คุมเบิกจ่ายค่ายารัฐบานปลาย กระทบตั้งแต่ "หมอ" ถึง "คนไข้"


การชุมนุมประท้วงของข้าราชการ และประชาชนหน้าโรงพยาบาลพระนั่งเกล้าเพื่อเรียกร้องให้โรงพยาบาลนำแพทย์

การชุมนุมประท้วงของข้าราชการ และประชาชนหน้าโรงพยาบาลพระนั่งเกล้าเพื่อเรียกร้องให้โรงพยาบาลนำแพทย์ผู้เป็นเจ้าของไข้ของพวกเขากลับมาทำงานที่โรงพยาบาลดังเดิม นอกจากจะเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่ค่อยจะพบเห็นบ่อยในวงการแพทย์ ยังสะท้อนถึงปัญหาบางประการที่กระทบระดับชาติในอนาคต

       กรณีของโรงพยาบาลพระนั่งเกล้า อาจมีจุดเริ่มมาจากมาตรการคุมเข้มการเบิกค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการของกรมบัญชีกลาง ซึ่งได้ว่าจ้างสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) เข้าไปตรวจสอบการจ่ายยาของแพทย์ย้อนหลังพบว่า มีหลายโรงพยาบาลจ่ายยาให้กับคนไข้ที่เป็นผู้ป่วยนอกเกินความจำเป็นกรมบัญชีกลางจึงเรียกเงินคืนจากโรงพยาบาลของรัฐเป็นวงเงินรวมกว่า 30 ล้านบาท ปรากฏว่ามาตรการดังกล่าวนี้ไปส่งผลกระทบกับการทำงานของแพทย์และโรงพยาบาล โดยเฉพาะโรงพยาบาลพระนั่งเกล้า จ.นนทบุรี ถูกกรมบัญชีกลางเรียกเงินคืน 2 ล้านบาท จากนั้นทางโรงพยาบาลได้ตรวจสอบข้อมูล สวรส.แล้ว พบว่ามีแพทย์ที่อยู่ในข่ายจ่ายยาเกินความจำเป็นมีอยู่ 3-4 คน จ่ายยาให้กับคนไข้ประมาณ 40 คน ส่วนใหญ่ป่วยเป็นโรคไตต้องยารักษาโรคไตและยาสร้างเกล็ดเลือด ซึ่งเป็นยาที่มีราคาแพงมาก นั่นเป็นที่มาที่ทำให้โรงพยาบาลตัดสินใจออกคำสั่งย้าย พญ.นภาพร ลิมป์พิยากร แพทย์โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า ซึ่งถูกกล่าวหาว่าจ่ายยาเกินความจำเป็นไปประจำอยู่ที่โรงพยาบาลวัดแคนอก ทั้ง ๆ ที่ยังไม่มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบข้อเท็จจริง โดยที่ พญ.นภาพรถูกย้ายก่อนเป็นคนแรก

       จากการตรวจสอบข้อมูลของผู้สื่อข่าวพบว่า คำสั่งย้ายครั้งนี้มาจากการปรับระบบการให้บริการภายในของโรงพยาบาลเอง และยังพบว่ากรณี พญ.นภาพรอาจจะเริ่มมีผลต่อการทำงานของแพทย์รายอื่น ๆ ในหลายโรงพยาบาลที่ไม่เข้าใจกรณีนี้ที่มีความคลุมเครือ และไม่กล้าที่จะจ่ายยาให้กับผู้ป่วย เนื่องจากกลัวจะมีความผิดในข้อหาจ่ายยาเกินความจำเป็นหรือจ่ายยาไม่ตรงกับข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ (ที่ไม่มีผลต่อการรักษา) โดยเฉพาะมาตรการควบคุมการเบิกจ่ายยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติ 9 กลุ่ม ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.ที่ผ่านมา

       สาเหตุที่กรมบัญชีกลางต้องออกมาคุมเข้มงบฯรักษาพยาบาลอย่างต่อเนื่อง เป็นผลมาจากเงินงบประมาณที่ได้รับการจัดสรรจากสำนักงบประมาณมีจำนวนน้อยกว่าความเป็นจริง ทุก ๆ ปีส่วนโรงพยาบาลก็เบิกเงินเกินงบฯ

       ปัญหานี้เป็นปัญหาเก่าที่เกิดขึ้นซ้ำซากเป็นประจำทุกปี จากโครงสร้างของข้าราชการและครอบครัว 4.5 ล้านคน ขณะนี้กำลังเริ่มเข้าสู่วัยสูงอายุ ทำให้มีค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาลเพิ่มขึ้นทุก ๆ ปี ซึ่งทางสำนักงบประมาณเองก็รับทราบแนวโน้มที่เกิดขึ้น แต่ในทุก ๆ ปีก็จะมีการหั่นหรือปรับลดวงเงินค่ารักษาพยาบาลข้าราชการลง เพื่อให้ฝ่ายการเมืองโยกเงินไปใช้ในโครงการอย่างอื่น

      การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าคือการให้กรมบัญชีกลางออกมาตัดทอนสิทธิบางประการลง แต่เมื่อตัดแล้วตัดอีกไม่ไหวก็ไปเบิกเอาจากเงินคงคลังมาใช้ และก็ไปตั้งงบฯ ปีถัดไปมาชดใช้ หรือไปเบียดงบฯ ปีถัดไป แต่รัฐบาลชุดนี้ใช้วิธีที่แยบยลจัดงบฯ กลางปี 54 วงเงิน 1 แสนล้านบาท ไปย่อยสลายรายการชดใช้เงินคงคลังก่อนที่จะกลายเป็นภาระงบปี'55 แต่น่าสนใจว่าการลดทอนรายจ่ายของรัฐบาล กลับมาพร้อมปัญหาที่แพทย์กับโรงพยาบาลต้องรับกันไป สุดท้ายคือคนไข้เป็นผู้รับกรรมจากมาตรการของกรมบัญชีกลาง

ประชาชาติธุรกิจ

ประจำวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2554

หมายเลขบันทึก: 424671เขียนเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2011 10:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 10:11 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท