ศุภัชณัฏฐ์ หลักเมือง
นาย ศุภัชณัฏฐ์ หลักเมือง (เอ) หลักเมือง

เตรียมสอบครูผู้ช่วย สรุป พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูฯ


เตรียมสอบครูผู้ช่วย

    สรุป พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครู

และบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. ๒๕๔๗

นายศุภัชณัฏฐ์  หลักเมือง

ผู้อำนวยการ กศน.อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์

****************

๑. พ.ร.บ.ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา คือ ๒๒ ธันวาคม ๒๕๔๗ (ให้ไว้วันที่ ๒๑ ธันวาคม ๒๕๔๗)

๒. เหตุผลของการตรา พ.ร.บ.นี้เพื่อให้มีกฎหมายรองรับ องค์กรกลางการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ยึดหลักการกระจายอำนาจการบริหารงานบุคคลสู่เขตพื้นที่และสถานศึกษา                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                              

๓. ข้าราชการครู  หมายความว่า ผู้ประกอบวิชาชีพซึ่งทำหน้าที่หลักด้านการเรียนการสอน และส่งเสริม  การเรียนรู้ของผู้เรียนด้วยวิธีการต่าง ๆ ในสถานศึกษาของรัฐ

๔. บุคลากรทางการศึกษา หมายความว่า ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารการศึกษา รวมทั้ง ผู้สนับสนุนการศึกษา ทำหน้าที่ให้บริการหรือปฏิบัติงานเกี่ยวเนื่องกับการจัดการเรียนการสอน การนิเทศ การบริหารการศึกษา และปฏิบัติงานอื่นในหน่วยงานการศึกษา

๕. หน่วยงานการศึกษา หมายความว่า ๑) สถานศึกษา ๒) สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ๓) สำนักงานการศึกษานอกโรงเรียน ๔) แหล่งการเรียนรู้ตามประกาศของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ๕) หน่วยงานตามกฎหมาย ว่าด้วยระเบียบบริหารงานกระทรวงศึกษาธิการ หรือตามประกาศของกระทรวง หรือหน่วยงานที่   ก.ค.ศ. กำหนด

๖. ส่วนราชการ หมายความว่า หน่วยงานของรัฐที่มีฐานะเป็นกรมหรือเทียบเท่ากรม

๗. หัวหน้าส่วนราชการ หมายความว่า ปลัดกระทรวง เลขาธิการ อธิบดี หรือตำแหน่งที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่า

๘. คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานกรรมการ  ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นรองประธานกรรมการ

๙. กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ใน ก.ค.ศ. อายุไม่ต่ำกว่า ๓๕ ปีบริบูรณ์ และไม่เกิน ๗๐ ปีบริบูรณ์

๑๐. กรรมการผู้แทน ผอ.สำนักงานเขตพื้นที่ กศ. ไม่กำหนดคุณสมบัติประสบการณ์ด้านการบริหาร

๑๑. กรรมการผู้แทน ผอ.สถานศึกษา กำหนดคุณสมบัติประสบการณ์การบริหารในตำแหน่ง ผอ.สถานศึกษาไม่น้อยกว่า ๕ ปี

๑๒. กรรมการผู้แทนข้าราชการครู กำหนดคุณสมบัติ ๑) วุฒิการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรี ๒) มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ ๓) ประสบการณ์ด้านปฏิบัติการสอน ไม่น้อยกว่า ๑๕ ปี หรือมีวิทยฐานะ ไม่ต่ำกว่าครูชำนาญการ

๑๓. กรรมการผู้แทนบุคลากรทางการศึกษา กำหนดคุณสมบัติ ๑) วุฒิการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรี ๒) มีประสบการณ์ด้านสนับสนุนการศึกษา ไม่น้อยกว่า ๑๕ ปี

๑๔. กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ อยู่ในวาระคราวละ ๔ ปี ติดต่อกันไม่เกิน ๒ วาระ กรณีว่างให้แต่งตั้งหรือเลือกตั้งแทน ภายใน ๖๐ วัน เว้นแต่เหลือ ไม่ถึง ๙๐ วัน (จะไม่แต่งตั้งหรือเลือกตั้งแทนก็ได้ และมีระยะเวลาเหลือเท่าที่ผู้ซึ่งตนแทน)

๑๕. กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ พ้นจากตำแหน่ง เช่น ลาออกโดยยื่นหนังสือลาต่อประธานและคณะรัฐมนตรีมีมติให้ออก

๑๖. กรรมการผู้แทนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ้นจากตำแหน่ง เช่น ลาออกโดยยื่นหนังสือ ลาต่อประธาน และถูกถอดถอนโดยรัฐมนตรี ตาม      มติของ ก.ค.ศ. ด้วยมติคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า ๒ ใน ๓ ของจำนวนกรรมการ  ทั้งหมด

๑๗. ประธานคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา) เลือกจากอนุกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

๑๘. กำหนดให้อนุกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ มีจำนวน ๔ คน คัดเลือกจากผู้มีความรู้ ความสามารถหรือมีประสบการณ์ด้านการบริหารงานบุคคล ด้านการศึกษา ด้านกฎหมายหรือด้านการเงินการคลัง และด้านอื่น ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการบริหารงานบุคคล

๑๙. เงินวิทยฐานะ และเงินประจำตำแหน่ง ไม่ถือเป็นเงินเดือน

๒๐. ตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษา และผู้บริหารการศึกษา ได้แก่                    ๑) รองผู้อำนวยการสถานศึกษา ๒) ผู้อำนวยการสถานศึกษา                        ๓) รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ๔) ผู้อำนวยการสำนักงาน  เขตพื้นที่การศึกษา ๕) ตำแหน่งที่เรียกชื่ออย่างอื่น ตามที่ ก.ค.ศ.กำหนด

๒๑. ตำแหน่งทางวิชาการ ได้แก่ ๑) อาจารย์ ๒) ผู้ช่วยศาสตราจารย์            ๓) รองศาสตราจารย์ ๔) ศาสตราจารย์

๒๒. การบรรจุแต่งตั้ง รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ให้เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นผู้มีอำนาจสั่งบรรจุและแต่งตั้ง โดยอนุมัติของ ก.ค.ศ.

๒๓. การบรรจุแต่งตั้ง รองผู้อำนวยการสถานศึกษา และผู้อำนวยการสถานศึกษา ให้ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา สั่งบรรจุและแต่งตั้ง โดยอนุมัติของ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษา

๒๔. การบรรจุแต่งตั้ง ตำแหน่งอาจารย์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ และศาสตราจารย์ ให้นำกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือน ในสถาบันอุดมศึกษามาใช้บังคับโดยอนุโลม และให้สภาสถาบันอุดมศึกษา ทำหน้าที่แทน ก.ค.ศ. หรือ อ.ก.ค.ศ. แล้วแต่กรณี

๒๕. ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ต้องสนับสนุนการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

๒๖. การละทิ้งหน้าที่ หรือการทอดทิ้งหน้าที่ราชการ โดยไม่มีเหตุอันสมควรเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง หรือละทิ้งหน้าที่ หรือการทอดทิ้งหน้าที่ราชการ ติดต่อในคราวเดียวกัน เป็นเวลา

เกินกว่า ๑๕ วัน  โดยไม่มีเหตุอันสมควร หรือจงใจไม่ปฏิบัติตามระเบียบ เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง

๒๗. โทษทางวินัย มี ๕ สถาน คือ ๑) ภาคทัณฑ์ ๒) ตัดเงินเดือน ๓) ลดขั้นเงินเดือน ๔) ปลดอออก   (ได้รับบำเหน็จบำนาญ เหมือนลาออก) ๕) ไล่ออก (ไม่ได้รับบำเหน็จบำนาญ)

๒๘. การอุทธรณ์คำสั่ง ภาคทัณฑ์ ตัดเงินเดือน หรือลดขั้นเงินเดือน อุทธรณ์ต่อ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษา  ภายใน ๓๐ วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง

๒๘. การอุทธรณ์คำสั่ง ปลดอออก หรือไล่ออกภาคทัณฑ์ อุทธรณ์ต่อ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษา  ภายใน ๓๐ วัน และให้พิจารณาให้แล้วเสร็จ ภายใน ๙๐ วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง

๒๙. กรณีอุทธรณ์แล้วเห็นว่าไม่ได้ความเป็นธรรม หรือกรณีเรื่องที่ไม่ได้บัญญัติให้อุทธรณ์มีสิทธิฟ้องศาลปกครอง ตามระยะเวลาที่กำหนด

๓๐. กรณีข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ถูกกล่าวหากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง และการกล่าวหากระทำเป็นหนังสือ แม้ออกจากราชการไปแล้ว     ผู้มีอำนาจก็สามารถดำเนินการสอบสวนต่อไปได้ เสมือนผู้นั้นยังมิได้ออกจากราชการ.

   

 

หมายเลขบันทึก: 424907เขียนเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2011 17:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 15:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สรุปไว้เป็นประเด็น ๆ ดีครับ
( เวลาอ่านตัว พ.ร.บ.เต็ม ๆ มันมักจะเบลอ )

ขอบคุณครับ สำหรับความคิดเห็น สรุปอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องติดตามได้ใน Blog ครับ http://gotoknow.org/blog/supatchanat9/424907

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท