ชนิด


ชนิดของคำไทย

ชนิดของคำตามแนวคิดใหม่ (๑)

คำ  เป็นหน่วยพื้นฐานที่สำคัญในการเรียนรู้เรื่อง ประโยค โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาษาไทย ซึ่งเป็นภาษาคำโดด คำแต่ละคำในภาษาไทยไม่มีการเปลี่ยนแปลงรูปเพื่อบอกหน้าที่ที่แตกต่างทางไวยากรณ์หรือเพื่อบอกความสัมพันธ์ของคำที่เรียงกันอยู่ในประโยค แต่แสดงความสัมพันธ์ของคำด้วยปรากฏร่วมกัน ของคำ และตำแหน่งที่ปรากฏก่อนหลังของคำ เมื่อคำปรากฏร่วมกันอาจทำหน้าที่แยกกันหรือรวมเข้าด้วยกันเป็นหน่วยเดียวและทำหน้าที่เดียวกันก็ได้

แต่ละภาษามีคำเป็นจำนวนมาก และมีคำเกิดใหม่และเลิกใช้ไปอยู่ตลอดเวลา ผู้ที่พูดภาษาเดียวกันอาจรู้จักคำจำนวนไม่เท่ากัน จึงยากที่จะระบุให้แน่นอนลงไปว่า ภาษาหนึ่งมีคำอยู่จำนวนกี่คำ แม้จะมีคำจำนวนมากและระบุจำนวนแน่นอนได้ยาก แต่ก็สามารถจัดให้แน่นอนลงไปได้ว่า มีกี่ประเภทหรือกี่ชนิด คำชนิดเดียวกันหรือประเภทเดียวกันมักทำหน้าที่อย่างเดียวกัน มีตำแหน่งและบริบทแน่นอนว่าปรากฏหน้าหรือหลังคำได้หรือไม่เหมือน ๆ กัน คำชนิดเดียวกันสามารถปรากฏในตำแหน่งเดียวกันและทำหน้าที่เดียวกันในวลีหรือประโยคเดียวกัน โดยไม่ทำให้โครงสร้างของวลีหรือประโยคนั้นเปลี่ยนแปลงไป

เกณฑ์การจำแนกประเภทของคำมีหลายเกณฑ์ จำนวนชนิดของคำก็แตกต่างกันไป เช่น พระยาอุปกิตศิลปะสาร (๒๕๓๘ : ๗๐) จำแนกชนิดของคำออกเป็น ๗ ชนิด วิจินต์ ภาณุพงศ์ (๒๕๓๐ : ๕๑, ๒๕๓๔ : ๑๐๐) จำแนกชนิดของคำเป็น  ๒๖  ชนิด นววรรณ  พันธุเมธา (๒๕๔๙: ๔) จำแนกชนิดของคำเป็น  ๖  ชนิด ฯลฯ ส่วนหนังสืออุเทศภาษาไทย ชุด บรรทัดฐานภาษาไทย เล่ม ๓ จำแนกชนิดของคำในภาษาไทยออกเป็น  ๑๒  ชนิด โดยใช้เกณฑ์หน้าที่ เกณฑ์ตำแหน่งคำที่ปรากฏและสัมพันธ์กับคำอื่นและเกณฑ์ความหมายประกอบกัน คำทั้ง  ๑๒  ชนิด ได้แก่ คำนาม คำสรรพนาม คำกริยา คำช่วยกริยา คำวิเศษณ์ คำบอกปริมาณ คำบอกกำหนด คำปฎิเสธ คำลงท้าย คำบุพบท คำเชื่อม คำลงท้าย และคำอุทาน คำบางชนิด อาจจำแนกเป็นชนิดย่อยได้อีก คำชนิดต่าง ๆ ทั้ง ๑๒ ชนิดมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

 

คำนาม

คำนาม เป็นคำที่หมายถึงบุคคล สัตว์ วัสดุ สิ่งของ สภาพธรรมชาติ สถานที่ ความคิด ความเชื่อ ค่านิยม คือ รวมทั้งสิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิต ทั้งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม คำนามทำหน้าที่เป็นส่วนหลักของนามวลี คำนามจำแนกเป็น ๔ ชนิด คือ คำนามสามัญ คำนามวิสามัญ คำลักษณนาม คำอาการนาม

๑.  คำนามสามัญ คำนามที่ใช้เรียกสิ่งต่าง ๆโดยทั่วไป มิได้ระบุแน่นอนว่าเป็นสิ่งนี้ มีชื่อเรียกอย่างนี้หรือสิ่งนั้น มีชื่อเรียกอย่างนั้น เช่น คน บ้าน วัด โรงเรียน สัตว์ ข้าง ช้าง แมว อาหาร ตำรวจ รถไฟ ไก่ย่าง ประชาธิปไตย คุณธรรม เศรษฐกิจพอเพียง ภูมิศาสตร์ จิตวิทยา ฯลฯ

คำนามวิสามัญอาจมีความหมายแคบกว้างต่างกัน คำนามสามัญที่มีความหมายแคบอาจเป็นประเภทย่อยของคำนามสามัญที่มีความหมายกว้าง เช่น ผลไม้ ทุเรียน มะม่วง ชมพู่ ก้านยาว หมอนทอง กบ ฟ้าลั่น เขียวเสวย หนังกลางวัน แก้มแหม่ม มะเหมี่ยว ทับทิมจันทร์ ฯลฯ ต่างก็เป็นคำนามสามัญ แต่มีความหมายแคบ ทุเรียน มีความหมายกว้าง เมื่อเทียบกับ ก้านยาว หมอนทอง กบ ซึ่งมีความหมายแคบ มะม่วงมีความหมายกว้างเมื่อเทียบกับ ฟ้าลั่น เขียวเสวย หนังกลางวัน ซึ่งมีความหมายแคบ ชมพู่ มีความหมายกว้างเมื่อเทียบกับ แก้มแหม่ม มะเหมี่ยว หนังกลางวัน ซึ่งมีความหมายแคบ เป็นต้น

๒.  คำนามวิสามัญ  คือ คำที่เป็นชื่อที่ตั้งขึ้นเฉพาะสำหรับเรียกคำนามสามัญ หนึ่ง ๆเช่น สมชาย สมร เกษมสันต์ เป็นชื่อเฉพาะของคน เจ้าแต้ม ย่าเหล ทองแดง เป็นชื่อเฉพาะของสุนัข เป็นต้น

คำนามวิสามัญจำนวนมากมักใช้ตามหลังคำนามสามัญเช่น (ประเทศ)ไทย (เรือพระที่นั่ง) สุพรรณหงส์ (สวน)ลุมพินี (ถนน)ราชดำเนิน (สะพาน)ผ่านฟ้าลีลาศ (ประตู)วิเศษไชยศรี (วัด)พระศรีรัตนศาสดาราม (โรงเรียน)สวนกุหลายวิทยาลัย (รถไฟฟ้า)บีทีเอส อาจารย์กาญจนา (ครู)แหววฯลฯ

แม้จะกล่าวว่าคำนามวิสามัญเป็นชื่อเฉพาะใช้เรียกคำนามสามัญ แต่มิใช่ว่า คำนามสามัญทุกคำต้องมีชื่อเฉพาะ คำนามสามัญจำนวนมาก เช่น ประชาธิปไตย วัตถุนิยม คุณธรรม เศรษฐกิจพอเพียง ภูมิศาสตร์ จิตวิทยา ดวงอาทิตย์ อากาศ รุ่งกินน้ำ ฯลฯ เป็นนามสามัญที่ไม่มีชื่อเฉพาะ

๓.  คำลักษณนาม คือคำที่ใช้บอกลักษณะของคำนามหรือคำกริยา คำลักษณนามที่บอกลักษณะของคำนามอาจปรากฏหลังคำนามทันที เช่น

                ส่งจานให้ใบซิ

                ผมชอบกินข้าวคำน้ำคำ

ในทำนองเดียวกัน คำลักษณนามที่บอกลักษณะของคำกริยาก็อาจปรากฏหลังคำกริยาทันทีได้ เช่น

                ขอกอดที

                ช่วยหยุดที

คำลักษณนามที่ปรากฏหลังคำนามและคำกริยาจะแสดงความหมายว่า “หนึ่ง” จากตัวอย่างข้างต้น

                ส่งจานให้ใบซิ คือ “ส่งจานให้ ๑ ใบซิ”

                ขอกอดที            คือ  “ขอกอด ๑ ที”

นอกจากปรากฏหลังคำนามและหลังคำกริยาแล้ว คำลักษณนามทั้งที่บอกลักษณะของคำนามและลักษณะของคำกริยาสามารถปรากฏในตำแหน่งต่าง ๆที่แน่นอนดังนี้

ปรากฏหลังคำบอกจำนวน เช่น                           เก้าอี้ ๑๐  ตัว

                                                               เดิน ๒ ก้าว

ปรากฏหน้าคำบอกลำดับ เช่น                              บ้านหลังแรก

                                                                                    แข่งครั้งที่สอง

ปรากฏหน้าคำกริยาคุณศัพท์ เช่น                        บ้านหลังใหม่

                                                                                    รอเที่ยวพิเศษ

ปรากฏหน้าคำบอกกำหนดชี้เฉพาะ เช่น           ลูกคนนี้

                                                                                    ไปเที่ยวคราวนั้น

ปรากฏหน้าคุณานุประโยค เช่น                          แมวตัวที่นอนอยู่นั่น

                                                                                    ตอนไปเที่ยวครั้งที่มีเธอไปด้วยสนุกจริง ๆ

คำนามเดียวกันอาจใช้คำลักษณนามได้หลายคำ คำลักษณนามที่แตกต่างกันนี้ บ้างก็แสดงลักษณะที่แตกต่างกันของคำนามเป็นหลายลักษณะ บ้างก็แสดงลักษณะที่แตกต่างกัน

คำลักษณนามต่างกันแสดงลักษณะของคำนามที่แตกต่างกัน เช่น

ผ้า  ๒  ชิ้น                นักเรียน  ๓  คน                 หนังสือ  ๔  หน้า

ผ้า  ๒  ผืน                นักเรียน  ๓  แถว                หนังสือ  ๔  เล่ม

ผ้า  ๒  หลา              นักเรียน  ๓  ห้อง               หนังสือ  ๔  ตั้ง

ผ้า  ๒  ห่อ                นักเรียน  ๓  ชั้น                 หนังสือ  ๔  ชุด

ผ้า  ๒  พับ                นักเรียน  ๓  โรงเรียน        หนังสือ  ๔  มัด

ผ้า  ๒  ชนิด             นักเรียน  ๓  กลุ่ม               หนังสือ  ๔  ประเภท

คำลักษณนามต่างกันแต่ไม่แสดงลักษณะของคำนามที่แตกต่างกัน เช่น

                โรงเรียน  ๒  โรงเรียน              ตำรวจ  ๒  คน

                โรงเรียน  ๒  แห่ง                      ตำรวจ  ๒  นาย

ส่วนคำลักษณนามที่บอกลักษณะของคำกริยา มีรูปต่างกับคำกริยาเสมอ เช่น

                คอยจนหลับไป  ๒  ตื่นแล้ว เพื่อนก็ยังไม่มา

                เขามาเที่ยวเมืองไทยหลายครั้ง

                ตอนเดินแห่ พวกเราโห่  ๓  ลา

                เราดื่มน้ำเข้าไปคนละหลายอึก

                ขอเตะสักป๊าบเถอะ

                ถูกตีหลายทีแต่ไม่ร้องสักแอะ

 

 

คำลักษณนามที่ใช้กับคำกริยาจะใช้บอกความหมายต่าง ๆดังนี้

                บอกลักษณะของคำกริยา เช่น                      ถูกตบมาเปรี้ยงหนึ่ง

                                                                                            ชนเข้าโครมใหญ่เลย

                บอกจำนวนครั้งของการทำกริยา เช่น         ตากปลามา  ๒  แดดแล้ว

                                                                                            มาให้แม่หอมสักฟอดซิ

                บอกลำดับของการทำกริยา เช่น                   วิ่งรอบที่  ๕  แล้ว

                                                                                            ถูกตำหนิหนที่  ๒  แล้ว

คำบางคำมีลักษณะที่ใช้เฉพาะ เช่น

                พระภิกษุ  ๒  รูป                    ช้าง  ๓  เชือก                  นาฬิกา  ๔  เรือน

                ขลุ่ย  ๒  เลา                             แห  ๓  ปาก                     เลื่อย  ๔ ปื้น

                ข้าวเม่าทอด  ๒  แพ               ขนมจีน  ๓  จับ               ระกำ  ๔  กระปุก

                ดื่มน้ำ  ๒  อึก                          หอม  ๒  ฟอด                 หลับ  ๒  ตื่น

คำลักษณนามสามารถใช้บอกกลุ่ม หมู่ พวก ของคำนามที่อยู่รวมกันได้ เช่น นักเรียน ๒ กลุ่ม,  ทหาร  ๓  กอง, บุคคล  ๕  คณะ,  นกฝูงสุดท้าย,  โขลงช้าง,  ประทัดหลายตับ,  กรรมการ  ๒  คณะ,  ดินสอโหลหนึ่ง ฯลฯ

4.  คำอาการนาม คือ คำนามที่เกิดจากกระบวนการแปลงคำกริยาเป็นคำนาม โดยการเติมหน่วยคำเติมหน้า การ- หรือ ความ- หน้าคำกริยา คำอาการนามจะมีความหมายเป็นนามธรรมเสมอ

คำอาการนามที่ขึ้นต้นด้วยหน่วยคำเติมหน้า การ- เช่น การกิน, การเดิน, การทำงาน, การกินดีอยู่ดี, การประท้วง, การลงมติ ฯลฯ

คำอาการนามที่ขึ้นต้นด้วยหน่วยคำเติมหน้า ความ- เช่น ความเป็นอยู่, ความโกรธ, ความโลภ, ความดี, ความสุข, ความกว้าง, ความยาว ฯลฯ

โดยมากคำอาการนามที่ขึ้นต้นด้วยหน่วยคำเติมหน้า การ- มักแสดง “กระบวนการในการทำกริยา” ส่วนคำอาการนามที่ขึ้นต้นด้วยหน่วยคำเติมหน้า ความ- มักแสดง “สภาพของกริยา” หรือแสดง “ลักษณะรวม ๆของกริยา” เช่น

การตายของเขามีเงื่อนงำ

ไม่มีใครหนีความตายพ้น

การฝันช่วยลดความเครียดได้

ฉันจำความฝันเมื่อคืนก่อนได้แม่นยำ

การคิดอย่างรอบคอบจะทำให้ประกอบธุรกิจไม่ขาดทุน

ความคิดที่รอบคอบจะช่วยผ่านอุปสรรคนี้ไปได้

ร่างกายคนเราจะหยุดการเจริญเติบโตเมื่ออายุประมาณ  ๒๕  ปี

ความเจริญเติบโตของบ้านเมืองต้องอาศัยปัจจัยหลายด้าน

การจำทำให้ได้ฝึกสมอง

ความจำของเขาทำให้หลายคนประหลาดใจ

คำกริยาบางคำสามารถเติมหน่วยคำ การ- เพื่อสร้างคำอาการนามได้ แต่ไม่สามารถเติมหน่วยคำเติมหน้า ความ- ได้ ในทำนองเดียวกัน คำกริยาบางคำก็เติมได้เฉพาะหน่วยคำเติมหน้า ความ- เท่านั้น เติมหน่วยคำเติมหน้า การ- ไม่ได้ และคำกริยาบางคำ ไม่สามารถเติมได้ทั้งหน่วยคำเติมหน้า การ- และความ- เช่น

                           คำกริยา                                      คำอาการนาม

                                        เดิน                                         การเดิน                              *ความเดิน

                                        ประกอบ                                การประกอบ                     *ความประกอบ

                                        จดจำ                                       การจดจำ                            *ความจดจำ

                                        พิมพ์                                      การพิมพ์                           *ความพิมพ์

                                        ระบุ                                        การระบุ                             *ความระบุ

                                        ค้าขาย                                    การค้าขาย                         *ความค้าขาย

                                        สามัคคี                                   ความสามัคคี                     *การสามัคคี

                                        สำเร็จ                                     ความสำเร็จ                       *การสำเร็จ

                                        คิดเห็น                                   ความคิดเห็น                     *การคิดเห็น

                                        ร้อน                                        ความร้อน                          *การร้อน

                                        คือ                                           -                                          *การคือ *ความคือ

คำสรรพนาม

คำสรรพนามคือ คำที่ใช้แทนคำนาม คำสรรพนามทำหน้าที่เป็นส่วนหลักของนามวลีได้เช่นเดียวกับคำนาม คำสรรพนามแบ่งได้เป็น  ๕  ชนิด คือ บุรุษสรรพนาม  คำสรรพนามถาม  คำสรรพนามชี้เฉพาะ  คำสรรพนามไม่ชี้เฉพาะ  และคำสรรพนามแยกฝ่าย

๑.  คำบุรุษสรรพนาม  หรือ คำสรรพนามบอกบุรุษ หรือคำสรรพนามแทนบุคคล คือคำสรรพนามที่ใช้ระบุแทนบุคคล เพื่อบอกว่าเป็นผู้พูด ผู้ที่พูดด้วย หรือผู้ที่กล่าวถึง หรือใช้ระบุแทนสัตว์ วัตถุ ความคิด เพื่อบอกว่า เป็นผู้ที่พูดด้วยหรือผู้ที่กล่าวถึง

คำสรรพนามแทนบุคคลแบ่งเป็น  ๓  ชนิด คือ สรรพนามบุรุษที่  ๑ สรรพนามบุรุษที่  ๒  และสรรพนามบุรุษที่  ๓

                ก.  คำสรรพนามบุรุษที่  ๑  คือคำสรรพนามบอกบุรุษที่ใช้แทนตัวผู้พูดหรือผู้เขียน เช่น ฉัน ดิฉัน ผม กระผม ข้าพเจ้า หม่อมฉัน ข้าพระพุทธเจ้า ข้า กู ฯลฯ

                ข.  คำสรรพนามบุรุษที่  ๒  คือคำสรรพนามบอกบุรุษที่ใช้แทนผู้ที่พูดด้วย ได้แก่ ผู้ฟังและผู้อ่าน เช่น เธอ คุณ ท่าน ฝ่าบาท ใต้ฝ่าพระบาท เอ็ง มึง ฯลฯ

                ค.  คำสรรพนามบุรุษที่  ๓  คือ คำสรรพนามบอกบุรุษที่ใช้แทนผู้ที่กล่าวถึง เช่น เขา ท่าน เธอ พระองค์ มัน ฯลฯ

ในภาษาที่ไม่เป็นทางการ คำบุรุษสรรพนามบางคำอาจทำหน้าที่ได้หลายหน้าที่ ดังนี้

เรา ทำหน้าที่ได้ทั้งคำสรรพนามบุรุษที่  ๑  และ บุรุษที่  ๒  เช่น

                เราพาพ่อกะแม่มาด้วย 

“เรา” เป็นคำสรรพนามบุรุษที่  ๑

                เราต้องกินนมเยอะ ๆ นะจะได้ตัวโต ๆเหมือนพี่ไง

“เรา” เป็นคำสรรพนามบุรุษที่  ๒

เขา (ออกเสียง /เค้า/) ทำหน้าที่เป็นทั้งสรรพนามบุรุษที่  ๑  และบุรุษที่  ๓  เช่น

วันนี้เค้ามีเรื่องสนุกมาเล่าให้ตัวเองฟังด้วยแหละ 

“เค้า” เป็นสรรพนามบุรุษที่  ๑

                เขา (ออกเสียง /เค้า/) ฝากฉันมาบอกตัวว่า อาทิตย์หน้าจะมาเยี่ยม 

            “เขา” เป็นสรรพนามบุรุษที่  ๓

เธอ แก และเสด็จ ทำหน้าที่เป็นทั้งคำสรรพนามบุรุษที่  ๒  และบุรุษที่  ๓  เช่น

                ช่วยส่งกระเทียมให้หน่อยซิเธอ  “เธอ” เป็นสรรพนามบุรุษที่  ๒

                เธอเป็นผู้หญิงที่ไม่เคยเขียนหน้าทาปากอย่างใครเขา

                “เธอ” เป็นสรรพนามบุรุษที่  ๓

                แกเข้ามาในบ้านฉันได้อย่างไร “แก” เป็นสรรนามบุรุษที่  ๒

                ผมเตือนแกหลายหนแล้วเรื่องก่อหนี้บัตรเครดิตแต่แกก็ไม่สนใจ

                “แก” เป็นสรรพนามบุรุษที่  ๓

                เสด็จ ให้มาทูลถามว่า เสด็จ ได้รับของที่ระลึกหรือยัง

                เสด็จ เป็นสรรพนามบุรุษที่  ๒ 

                เสด็จ เป็นสรรพนามบุรุษที่  ๓ 

ส่วนในภาษาที่เป็นทางการหรือภาษาพิธีการ คำบุรุษสรรพนามมักใช้แยกหน้าที่กันอย่างชัดเจน คือ คำสรรพนามแทนบุคคลคำหนึ่ง ใช้เป็นคำสรรพนามบุรุษที่  ๑  บุรุษที่  ๒  หรือบุรุษที่  ๓  อย่างใดอย่างหนึ่งยกเว้น ท่าน อาจใช้เป็นคำสรรพนามบุรุษที่  ๒  หรือคำสรรพนามบุรุษที่  ๓  ก็ได้ เช่น

                ขอเชิญท่านถ่ายรูปเป็นเกียรติแก่คู่สมรส

                “ท่าน” เป็นสรรถนามบุรุษที่  ๒

                ท่านเดินทางไปต่างประเทศตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว

                “ท่าน” เป็นสรรพนามบุรุษที่  ๓

คำบุรุษสรรพนามในแต่ละภาษาจะสะท้อนให้เห็นวัฒนธรรมและการมองโลกที่แตกต่างกัน คำบุรุษสรรพนามในภาษาไทยสะท้อนให้เห็นวัฒนธรรมไทย การมองโลกและการแสดงวัฒนธรรมการใช้ภาษาไทยได้หลายประการ ได้แก่

แสดงสถานภาพสูงต่ำ เช่น

                กระผมจะขับรถพาคุณท่านไปหาหมอเองครับ

แสดงความอาวุโสมากน้อย เช่น

                หนูจะช่วยทำกับข้าวให้ท่านนะคะ

แสดงเพศ เช่น

                ผมให้เธอเลือกเองว่า จะเอาสีฟ้าหรือสีแสด

แสดงความสุภาพ เช่น

                ผมอยากให้ท่านสบายใจ

แสดงความสนิทสนมระหว่างผู้พูดกับผู้ฟังและผู้ที่กล่าวถึง เช่น

                หนังเรื่องนี้ข้าดูมาแล้ว สนุกมาก ข้าว่าเอ็งน่าจะช่วยไอ้ชิดมันไปดูนะ

ในภาษาไทยนิยมใช้คำนามสามัญบางคำอย่างบุรุษสรรพนาม เช่น คำนามซึ่งเป็นคำเรียกญาติ คำเรียกตำแหน่ง คำเรียกยศ คำเรียกอาชีพ คำนามเหล่านั้นแม้จะนำมาใช้อย่างบุรุษสรรพนาม แต่ก็ยังคงวิเคราะห์ให้เป็นคำนามสามัญอยู่ ไม่วิเคราะห์ให้เป็นคำบุรุษสรรพนาม

คำนามเรียกญาติซึ่งใช้อย่างบุรุษสรรพนาม เช่น

                เย็นนี้ผมติดงาน คงกลับมากินข้าวกับแม่ที่บ้านไม่ได้นะครับ

                ลุงมาที่นี่มากี่ปีแล้ว

                ยายอย่าหยอดกะทิเยอะนะคะ

                เมื่อก่อนปู่พาย่ามาเที่ยวที่นี่บ่อย ๆ

                พี่ปวดหัวมาก น้องช่วยลงไปรับแขกแทนหน่อยนะ

คำนามเรียกตำแหน่งซึ่งใช้อย่างบุรุษสรรพนาม เช่น

                ผมขอลาหัวหน้ากลับก่อนนะครับ

                คณบดีอย่าลืมนัดตอน  ๔  โมงเย็นนะคะ

                ผมพาสุนัขของเจ้านายไปตัดขนเรียบร้อยแล้วครับ

                เมื่อวานดิฉันขออนุญาตผู้จัดการแล้ว

คำนามแสดงยศซึ่งใช้อย่างบุรุษสรรพนาม เช่น

                ผมรายงานผู้พันแล้วครับ

                ผู้กองไม่น่าตัดสินใจรวดเร็วแบบนั้น

                สารวัตรจะดื่มน้ำชาหรือกาแฟดีครับ

                จ่าช่วยลงบันทึกประจำวันให้ผมด้วย

คำนามบอกอาชีพและหน้าที่การงานซึ่งใช้อย่างบุรุษสรรพนาม เช่น

                โชเฟอร์ช่วยเลี้ยวตรงไฟแดงข้างหน้านะ

                เวลาขับรถแท็กซี่ต้องใจเย็น ๆ

                หมอเตือนแล้วอย่าออกกำลังกายหักโหม คุณก็ไม่เชื่อหมอ

                ครูขออวยพรให้นักเรียนทุกคนประสบความสำเร็จ

๒.  คำสรรพนามถาม คือคำสรรพนามที่ใช้แทนนามและใช้แสดงคำถามในขณะเดียวกัน ในภาษาไทยมีเพียง  ๓  คำ ได้แก่ ใคร อะไร ไหน เช่น

                ใครเขียนจดหมายฉบับนี้

                คุณต้องการพูดกับใคร

                อะไรตกลงไปในน้ำ

                น้องกำลังทำอะไรอยู่

                ร่มอยู่ไหน

                ไหนขนมที่เธอซื้อมา

 

๓.  คำสรรพนามชี้เฉพาะ  คือ คำสรรพนามที่ใช้บอกระยะใกล้ ไกล คำสรรพนามชี้เฉพาะมีเพียง  ๘  คำ ได้แก่ นี่ นั่น โน่น นู่น  ชุดหนึ่งแล้ นี้ นั้น  โน้น  นู้น อีกชุดหนึ่ง คำสรรพนามชี้เฉพาะแต่ละชุดใช้บอกระยะไกล ใกล้แตกต่างกัน จากระยะใกล้ที่สุดไปจนถึงระยะไกลที่สุด  ๔  ระยะ  นี่กับ นี้  บอกระยะใกล้ที่สุด นั่น กับ นั้น บอกระยะที่ไกลออกไป โน่น กับ โน้น บอกระยะที่ไกลออกไปอีก นู่น กับ นู้น บอกระยะที่ไกลที่สุด เช่น

คำสรรพนามชี้เฉพาะ นี่ นั่น โน่น นู่น สามารถใช้ตามหลังคำกริยาหรือใช้ขึ้นต้นประโยคก็ได้ เมื่อใช้ขึ้นต้นประโยค อาจตามด้วยคำนามหรือคำกริยาก็ได้

ใช้ตามหลังคำกริยา

                นั่งนี่ไหม

                ร่มอยู่นั่นไง

                ดูโน่นซิ

                ดาวลูกไก่อยู่นู่น

ใช้ขึ้นต้นประโยคและมีคำนามตามมา

                นี่

หมายเลขบันทึก: 424876เขียนเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2011 14:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 23:00 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)
น.ส.สกุลรัตน์ บาลจ่าย

ได้ความรู้เกี่ยวกับชนิดของคำมากขึ้นค่ะ

น.ส.สกุลรัตน์ บาลจ่าย

เลขที่ 22 ม.505

คุณลุงคะ หนูมีข้อสงสัยค่ะ คือ "โรงเรียน"  เป็นคำนามสามัญ  "บางขันวิทยา" เป็นคำนามวิสามัญ เมื่อนำคำนามสองคำนี้แต่ต่างชนิดกันมารวมกันคือ "โรงเรียนบางขันวิทยา" จะจัดเป็นคำนามประเภทใดคะ และแยกนับเป็นคำนามได้กี่คำ ข้อสอบโอเน็ตชอบถามจำนวนคำนามน่ะค่ะ หนูเฉลยไม่ถูกค่ะ

อ่านชนิดของคำแล้วทำให้ทราบถึงรายละเอียดของคำเป็นอย่างดี และแปลกใหม่ในการจัดหมวดหมู่ ของคำเหล่านั้น  วิเศษจริงๆเลย

ได้ความรู้เกี่ยวกับชนิดของคำมากขึ้นอะครับ

ได้รุ้ถึงชนิดของคำค่ะ

นางสาวปาริชาติ พัฒนศิลป์

ม.5/2 เลขที่15

ทำไมอ่านได้แค่ คำนาม กับสรรพนามค่ะ ช่วยหน่อยค่ะ ไมู่้รู้กดตรงไหน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท