จิตวิทยาการเรียนรู้สำหรับครูเพื่อศิษย์ :๕. ฝึกฝนจนเหมือนตัวจริง?



          หนังสือ Why don't students like school? เขียนโดยศาสตราจารย์ Daniel T. Willingham ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาการเรียนรู้แห่งมหาวิทยาลัย เวอร์จิเนีย บททึ่ ๖ เรื่อง What's the secret to getting students to think like real scientists, mathematicians, and historians?

          ความจริงคือนักเรียนเป็น คนหัดใหม่ (novice)  ในขณะที่นักวิทยาศาสตร์ นักคณิตศาสตร์ นักประวัติศาสตร์ เป็นผู้เชี่ยวชาญ (expert) ผ่านการฝึกฝนและประสบการณ์มากมาย  คนสองกลุ่มนี้มีวิธีคิดไม่เหมือนกัน

          ผู้เชี่ยวชาญมีความรู้มาก แต่การมีความรู้มากอาจไม่ทำให้เชี่ยวชาญ กลับทำให้สับสน ผู้เชี่ยวชาญที่แท้จริง นอกจากมีความรู้มากแล้วยังมีความสามารถพิเศษในการดึงเอาความรู้ที่ถูกต้องเอามาใช้ตรงตามสถานการณ์

          ศ. Willingham ยกตัวอย่างรายการทีวีชื่อ House ในสหรัฐอเมริกา ที่แสดงความเป็นผู้เชี่ยวชาญของนายแพทย์ เฮ้าส์ ในการวินิจฉัยโรคจากข้อสังเกตและการตรวจพบทีละอย่าง

          และชี้ให้เห็นว่า ผู้เชี่ยวชาญไม่จำเป็นต้องคิดถูกในทุกขั้นตอนของการคิด  แต่ผู้เชี่ยวชาญจะเปิดใจกว้างไว้เผื่อข้อมูลหรือหลักฐานที่มีเพิ่มขึ้น

          ความสามารถของผู้เชี่ยวชาญที่ต่่างจากคนหัดใหม่ คือการเชื่อมโยง (transfer) เอาความรู้จากต่างศาสตร์ หรือข้อมูลจากต่างสถานการณ์ มาวิเคราะห์ และปรับใช้ในสถานการณ์ของตน   เช่นนักวิทยาศาสตร์ใช้ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ของตนวิเคราะห์ข้อมูลด้านประวัติศาสตร์

          ลักษณะของผู้เชี่ยวชาญคือ ตาแหลม มองเห็นประเด็นที่คนอื่นหรือคนหัดใหม่มองไม่เห็น

          คนหัดใหม่ มีวิธีทำให้ตนเองคิดแบบผู้เชี่ยวชาญโดย ๔ กลไก

๑.   เพิ่มต้นทุนความรู้ (background knowledge หรือ longterm memory) และจัดระบบไว้อย่างดี ให้พร้อมใช้่ (เรียกว่า functional knowledge) ดึงเอาไปใช้ตรงตามสถานการณ์ได้อย่างรวดเร็ว


๒.   ฝึกฝนตนเองให้มีความสามารถใช้พื้นที่ working memory ที่มีจำกัด ในการคิดได้มากและซับซ้อนขึ้น


๓.   ฝึกคิดแบบลึก (deep structure)  หรือแบบ functional หรือคิดตีความหาความหมาย (meaning) ไม่ใช่คิดแบบตื้น (surface structure) ตามที่ตาเห็น


๔.   คุยกับตัวเอง ว่ากำลังขบปัญหาอะไรอยู่ ในลักษณะของการมองแบบนามธรรม หรือแบบ generalization และตั้งสมมติฐานเกี่ยวกับการแก้ปัญหานั้นไปในตัว

          จะเห็นว่า ข้อ ๒ - ๔ เป็นเรื่องของการฝึกฝน และมีหลักฐานมากมายที่แสดงว่า คนที่ประสบความสำเร็จเรื่องใด้เรื่องหนึ่งในระดับอัจฉริยะนั้น ปัจจัยสำคัญที่สุดอยู่ที่การฝึกฝนอย่างเอาจริงเอาจัง ที่เรียกว่าเคี่ยวกรำเป็นเวลานาน อย่างไม่เบื่อไม่ย่อท้อ   อย่างที่ระบุไว้ในหนังสือ Outliers   คนบางคนอาจโชคดีที่ฝึกฝนตนเองในระดับดังกล่าวได้ แต่คนทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กนักเรียน ต้องการโค้ชที่เก่ง ในการทำให้การฝึกฝนเคี่ยวกรำเป็นเรื่องไม่น่าเบื่อ ไม่ท้อถอย

          นี่คือคุณูปการของครูเพื่อศิษย์ เป็นโค้ชของศิษย์ ให้ได้ฝึกฝนตนเองอย่างสนุกสนาน มีความสุข และอดทน

          ผมคิดว่า หนังสือ Why Don't Students Like Schools : A Cognitive Scientist Answers  Questions About How the Mind Works and What It Means for the Classroom. เป็นหนังสือที่เชื่อมทฤษฎีกับหลักปฏิบัติ   ส่วนหนังสือ Teach Like Your Hair's On Fire เป็นหนังสือที่เล่าวิธีปฏิบัติของครู   หากได้อ่านทั้งสองเล่มไปด้วยกัน จะได้ทั้งวิธีปฏิบัติและได้ความเข้าใจเชิงทฤษฎี   ผมดีใจที่ สสค. กำลังจัดพิมพ์หนังสือ Teach Like Your Hair’s On Fire ฉบับแปลเป็นภาษาไทย

          ตอนท้ายของบทที่ ๖ ศ. Willingham เฉลยว่า เป็นไปไม่ได้ที่จะหวังให้นักเรียนคิดแบบผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ เช่นนักประวัติศาสตร์ นักคณิตศาสตร์ นักวิทยาศาสตร์ ฯลฯ เพราะคนหัดใหม่ยังทำ knowledge creation ไม่เป็น   ครูเพื่อศิษย์พึงอย่าตั้งความหวังสูงในระดับที่เป็นจริงไม่ได้  นักเรียนทำได้เพียงระดับ knowledge comprehension เท่านั้น

          แต่ผมคิดต่าง ผมคิดว่า การเรียนแบบ PBL ในโจทย์ที่เหมาะสมต่อระดับพัฒนาการทางสมองและการสั่งสมความรู้ของเด็ก  จะช่วยให้เด็กเรียนรู้โดยการสร้างความรู้ไปพร้อมๆ กันกับการประยุกต์ใช้ความรู้ เพื่อทำโครงการที่ได้รับมอบหมาย  ยิ่งเป็น PBL ที่ทำกันเป็นทีม ยิ่งจะเกิดการเรียนรู้อย่างเป็นธรรมชาติมากขึ้น เพราะมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเพื่อนในทีมด้วย

 

วิจารณ์ พานิช
๒๕ ม.ค. ๕๔ แก้ไข ๓๑ ม.ค. ๕๔ 
                          
         
             


 

หมายเลขบันทึก: 426286เขียนเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2011 13:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 มกราคม 2018 16:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เรียน อาจารย์วิจารณ์ที่เคารพ

ในบันทึกทั้ง ๓ ตอน มีเรื่องราวของการนำ PBL ไปสร้างกระบวนการเรียนรู้อย่างเป็นธรรมชาติให้กับกลุ่มนักเรียน ป.๓

เพื่อให้พวกเขาได้ฝึกฝนตนเองอย่างสนุกสนาน มีความสุข และอดทนค่ะ
ด้วยความเคารพ
ครูใหม่
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท