เรื่องเล่าจากศิษย์เก่า : อีกทางเลือกของการ "สอนงาน...สร้างทีม" (สอนงาน...สอนชีวิต)


การขับเคลื่อนวาระของการสอนงานสร้างทีมนั้น ผมพยายามสะท้อนผ่านกระบวนการอันสำคัญ คือ การเรียนรู้ร่วมกันจากคนในองค์กรแบบเพื่อนสู่เพื่อน

ระยะหลังๆ ผมพยายามคิดรูปแบบของการสร้างแรงบันดาลใจให้กับเหล่าผู้นำนิสิต  เพื่อให้พวกเขา
ได้เกิดไฟฝันในการสร้างสรรค์กิจกรรมออกสู่สาธารณะ อันเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาตนเองควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคม

 

หรือหากจะเรียกว่า เป็นกระบวนการของการเรียนรู้ที่จะพัฒนาตัวเองและพัฒนาสังคมก็ไม่ผิด

 

สิ่งหนึ่งที่ผมคิดได้นั่นก็คือการแปลงความคิดของนิสิตออกมาเป็นสื่อที่แตะต้องสัมผัสได้  และเรียกสิ่งเหล่านั้นว่า “นวัตกรรมความคิดนิสิต มมส”  ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา  ก็ปรากฏรูปร่างในหลายลักษณะ อาทิ วีดีทัศน์  โปสเตอร์ นิทรรศการภาพถ่าย หนังสือเรื่องเล่าชาวค่าย หนังสือเด็กหอใน หนังสือ 30 คำถามยอดฮิตนิสิต มมส 

 

และนั่นก็หมายรวมไปถึงละครเวที คลิปและสติ๊กเกอร์ด้วยเช่นกัน

 Large_logo_sticker-00

ถึงกระนั้นก็เถอะ  ผมก็ตระหนักเสมอมาว่ากระบวนการสอนงานนั่นแหละ คือเครื่องมือ หรือกลไกอันสำคัญยิ่งในการที่จะพัฒนาคนและพัฒนาองค์กรได้เป็นอย่างดี ซึ่งนั่นก็หมายถึงว่าการสอนงาน คือ “วัฒนธรรมองค์กร” ที่ควรค่าต่อการขับเคลื่อนให้เป็นรูปธรรมมากที่สุด และต้องเป็นการขับเคลื่อนแบบมีส่วนร่วมให้ได้มากที่สุด-

 

ด้วยเหตุเช่นนี้  ปีสองปีให้หลังมานี้  ผมจึงได้ประกาศวาทกรรมในกลุ่มทีมที่ผมดูแลให้เป็นปีแห่งการ “สอนงาน..สร้างทีม”  โดยมุ่งที่จะสร้างแรงบันดาลใจและท้าทายให้ทุกคนลุกขึ้นมานิยามความหมายและค้นหารูปแบบอันเป็น “กระบวนการ”  ของการ “สอนงานสร้างทีม” ร่วมกันตามแบบที่เรา “คิดว่าใช่” หรือใกล้เคียงที่สุด


(จนบางทีก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าสิ่งที่กำลังคิดและกระทำลงไปนั้น  แท้ที่จริงแล้วก็คือ การโยนหินถามทางดีๆ นั่นเอง)

 

อย่างไรก็ดี  การขับเคลื่อนวาระของการสอนงานสร้างทีมนั้น  ผมพยายามสะท้อนผ่านกระบวนการอันสำคัญ คือ การเรียนรู้ร่วมกันจากคนในองค์กรแบบเพื่อนสู่เพื่อน (Peer Assist-PA)  ซึ่งปรากฏเป็นรูปรอยของ "โครงการพฤหัสสกัดความรู้" ที่ประกอบด้วยการจับเข่าคุยกันในบ่ายวันพฤหัสฯ  โดยนำเรื่องราวแห่งการงานและชีวิตมาเล่าสู่กันฟัง  เพื่อให้แต่ละคนได้เปิดใจสู่การ “ถอดบทเรียน” เพื่อให้ได้บทเรียนที่ดี (Best Practice)  เพื่อเป็นข้อมูล (Data)  หรือน้ำมันเชื้อเพลิงในการเดินทางในก้าวต่อไป

 

 

ถึงแม้ว่ากิจกรรมพฤหัสสกัดความรู้  จะไม่เกิดขึ้นได้อย่างต่อเนื่องในทุกสัปดาห์  เพราะมีภารกิจทับซ้อนมาเบียดคิวอยู่เรื่อยๆ  จนบางครั้งก็จำต้องปรับแต่งมาเป็นวันอื่นๆ แทน (วันอังคาร)  แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ากิจกรรมพฤหัสสกัดความรู้  คือรากฐานของการนำไปสู่การ "สร้างทีม" ที่ดี หรือเป็นกระบวนการของการจัดการความรู้ในองค์กรที่ดีเหมือนกัน  จนในที่สุดก็กลายเป็นเวทีของการริเริ่มจัดทำ "ยุทธศาสตร์องค์กร" เลยก็ว่าได้


และที่สำคัญ ในแต่ละครั้งของกิจกรรมพฤหัสสกัดความรู้  จะมีการหยิบยกเอางานที่ผ่านเลยมามาสังเคราะห์ร่วมกันในเชิงผลลัพธ์ ว่าดีไม่ดีอย่างไร ควรปรับแก้ หรือต่อยอดอะไรบ้าง...
รวมถึงการนำพาเรื่องราวแห่งการงานใหม่ๆ ที่จะมีขึ้นมาเล่าสู่กันฟัง เพื่อเป็นการเผยแพร่ข่าวสาร (lnformation)  ให้เพื่อนร่วมองค์กรได้รับรู้  หรือแม้แต่การเปิดพื้นที่ให้เพื่อนๆ ได้มีโอกาสเป็นผู้ร่วมคิด ร่วมวางแผน  ร่วมออกแบบกิจกรรมต่างๆ  ร่วมกันอย่างเป็น “ทีม”

 

แน่นอนครับ บรรยากาศแห่งการพูดคุยกันนั้น  ผมก็พยายามสะท้อนให้เห็นถึงสภาพการณ์ของการเป็น “คนบ้านเดียวกัน” กันให้ได้มากที่สุด

เพราะหากทุกคน “เปิดใจ” ว่าตัวเองเป็นคนบ้านเดียวกัน (องค์กรเดียวกัน) ย่อมง่ายต่อการรังสรรค์บรรยากาศของการสนทนา (Dialogue)  แบบ “เปิดเปลือย”  จนเกิดความลื่นไหล  ก่อเกิดเป็นความสุขและแรงบันดาลใจในการที่จะทำงานร่วมกัน  เฉกเช่นวาทกรรมเชิงวัฒนธรรมของชาวหอพักที่กล่าวว่า “เพื่อน... เราใช้ชีวิตร่วมกัน  บ้าน...เราใช้นิยามเดียวกัน”

 

ไม่เพียงกระบวนการในองค์กรเท่านั้น  แต่ปัจจุบันผมยังให้ความสำคัญกับการสอนงานระหว่าง “ศิษย์เก่ากับศิษย์ปัจจุบัน” อย่างมาก  เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างนิสิตปัจจุบันกับนิสิตรุ่นพี่ที่จบไปแล้วถือเป็นปัจจัยอันสำคัญของการขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาองค์กรนิสิตไปในทิศทางที่ดีได้อย่างไม่ต้องสงสัย

 

เพราะนั่นคือกระบวนการเรียนรู้แบบ “พี่สอนน้อง”  ซึ่งถือว่าเป็นจุดแข็งของการดำรงอยู่และดำเนินไปขององค์กรนิสิตในทุกวันนี้


ด้วยเหตุนี้  ระยะหลังๆ ผมจึงเชิญศิษย์เก่ามาบอกเล่าประสบการณ์อยู่เนืองๆ  เป็นการบอกเล่าแบบเป็นกันเอง  เน้นความเป็นเรื่องเล่า หรือเรื่องเล่า (story telling)  ด้วยเชื่อว่าเรื่องเล่าของรุ่นพี่  จะเติมแรงใจและจุดไฟฝันให้กับรุ่นน้องได้เป็นอย่างดี  ทั้งในมิติการเรียนและการใช้ชีวิต  หรือแม้แต่การเสริมสร้างทัศนคติที่ดีต่อสถาบันการศึกษา และการบ่มเพาะเรื่องจิตอาสาเพื่อการรับผิดชอบต่อสังคม

 

Large_msu1(ตัวอย่างปกหนังสือ ซึ่งมาจากชื่อของบทกวีของศิษย์เก่าท่านหนึ่งที่ส่งงานมาร่วมกับเรา)

 


กระทั่งวันนี้  ผมไม่เพียงการเชื้อเชิญศิษย์เก่ามาบอกเล่าประสบการณ์ชีวิตผ่านเวทีอย่างเป็นทางการเท่านั้น  แต่ผมยังเดินหน้าที่จะทำหนังสือขึ้นมาสักเล่มภายใต้แนวคิด “ศิษย์เก่าเล่าประสบการณ์”  โดยขอความอนุเคราะห์ข้อเขียนจากพี่พ้องน้องพี่ที่จบไปแล้วมารวมเล่ม  เพราะเชื่อว่านั่นคืออีกทางเลือกของการ “สอนงาน...สอนชีวิต”  หรือสอนงานสร้างทีมด้วยเหมือนกัน

 

ปัจจุบันหนังสือเล่มนี้ก็กำลังก่อตัวเป็นรูปร่างที่ชัดขึ้นเรื่อยๆ...

ผมจะไม่พูดถึงการใช้หนังสือเป็นเครื่องมือในการพัฒนาคนและพัฒนาองค์กร...

ผมจะไม่พูดถึง การใช้หนังสือเป็นประเด็นเนื่องในวาระแห่งการอ่าน หรือทศวรรษแห่งการอ่าน


แต่ผมจะพูดว่า “การอ่าน หรือการเล่าเรื่องจากพี่สู่น้อง”  ก็เป็นกระบวนการหนึ่งของการ “สอนงาน...สร้างทีม” หรือ “สอนงาน..สอนชีวิต”  ที่ดี   โดยเรื่องเล่าต่างๆ ที่ผมกำลังรอคอยและรวบรวมอยู่นี้ ก็เป็นผลพวงของการถอดบทเรียนอันเป็นชีวิตหรือประสบการณ์ (ความรู้) ออกมาเป็นสื่อที่แตะต้องและสัมผัสได้อย่างง่ายๆ  เพื่อมุ่งไปสู่การยกระดับเป็นนวัตกรรมของการพัฒนานิสิตไปในตัว

 

 ....

ครับ, กัลยาณมิตรท่านใดที่เคยเป็นศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ประสงค์จะ “สอนน้อง” และ “สร้างองค์กร” ของน้องๆ ให้เข้มแข็งต่อไป  สามารถก้าวมาเป็นส่วนหนึ่งด้วยการส่งเรื่องเล่า (หรือเล่าเรื่องเป็นลายลักษณ์) ผ่านมายังผมเลยก็ได้  ซึ่งผมจะนำไปรวบรวม ผลิตเป็นหนังสือดังที่กล่าวไว้ข้างต้น

 

หรือแม้แต่คนที่ไม่ใช่ศิษย์เก่า...ผมก็ยินดีรับต้นฉบับนะครับ  ถือเป็นนักเขียนรับเชิญไปในตัว...

 

ขอบคุณครับ (ช่วยกันหน่อย นะครับ)

 

หมายเลขบันทึก: 424896เขียนเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2011 16:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:36 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

สวัสดีค่ะน้องแผ่นดิน

ไม่ได้เข้ามาอ่านบันทึกนี้นาน

ด้วยภาระกิจส่วนตัวเรื่องสุขภาพ

บันทึกนี้อ่านด้วยความสุขค่ะ

ครั้งหนึ่งเคยคิดว่าทำไมต้องเสนอนวัตกรรมในรูปกระดาษๆๆๆ

แล้วเราก็สร้างสื่อการเรียนรู้โดยมีเจ้าตัวเล็กร่วมกันคิด

เช่นการเล่นละครเรื่องเมาคลีลูกหมาป่า

หรือยกตลาดนัดมาไว้ในห้องเรียน

เล่นเสร็จแล้วก็ให้ผู้ชม(นร.)แสดงความคิดเห็น

เราทำกันบ่อยครั้งเพราะเห็นว่ากิจกรรมแบบนี้

มันทำให้เด็กมีความสุขที่จะเรียนรู้ ได้คิดนอกกรอบ

แต่ก็ถูกเบรคว่าเป็นการทำงานที่ไม่ทิ้งร่องลอย

นอกจากรูปถ่าย  และความคิดที่บันทึกลงในกระดาษน้อยรูปหัวใจของเด็ก

ซึ่งภาพเหล่านี้มันทำให้สามารถต่อยอดเรียนรู้ได้ดี

ไม่น้อยไปกว่าการบรรยายลงบนกระดาษรายงานเสียอีก

ขอบคุณค่ะ

 

สอนงาน สร้างทีม ครีม แล้วทำ ครับ

ขอชื่นชมในแนวทางปฏิบัติเยี่ยงนี้ต่ะ..การเปิดใจ..การไว้เนื้อเชื่อใจ..การสร้างพลังแห่งการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน..สมควรฝังเป็นจิตสำนึกของกลุ่มคนในทุกภาวะ เพื่อความเป็นปึกแผ่นขององค์กร..

..ที่สำคัญคือควรมีการสร้างกระบวนการเก็บ องค์ความรู้เหล่านี้ไว้อย่างทันสมัย..น่าอ่าน.. เข้าถึงได้ง่าย..มีผู้รับผิดชอบดูแลให้เกิดความต่อเนื่อง..

สวัสดีค่ะ  น้องอาจารย์แผ่นดิน

  • ชื่นชมกับแนวคิดที่นำมาพัฒนานักศึกษา
  • อย่าลืมเล่าถึงผลสำเร็จ "สอนงาน..สร้างคน
  • แนวคิด...
  • ยอดเยี่ยมจริงๆค่ะ

สวัสดีครับ พี่krutoiting

ตอนนี้สุขภาพเป็นยังไงบ้างครับ ? (ขอให้แข็งแรง และเต็มไปด้วยพลังกาย พลังใจ นะครับ)

...

ในทุกๆ เรื่อง ผมเชื่อว่าเราต่างควรมีสิทธิ์ในารที่จะออกแบบกติกาการเรียนรู้ด้วยตนเอง หรือแม้แต่ร่วมคิดร่วมออกแบบกับผู้ที่มีส่วนได้เสียโดยตรง ซึ่งในแง่ทางการศึกษา ก็หมายถึงผู้เรียน นั่นเอง

จะด้วยวิธีการใด หรือกระบวนการก็ตาม  ผมก็คาดหวังว่าจะสามารถสกัดออกมาเป็นสื่อที่แตะต้องสัมผัสได้อย่างง่ายๆ  ซึ่งผมเคยแนะนำในบางที่ว่า เมื่อจัดงานแล้ว หากสามารถสัมภาษณ์สดผู้เข้าร่วมงานเกี่ยวกับทัศนะที่มีต่องาน  หรือสิ่งที่ได้รับจากงาน หรือข้อเสนอแนะที่ได้จากนั้น  เสร็จแล้วก็บันทึกวีดีโอไว้เพื่อตัดต่อเป็นเรื่องราวง่ายๆ สั้นๆ แบบ "บันเทิงเริงปัญญา"   ก็ถือว่าเป็น "นวัตกรรม" ได้เหมือนกัน

บางทีนวัตกรรมอาจเป็นเรื่องใหม่และใช้ได้ผลสำหรับเรา  แต่อาจดูเก่าแล้วสำหรับที่อื่นๆ  แค่นี้ผมก็ถือว่าเป็นนวัตกรรมตามมุมมองของผมเหมือนกัน นะครับ

สวัสดีครับ อ.JJ

ครับ-สำคัญที่สุดก็คือลงมือทำ...จุดหมายเริ่มจากการลงมือทำ...

ขอบพระคุณครับ

สวัสดีครับ พี่ นงนาท สนธิสุวรรณ

ผมพยายามสกัดความรู้มาในรูปแบบทำนองนี้ เพื่อส่งเสริมการอ่าน เพราะเชื่อใน "อำนาจวรรณกรรม"  หรือแม้แต่สื่ออื่นๆ ก็ไม่ได้ละเลย  สิ่งเหล่านี้ทำขึ้น ไม่เพียงใช้ในปัจจุบันเท่านั้น แต่ยังจะเก็บรักษาไว้เป็นจดหมายเหตุขององคืกรไปในตัว  เพราะตอนนี้กำลังมีทิศทางที่ชัดเจนในการที่จะจัดทำห้องสารสนเทศขององค์กร..

กำลังให้ทีมงานพิจารณาดูรุปแบบของการเผยแพร่ในสื่ออินเทอร์เน็ต  เพื่อให้หลายๆ ภาคฝ่ายเข้ามาใช้ประโยชน์ได้อย่างกว้างขวางและรวดเร็ว

แต่ก็เป็นที่น่าสังเกตว่า มีหลายหน่วยงานมาเยี่ยมชมองค์กรแล้วขอสิ่งเหล่านี้ติดมือเพิ่มเติมไปด้วย  ซึ่งเราเองก็เข้าใจว่า  การได้ต้นฉบับไปนั้น  มันดูดี ดึงดูดใจได้มากกว่าการโหลดหรือปริ้นออกมาจากเว็บไซด์นั่นเอง..

..ขอบพระคณครับ...

สวัสดีครับ พี่คุณยาย

ตอนนี้ได้มาเยี่ยม  มมส..เหมือนเดิมหรือเปล่าครับ
ที่นี่เหมือนจะหายหนาว แต่สองวันให้หลังนี้ กลับหนาวๆ เย็นๆ อีกรอบ...

 

 

สวัสดีครับ..พี่ดาวเรือง

เรื่องการสอนงาน สร้างทีม...ตอนนี้เห็นผลแล้วในระดับที่น่าพอใจก็คือความเป็น "ทีม" ...วิธีการอาจต่างกัน แต่ทั้งหมดก็พุ่งไปในเป้าหมายเดียวกัน  ส่วนการสอนงานนั้น ยังเป็นเรื่องที่ต้องเรียนรู้ลองผิด ลองถุกไปอีกสักปีครับ... มันเหมือนหัดเดินยังไงยังงั้น

ก่อนนั้น ก็พยายามผลักให้เกิดเวทีในระดับองค์กรเหมือนกัน เปิดโอกาสให้ผู้ที่ไปอบรม หรือสัมมนาในเรื่องต่างๆ มาบรรยายให้คนอื่นได้ร่วมรับรู้  -ฝึกให้มีการเล่าเรื่องราวต่างๆ ให้กันฟัง...ฝึกและย้ำให้จัดกระทำเอกสารเป็น "ความรู้" มากกว่า "กระดาษ" สร้างกระบวนการสอนงานผ่านการดูหนังฟังเพลง,  สอนงานผ่านการเป็นวิทยกรกระบวนการฯลฯ...

ทุกอย่างยังต้องเรียนรู้และถอดบทเรียนต่อไปอย่างต่อเนื่อง..

ขอบคุณครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท