ชีวิตที่เมืองลาว : 29 มกราคม 2554 “เต็มใจต่อการตัดสินใจ...”


วันนี้ “หยุดงาน”

๒๙ มกราคม ๒๕๕๔ เป็นวันจัดเตรียมงาน “ประทายข้าวเปลือก” ซึ่งจัดขึ้นที่บ้านโนนยาง อันเป็นบ้านของทีมงานหลักในการจัดทำ “เมรุฯ” ครั้งนี้...

เริ่มต้นตั้งแต่เจ็ดโมงเช้า อาจารย์ร่อนมารับข้าพเจ้ากับ “ช่างเนา” เดินทางไปที่บ้านโนนยางซึ่งห่างออกไปประมาณ ๑๐ กิโลเมตร

ถ้าหากมองการทำงานหลัก คือ “การลงมือทำงานจริง” หยุดเพื่อให้ “คนงาน” และ “ช่าง” ได้มีโอกาสไป “ทำบุญ ทำทาน” กัน แต่ทว่าการเตรียมงาน เตรียมข้าว เตรียมของซึ่งเป็นหน้าที่ของข้าพเจ้ายังไม่ได้หยุดลงไปด้วย

สืบเนื่องจากเมื่อวานนี้ (๒๘ มกราคม ๒๕๕๔) ทีมงานช่างผู้ชายประมาณ 6-7 นำโดยช่างสุภา ช่างเนา และเพื่อนใหม่ “ช่างแพง” นอกจากมารื้อแบบคานพื้นออกแล้ว ยังได้ตั้งตุ๊กตาเพื่อเตรียมสำหรับการเทพื้นไว้ด้วย

งานเมื่อวานนี้ตั้งตุ๊กตารองรับการเทพื้นเสร็จ แต่วางแผ่นไม้อัดเพื่อรองรับปูนที่จะเทเป็นพื้นไม่เสร็จเนื่องจากไม่มี “ไม้อัด”

ถ้าหากเป็นการทำงานในเมืองไทย ขั้นตอนนี้ค่อนข้างจะง่ายมาก
เมื่อทำการเทคานพื้นเสร็จ หรือเทคานชั้นสองเสร็จเรียบร้อยแล้ว ถ้าหากเป็นการใช้ปูนปอร์ตแลนด์ แกะแบบเสร็จแล้วก็โทรกริ๊งสั่งให้ร้านขาย “แผ่นพื้นสำเร็จ” นำพื้นสำเร็จมาวางไว้ให้

ราคาแผ่นพื้นสำเร็จ ที่ข้าพเจ้าเช็คได้ก่อนเดินทางมาที่นี่ (ต้นเดือนมกราคม ๒๕๕๔) ราคาที่กรุงเทพฯ (ไม่รวมค่าติดตั้ง) ราคาตารางเมตรละ 180 บาท ราคาที่จังหวัดเชียงใหม่ ร้านเดิมที่เคยสั่ง (รวมค่าติดตั้ง ราคาตารางเมตรละ 220 บาท ราคาที่อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย ซึ่งใกล้เมืองสานะคามมากที่สุด ราคาตารางเมตรละประมาณ 300 กว่าบาท (ทางร้านแจ้งว่าขายเป็นเมตร ซึ่งแผ่นพื้นขนาดความกว้าง 35 เซนติเมตร ยาว 1 เมตร คิดเมตรละ 110 บาท)

แต่ทั้งหมดไม่ได้สั่งมา เพราะเนื่องจากคำนวณน้ำหนักแล้ว แผ่นพื้นที่ต้องใช้นั้นประมาณ 32 ตารางเมตร น้ำหนักแผ่นพื้นสำเร็จนั้นตกตารางเมตรละ 130 กิโลกรัม (น้ำหนักอ้าวอิงของจังหวัดเชียงใหม่) ดังนั้น ถ้าหากจะขนแผ่นพื้นสำเร็จมาจากกรุงเทพฯ จำนวน 32 ตารางเมตร ก็จะต้องมีน้ำหนักรถบรรทุกว่างถึงประมาณ 4.16 ตันเลยทีเดียว ซึ่งนั่นหนักมากและจะเป็นการรบกวนผู้มีจิตศรัทธาที่ให้บริการขนส่งมาให้โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายในครั้งนี้

เนื่องจากถ้าเอาแผ่นพื้นสำเร็จมาด้วยจะต้องเปลี่ยนรถ 10 ล้อ เป็นรถเทลเลอร์ ซึ่งจะบรรทุกได้ประมาณเกือบ 30 ตัน...

ดังนั้นจึงวางแผนไว้ว่าจะมาซื้อแผ่นพื้นสำเร็จที่เชียงคาน...
หลังจากคำนวณความแตกต่างราคาแผ่นสำเร็จที่จะซื้อมาจากกรุงเทพฯ กับซื้อที่นี่ราคาต้นทุนจะแตกต่างกันประมาณ 4,000 บาท แต่เนื่องด้วยการขนส่งที่ไกล รวมถึงค่าจ้างแรงงานขนย้าย จึงตัดสินใจว่าถึงแพงก็คงจะต้องมาซื้อที่นี่

ช่วงคานสั้น ให้ตั้งแบบเทไปเลย...
หลังจากที่ข้าพเจ้าได้โทรศัพท์ปรึกษา “คุณสงกรานต์ ปราบหงส์” ซึ่งเป็นผู้จัดการโรงงานผลิตปูนซีแพคสาขาเชียงใหม่-หางดง แล้วเล่าสถานการณ์พร้อมทั้งปรึกษาถึงเรื่องแผ่นสำเร็จที่จะใช้ที่ประเทศลาวดังกล่าวข้างต้นแล้ว คุณสงกรานต์ถามข้าพเจ้ากลับมาว่า “ช่วงคานห่างเท่าไหร่ครับ”
ข้าพเจ้าตอบกลับไปว่า “สูงสุดไม่เกิน 2 เมตร...”
คุณสงกรานต์จึงแนะนำว่า “ถ้าอย่างนั้นตั้งแบบเทไปเลยดีกว่าครับ”
ข้าพเจ้าถามว่าจะเทหนาเท่าไหร่ดี 10 เซนดีไหม...?
คุณสงกรานต์ตอบว่า “10 เซน น้ำหนักจะมากเกินไป 7 เซนก็พอครับ แต่ขอให้ใช้เหล็ก 2 หุลสานกันแทนการใช้เหล็กวายเวท เพราะจะแน่นหนากว่า...

ตอนแรกข้าพเจ้าวางแผนสำรองไว้ว่า จะหล่อแผ่นพื้นสำเร็จเอง...
เพราะถึงแม้จะซื้อจากร้านขายวัสดุก่อสร้างที่อำเภอเชียงคาน ซึ่งใกล้ที่สุดแล้ว แต่ทว่า จะต้องขนแผ่นพื้นสำเร็จขนาดแผ่นยาวประมาณ 2 เมตร กว้าง 35 เซนติเมตร ซึ่งมีน้ำหนักแผ่นละประมาณ 90 กิโลกรัม ลงจากรถหกล้อทางฝั่งไทย แล้วจากคนงานแบกลงบันไดที่ท่าเรือฝั่งไทยลงเรือหางยาว ซึ่งบรรทุกน้ำหนักได้ครั้งละประมาณ 1 ตัน ครั้งหนึ่งก็ได้ประมาณ 11 แผ่น ถ้าน้ำหนักแผ่น 4 ตัน ก็จะต้องขนสี่เที่ยว


เท่านั้นไม่พอ ก็ต้องขนจากเรือขึ้นบนท่าเรือ จากท่าเรือขึ้นรถที่มารอรับบนฝั่งลาว จากท่าเรือฝั่งลาว ขับรถมาที่หน้างาน จากหน้างานขนลงวางอีก เมื่อขนลงวางเสร็จ เวลาจะใช้ก็ต้องขนแล้วปีนขึ้นไปวางบนคานพื้นซึ่งสูงประมาณ 1.80 เมตร คงจะทุลักทุเลน่าดู... (ถ้าเป็นเมืองไทย โทรสั่งปุ๊บ มีรถเฮี๊ยบพร้อมคนงานมาติดตั้งให้ถึงที่ จ่ายตังค์อย่างเดียว ตารางเมตรละ 220 บาท แผ่นยาว แผ่นสั้น มีคนงานใช้ใบเลื่อยขนาด 9 นิ้วตัดให้เสร็จ ถ้าตัดไม่ได้ก็แย็กให้เสร็จ) แต่ถ้าเป็นที่เมืองลาวนี้ ทุกอย่างทำเอง ขนเอง ตัดเอง แย็กเอง ดังนั้นจึงคุยกับช่างเนาว่า ถ้าเราทำแบบไม้ เอาทรายรอง ผูกเหล็กแทนซื้อจะดีไหม ช่างเนาก็ตอบว่า “ดี” (ดีกว่าไปซื้อแล้วขนมา)

สุดท้ายจึงต้องใช้คำแนะนำของคุณสงกรานต์...
คุณสงกรานต์แนะนำเพิ่มเติมอีกว่า ให้หาซื้อไม้อัดราคาถูกมาทำเป็นแบบรองพื้น
ตั้งแต่การขนส่งเที่ยวแรก ข้าพเจ้าติดไม้อัดราคาถูกมา 10 แผ่น เพื่อทำ “ท้องคาน”
และเมื่อการทำท้องคานเสร็จเรียบร้อย ปรากฏว่า เหลือไม้อัดขนาดประมาณ 2.45x1.25 เมตร เหลืออยู่ 3 แผ่น และเมื่อวานช่างสุภาพร้อมช่างเนาก็ได้เอาขึ้นไปวางรองเป็นพื้นแล้ว ปรากฏว่ายังขาดอยู่ 6 แผ่น

ดังนั้นจึงต้อง “สั่งเพิ่ม”
แต่ทว่าการประสานงานเกิดผิดพลาด อาจจะเนื่องด้วยมีงานบุญประทายข้าวเปลือกเข้ามาแทรก ทุกคนจึงใจจดใจจ่อไปที่งานนั้น

งานเริ่มหยุดชะงัก...
พอข้าพเจ้าทราบข่าวว่า ไม้อัดที่สั่งไว้ ซึ่งน่าจะถึงในบ่ายวันนี้ (29 มกราคม 2554) ไม่มีถึงเนื่องจากเข้าใจกันผิดพลาดว่า “จะเอาแน่หรือเปล่า” จึงทำให้ข้าพเจ้าลองแผนไว้ล่วงหน้าว่างานข้างหน้าจะเป็นอย่างไร...?

ถ้าวันนี้ซึ่งเป็นวันเสาร์ไม่ได้ไม้อัด พรุ่งนี้ “วันอาทิตย์” ก็ทำงานไม่ได้...
เพราะเนื่องจากในฝั่งไทย ร้านก่อสร้าง “ปิดวันอาทิตย์”
ดังนั้น แผนคร่าว ๆ ที่วางไว้ว่า เมื่องานตักบาตรทุกนี้เสร็จ ก็จะชวนช่างสุภากับช่างเนามาวางไม้อัดและผูกเหล็ก ก็ทำไม่ได้ จะต้องเลื่อนไปวันจันทร์...

วันจันทร์ทำได้ไหม ก็ไม่ได้อีก...?
เพราะวันจันทร์ กว่าจะขึ้นเรือข้ามฝั่งไปซื้อที่เชียงคาน และมิหนำซ้ำที่เชียงคาน หลังจากโทรเช็คแล้วก็ไม่มีไม้อัดหนาขนาด 1 เซนติเมตรราคาถูกขายด้วย จะต้องวิ่งรถเข้าไปซื้อที่จังหวัดเลย ซึ่งห่างออกไปประมาณ 30 กว่ากิโลเมตร
กว่าจะวิ่งไปถึงจะหวัดเลย ซื้อของ ขนขึ้นรถ จากนั้นมาลงเรือที่ท่าเรือเชียงคาน
จากท่าเรือเชียงคาน นั่งเรือข้ามฝั่ง (ซึ่งก็ไม่แน่ว่าจะมีเรือบริการทันทีที่มาถึง เพราะทีมงานที่มาร่วมงานบุญประทายข้าวเปลือกรอขึ้นรอกว่า 3 ชั่วโมง)
ถ้านั่งเรือมาฝั่งลาวแล้ว ขนจากเรือขึ้นฝั่ง ขนจากฝั่งขึ้นรถ ขับรถถึงหน้างาน ขนจากหน้างานขึ้นตีแบบ ถ้าให้คำนวณเวลาคร่าว ๆ แบบรวดเร็วที่สุด (มหัศจรรย์ถ้าทำได้) ก็คือ จะถึงก่อนบ่ายโมงวันจันทร์ ซึ่งนั่นหมายความว่า ช่วงเช้าไม่มีงานอะไรให้คนงานทำ และก็ไม่แน่นอนด้วยถ้าตอนบ่ายไม้แบบจะมาถึง ถ้ามาไม่ถึงก็ต้องนั่งรอเก้อ

การนั่งรอของคนงานหมายถึงค่าใช้จ่ายของเรา...
เพราะการนัดคนงานมาแต่ไม่มีของเป็นความรับผิดชอบของเรา เขามาก็ต้องจ่ายเงิน
แต่ถ้าไม่ให้เขามา ก็หมายความว่าจะต้องสั่งหยุดงานติดต่อกันถึง 3 วัน...

ดังนั้นข้าพเจ้าจึงวางแผนโดยประสบการณ์ส่วนตัวว่า ถ้าอย่างงั้นใช้กระเบื้องแผ่นเรียบแทนก็แล้วกัน...
ข้าพเจ้าคิดคร่าว ๆ ว่า กระเบื้องแผ่นเรียบที่เมืองชนะคามนี้น่าจะมีขาย ซึ่งถ้าหากราคาแพงกว่าไม้อัดแผ่นละ 100 บาท ก็ควรที่จะยอมเพิ่มเงิน (ราคาไม้อัดเช็คล่าสุดที่อำเภอเชียงคานแผ่นละ 400 บาท)
แต่ทว่าหลังจากการโยนหินถามทางว่าจะใช้แผ่นกระเบื้องแผ่นเรียบแทนไม้อัดแล้วก็ประสบปัญหาอยู่ 2 อย่างคือ 1. กระเบื้องแผ่นเรียบค่อนข้างบาง จึงอาจทำให้แตกในระหว่างการเท และ 2. แผ่นใหญ่ไม่มีขาย มีแต่แผ่นเล็ก ๆ ขนาดประมาณ 1x 0.5 เมตร

ดังนั้นข้าพเจ้าต้องใช้ “ตัวช่วย”
ข้าพเจ้ายกโทรศัพท์ไปหา “ช่างบุญ” ผู้ที่มีความรู้ฝังลึก (Tacit knowledge) ในการทำงาน


ตอนนั้นข้าพเจ้าตัดสินใจว่าจะโทรไปถามวิศวกรดีหรือจะโทรไปถามช่างบุญดี
ที่ข้าพเจ้าเลือกช่างบุญก็เพราะว่า นอกจากช่างบุญเคยทำงานจริงมากกว่าวิศวกรแล้ว การไปทำงานของช่างบุญหลาย ๆ ครั้งเป็น “งานเหมา” จะต้องบีบ ต้องรีบ ต้องเร่งงาน โดยเพราะบางครั้งผู้จ้างงานก็ “งก” อาจจะลดคุณภาพของวัสดุอุปกรณ์เสริมต่าง ๆ อีกด้วย

“ถ้าใช้ไม้แผ่นแทน ท้องก็จะไม่สวย...”
ข้าพเจ้าได้ยินคำพูดนี้ของช่างบุญตอนแรกก็งง ๆ ว่าจะให้ใช้ไม้แผ่นแทนได้อย่างไร แล้วท้องมันจะไม่สวยอย่างไร...

ช่างบุญพูดว่า ถ้าไม่มีก็ใช้ไม้แผ่นแทนก็ได้ครับ แต่ท้องก็จะไม่สวย ใช้ไม้ไผ่ปูแล้วเอาผ้ายางรอง...
หลังจากนั้นข้าพเจ้าก็ถึงบางอ้อ “เหมือนที่พักของเราไง...” ใช้ไม้ไผ่เป็นลำตีออกเป็นซี่ซี่ละประมาณ 1 เซนติเมตร ไม้ไผ่หนึ่งลำก็ตีแผ่ได้กว้างประมาณ 20 เซนติเมตร แถมไม้ไผ่ที่นี่ยังมีเยอะซะอีก เพราะเนื่องจากเราสั่งมาทำไม้ตุ๊กตา 50 ลำ แต่ช่างสุภามีทางเลือกที่ดีกว่า คือใช้ “ไม้จริง” คือไม้หน้าสามที่ขนมาจากบ้านโนนยาง ดังนั้นไม้ไผ่จึงเป็นหม้าย วางแอ่งแม๊งอยู่อย่างนั้น...

ไม้ไผ่เป็นทางออกที่ดีที่สุด...

Large_3101201107

“ประหยัดดี...” เป็นสิ่งที่ข้าพเจ้านึกได้เป็นสิ่งแรก เพราะสามารถประหยัดเงินไปได้อย่างน้อย 2,400 บาท เพราะไม่ต้องไปซื้อไม้อัด 6 แผ่น แผ่นละ 400 บาทแล้ว
กระเบื้องแผ่นเรียบคุณภาพไม่ต้องดีนักที่กะไว้คร่าว ๆ ว่าแพงกว่าไม้อัดซักร้อยบาท คือประมาณ 3,000 บาท ก็ต้องจ่าย

 

 

 

ไม้ไผ่ซื้อไว้แล้ว จ่ายเงินไปแล้ว ใช้อันนี้แหละ แต่ทว่าปัญหามันอยู่ที่ “คนตี...”
เพราะไม้ไผ่ท่อนกลม ๆ กว่าจะตีออกมาเป็นแผ่นเรียบ ๆ ได้ต้องใช้ “แรงงานคน” และเสียเวลาค่อนข้างมาก

จากงานเดิมที่ซื้อไม้อัดมาปุ๊บ วัดขนาดก็ตัดปั๊บ ตัดเสร็จก็วางป้างเข้าไป ตีตะปูเปรี้ยง ๆ ก็เป็นอันใช้ได้


แต่ถ้าใช้ไม้ไผ่ ก็ต้องวัดขนาดก่อน จากนั้นมาตัดไม้ไผ่ตามขนาดนั้น จากนั้นก็ค่อย ๆ เอาฆ้อนตีตรงข้อไม้ จากนั้นใช้มีดพร้าผ่าไม้ออกให้เป็นไม้ซี่ ๆ โดยผ่าไม่ให้ขาดจากกัน คือให้ติดกันอย่างนั้น ท่อนหนึ่งน่าจะใช้เวลาอย่างน้อย 20 นาทีต่อ 1 คน แล้วถ้าคำนวณคร่าว ๆ นั้น ก็จะใช้ประมาณ 50 แผ่น ซึ่งใช้เวลาประมาณ 1,000 นาที หรือประมาณ 16.67 ชั่วโมง ถ้าใช้คน 1 คน คน 1 คนถ้าเป็นช่างใหญ่ ก็เสียเงิน 200 บาท ช่างน้อย ๆ ก็ 150 บาท เรื่องเงินไม่น่าจะใช้ปัญหาเพราะไม่ใช่มาก แต่เรื่อง “ความเหนื่อย” โดยเฉพาะเหนื่อยใจกับทางเลือกที่ “สบาย” กว่านั้นคือ “ปัญหา...”

ดังนั้นจึงต้องวางแผน “พูด” ให้ดี...
พรุ่งนี้ ข้าพเจ้าจะต้องเดินทางไปบ้านโนนยาง และจะต้องปรึกษางานกับทั้งช่างสุภาและช่างเนา ถ้าหากไปถึงแล้วสั่งเลยว่า “ให้ใช้ไม้ไผ่แทนนะ” ก็หมายถึง “สั่งให้เขาเหนื่อย” เขาจะรู้สึกอย่างไร ท้อแท้ ไม่พอใจหรือไม่...?

จะมีวิธีการพูดอย่างไรดีให้เขา “เต็มใจทำ...?”
คืนนี้ข้าพเจ้าจึงต้องพยายามเรียบเรียง ตกแต่งคำพูด เพื่อที่จะให้หัวหน้าช่างทั้งสอง ที่แผนเดิมเขาวางไว้แบบ “สบาย ๆ” คือ ได้ไม้อัดมาก็ตัดใส่ ตัดใส่ เปลี่ยนมาเป็นจะต้องมาตัดไม้ไผ่แล้วตีออกเป็นไม้ระแนง จะทำอย่างไรให้เขา “เต็มใจ” ทำ

คนเต็มใจทำงาน คือคนที่มีความสุขในการ “ทำงาน...”
ซึ่งข้าพเจ้าวางแผนไว้คร่าว ๆ ดังนี้...
1. ก่อนอื่นข้าพเจ้าจะต้องแจ้งให้เขาทราบว่า “ไม่สามารถหาซื้อไม้อัดได้”
2. ถ้าจะไปซื้อ ก็จะต้องไปซื้อวันจันทร์ แล้วก็จะบอกเขาอย่างที่เล่าให้ฟังในตอนแรกว่า บ่ายวันจันทร์ก็ไม่แน่ว่าจะได้ไม้อัด ซึ่งนั่นก็คงจะต้องหยุดงานวันจันทร์ด้วย
3. แผนสำรอง ใช้กระเบื้องแผ่นเรียบดีไหม (ซึ่งในใจข้าพเจ้าไม่อยากให้เขาตอบว่า ดี เพราะจะสิ้นเปลืองสตางค์)
4. ถ้าเขาตอบว่าใช้กระเบื้องแผ่นเรียบ ดี ก็จะบอกว่า ใช้ไม้แผ่นแทนได้มั๊ยน๊อ เพราะจะได้ “ประหยัดสตางค์” ไม้ไผ่ก็มี ผ้ายางสีดำก็เหลือ (เรื่องของเรื่องก็คือจะต้องโน้มน้าวมาให้เขาใช้แผ่นไผ่ให้ได้ 555)
5. ถ้าเขาบอกว่าต้องใช้เวลามาก คนเยอะ เราก็เตรียมแผนไว้ว่า จะฝากบอกนายบ้านไปว่า วันจันทร์ตอนเช้าให้เกณฑ์คนมาสัก 30 คน ตอนเช้าให้มาช่วยกันตีไม้ไผ่ ซึ่งคน 30 คนน่าจะทำเสร็จภายในเวลา 2 ชั่วโมง จากนั้นให้ช่างสุภา ช่างเนา และทีมงานผู้ชายผูกเหล็กตระแกรง ซึ่งน่าจะเสร็จในช่วงเช้า เพราะไม้ไผ่ตรงไหนวางก่อน ก็ผูกเหล็กตรงนั้นได้ ไม่ต้องรอให้วางไม้เสร็จแล้วผูกเหล็กทีเดียว ดังนั้น ถ้าหากตีไม้และผูกเหล็กในช่วงเช้า หรือแม้ว่าจะกินเวลาช่วงบ่ายไปสักชั่วโมงสองชั่ว ก็เทเสร็จได้ในวันนั้น เพราะงานเทที่ข้าพเจ้าคำนวณไว้ประมาณ 3 คิวนั้น คน 30 คน สามารถเทเสร็จภายใน 2 ชั่วโมง เพราะดังเช่นเมื่อวาน เทคานพื้น 70 เมตร ซึ่งใช้ปูนกว่า 4 คิว ก็เสร็จตั้งแต่บ่ายสองโมงครึ่ง ดังนั้นถ้าหากวันจันทร์เทเสร็จ วันอังคารก็เริ่มตั้งแบบเสาได้ทันที
6. ถ้าหากเขาบอกว่า “ท้องพื้นจะไม่สวย” ดังเช่นที่ช่างบุญกังวล เราก็จะตอบว่า “ข้างล่างไม่มีใครเห็น ก่อทึบปิดตายอยู่แล้ว”


ทั้ง 6 ข้อนี้ เป็นแผนการณ์คร่าว ๆ ที่ข้าพเจ้าเตรียมไว้ไปพูดกับทีมงานซึ่งเป็น “หัวหน้าช่าง” พรุ่งนี้ ซึ่งไม่ค่อยอยากจะพูดกับคนอื่นมาก “มากคน มากความ” เพราะถ้าสองคนนี้โอเค ก็ไม่มีปัญหา เพราะคนอื่นเป็นเพียง “นักวิชาการ” มีหน้าที่พูด เสนอความคิดอย่างเดียว (บางครั้งก็รำคาญพวกพูดแต่ไม่ได้ทำ) สองคนนี้เป็นคนทำงาน เขาตัดสินใจอย่างไร เขาก็ต้องทำอย่างนั้น ดังนั้นหน้าที่ของเราจึงต้องให้เขา “เต็มใจต่อการตัดสินใจ...”

 

 Large_1901201103

 

หมายเลขบันทึก: 423163เขียนเมื่อ 29 มกราคม 2011 20:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอให้มีความสุขในการทำงานนะคะ

มาที่นี่ สุขใจที่ได้ทำความดี ได้ "เสียสละ..."

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท