ชีวิตที่พอเพียง : ๑๑๗๖. ทำงานทัดทานสังคมบ้าปริญญา


..............เวลานี้ในสังคมไทยมีภาวะว่างงาน ๓ แบบ แบบแรกคือหางานไม่ได้จริงๆ แบบที่ ๒ ว่างงานเพราะเลือกงาน และแบบที่ ๓ เป็นการว่างงานแบบต่ำวุฒิ คือจริงๆ แล้วมีงานทำ แต่งานที่ทำนั้นต้องการวุฒิต่ำกว่า เช่นต้องการวุฒิเพียง ปวช. แต่บัณฑิตปริญญาตรีจำนวนหนึ่งต้องยอมทำงานนั้น เพราะขีดความสามารถของตนไม่สามารถแข่งขันกับการหางานตามวุฒิได้ คือหลักสูตรปริญญาตรีที่เรียนจบ ให้ competency ที่ต่ำมาก หน่วยงานที่เขาเลือกคนเป็นเขาไม่เลือกรับบัณฑิตเหล่านี้เข้าทำงาน บัณฑิตเหล่านี้จึงต้องยอมรับงานต่ำวุฒิ สภาพนี้ดาษดื่นมากในสังคมไทยขณะนี้ คือมีปริญญาไว้ประดับตน แต่ไม่สามารถใช้หางานดีๆ ได้

          เมื่อวันที่ ๙ ม.ค. ๕๔ มีการประชุมคณะกรรมการมูลนิธิพูนพลัง   มีกรรมการมาประชุม ๕ คน จากทั้งหมด ๖ คน   กรรมการเหล่านี้เป็นคนระดับปัญญาชนของประเทศ อายุระหว่าง ๓๕ - ๔๐ ปี  มีคนแก่คนเดียววัย "กล้วยไม้" คือประธาน

          วาระสำคัญคือการคัดเลือกผู้สมัครรับทุนการศึกษาระดับอาชีวศึกษาและอุดมศึกษา มีผู้สมัครถึง ๑๑๑ คน โดยที่มีเงินให้ทุนเพียง ๓ - ๖ ทุนเท่านั้น การกลั่นกรองรอบแรกโดยคณะทำงาน ๓ คน ได้ผู้ผ่านรอบแรก ๒๓ คน  จากเกณฑ์ความยากลำบาก การมีประวัติพยายามช่วยเหลือตนเอง และผลการเรียนดีพอสมควร

          ในการประชุมมูลนิธิครั้งก่อน กรรมการได้ลงมติให้เน้นให้ทุนระดับ ปวช. ปวส. มากกว่าระดับปริญญาตรี   ในการประชุมครั้งนี้ ประธานได้ย้ำเหตุผลที่มีมติดังกล่าวว่า  กระแสสังคมที่บ้าปริญญาเป็นสิ่งไม่เหมาะสมต่อสังคมไทย ที่ต้องการกำลังคนระดับอาชีวะมากกว่าระดับปริญญาตรี  และกระแสบ้าปริญญาทำให้เกิดภาวะว่างงานแบบแปลกในสังคมไทย คือว่างงานแบบต่ำวุฒิ

          ประธานถือโอกาสเล็กเชอร์ให้กรรมการที่เป็นปัญญาชนระดับด็อกเตอร์, รองศาสตราจารย์ หรือเทียบเคียง แต่ไม่คุ้นกับภาพใหญ่ของสังคมไทยว่า   เวลานี้ในสังคมไทยมีภาวะว่างงาน ๓ แบบ   แบบแรกคือหางานไม่ได้จริงๆ   แบบที่ ๒ ว่างงานเพราะเลือกงาน   และแบบที่ ๓ เป็นการว่างงานแบบต่ำวุฒิ   คือจริงๆ แล้วมีงานทำ แต่งานที่ทำนั้นต้องการวุฒิต่ำกว่า เช่นต้องการวุฒิเพียง ปวช. แต่บัณฑิตปริญญาตรีจำนวนหนึ่งต้องยอมทำงานนั้น   เพราะขีดความสามารถของตนไม่สามารถแข่งขันกับการหางานตามวุฒิได้   คือหลักสูตรปริญญาตรีที่เรียนจบ ให้ competency ที่ต่ำมาก   หน่วยงานที่เขาเลือกคนเป็นเขาไม่เลือกรับบัณฑิตเหล่านี้เข้าทำงาน   บัณฑิตเหล่านี้จึงต้องยอมรับงานต่ำวุฒิ   สภาพนี้ดาษดื่นมากในสังคมไทยขณะนี้   คือมีปริญญาไว้ประดับตน แต่ไม่สามารถใช้หางานดีๆ ได้

          ด้วยเหตุนี้ สังคมไทยจึงต้องการ social communication ให้คนทั่วไปได้ทราบว่า   ลูกหลานที่สติปัญญาปานกลางควรเน้นเข้าเรียนสายอาชีวะ   ไปสู่การประกอบอาชีพ  มากกว่าเรียนสายสามัญ ไปสู่การเรียนมหาวิทยาลัยเพื่อปริญญา โดยยังไม่รู้ว่าจะไปทำงานอะไร   เพราะผู้จบสายอาชีวะหางานง่ายกว่ามาก   และมีโอกาสได้งานดีๆ และตรงกับทักษะที่เรียนมา มากกว่า พวกบัณฑิตที่เรียนมาแต่ทฤษฎี ทำงานไม่เป็น

          มูลนิธิพูนพลัง ซึ่งเป็นองค์กรขนาดจิ๋ว จึงร่วมทำหน้าที่สื่อสารสังคมในเรื่องนี้   ด้วยการกำหนดนโยบายเน้นให้ทุนแก่ผู้สมัครระดับ ปวช. ปวส. มากกว่าระดับปริญญาตรี   หรือคนที่จบ ปวส. ที่ผลการเรียนดีเลิศและต้องการเรียนปริญญาตรี ก็จะได้แต้มสูงในการคัดเลือกผู้สมัครรับทุน

          มีเด็กโทรศัพท์เข้ามาถามผลการคัดเลือกรอบแรกกันมาก   “เลขา” เป็นผู้รับโทรศัพท์ และแจ้งจุดเน้นของมูลนิธิ ว่าให้คะแนนแก่ผู้สมัครที่ต้องการเรียนต่อระดับ ปวช. ปวส. มากกว่าผู้สมัครที่ต้องการเรียนระดับปริญญาตรี   เพราะเป็นการลงทุนให้แก่สังคมที่คุ้มค่ากว่า

          เอามาเล่า   เพื่อชักชวนครูทั้งหลาย ให้แนะแนวศิษย์ที่สติปัญญาไม่ดีนัก ฐานะทางบ้านก็ไม่ดี  ให้มุ่งไปเรียนสายอาชีวะ   อย่าหลงเรียนสายสามัญ ไปสู่การเรียนเพื่อปริญญาไปสู่การทำงานต่ำวุฒิ หรือว่างงาน

          และขอบันทึกว่า การทำงานของคณะกรรมการมูลนิธิพูนพลัง มีเป้าหมายมากกว่าการทำงานจรรโลงสังคม ด้วยการช่วยเหลือนักเรียนนักศึกษาผู้ยากลำบาก   ยังมีเป้าหมายเพื่อการเรียนรู้ด้วย   โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเรียนรู้ของคณะกรรมการ   ย้ำว่ากรรมการทั้ง ๗ คนได้เรียนรู้มาก  ไม่เว้นประธานกรรมการผู้มีอาวุโส ในวัย “กล้วยไม้”   คือทำให้เราเข้าใจสังคมไทยมากขึ้น   เข้าใจความยากลำบากและข้อจำกัดในการช่วยตนเองของเยาวชนมากขึ้น   แล้วนำความรู้นั้น เอามาปรับปรุงการทำงานของมูลนิธิเล็กๆ   ที่มีสินทรัพย์เพียง ๒.๔ ล้านบาท   ทำงานช่วยเหลือผู้ยากไร้ด้านการศึกษา ปีละ ๑.๖ ล้านบาท   รวมกับเวลาและเมตตาให้ความห่วงใยในลักษณะเปี่ยมด้วยหัวใจของความเป็นมนุษย์

 

 

วิจารณ์ พานิช
๙ ม.ค. ๕๔

วงประชุมคณะกรรมการมูลนิธิพูนพลัง

                   

เมื่อประชุมเสร็จ เปลี่ยนเป็นวงคณะทำงานคัดเลือกผู้สมัครรับทุน

หมายเลขบันทึก: 423613เขียนเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2011 08:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณกับข้อความที่มีมาปรากฎให้เห็น.."สังคมบ้าปริญญา"..อาจจะมีคำถามว่าความบ้านี้มีต้นตอมาจากอะไร...(จากประสพการณ์ส่วนตัว..ครั้งหนึ่ง..ในชีวิต..ได้ไปเล่าเรียนวิชาที่ตนอยากเรียนและยังหาเรียนไม่ได้ในเมืองไทยสมัยหนึ่ง..และสาขานี้..เป็นความลับหรือความรู้ที่ตกทอดอยู่ในครอบครัวโดยเฉพาะชาวจีน..คือเครื่องปั้นดินเผา)...โอกาศครั้งนั้นตอนไปสมัครเรียนในมหาวิทยาลัยศิลปะแห่งหนึ่งในกรุงเบอรลินสมัยนั้น..สิ่งแรกเขาให้เซ็นชื่อรับรองตนเองว่า..สิ่งที่เรียนเขาไม่รับรองว่าจะมีงานให้ทำ..จบมา..Prof.ให้ไปช่วยสอน..พอหมดสัญญา..มีตำแหน่งที่คล้ายคลึงอยู่..แต่ต่ำต้อยกว่า..สมัครไปเขาก็รับ..แถมถามว่าคิดดีแล้วหรือ..ตำแหน่งต่ำกว่าเงินต่ำกว่า..(ก็ตอบเขาไปว่า..ยินดีเพราะมีงานทำ...และก็พอใจกับสิ่งที่ได้รับ..เพราะได้ทำงานในสถานที่ๆให้การศึกษาอย่างเดียวกัน..เพียงเปลี่ยนชื่อเปลี่ยนสถานที่เท่านั้น..และคล้ายๆกัน..ทิ้งเงินทิ้งตำแหน่งมาสมัครทำงานในมหาวิทยาลัยเมืองไทย..มองดูที่ค่าเงินนั้นแสนต่ำต้อยแลดูตำแหน่งเหมือนสูงค่า(ถ้าบ้าปริญญา)..กพ.คงเห็นใจเลยปรับเปลี่ยนราคาและระดับให้ตามที่ส่งเอกสารขอเทียบไป(พอค่ารถเมล์ไปทำงานถึงนครปฐมสมัยนั้น..)..เลยถูกให้ออก..อ้ะๆๆความเป็นวัยไม้ไกล้ฝั่ง..อ่านตรงนี้แล้วคิดถึงอดีต...กับคำว่าบ้าปริญญา..เลยอยากถามว่า..ปริญญาที่นี่ในเมืองไทย..เขาเอามาตราฐานอะไรมาวัดกันกับความสามารถในการทำงานถึงเรียนมาหางานทำไม่ได้แถมแพงดูดับตับไหม้ก็ยังมีหมาวิทยาลัยแบบโรงงานผลิตคนมีปริญยาเกลื่อนประเทศไปหมด...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท