แพทุ่นเงินที่นครปฐม :4


"อยากจะอยู่กับน้ำ ใช้ชีวิตใกล้ชิดกับน้ำ ได้มีเรือนแพหลังเล็ก ๆ สักหลังหนึ่งไว้อยู่อาศัยอย่างสุขและสงบ ท่ามกลางความวุ่นวาย

 

จากภาพของแพทุ่นเงินในบันทึกแรก จะเห็นทุ่นเงินเรียงเป็นแถว ตามความกว้างของเรือนแพจำนวน 4 ลูก จะมีแถวทุ่นเงินในลักษณะนี้ อยู่รองรับโครงสร้างคานเหล็กตัว Cหน้า 6 " จำนวน 6 ชุด ( รวมทุ่นเงินทั้งหมด 24 ลูก ) จากนั้นจึงเป็นตง เป็นพื้น เสาอยู่บนคานเหล็ก และส่วนอื่น ๆ เหมือนบ้านทั่ว ๆ ไป

ข้อสงสัยที่เกิดขึ้นในขั้นตอนนี้ก็คือ ทุ่นเงินยึดติดกับโครงเหล็กที่เป็นคานนี้อย่างไร ผมในฐานะสถาปนึกของแพหลังนี้ ( ยืนยันว่าพิมพ์ไม่ผิด ) พร้อมด้วยน้าชายแท้ ๆ ของผม (เพิ่งจะเสียชีวิตไปเมื่อ 15 ต.ค. 2553 นี้ ) ช่วยกันคิดหาวิธียึดทุ่นเงินกับคานเหล็กอย่างไร ให้ทำง่าย สะดวกสบาย ไม่ต้องใช้วัสดุอุปกรณ์พิเศษแต่อย่างใด ที่สุดก็ได้วิธียึดทุ่นเงินง่าย ๆ คือ ใช้ไม้แปหน้า 3" ตัดยาวประมาณ 65 ซ.ม. วางขวางในปากทุ่นเงิน ซึ่งอยู่ใต้คานเหล็กคู่ที่มีระยะห่าง 60 ซ.ม. แล้วใช้ลวดขาว ( ลวดราวตากผ้า ) ตัดยาวพอประมาณทบกัน 2 เส้น มัดรั้งไม้แปที่อยู่ในปากทุ่น ( ตัวล่าง ) ให้ถูกหิ้วขึ้นมา โดยปลายลวดจะถูกพันเป็นเกลียว อยู่บนไม้แป ( ตัวบน ) ที่วางพาดอยู่ในช่องระหว่างคานเหล็กคู่ในตำแหน่งและทิศทางเดียวกันกับไม้แปตัวล่าง มัดลวดรั้งที่ปากทุ่นเงินในลักษณะนี้ทั้งด้านซ้ายและด้านขวาของไม้แป ปากทุ่นเงินที่เป็นรูปวงแหวน ก็จะถูกรั้งให้ติดแน่นกับท้องคานเหล็กคู่นั้นอย่างมั่นคง

สรุปว่า ไม้แปหน้า 3 " จำนวน 2 ตัว และลวดขาว จำนวน 4 เส้น เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการยึดทุ่นเงินให้ติดกับโครงเหล็กที่เป็นคาน ด้วยวิธีมัดขันเฉนาะ ( เขียนถูกหรือเปล่า ไม่แน่ใจเลย )

หมายเหตุ  จะใช้วิธียึดแบบง่าย ๆเช่นนี้ได้ เฉพาะเรือนแพที่จะปลูกสร้างอยู่ในน้ำนิ่ง ๆ น้ำไม่ไหล และต้องเป็นเรือนแพที่อยู่กับที่ ไม่มีการลากจูงไปไหนเท่านั้น  

โครงสร้างเหล็กตัว C หน้า 6 " ที่เป็นคานของแพทุ่นเงินทั้งหลังนี้ ผมใช้วิธีเชื่อมเสร็จเรียบร้อยบนบกในคราวเดียวเลย จากนั้นจึงขอแรงจากเพื่อนบ้านในละแวกใกล้เคียง ประมาณ 10 กว่าคน ช่วยกันยก ( ในจำนวนนี้มีหลายคนที่เคยคิดว่า ผมบ้าที่เอาโอ่ง ( เขาไม่รู้มาก่อนว่าเป็นทุ่น ) ตั้งหลายลูกมาลอยทิ้งน้ำไว้ ไม่เห็นทำอะไร ก็มาช่วยด้วยอย่างเต็มอกเต็มใจ )

การยกใช้วิธีค่อย ๆ ยกเลื่อนไปที่ละน้อย ๆ เมื่อลงไปถึงน้ำก็ยึดติดทุ่นเงินลูกที่มุมทั้ง 2 มุมก่อน จากนั้นจึงค่อย ๆ เลื่อนออกไปอีก เลื่อนออกไปเรื่อย ๆ จนสุด จนโครงเหล็กทั้งชุดลงไปในน้ำเกือบหมด จึงยึดติดทุ่นเงินตรง 2 มุมที่เหลือ  ต่อจากนั้นจึงทยอยติดทุ่นเงินเพิ่มตามตำแหน่งตามแบบจนครบถ้วน

เมื่อมาถึงขั้นตอนนี้ โครงสร้างคานเหล็กซึ่งเป็นโครงสร้างหลักของเรือนแพ ก็ลอยอยู่ในน้ำอย่างสมดุล เพียงแค่เราโยงยึดไว้ด้วยเชือกที่มุมทั้ง 2 ด้าน แล้วพาดสะพานสำหรับเดินขึ้นลง แล้วขนของ ขนสัมภาระต่าง ๆที่จำเป็นต้องใช้ในการปลูกสร้างลงไปวาง ลงไปกองไว้ บนแพได้เกือบจะเหมือนกับการทำงานบนบกทุกประการ ต่างกันเพียงมีการโยกโคลงเล็กน้อย พอรู้สึกได้เท่านั้น

ไม่มีการไหวเอียงให้ต้องตกอกตกใจแต่อย่างใด ผมรับรอง ( ไม่ใช้ confirm คงจะไม่ว่ากัน ) ทั้งนี้ด้วยเหตุผลว่า ทุ่นเงินเป็นทุ่นที่มีขนาดใหญ่ มีน้ำหนักมาก มีปริมาตรมาก จึงรับน้ำหนักบรรทุกได้มาก เหมือนเรือบรรทุกสินค้าที่มีน้ำอับเฉาเป็นตัวช่วยถ่วง ให้เรือทรงตัวได้ดี ไม่โคลง

เมื่อตอนที่ผมปลูกสร้างแพทุ่นเงินนี้ ผมเป็นสถาปนึกเอง ( ต่างกันกับ " สถาปนิก " ) จึงไม่มีแบบแปลนที่เป็นลายลักษณ์อักษร อาศัยการปรึกษาหารือ ช่วยกันคิด แล้วช่วยกันทำทำมาเรื่อย ๆ  ตัวผมเอง น้าชายที่เป็นช่างไม้ ( ข้าราชการบำนาญ จบ ร.ร.การช่างจังหวัดอุตรดิตถ์ รุ่นแรก ๆ ) เพื่อนของผมที่เป็นช่างอ็อกช่างเชื่อม พร้อมด้วยพ่อแม่ พี่น้องของผมทุก ๆ คน ช่วยกันทำคนละไม้ คนละมือ แทบจะไม่ได้จ้างแรงงานคนอื่นเลย สุดท้ายก็ได้เรือนแพหลังเล็ก ๆ น่ารักและดูอบอุ่นมาหลังหนึ่ง ทุกคนมีความสุขทุกครั้งที่ได้มาพัก มานั่งเล่น มานอนเล่นที่นี่

ผมพักอาศัยอยู่ที่แพทุ่นเงินนี้มาโดยตลอด นับแต่วันที่ปลูกสร้างเสร็จเมื่อปี 2542 อยู่อย่างมีความสุขสมดังที่เคยวาดฝันไว้ ตั้งแต่วัยเด็ก อาจเป็นเพราะเคยได้เห็น ได้ลงไปนั่งเล่นในแพ ตั้งแต่สมัยที่ยังไม่ได้สร้างเขื่อนสิริกิติ์ในลำน้ำน่าน ได้เคยลงเล่นน้ำ ได้จับปลาเล่นตามประสาเด็กในยุคนั้น ด้วยการถกเอาเถาขี้กา ( เป็นวัชพืชชนิดหนึ่ง เป็นเถายาว ขึ้นอยู่อย่างหนาแน่นตามริมน้ำน่าน ปัจจุบันหายาก ) ให้เป็นฟ่อนยาว ๆ ขนาดพอที่จะช่วยกันลากไหว ลากอ้อมลงไปในน้ำแล้วก็ลากขึ้นบก ปลาสร้อยจำนวนมากก็จะติดอยู่ในเถาขี้กาที่ถูกลากขึ้นไปบนบก พวกเราก็จะช่วยกันจับอย่างสนุกสนาน

แม่น้ำน่านในสมัยนั้น มีหาดทรายอยู่ริมฝั่งตลอดลำน้ำ ทรายขาวสะอาด น้ำก็ใสน่าลงเล่นหน้าแล้งน้ำจะน้อย บางช่วงเดินข้ามได้เลย

ด้วยความประทับใจในวัยเด็ก จึงคิดฝันไว้ตลอดมาที่อยากจะอยู่กับน้ำ ใช้ชีวิตใกล้ชิดกับน้ำ ได้มีเรือนแพหลังเล็ก ๆ สักหลังหนึ่งไว้อยู่อาศัย อย่างสุขและสงบ ท่ามกลางความวุ่นวาย

" ทุ่นเงิน " ช่วยให้ฝันที่ฝังใจของผมเป็นจริงขึ้นมาได้

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 423120เขียนเมื่อ 29 มกราคม 2011 14:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณ คุณมะปรางเปรี้ยว สำหรับดอกไม้ที่ให้มาครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท