มาร่วมสร้างประชาคมการสอนภาษาไทย ให้มีหลักการ มีทฤษฎีและมีชีวิต
เฉลิมลาภ ทองอาจ
ระบบการเรียนการสอนวรรณคดีไทยเท่าที่ผ่านมา ครูภาษาไทยส่วนมากมักจะให้ความสำคัญกับการออกแบบและสร้างสรรค์กิจกรรมการเรียนการสอน ซึ่งมีคำถามที่นักหลักสูตรและการสอนต้องตั้งคำถามเพื่อให้เกิดการพัฒนาหลายประการ เช่น กิจกรรมการเรียนการสอนนั้น พัฒนาขึ้นจากทฤษฎีหรือหลักการใด สาระสำคัญของการทำกิจกรรมนั้นคือการสร้างความเข้าใจวรรณคดี หรือให้จำเนื้อหาของวรรณคดีไทยกันแน่ เพราะโดยแท้จริงแล้ว การสร้างความเข้าใจวรรณคดีก็คือการสร้างความเข้าใจชีวิต และเข้าใจธรรมชาติของมนุษย์ แต่การเรียนการสอนวรรณคดีในชั้นเรียนส่วนใหญ่กลับไม่เป็นเช่นนั้น ครูภาษาไทยและนักสอนภาษาไทยจำนวนหนึ่ง สอนวรรณคดีในฐานะที่เป็นเอกสารทางประวัติศาสตร์ฺ และบันทึกความทรงจำของผู้เขียน ดังนั้นการสอนเท่าที่เป็นอยู่ จึงเป็นการสอนในระดับผิว มิได้ลงลุ่มลึกในระดับของความคิดหรือประสบการณ์ภายในของทั้งผู้เขียนและผู้อ่านแต่อย่างใด
เมื่อครูภาษาไทยมีมโนทัศน์ที่คลาดเคลื่อนเกี่ยวกับการจัดการเรียนรู้ที่ผิดทาง คือมุ่งเน้นการสร้างความเข้าใจประวัติและเนื้อหาของวรรณคดีแล้ว ก็จะส่งผลให้สร้างมโนทัศน์การวัดและประเมินผลการเรียนรู้วรรณคดีไทยคลาดเคลื่อนไปด้วย กล่าวคือ เข้าใจว่าการวัดและประเมินผลหลังจากที่นักเรียนได้ศึกษาวรรณคดี คือการมุ่งวัดว่านักเรียนมีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับประวัติ ผู้แต่ง ความเป็นมา วัตถุประสงค์การแต่ง รูปแบบและเนื้อหาของวรรณคดีมากน้อยเพียงใด ลักษณะเครื่องมือวัดผลการเรียนรู้จึงมีลักษณะเป็นแบบสอบเลือกตอบ ที่โครงสร้างส่วนใหญ่ประกอบด้วยข้อคำถามในระดับความจำและความเข้าใจเท่านั้น
มโนทัศน์ที่ถูกต้องเกี่ยวกับการวัดและประเมินผลการเรียนรู้วรรณคดีไทยคือ ครูภาษาไทยควรมุ่งวัดความสามารถในการคิดไตร่ตรอง (reflective thinking) ที่เกิดขึ้น ทั้งในขณะที่นักเรียนกำลังอ่านและหลังจากอ่านวรรณคดีไทย เพราะโลกในวรรณคดีเป็นโลกที่ครอบคลุมประสบการณ์ของมนุษย์ในทุกแง่มุม และในโลกของประสบการณ์นี้ บางครั้งอธรรมก็อาจจะชนะธรรมะ คนทำดีทำแล้วไม่ได้ดี (เจตนา นาควัชระ, 2542: 57) เมื่อลักษณะของวรรณคดีเป็นเช่นนี้ นักเรียนจึงต้องคิดวิเคราะห์และคิดไตร่ตรองประสบการณ์ต่างๆ ในวรรณคดี กล่าวคือ คิดพิจารณาแยกแยะประเด็นปัญหา ขบคิดด้วยการเชื่อมโยงประสบการณ์ทั้งหมด เพื่อหาทางเลือกหรือข้อสรุปที่ดีที่สุด แล้วนำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันจนเกิดเป็นความสามารถในการคิดไตร่ตรอง (reflective thinking ability) ซึ่งหมายถึง ความสามารถในการพัฒนาแนวทางหรือวิธีการแก้ปัญหา ที่มิได้มีคำตอบแน่นอนหรือชัดเจน (King และ Kitchener, 1994: 2) กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ กระบวนการคิดไตร่ตรองประสบการณ์ในวรรณคดี เป็นกระบวนการที่นำไปสู่การคิดไตร่ตรองประสบการณ์ในชีวิตจริง (พรทิพย์ ศิริสมบูรณ์เวช, 2547: 6) จากมโนทัศน์ที่ถูกต้องนี้ การวัดผลการเรียนรู้วรรณคดีไทยคือ การวัดความสามารถในการคิดไตร่ตรองประสบการณ์จากวรรณคดีกับประสบการณ์ในชีวิตจริงของผู้เรียนอันเป็นเรื่องเฉพาะบุคคล ด้วยเหตุนี้ การวัดผลการเรียนรู้ด้วยแบบสอบเลือกตอบ จึงค่อนข้างมีข้อจำกัดอยู่มาก เพราะไม่อาจแสดงกระบวนการคิดของของนักเรียนแต่ละคนได้ครอบคลุมและตรงกับความเป็นจริง นอกจากนี้ ปัญหาที่มีลักษณะปิดคือมีคำตอบแน่นอนเพียงคำตอบเดียว มิใช่ปัญหาที่นักเรียนจะต้องเผชิญในการประกอบอาชีพและชีวิตจริง โลกแห่งความเป็นจริงนั้น ทุกปัญหาคลุมเครือ แก้ไขยากและมีลักษณะเปิดที่นักเรียนจะต้องตัดสินใจหลายประการ (Huyck, Ferguson และ Howard, 2008: online)
การวัดความสามารถในการคิดไตร่ตรองประสบการณ์จากวรรณคดี สามารถวัดได้จากผลงานการเขียนไตร่ตรอง (reflective writing) ของนักเรียน ซึ่งเป็นหลักฐานแสดงความสามารถในการคิดไตร่ตรอง นักเรียนจะต้องพยายามเขียนอธิบายและวิเคราะห์เหตุการณ์หรือแนวคิดที่ปรากฏในวรรณคดีอย่างลุ่มลึกและในหลายมิติ ตลอดจนแสดงความคิดเห็นด้วยความรอบคอบว่า เหตุการณ์หรือแนวคิดนั้นมีความหมายต่อชีวิตของตนเองอย่างไร การเขียนไตร่ตรองจึงเป็นผลงานเขียนเฉพาะบุคคล มากกว่าการเขียนทาง การศึกษาประเภทอื่นๆ (Hampton, 2007: online) ด้วยเหตุนี้ การเขียนไตร่ตรองจึง มิใช่เพียงการคัดลอกข้อมูล การตัดสินใจหรือการแก้ปัญหาในระดับผิวเผิน
ครูภาษาไทยควรนำคำถามพัฒนาการคิดมาใช้ เพื่อให้นักเรียนแสดงการคิดไตร่ตรอง ตัวอย่างคำถามพัฒนาการคิดตามประเด็นที่สามารถนำมาเขียนแสดงการคิดไตร่ตรองของ The Learning Centre, The University of New South Wales (2009: online) แสดงในตารางที่ 1 ดังนี้
ตารางที่ 1 ประเด็นที่สามารถนำมาเขียนแสดงการคิดไตร่ตรองและตัวอย่างคำถาม พัฒนาการคิด
ประเด็น |
ตัวอย่างคำถามพัฒนาการคิด |
1. อารมณ์ ความรู้สึกและการรับรู้ต่อ ตัวบท |
1.1 นักเรียนรู้สึกต่อเหตุการณ์.../ตัวละคร... ในเรื่องอย่างไร เพราะเหตุใด 1.2 เหตุการณ์ตอนใดที่นักเรียนรู้สึกเกิดความ ขัดแย้งมากที่สุด เพราะเหตุใด 1.3 ตัวบทตอนใดทำให้นักเรียนสะเทือน อารมณ์มากที่สุด |
|
|
2. ประสบการณ์ แนวความคิดหรือ ผลการสังเกตที่นักเรียนมีต่อตัวบท |
2.1 ตัวละคร.......มีพฤติกรรมที่สอดคล้องกับ ประสบการณ์ของนักเรียนหรือไม่ อย่างไร 2.2 นักเรียนเคยมีประสบการณ์ที่คล้ายกับ แนวคิดของวรรณคดีหรือไม่ อย่างไร 2.3 เหตุการณ์ใดมีความสำคัญหรือเป็นจุดที่ ทำให้ตัวละครเกิดความขัดแย้ง |
3. ตัวบทตอนที่ทำให้นักเรียนเกิดความรู้สึก ต่างๆ เช่น สับสน จับใจ น่าสนใจและ ไม่เข้าใจและสาเหตุที่ทำให้เกิด ความรู้สึกนั้น |
3.1 ตัวบทตอนใดที่นักเรียนอ่านแล้วรู้สึกจับใจ มากที่สุด เพราะเหตุใด 3.2 นักเรียนสนใจเหตุการณ์/ตัวละครใดมาก/ น้อยที่สุด เพราะเหตุใด 3.3 นักเรียนไม่เข้าใจพฤติกรรมของ ตัวละครใดมาก/น้อยที่สุด เพราะเหตุใด |
4. คำถามที่นักเรียนมีต่อตัวบท |
4.1 ปัจจัยหรือตัวแปรใดที่ทำให้ตัวละคร....มี พฤติกรรมหรือจุดจบดังที่ได้อ่าน 4.2 ผู้เขียนต้องการใช้ตัวละคร...บอกหรือเป็น สัญลักษณ์แทนสิ่งใด 4.3 คำพูดหรือพฤติกรรมของของตัวละคร.... สื่อนัยอะไร และมีผลต่อเรื่องอย่างไร |
5. ข้อสรุปที่นักเรียนสร้างขึ้นจากตัวบท |
5.1 แนวคิดที่ผู้เขียนนำเสนอคืออะไร และ ผู้เขียนมีกลวิธีการเสนอแนวคิดนั้นอย่างไร 5.2 พฤติกรรมของตัวละคร....จะส่งผลให้เกิด เหตุการณ์ใด เพราะอะไร 5.3 สัญลักษณ์.....ในตัวบทหมายถึงอะไร และนักเรียนทราบได้อย่างไร |
|
|
6. มุมมองหรือมิติใหม่ที่มีต่อตัวบท ซึ่งต้อง อาศัยการตีความที่หลากหลาย |
6.1 พฤติกรรมของตัวละคร....สามารถ พิจารณาใหม่หรือมองในมุมตรงข้ามได้ อย่างไร เพราะเหตุใด 6.2 วรรณคดีที่ศึกษา นอกจากจะมีแนวคิดว่า ...แล้ว ยังมีแนวคิดอื่นๆ อีกหรือไม่ ให้อธิบายเหตุผลประกอบ |
7. ข้อมูลหรือประเด็นที่นักเรียนควรจะ ค้นหาหรือขยายความต่อไปจากตัวบท |
7.1 ภูมิหลังและประสบการณ์ของผู้เขียนมี อิทธิพลต่อเนื้อหาวรรณคดีอย่างไร 7.2 ประเด็นหรือความรู้ที่ควรค้นคว้า เพิ่มเติมเกี่ยวกับวรรณคดีมีอะไรบ้าง |
8. การเปรียบเทียบและเชื่อมโยงระหว่าง เนื้อหากับความรู้และประสบการณ์เดิม ของนักเรียน |
8.1 ข้อมูลหรือประเด็นใดที่สอดคล้อง/ไม่ สอดคล้องกับประสบการณ์เดิมของ นักเรียน เพราะเหตุใด 8.2 พฤติกรรมของตัวละคร...เป็นไปได้จริง หรือไม่ นักเรียนเคยพบบุคคลในชีวิตจริง ที่มีลักษณะดังกล่าวหรือไม่ อธิบาย เปรียบเทียบ |
9. วิธีการหรือกระบวนการที่นักเรียนใช้ ต่อไปนี้ 1) วิธีการแก้ปัญหาและแสวงหา คำตอบ
2) วิธีการสร้างข้อสรุป
|
9.1 ขณะที่อ่านตัวบท นักเรียนพบปัญหาใน การอ่านอะไรบ้าง และนักเรียนมีวิธี แก้ปัญหาเหล่านั้นอย่างไร 9.2 การที่นักเรียนสรุปว่าแนวคิดของวรรณคดี คือ.... นักเรียนมีขั้นตอนหรือหลักการ สรุปอย่างไร
|
3) วิธีการสร้างความเข้าใจ
4) กระบวนการที่ประสบการณ์ใหม่ เปลี่ยนแปลงความคิดเดิม |
9.3 นักเรียนมีวิธีการตีความสัญลักษณ์หรือ ถ้อยคำเพื่อสร้างความเข้าใจตัวบทอย่างไร พิจารณาข้อมูลด้านใดบ้าง อธิบายและ ยกตัวอย่างประกอบ 9.4 ข้อมูลหรือประสบการณ์ใดที่นักเรียนไม่ เคยทราบมาก่อน และนักเรียนมีการ ลำดับความคิดหรือจัดการอย่างไร เมื่อได้รับข้อมูลหรือประสบการณ์นั้น |
มโนทัศน์การวัดและประเมินผลการเรียนรู้วรรณคดีไทยที่คลาดเคลื่อน สามารถปรับเปลี่ยนในเชิงปฏิบัติด้วยการลดการวัดความรู้ด้านเนื้อหา และหันมาให้ความสำคัญกับการวัดระดับความสามารถในการคิดไตร่ตรองจากการประเมินผลงานการเขียนไต่รตรอง อันจะทำให้ได้สารสนเทศที่แสดงว่าผู้เรียน “มองลึกนึกกว้าง” ซึ่งหมายถึง นักเรียนสามารถสร้างมุมมองต่อประสบการณ์ในวรรณคดีอย่างลึกซึ้ง และนึกเชื่อมโยงประสบการณ์นั้นกับชีวิตของตนเองได้อย่างแท้จริง
- การคิดไตร่ตรองช่วยให้ผู้เรียนเกิดความเข้าใจในความคิดของตนเองมากขึ้น
- การสอนวรรณกรรมควรสอนให้ผู้เรียนเกิดการ “มองลึกนึกกว้าง” ผมชอบคำนี้จริงๆ ครับ
- ขอบคุณความรู้ดีๆ ครับ อาจารย์พี่เฉลิมลาภ
สวัสดีครับพี่น้องครุศาสตร์ จุฬาฯ ที่รัก
ผมรู้สึกอบอุ่นใจทุกครั้ง ที่ทราบว่าคบเพลิงชมพูที่สวยงามของเรา ได้จุดประกายเพื่อสร้างหนทางให้กับเยาวชนในหลายๆ แห่ง น้องคงจะเห็นแล้วว่า เราเลือกอาชีพไม่ผิดใช่ไหมครับที่มาเป็นครู เรากระตือรืนร้นเสมอเมื่อได้เรียนรู้สิ่งใหม่ และได้แลกเปลี่ยนสิ่งนั้นกับนักเรียนของเรา ในฐานะพี่ครุศาสตร์ ก็ขอให้กำลังใจน้องนะครับว่า เรากำลังทำหน้าที่เพื่อบ้านเมือง แม้ว่าเราจะไม่ใช่ทหารที่ป้องกันข้าศึกษาในแนวหน้า แต่เราก็เป็นแนวหลัง ที่ปกป้องมิให้ "ความไม่รู้" มาทำลายนักเรียน ผู้เป็นกำลังของบ้านเมือง ขอให้น้องประสบความสำเร็จและสร้างสรรค์สิ่งดีๆ เพื่อสังคมครับ
อ.พี่เฉลิมลาภ ทองอาจ