ครอง  และสร้างครอบครัวให้ยืนยาวต่อไปได้

การสอนเพศศึกษาในระดับอุดมศึกษา

ระดับอุดมศึกษา 

ในการสอนสุขศึกษา ควรจัดการสอนที่เน้นกิจกรรมที่สนุกสนาน จูงใจให้นักศึกษาเข้ากลุ่มก่อน แล้วจึงสอดแทรกเนื้อหา รวมถึงสถานที่บริการการให้คำปรึกษาต่างๆเข้าไป  เนื่องจากนักศึกษาเป็นบุคคลที่ใกล้บรรลุนิติภาวะแล้ว และผ่านการเรียนเรื่องเพศศึกษามามาก ดังนั้นเนื้อหาที่ควรเน้นก็คือ เรื่องการดูแลอนามัยการเจริญพันธุ์ของตนเอง การมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย การป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โดยเฉพาะโรคเอดส์ รวมไปถึงเรื่องการตั้งครรภ์  การป้องกันการตั้งครรภ์ ทั้งเพศชายและหญิง เช่นผู้หญิงก้อสอนเรื่อง การใช้ยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน ผู้ชายก็สอนเรื่องการใช้ถุงยางอนามัย และสอนให้ตระหนังถึงโทษของคำว่า "ลืม" หรือคิดว่า "ช่างมัน" เป็นต้น และสำหรับนักศึกษาเรียนคณะศึกษาศาสตร์ หรือ ครุศาสตร์ ความจะสอนครูสุขศึกษาให้ มองการสอนเพศศึกษาเป็นการพูดถึง “ความจริงของชีวิตคน” ซึ่งมีทั้งด้านบวกและด้านลบ ต้องเข้าใจวิถีชีวิตปัจจุบันว่าการรับรู้ในชีวิตของเด็กไปไกลกว่าห้องเรียนมากมาย อยู่นอกเหนือการควบคุม จึงเป็นลบได้ง่ายเพราะได้รับข้อมูลไม่รอบด้าน แต่การเรียนการสอนในชั้นเรียนมีจุดประสงค์หลักคือ ให้ผู้เรียนวิเคราะห์ด้วยตัวเอง มองเห็นความสำคัญของผู้อื่น จึงเป็นบวก และได้นำข้อถกเถียงนี้ไปเป็นคำถามหลังเรียนวิชาเพศศึกษาแบบรอบด้านด้วยเช่นกัน และความท้าทายที่ผู้สอนต้องเผชิญคือ การไม่ใช้อคติไปตัดสินเด็ก ไม่ว่าคำตอบนั้นจะเป็นอย่างไร เพราะการพูดคุยเรื่องเพศวิถีเป็นเรื่องละเอียดอ่อน กระทบต่อตัวตนของคน ผู้เรียนย่อมจับตามองท่าที ทัศนคติต่อเรื่องเพศของผู้สอนไปด้วยพร้อมกัน และต้องมองทะลุในกรอบเนื้อหาของวิชาว่า ครอบคลุมวิถีชีวิตทุกด้านโดยมองจากความเป็นเพศ ไม่ใช่การมีเพศสัมพันธ์เท่านั้น 

http://www.teenpath.net/content.asp?ID=389

http://www.radompon.com/webboard/index.php?topic=33.0

http://www.familynetwork.or.th/node/15488?page=5

หมายเลขบันทึก: 426555เขียนเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2011 17:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 09:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ยอดเยี่ยมมากครับ คุณครูเกรียงไกร ตอนนี้ฝึกสอนจริงๆๆแล้ว สอนแบบที่อาจารย์อาจารยเคยแนะนำไหมคะ ลองเล่าประสบการณ์ให้ฟังบ้างนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท