แนวคิดใหม่ในการดีไซน์กรมราชทัณฑ์


นัทธี จิตสว่าง: แนวคิดใหม่ในการดีไซน์กรมราชทัณฑ์

(บทความตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 5 ธันวาคม 2551)

ว่าไปแล้ว สิ่งที่ “นัทธี จิตสว่าง” อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กำลังดีไซน์ให้องค์กรอย่างกรมราชทัณฑ์ที่มีเรือนจำกว่า 140 แห่ง และผู้ต้องขังกว่า 190,000 คน ทั่วประเทศมีขนาดเล็กลงนั้น  นับเป็นเรื่องที่ท้าทายเป็นอย่างมาก เพราะการดีไซน์องค์กรตามความเชื่อของทฤษฎีดีไซน์ ในหนังสือองค์กรมีดีไซน์ตามที่คณาจารย์คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กล่าวถึง คือ การสร้างหรือพัฒนาธุรกิจไปสู่ the corporation of design ที่ผู้บริหารขององค์กรจะต้องปลูกฝังดีเอ็นเอดีไซน์ลงในบริษัทเสียก่อน โดยมีหัวใจอยู่ที่การบูรณาการ 3 สิ่งด้วยกัน คือ

หนึ่ง สุนทรียภาพ

สอง เทคโนโลยี

สาม กระบวนการ

ทั้งนั้นเพื่อให้การดีไซน์องค์กรสามารถตอบโจทย์พฤติกรรมและวิถีชีวิตของลูกค้าโดยผ่านทุกส่วนงานในองค์กร เพื่อสร้างผลผลิตที่ถูกดีไซน์ขึ้นมา ผลผลิตนี้อาจอยู่ในรูปของผลิตภัณฑ์ บริการ กระบวนการ องค์กร หรือแม้กระทั่งบุคคล และผลผลิตที่ออกแบบนี้ ยังจะต้องมุ่งตอบสนองความปรารถนาของกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งเป็นความปรารถนาในระดับที่สูงกว่าความต้องการ

ดังนั้น เมื่อมาดูถึงเหตุผลของ “นัทธี” ในการดีไซน์องค์กรของกรมราชทัณฑ์ เพื่อให้มีขนาดเล็กลง เขาจึงมองถึงเหตุและผลหลายด้านด้วยกันคือ

หนึ่ง ไม่เพิ่มจำนวนเรือนจำ

สอง ต้องสร้างเรือนจำบางแห่งให้เป็นศูนย์กลาง

สาม ถ่ายโอนภารกิจในการบริหารสินค้าราชทัณฑ์ให้มืออาชีพบริหารแทน

สี่ นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย และอื่นๆ

“คือผมมองว่า ถึงเวลาที่เราควร downsizing organization เพราะถ้าปล่อยให้เป็นอย่างนี้ เห็นทีคงลำบากในอนาคต เพราะผู้ต้องหาในปัจจุบันมีความแยบยลในเชิงเทคนิคค่อนข้างมาก และที่ผ่านมา เราจะเห็นว่าข้าราชการกรมราชทัณฑ์ต้องเข้าไปพัวพันกับนักโทษตลอดเวลา”

“อีกอย่าง จำนวนนักโทษที่เพิ่มมากขึ้น กอปรกับตัวบุคลากรของเราเองไม่เพียงพอ ผมจึงมองว่า การที่จะผ่าตัดองค์กรให้มีขนาดเล็กลง เบื้องต้นหลายคนอาจไม่เข้าใจ หลายคนอาจคิดว่าผมกำลังทำอะไรอีกแล้ว แต่ผมยอมรับครับว่าเราจำเป็นต้องทำ”

“อย่างเช่น เรือนจำที่มีอยู่ 140 แห่งทั่วประเทศ เราจะแบ่งขนาดของเรือนจำให้มีขนาดเล็ก และเราจะกำหนดพื้นที่บางจังหวัดเป็นศูนย์กลาง หรือเป็นเรือนจำกลาง และมีเรือนจำสาขาอยู่รายรอบเป็นสาขาแทน”

นอกจากนั้น ในเรื่องของการถ่ายโอนภารกิจ “นัทธี” บอกว่า ที่ผ่านมา ภาครัฐหรือกรมราชทัณฑ์ต้องเข้ามาจัดการกับสินค้าของกรมราชทัณฑ์ทุกอย่าง

“ทางหนึ่งผู้ต้องขังจะได้เม็ดเงินจากการผลิตสินค้านั้น ขณะเดียวกัน กรมราชทัณฑ์ก็จะได้เม็ดเงินส่วนหนึ่งในการลงทุนและบริหาร ซึ่งอาจทำให้เม็ดเงินรั่วไหลได้ หรือผู้ต้องขังอาจได้เม็ดเงินไม่เต็มที่ ผมจึงมองว่า ครั้นเราจะเทรนคนของเราขึ้นมา ก็อาจสู้มืออาชีพไม่ได้ ผมจึงมองว่าทางแก้ของการบริหารเรื่องนี้คือ เราอาจต้องนำมืออาชีพเข้ามาบริหาร”

“แต่กระนั้น ผมก็มองว่า เราควรให้ความรู้กับคนของเราด้วย เพื่อนำมาต่อยอดในวันหนึ่ง และตรงนี้ผมคิดว่า อาจจะเป็นเรื่องยาก แต่เราก็ต้องทำ เราต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติของเขาให้ได้ ต้องให้เขาเห็นความสำคัญว่าการทำเช่นนี้เพื่ออนาคตของเขาในวันข้างหน้า และต้องยอมรับพาร์ตเนอร์ทุกรายที่เข้ามา”

“หรืออย่างภารกิจการดูแลภายนอก ตอนนี้เราถ่ายโอนให้องค์การทหารผ่านศึกดูแล หรือให้โรงเรียนวิวัฒน์พลเมืองเข้ามาช่วย เพราะเดิมทีเราใช้ทีมแพทย์ ทีมอาจารย์เข้ามาช่วย และเราก็ให้คนของเราเรียนรู้ในการบริหารจัดการจากคนเหล่านี้”

“เพราะอย่างที่ทราบ เราไม่สามารถเพิ่มอัตรากำลังคนของเราได้ ขณะเดียวกัน ภารกิจของเราก็เยอะชึ้น เราจึงต้องทำอย่างไรก็ได้เพื่อที่จะให้บุคลากรของเรามีประสิทธิภาพ และเราจะประเมินผลสัมฤทธิ์ของงานเป็นหลัก”

“เนื่องจากแนวทางในการบริหาร new public management เราคำนึงเรื่องของงานเป็นหลัก และต่อไปนี้ภารกิจในรูปแบบการบริหารของภาครัฐจะเปลี่ยนไป เพราะอย่างที่บอก โจรสมัยนี้ทันสมัยมากขึ้น เราจึงต้องมีวิธีการบริหารจัดการสมัยใหม่ จะบริหารแบบเก่าไม่ได้”

ผลเช่นนี้จึงทำให้ “นัทธี” มองว่า แนวทางในการดีไซน์เรือนจำ จึงต้องปรับเปลี่ยนตามรูปแบบ ขนาดและกำลังคน โดยมุ่งไปหาแนวทางในการสร้าง supermax security มากขึ้น ที่ไม่เพียงนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเหลือ ทั้งในเรื่องของโทรทัศน์วงจรปิด ระบบไฟฟ้าป้องกันการหลบหนีของผู้ต้องขัง รวมถึงเครื่องตัดสัญญาณทางโทรศัพท์และอื่นๆ

“ที่เราต้องลงทุนอย่างนี้ เพราะเดิมทีผู้ต้องขังและผู้คุมเรือนจำมีความสัมพันธ์กัน ซึ่งเป็นช่องโหว่ให้เกิดการทุจริตต่างๆ และบ่อยครั้ง ก็ทำให้เกิดปัญหาขึ้นจนเป็นข่าวออกมา ผมมองเห็นตรงนี้ จึงคิดว่า เห็นทีควรต้องลงทุนเรื่องเทคโนโลยีบ้าง”

“ต้นแบบของความคิดนี้ก็มาจากเรือนจำในต่างประเทศ ที่เค้าพยายามเปลี่ยนจากการควบคุมด้วยคน มาเป็นเทคโนโลยีแทน ซึ่งก็ได้ผล ผมจึงนำแนวคิดนี้มาปรับใช้ และตอนนี้ก็เริ่มนำร่องในเรือนจำบางแห่งบ้างแล้ว แต่ถ้าจะเต็มรูปแบบทั้งหมด คิดว่าปี 2553 คงแล้วเสร็จทั้งหมด”

“ผมมองว่า ถ้าเราทำเช่นนี้ได้ ปัญหาทุกอย่างคงค่อยๆ หมดไป และแนวทางในการบริหารกรมราชทัณฑ์ก็จะเปลี่ยนไปด้วย แต่ทั้งนั้น เราต้องพัฒนาคน ปรับเปลี่ยนทัศนคติคนของเราให้เข้าใจด้วย ว่าถึงเวลาในการบริหารงานภาครัฐในรูปแบบใหม่แล้ว และเขาควรที่จะยอมรับ”

เพราะรูปแบบในการบริหารมีงานเปลี่ยนแปลง ดังนั้น วิธีการในการปฏิบัติงานของบุคลากรจะต้องเกิดการเปลี่ยนแปลง หาไม่เช่นนั้น ทุกอย่างจะย่ำอยู่กับที่

แต่ทั้งนั้น เมื่อมาดูวิธีในการบริหารจัดการ new public management ที่ “นัทธี” พยายาม downsizing organization จะพบว่าที่ผ่านมา เขาได้พยายามอย่างมากที่จะให้บุคลากรของกรมราชทัณฑ์ไปศึกษาดูงานในต่างประเทศ หรือจัดฝึกอบรมหลักสูตรต่างๆ ขึ้นมา เพราะ “นัทธี” มีความเชื่อว่า “บุคลากร” เป็น “ทุนมนุษย์” ที่สำคัญ เพียงแต่ขณะนั้น หรือขณะนี้บุคลากรบางส่วนอาจไม่เข้าใจ แต่เขาก็มีความเชื่อว่า การเริ่มต้นในวันนี้ แม้มีเสียงก่นด่ากลับมาบ้าง แต่ก็ดีกว่าไม่ได้เริ่มต้นทำอะไรเลย ฉะนั้น เมื่อย้อนกลับไปดูในอดีต สมัยที่ “นัทธี” เริ่มเข้ามานั่งเก้าอี้อธิบดีกรมราชทัณฑ์ จะพบว่าแนวทางในการบริหารจัดการกรมราชทัณฑ์ต่างสอดคล้องกับแนวทางของ “พ.ท.กมล ประจวบเหมาะ” อดีตอธิบดีกรมราชทัณฑ์เป็นอย่างยิ่ง

ยิ่งเฉพาะในเรื่องของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยอิง 2 กระแสหลัก คือ

หนึ่ง การให้ความสำคัญต่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยใช้เครื่องมือในการบริหารทรัพยากรมนุษย์แนวใหม่ เช่น การจัดอบรมสัมมนา การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์บนพื้นฐานของสมรรถนะ การบริหารแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์ การพัฒนาสมรรถนะด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล

สอง การให้ความสำคัญต่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดชฯ

ซึ่งผ่านมา กรมราชทัณฑ์ ได้นำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้เพื่อพัฒนาองค์กรใน 3 มิติ คือ

หนึ่ง การเปลี่ยนวิถีชีวิตข้าราชการให้ใช้ชีวิตแบบพอเพียง

สอง การบริหารองค์กรแบบพอเพียง

สาม การเปลี่ยนวิถีชีวิตผู้ต้องขังให้ใช้ชีวิตแบบพอเพียงเมื่อพ้นโทษ

ทุกสิ่งทุกอย่างเหล่านี้ “นัทธี” ล้วนต่างนำมาประพฤติปฏิบัติมาก่อนแล้วทั้งสิ้น  และยิ่งมาบวกกับแนวความคิดใหม่ในการดีไซน์องค์กรให้มีขนาดเล็กลง ก็ยิ่งนับว่าเป็นความท้าทายใหม่ของอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ผู้ได้ชื่อว่าเป็นนักพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ภาครัฐ ที่ไม่เพียงศึกษากระบวนทัศน์ในการบริหารงานบุคคลอย่างรู้จริง หากยังนำมาประพฤติปฏิบัติอย่างสัมฤทธิผลด้วย ซึ่งไม่ธรรมดาเลย?...

หมายเลขบันทึก: 422703เขียนเมื่อ 26 มกราคม 2011 21:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 22:21 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท