อุดมการณ์ของคนเล็กๆ (๔)


 

 “นี่ใช่ไหม ที่เราอยากเห็นเพลินพัฒนาเป็น” คือ คำถามที่พี่ติ่ง - สุภาวดีถามนำเมื่อเข้าสู่ช่วงของการทำความเข้าใจวิสัยทัศน์

 

ก่อนที่จะได้ทำความเข้าใจกับวิสัยทัศน์ ทุกคนต้องเล่นเกมจับกลุ่ม ที่คุณแจ๊ค กับคุณพิส ผู้ช่วยกระบวนกรนำให้ผู้เข้าร่วมได้กลับไปเป็นเด็กๆ อีกครั้ง พอกลุ่มสมาชิกในกลุ่มย่อยมีการคละกันทุกส่วนงานได้ที่ดีแล้ว การทำความเข้าใจในวิสัยทัศน์ก็เริ่มต้นขึ้น

 

ใครในกลุ่มเข้าใจว่า “เพลินพัฒนาเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ที่มุ่งมั่นสร้างผู้เรียน ให้บรรลุศักยภาพสูงสุดของตนเองร่วมกัน เพื่อความสุขอย่างยั่งยืนของชีวิตและสังคม” ว่าอย่างไร

 

คำสำคัญ เช่น ชุมชนแห่งการเรียนรู้ศักยภาพสูงสุดของตนเองร่วมกัน / ความสุขอย่างยั่งยืนของชีวิตและสังคม หมายถึงอะไร มีรูปธรรมหรือพฤติกรรมที่แสดงออกอย่างไร  เมื่อทุกคนได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกันอย่างทั่วถึงแล้ว ก็ถึงคราวระดมคำถามที่กลุ่มยังคิดไม่ตก หรือยังไม่เข้าใจดีพอว่าหมายถึงอะไร

 

คำถามเหล่านี้เขียนอยู่บนกระดาน ส่วนคำตอบของคำถามนั้น... “แขวนเอาไว้ก่อน”

 

จากนั้นลองให้กลุ่มที่คุยกันได้อย่างลื่นไหล และสนุกสนานลองเสนอบรรยากาศของกลุ่มดูบ้าง

 

หลายกลุ่มบอกว่าทุกคนชอบวิสัยทัศน์นี้มากอย่างไม่มีข้อสงสัย  และที่คุยกันสนุกเพราะสมาชิกในกลุ่มชวนกันคิดว่าจะทำอย่างไรเราจึงจะได้วิสัยทัศน์ดังเช่นที่ว่านี้ คำอธิบายที่ได้มา เช่น

 

ชุมชนแห่งการเรียนรู้  คือ ชุมชนที่พร้อมเรียนรู้ พร้อมเปลี่ยนแปลง ทุกคนเรียนรู้ด้วยกันในทุกมิติ / เรียนรู้จากกันและกันทั้งให้และรับ

 

ศักยภาพสูงสุดของตนเองร่วมกัน  คือ  การรู้จักศักยภาพสูงสุดของตน และรู้ว่าเราทุกคนมีศักยภาพที่แตกต่างกัน แต่ทุกคนได้เติบโตไปร่วมกัน เติมเต็มให้กันและกัน / เชื่อมั่นในศักยภาพของตน ในแบบของตน / สร้างแรงบันดาลใจให้คนอื่นได้

 

ความสุขอย่างยั่งยืนของชีวิตและสังคม  คือ การที่ตัวเรากับสังคมแยกกันไม่ออก เราต้องเรียนรู้ว่าทั้งตัวเราและสังคมจะเป็นสุขได้อย่างไร เราจะอยู่ร่วมกับคนอื่นอย่างไรจึงจะมีความสุขในสถานการณ์แบบ win-win ที่ทั้งสองฝ่ายพอจะยอมรับได้ ทั้งสองฝ่ายพอใจ / เคารพนับถือกัน เรียนรู้จากกันและกัน คิดบวก อยู่บนพื้นฐานของทั้ง intuition (ใช้หัวใจบอก) และ reality (ใช้ความจริงเชิงประจักษ์บอก)

 

เมื่อทุกกลุ่มได้บอกเล่าจนครบ คำถามที่เคยมีอยู่บนกระดานก็เริ่มมีคำตอบจากคำอธิบายของเพื่อน โดยเฉพาะประเด็นของ win –win ที่ไม่ได้แปลว่า ชนะทั้งสองฝ่าย หรือ ๕๐:๕๐

 

พี่ก้า – อาจารย์กรองทอง บุญประคอง ผู้ร่วมก่อตั้งโรงเรียนเพลินพัฒนา และผู้อำนวยการคนที่สองของโรงเรียนเพลินพัฒนา ช่วยเสริมความเข้าใจในประเด็นนี้ว่า “ถ้าเรา win – win ตั้งแต่ในใจแล้ว เราจะไม่แพ้ใครเลย ความสุขของเราถ้าไม่เบียดเบียนคนอื่นก็ win – win แล้ว”

 

 

หมายเลขบันทึก: 423974เขียนเมื่อ 3 กุมภาพันธ์ 2011 21:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 สิงหาคม 2012 11:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ประทับใจบันทึกของคุณทนงฯ ใน จม.ข่าวเพลิน

ติดตามอ่านอุดมการณ์ของคนเล็ก ๆ ต่อไป...ค่ะ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท