ชีวิตที่เมืองลาว : 30 มกราคม 2554 "ทำไมถึงง่ายกว่าที่คิด..."


 

หลังจากที่เมื่อวานเย็น (๒๙ มกราคม ๒๕๕๔) ข้าพเจ้าพยายามกลับมา “ทำการบ้าน” เตรียมวิธีการ เตรียมคำพูดเพื่อที่จะ “โน้มน้าว” ให้ช่างใช้ “ไม้ไผ่” แทน “ไม้อัด” เพื่อรองรับการเทพื้น และในวันนี้ช่วงสาย ๆ ข้าพเจ้าก็ดำเนินการตามแผนการณ์ที่วางไว้ แต่คำตอบที่ได้รับกลับมาได้ “ง่าย” กว่าที่คิด...?

“ได้ ได้ ได้” ไปคุยกับใคร ใครก็ตอบว่า “ได้” เอ้า อุตส่าห์คิดหาเหตุผลมาร้อยแปดเพื่อไว้คุยกับใครสักคนที่ตอบว่า “ไม่ได้...”

ทำไมทุกคนจึงตอบว่า “ได้” แล้วทำไมเราจึงต้องคิดด้วยว่าเขาจะตอบคำว่า “ไม่ได้...”
สำหรับเหตุผลที่ข้าพเจ้าคิดได้หลังจากที่ไปคุยกับใครว่าจะใช้ไม้ไผ่แทนไม้อัด ที่ใครต่อใครก็ตอบว่าได้นั้นก็คือ “เขาก็ทำกันอยู่แล้ว” แต่ไอ้เรานั่นแหละ “ไม่เคยทำ”

ทำไมเขาถึงเคยทำ แล้วเราทำไมถึง “ไม่เคยทำ”
ข้าพเจ้านึกย้อนไปถึง “บริบทชุมชน” ที่เมืองนี้เขาทำอะไรกัน “ง่าย ๆ” คือมีอะไรก็ใช้อันนั้น
เมื่อวานเย็นข้าพเจ้าเคยนึกขึ้นแว๊บหนึ่งว่า ทำไมเมืองสานะคามนี้ไม่มีไม้อัดขาย...?
วันนี้ก็ได้คำตอบว่า ใครจะไป “โง่” ใช้ไม้อัดมาปูรองพื้นเพื่อใช้เทปูน ซึ่งใช้ครั้งเดียวแล้วก็ “ทิ้ง”
มันมีอะไรที่ถูกและ “เหมาะสม” กว่าไม้อัดอีกเยอะ...

สำหรับบ้านเรา “ไม้อัด” ถือว่าง่ายและเหมาะสมที่สุด
แต่บ้านเขา ไม้อัดแผ่นละ 400 บาท ที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง เขาไม่ใช้ “สุรุ่ยสุร่าย” เหมือนบ้านเรา

คนบ้านเราดังเช่นข้าพเจ้า เงินสี่ร้อยบาทซื้อไม้อัด 1 แผ่น ไม้อัด 6 แผ่น ก็พอลงทุนได้
แต่เงินสองสามพันบาทสำหรับที่นี่มีคุณค่าอย่างเหลือล้น แล้วเขาจะเอาเงินสองสามพันบาทไปทิ้งทำไม ในเมื่อทรัพยากร “ไม้ไผ่” เขายังมี...

ข้าพเจ้ามองเห็นอีกผลหนึ่งคำตอบว่า “ได้” อย่าง “สบาย ๆ” ของเขาว่า “คนบ้านเขาไม่ขี้เกียจ”
ที่ข้าพเจ้าต้องคิดหาผลเหตุอย่างมากมายเพื่อมาโน้มน้าวเขาให้ใช้ไม้ไผ่ ก็มองว่ามัน “เหนื่อย” และ “ยุ่งยาก” กว่าใช้ไม้อัด ซึ่งซื้อมาปั๊บก็ใช้ได้เลย

แต่เขาไม่คิดอย่างนั้น เขาไม่ “มักง่าย” เหมือนข้าพเจ้า
ขนาดข้าพเจ้าไปบอกช่างเนา คนที่จะต้องลงมือตีไม้ไผ่ เขายังตอบว่า “ได้” โดยไม่ต้องยั้งคิด

 

Large_2701201104

คำตอบว่าได้ของช่างเนา แสดงให้เห็น “จิตใต้สำนึก” ของเขาว่า “ไม่กลัวลำบาก”
แต่ทำไมข้าพเจ้าถึงกลัวเขาลำบาก เพราะว่าข้าพเจ้าสบายมากเกินไปใช่หรือไม่ ติดสุขติดสบายมากเกินไปใช่หรือไม่...?

คำตอบคือ “ใช่”
คำถามต่อไปก็คืออะไรทำให้ข้าพเจ้าติดสุข ติดสบายถึงปานนั้น...?

ระบบสังคม วัฒนธรรมที่มีเครื่องอำนวยความสะดวกทำให้ข้าพเจ้า “ติดสุข”
อยู่เมืองไทย อะไรต่ออะไรก็ใช้เงินซื้อได้ เรื่องไม้อัดแค่นี้ “ขี้ประติ๋ว” โทรสั่งปุ๊บก็ได้ปั๊บ

การได้อะไรมาง่าย ๆ ทำให้เราไม่รู้จัก “พัฒนา”
ถ้าเมื่อวาน มีคนซื้อไม้อัดข้ามฝั่งมาให้เรา วันนี้เราก็ไม่ได้ความรู้ว่าเขาใช้ “ไม้ไผ่” แทนกันได้ โดยเฉพาะไม่รู้ว่าคนที่นี่เขาไม่ “ติดสุข ติดสบาย...”

เหมือนกับที่ข้าพเจ้าเคยคุยกับแม่ออกแววเรื่องขนดินว่า “ไกลนะ” แม่ออกแววตอบว่า “ต้องทำ”
ข้าพเจ้าเห็นคนที่นี่ใช้พลั่วตักดิน ใช้กระป๋องหิ้วดินที่ละใบมาถมดินจนเต็มแล้ว ข้าพเจ้าย้อนกลับไปถึงช่างและกรรมกรเมืองไทย ที่อะไร ๆ ก็เรียกหาแต่ “แบ็คโฮ”

ที่นี่ไม่มี ถึงมีก็ไม่มีเงินจะจ้าง...
ดังนั้น เรื่องการใช้แรงงานคนจึงเป็นเรื่อง “ปกติ”
แต่บ้านเรา อะไรต่ออะไรมันก็ “ง่าย” พอจะทำอะไรก็คิดจะทำแต่ “ง่าย ๆ”

คนที่นี่เขาไม่คิดอย่างนั้น เพราะเขาทำงานหนักกันเป็น “ปกติ”
เขาไม่มีเครื่องทุนแรงแบบบ้านเรา ดังนั้น เครื่องทุนแรงที่มีในบ้านเราเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อความขี้เกียจ ขี้คร้านใน “สันดาน” คนไทยหรือไม่...?

ข้าพเจ้ามาอยู่ที่นี่นานเข้า ก็ยิ่งมองเห็นคนที่นี่ขยันและสู้งานมาก
ข้าพเจ้ามาอยู่ที่นี่นานเข้า ก็ยิ่งมองเห็นคนบ้านเราขี้เกียจและอู้งานเยอะ

เทคโนโลยีที่ทันสมัยเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้คนเราขี้เกียจมากขึ้นหรือไม่...?

เมื่อขี้เกียจมากขึ้น ก็ต้องหา “เครื่องทุนแรง” มามากขึ้น
เครื่องทุนแรงราคาแพง ก็ต้องดิ้นรนหาเงินกันมากขึ้น...!

ข้าพเจ้าเคยมีคำถามในใจหลายครั้งเมื่อเห็นคนที่นายบ้านเกณฑ์มา “ช่วยงาน” ข้าพเจ้าว่า “คนเหล่านี้ไม่มีงานทำหรือ...?”
คือเกณฑ์เท่าไหร่ก็มาเท่านั้น บอกห้ามาห้า บอกสิบมาสิบ บอกสามสิบมาเกือบสี่สิบ
แล้วคนสี่สิบคนที่มา ถ้าเขาไม่มานี่คือเขา “ว่างงาน” ใช่หรือไม่...?
ทำไมเขาถึงมาช่วยเราได้ ถ้าเขามาได้แสดงว่าเขา ไม่ได้ทำงานอะไร...?
แล้วที่เขาไม่ได้ทำงานอะไร เขาเอาเงินไหนใช้ เขามี “ความทุกข์” หรือไม่...?

Large_2101201107

 

ข้าพเจ้าก็ไม่เห็นเขาจะ “ซีเรียส” อะไร
มาทำงานก็เห็นครึกครื้นกันดี มาทำงานฟรี ๆ ไม่ได้สะตุ้ง สตางค์...

เขาไม่ต้องดิ้นรนขวนขวายหาเงินเพื่อไปซื้อ “เครื่องทุ่นแรง” อะไร...
คือ เขาไม่ต้องแสวงหาเงิน เพื่อไปแลกความสะดวกสบาย แล้วหวังว่าความสะดวกสบายนั้นจะนำมาซึ่ง “ความสุข”

คนที่นี่เขาตัดวงจรความสุขได้สั้นกว่าคนบ้านเรา...
ก็คือ อยากสุข ก็สุขเลย ไม่ต้องไปแสวงหาเงินเพื่อแลกกับความสุข

คนบ้านเราดังที่กล่าวข้างต้นว่า จะต้องเริ่มต้นด้วยการเรียนหนังสือสักสิบปี ยี่สิบปี เรียนจบปริญญาตรีแล้วไปหางานทำ
ทำงานแล้ว สิ้นเดือนได้สะตุ้ง สตางค์ แล้วจึงนำเงินนั้นมา “หาความสุข...”

ที่นี่ไม่บังคับให้เรียนหนังสือ หรือเขาไม่คิดว่าการเรียนหนังสือสูง ๆ จะได้เป็น “เจ้าคน นายคน...”
หรือเขาไม่คิดว่าการเป็นเจ้าคน นายคนนั้น “มีความสุข”

เขามีความสุขตามอัตภาพ คือ อยู่อย่างไรก็สุขอย่างนั้น

คนบ้านเรามีสุขอยู่กับ “ความฝัน”
ฝันว่าเรียนจบในสาขาวิชานั้น ๆ จะมี “ความสุข”
ฝันว่าได้ทำงานอาชีพนั้น ๆ แล้วจะมี “ความสุข”
ฝันว่าได้เงินเดือนเท่านี้เท่านั้นแล้วจะมี “ความสุข”

 

Large_2701201105

แต่คนที่นี่เขามีความสุข ความสุขที่ไม่ต้องดิ้นรน ขวนขวาย
พระพุทธองค์จึงตรัสไว้ว่า “ความสุขอื่นใดจะเหนือกว่าความสงบนั้นไม่มี”
คนที่นี่เขา “สงบ”
สงบจากความฝัน สงบจากความทะเยอทะยาน เป็นความสุขจากความสงบที่พบพานได้ตลอดกาลจากทุก ๆ “ลมหายใจ...”

หมายเลขบันทึก: 423215เขียนเมื่อ 30 มกราคม 2011 21:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

จริงด้วย สุขใดหาเท่าความสงบไม่มี สบายดีไหมครับ 

สวัสดีค่ะ  ดีค่ะเป็นการเรียนรู้จากประสบการณ์จริง ได้เข้าใจถึง

สุขแท้  สุขเทียม

ติดยึด ติดดิน  (ติดยึดสูงมากไป ตกลงมาก็เจ็บ) ติดดิน เย็นสบาย

ถือว่าเป็นกำไรชีวิตที่คุ้มค่าค่ะ ขอให้มีสุขจากงานนะคะ

 

ความสงบเป็นสิ่งที่คนเราจะเลือก "เรียนรู้" ได้ยากที่สุด

คนเราเคยชินต่อการเคลื่อนไหว ดิ้นรน แสวงหา

การอยู่เฉย ๆ แบบ "สงบ" ๆ นั้นจึงเป็นสิ่งทำได้ "ยาก" สำหรับชีวิต "มนุษย์..."

เมื่อก่อนข้าพเจ้าคิดว่า ทำงานหนัก ๆ ก็อยากพักผ่อน อย่างมีเวลาว่าง ๆ เพื่อ "นอนหลับ"

แต่พอนอนหลับมาก ๆ ก็ไม่ไหวอีกแล้ว เมื่อย ปวดหัว

ถ้าหากเราทำงานได้เงินเดือนเดือนละ 20,000 บาท แล้วในทางกลับกันมีคนมาจ้างให้เรานอนอยู่เฉย ๆ เดือนละ 20,000 บาท เท่ากัน ข้าพเจ้าจะเอาอย่างไหน...

ถ้าหากยังมีชีวิต ก็ต้องใช้ชีวิตนี้ ใช้ร่างกายนี้เพื่อทำความดี และ "เสียสละ"

แต่สิ่งที่ต้องกระทำคู่กันเสมอก็คือ การกระทำใจของเราให้ "สงบ"

สงบจากกิเลส ตัณหา และกามราคะ

ถนนที่เปรียบเสมือน "ไฮเวย์" ที่จะทำให้เราสงบได้ทางหนึ่งก็คือ "พิจารณาถึงความตาย"

การพิจารณา "มรณานุสสติกัมมัฏฐาน" อยู่เสมอ ๆ จะทำให้เราปลดปล่อยความฟุ้งซ่านและความทะเยอทะยานลงไปได้มาก

เมื่อข้าพเจ้าต้องมาอยู่ป่าช้า ทุกลมหายใจต้องอยู่ใกล้ชิดกับ "ความตาย"

เมื่ออยู่ใกล้ความตาย ทุกย่างก้าวของเราจะไม่ประมาท

เมื่อไม่ประมาทแล้ว สิ่งเหลวไหล ที่จะพาจิตใจไปตามความอยากนั้นก็จะเหมือนถูกกันให้ออกจาก "ชีวิต"

ชีวิตนี้เหมือนเกลียวคลื่นที่ถูกซัดเข้าสู่ฝั่ง แล้วแตกกระจายออกเป็นฟองฝอย

ชีวิตเราก็เช่นนั้น วันนั้นก็จะต้องถูกซัดขึ้นฝั่งแล้วก็แตกสลายไป ไม่แตกต่างอะไรกับเกลียวคลื่น...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท