ปลูกมันสำปะหลังให้ได้ 30 ตันต่อไร่ทำได้จริงหรือ


มันสำปะหลัง

ปลูกมันสำปะหลังให้ได้ 30 ตันต่อไร่ทำได้จริงหรือ

                เกิดกระแสข่าวลือในหมู่เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังว่า มีการจัดอบรมในจังหวัดหนึ่ง

ที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อเพิ่มผลผลิตมันสำปะหลังให้ได้ 30 ตัน ต่อไร่ ด้วยนวัตกรรมที่คิดขึ้นมาเอง

โดย เน้นหลักการใหญ่ 2 ประการ เพื่อสร้างจุดขายคือ เทคนิคการใช้ท่อนพันธุ์ปลูก และการใช้ปุ๋ยชีวภาพจาก จุลินทรีย์ 12 ตระกูล ใช้เป็นหัวเชื้อในการย่อยสลายอินทรียวัตถุในกระบวนการผลิตปุ๋ยชีวภาพ โดยวัสดุที่ใช้ผลิต ปุ๋ยชีวภาพมีโดโลไมต์ มูลโค มูลไก่ไข่ มูลไก่เนื้อผสมแกลบ มูลค้างคาว และตะกอนดินที่ได้จากโรงงานน้ำตาล อย่างละ 500 กิโลกรัม พร้อมรำละเอียดอีก 90 กิโลกรัม ใช้เวลาหมักนาน 15 วัน จะได้ปุ๋ยชีวภาพจากจุลินทรีย์ จำนวน 3 ตัน ใช้เป็นปุ๋ยเพื่อเพิ่มผลผลิตมันสำปะหลัง

                กล่าวโดยรวมในเรื่องปุ๋ยชีวภาพจากจุลินทรีย์ที่โฆษณาดังกล่าวนี้ ไม่มีอะไรเป็นพิเศษไปจาก ปุ๋ยชีวภาพที่แนะนำโดยกรมพัฒนาที่ดิน หรือปุ๋ยชีวภาพที่บริษัทเอกชนผลิตขึ้นมาเพื่อจำหน่าย โดยมีสารโดโล ไมต์เป็นแหล่งให้ธาตุแคลเซียม แมกนีเซียม และปรับสภาพความเป็นกรดเป็นด่างของดินให้เป็นกลาง ส่วนมูลโค มูลไก่ไข่ และมูลไก่เนื้อผสมแกลบ เป็นแหล่งให้ไนโตรเจนและปรับโครงสร้างดินให้ร่วนขึ้น สำหรับมูลค้างคาว เป็นแหล่งให้ฟอสฟอรัสและไนโตรเจน ตะกอนดินที่ได้จากโรงงานน้ำตาลเป็นแหล่งให้โพแทสเซียม ส่วนรำ ละเอียดเป็นแหล่งคาร์โบไฮเดรตให้กับจุลินทรีย์ใช้ในการย่อยสลายวัสดุทั้งหมดเพื่อให้เป็นปุ๋ยชีวภาพ

ดังนั้น การใช้ปุ๋ยชีวภาพดังกล่าวในอัตรา 2 ตัน ต่อไร่ จึงประกอบไปด้วยธาตุอาหารหลักอย่าง ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม ส่วนธาตุอาหารรองก็ประกอบไปด้วยแคลเซียมและแมกนีเซียม มีปูน โดโลไมต์ช่วยปรับสภาพความเป็นกรดเป็นด่างของดินให้เป็นกลาง เรียกได้ว่าปรับสภาพความอุดมสมบูรณ์ของ ดินให้เหมาะสมต่อการปลูกมันสำปะหลังซึ่งเหมือนกับกรมวิชาการเกษตรแนะนำให้ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ในอัตรา 2 ตัน ต่อไร่

                เทคนิคการใช้ท่อนพันธุ์ปลูก โดยสร้างจุดขายของการปลูกมันสำปะหลังให้ออกหัวแบบคอนโดฯ แบบ คอนโดฯ สามเหลี่ยม และแบบคอนโดฯ พวงร้อย เพื่อเรียกร้องความสนใจต่อเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังให้คิด ว่าวิธีการปลูกแบบดังกล่าวเป็นเรื่องที่มหัศจรรย์ สามารถนำพาไปสู่การเพิ่มผลผลิตมันสำปะหลังให้ได้ 30 ตัน ต่อไร่ได้

รายละเอียดวิธีการปลูกทั้งสามแบบ โดย

                แบบที่ 1 การปลูกให้ออกหัวแบบคอนโดฯ ใช้ท่อนพันธุ์ส่วนที่เป็นลำต้นตัดแบบโคนตรง ปกติเกษตรกร มักตัดแบบโคนเฉียง 45 องศา โดยเฉือนเอาตาข้างท่อนพันธุ์จากด้านล่างออก 7 ตา เพื่อหวังให้ได้หัวที่เกิดจากฐาน รอบโคน 9 หัว และข้างลำต้นที่เฉือนเอาตาออกอีก 7 หัว เรียงเป็นชั้นคล้ายตึกคอนโดมิเนียม

                แบบที่ 2 การปลูกให้ออกหัวแบบคอนโดฯ สามเหลี่ยม ใช้ท่อนพันธุ์ส่วนที่เป็นลำต้นที่มีกิ่งสามง่ามแรก (primary branch) ติดอยู่ด้วยปลูก โดยเฉือนเอาตาข้างท่อนพันธุ์จากด้านล่างออก 7 ตา และเฉือนเอาตาข้างส่วนที่ เป็นกิ่งออก กิ่งละ 2 ตา เพื่อหวังให้ได้หัวที่เกิดจากตาข้างกิ่งเพิ่มขึ้นอีก 6 หัว เรียงเป็นชั้นคล้ายคอนโดมิเนียม สามเหลี่ยม

                แบบที่ 3 การปลูกให้ออกหัวแบบคอนโดฯ พวงร้อย ใช้ท่อนพันธุ์คล้ายกับการปลูกแบบคอนโดฯ สามเหลี่ยม แต่ เป็นลำต้นที่มีกิ่งสามง่ามที่สอง ติดอยู่ด้วยปลูก โดยมีความเชื่อว่าส่วนที่เป็นกิ่งสามง่ามที่สองอยู่ใกล้ยอด เป็นกิ่ง ที่อ่อนกว่ากิ่งสามง่ามแรกของลำต้นจะเจริญเติบโตได้เร็วและให้ผลผลิตดีกว่า การปลูกทั้งสามแบบใช้ท่อนปลูก ยาว 40 เซนติเมตร ปลูกปักตรง โดยให้ส่วนที่เฉือนตาออกทั้งส่วนที่อยู่ด้านข้างลำต้นและกิ่งอยู่ใต้ดิน ของท่อน ปลูกมันสำปะหลังจะเกิดขึ้นที่เพอริไซเคิล อยู่บริเวณรอยแผลระหว่างเปลือกกับเนื้อไม้ของท่อนปลูก นอกจากนี้ รากฝอยยังเกิดที่ตาของท่อนปลูกอีกด้วย รากฝอยที่เกิดจากรอยแผลที่โคนของท่อนปลูกมีมากกว่า 50 ราก ส่วน รากฝอยที่เกิดจากรอยแผลที่ตามีน้อยมากเมื่อเปรียบกับรอยแผลที่โคนของท่อนปลูก แสดงจำนวนหัวที่มีมากขึ้น แต่ก็ ไม่ได้หมายความว่าหัวใหญ่ขึ้น

ดังนั้น การที่รากฝอย จะพัฒนาเป็นหัวสะสมแป้งเป็นจำนวนมากน้อยขึ้นอยู่กับการเคลื่อนย้ายน้ำตาลและ สภาพแวดล้อม โดยเฉพาะความแน่นของดินที่ใช้ปลูก รากฝอยที่เกิดโคนท่อนปลูกจะพัฒนาเป็นหัวได้ดีกว่าราก ฝอยที่เกิดจากรอยแผลที่ตา และ ในกรณีที่เกิดปัญหาหัวเน่ารากฝอยที่โคนที่เหลือจะสามารถพัฒนาเป็นหัวสะสม อาหารขึ้นมาใหม่ได้อีก จึงไม่มีความจำเป็นต้องเฉือนเอาตาข้างของลำต้นและตาข้างของกิ่งสามง่ามออกเพื่อทำให้ เกิดหัวสะสมอาหารเพิ่มขึ้นมาอีก ซึ่งเป็นการยากต่อการปฏิบัติและการปลูกในสภาพไร่ที่มีความชื้นในดินจำกัด ต่อการงอกของท่อนปลูก นอกจากนี้หัวที่เกิดจากโคนท่อนปลูกจะออกรอบโคน สะดวกต่อการเก็บเกี่ยว และหัว ขาด ยาก

                ผลผลิตต่อไร่มันสำปะหลังแปรปรวนตามความอุดมสมบูรณ์ของดินและความเป็นประโยชน์ ของน้ำในดินของพื้นที่นั้นเป็นหลัก ซึ่งต้องใช้เวลานานพอสมควรในการปรับปรุงดินเพื่อให้มีสมรรถนะในการ ให้ผลิตสูง ไม่ใช่แค่ใช้เทคนิคการปลูกแบบคอนโดฯ และใช้ปุ๋ยจุลินทรีย์ 12 ตระกูล ดังที่โฆษณาไว้ แล้วได้ ผลผลิต 30 ตัน ต่อไร่ ในทุกพื้นที่ภายในปีเดียว

                การให้ผลผลิตของมันสำปะหลัง นั้นขึ้นอยู่กับพันธุ์และสภาพแวดล้อม ในแง่ของพันธุ์ควร เลือกพันธุ์ให้เหมาะกับพื้นที่ที่ปลูก ส่วนสภาพแวดล้อมที่เป็นปัจจัยหลักในการกำหนดผลผลิตของมันสำปะหลังก็ คือ ความอุดมสมบูรณ์ของดินและความเป็นประโยชน์ของน้ำในดิน ถึงแม้ว่าดินจะมีธาตุอาหารหลักและธาตุ อาหารรองที่จำเป็นเพียงพอต่อการเจริญเติบโตของมันสำปะหลังแล้ว ดินต้องมีคุณสมบัติในการอุ้มน้ำได้ดีด้วย มี ความสามารถให้น้ำส่วนเกินในฤดูฝนซึมผ่านลงใต้ดินได้ดี เพื่อไม่ให้เกิดหัวเน่าเพราะน้ำท่วมขัง และไม่มีชั้นดิน ดานปิดกั้นการใช้น้ำจากใต้ดินของมันสำปะหลังในช่วงฤดูแล้ง หมายความว่า ดินต้องมีคุณสมบัติทางกายภาพ เพื่อช่วยส่งเสริมให้ใช้น้ำได้ดีทั้งในฤดูฝนและฤดูแล้ง โดยตลอดการเจริญเติบโตของมันสำปะหลังจะมีช่วงชะงัก การเจริญเติบโตในช่วงฤดูแล้ง ประมาณ 5 เดือน คือตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนถึงมีนาคม ผลผลิตไม่เพิ่มขึ้นในช่วงนี้ ดังนั้น การส่งเสริมให้มันสำปะหลังได้ใช้น้ำในช่วงนี้ เพื่อให้มันสำปะหลังมีการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง มีผลทำ ให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ข้อมูลที่ได้จากการทดลองพบว่าผลผลิตมันสำปะหลังที่อายุ 12 เดือน ภายใต้ ประชากรหรือมีจำนวนต้น 1,600 ต้น ต่อไร่ หรือระยะปลูก 1x1 เมตร โดยแปลงทดลองขนาดเล็กได้ผลผลิตสูงสุด 14 ตัน ต่อไร่ โดยคำนวณจากพื้นที่ 96 ตารางเมตร แปลงทดลองขนาดใหญ่ได้ผลผลิตสูงสุด 12 ตัน ต่อไร่ โดย คำนวณจากพื้นที่ 1 ไร่จริง ถ้ามีการใช้แบบจำลองมันสำปะหลังโปรแกรม DSAT เพื่อคำนวณหาศักยภาพในการ ให้ผลผลิตของมันสำปะหลังโดยป้อนข้อมูลพันธุ์ดี การใช้ปัจจัยการผลิตที่เหมาะสม จัดสภาพแวดล้อมที่ เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของมันสำปะหลัง โปรแกรมคำนวณออกมาได้ผลผลิตสูงสุด 20 ตัน ต่อไร่

 

นำเสนอโดย: คุณวิลาวัลย์ วงษ์เกษม นวก. 8ว

กลุ่มส่งเสริมการผลิตพืชเส้นใยและพืชหัว

ส่วนส่งเสริมการผลิตพืชไร่

สำนักส่งเสริมและจัดการสินค้าเกษตร

คำสำคัญ (Tags): #บุรีรัมย์7
หมายเลขบันทึก: 425510เขียนเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2011 20:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 มิถุนายน 2012 10:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • มหา จะไปปลูกมันสำปะหลัง
  • แต่เคยปลูกมาแล้วขาดทุน
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท