ธ.ก.ส.จ่ายเงินน้ำท่วม 5.8 พันล.ชี้ จนท.ท้องถิ่นเก็บต๋งเกษตรกร


ธ.ก.ส.แจงน้ำท่วม-พายุใหญ่ปี 53 กระทบสินเชื่อ 4.9 หมื่นล้านบาท ให้การดูแลเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบเต็มที่ ด้านจ่ายเงินเยียวยาเกษตรกรเหยื่อน้ำท่วมตามมติ ครม.เพิ่งทำได้แค่ครึ่ง จาก 1.24 หมื่นล้านบาท จ่ายได้ 5.8 พันล้านบาท เหตุข้อมูลเกษตรกรสับสน เผยแบงก์โปร่งใส ทำทุกอย่างมีขั้นตอนและหลักฐาน แต่ยอมรับมีหน่วยงานอื่นทุจริตบ้างแต่ไม่มาก และยากจะตามเอาผิด

ธ.ก.ส.แจงน้ำท่วม-พายุใหญ่ปี 53 กระทบสินเชื่อ 4.9 หมื่นล้านบาท ให้การดูแลเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบเต็มที่ ด้านจ่ายเงินเยียวยาเกษตรกรเหยื่อน้ำท่วมตามมติ ครม.เพิ่งทำได้แค่ครึ่ง จาก 1.24 หมื่นล้านบาท จ่ายได้ 5.8 พันล้านบาท เหตุข้อมูลเกษตรกรสับสน เผยแบงก์โปร่งใส ทำทุกอย่างมีขั้นตอนและหลักฐาน แต่ยอมรับมีหน่วยงานอื่นทุจริตบ้างแต่ไม่มาก และยากจะตามเอาผิดนายประกิต เชวงนิรันดร์ ผู้ช่วยผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ความเสียหายจากภัยพิบัติธรรมชาติ ซึ่งเกิดอุทกภัยและวาตภัยครั้งใหญ่ในปี 2553 ส่งผลกระทบต่อหนี้เงินกู้ของธนาคารประมาณ 49,038 ล้านบาท ซึ่งธนาคารได้ดำเนินการตัดหนี้สูญสำหรับลูกค้าเกษตรกรที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์ภัยพิบัติ จำนวน 1.9 ล้านบาท ส่วนเกษตรกรผู้ประสบภัยรายอื่น ๆ ได้ดำเนินการพักชำระหนี้และงดคิดดอกเบี้ยเป็นระยะเวลา 3 ปี รวมทั้งให้สินเชื่อใหม่เพื่อฟื้นฟูการประกอบอาชีพและพัฒนาคุณภาพชีวิตรายละไม่เกิน 100,000 บาท โดยลดดอกเบี้ยจากเงินกู้ปกติ 3% เป็นระยะเวลาไม่เกิน 3 ปี ซึ่งได้มีการให้สินเชื่อในส่วนนี้แล้วประมาณ 200 ล้านบาท

       ส่วนผลการดำเนินงานการจ่ายเงินเพื่อเยียวยาเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัยและวาตภัยปี 2553 ตามมติคณะรัฐมนตรี ธนาคารได้ขอเบิกเงินงบประมาณจากกรมบัญชีกลางจำนวน 12,499 ล้านบาท เพื่อนำไปช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบอุทกภัยในพื้นที่ 58 จังหวัด จำนวน 516,735 ราย จำนวนเงินชดเชย  12,155 ล้านบาท  เกษตรกรผู้ประกอบการประมง 42,439 ราย จำนวนเงินชดเชย 327 ล้านบาท และเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์  5,409 ราย จำนวนเงินชดเชย 17 ล้านบาท โดยเงินชดเชยดังกล่าวจะจ่ายเข้าบัญชีเงินฝากของเกษตรกรที่เปิดบัญชีกับธนาคารโดยตรง ซึ่งเกษตรกรที่ได้รับความเสียหายเกือบทั้ง 100% เปิดบัญชีกับธนาคารอยู่แล้ว  ทั้งนี้ ในขั้นตอนการปฏิบัติงาน ธนาคารได้ตรวจสอบรายชื่อและบัญชีให้ตรงกันจึงจะโอนเงินเข้าบัญชีของเกษตรกรได้ โดยผลการดำเนินงานตั้งแต่ 28 ธันวาคม 2553 ถึง  21 มกราคม 2554 สาขาของธนาคารได้โอนเงินเข้าบัญชีผู้ประสบภัยแล้ว 209,833 ราย จำนวนเงิน 5,841 ล้านบาท ยังเหลืออยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบข้อมูลความถูกต้องเพื่อดำเนินการโอนเงินอีก 306,902 ราย จำนวนเงิน 6,658 ล้านบาท

       ขณะที่ขั้นตอนการจ่ายเงินช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัย ธนาคารจะรับข้อมูลของผู้ประสบภัย และข้อมูลในการใช้งบประมาณจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จากนั้นสรุปข้อมูลการขอจัดสรรงบประมาณเสนอไปยังสำนักงบประมาณ เมื่อได้รับการพิจารณาจัดสรรพร้อมการอนุมัติใบงวดและแผนการเบิกเงิน ธนาคารจะเบิกงบโดยบันทึกข้อมูลในระบบ GFMIS ไปยังกรมบัญชีกลางเพื่อโอนเงินผ่านระบบ GFMIS มายัง ธ.ก.ส. จากนั้นธนาคารจะแจ้งการโอนเงินไปยังสาขาที่เกี่ยวข้องพร้อมข้อมูลรายอำเภอ

       เมื่อสาขาได้รับข้อมูลแล้วจะตรวจสอบรายชื่อตามที่ส่วนราชการในพื้นที่จัดส่งให้ เมื่อถูกต้องตรงกันสาขาจะโอนเงินเข้าบัญชีเกษตรกรผู้ประสบภัยเป็นรายบุคคล หลังจากนั้นจะจัดทำรายงานการโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของเกษตรกรแต่ละรายให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องได้รับทราบเพื่อเป็นหลักฐาน ซึ่งขั้นตอนทั้งหมดใช้เวลา 15 วัน โดยที่เกษตรกรสามารถขอถอนเงินหลังจากสาขา ธ.ก.ส.โอนเงินเข้าบัญชี ซึ่งไม่มีการคิดค่าใช้จ่ายหรือค่าธรรมเนียมใด ๆ ทั้งสิ้น

       นายประกิต กล่าวต่อไปว่า ธ.ก.ส.ได้พยายามโอนเงินเข้าบัญชีเกษตรกรให้เร็วที่สุด ไม่มีการกักการโอนเงินให้ช้าเพื่อนำเงินไปหาประโยชน์ แต่ในบางกรณีที่อาจเกิดความล่าช้า เนื่องจากเลขที่บัญชีธนาคารเป็นชื่อสามี แต่รายชื่อผู้ได้รับเงินเยียวยาเป็นรายชื่อภรรยา ทำให้รายชื่อและเลขที่บัญชีไม่ตรงกัน หรือพื้นที่เพาะปลูกที่ได้รับความเสียหายอยู่คนละอำเภอกับที่เกษตรกรเปิดบัญชี จึงต้องมีการแก้ไขตรวจสอบให้ถูกต้องตามขั้นตอน ส่วนที่มีกระแสข่าวว่า หากจ่ายเงินให้พนักงานจะทำให้ได้รับเงินเร็วขึ้นนั้น ไม่เป็นความจริง เกษตรกรอย่าได้หลงเชื่อผู้แอบอ้าง เพราะหากพนักงาน  ธ.ก.ส.รับเงินจากเกษตรกรจะถือเป็นความผิดวินัยขั้นรุนแรงฐานทุจริต หากเกษตรกรพบเห็นพนักงานหรือผู้แอบอ้างเรียกเก็บค่าใช้จ่ายกับเกษตรกรในการขอรับเงินเยียวยา สามารถร้องเรียนได้ที่ ธ.ก.ส.ทุกสาขา

       “ยอมรับว่าที่ผ่านมามีการทุจริตโดยการเรียกรับเงินเกิดขึ้นบ้าง แต่ก็ไม่ได้มากมายอะไรนัก และที่เกิดขึ้นก็ไม่ใช่พนักงาน ธ.ก.ส.แน่นอน เพราะการจ่ายเงินเป็นการจ่ายเข้าบัญชีโดยตรง ไม่ได้จ่ายเป็นเงินสด ที่เกิดขึ้นน่าจะเป็นหน่วยงานอื่นในพื้นที่ที่อาจตกลงกับเกษตรกรให้แจ้งความเสียหายมากกว่าความเป็นจริง พอเกษตรกรเบิกเงินจากบัญชีแล้วก็ต้องไปจ่ายให้คนทุจริตตามที่ตกลงกันไว้ ซึ่งคงยากที่จะไปติดตาม และก็ไม่ได้เกี่ยวกับ  ธ.ก.ส.  เพราะ  ธ.ก.ส.มีหน้าที่เพียงขอเบิกเงินจากสำนักงบฯ เอาไปจ่ายให้ถูกต้องตามที่มีการแจ้งความเสียหายไว้กับหน่วยงานต่าง ๆ เท่านั้น” นายประกิต กล่าว

ดอกเบี้ยธุรกิจ 

คม ชัด ลึก (คอลัมน์ย่อยโลกเศรษฐกิจ) 29 ม.ค. 54

หมายเลขบันทึก: 423265เขียนเมื่อ 31 มกราคม 2011 10:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 13:24 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท