ถึง คนพิการจังหวัดพัทลุง ฉบับที่ 3


“งานช่วยคนพิการนี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะผู้พิการไม่ได้เป็นผู้อยากพิการ ถ้าไม่ช่วยเขาให้สามารถที่จะปฏิบัติงานอะไรเพื่อชีวิตและมีเศรษฐกิจของครอบครัว จึงทำให้เกิดสิ่งที่หนักแก่ครอบครัว หนักแก่ส่วนรวม ฉะนั้นนโยบายที่จะทำคือ ช่วยให้เขาช่วยเหลือตัวเอง เพื่อให้เขาสามารถเป็นประโยชน์ต่อสังคม” พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานแก่คณะกรรมการมูลนิธิอนุเคราะห์คนพิการ ณ พระราชตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อวันศุกร์ที่ 22 มีนาคม พุทธศักราช 2517

     ต่อจาก ถึง คนพิการจังหวัดพัทลุง ฉบับที่ 1 
     ต่อจาก ถึง คนพิการจังหวัดพัทลุง ฉบับที่ 2

     ถึง คนพิการจังหวัดพัทลุง ฉบับที่ 3

     หลังจากที่ผมได้กล่าวไว้ในฉบับที่ 1 ที่กล่าวถึง ว่าเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2548 "น.พ.ยอร์น  จิระนคร ได้อนุมัติให้ศูนย์สุขภาพชุมชนบ้านเกาะเรียน สำนักงานสาธารณสุขอำเภอตะโหมด ได้จัดทำโครงการเพื่อส่งเสริมการเข้าถึงสิทธิและการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แก่คนพิการ โดยการจัดการอบรมหมอนวดพื้นบ้าน (ที่มีประสบการณ์ และเคยผ่านการอบรมหลักสูตรขั้นพื้นฐานมาแล้ว) ตามหลักสูตรเวชศาสตร์ฟื้นฟูสำหรับคนพิการ วงเงินรวม 59,040 บาท" ไว้แล้วนั้น ซึ่งโครงการนี้จะได้ผลผลิตเพียงแค่ 10-12 คนเท่านั้น ในขณะที่งบประมาณก็มีอยู่อย่างจำกัด จะทำอย่างไรให้มีหมอนวดฯ มากกว่านี้หากประเมินในเบื้องต้นแล้วพบว่าหลักสูตรฯ มีประสิทธิผล อีกทั้งจำนวนตัวอย่างที่ใช้ประเมินก็น้อยมากหากจะให้ได้รับการยอมรับหลักสูตรฯนี้ แต่ยังไงก็ต้องประเมินเท่านี้แหละครับ

     ผมก็เริ่มค้นคว้า (search) หาข้อมูลเพื่อประกอบการเขียนโครงร่างการประเมินผลหลักสูตรฯ ดังกล่าว และขั้นตอนการขออนุญาตทำวิจัยในคนด้วย ก็พบว่าที่หน้าเวบของ สวรส.--> ข่าวประชาสัมพันธ์ มีเรื่องที่ติดใจคือข่าว แผนงานสร้างเสริมสุขภาพคนพิการในสังคมไทย ซึ่งมีรายละเอียดที่น่าสนใจและจะเติมเต็มส่วนที่ขาดนี้ได้ จึงตัดสินใจในทันทีที่จะส่งรายละเอียดเพื่อขอประสานงานไปดังนี้

จดหมายส่งไป สวรส. 17 ก.ย. 48

เรียน ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข
     สืบเนื่องจากแผนงานสร้างเสริมสุขภาพคนพิการในสังคมไทย ตามรายละเอียดที่ http://www.hsri.or.th/html/news11.html  ซึ่งผมได้อ่านนั้น พบว่าส่วนหนึ่งมีความสอดคล้องกับแนวทางที่ สสจ.พัทลุงได้ดำเนินการอยู่บ้าง (ดูรายละเอียดได้ที่ http://gotoknow.org/archive/2005/09/15/10/12/30/e3937 และ http://gotoknow.org/archive/2005/08/28/11/53/26/e3126 )
     โดยในสาระสำคัญคือโครงการส่งเสริมการเข้าถึงสิทธิและการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แก่คนพิการ โดยการจัดการอบรมหมอนวดพื้นบ้าน (ที่มีประสบการณ์ และเคยผ่านการอบรมหลักสูตรขั้นพื้นฐานมาแล้ว) ตามหลักสูตรเวชศาสตร์ฟื้นฟูสำหรับคนพิการ ซึ่งมีรายละเอียดขั้นตอนการพัฒนาและการประเมินหลักสูตรฯ ตามเอกสารที่ผมได้แนบไฟล์มาด้วยแล้ว
     จึงอยากจะขอคำปรึกษาว่า 1.) ผมและทีมงานฯ (มี นพ.ยอร์น จิระนคร นพ.สสจ.พัทลุง เป็นหัวหน้าทีมฯ) จะสามารถพัฒนาโครงการนี้เพื่อประเมินประสิทธิผลให้มีความน่าเชื่อถือทางวิชาการภายใต้การสนับสนุนของ สวรส.ได้หรือไม่ และจะต้องทำอย่างไรบ้างครับ และ 2.) สวรส.จะมีข้อแนะนำอย่างไรบ้างสำหรับการดำเนินงานฯนี้ ซึ่งหากได้ทราบความประการใด โปรดส่งเมล์กลับที่ [email protected] cc [email protected] ครับ
ขอแสดงความนับถือ
อนุชา  หนูนุ่น 

จดหมายตอบกลับจาก สวรส. 19 ก.ย. 48

เรียน คุณหมอ  อนุชา  หนูนุ่น
     สวรส. กำหนดจะลงไปนำเสนอแผนงานฯ และพูดคุยกับเครือข่ายสุขภาพภาคใต้ ที่สนใจแผนงานนี้ โดยประสานกับ สวรส.ภาคใต้ และมี ผศ.พงศ์เทพ  สุธีรวุฒิ  อาจารย์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และเป็นผู้จัดการสวรส.ภาคใต้ เป็นผู้จัด  ในวันที่ 23 กันยายน 2548 นี้  ตั้งแต่เวลา 8.30 น. ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หากคุณหมอมีความสนใจที่จะเข้าร่วมการเสวนาครั้งนี้  เพื่อทราบรายละอียดของแผนงาน และการร่วมมือแผนงานนี้ ขอความกรุณาติดต่อ
        ผศ. พงศ์เทพ  สุธีรวุฒิ
        ชั้น 6 อาคารบริหาร คระแพทยศาสตร์
        มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
        ต.คอหงส์ อ.หาดใหญ๋ จ.สงขลา 90110
        หรือ โทร. 0-7442-9900 ต่อ 1168 โทรสาร 0-7421-2900 

     สำหรับรายละเอียดที่คุณหมอส่งมา ดิฉันจะได้ส่งต่อให้ พญ.วัชรา  ริ้วไพบูลย์  ผู้จัดการแผนงาน ฯ เพื่อพิจารณาค่ะ
     ขอบคุณที่คุณหมอที่ให้ความสนใจในกิจกรรมของแผนงานสร้างเสริมสุขภาพคนพิการในสังคมไทยค่ะ
                สมใจ  ประมาณพล
                ผู้จัดการงานวิจัย
                สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.)
                0-2951-1286 ต่อ 124 , 01-7018340

จดหมายส่งไป สวรส.อีกครั้ง 22 ก.ย. 48

เรียน คุณสมใจ (สวรส.)
     ผมมีกิจกรรมหลาย ๆ อย่าง ๆ ใน 2-3 วันนี้ ล้วนเป็นการสร้าง empowerment ให้แก่ทีมงานในเครือข่ายครับ
     ขอบคุณมาก ๆ สำหรับข้อมูลข่าวสารที่ได้รับ และผมได้ติดต่อไปยัง สวรส.ภาคใต้ มอ. แล้วตั้งแต่วันที่ได้รับเมล์ครับ พรุ่งนี้ผมและทีมงานจะไปร่วมด้วยโดยได้นำแผนงานฯ ไปเสนอเพื่อขอคำปรึกษาและข้อคิดเห็นครับ
     ผมขอบคุณมากอีกครั้งด้วยใจจริงครับที่ทุกอย่างสามารถลงตัวลงได้ด้วยดีในเบื้องต้น
              อนุชา  หนูนุ่น
     ปล. ผมเป็นแค่หมออนามัยนะครับ หาใช่แพทย์ เวลาคุณเรียกผมว่าหมอจะเขินนะครับ หากชาวบ้านเรียกก็จะคุ้นชินไม่เป็นไร (แอบอ้าง)
บทสรุป
     การติดต่อไปยัง สวรส.ภาคใต้ มอ. ผมได้รับความสะดวกมาก และที่สำคัญ พอเจ้าหน้าที่รับสายก็สอบถามผมทันทีว่าได้รับบทวิจารณ์โครงร่างวิจัย "ไตรภาคีร่วมพัฒนาสุขภาพชุมชน" หรือยัง นี่เป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งที่เรียกว่าคุณภาพบริการจริง ๆ ผมยังประทับใจในทันที ผมตั้งคำถามในทันทีว่า สวรส.ภาคใต้ มอ.พัฒนาคนหรือเลือกคนของเขาอย่างไรถึงได้มีคุณภาพ (จากหลาย ๆ ครั้งที่ได้ติดต่อกัน พบเจอกัน ขณะที่พัฒนาโครงร่างวิจัย "ไตรภาคีร่วมพัฒนาสุขภาพชุมชน" สิ่งเหล่านี้มีอยู่อย่างคงเส้นคงวา)
     หลังจากการพูดคุยที่มาที่ไปกันแล้ว และเย็นวันที่ 21 ผมได้นัดพบปะหารือกับทีมงาน "ไตรภาคีฯ" หมอก็บอกว่า สวรส.ภาคใต้ มอ. ส่ง fax ขอเชิญเข้าประชุมมาแล้วอยู่ที่หน้าห้องฯ ขอให้ผมไปติดตามเอาพรุ่งนี้เช้าด้วย อะไรจะรวดเร็วปานนั้นครับ ณ ตอนนั้นผมก็นัดแนะทีมงานเพื่อเดินทางในวันที่ 23 ฯ กันทันที โดยมีพี่ชลิตฯ สอ.บ้านเกาะเรียน และพี่สุรินทร์ฯ รพ.ตะโหมด ร่วมเดินทาง
     สิ่งที่จะไปร่วมพูดเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ก็ไม่ต้องเตรียมอะไรมาก เพราะได้ผ่านขั้นตอนการตกผลึกทางความคิดก่อนหน้านี้ ในช่วงที่พัฒนาโครงการฯกันอยู่เรียบร้อยแล้ว (ข้อดีของการถอดบทเรียนหลังการดำเนินงานทุกครั้งด้วยหลักจตุปุจฉา) โดยสรุปทางเราต้องการให้ช่วยขยายผลให้ได้ผลผลิตสัก 40 คน ซึ่งจะรอผลการประเมินและแนวทางในครั้งแรกที่ใช้งบของ สสจ.พัทลุงก่อนก็ได้ครับ
     และนี่คือสิ่งที่จะรางานความก้าวหน้าไว้ โดยมุ่งหวังว่าหากมีผลผลิตเพียงพอระดับหนึ่งก็จะได้ช่วยให้คนพิการไม่พิการมากขึ้น รวมถึงเป็นการสร้างสุขภาพให้เขาเหล่านั้นได้ด้วยในอนาคต ที่สำคัญแผนงานมีผลกระทบ (Impact) มากมายที่จะเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการสร้างอาชีพให้แก่หมอนวดพื้นบ้าน หรืออื่น ๆ อีกมากมายครับ

 
หมายเลขบันทึก: 4265เขียนเมื่อ 22 กันยายน 2005 21:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มีนาคม 2015 08:30 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท