ตลาดนัดความรู้ ครูเพื่อศิษย์ : ประสบการณ์ความสำเร็จเพื่อเด็กไทยวัยใส (ฝ่าวิกฤติวัยรุ่น)


จิตวิทยาวัยรุ่น ปัญญาภายในและปัญญาภายนอก ค่านิยมหรืออัตลักษณ์ทางเพศ

การจัดตลาดนัดความรู้  ครูเพื่อศิษย์ : ประสบการณ์ความสำเร็จเพื่อเด็กไทยวัยใส (ฝ่าวิกฤติวัยรุ่น)
วันที่  25 – 27  สิงหาคม  2548   ณ  โรงแรมรอยัล  ซิตี้  กรุงเทพฯ   

สรุปการบรรยายเรื่อง  “จิตวิทยาวัยรุ่น”  โดย  วิทยากร  นพ. ยงยุทธ   วงศ์ภิรมย์ศานต์   ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาวัยรุ่น  จาก  กรมสุขภาพจิต  มาเสนอเป็นความรู้ ในเรื่องของจิตวิทยาวัยรุ่น ซึ่งคณะทำงานได้รับอนุญาตจาก  นพ. ยงยุทธ  วงศ์ภิรมย์ศานต์  ให้เผยแพร่องค์ความรู้เหล่านี้เพื่อเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาวัยรุ่นต่อไป.......

จิตวิทยาวัยรุ่น

                จิตวิทยาวัยรุ่น  คือ  การเรียนรู้ของวัยรุ่นโดยมีพื้นฐานมาจากสมองของคนซึ่งมีส่วนประกอบ  2  ส่วน  คือ  (1) สมองส่วนคิด กับ (2) สมองส่วนอยาก โดยบริเวณตรงกลางของสมองจะเป็นสมองส่วนอยากซึ่งเกี่ยวข้องกับอารมณ์ และสัญชาตญาณทั้งหลาย เช่น ความก้าวร้าว  ความรุนแรงแต่การกระทำส่วนใหญ่เกิดจากสมองส่วนคิด บริเวณภายนอกทั้งหมด โดยสมองส่วนคิดทำหน้าที่  2 ประการ  คือ 

               ปัญญาภายใน  ควบคุมสมองส่วนอยาก  เช่น  คุณธรรมจริยธรรม และ ปัญญาภายนอกจะเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า  วิชาความรู้  บางคนเรียกว่า  IQ คือความรู้ที่จะนำไปใช้เพื่อจะเปลี่ยนแปลงโลก  ส่วนความรู้ ที่จะมาปรับปรุงเปลี่ยนแปลงภายในเรียกว่า EQ คือ คำซึ่งมีที่มาทางทฤษฎีไม่เหมือนกัน แต่เมื่อมาจัดระบบใหม่จะมี  2  องค์ประกอบ เช่นนี้เสมอ 

               ปัญญาภายในและปัญญาภายนอกจะมีวิวัฒนาการตามวัย  ซึ่งตัวนี้ภาษาทางจิตวิทยา เรียกว่า  หน้าต่างแห่งโอกาส คำนี้สำคัญมากเพราะการสอนจิตวิทยาทางการศึกษาเน้นน้อยไปทั้งๆ ที่สำคัญมากเพราะครูจะดูแลเด็กตามวัย ได้แก่ อนุบาล  ประถม  มัธยม  ถ้าเราไม่เข้าใจหน้าต่างแห่งโอกาสก็จะมองวัฒนาการ หรือการส่งเสริมการเรียนรู้ได้ไม่ชัดเจน 

               โดยหลักการแล้ว สมองจะพัฒนาจากส่วนด้านหลังมาสู่ส่วนหน้า  เด็กจะพัฒนาสมองในวัยต้นๆ  คือในช่วงอายุ  0-2 ปี  จากสมองส่วนหลังสุดแล้วขยับขึ้นมาเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงสมองส่วนที่พัฒนาในช่วงวัยรุ่นมากที่สุดก็คือ  สมองส่วนหน้าสุดเพราะฉะนั้น  ทารกจะพัฒนามากที่สุด จากสมองส่วนหลังสุดและในช่วงวัยรุ่นสมองส่วนหลังสุดแทบจะไม่ได้พัฒนาเลย   แต่สมองส่วนที่พัฒนามากที่สุดคือสมองส่วนหน้าสุด  เรียกง่ายๆ ว่าพัฒนาจากสมองส่วนหลังมาส่วนหน้าสุด พัฒนาการเหล่านี้ทำให้เกิด IQ และ EQ ในแต่ละช่วงไม่เหมือนกัน  เช่น  ตอนช่วงอายุ  0 - 2  ปี  สมองส่วนหลังสุดพัฒนามาก  สมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับการมองเห็น  และความจำที่เกิดขึ้นกับการมองเห็นและการสัมผัส  ถ้าเราปิดตาเด็กตั้งแต่อายุ  0 – 6 ปี  เด็กจะมองไม่เห็นทั้งๆที่ไม่ได้ตาบอดแต่มองไม่เห็นเพราะหน้าต่างแห่งโอกาสของวัยนี้ก็คือ การเติบโตของสมองส่วนหลัง แต่เราไปหยุดยั้งด้วยการไม่ให้เกิดการเรียนรู้ เด็กก็จะตาบอดมองไม่เห็นทั้งที่ตาไม่บอด การเห็นถือว่าเป็นปัญญาภายนอกเพราะเด็กจะเรียนรู้ว่านี่คือแม่ , แก้วน้ำ , จาน  และปัญญาภายในก็จะเริ่มเกิดความผูกพันและความไว้วางใจ ถ้าเด็กคนนี้อายุ  6 เดือนจะสังเกตได้ว่าใครๆ จะอุ้มก็ได้ แต่พอหลัง 6 เดือน  ไปแล้วจะไม่ยอมให้ใครอุ้มเพราะเด็กจำได้แล้ว  จะยอมให้อุ้มกับคนที่ไว้วางใจได้ คือ  แม่ พ่อ  คนใกล้ชิด แต่ถ้าเด็กคนนี้ถูกทอดทิ้งไม่ได้รับการพัฒนาปัญญาภายในจะไม่เกิด   ถ้าเด็กคนนี้ถูกปิดตา ปัญญาภายนอกก็จะไม่เกิดและจะลงเอยด้วยการมองไม่เห็น  ทั้งที่ไม่ได้ตาบอด  เมื่อปัญญาภายในไม่เกิดจะกลายเป็นเด็กที่ไม่มีความผูกพันและไม่ไว้วางใจใคร   ปัญญาภายนอกและปัญญาภายในจะคู่กันตลอด พอเข้าสู่วัยอนุบาล สมองส่วนที่พัฒนามากที่สุดคือ ส่วนที่เกี่ยวข้องกับภาษา และส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหว เด็กจะวิ่งเล่นได้ใช้กล้ามเนื้อมือได้คล่อง แต่ถ้าเราไม่ให้เด็กวิ่งเล่นในวัยนี้ไม่ให้เด็กรู้จักการใช้คำพูดต่างๆ  เรียนรู้ภาษา  สนทนา เล่านิทานในวัยนี้  ปัญญาภายนอกก็จะไม่พัฒนาขณะเดียวกันตัวนี้จะสร้างปัญญาภายใน คือ เมื่อเด็กมีความเข้าใจภาษาเขาก็จะรู้ว่าอะไรคือถูก  อะไรคือผิด เพราะฉะนั้นเด็กจะรู้เรื่องถูก เรื่องผิด  ในวัยอนุบาล  ดังนั้นเราควรสอน , เล่านิทานคติธรรมให้ฟัง เพราะเด็กวัยนี้จะรู้เรื่องถูก ผิดแล้ว  เราบอกว่าอย่าทำสิ่งนั้นสิ่งนี้เด็กจะรู้  ดังนั้นขณะเดียวกันเด็กก็ต้องการทำอะไรตามความเคลื่อนไหว  ตามความสามารถของกล้ามเนื้อของเด็ก  แต่ว่า ถ้าผู้ใหญ่ห้ามไว้พอไม่ได้ดั่งใจเด็กก็จะลงดิ้นกับพื้น  เพราะฉะนั้นผู้ใหญ่จะต้องไม่ตามใจเด็กเมื่อไม่ถูกตามใจเด็กก็จะเรียนรู้วิธีการควบคุมอารมณ์ตัวอย่างที่เกิดขึ้น คือมีเด็กลูกเจ้าของโรงงานแห่งหนึ่ง พ่อ  แม่ พามาในวัยเรียนเป็นเด็กเกเร  แกล้งเพื่อน   เด็กคนนี้ตอนวัยอนุบาลจะทำร้ายเพื่อน  เช่น   เขกหัวเพื่อน ,  ถุยน้ำลายลงชามข้าวเพื่อน   แต่กลับมีคนชมว่าเก่ง ผิดกลายเป็นถูก พอเด็กคนนี้เติบโตขึ้นมาเขาก็จะไม่รู้ถูกผิด    

             ฉะนั้นจะเห็นได้ว่าเด็กจำนวนมากที่โตผ่านวัยนี้โดยไม่ได้เรียนรู้ว่าอะไรถูก อะไรผิดก็จะมีความบกพร่องใน       2  เรื่องนี้คือ ไม่รู้จักถูกผิดและไม่ควบคุมอารมณ์  เรื่องถูกผิดคนไทยยังสอนลูกอยู่แต่เรื่องไม่ควบคุมอารมณ์ยังแย่อยู่  พอมาเป็นวัยเรียนสมองส่วนที่พัฒนามากคือ   สมองส่วนที่ต้องพัฒนาด้านตัวเลข  รากฐานปัญญาภายในที่สำคัญคือ  คณิตศาสตร์ การที่เด็กเข้าใจตัวเลขได้เป็นรากฐานของวิชาคณิตศาสตร์   และเป็นรากฐานปัญญาภายในด้วย  การเข้าใจตัวเลขคือการรู้คุณค่าของจำนวนนั้นก็คือ  ความประหยัด  ฉะนั้นในเด็กวัยประถมจะต้องเรียนรู้การประหยัด   แต่สิ่งที่เรากระทำกับเด็กส่วนใหญ่คือการให้เงินเขาใช้มาก ๆ ตามใจเด็ก ดังนั้นพอถึงวัยรุ่นซึ่งหน้าต่างแห่งโอกาสการประหยัดปิดไปแล้ว    แต่เราเริ่มมาสอนความประหยัดก็จะไม่ได้ผล เพราะปัญญาภายในช่วงที่เกิดมาคือ  ความประหยัดนั้นเด็กเริ่มสนใจ อยากทำโน่น  อยากทำนี่  แต่เรากลับไปตามใจและไม่ได้จัดระเบียบให้เด็ก ปัญญาภายในจึงไม่เกิด  ซึ่งคือ  วินัย  ดังนั้น  ครู /  ผู้ปกครองจะต้องจัดระเบียบความสนใจไม่ใช่ให้เด็กทำตามใจชอบ ฉะนั้นวินัยจะเกิดขึ้นในวัยนี้
              วันนี้มาพูดกันเรื่องวัยรุ่น  มีปัญญาภายนอกและภายในที่เกิดขึ้นบนพื้นฐานการเปลี่ยนแปลง  คือ  ฮอร์โมนเพศ  ผลของฮอร์โมนเพศจะส่งผลต่อสมองของเด็กตั้งแต่อยู่ในครรภ์  ทำให้สมองของเด็กผู้ชาย  และเด็กผู้หญิงมีความถนัดบางอย่างแตกต่างกันบ้าง  และความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่สุดของสมองมนุษย์ก็คือ ฮอร์โมนเพศนั่นเอง สมัยก่อนมักเข้าใจผิดกันว่าฮอร์โมนเพศมีผลกับสรีระ เช่น ผู้หญิงมีทรวงอกและ ผู้ชายเสียงห้าว ที่จริงเรื่องนี้ไม่สำคัญเท่าไหร่ ตัวที่สำคัญมากคือฮอร์โมนเพศมีผลต่อสมองที่จะออกฤทธิ์  อันดับแรกคือ สมองส่วนอยากบริเวณตรงกลางจะออกฤทธิ์      3  ประการ คือ
            1. ทำให้เกิดมีความสนใจและความรู้สึกทางเพศ เพราะผู้หญิงกับผู้ชายต่างกันที่ตรงฮอร์โมนเพศโดยฮอร์โมนเพศจะกระตุ้นให้ผู้หญิงมีความสนใจเพศตรงข้าม  ผู้หญิงเริ่มมองครูผู้ชาย  นิยมดาราผู้ชาย  แต่ความรู้สึกทางเพศไม่รุนแรง  ส่วนฮอร์โมนเพศชายจะกระตุ้นสมองส่วนอยากโดยที่จะกระตุ้นความรู้สึกทางเพศด้วย  ดังนั้น  เมื่อเด็กชายอายุ  14 – 15  ปี  ก็จะสำเร็จความใคร่ด้วยตัวเองถึงแม้จะไม่มีใครสอนเพราะเป็นธรรมชาติ  สรุปว่าเมื่อฮอร์โมนเพศไปเลี้ยงสมองส่วนอยากก็จะทำให้มีการตอบสนองความรู้สึกทางเพศ แต่ฮอร์โมนเพศหญิงจะแสดงออกมาในเรื่องของความสนใจเพศตรงข้ามมากกว่าความรู้สึกทางเพศ
            2. เกิดความก้าวร้าว  คือ  สมองส่วนอยากจะทำให้เกิดอารมณ์และสัญชาติญาณดังนั้นการกระตุ้นของฮอร์โมนเพศก็จะทำให้เพิ่มความรุนแรง  ก้าวร้าวด้วย 
            3. อารมณ์อ่อนไหว
                        ทั้ง  3  ประการนี้ที่เกิดขึ้นในวัยรุ่นเป็นผลทำให้ฮอร์โมนเพศออกฤทธิ์ต่อสมองส่วนอยาก  แต่สมองส่วนคิดต้องเรียนรู้ที่จะควบคุม  ช่วงนี้เด็กจะเกิดการพัฒนาเรียกว่า  อัตลักษณ์  (Identity)  ภาษาทางจิตวิทยา   เรียกง่ายๆ ก็คือ  ค่านิยม  ซึ่งมี  2  ชนิด  คือ
             1. ค่านิยมทางเพศ
             2. ค่านิยมทางสังคม
                   เหล่านี้คือปัญญาภายใน ส่วนปัญญาภายนอกก็คือการใช้วิชาความรู้ที่สะสมมาตั้งแต่ชั้นประถมและ
เริ่มที่จะพัฒนาขยายต่อไปเรื่อยๆกลายเป็นทักษะวิชาการในที่สุด   เป็นวิชาชีพเมื่อนั้นเด็กจะเลือกเรียน มหาวิทยาลัย , เรียนแพทย์ , นิติศาสตร์  หรือรัฐศาสตร์  ส่วนสมองหน้าสุดของวัยรุ่นจะทำหน้าที่ที่สำคัญ คือ ความสามารถในการตัดสินใจในการแก้ไขปัญหาซึ่งจะเติบโตเรื่อยๆ จนถึงอายุ  25 ปี ความรู้นี้เป็นความรู้ใหม่สมัยก่อนเข้าใจว่าสมองจะพัฒนาโตมากที่สุด  6  ปี ต่อมาเราเข้าใจว่าสมองจะพัฒนาจนถึงอายุ 12  ปี  ตอนนี้มีความรู้ใหม่ล่าสุดก็คือ สมองจะพัฒนาเติบโตมีการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานจนถึงอายุ  25 ปี  แต่ละวัยไม่เหมือนกันว่ามีการเปลี่ยนแปลงมากที่สุดที่จุดไหน  โดยไล่จากสมองส่วนหลังมาหาสมองส่วนหน้า  ในช่วงวัยรุ่น สมองยังมีการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานแต่การเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานของวัยรุ่นนั้นจะโฟกัสอยู่รอบๆ  บริเวณที่เรียกว่าสมองส่วนหน้าสุดซึ่งเกิดจากการสร้างใยประสาทขึ้นมามากมายเมื่อการเรียนรู้จบลง  และเมื่อเด็ก พ้นวัยรุ่นจะเห็นว่าใยประสาทบางส่วนจะหายไปแล้วและใยประสาทบางส่วนจะหนาตัวขึ้น ซึ่งความเข้าใจนี้จะต้องปรับใหม่เพราะเดิมเราเข้าใจว่ามนุษย์เรียนรู้ด้วยการสร้างใยประสาท ปัจจุบันพบว่าไม่จริง  ในมนุษย์นั้นธรรมชาติสมองจะสร้างใยประสาทขึ้นมาแล้วกระบวนการเรียนรู้จะตัดส่วนที่ไม่ค่อยได้ใช้ออก สิ่งที่ใช้บ่อยๆ จะหนาตัวขึ้นและโอกาสที่เด็กจะสูญเสียไปคือ
            1.ไม่ได้สร้างการเรียนรู้ที่ควรจะเรียนรู้
            2.การเรียนรู้จะเป็นการเรียนรู้ที่ผิด เราลองคิดดูว่าถ้าเด็กวัยรุ่นเริ่มต้นชีวิตวัยรุ่นด้วยการเข้าใจว่าเรื่องเพศเป็นเรื่องสนุก (Just  for  fun) นอนกับใครก็นอนได้ ฉะนั้นวงจรเหล่านี้เริ่มเกิดขึ้นในสมองแล้วเราลองคิดว่าตอนอายุ  45 ปี ถ้าเค๊ามีกิ๊กจะแก้ไขได้มั๊ยเพราะค่านิยมเหล่านี้เกิดมาจากช่วงวัยรุ่นแล้ว  ถ้าตั้งคำถามง่ายๆ ว่าโรงเรียนทำอะไรบ้างเพื่อพัฒนาปัญญาภายในของค่านิยมทางเพศ   ตอบว่าโรงเรียนทำน้อยมาก  แล้วผู้ที่ผลิต CD ลามก , สื่อโฆษณาการแต่งตัวที่ไม่เหมาะสม  สิ่งเหล่านี้ไม่ได้มาจากสมองส่วนคิด  แต่จะสนองตอบสมองส่วนอยากเป็นส่วนใหญ่ ไม่ค่อยได้กระตุ้นสมองส่วนคิด  คือ  สมองส่วนหน้าสุดในการพัฒนาค่านิยมทางเพศและค่านิยมทางสังคมที่เหมาะสมเลย  ในโรงเรียนมีชั่วโมงพัฒนาปัญญาภายนอก  จำนวนมาก  เช่น  วิชาคณิตศาสตร์  ภาษาไทย  วิทยาศาสตร์  ถามว่าตรงไหนบ้างที่มีชั่วโมงในการพัฒนาปัญญาภายใน  คำตอบคือ  หาได้ยากมากดังนั้น โรงเรียนจะต้องสร้างเพื่อให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้   และโรงเรียนจะต้องศึกษาว่าโรงเรียนมีช่องว่างตรงไหนบ้างที่จะเติมเต็มให้เด็กพัฒนาปัญญาภายในให้เป็นระบบ

                จากผลการวิจัยทั่วโลกคล้ายกันพบว่าการมีเพศสัมพันธ์เร็วมีผลกระทบอย่างรุนแรงมากต่อเพศหญิง และ สิ่งที่กระทบค่านิยมทางเพศหญิงมากที่สุดมี  2 ประการ  คือ
                1. การมีเพศสัมพันธ์เร็ว
                2. ค่านิยมเพื่อน
                  ถ้าเด็กมีเพศสัมพันธ์เร็ว หรือว่าเด็กอยู่ในกลุ่มเพื่อนที่มีค่านิยม  การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ต้องมีความรับผิดชอบ   เด็กก็จะกระเจิดกระเจิงอย่างรวดเร็ว  เช่น    มีเพศสัมพันธ์แบบสำส่อน ,    มีเพศสัมพันธ์เชิงพาณิชย์  นำไปสู่การตั้งครรภ์  ทำแท้ง , มีลูกแล้วทิ้งไว้ไม่รับผิดชอบ และ ติดเอดส์  ต่อมาเด็กคนนี้ถ้าแต่งงานมีครอบครัวอย่างแท้จริงสถาบันครอบครัว 10 ปี ที่เกิดจากพ่อแม่ที่มีเพศสัมพันธ์เร็ว เช่นนี้จะเกิดอะไรขึ้น ฉะนั้นกระบวนการเหล่านี้  เป็นการทำลายสถาบันครอบครัวทั้งสิ้น  แล้วสังคม , รัฐบาล , สื่อ และผู้รับผิดชอบในด้าน  การจัดการศึกษาทำอะไรบ้างที่จะให้สมองส่วนคิด สามารถที่จะพัฒนาปัญญาภายในที่เรียกว่า ค่านิยมหรืออัตลักษณ์ทางเพศได้บ้าง  วิทยากรคิดว่าน้อยมากและน้อยอย่างน่าใจหายที่สุด  ทั้งที่เด็กควรมีอัตลักษณ์ที่สำคัญมากของเด็กวัยรุ่น  3 ประการ  ได้แก่
                1. ตระหนักเรื่องเพศเป็นสิ่งใกล้ตัว
                2. คุณค่าและศักดิ์ศรี
                3. เพศสัมพันธ์ที่มีความรับผิดชอบและปลอดภัย

              ส่วนอัตลักษณ์ทางสังคม  3  ประการ คือ
                 1. วิถีชีวิตของวัยรุ่นที่กำลังจะเติบโต  เขาควรจะเลือกวิถีชีวิตแบบไหน  จะเลือกที่จะฟุ้งเฟ้อหรือเลือกแบบพอเพียง
                 2. การเลือกมีอุดมคติเพื่อตัวเองหรือเพื่อสังคม
                 3. การเลือกอาชีพให้เหมาะสมกับตัวเอง และต้องมีคุณธรรม  จริยธรรมต่อวิชาชีพ  
               

              สรุปว่าสมองมนุษย์ในภาคของปัญญาภายในเติบโตมาจากวัยอนุบาลเกิดความผูกพันและความไว้วางใจ  รู้ถูกรู้ผิด   สามารถควบคุมอารมณ์  เด็กวัยเรียนมีวินัยใฝ่รู้และเกิดอัตลักษณ์ทางเพศ และอัตลักษณ์ทางสังคมแต่ถ้าไม่วางรากฐานที่ดีให้กับแต่ละวัยเด็กก็จะไม่ได้มีโอกาสใช้หน้าต่างแห่งโอกาสที่เปิดอยู่และต้องมาคอยตามแก้ไขปัญหาสังคมภายหลัง  ฉะนั้น โรงเรียนควรจะมีวิธีจัดการปัญหาวัยรุ่นได้อย่างไรก็โดยการจัดการตามระบบที่เริ่มต้นจากกิจกรรมนักเรียนที่หลากหลาย  เช่นตั้งชมรมตามความสนใจ พัฒนาความเป็นผู้นำ  ฝึกความรับผิดชอบและทำให้กิจกรรมสืบทอดกันระหว่างรุ่นให้ได้  กิจกรรมนักเรียนจะส่งเสริมเรื่องการเกิดอัตลักษณ์ทางเพศและอัตลักษณ์ทางสังคมได้ดีมาก   ก็จะทำให้เด็กรู้จักทำตัวให้เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม  รู้จักที่จะมีความสัมพันธ์ระหว่างชาย / หญิงอย่างถูกต้อง  รู้จักควบคุมตัวเอง  ฉะนั้นระบบกิจกรรมจะง่ายที่สุดในการจะจัดการปัญหาวัยรุ่นแต่ต้องยกเลิกกิจกรรมที่ครูสั่งและส่งเสริมกิจกรรมที่นักเรียนทำ   และให้เป็นไปอย่างหลากหลาย  เช่นมีชมรมบำเพ็ญประโยชน์  ชมรมดนตรี  ศิลป์  ตามความสนใจและความสามารถของเด็กมีการดึงชุมชนมาช่วยส่งเสริมมีการสนับสนุน  ด้านวัสดุ  อุปกรณ์  ครูฝึกหรืออะไรก็ตาม และมุ่งเน้นระบบดูแลนักเรียนโดยอาศัยการผลักดันองค์กรตามยุทธศาสตร์และวิสัยทัศน์  และต้องทำให้ ทำครบวงจร PDCA มีการวางแผนอย่างเป็นระบบ  ผู้บริหาร  และครูทั้งโรงเรียนควรมีการทดลองหนึ่งภาคเรียนก่อน  โดยจัดการทำเรื่องระบบดูแลนักเรียนให้สำเร็จและต้องแตกต่างกันตามบริบทของโรงเรียน

                ทั้งนี้ชีวิตวัยรุ่นจะดีขึ้นได้จากระบบการเรียนรู้ที่สำคัญ  2  ประการ 
                  1.กระบวนการเรียนการสอนโดยทั่วไปจะต้องให้เด็กเรียนรู้อย่างมีความสุขหรือเรียนโดยมีการคิดวิเคราะห์ เช่น  มีกระบวนการเรียนการสอนแบบแบ่งกลุ่ม /ฝึกทักษะคิดวิเคราะห์ มีสื่อการเรียนที่หลากหลาย  สังเกตได้จากถ้าวันใดโรงเรียนปิดเรียนแล้วเด็กร้องไห้จะแสดงว่าโรงเรียนดี ไม่มีปัญหา  แต่ถ้าบอกว่าวันนี้โรงเรียนหยุดเรียนและเด็กๆ  ดีใจแสดงว่าเด็กไม่อยากเรียน  โรงเรียนมีปัญหา  ดังนั้นโรงเรียนจะต้องทำให้เด็กรู้สึกมีความสุขไม่เครียด  ไม่กดดัน  การจัดการเรียนการสอน  จึงจะสามารถส่งเสริมการเรียนรู้ได้ดี
                  2.มีการสอนมุ่งเน้นการพัฒนา  EQ  เช่นการสอนเพศศึกษา ทักษะชีวิตสอนคุณธรรม จริยธรรม เพราะโรงเรียนใดที่จัดการเรียนการสอนที่มีคุณภาพก็จะทำให้เกิดกิจกรรมกลุ่มที่มุ่งเน้นการควบคุมตัวเองและเพิ่มความสามารถในการตัดสินใจซึ่งก็จะช่วยแก้ปัญหาวัยรุ่นได้ดี

KM Idea

22 กันยายน 2548

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 4252เขียนเมื่อ 22 กันยายน 2005 16:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 17:26 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท